ภายใต้บรรยากาศหาเสียงเลือกตั้ง 2566 นโยบายการเกษตรนับเป็นกุญแจหนึ่งที่ทุกพรรคการเมืองต้องไขให้ออกเพื่อกุมหัวใจฐานเสียงภาคเกษตรกร
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา นโยบายเงินอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร หรือการประกันราคาพืชผล ไม่สามารถทำให้เกษตรกรรายย่อยลืมตาอ้าปากและต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น นับเป็นข้อท้าทายของทุกพรรคในการออกแบบนโยบาย และอาจเป็นการนับหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาการเกษตรอย่างยั่งยืน
เพื่อก้าวข้ามวงจรหนี้สินชาวนา ภาระต้นทุน ราคาผลผลิตตกต่ำ และการแก้ไขเชิงนโยบายที่แช่แข็งให้เกษตรกรยากจนเรื่อยมา มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดเวทีเสวนา ‘วิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองและข้อเสนอสำหรับการเลือกตั้ง 2566 เพื่อความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตเกษตรกร’ นอกจากการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายแต่ละพรรคอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ยังมีข้อเสนอต่อพรรคการเมืองที่น่าสนใจไม่น้อย
เวทีดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลากหลายภาคส่วน ดังนี้
- ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ
- รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล กรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ
- อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
- สุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
- นันทา ประสารวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านคลองโยง-ลานตากฟ้า นครปฐม
- ทัศนีย์ วีระกันต์ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน
- วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี
เงินอุดหนุน: ทางตันของนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร
วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยจาก 101 HUB นำเสนอผลการศึกษาในหัวข้อ ‘นโยบายเงินอุดหนุนเกษตรกร สร้างวงจรความยากจน-หนี้สินประเทศ เครื่องมือชูประชานิยมที่พรรคการเมืองใช้ช่วงเลือกตั้ง แต่ไร้ประสิทธิภาพแก้ปัญหาระยะยาว’ พบว่า ปัจจุบันรัฐบาลใช้งบประมาณอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรเพียง 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และลำไย โดยผู้ปลูกพืชผลไม้ชนิดอื่นจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายนี้ และรัฐยังใช้เงินอุดหนุนรายได้ตามขนาดที่ดินซึ่งต้องปลูกพืชที่กำหนด นับแต่ปี 2562 งบประมาณเงินอุดหนุนรวมทั้งสิ้น 450,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 150,000 ล้านบาท/ปี
ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2565 ระบุว่า มีเกษตรกรจดทะเบียน 9.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13.9 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ มีครัวเรือนเกษตรกร 8 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 29.0 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งร้อยละ 11.4 ของเกษตรกรจดทะเบียนเป็นคนยากจน และร้อยละ 27 มีรายได้ไม่พอรายจ่ายที่จำเป็น ร้อยละ 42 มีรายได้หลังหักรายจ่ายไม่พอชำระหนี้และไม่เพียงพอต่อการลงทุนทำเกษตรรอบถัดไป นอกจากนี้ ร้อยละ 34 ยังมีหนี้สินคงค้างมากกว่ามูลค่าสินทรัพย์ถือครอง
