‘ทน’ เมื่อทุนนิยมยังคงเป็นผู้ชนะเสมอในเพลง Hiphop

เศรษฐกิจและความรักในดนตรีเป็นของคู่กันไม่ว่าจะแนวเพลงแบบไหน ยิ่งถ้าหากเป็นเพลงรักแล้วล่ะก็เงินทองเป็นของที่ต้องพูดถึง จากกระแสความโด่งดังของเพลง ‘ทน’

เพลงไทยเพลงแรกที่ได้ติดชาร์ต Billboard Global โดยศิลปินแนวฮิปฮอปสัญชาติไทย SPRITE และ GUYGEEGEE ทำให้ต้องฉุกคิดถึงเรื่องการบอกเล่าเรื่องราวของความรักและฐานะทางเศรษฐกิจในแนวเพลงฮิปฮอปอย่างจริงจัง เมื่อเปรียบเทียบวัฒนธรรมฮิปฮอปในอเมริกากับในเมืองไทย เราจะสามารถเห็นได้ว่าบางครั้งฮิปฮอปก็พูดถึงความรักที่ไปด้วยกันกับเรื่องเงินๆ ทองๆ และบางครั้งมันก็พูดถึงแบบตรงกันข้าม มากกว่านั้นมันยังมีความเป็น anti-capitalism อีกด้วย อย่างไรก็แล้วแต่ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวดนตรีฮิปฮอปเองแต่อยู่ที่ลักษณะของการผสมระหว่างทุนนิยมและวัฒนธรรมในสังคมนั้นๆ ที่ฮิปฮอปจากสองวัฒนธรรมได้เผยให้เราเห็น

ฮิปฮอปแบบอเมริกันมีเอกลักษณ์ดั้งเดิมคือการ ‘flex’ หรือการโอ้อวดเงินทองของใช้หรูๆ ที่เป็นเครื่องประดับ เคียงคู่มากับการสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นอเมริกันแร็ปเปอร์ จนการ flex นี้ได้กลายเป็นหนึ่งลักษณะสำคัญในความเป็นฮิปฮอปที่ปะปนอยู่ในเพลงของศิลปิน และในวิถีชีวิตของผู้คนที่เสพวัฒนธรรมฮิปฮอป

ความ ‘ไทย’ ของ Thaitanium

เมื่อฮิปฮอปถูกนำเข้ามาในเมืองไทยวัฒนธรรมของการ ‘flex’ ก็ถูกนำเข้ามาด้วย อย่างที่เราเห็นว่าศิลปินดนตรีแนวอื่นๆ ในไทยมักไม่เขียนเพลงถึงแบรนด์เนมอะไรมากมายอย่างที่ศิลปินฮิปฮอปทำกัน แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ถูกนำเข้ามาก็ต้องถูกผสมกับสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว หากเรามองวิวัฒนาการของฮิปฮอปในประเทศไทยจากวง Thaitanium ซึ่งนับได้ว่าเป็นผู้นำเข้าแนวดนตรีอเมริกันฮิปฮอปมาสู่เมืองไทย ซึ่งสมาชิกของ Thaitanium ล้วนได้เล่าเรียนและซึมซับวัฒนธรรมมาจากอเมริกาทั้งหมด Thaitanium จึงเป็นวงดนตรีฮิปฮอปที่สืบสายเลือดอเมริกันแท้ และความเป็นฮิปฮอปแบบอเมริกันของ Thaitanium นี้ก็ถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนในอัลบั้มแรกๆ ของพวกเขา ถึงขนาดที่ว่าการจะหาเนื้อร้องภาษาไทยแบบเต็มประโยคยังเป็นเรื่องยาก ตั้งแต่อัลบั้ม AA ถูกปล่อยออกมาในปี 2543 จนถึงตอนนี้นับเป็นเวลากว่า 21 ปีที่ฮิปฮอปแบบอเมริกันได้เข้ามาฟูมฟักอยู่ในประเทศไทยและมันก็ได้กลายพันธ์ุไปไม่น้อย Thaitanium เองเริ่มผลิตผลงานเพลงที่พูดง่ายๆ ว่าเข้าหาผู้คนในวงกว้างได้มากขึ้น ซึ่งถือว่านี่เป็นความเป็นประชานิยมอย่างเป็นรากฐานของวงการดนตรี เพราะว่าเพลงจะดังไม่ดังคนฟังคือผู้ให้คำตอบ ไม่ว่าศิลปินจะอัจฉริยะและมีความมั่นใจว่าเพลงตัวเองดีขนาดไหน ถ้าหากเพลงเข้าไม่ถึงคนฟังหรือคนฟังไม่อินและไม่ ‘ซื้อ’ มันก็เท่านั้น ยอดวิวใน YouTube จึงกลายเป็นตัวชี้วัดที่ง่ายและมีพลังอย่างยิ่ง 

