คอลัมน์: อกาลิโก
เรื่อง: ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์
เมื่อช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ. 2014 ทีมงานนักวิทยาศาสตร์และนักประสาทวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน นำโดย ดร.โมฮัมหมัด คูอิสซี (Mohammad Koueissi) ซึ่งกำลังศึกษาค้นคว้าการทำงานของระบบสมองเพื่อบำบัดรักษาอาการคนไข้โรคลมบ้าหมู ได้ประกาศ ‘การค้นพบโดยบังเอิญ’ ที่กลายเป็นข่าวคราวฮือฮาในระดับโลก นั่นคือการค้นพบ ‘สวิตช์ปิด-เปิด’ การทำงานของสมองทั่วทั้งระบบ…
คือขณะที่ทีมงานนักวิทยาศาสตร์และนักประสาทวิทยากลุ่มดังกล่าว ทดลองปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เข้าไปยังชิ้นส่วนเล็กๆ ที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ บริเวณสมองส่วน Neo-Cortex ที่เรียกว่า ‘Claustrum’ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันทันทีก็คือ ประสาทการรับรู้ทั้งหมดของคนไข้จะหยุดการทำงานแบบสิ้นเชิง และเมื่อลองกระตุ้นอีกครั้ง ประสาทการรับรู้จะฟื้นตื่นขึ้นมาใหม่ ในลักษณะไม่ต่างอะไรไปจากการบิดกุญแจปิด-เปิดสตาร์ทเครื่องยนต์ยังไงยังงั้น…
การค้นพบดังกล่าว…ได้ถูกนำไปต่อยอด พัฒนา จนพบว่า การปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆเข้าไปยังบริเวณสมองส่วนอื่นๆ ยังทำให้นักวิจัยค้นคว้า สามารถ ‘ออกคำสั่ง’ ให้ผู้ร่วมทดสอบ แสดงปฏิกิริยาในแต่ละรูปแต่ละแบบ ตามที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการได้อีกต่างหาก เช่น การยกแขนซ้าย แขนขวา ขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่ว่ากระแสไฟฟ้าจะไปทำปฏิกิริยากับสมองในส่วนไหน จุดไหน
ด้วย ‘การค้นพบทางวิทยาศาสตร์’ ในลักษณะที่ว่านี่เอง ก่อให้เกิด ‘คำถาม’ ขึ้นมาว่า อะไรกันแน่!!! ที่เป็นตัวกดปุ่มสตาร์ท ปิดปุ่มสตาร์ท ภายในร่างกายมนุษย์ ขณะประสาทการรับรู้หยุดทำงานและเริ่มทำงาน หรือขณะหลับๆ ตื่นๆ เป็นตัวออกคำสั่งให้สมองส่วนนั้น ส่วนนี้ ยกมือข้างโน้น ข้างนี้ ถ้าไม่ใช่ทีมงานนักวิทยาศาสตร์ที่ไปค้นพบปุ่มต่างๆ ภายในสมองผู้คนโดยบังเอิญ ส่วน ‘คำตอบ’ ที่ได้รับกลับไม่ได้ออกไปทางวิทยาศาสตร์มากมายสักเท่าไหร่ แต่หนักไปทาง ‘ศาสนา’ เสียเป็นหลัก หรือสรุปว่าน่าจะมี ‘อะไรบางอย่าง’ ซึ่งฝังลึกอยู่ภายในร่างกายของมนุษย์มานานแสนนาน แต่ถูกทำให้สูญหาย หรือลืมเลือนไป โดยนักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนๆ ที่เป็นตัวการก่อให้เกิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ นั่นคือ…สิ่งที่เรียกว่า ‘วิญญาณ’ (soul) หรือจะเรียกว่า ‘ความรู้สึก’ (mind) ก็ตาม…