กล่าวคือ แม้รัฐจะมีนโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร แต่เกษตรกรกลับมีชีวิตที่ยากลำบาก นโยบายเงินอุดหนุนจึงไม่ประสบผลสำเร็จ
สาเหตุของปัญหาดังกล่าว เป็นเพราะการทำเกษตรมีรายได้ต่ำ จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปี 2560-2562 ครัวเรือนเกษตรกรมีกำไรจากการเกษตรเฉลี่ยเพียง 73,974 บาท/ปี หรือ 202.7 บาท/วัน ซึ่งน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ 328-354 บาท/วัน/คน หมายความว่า ถ้านำอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นต้นทุนของค่าแรงเกษตรกร พวกเขาจะขาดทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกร และในช่วงปีดังกล่าว การทำเกษตรทำให้คนชนบทยากจนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3
วรดร แยกย่อยปัญหาออกมา 3 ส่วน ได้แก่
- เงินอุดหนุนหมุนวงจรปัญหา คือเกษตรกรผลิตสินค้าไม่เหมาะสม ประสิทธิภาพต่ำ หรือลงทุนลงแรงมาก แต่ได้ผลผลิตและผลกำไรน้อย ทำให้ขาดทุนและไม่มีทุนสำหรับปรับตัว นำไปสู่การพึ่งพาเงินอุดหนุน แต่เงินอุดหนุนกลับยึดโยงกับการผลิตแบบเดิม เกษตรกรจึงถูกจูงใจให้ผลิตแบบเดิม นโยบายที่ดีจึงต้องทำให้เกษตรกรสามารถปรับปรุงการผลิตหรือเปลี่ยนอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ และไม่ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนต่อไป
- เงินอุดหนุนช่วยไม่ตรงจุด เกษตรกรรายใหญ่ได้ประโยชน์มากกว่าเกษตรกรรายย่อย เพราะเงินอุดหนุนให้ตามกำลังการผลิต ทำให้ผู้ที่มีที่ดินมากกว่า ย่อมได้เงินอุดหนุนมากกว่า และมีรายได้มากกว่า เช่น โครงการประกันรายได้ข้าว 30 ตัน ใช้เงินอุดหนุนกับครัวเรือนที่มีปริมาณผลผลิตมากที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์แรกถึง 57.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ครัวเรือนที่มีปริมาณผลผลิตน้อยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ล่าง กลับได้เงินอุดหนุนเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด
- เงินอุดหนุนไม่ยั่งยืน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงราว 4.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น 6.4 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ รายได้น้อยลง รายจ่ายมากขึ้น ดังนั้น การอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรที่ราคาเป้าหมายเดิมจะทำให้เกษตรกรจนลง แต่รัฐใช้งบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐอุดหนุนราคาเป้าหมายสูงขึ้น แม้เกษตรกรมีฐานะมั่นคง แต่รัฐจะใช้งบประมาณสูงกว่า และทำให้วงจรปัญหาถูกเลี้ยงไข้ต่อไป
- เงินอุดหนุนก่อหนี้แบบ ‘ดินพอกหางหมู’ เพราะเงินอุดหนุนมาจากเงินกู้นอกงบประมาณ นับเป็นการก่อหนี้สาธารณะโดยไม่ผ่านรัฐสภา ในรอบปี 2562-2565 มีหนี้สะสมถึง 240,000 ล้านบาท ที่สำคัญรัฐยังชำระหนี้เงินอุดหนุนตั้งแต่ปี 2552 ไม่หมด จากการรายงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดว่ามีหนี้อย่างน้อยที่สุด 650,000 ล้านบาท และถ้าหนี้ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเบียดบังงบประมาณส่วนอื่น