วง ไทเทเนียม (Thaitanium)

การใช้ภาษาในเนื้อเพลงของ Thaitanium จึงเข้าถึงง่ายขึ้นสำหรับแฟนเพลงชาวไทยที่อยากจะร้องตาม Thaitanium เริ่มสื่อสารเรื่องราวของเมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เห็นได้ในเพลง ‘มหานคร’ และเริ่มที่จะผสมดนตรีฮิปฮิอปเข้ากับกลิ่นอายของแนวดนตรีอื่นๆ มากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ก็คือเพลง ‘สุดขอบฟ้า’ ที่ทำร่วมกันกับศิลปินเพื่อชีวิตอย่าง แอ๊ด คาราบาว ในแง่มุมของการทำดนตรีแบบฮิปฮิอปนั้น Thaitanium ได้ผสมผสานความเป็นอเมริกันฮิปฮอปเข้ากับสิ่งที่มีอยู่ในเมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่พวกเขาก็ยังไม่ทิ้งลาย ยังคงแร็ปอย่างมีกลิ่นอายแบบ ‘swag’ การใช้คำพูดแบบสแลงเขียนเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเงินทอง ผู้หญิง การต่อสู้ฝ่าฟันความยากลำบาก และความสำเร็จของพวกเขา อย่างที่เป็นไปตามวัฒนธรรมของการเล่าเรื่องในเพลงฮิปฮอปแบบอเมริกัน โดยเฉพาะเรื่องเงินทองที่หาได้หลังจากที่ชีวิตได้ผ่านความยากลำบากมากมายนี้ดูเหมือนจะเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของเป็นความฮิปฮอป 

ความร่ำรวยที่ถูกถ่ายทอดออกมาในฮิปฮอปแบบอเมริกันมีลักษณะเฉพาะอยู่ตรงที่ว่า มันจะต้องบอกเล่าโดยอ้างอิงจากความยากจนในอดดีตมาก่อน เนื่องด้วยว่าศิลปินฮิปฮอปในอเมริกาส่วนใหญ่ และฮิปฮอปในฐานะแนวดนตรีเองก็ถูกเคลมว่าเป็น Black Music ถึงแม้ว่า Eminem แร็ปเปอร์ผิวขาวชาวดีทรอยต์จะเป็นหนึ่งแร็ปเปอร์ที่ถูกขนานนามว่าเก่งกาจที่สุด แต่ Eminem ก็ขาวแค่ผิวกายเท่านั้น ที่เหลือในด้านดนตรีที่เขาสื่อออกมาก็ดำหมด ฉะนั้นฮิปฮอปในอเมริกาจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกครองโดย African Americans และมันก็ช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจนมาสู่การเป็นคนรวยได้ อย่างที่ J. Cole ในเพลง ‘Immortal’ บอกว่า “I know nobody meant to live forever anyway. And so I hustle like my niggas in Virgini-A, They tellin’ niggas sell dope, rap or go to NBA” – ตามเนื้อเพลงแล้วการ sell dope, rap or go to NBA คือสามช่องทางหลักจากมุมมองของอเมริกันฮิปฮอปที่อนุญาตให้ African Americans ก้าวข้ามความยากจนได้ แนวดนตรีนี้ได้กลายเป็นวัฒนธรรมการเล่าเรื่องที่ต้องแสดงถึงการต่อสู้เพื่อปลดแอกตัวเองจากความยากจนของ African Americans และโอ้อวดความร่ำรวยผ่านสิ่งของหรูๆ ที่ไม่ได้จะถูกมองว่า ‘อวดรวย’ เพราะมันถูกทำให้ชอบธรรมด้วยความยากจนในอดีต ฉะนั้นฮิปฮอปจึงเป็นการเล่าแบบ ‘started from the bottom now we’re here’ อย่างในเพลงของ Drake เสมอมา นี่คือจุดที่เรื่องของฐานะทางเศรษฐกิจแสดงออกมาชัดเจนที่สุดในดนตรีฮิปฮอป