อันที่จริง ‘คำตอบ’ ในลักษณะที่ว่านี้…ก็ไม่ถึงกับเป็นเรื่องแปลกใหม่มากมายสักเท่าไหร่นัก เพราะบรรดานักวิทยาศาสตร์หลายต่อหลายรายเคยพยายามให้คำตอบในลักษณะทำนองนี้มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักประสาทวิทยาชาวแคนาดา อย่าง ‘วิลเดอร์ เพนฟิลด์’ (Wilder Penfield) นักบุกเบิกด้านศัลยกรรมประสาทผู้ขยายความรอบรู้ทางด้านการผ่าตัดสมองทั้งในแง่วิธีการและเทคนิค อีกทั้งยังเป็นผู้กำหนดแผนที่ส่วนต่างๆ ของสมองไว้โดยละเอียด จนกลายเป็นแบบแผนมาตรฐานตราบเท่าทุกวันนี้
วิลเดอร์ เพนฟิลด์ ได้เขียนถึงเรื่องราวเหล่านี้ไว้ในหนังสือเรื่อง The Mystery of Mind ก่อนหน้าเสียชีวิตในปี 1976 โดยเขาได้สรุปเอาไว้ประมาณว่า ‘สมอง’ นั้นเป็นเพียงแค่หน่วยที่ทำหน้าที่ ‘บันทึก’ จด จารึก ความรู้สึก ประสบการณ์ และความทรงจำ ไว้ภายในร่างกาย ไม่ต่างไปจากเทป ทำนองนั้น แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดขีดความสามารถในการนำเอาประสบการณ์ ความทรงจำ ต่างๆ มาใช้ใน ‘การคิด’ ‘การสร้างแรงปรารถนา’ และ ‘การตัดสินใจ’ กลับไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมอง แต่อยู่ที่กระบวนการทำงานของบางสิ่งบางอย่าง ที่เขาใช้คำว่า ‘Transcendent Function’ หรือกระบวนการทำงานของสิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากความรับรู้ของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ อันเป็นสิ่งที่ทำงานอยู่ภายในส่วนที่เล็กที่สุดของสรีระร่างกาย (transcendent functions irreducible to physiology) จนมีลักษณะคล้ายๆ กับสิ่งที่ไม่มีตัวตน ซึ่งถ้าหากไม่อยากเรียกสิ่งนั้นว่า ‘วิญญาณ’ (soul) อาจเรียกรวมๆ ว่า ‘ความรู้สึก’ (mind) ก็ย่อมได้…
ภายใต้ข้อสรุปที่ว่านี้ เพนฟิลด์จึงแยก ‘ความรู้สึก’ (mind) กับ ‘สมอง’ (brain) ออกเป็นคนละส่วน แต่เป็นสิ่งที่ทำงานร่วมกัน โดยเชื่อว่า ‘ความรู้สึก’ ที่ดูเหมือนไม่มีรูปมีร่างนั้น เป็นสิ่งที่ขาดความทรงจำ หรือต้องอาศัยความทรงจำ จึงต้องเข้าไปนำเอาความทรงจำและประสบการณ์ต่างๆ อันเป็นเสมือน ‘พลังงาน’ หรือ ‘พลังชีวิต’ จาก ‘สมอง’ ที่ยังมีชีวิต มาใช้ในการคิด การสร้างแรงปรารถนา และการตัดสินใจ แต่ขณะที่ ‘สมอง’ ซึ่งมีลักษณะเป็นวัตถุ-สสารนั้น ต้องเสื่อมสลาย หรือต้องหมดสภาพการใช้งานลงไป โดยเฉพาะเมื่อร่างกายตายไปแล้ว เพนฟิลด์กลับเชื่อว่า สิ่งที่เขาเรียกว่า ‘ความรู้สึก’ หรือ ‘mind’ นั้น ไม่ได้เสื่อมสลาย หรือตายตามไปด้วย แต่สามารถอยู่รอด และจะพยายามหาทางเชื่อมความสัมพันธ์กับพลังชีวิตใหม่ๆ ที่มีอยู่ในจักรวาล หรือ ณ ที่แห่งหนึ่งแห่งใด อันเป็นที่เก็บพลังแห่งชีวิตเหล่านี้เอาไว้…
แม้แต่อภิมหานักวิทยาศาสตร์อเมริกันเชื้อสายยิว อย่าง ‘เดวิด โบห์ม’ (David Joseph Bohm) อัจฉริยะด้านฟิสิกส์ควันตัม ผู้มีส่วนร่วมในการแก้โจทย์ระเบิดปรมาณูขณะยังเป็นหนุ่มๆ ก็ดูจะเชื่อไปในแนวนี้ ถึงได้เขียนหนังสือเรื่อง ทฤษฎีใหม่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับวัตถุ (A New Theory of the Relationship of Mind and Matter) ออกมาในปี 1990 ด้วยการให้ความยอมรับว่า กระบวนการทางจิตแบบที่เรียกว่า ‘วิญญาณ’ นั้น…มีอยู่จริง และมีลักษณะการทำงานไม่ต่างอะไรไปจากกระบวนการทางฟิสิกส์ควันตัม
