การพัฒนาและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้เกิดข้อถกเถียงและผู้เสียหายหลายรายจากการใช้ AI ที่ไม่ถือว่ามีสภาพเป็นบุคคลภายใต้กฎหมาย นำมาสู่คำถามที่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องกำกับควบคุมให้อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
หนึ่งในเรื่องที่ถกเถียงกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นคือ การที่ AI ข้ามเส้นเข้ามาในวงการศิลปะ อย่างเทคโนโลยี Generative AI ซึ่งเป็นการนำผลงานของศิลปินหลายๆ คนมายำรวมออกมาเป็นผลงานเดียว จนทำให้บรรดาศิลปินรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมที่ตนเองอุตส่าห์ทุ่มเทเวลาและฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นหนึ่งออกมา
จากเวทีสัมมนา ‘ตามให้ทัน Generative AI – ประเด็นทางกฎหมาย’ จัดโดยสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ที่มีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสรุจ ทิพเสนา ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้พูดคุยถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ AI กับกฎหมาย รวมทั้งเรื่องของลิขสิทธิ์ที่เกิดการถกเถียงกันอย่างมากมาย และประเด็นการควบคุมการใช้งาน Generative AI
ภาพจาก AI ลิขสิทธิ์ของใครกันแน่?
ผลงานจาก Generative AI เป็นการใช้โปรแกรมพิวเตอร์ในการสร้างสรรค์ โดยการป้อนข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง จึงเกิดปัญหาและข้อถกเถียงถึงการที่ AI นำข้อมูลจากศิลปินรายอื่นมาใช้สร้างสรรค์ผลงานของตน ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ศิลปินเจ้าของผลงานต้นฉบับ หลายๆ คนจึงเสนอว่า ผลงานที่สร้างสรรค์จาก AI นั้นไม่นับเป็นผลงานที่มาจากความคิดของมนุษย์อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์
เมื่อผลงานจาก AI ไม่นับว่ามาจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ การถกเถียงเรื่องความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานจากภาพที่สร้างขึ้นโดย AI จึงเป็นปัญหาที่ตามมา ข้อถกเถียงนี้แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง โดยฝั่งแรกคือ ฝั่งที่ยืนยันว่าการจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้นั้น ผลงานต้องมาจากการสร้างสรรค์ด้วยฝีมือของมนุษย์เท่านั้น หากเจ้าของผลงาน AI ต้องการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลงานที่สร้างขึ้นมานั้น มาจากการสร้างสรรค์ของตน ไม่ใช่จาก AI เพียงอย่างเดียว และมีส่วนใดบ้างเป็นส่วนที่มนุษย์ใช้ความสามารถของตนในการสร้างสรรค์
ตรงกันข้ามกับแนวคิดของอีกฝั่งที่มองว่า การใช้ Generative AI ไม่ได้ต่างจากการที่มนุษย์ใช้อุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ผลงาน จำพวกพู่กัน แปรง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กล้องถ่ายรูป ซึ่งปัจจุบันนี้มีหลากหลายฟังก์ชันที่เป็นตัวช่วยในการถ่ายภาพ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลที่เป็นข้อสนับสนุนอีกว่า หากการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องมาจากผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์เองจะทำให้เทคโนโลยีไม่เกิดการพัฒนาไปข้างหน้า ศิลปินจะไม่กล้าใช้ Generative AI เนื่องจากไม่ได้รับผลประโยชน์จากผลงานที่ตนเป็นผู้สร้างสรรค์
ขณะเดียวกัน ข้อโต้แย้งของอีกฝั่งยังคงยืนยันว่าต้องเป็นมนุษย์สร้างขึ้นเท่านั้น ทั้งยังเชื่อว่าแนวคิดนี้จะส่งผลให้ศิลปินอีกมากมายต้องตกงาน นอกจากนี้้ยังมีตัวแปรสำคัญคือ ผู้ว่าจ้าง ที่จ้างศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงาน หากการใช้ Generative AI นับเป็นผลงานที่มีลิขสิทธิ์ ผู้ว่าจ้างอาจจะไม่จำเป็นต้องจ้างศิลปิน และศิลปินก็อาจต้องระเห็จออกจากตลาดศิลปะไปในที่สุด
นับเป็นเรื่องยากที่จะหาเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานจาก AI แม้จะเกิดข้อถกเถียงมากมาย แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายออกมากำกับอย่างชัดเจนนัก ซึ่งพัฒนาการทางกฎหมายนั้นเป็นกระบวนการที่จำเป็นต้องใช้เวลา ในขณะที่พัฒนาการของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจกำลังเติบโตไปข้างหน้า แม้วันหนึ่งกฎหมายจะสามารถให้คำตอบกับประชาชนได้ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่ากฎหมายนั้นจะเป็นคำตอบที่ตรงกับบริบทของสังคม ณ ตอนนั้น