J. Cole

เมื่อ Flex แล้วไม่โดนใจผู้บริโภคในสังคมหมั่นไส้คนรวย

แต่เมื่อฮิปฮอปแบบไทยได้เริ่มพัฒนาเป็นแบบลูกผสมมากขึ้น การถ่ายทอดเรื่องราวของฐานะทางเศรษฐกิจก็มีความแตกต่างออกไป เพราะมันได้ผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่ในเมืองไทย และจุดเด่นของฮิปฮอปลูกผสมนี้ได้แสดงตัวออกมาอย่างชัดเจนในรูปแบบของเพลงรัก ในที่นี้ความรักในเพลงฮิปฮอปของไทยไม่ได้เดินทางเคียงคู่ไปกับเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างเกื้อหนุนและหรูหราอย่างเดียวอีกต่อไป แต่บางครั้งมันก็บอกเล่าถึงความลำบากจากภาระทางเศรษฐกิจ และวางให้ระบบทุนนิยมอยู่ในจุดที่เป็นศัตรูกับความรัก และดูเหมือนว่าการเล่าเรื่องแบบนี้ก็ทำให้เพลงสามารถเข้าถึงคนฟังหลักหลายล้านได้ เพราะในเมืองไทยนั้นยังมีคนอีกมากมายที่รู้สึกอินซึ้งกินใจกับเรื่องราวแบบรักแท้แพ้เงินทอง

ในแง่นี้การทำเพลงเพื่อครองใจหรือดึงยอดฟังจากคนหมู่มากจึงเป็นการทำเพลงเพื่อเข้าถึงหัวใจของคนจนในสังคม และเพลงลูกทุ่งบ้านเราเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดอย่างที่ ไมค์ ภิรมย์พร ได้ทิ้งวรรคทองไว้ว่า “เป็นแฟนคนจนต้องทนหน่อยน้อง พี่นี้ไม่มีเงินทองจะรองรับความลำบาก” ในเพลง ‘ยาใจคนจน’ 

จากท่อนนี้ของเพลงเราสามารถมองเห็นเรื่องของเศรษฐกิจและความรักที่ผูกติดกันไว้อย่างชัดเจน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในเนื้อเพลงและแนวการเล่าเรื่องในเพลงรักแบบนี้ นั่นก็คือความเป็น anti-capitalism หรือการต่อต้านระบบทุนนิยมนั่นเอง

ไม่ได้กำลังจะบอกว่าศิลปินเพลงลูกทุ่งเป็นพวกต่อต้านทุนนิยมแต่อย่างใด แต่ในเพลงลูกทุ่ง เรามักได้ยินเนื้อเพลงที่มีความหมายสื่อถึงสภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความดิ้นรน ฯลฯ และมักจะอยู่ในฐานะที่มีระบบทุนนิยมเป็นขั้วตรงข้าม เป็นอุปสรรค หรือเป็นศัตรูอยู่เสมอ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าความเป็น anti-capitalism ที่แฝงอยู่ในเพลง และเมื่อฮิปฮอปในเมืองไทยได้ผสมตัวมันเองเข้ากับอิทธิพลทางดนตรีในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็หลีกเลี่ยงการรับอิทธิพลแบบเพลง ‘ยาใจคนจน’ ไปไม่ได้ 

และจุดนี้เองคือจุดที่เพลง ‘ทน’ เข้ามาเป็นตัวแทนของสไตล์เพลงรักในวงการฮิปฮอปบ้านเรา หรืออีกหนึ่งเพลงที่โด่งดังมากๆ อย่างเพลง ‘ตราบธุลีดิน’ ของ ปู่จ๋าน ลองไมค์ ที่เล่าเรื่องความรักในรูปแบบคล้ายๆ กันคือ “มีให้แค่เท่านี้ มีเพียงแค่เท่านี้ มีให้แค่เล็กน้อย แต่ให้ไปเกินร้อย” และปัจจุบันก็ดูเหมือนว่า เพลงฮิปฮอปในไทยที่เป็นเพลงรัก ก็หันมาเล่าเรื่องในแนวทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ อันแสดงความเป็น ainti-capitalism ออกมาได้ชัดเจนและประสบความสำเร็จมากขึ้น และไม่ว่าคนจะชื่นชอบเพลงอย่าง ‘ทน’ หรือ ‘ตราบธุลีดิน’ ด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตามแต่ สิ่งที่ยังมีอยู่อย่างเด่นชัดในเนื้อเพลงก็คือความรักที่มีทุนนิยมเป็นศัตรู และสิ่งนี้แม้จะไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากมายเท่ากับเรื่องวิธีการร้องหรือสไตล์ของดนตรี แต่ก็คือองค์ประกอบสำคัญของเพลงที่ทำให้เพลงเข้าถึงใจประชาชนอย่างปฏิเสธไม่ได้ 

Anti-capitalism บนชั้น ‘สินค้าขายดี’

คอนเทนต์ต่อต้านทุนนิยมไม่ว่าจะในเพลงหรือภาพยนตร์นั้นมีอยู่อย่างกว้างขวาง และคอนเทนต์เหล่านี้ก็เป็นที่นิยมและขายดิบขายดีในโลกทุนนิยมปัจจุบันอีกด้วย

นี่อาจเป็นเพราะลักษณะอันโดดเด่นของระบบทุนนิยมที่มักซ่อนเร้นตัวเองอยู่ในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับมัน ตัวอย่างง่ายๆ ก็คืออย่างที่ สลาวอย ชิเชค (Slavoy Zizek, นักปรัชญาสำนักจิตวิเคราะห์แบบลากอง) ได้ชี้ไว้ว่าผู้ร้ายในภาพยนตร์ฮอลลีวูดจำนวนมากคือนายทุนผู้ชั่วร้าย ที่อยู่เบื้องหลังวิกฤติต่างๆ ที่นำไปสู่จุดจบของโลก แน่นอนว่าภาพยนตร์จำพวกนี้เป็นที่นิยมและโด่งดังได้ด้วยหลายปัจจัย แต่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าถึงอย่างไรมันก็วางให้นายทุนเป็นผู้ร้ายอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า และถึงแม้ว่าบ่อยครั้งผู้ชมไม่ได้สนใจถึงสิ่งนี้ พวกเขาก็ชื่นชอบภาพยนตร์จำพวกนี้อยู่ดี ความจริงอย่างหนึ่งที่สำคัญสำหรับทุนนิยมก็คือ มันไม่ต้องอ้อนวอนให้ใครศรัทธาในตัวมัน แม้ผู้คนไม่ต้องศรัทธา หรือทั้งๆ ที่รู้ว่ามันสร้างสิ่งชั่วร้ายมากมาย ทุนนิยมก็เติบโตและสร้างเงินได้มหาศาลอยู่ดี และบางทีอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำที่คนไม่คิดจริงจังกับมันมาก เพราะมันทำให้ผู้คนมองเห็นความชั่วร้ายของทุนนิยมเป็นเรื่องปกติสามัญได้ง่ายขึ้นนั่นเอง 

ลองคิดดูเล่นๆ ง่ายๆ ว่าถ้าสถานการณ์โควิดคลี่คลาย สถานบันเทิง ผับ บาร์ กลับมาให้บริการได้ตามปกติ เพลงที่กำลังดังอย่าง ‘ทน’ จะถูกเปิดให้เราได้ร้องเล่นเต้นรำกันตามเนื้อเพลงที่กำลังบรรยายว่าความรักภายใต้ทุนนิยมนั้นมันลำบากแค่ไหนอย่างครื้นเครง นี่คือความมหัศจรรย์ของทุนนิยม มันทำให้เราสามารถเฮฮากับความโหดร้ายของมันได้อย่างง่ายดาย ในหนังสือ Capitalist Realism บทที่หนึ่งที่ตั้งชื่อตามสโลแกนของ เฟรดดริค เจมสัน (Fredric Jameson) และ สลาวอย ชิเชค (Slovoy Zizek) ที่กล่าวว่า “It is easier to imagine the end of the world than it is to imagine the end of capitalism” (มันง่ายที่จะจินตนาการถึงจุดจบของโลกกว่าที่จะจินตนาการถึงจุดจบของทุนนิยม) ในบทนี้ มาร์ค ฟิชเชอร์ (Mark Fisher) ผู้เขียนได้พูดไว้ว่า “ Capitalism is what is left when beliefs have collapsed at the level of ritual and symbolic elaboration, and all that is left is the comsumer-spectator, trudging through the ruins and the relics.” แปลโดยสรุปว่า ทุนนิยมคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อความเชื่อได้พังทลายลงและหลงเหลือไว้เพียงการรับชมจากผู้บริโภคเท่านั้น

ทุนนิยมสามารถขายสิ่งที่ตรงกันข้ามกับมันได้อย่างดีเยี่ยมและประสบความสำเร็จมาโดยตลอด 

การบรรจบกันของอเมริกันฮิปฮอปและไทยฮิปฮอปบนชาร์ตบิลบอร์ด

เมื่อมองฮิปฮอปแบบอเมริกันและไทย เราจะเห็นได้ว่าทุนนิยมที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมดนตรีฮิปฮอปนั้นมีสองร่าง และสองร่างของทุนนิยมนี้เผยตัวเองออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุดในรูปแบบของเพลงรัก โดยร่างแรกคือแบบ pro-capitalism อันกึกก้องอยู่ในฮิปฮิอปแบบอเมริกัน และร่างที่สองคือแบบ anti-capitalism ที่สะท้อนออกมาเมื่อฮิปฮอปไทยลูกผสมเล่าเรื่องราวความรัก

เพลงรักแบบฮิปฮอปอเมริกัน ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเงินหรือเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นศัตรูกับความรัก เราแทบไม่เคยได้ยินแร็ปเปอร์ในอเมริกาถามคนรักในเพลงว่าถ้าพี่จนเธอจะทนได้ไหม? แต่เรามักจะได้ยินสิ่งที่ตรงกันข้ามมากกว่า อย่างเช่นในเพลง ‘Whatever you like’ ของ TI ที่เล่าว่าคนรักคนของตนอยากได้อะไรก็ย่อมได้เพราะ TI สามารถหามาได้ทั้งหมด เพราะการขอให้คนรักยอมรับกับเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจของตน และมองว่ารักแท้สามารถเอาชนะความยากจนได้นั้นไม่ใช่วัฒนธรรมในเพลงฮิปฮอปของอเมริกา เพราะใครๆ ก็รู้ว่า “Cash rules everything around me” ถ้าใครยังจำครั้งที่ เอ็ดดี เมอร์ฟี (Eddie Murphy) นักเดี่ยวไมโครโฟนที่โด่งดังระดับตำนานชาวอเมริกัน พูดถึงเพลง ‘Ain’t Nothin’ Going On But The Rent’ ของ เกว็น กูธรี (Gwen Guthrie) ในโชว์ของเขาเมื่อในช่วงกลาง 1980s ซึ่งเป็นช่วงของการก่อร่างสร้างตัวของเสรีนิยมใหม่ในอเมริกา เอ็ดดีพูดว่าความรักของหญิงชายในยุคนี้ก็เหมือนเพลงนี้ เพราะ “There is no romance without finance” โดยในท่อนแรกๆ ของเพลงร้องว่า “Boy, nothin’ in life is free. That’s why I’m askin’ you what can you do for me. I’ve got responsibilities. So I’m lookin’ for a man whose got money in his hands.” และท่อนฮุคที่ร้องว่า “Cause ain’t nothin’ goin’ on but the rent. You got to have a J-O-B if you wanna be with me” ถึงแม้ว่าเพลงนี้ของ เกว็น กูธรี จะไม่ได้โด่งดังอะไรมากมาย แต่มันก็ถูกพูดถึงโดย เอ็ดดี เมอร์ฟี ในโชว์ใหญ่ของเขา