ข้อเสนอของวรดรคือ ควรเลิกเงินอุดหนุนแบบเดิมและเปลี่ยนเป็นวิธีเติมรายได้เกษตรกร โดยเติมรายได้ผ่านสวัสดิการพลเมืองและเติมทุนหรือสร้างแรงจูงใจให้ปรับตัว และสิ่งเหล่านี้ย่อมแยกไม่ขาดจากการปรับปรุงนโยบายด้านอื่น เช่น ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การวิจัย แรงงาน อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม
“คำถามที่จะคุยในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงอาจไม่ใช่คำถามในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เช่น เราจะช่วยเหลือเกษตรกรผ่านเงินอุดหนุนหรือการประรายได้ดีกว่าแต่อาจถึงจุดที่เราต้องคุยกันแล้วว่า เงินอุดหนุนควรไปต่อหรือพอแค่นี้ และถ้าเรายกเลิกเงินอุดหนุนไป เราควรช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืนอย่างไร” วรดรกล่าว
โจทย์ใหญ่คือ ‘ที่ดินทำกิน’ เมื่อไม่มีสิทธิ ก็ทำกินไม่ได้
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ มองว่า ปัญหาสำคัญที่ทุกพรรคยังมีความคลุมเครือคือ ‘ที่ดินทำกินเกษตรกร’ เนื่องจากครึ่งหนึ่งของเกษตรกรในประเทศไม่มีสิทธิในที่ทำกินและไม่มีสิทธิทางกฎหมาย ดังนั้น นโยบายของแต่ละพรรคจึงทำไม่ได้จริง เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไร้สิทธิในการทำเกษตรกรรม ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ ไม้ยืนต้น การทำโรงงานแปรรูป การทำ SMEs หรือกิจกรรมที่จะเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้ เกษตรกรหลายล้านครัวเรือนจึงถูกจำกัดสิทธิตั้งแต่ต้น ดังนั้น พ.ร.บ.ที่ดิน ต้องปรับให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสภาพสังคม
ขณะที่ นิมิตร์ เทียนอุดม เสริมว่า การใช้หลักฐานที่ดินทำกินประกอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนเกษตรกร ทำให้เกษตรกรที่เช่าที่ดินหรือเกษตรกรที่ไร้สิทธิในที่ดินทำกินหมดสิทธิในการรับเงินอุดหนุน และทำให้เกษตรกรที่ยากจนจริงๆ เข้าไม่ถึงนโยบายการอุดหนุน
สำหรับนโยบายที่พรรคการเมืองนำมาใช้หาเสียงกันอยู่ในขณะนี้ ประภาส ปิ่นตบแต่ง มองว่า บางพรรคพูดเรื่องธนาคารที่ดินเพียงเล็กน้อย ไม่มีการพูดถึงเกษตรกรในพื้นที่ป่า ทะเล หรือคนที่อยู่กับฐานทรัพยากรธรรมชาติ ตัวอย่างคือ โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันส่งเสริมให้เอกชนปลูกป่าและขายเครดิตคาร์บอน แต่นโยบายนี้กลับยิ่งซ้ำเติมเกษตรกรรายย่อย ดังนั้น พรรคการเมืองควรต้องพูดถึงการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง และควรนำไปสู่การพลิกโฉมเกษตรกรอย่างแท้จริง
ประภาสเน้นว่า เกษตรกรมีชีวิตหลากหลาย ไม่มีใครปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรจึงต้องครอบคลุมชีวิตถ้วนหน้า
นโยบายหาเสียงหวังผลระยะสั้น แต่ละเลยผลระยะยาว
ประพัฒน์เห็นว่า ปัญหาใหญ่ที่ทำให้นโยบายต่างๆ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนคือ นโยบายระยะยาวมักไม่มีใครนำมาหาเสียง เพราะนโยบายประชานิยมเฉพาะหน้า เช่น หนี้สินและค่าครองชีพ มักเป็นหัวใจในการได้คะแนนเสียง เพราะสามารถแก้ปัญหาได้ทันควัน