เช่นเดียวกับนายแพทย์และนักจิตวิทยาชื่อดังแห่งสาธารณรัฐเช็ก ‘สแตนิสลาฟ กรอฟ’ (Stanislav Grof) ที่ไม่เพียงจะสารภาพเอาไว้ว่า ‘แต่แรกเริ่มเดิมที ผมเคยคิดว่า จิตสำนึกนั้น…เป็นสิ่งคล้ายๆ กับสายไฟฟ้า หรือประจุไฟฟ้า ที่วิ่งไปวิ่งมาอยู่ภายในสมองมนุษย์ ภายใต้การยึดมั่นต่อแนวคิดเช่นนี้ ผมใช้เวลายาวนานทีเดียว ในการค้นหา แยกแยะ กลไกการทำงานอันก่อให้เกิดความรู้สึกต่างๆ ขึ้นภายในสมอง แต่หลังจากได้ศึกษา ค้นคว้า มานานแสนนาน มาถึงขณะนี้…ผมได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนแล้วว่า จิตสำนึกนั้น…ไม่ได้มีที่มาจากสมองล้วนๆ ดังที่ผมเคยคิดๆ เอาไว้ก่อนเลย” แต่ยังพร้อมที่จะสรุปแบบ ‘ฟันธง’ ลงไปเลยว่าว่า “สมองนั้น…คือสิ่งที่ทำหน้าที่คล้ายตู้เก็บพลังงาน หรือเป็นหน่วยรวบรวมจิตสำนึกและอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ และเมื่อร่างกายตายไปแล้ว หน่วยควบคุมตัวนี้ก็จะหยุดทำงาน แต่ตัวจิตสำนึกเองยังคงอยู่ ไม่ได้สูญหายไปด้วย แต่จะไหลสู่ภายนอกและขยายตัวอย่างเป็นอิสระ”…
เจอเข้ากับข้อสรุปยืนยันของบรรดานักวิทยาศาสตร์หรืออภิมหานักวิทยาศาสตร์เหล่านี้…คราวนี้ บรรดาเราๆ ทั่นๆ ทั้งหลายนั่นแหละ คงต้องหันมาตั้ง ‘คำถาม’ และหา ‘คำตอบ’ กับตัวเอง ว่า แล้วจะฟังใคร หรือเชื่อใครกันดี ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามนั่งยัน นอนยัน ตามแบบฉบับ ‘วัตถุนิยม’ ประมาณว่า อะไรก็ตามที่ไม่ใช่ ‘วัตถุ-สสาร’ สิ่งนั้นย่อมไม่มีอยู่จริง หรือจะหันไปฟังพวกนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามบอกถึง ‘อะไรบางอย่าง’ ที่อาจไม่ใช่วัตถุ-สสาร ไม่ได้มีตัวตน รูปร่าง พอที่จะจับมาชั่ง-ตวง-วัด แยกธาตุ แยกเคมี ในห้องทดลองได้ถนัดๆ โดยจะเรียกว่า ‘ความรู้สึก’ หรือ ‘วิญญาณ’ ก็ตามแต่…
เพราะการหันมาให้ความสนใจกับการตั้งคำถามและค้นหาตอบในลักษณะที่ว่านี้…เอาไปเอามาแล้ว มันน่าจะมันซ์ซ์ซ์พะย่ะค่ะ ยิ่งกว่าการตั้งคำถาม หาคำตอบ ในเรื่องประชาธิปไตย เผด็จการ ทุนนิยม สังคมนิยม ฯลฯ หรืออะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่ ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่า แถมระหว่างถาม ระหว่างตอบ ก็คงไม่มีใครคิดจะมาแทรกแซง รบกวน กีดขวาง ด้วยการมอบหมายให้คุณน้อง ‘สิริยากร พุกกะเวส’ (น้องอุ้ม) มาเชิญตัวไป ‘ปรับทัศนคติ’ อีกด้วย อีกทั้งคำถาม-คำตอบในเรื่องราวเหล่านี้นี่เอง ยังสามารถนำไปใช้เป็น ‘ข้อสรุป’ ครอบคลุมไปในทุกเรื่องทุกราว ไม่ว่าเรื่องการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม ไปจนถึงเรื่องของ ‘ชีวิต’ ในระดับปัจเจกบุคคล หรือระดับโลกได้อีกต่างหาก
เนื่องจากข้อสรุปดังกล่าวมันจะเป็นตัวกำหนด ‘จุดมุ่งหมายแห่งชีวิต’ ของบรรดามวลมนุษย์ทุกผู้ทุกนามนั่นเอง…