ฮิมบา บนสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

1.

ราวรักแรกพบ เพียงได้เห็นภาพหญิงสาวผิวสีแดงเข้มขลับทั้งตัวจากเส้นผมใบหน้าลำตัวแขนขาถึงตาตุ่ม แดงเข้มโคลนไปยันเครื่องประดับกายแปลกตา ยิ่งพินิจยิ่งรู้สึกหลงใหล สืบค้นข้อมูลพบว่าเธอเป็นผู้หญิงแห่งชนเผ่าที่เรียกตัวเองว่าฮิมบา (Himba) อาศัยอยู่ในดินแดนแห้งแล้งตามแนวแม่น้ำคูเนเน (Kunene) พรมแดนธรรมชาติระหว่างทางเหนือของประเทศนามิเบียและแองโกลา ฉันบรรจงจรดหมุดปักจุดทางเหนือของนามิเบียไว้บนแผนที่ในใจ รอเวลา

ปฏิทินเคลื่อนผ่านไปราวสิบปี

กันยายนปี 2016 ฉันก็ได้พบกับผู้คนที่อยู่ในใจมานาน

2.

เมื่อเดินทางเข้าสู่น้ำตกอิปูปา (Epupa Falls) ถิ่นที่อยู่ของคนฮิมบา คำถามมากมายวิ่งตึงตังในหัว

นี่เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 เหมือนกันหรือเปล่า เราอยู่บนโลกใบเดียวกันใช่ไหม ในขณะที่ผู้คนทั่วไปนั่งจิ้มฝ่ามือช็อปปิ้งออนไลน์อยู่บ้าน รุ่งขึ้นทุกสิ่งอย่างที่ต้องการก็มากองตรงหน้า แต่คนฮิมบายังคงใช้ชีวิตราวกับอยู่ในศตวรรษที่ 18

ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ไม่ใช่โมเดลหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว แต่เป็นชุมชนคนฮิมบาที่ไม่ยี่หระต่อความเป็นไปของโลก ยังคงอยู่บ้านดินหลังเล็กๆ ใช้ไฟจากกองไฟก้อนเส้า นุ่งห่มหนังสัตว์ที่ขัดฟอกเอง ตีเม็ดโลหะร้อยเครื่องประดับเอง บดเม็ดข้าวโพดทำแป้ง เลี้ยงแพะเลี้ยงวัวฝูงใหญ่

ก่อนเข้าหมู่บ้านเราแวะร้านค้าซื้อของฝากตามประเพณีการเข้าเยี่ยมหมู่บ้านฮิมบา ของฝากที่ถูกใจผู้รับประกอบด้วยแป้งข้าวโพดถุงใหญ่ น้ำตาล น้ำมันพืช ต้องมีไกด์คนท้องถิ่นพูดภาษาถิ่นนำทาง การจู่โจมหมู่บ้านแอบถ่ายรูปคนฮิมบาโดยไม่ได้รับอนุญาตถือว่าไม่สุภาพอย่างยิ่ง ไกด์ของเราเป็นหนุ่มฮิมบาชื่อ ซามูเอล เขารู้จักคนฮิมบาทุกคนในย่านอิปูปา

ครอบครัวที่เราไปเยี่ยมมีภรรยาสามคน หัวหน้าครอบครัวไม่อยู่ ภรรยาคนแรกชื่อ กุมวาตี นั่งอยู่หน้าบ้านกำลังให้นมลูกคนเล็ก เธอมีลูกห้าคน ภรรยาคนที่สองและที่สามมีอีกคนละ 4-5 คน ซามูเอลเล่าว่าผู้ชายฮิมบามีภรรยาได้หลายคนแล้วแต่ความสามารถและทรัพย์สินที่จะดูแลคนในครอบครัวได้ เพราะความแห้งแล้งและทรัพยากรอันจำกัดจึงเกิดวิถีชีวิตแบบนี้ คนฮิมบานิยมมีลูกหลายคนเพื่อช่วยกันทำงาน กฎเหล็กของครอบครัวที่มีภรรยามากกว่าหนึ่งคนคือต้องบริหารเวลาให้ดี พ่อบ้านต้องค้างบ้านละสองคืนวนกันไปอย่างเคร่งครัด ครอบครัวนี้ตั้งใจให้ภรรยาหนึ่งคนมีลูก 12 คน ช่วงที่เราไปเยี่ยมทีมเด็กชายกำลังต้อนฝูงแพะกลับเข้าคอก เด็กผู้หญิงช่วยแม่ดูแลน้อง ทำงานบ้าน ทำอาหารหาฟืนตักน้ำ ยามว่างก็ทำเครื่องใช้ในบ้านทำเครื่องประดับ