ปัจจุบันทิศทางเรื่องลิขสิทธิ์ ทางฝั่งผู้สนับสนุน AI ดูจะนำหน้าไปแล้วหนึ่งก้าว เนื่องจาก 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกอย่าง Google, Microsoft และ Open AI ได้ออกมาประกาศนโยบายการปกป้องผู้ใช้งาน โดยประกาศว่าหากผู้ใดใช้ Generative AI ของพวกเขาแล้วถูกฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์ จะมีทีมกฎหมายจากบริษัทมาช่วยปกป้องคุ้มครอง นับเป็นการแสดงจุดยืนที่พร้อมจะสนับสนุน Generative AI ต่อไปในอนาคต
Generative AI กับปัญหาในการควบคุม
หลายๆ ครั้งที่เลื่อนฟีดแพลตฟอร์มออนไลน์แล้วเห็นภาพบุคคลในประวัติศาสตร์ที่สามารถขยับได้ราวกับมีชีวิต หรือแม้กระทั่งการตัดต่อรูปโดยใช้ AI ซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายดาย แต่หากถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดก็นับเป็นการสร้างข้อมูลปลอมที่จะเป็นปัญหาตามมาในภายหลัง จนเกิดข้อสงสัยว่าการกระทำเหล่านี้มีความผิดทางกฎหมายอย่างไรบ้าง
ในวงการคอมพิวเตอร์จะมี community ที่เรียกว่า open-source ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่แจกจ่ายให้ใช้ได้ฟรีโดยไม่มีการป้องกัน ตรงข้ามกับการใช้ Generative AI จาก 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่โปรแกรมจะมีระบบตรวจเช็กข้อมูลว่าภาพที่ออกมามีความเหมือนต้นฉบับเกินไปหรือไม่ หากเหมือนเกินไปจะไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ ซึ่งในทางหนึ่งถือเป็นการป้องกัน
“AI ไม่เหมือนอาวุธปืน เพราะอาวุธปืนมีผู้ผลิตไม่กี่คน เวลาเราออกกฎกติกาผู้ผลิตอาวุธสงคราม มันจบตั้งแต่หน้าโรงงานแล้ว ในขณะที่แวดวงคอมพิวเตอร์มันเป็นวงการเปิด ทุกคนสามารถผลิตได้จากบ้านตัวเอง นั่นคือปัญหาในการควบคุม” สรุจ ทิพเสนา กล่าว
นับเป็นเรื่องดีที่มีซอฟต์แวร์ที่สามารถใช้งานได้อย่างอิสระ แต่ในทางกลับกันการที่ open-source ไม่มีระบบที่จะคอยเช็กข้อมูล แสดงให้เห็นว่าข้อมูลที่ได้มานั้นอาจเป็นข้อมูลที่ไม่มีความโปร่งใสหรืออาจจะไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น เพราะการที่ 3 บริษัทใหญ่ออกมาประกาศจุดยืนในการปกป้องผู้ใช้งาน เป็นการสื่อให้เห็นว่าข้อมูลที่มาจากพวกเขาเป็นข้อมูลที่โปร่งใสและไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใด
หากเกิดกรณีมีผู้ใช้งานใช้ Generative AI ที่อยู่นอกเหนือจาก 3 บริษัทใหญ่ จนสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือละเมิดข้อมูลของผู้อื่นจนถูกฟ้องร้อง การจะถามหาผู้รับผิดชอบคงหนีไม่พ้นผู้ใช้งาน ซึ่งบางครั้งก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าข้อมูลที่นำมาใช้นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร การประกาศจุดยืนของ 3 บริษัท จึงเป็นการแสดงความรับผิดชอบไปในตัว เพราะไม่มีผู้ใดที่จะสามารถรู้จักเทคโนโลยีนั้นๆ ไปมากกว่าผู้ผลิตเอง
ในแง่ของกฎหมาย การที่จะออกกฎเข้มงวดเพื่อป้องกันบุคคลที่มีเจตนาร้ายในการใช้ AI อาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากอาจจะสร้างผลกระทบหรือจำกัดการเข้าถึงของบุคคลที่มีเจตนาดีและต้องการใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะบุคคลเล็กๆ ที่ไม่ได้อยู่ในบริษัทใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการแข่งขันทางการค้า เพราะกฎต่างๆ ที่ใช้ป้องกันผู้มีเจตนาร้ายจะบีบให้บริษัทเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรเพียงพอไม่สามารถผลิตอะไรใหม่ๆ มาสู้กับบริษัทใหญ่ได้ และถูกทิ้งห่างในที่สุด
สุดท้ายนี้ แม้ข้อถกเถียงเรื่องลิขสิทธิ์ดูจะยังคงไม่คืบหน้าเท่าไรนัก แต่ในแง่การควบคุมการใช้งานก็มีการออกกฎกติกามาแล้วในบางประเทศ อย่างไรก็ตาม การใช้งานล้วนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและเจตนาของผู้ใช้ทั้งสิ้น ซึ่งในอนาคตหากมีกฎหมายที่จะควบคุมการใช้ AI ออกมาอย่างชัดเจนและครอบคลุม สิ่งที่น่าสนใจคือ กฎหมายจะสร้างสมดุลอย่างไรระหว่างการป้องกันผู้ใช้งานที่มีเจตนาร้าย โดยที่ไม่ส่งผลกระทบหรือจำกัดการเข้าถึงของบุคคลที่ต้องการใช้ประโยชน์จาก AI จริงๆ
ที่มา:
- ตามให้ทัน Generative AI – ประเด็นทางกฎหมาย — สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม