เรื่อง / ภาพ: ปริตตา หวังเกียรติ
พวกเขาเล็งปืนมาที่แม่
‘ลานา’ กระซิบที่ข้างหูฉัน เสมือนเป็นคำสารภาพสุดท้ายหลังจากที่เธอพยายามเล่าเรื่องราวความสงบสุขในชุมชนชาวลาหู่อย่างไม่ปะติดปะต่อ เธอพูดอย่างลังเลในช่วงหนึ่งของบทสนทนาว่า “พวกเขาช่วยพัฒนาเรา”
เธอใช้คำเรียกว่า ‘พวกเขา’ เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะชี้ชัดถึงตัวบุคคลที่เธอกล่าวถึง
ในปี 2548 ‘พวกเขา’ ใช้ปืนเล็งปืนมาที่ลานา ข่มขู่ลานาและชาวลาหู่อีกคนที่กำลังเดินเข้าไปสำรวจที่นาของตนในบ้านกองผักปิ้ง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ติดชายแดนไทย-พม่า
เหตุแห่งความขัดแย้งครั้งนั้นเกิดจากการพบกล้าไม้ใหม่ถูกฝังลงในที่นาของชาวลาหู่ โดยที่เจ้าตัวไม่ทราบว่าที่นาของตนได้ถูกควบรวมเป็นพื้นที่จัดทำโครงการปลูกป่าของราชการ ชาวลาหู่ต้องการเข้าไปในที่นาเพื่อเตรียมเพาะปลูกข้าวตามปกติอย่างที่เคยทำมาทุกปี แต่กลับมาเจอ ‘พวกเขา’ ถือปืนเฝ้าพื้นที่และขับไล่ชาวลาหู่ด้วยข้อหาบุกรุกพื้นที่สาธารณะ โชคดีที่ลานาไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่เพื่อนชาวลาหู่อีกคนถูกทำร้าย
บ้านกองผักปิ้งเป็นหนึ่งในหมู่บ้านบนแนวชายแดนไทย-พม่าที่ถูกตราหน้าเป็น ‘หมู่บ้านคนค้ายา’ และถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีแดงอันหมายถึงพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดรุนแรง ด้วยสถานที่ตั้งติดเขตรัฐฉาน ประเทศพม่า อันได้ชื่อว่าเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตยาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้า
ในปี 2546 หลังจากรัฐบาลภายใต้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ประกาศทำสงครามกับยาเสพติด บ้านกองผักปิ้งเป็นหนึ่งในเป้าหมายปฏิบัติการปราบปรามหลัก องค์กร Human Rights Watch รายงานว่า มีผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมถึง 2,275 รายทั่วประเทศ ภายในช่วงเวลาเพียงสามเดือน นับจากวันเริ่มต้นประกาศสงคราม
ลานาจำได้แม่นถึงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในตอนนั้น บ่อยครั้งที่ผู้ต้องสงสัยชาวลาหู่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมจนได้รับบาดเจ็บ แม้ว่าจะมีหรือไม่มียาเสพติดอยู่ในครอบครอง ลานาซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานและตัดสินให้มีความผิดด้วยโทษจำคุกเก้าเดือน เพราะเธอปฏิเสธให้ความร่วมมือจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวลาหู่สองคนที่ถูกตรวจค้นบ้าน แต่ไม่พบยาเสพติดแต่อย่างใด ยิ่งเมื่อสมาชิกในชุมชนบางส่วนยังไม่มีสถานะทางทะเบียน การเรียกร้องสิทธิและการปกป้องตัวเองจากการถูกละเมิดยิ่งทำได้ยากยิ่งขึ้น
“ใช่ว่าเราทุกคนจะขายยา เพียงแค่เพราะว่าแม่ไม่ทำตามคำสั่ง ไม่ได้แปลว่าแม่เป็นผู้กระทำผิด” ลานากล่าว “เราสู้เพื่อสิทธิมาอย่างยาวนาน นานพอที่จะทำให้เราเบื่อ และปล่อยให้มันเป็นไป”
ฉันพบลานาในระหว่างที่เธอเข้าร่วมกิจกรรมรำลึก 60 วัน หลังการเสียชีวิตของนักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ ชัยภูมิ ป่าแส หรือ ‘จะอุ๊’ ซึ่งถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ทหารในเช้าวันที่ 17 มีนาคม 2560 ณ ด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวงในอำเภอเชียงดาว ชัยภูมิถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดฐานครอบครองและจำหน่ายยาเสพติด
“แม่นอนไม่หลับเลย ตั้งแต่ชัยภูมิเสียชีวิต” ลานากล่าวถึงนักกิจกรรมหนุ่มซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันขณะที่เขายังมีชีวิต