“พวกเราไม่เคยนับจำนวนแพะ” ซามูเอล ผู้เคยผ่านชีวิตเด็กชายตามวิถีฮิมบาเล่า “แต่เรารู้ได้ทันทีถ้ามีตัวใดตัวหนึ่งหายไป เราจำแพะของเราได้แต่เราไม่เคยนับจำนวน ถ้าเป็นคนในเมืองต้องนับ 1 2 3 เพื่อนับว่าแพะยังอยู่ครบหรือเปล่า ถ้านับไม่ครบคุณไม่มีทางรู้เลยว่าตัวไหนหายไปเพราะคุณมัวแต่นับ คุณไม่รู้จักพวกมัน”

พวกเขาเลี้ยงแพะขายไว้ขาย ไม่ฆ่าแพะเพื่อกินเนื้อ รีดนมแพะให้เด็กเล็กดื่ม บางบ้านเลี้ยงวัวและดื่มเฉพาะนมเช่นกัน คนฮิมบาแทบจะไม่กินเนื้อสัตว์เลยในชีวิตประจำวัน นอกจากโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงานถึงจะมีการฆ่าวัวหรือแพะสักตัว

นั่งคุยกันสักครู่ สาวๆ ก็แยกย้ายไปทำงาน กุมวาตีไปก่อไฟทำอาหาร ภรรยาคนที่สองนั่งเขย่าน้ำเต้าข้างในบรรจุนมแพะเพื่อทำเนย เด็กสาวคนหนึ่งทูนถังน้ำขนาด 25 ลิตรไว้บนศีรษะกำลังเดินลัดทุ่งเข้าบ้าน เธอเดินเป็นระยะเกือบสิบกิโลเมตรเพื่อไปหาน้ำดื่มน้ำใช้ในครอบครัว พวกเขาใช้น้ำกันอย่างจำกัดมาก

ประชากรฮิมบาราว 30,000-50,000 คน ในขณะที่ประชากรทั้งหมดของนามิเบียมีเพียง 2.6 ล้านคน ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ฮิมบาเป็นชนเผ่ากึ่งเร่ร่อน การอพยพจะขึ้นอยู่กับฤดูกาลและน้ำเป็นหลัก ปลูกกระท่อมดินทรงกลมหลังเล็กๆ เรียงกันเป็นครึ่งวงกลมโดยมีบ้านของหัวหน้าครอบครัวและภรรยาที่หนึ่งอยู่ตรงกลาง ภายในบ้านกว้างเพียงขนาดเตียงควีนไซส์หนึ่งหลัง พื้นบ้านปูด้วยหนังวัว คนฮิมบาใช้หมอนไม้อันเล็กๆ สูงกว่าคืบดูเหมือนที่ทับกระดาษมากกว่าจะเป็นหมอน นอกเหนือจากเครื่องประดับศีรษะของผู้หญิง 4-5 อันที่แขวนบนผนังแล้วนอกนั้นไม่มีสิ่งของใดๆ เลย น้อยกว่าวิถีฮิปสเตอร์มินิมอลเสียอีก

ตรงกลางลานหน้ากระท่อมหลักมีกองไฟเล็กๆ ส่งควันพอมองเห็นว่าเป็นกองไฟ ซามูเอลบอกว่าไฟกองนี้จุดไว้ตลอดเวลา ห้ามดับ ถือเป็นไฟศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รวมจิตวิญญาณของครอบครัว คนนอกครอบครัวห้ามเดินผ่านระหว่างกองไฟกับหน้ากระท่อมหลัก ให้เดินอ้อมหลังกระท่อมแทน

คนฮิมบาโดยเฉพาะผู้หญิงไม่อาบน้ำตั้งแต่เกิดจนชั่วชีวิต แต่จะอาบด้วยการอบควันหอมจากการเผาสมุนไพร โดยจะค่อยๆ ยกถ้วยควันไปอบไล่ตามเนื้อตัว ใต้วงแขนทั้งสองข้างใต้คอใต้หว่างขาขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลานานพอๆ กับการอาบน้ำแบบพิถีพิถัน ผู้หญิงทาผิวด้วยดินสีแดงผสมกับไขมันสัตว์และสมุนไพรหอมที่พวกเขาเรียกว่า อ็อตจีซ (Otjize) ทาเคลือบทั้งเส้นผมใบหน้าตลอดตัว นัยหนึ่งเพื่อป้องกันแสงแดดอันร้อนจ้า กันแมลง และที่สำคัญกว่าเหตุผลใดคือ ผู้หญิงฮิมบารู้สึกสวยในผิวสีแดง

