ยิ่งบิน ยิ่งเศร้า: Air Hostess and her Mental Illness

เรื่อง:แอร์อินดี้
ภาพประกอบ: antizeptic

 

ข่าวการเสียชีวิตของแอร์โฮสเตสสายการบินดัง คนในครอบครัวให้ข้อมูลว่าเป็นการตัดสินใจจากไปด้วยตัวเอง โดยมีสาเหตุมาจาก ‘โรคซึมเศร้า’

หลายปีมานี้เราได้ยินข่าวการเสียชีวิตของผู้มีอาการซึมเศร้ามากขึ้นในไทย พร้อมทั้งงานวิจัยของศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (National Center for Biotechnology Information: NCBI) ที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบอาชีพแอร์โฮสเตสมีโอกาสเกิดอาการซึมเศร้าจากการทำงาน ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าอาชีพที่น่าจะนำความสุขสบายมาให้ตัวเองและครอบครัวได้อย่างนี้จะมีอะไรทำให้เกิดอาการซึม หรืออาการเศร้า มากพอที่จะนำไปสู่การตัดสินใจ ‘ไม่ไปต่อ’

มันอาจเกิดจากความเงียบ

อาชีพแอร์โฮสเตสถูกจัดให้เป็น front-line worker ขององค์กร คือคนที่ทำงานตรงต่อลูกค้า เป็นคนเบื้องหน้า อยู่ในแสงไฟ ทำงานท่ามกลางคนเยอะๆ แต่ใครจะรู้ว่าชีวิตที่เหลือต่อจากนั้นเอื้อให้เราต้องเผชิญกับความเงียบในหลายช่วงของวัน

ความเงียบอย่างแรกที่เจอคงเป็นตอนบินลงมาใหม่ๆ ไม่มีอะไรจะดีไปว่าห้องเงียบ เตียงนุ่ม ผ้าห่ม แอร์เย็น โดยเฉพาะบินลงมาจากยุโรปราว 13 ชั่วโมง สภาพร่างกายไม่พร้อมขับรถ หลายสายการบินจึงมีรถรับส่งลูกเรือที่บินลงมาดึกหรือเช้าตรู่ รวมทั้งยังมีห้องนอนให้พักก่อนกลับบ้าน ความเงียบในช่วงที่อ่อนเพลียแบบนี้ไม่น่าทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้เท่าไหร่ เพราะร่างกายไปต่อไม่ได้แล้ว หัวถึงหมอนหลับลึกแน่นอน

ความเงียบก่อนไปบิน โดยเฉพาะการเตรียมตัวไปบินยุโรป อันนี้ค่อนข้างเป็นปัญหาสำหรับแอร์ฯ และสจวร์ตบางคน ถ้าถามว่าวันนี้ว่างไหม ก็ว่างนะ แต่ต้องทำตัวเฉยๆ ใช้พลังงานน้อยๆ อยู่บ้าน สำหรับคนนอนกลางวันได้อึด หลับลึกช่วงบ่ายถึงสามทุ่มได้ การขึ้นไปบิดเตา อุ่นครัวซองต์ ชงกาแฟบนฟ้าตอนตีสอง จะเป็นของง่ายทันที แต่สำหรับคนที่นอนยาก ความเงียบที่เราไม่ได้อยากเจอ แต่ต้องเจอ จะนอนก็ไม่หลับ จะออกไปไหนไกลก็ไม่ได้ เพราะคืนนี้ต้องอดนอนยาว หลายคนใช้วิธีกลิ้งๆ กลิ้งไปกลิ้งมาสี่ชั่วโมงยังหลับไม่ได้ ก็ต้องลุกไปแต่งตัวไปบินแล้ว ลอนดอนอันแสนยาวไกล แค่ขึ้นเครื่องก็อยากถึงเร็วๆ แล้ว ไม่ใช่ถึงลอนดอนนะ ถึงบ้านนี่แหละ

ความเงียบที่ต่างประเทศ ข้อดีของการทำงานในแวดวงนี้คือเปลี่ยนทีมบ่อย เราไม่รู้เลยว่าไฟลท์นี้จะเจอใครบ้าง เป็นแอร์ฯ เลยได้รู้จักคนเยอะ สนิทกันเร็ว ส่วนมากลูกเรือมักรวมตัวกันนั่งรถไฟไปนัมบะในโอซะกะ เกาหลีจะไปฮองแด เวียนนาจะไปฮัลล์สตัตต์ สตอคโฮล์มจะไปโอลด์ทาวน์ เราจะโคตรฟินในช่วงแรกๆ โดยเฉพาะเด็กใหม่มีแรงเที่ยวทั้งวัน แต่เนื่องด้วยอุตสาหกรรมการบินที่แข่งขันสูง คนเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้น เที่ยวบินทำรอบมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันลูกเรือมีเวลาพักในต่างประเทศน้อยลง ชั่วโมงนอนซ่อมเซลล์เตรียมบินกลับน้อยลง มีคนอีกไม่น้อยที่อยู่ในสภาวะเบื่อแล้ว หรือเพลียจนต้องนอนยาว (jet lag) อยากไปเหมือนกันแต่ไปไม่ได้ กลัวพรุ่งนี้บินกลับไม่ไหว มาม่ากระป๋องเกาหลีที่หิ้วมาจากบ้าน ท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนในห้องส่วนตัวในโรงแรม และความเงียบ เป็นส่วนผสมเซฟโซนสำหรับหลายคน

ยังมีอีกหลายคนที่มีชีวิตแบบเดียวกับเราแต่ไม่ได้รู้สึกถึงความเงียบความเศร้าใดๆ ที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตเลย ความเงียบอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะสมและหมักหมมเข้าเรื่อยๆ อาจเกิดอาการซึมเศร้าได้ในวงจรชีวิตบางคน และไม่ใช่เฉพาะแอร์ฯ เบสต่างประเทศไกลๆ อย่างที่หลายคนเคยได้ยินแอร์ฯ ที่เบสกรุงเทพฯ อยู่บ้านแท้ๆ ก็สามารถมีอาการซึมเศร้าได้ ด้วยสาเหตุนานาประการ

ความเงียบที่ว่าอาจมีเสียงก็ได้นะ…

– แอร์ฯ ในประเทศท่านหนึ่ง

ยิ่งบิน ยิ่งอ้วน

เป็นแอร์ฯ สักสองปีแรก ชีวิตดูสนุกจนลืมทุกสิ่ง ไม่มีอะไรสบายรายได้ดีกว่านี้อีกแล้ว ได้บินกับเพื่อน สามารถเลือกไปในที่ที่อยากไป กินไม่หยุด เป็นช่วงที่น้ำหนักพุ่งได้ง่ายมาก

“บินมาหกเดือนน้ำหนักเราขึ้น 7 โล” – แอร์ฯ จูเนียร์ท่านหนึ่ง ทั้งอาหารลูกเรือบนเครื่องที่รู้สึกได้ว่าแฟตเยอะกว่าอาหารบนพื้นโลก ตอนสอบเข้ามาไซส์ XS เจ็ดปีผ่านไปไซส์ XL

ยิ่งบิน ยิ่งแฟนเยอะ

“สจวร์ต นักบิน ผู้โดยสาร ชั้นเจอมาหมดแล้ว!” จากคำบอกเล่าของแอร์ฯ ซีเนียร์หลักสี่ที่ครองตัวเป็นโสด เราจะรู้สึกสวยแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาเลยในชีวิตนี้ คนกันเองจะเข้ามาไม่หยุดหย่อน ผู้โดยสารจะเข้ามาขอเราถ่ายรูป แต่ไฟสปอตไลท์จะส่องเราแป๊บเดียวเท่านั้นแหละ คนที่เข้ามาอาจทำให้ชีวิตเราดีขึ้น หรืออาจเป็นปัจจัยก้อนโตที่ทำให้เราเกิดอาการซึมเศร้า

ยิ่งบิน ยิ่งเจ็บ

เล็กน้อยตั้งแต่ เล็บหัก ไข้หวัด หูบล็อก เอ็นข้อเท้าอักเสบ น้ำร้อนลวกมือ ไหล่หลุด ปวดหลังเรื้อรัง นอนไม่หลับ ไปจนถึงมะเร็ง – news.com.au เราทำงานต้านแรง G ทำงานแหกกฎมนุษย์โลก อาการเจ็บปวดทางกายเกิดขึ้นกับแอร์ฯ และสจวร์ตเกือบทุกคน มากน้อยต่างกันไป แม้จะปฏิบัติตามวิธีที่ปลอดภัยก็ตาม

การพักรักษาตัวนานๆ มันทำให้จิตใจเราแย่มากเลยนะ

– อดีตแอร์ฯ ผู้เคยสู้กับมะเร็งท่านหนึ่ง

ยิ่งบิน ยิ่งเหงา

สามเคสในตำนานคือ แฟนคนใน, แฟนคนนอก และไม่มีแฟน

ความเหงาของการมีแฟนคนในคือ พี่บินไปแฟรงก์เฟิร์ต หนูบินไปโตเกียว พี่แลนด์แล้ว หนูกำลังจะเทคออฟ พี่อยู่นู่น หนูอยู่นี่ ทางออกคือการไปบินด้วยกัน บางคู่เวิร์ค บางคู่ยิ่งแย่ลง

แฟนคนนอก – เรากลับบ้าน เขาเพิ่งออกไปทำงาน, เขาจะนอน เรากำลังแต่งหน้าไปบินยุโรป, เขาชวนไปกินข้าววันอาทิตย์ เราติดสแตนด์บายต้องไปบิน “งานบินมันเหนื่อยนะเว้ย คนไม่อยู่ข้างบนแม่งไม่เข้าใจ บินข้ามโลกอดนอนมาเจอคนงอนๆ มันเหนื่อยมากนะ” – แอร์ฯ เฟิร์สฯ ท่านหนึ่ง

ไม่มีแฟน – อยู่บ้านก็เหงา บินไปค้างก็เหงา “มันมีจุดที่เราต้มมาม่าเกาหลีกินอยู่ในโรงแรมเงียบๆ นะ มันหนาวมาก ออกไปไหนไม่ได้เลย” – แอร์ฯ จูเนียร์ท่านหนึ่ง

 

ยิ่งบิน ยิ่งอ๊อง

“เราถูกจ้างให้ขึ้นไปเป็นคนอารมณ์ดีๆ คนหนึ่ง” แต่การปรับอารมณ์ไปมาโดยที่คนรอบตัวเราไม่ได้รับผลกระทบเป็นสิ่งที่ท้าทาย ตอนนี้เป็นแอร์ฯ ลงไปเป็นแม่ของลูก ตอนเย็นเป็นลูกของแม่ เราจะไม่เก็บเรื่องไม่ดีบนไฟลท์ลงไปข้างล่างเด็ดขาด ยิ่งบินสูง ออกซิเจนยิ่งน้อย ยิ่งเบลอ

พี่เคยบินยุโรปติดกันสามไฟลท์ ปารีส แฟรงก์เฟิร์ต ลอนดอน พอกลับมาบ้านเห็นดาววิบๆๆๆ เต็มห้องเลย หืม…ดาวอะไรอะคะ ก็นั่นน่ะสิ กูเห็นได้ไง!

– แอร์ฯ ยุโรปท่านหนึ่ง

 

ยิ่งบิน ยิ่งจน

สภาวะ ‘บินฟรี’ เกิดขึ้นง่ายเมื่อได้ไฟลท์บินไปญี่ปุ่น มองอะไรก็น่ารักน่าซื้อ ถูกจริตคนไทย บินฟรี คือการใช้ค่าตัวในไฟลท์นั้นจนหมด มิหนำซ้ำยังเอาค่าตัวไฟลท์หน้ามาใช้อีก

อีกพอร์ตหนึ่งที่การ journey กลับกลายเป็น ‘เจอหนี้’ ได้ง่ายๆ คือ ลอนดอนและปารีส สำหรับขาช็อปแบรนด์เนม ซึ่งข้อนี้อาจเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เราอาจได้ระบาย ปลดปล่อยไปกับการใช้เงิน ในทางกลับกัน อาจกลายเป็นการสูญเสียสภาพคล่องส่วนตัวได้

ยิ่งบิน ยิ่งความสัมพันธ์แย่

เราอาจปฏิเสธคำชวนไปเที่ยวกลางคืนของเพื่อนได้ง่ายๆ โดยบอกว่ามีบิน แต่จริงๆ แล้วเราอยากนอนอยู่บ้าน ความเงียบตอนนอนรอไปบินวันต่อไปมันเงียบกว่าที่ไหนๆ “วันนี้มีบินหรือเปล่า / ไม่มีอะ / งั้นไปเอกมัยกัน / แก…แต่เราต้องนอนอะ”

อีกสภาวะหนึ่งที่แอร์ฯ หลายคนเผชิญคือ อยู่บ้านก็เหงา จะออกไปข้างนอกก็ยังไม่หายเพลียจากไฟลท์เมื่อคืน การหยุดยาวสามวัน ถ้าให้เลือกระหว่างไปหัวหินกับแฟนหรือการนอนนิ่งๆ เชื่อว่ามีคนไม่น้อยเลือกอย่างหลัง การนอนนิ่งๆ ในห้องเงียบๆ ไม่ว่าจะหลับจริงหรือเล่นมือถือ เป็นความสุขที่ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะสุขกับการอยู่เฉยๆ ได้ เว็บไซต์ traveller.com.au อ้างบทสัมภาษณ์แอร์ฯ กลุ่มหนึ่งไว้ว่า “พวกเราสามารถใช้ชีวิตมากสุดถึงหกวันโดยไม่บินและไม่ออกไปไหนเลยได้”

ยิ่งบิน ยิ่งซับซ้อน

สังคมที่ใช้หน้าตาเป็นส่วนหนึ่งของการเข้ามา ความสวย หล่อ เท่ มันดึงดูดใครต่อใครได้เร็วกว่านิสัยที่ต้องใช้เวลา คนนี้เป็นแฟนคนนั้น คนนั้นเป็นแฟนคนนี้ แฟนคนนอก แฟนคนใน ทั้งในทั้งนอก

พี่ก็เคยคบกับเขานี่แหละ (ชี้ไปหัวเครื่อง) สมัยเข้ามาใหม่ๆ เลยนะ แต่พี่มีลูกกับสจวร์ตนะ เป็นเพื่อนพี่ตั้งแต่ตอนเทรนแอร์ฯ ใหม่ๆ เลย

– เพอร์เซอร์ท่านหนึ่ง

ยิ่งบิน ยิ่งเศร้า

อย่างไรก็ตาม เรายังเชื่อว่าอาชีพนี้ไม่ได้ทำร้ายคนขนาดนั้น จะมองว่าดราม่าก็ดราม่าได้ ส่วนตัวมีคติในการตื่นไปบินทุกวันนี้อย่างไม่คิดอะไรมาก คือ ‘ขึ้นไปสร้างความบันเทิง’ ทำให้คนกินอิ่ม นอนหลับ สบายกาย สบายใจ การรักษาสมดุลของกิจกรรมในชีวิตน่าจะเป็นทางออกอย่างหนึ่งของคนที่เลือกทางนี้ เราจะมีชีวิตอย่างไรในแวดล้อมงานที่อาจทำให้เราไม่สบายกายหรือจิตใจได้ง่ายๆ เราถูกคัดเลือกเข้ามาด้วยทัศนคติต่องานนี้ในวันนั้น เราจะอยู่ต่อได้อีกหรือไม่ก็น่าจะขึ้นอยู่กับทัศนคติต่องานนี้ในวันนี้เช่นกัน

หมายเหตุ: บทความฉบับนี้เขียนขึ้นมาเพื่อระลึกถึงการจากไปของแอร์โฮสเตสทุกคนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อ้างอิงจากการสัมภาษณ์ เพื่อเป็นความรู้แก่เพื่อนร่วมอาชีพและผู้อื่นเท่านั้น

อ้างอิงข้อมูลจาก:
The dark side of cabin crew life: Sadness, sickness and loneliness / news.com.au
Loneliness, danger and dirt: Flight attendants reveal things most people don’t know about the job / traveller.com.au

Author

ไลลา ศรียานนท์
อดีต makeup artist เปลี่ยนสายงานขึ้นฟ้า ติดปีกเป็นแอร์โฮสเตส อาชีพที่ "ต้องยิ้มตลอดเวลา เหตุผลของการเป็นแอร์ฯที่เธอบอกกรรมการคือ "หนูอยากเขียนหนังสือค่ะ" เธอจึงบันทึกเรื่องราวยิ้มบ้างไม่ยิ้มบ้างลง blog ชื่อ airindie และมีหนังสือเล่มแรก 'LIFE IN FLIGHT MODE: ไฟลต์ (ไม่) บังคับ'

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า