ทางด้าน ดร.ไชยยะ คงมณี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิจารณ์ทิศทางการพัฒนาที่เน้นย้ำ ‘ความปลอดภัย’ ‘มั่นคง’ ‘เกษตรผาสุก’ โดยมุ่งแค่เพียงพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด แต่กลับไม่มีนโยบายที่เน้นการอุดหนุนเพื่อพัฒนา และการรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หรือยกระดับความสามารถในการแข่งขัน
ไชยยะไม่ปฏิเสธว่า เกษตรกรควรเน้นการบริโภคในครัวเรือนเป็นสำคัญ แต่ก็ต้องแข่งขันในตลาดได้ กล่าวคือ การอุดหนุนสามารถทำได้ แต่ไม่ควรเป็นแหล่งรายได้หลัก เพราะหากสินค้าเกษตรนั้นไม่ได้อยู่ในระบบตลาดที่รัฐส่งเสริม ก็ควรจะพัฒนาไปตามทิศทางของตลาดนั้นๆ
อุบล อยู่หว้า กล่าวว่า นอกจากพรรคก้าวไกลแล้ว ยังไม่เห็นพรรคอื่นระบุถึงนโยบายการถือครองที่ดิน ซึ่งปัญหาที่ดินเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรความยากจน
สิ่งที่อุบลกังวลคือ นโยบายคาร์บอนเครดิตของพรรคชาติไทย เพราะนั่นไม่ใช่แก้ปัญหา แต่เป็นเพียงการทำให้กลุ่มทุนสามารถปล่อยคาร์บอนได้ แล้วเอาเงินไปฟาดหัวให้ชาวบ้านปลูกป่า
ส่วนประเด็นนวัตกรรม เทคโนโลยี หรือการใช้ AI มาช่วยงานเกษตรตามแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทย ทำให้เกิดคำถามว่า ชาวนาจะได้กำไรเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ และสิ่งที่น่ากังวลของพรรคภูมิใจไทยคือ นโยบาย Contract Farming พืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ซึ่งเสมือนจูงใจฝ่ายทุนและผลักภาระให้เกษตรกรแบกรับ การมองนโยบายเดี่ยวโดยไม่สนใจอดีตและความเป็นธรรมของนโยบายจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล
สุเมธ ปานจำลอง ชวนมองว่า นโยบายทุกพรรคล้วนพูดถึงการเพิ่มรายได้ ลดหนี้สิน จัดการทรัพยากร ฯลฯ แต่สังคมในชนบทกำลังประสบปัญหาครอบครัวและชุมชน เด็กต้องอยู่กับผู้สูงอายุเพียงลำพัง มีพัฒนาการล่าช้า การเข้าสู่สังคมสูงวัย และโลกรวนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังไม่มีตลาดรองรับแรงงานรุ่นใหม่ที่กลับบ้านเกิด คำถามคือเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร ซึ่งนโยบายขณะนี้ยังขาดการเชื่อมโยงความรู้ท้องถิ่น ขาดการเชื่อมโยงในมิติของสังคมและสภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบันได้
กระจายอำนาจ: ข้อเสนอจากทุกภาคส่วน เพื่อฝั่งฝันที่ยั่งยืนของเกษตรกร
ธนพร ศรียากูล เล่าประสบการณ์ว่า ทุกคนที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ล้วนรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ดี แต่มักปล่อยผ่านไป ในแง่นี้ปัญหาโครงสร้างการทำงานภายในกระทรวงเกษตรฯ จึงมีอุปสรรคในตัวเอง ธนพรเสนอให้ยุบกระทรวงเกษตรฯ เพราะการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ การออกแบบนโยบายเพื่อการบริหารการเกษตรต้องออกแบบใหม่ และให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ ซึ่งหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจก็จะสามารถส่งเสริมชาวบ้านและเกษตรกรได้มากขึ้น
เช่นเดียวกับธนพร ประพัฒน์เสนอประเด็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ทั้งในด้านเกษตร นโยบายต่างประเทศ พร้อมเปิดมุมมองว่า พรรคการเมืองมักพูดถึงการปรับตัวของเกษตรกร แต่ไม่พูดถึงการปรับตัวของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีผลต่อการกำหนดนโยบายและการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
ฉะนั้นแล้ว การแก้ไขจึงควรมุ่งเน้นที่ท้องถิ่นมากกว่าส่วนกลาง เพราะส่วนกลางตอบโจทย์พรรคการเมืองมากกว่าเกษตรกร สำหรับข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ประพัฒน์เห็นว่า พ.ร.บ.ที่ดิน ต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพสังคม หรือการแก้กฎหมายการเช่าพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ในพื้นที่ที่รัฐอนุญาตให้ทำกิน แต่ไม่สามารถปลูกไม้ยืนต้นได้ เพราะจะถูกกรมป่าไม้ยึดที่คืน เนื่องจากขัดต่อนิยามคำว่า ‘ป่า’ ตามกฎหมาย และควรมองถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยเช่นกัน
หลากทางออกของแรงงานภาคการเกษตร
นิมิตร์ชี้ว่า โจทย์ใหม่ไม่ใช่เรื่องนโยบายการเกษตรเท่านั้น แต่คือการผลักให้เกิด ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’
ข้อเสนอของนิมิตร์มี 5 ประการ ได้แก่ 1) รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าและไม่ต้องพิสูจน์ความจน 2) การศึกษาถ้วนหน้าตลอดทุกช่วงอายุ 3) สุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมป้องกันโรคอย่างเสมอภาค การจ่ายค่ารักษาทุกกองทุนเท่ากัน 4) ภัยพิบัติ ผู้ประสบภัยต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมทันท่วงที และ 5) บำนาญผู้สูงอายุ โดยอ้างอิงเส้นความยากจน และต้องปรับเปลี่ยนทุกๆ 3 ปี
คล้ายคลึงกับนิมิตร์ วรดรมีข้อเสนอสำคัญคือ เกษตรกรควรได้รับการเติมรายได้จากสวัสดิการในฐานะสวัสดิการพลเมือง โดยเน้นว่าสวัสดิการภาคการเกษตรต้องเชื่อมกับสวัสดิการอื่นๆ เช่น นโยบายที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากวงจรที่ก่อหนี้สินได้แท้จริง
ขณะที่วิฑูรย์เสนอโมเดลประเทศเดนมาร์กและยุโรปที่มียุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนการผลิตและสร้างความมั่นคงทางอาหาร เช่น ปี 2552 ประเทศเดนมาร์กและอิตาลีอิตาลีเปลี่ยนอาหารในโรงเรียนเป็นอาหารอินทรีย์ 40 เปอร์เซ็นต์ หากถอดบทเรียนจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ ประเทศไทยจะสามารถแก้วิกฤตความมั่นคงทางอาหารได้
ส่วนประภาส กล่าวว่า สังคมไทยไม่สามารถจ่ายเงินหลักแสนล้านบาทเพื่ออุดหนุนเกษตรไปเรื่อยๆ ดังนั้น จึงเสนอให้มีการอุดหนุนระยะสั้น และควรออกแบบการอุดหนุนระยะสั้นให้มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการเปลี่ยนระบบการผลิตของเกษตรกรเพื่อรองรับการแก้ไขในระยะยาว
ขณะเดียวกัน ไชยยะเห็นว่าปัญหาสำคัญคือ กลไกการขับเคลื่อนนโยบาย เช่น ‘เกษตรแปลงใหญ่’ ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี แต่มีปัญหาทางปฏิบัติ จึงเสนอให้เปลี่ยนการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรเป็นการปรับโครงสร้างการผลิต เช่น การทำสวนยางแบบผสมผสานจะมีรายได้มากกว่าสวนยางเชิงเดี่ยว
ทั้งนี้ อุบลเพิ่มเติมประเด็นเกษตรกรสูงวัยกับคนรุ่นใหม่หรือ ‘แรงงานคืนถิ่น’ โดยชี้ว่า ต้องมีกองทุนเพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้และเป็นเกษตรกรได้ รวมถึงต้องมีพื้นที่ให้พวกเขาได้ทดลองตลาด อุดหนุนช่วยเหลือเพื่อการปักหลักในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ อุบลชี้ว่า แรงงานที่ไปทำงานในเมืองหรือภาคอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยคิดอยากกลับบ้าน แต่ยังติดปัญหาหนี้สิน จึงจำเป็นต้องมาตรการช่วยเหลือ เช่น การผ่อนปรนและยืดหนี้ มากไปกว่านั้น อุบลเน้นว่า ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมควรทำให้เห็นว่าการให้ความสำคัญกับวิถีเกษตรจะนำไปสู่โอกาสที่ดีกว่า เพราะการเพาะปลูกเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม เป็นทักษะที่ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ และจะนำไปสู่ขั้นที่สร้างสินค้านวัตกรรมได้
ทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอของสุเมธ 3 ประการ ได้แก่
1) สร้างความรู้คืนสู่ท้องถิ่น ชาวบ้านควรเข้าถึงทุนในการศึกษา ไม่ควรกระจุกอยู่ที่มหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว
2) นโยบายรองรับการปรับตัวของสังคมสูงวัยจะสัมพันธ์กับการกลับบ้านของแรงงานหนุ่มสาว ดังนั้น ต้องมีนโยบายรองรับและสร้างแรงจูงใจให้คนกลุ่มนี้ เช่น กองทุนให้คนกลับบ้านผ่าน ธ.ก.ส. หรือมีเงินให้คนตั้งหลักในหมู่บ้าน
3) นโยบายความมั่นคงทางอาหาร ซึ่ง อบต. ควรมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยทางอาหารปลอดภัยในระดับท้องถิ่น รวมถึงการยกเลิกสารเคมีที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
เสียงของเกษตรกร ถึงพรรคการเมือง
ในฐานะเกษตรกร กนกพร ดิษฐ์กระจันทร์ เกษตรกรอินทรีย์อู่ทอง เล่าว่า เกษตรกรรายย่อย ผู้สูงอายุ และแรงงานในภาคเกษตรทั้งหมด ควรได้สวัสดิการถ้วนหน้า กนกพรวิจารณ์ว่า นโยบายสนับสนุนภาคการเกษตรที่ผ่านมาไม่มีความจริงใจ เป็นการหาเสียงแบบลอยๆ เลือกตั้งเสร็จก็จบไป ไม่มีการสานต่อนโยบาย และต่อให้มีนโยบายยกหนี้เกษตรกร แต่ปัญหาต้นทุนการผลิตก็ไม่ได้รับการแก้ไข รัฐไม่สามารถควบคุมราคาปุ๋ยได้ อีกทั้งเมล็ดพันธุ์ยังไร้คุณภาพ ไร้ประสิทธิภาพการแข่งขัน ทั้งที่เกษตรกรก็ปลูกพืชตามคำแนะนำของรัฐ ดังนั้น นโยบายเพิ่มราคาผลผลิต จำเป็นต้องลดราคาต้นทุนด้วย
ผู้ใหญ่บ้านจากตำบลไทรม้า จังหวัดนนทบุรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนาตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีนโยบายใดพูดถึงการป้องกันนายทุนกว้านซื้อที่ดิน หากพิจารณาให้ดีนโยบายเหล่านี้มองว่า เกษตรกรคือภาระ ตัวถ่วง แล้วใช้ปมด้อยของเกษตรกรเพื่อสร้างคะแนนนิยม ปัจจุบันเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาสภาพดิน สภาพภูมิอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ และผลผลิตที่ต่ำลง เมื่อรายได้น้อยลง ไร้หนทางทำให้ผลผลิตงอกเงยขึ้น ฟางเส้นสุดท้ายก็คือการขายที่ดินทำกินเพื่อความอยู่รอด ในแง่นี้ ความมั่นคงทางอาหารย่อมกระทบไปด้วย
ขณะเดียวกัน ทัศนีย์ วีระกันต์ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ย้ำว่า เกษตรกรทำอาชีพอยู่บนวิถีชีวิตของตัวเอง ส่วนนโยบายพรรคการเมืองเน้นเรื่องการอุดหนุนและจุนเจือ แต่นโยบายที่สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรกลับไม่ปรากฏ เกษตรกรต้องการทักษะเสริมและนโยบายเฉพาะเพื่อรองรับสถานการณ์ความเสี่ยง ทั้งโรคระบาดและการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ควรมีบทบาทมากกว่าคนสูงวัย โดยภาควิชาการต้องหนุนความเข้มแข็งให้ภาคเกษตร ‘อยู่ได้ ทำได้’