เด็กหญิงถักผมม้วนเป็นลอนจากด้านหลังพาดมาด้านหน้าปิดตาสองลอน เมื่อแต่งงานถึงจะเปลี่ยนทรงผมเหมือนหญิงสาวและพอกด้วยดินสีแดง ส่วนเด็กชายไว้จุกกลางศีรษะคลุมด้วยผ้า เมื่อเด็กชายย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะต้องเลาะฟันล่างออกสี่ซี่ โดยมีพ่อหมอประจำเผ่าเป็นคนจัดการใช้แท่งไม้ตอกด้วยก้อนหิน ซามูเอลเล่าพลางยิงฟันให้ดูเป็นตัวอย่าง

ซามูเอลเป็นหนุ่มฮิมบาที่ถอดชุดฮิมบาออกสวมเสื้อผ้าแบบสากล เขาทำงานที่บาร์เล็กๆ บนภูเขา ดูแลจุดชมวิวที่สวยที่สุดในละแวกน้ำตกอิปูปา จุดที่มองเห็นความเขียวขนัดตามแนวแม่น้ำคูเนเน ฝั่งหนึ่งเป็นแองโกลา อีกฝั่งคือนามิเบีย ซามูเอลเล่าว่าบางครั้งเขาก็กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่บ้าน แต่งตัวแบบฮิมบาอยู่แบบฮิมบา เขาอยากมีทำงานมีเงินใช้ชีวิตแบบที่เขาอยากทำมากกว่าจะใช้ชีวิตตามวิถีของบรรพบุรุษ แต่อีกไม่นานเขาคงต้องแต่งงานตามที่พ่อแม่จัดการให้ เมื่อถึงตอนนั้นค่อยคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไร

คนฮิมบาเป็นลูกหลานของเฮเรโรส่วนหนึ่งที่เหลือรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทหารเยอรมันเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ตอนนี้คนแก่คนเฒ่าชาวฮิมบาเกรงว่าวิถีแบบฮิมบาดั้งเดิมกำลังจะสูญหายไป

3.

ยุคคนขาวจากประเทศยุโรปแห่เข้าไปช่วงชิงดินแดนทวีปแอฟริกา

ปี 1884 ทหารเยอรมันยกพลเข้าครอบครองฝั่งแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ (รวมไปถึงดินแดนทางแอฟริกาตะวันออก ปัจจุบันเป็นประเทศบุรุนดี เคนยา โมซัมบิก รวันดา และแทนซาเนีย) คนที่อยู่ก่อนล้วนเป็นชนเผ่า ทั้งซาน (หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ บุชแมน) เฮเรโร นามะและชนเผ่าอื่นๆ เยอรมันเข้ายึดครองที่ดิน ฝูงปศุสัตว์ บังคับให้เจ้าของที่ดินเดิมทำงานเป็นทาส รวมไปถึงเปลี่ยนชุดประจำเผ่า บางมุมเล่าว่าบรรดาเมียของพวกเยอรมันเกรงว่าเหล่าสามีจะมัวแต่สนใจหน้าอกของสาวใช้ชนเผ่า เลยออกอุบายใส่ความคิดใหม่ว่าการไม่ปกปิดร่างกายนั้นเป็นเรื่องน่าอับอาย ทำให้ผู้หญิงทิ้งชุดประจำเผ่าหันมาคลุมผมด้วยหมวกผ้าตั้งเป็นกระด้งหงอนใหญ่ สวมเสื้อแขนยาวกระโปรงยาวบานเป็นสุ่มไก่แล้วเรียกชุดแบบนั้นว่า วิคตอเรียนสไตล์ ผู้หญิงเฮเรโรส่วนใหญ่รับเอาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบวิคตอเรียนไว้ บางส่วนไม่ยอมเปลี่ยน นั่นคือฮิมบาในปัจจุบัน

ปี 1903 ผู้นำเฮเรโรและนามะรวบรวมชนเผ่าผู้กล้าได้จำนวนหนึ่ง ลุกขึ้นมาโต้ตอบอำนาจกองทัพเยอรมัน ใช้วิธีซุ่มตีแบบกองโจร สังหารทหารเยอรมันไปราว 60 คน นายพลโลธาร์ ฟอน โทรธา (Lothar von Trotha) ผู้นำกองทัพเยอรมันในแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ในขณะนั้น ออกคำสั่งให้ฆ่าคนเฮเรโรและนามะทุกคนไม่เว้นแม้แต่เด็กและผู้หญิง จับล่ามโซ่คอ บังคับให้ทำงานหนักในค่ายทหาร ทรมานจนตาย และตายเพราะขาดอาหาร 3,000 คนถูกตัดหัวส่งกะโหลกไปทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เยอรมนี

สงครามเฮเรโรระหว่างปี 1904 ถึง 1908 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของชนเผ่าที่สูญเสียชีวิตผองเพื่อนไปราว 110,000 คน นับเป็นจำนวนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คนเฮเรโรเหลือรอดชีวิตจากความโหดร้ายครั้งนั้นเพียง 15,000 คน นับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกที่เยอรมนีกระทำกับเพื่อนมนุษย์อย่างเหี้ยมโหด แถมยังกอบโกยทรัพยากรอันมั่งคั่งในผืนดิน พวกเขาสร้างเหมืองเพชรโคลมันสค็อป (Kolmanskop) ใกล้กับเมืองลุดเดอริตซ์ (Lüderitz) เมืองท่าริมทะเลแอตแลนติก สร้างทางรถไฟเพื่อลำเลียงสิ่งของที่ขนส่งมาจากยุโรปโดยทางเรือไปยังเมืองหลวงวินดุค (Windhoek) และอีกทางเพื่อลำเลียงทรัพยากรกลับประเทศตัวเอง หลังเยอรมันพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1918 แอฟริกาใต้ก็เข้าปกครองนามิเบีย ยังคงมีสงครามยืดเยื้อกันยาวนาน ปี 1990 นามิเบียจึงได้รับอิสรภาพ

ตลอดเวลาร้อยปีหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนเฮเรโร เยอรมนีไม่เคยแสดงความรับผิดชอบหรือขอโทษชาวนิมิเบียเลย จนล่วงมาถึงปี 2004 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของเยอรมนีเดินทางไปนามิเบีย เธอได้กล่าวขอโทษถึงความโหดร้ายที่เยอรมันเคยกระทำไว้ เธอเอ่ยคำว่า ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ (genocide) นับเป็นครั้งแรกที่เยอรมนีกล่าวขอโทษประชาชนนามิเบีย แต่ไม่ใช่การขอโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเยอรมัน

ปี 2011 เยอรมนีส่งกะโหลกศีรษะคนเฮเรโรและนามะจำนวน 20 กะโหลกคืนสู่ประเทศนามิเบีย เป็นชาย 15 หญิงสี่ และเด็กชายอายุ 3 ขวบ

ปี 2015 รัฐบาลนามิเบียและรัฐบาลเยอรมนีเริ่มพูดคุยกันเพื่อหาข้อตกลง รัฐบาลเยอรมันต้องแถลงคำขอโทษอย่างเป็นทางการ แต่ดูเหมือนการเจรจาไม่คืบหน้า ด้วยเยอรมนีไม่อยากจ่ายเงินชดเชย และหลีกเลี่ยงคำพูดโดยใช้คำว่า ‘atrocities’ แทน ‘genocide’ ล่าสุดมกราคมปี 2018 คนเฮเรโรจากนามิเบียเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลในนิวยอร์ค ขอปรับเงินชดเชยจากเยอรมันเป็นจำนวน 2,300 ล้านปอนด์ เยอรมนีขอให้ศาลอเมริกาไม่รับคำฟ้อง คนเฮเรโรยังคงต่อสู้ต่อไป

4.

คนฮิมบาเป็นลูกหลานของเฮเรโรส่วนหนึ่งที่เหลือรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทหารเยอรมันเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ตอนนี้คนแก่คนเฒ่าชาวฮิมบาเกรงว่าวิถีแบบฮิมบาดั้งเดิมกำลังจะสูญหาย

หนุ่มสาวฮิมบาจำนวนไม่น้อยเข้าเมืองไปทำงานหาเงิน พวกเขาหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ดีขึ้น แต่โอกาสไม่ได้มีสำหรับทุกคน ในเมืองโอปุโวะ (Opuwo) เมืองหลวงของแคว้นคูเนเน เมืองใหญ่เมืองเดียวทางตอนเหนือ เราจึงได้เห็นภาพสาวฮิมบาแบกลูกไว้กลางหลังเดินเร่ยัดเยียดขายกำไรหินให้นักเที่ยวท่องหรือขอเงินเพื่อแลกกับการถ่ายรูป ชุมชนชนเผ่าปักเพิงพลาสติกเก่าคร่ำคร่าขาดรุ่ยอยู่ตามริมทางเป็นที่อยู่ชั่วคราวคอยดักยัดเยียดขายของให้นักท่องเที่ยว เด็กร่างเปลือยวิ่งกระจองอแง