ถ้าคุณจะใช้เพลงไปถามคนรักว่า “อยู่กับพี่แล้วมันลำบากนะ หรือว่าน้องจะทน?” คำตอบที่คุณจะได้จากวัฒนธรรมแบบ American Hiphop ก็คือ “NO” 

ความคิดแบบ anti-capitalistm ไม่มีอยู่ในฮิปฮอปแบบอเมริกัน เพราะมันคือหนึ่งในแรงผลักทางวัฒนธรรมแบบ The American Dream ความฝันของทุกคนที่จะประสบความสำเร็จสามารถเป็นจริงได้ถ้าหากคุณต่อสู้และฝ่าฟันมันมากพอ 

แม้ว่าฝันนี้จะไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลกทุนนิยมไม่ว่าที่ใด เราก็ยังคงเห็นการบอกเล่าเรื่องราวแบบนี้ต่อไป 

ในอีกด้านหนึ่งกระแสการตอบรับจากคนหนุ่มสาวเรื่องความรักที่จะต้องทนเอาก่อนเพราะการเงินไม่อำนวยก็ดำเนินกันต่อไป สุดท้ายแล้วไม่ว่าความรักจะอยู่ที่ไทยหรืออเมริกา จะขับร้องออกมาในแบบลูกทุ่งหรือฮิปฮอป มันก็เลี่ยงที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมไม่ได้ romance จำเป็นต้องมี finance ในอเมริกา ส่วนในประเทศไทยถึงไม่มี Balenciaga มันก็ยังจะพอไปกันได้ ไม่ว่าทุนนิยมจะมาในรูปแบบของการเล่าสตอรี่การต่อสู้ฝ่าฟันจนผู้คนอย่าง African Americans สามารถร่ำรวยได้ หรือซ่อนตัวเองอยู่ในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับมันเพื่อที่จะอยู่ร่วมกับสังคมนั้นให้ได้แบบเพลง ‘ทน’ สุดท้ายแล้ว การพูดถึง Louis Vuitton หรือ Balenciaga ในเพลงที่แม้จะบอกว่าเราไม่มีมัน เราไม่ได้โอ้อวดถึงการครอบครองมัน แต่ความสำคัญของสินค้าเหล่านี้ก็ยังถูกผลิตซ้ำไปอยู่ดี สิ่งที่ตรงกันข้ามกับทุนนิยมมันก็เน้นย้ำถึงความสำคัญของทุนนิยมได้ดีเช่นกัน เพราะถึงแม้วันนี้ยังไม่ร่ำรวย ยังส่งค่างวดรถไม่ทัน และเรายอมรับว่าชีวิตมันลากถ้าหากไม่มีของชั้นหรูๆ ความรักก็คงจืดจาง แต่ถึงอย่างไรเราก็ไล่ตามหามันอยู่ดี แม้วันนี้ไม่มีแต่ก็ยังไล่ตามอย่างไม่จบสิ้น นี่น่าจะเป็นจุดจบที่ทุนนิยมยังคงเป็นผู้ชนะต่อไป 

โอมาร์ หนุนอนันต์
นักศึกษาสาขาการเมืองระหว่างประเทศผู้สนใจในความคิด อุดมการณ์ และอำนาจการครอบงำที่อยู่ในสิ่งสามัญรอบตัว หลงใหลในภาษาและการสื่อสาร ที่มักซ่อนเร้นความจริงบางอย่างที่มนุษย์ผู้ใช้ภาษาไม่เคยควบคุมมันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า