หนุ่มสาวฮิมบาหลายคนคลุกอยู่ในบาร์ทั้งวัน การดื่มหนักของคนหนุ่มสาวกำลังก่อปัญหาคุณภาพชีวิตและสังคม เป็นเรื่องยากที่จะรับมือสำหรับประเทศน้องใหม่ที่เพิ่งมีอายุไม่ถึง 30 ปี รัฐบาลไม่มีกำลังพอที่จะจัดสรร คนท้องถิ่นไม่มีเงินทุนในการเริ่มต้นธุรกิจ ทางการนามิเบียจึงอนุญาตให้คนต่างชาติเข้าไปทำธุรกิจได้โดยต้องเสนอเงื่อนไขว่าจะตอบแทนให้ชุมชนอย่างไร ทำสัญญากัน 5 ปี 10 ปีแล้วแต่ข้อตกลง ธุรกิจแทบทุกอย่าง เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ซูเปอร์มาร์เก็ต ล้วนเป็นธุรกิจของคนขาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเยอรมันและคนแอฟริกาใต้ ตลกร้าย ดูเหมือนว่านามิเบียไม่เคยพ้นจากสองประเทศที่เคยทำร้ายพวกเขาเสียที

ฉันได้พูดคุยกับพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่ง เธอเป็นคนเฮเรโร เธอชักชวนให้ฉันเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในนามิเบีย ด้วยรัฐบาลยินดีต้อนรับต่างชาติเข้าไปลงทุนเพื่อช่วยสร้างงานให้คนท้องถิ่น น้ำเสียงเธอมีความน้อยเนื้อต่ำใจที่คนนามิเบียไม่มีกำลังพอจะประกอบธุรกิจด้วยตัวเอง เธอกำลังเก็บเงิน

“ถ้าได้เงินก้อนหนึ่งแล้วฉันจะลาออกจากงานโรงแรมแล้วกลับไปอยู่บ้าน ด้วยเงินแค่นี้ฉันคงทำได้แค่ร้านอาหารเล็กๆ พอเลี้ยงลูก แต่อย่างน้อยฉันก็ได้อยู่กับลูก”

5.

ในประเทศวากานดา (Wakanda จากภาพยนตร์เรื่อง Black Panther) ผู้หญิงชนเผ่าไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แห่งความล้าหลังอ่อนแอ ตรงกันข้ามพวกเธอเป็นผู้สนับสนุนผลักดันเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมต่อสู้อย่างเท่าเทียม เหมือนชาวเฮเรโรที่ลุกขึ้นสู้กับทหารเยอรมันอย่างกล้าหาญ สู้แค่ตายดีกว่ากลายเป็นทาส เหมือนชาวฮิมบาที่ยืนกรานเป็นฮิมบาไม่ยอมรับวิคตอเรียนสไตล์ที่คนเยอรมันนำมาให้ ผู้ออกแบบเสื้อผ้าของ Black Panther ได้แรงบันดาลใจจากผิวสีแดงมันวาวของสาวฮิมบา นำมาเป็นบุคลิกของผู้หญิงแห่งวากานดา

นึกถึงหญิงสาวคนหนึ่งที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสนามบินเมืองวินดุค เมืองหลวงของประเทศนามิเบีย เมื่อเห็นหนังสือเดินทางประเทศไทย เธอทักทายและเมื่อรู้ว่าเราจะไปหมู่บ้านฮิมบา เธอยิ้มแย้มบอกว่าเธอเป็นคนฮิมบา ช่วงวันหยุดเธอจะกลับบ้านไปแต่งตัวทาผิวสีแดงแบบฮิมบาเหมือนญาติพี่น้องของเธอ แววตาเธอมั่นใจและภูมิใจมากในสิ่งที่เธอเป็น

พายุแห่งการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โหมกระหน่ำ ไม่มีใครรู้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน เป็นเรื่องยิ่งใหญ่และแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนโลก แค่ประคับประคองไม่ให้โลกเปลี่ยนเราก็ยากเหลือเกิน

Author

จันทร์เคียว
เป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ 10 กว่าปี ในวัย 30 ต้นๆ ลาออกจากงานหวังไปผจญภัยหาหนทางใหม่ที่ออสเตรเลียแต่กลับได้ล้างจานอยู่เมลเบิร์นสามเดือน แบกเป้ไปวิจัยฝุ่นในอินเดียเกือบปี ยังชีพโดยเขียนเรื่องเดินทางเสนอนิตยสาร ผลคือได้งานผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารท่องเที่ยว ปัจจุบันเป็นแม่บ้านอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแม่ของเด็กชายหนึ่งคนที่ยังอยากเดินทางไปสถานที่ที่ยังไม่เคยเหยียบย่าง และยังอยากเขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนบนโลกใบเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า