ไม่ต่างจากชาวลาหู่คนอื่นๆ ที่ถูกตีตราและกระทำด้วยความรุนแรงมานานกว่าหนึ่งทศวรรษ ลานาคงไม่สามารถนอนหลับได้สนิท จนกว่าวันที่เธอจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า ‘พวกเขา’ คือใคร
ในวันที่เขาเสียชีวิต…
ชัยภูมิและเพื่อนขับรถออกจากบ้านกองผักปิ้งในตอนเช้า เพื่อเดินทางไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ รถฮอนด้าแจ๊สที่ทั้งสองใช้โดยสารถูกทหารเรียกหยุด ณ ด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง ห่างจากบ้านกองผักปิ้งประมาณ 10 กิโลเมตร
ทหารระบุว่า จากปฏิบัติการตรวจค้นรถยนต์คันดังกล่าว พบยาบ้ามากกว่า 2,800 เม็ด ซุกซ่อนในหม้อน้ำรถยนต์ ชัยภูมิพยายามขัดขืนการจับกุมและหลบหนี รวมทั้งแสดงทีท่าปาระเบิดชนิดขว้างสังหารใส่ทหาร ทหารจึงมีความจำเป็นต้องลั่นไกโต้ตอบเพื่อ ‘ป้องกันตัว’ การสืบสวนของตำรวจภูธรภาค 5 ระบุว่า ชัยภูมิ ‘มีความเกี่ยวพันคดียาเสพติด’ มีรายได้ก้อนโตโอนเข้าบัญชีธนาคารทุกสัปดาห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า เคยมีความพยายามล่อซื้อยาเสพติดจากชัยภูมิก่อนหน้านี้ แต่ไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ยังคงมีข้อกังขาถึงความชอบธรรมในการวิสามัญฆาตกรรม และมีข้อเท็จจริงหลายประการที่ยังไม่ถูกทำให้ปรากฏ แม้ทหารอ้างว่ามีกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยภาพสู่สาธารณะจนทุกวันนี้
คนใกล้ชิดกับชัยภูมิหลายคนให้สัมภาษณ์โดยไม่เชื่อว่าเขาจะพัวพันกับการค้ายาเสพติด ขณะที่องค์กรและทนายด้านสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือในการติดตามคดี เพื่อค้นหาความจริงก่อนวินาทีที่กระสุนปืนจะทะลุผ่านหน้าอกของชัยภูมิ ทว่าสมาชิกในชุมชนบ้านกองผักปิ้งหลายคนทำได้เพียงสังเกตการณ์คดีนี้อยู่ห่างๆ พวกเขาไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้อย่างสะดวกใจนัก การเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของชัยภูมิได้กระตุกต่อมความกลัวของชาวบ้านต่อเจ้าหน้าที่รัฐให้เพิ่มระดับทวีคูณ ทั้งหมดนั้นมีรากฐานจากประสบการณ์ที่ชาวลาหู่ถูกเลือกปฏิบัติและตีตราด้วยคดียาเสพติดมาอย่างยาวนาน
เมื่อใดที่มีนโยบายการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด หมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-พม่าในภาคเหนือมักถูกจับตามองอย่างเข้มข้น ในฐานะเป็นเส้นทางหลักในการลำเลียงยาเสพติดเข้ามายังประเทศไทย มีรายงานอย่างต่อเนื่องถึงกรณีการจับกุมชนเผ่าที่ทำการขนถ่ายยาเสพติดข้ามพรมแดนในเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ไม่กี่เดือนหลังการเสียชีวิตของชัยภูมิ ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2560 คนไทยและชาวลาหู่รวมเก้าคน ถูกวิสามัญฆาตกรรมขณะปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไทยในเขตบ้านผาหมี อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ทำการยึดยาบ้า 700,000 เม็ด ปืน AK-47 หนึ่งกระบอก และปืน M16 สองกระบอก
เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดรายหนึ่งระบุว่า กลุ่มชนเผ่าที่ลำเลียงยาเสพติดมีความคุ้นเคยกับเส้นทางธรรมชาติตรงแนวชายแดนและยังสามารถสื่อสารภาษาพื้นถิ่นได้ดี นอกจากนี้ หมู่บ้านชายแดนในภาคเหนือยังถูกจับตาเข้มข้น เนื่องจากอยู่ใกล้พื้นที่ชนกลุ่มน้อยที่มีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อกองกำลังติดอาวุธกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army: UWSA) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาเสพติดรายใหญ่ในพม่าย้ายฐานที่ตั้ง และชาวว้าจำนวนหลักแสนอพยพจากตอนเหนือสู่ตอนใต้ของรัฐฉานบริเวณใกล้ชายแดนไทย-พม่าในระหว่างทศวรรษ 2540-2550 USWA อ้างว่าการย้ายถิ่นฐานเป็นไปเพื่อปราบปรามยาเสพติดโดยตัดขาดชาวว้าจากพื้นที่ปลูกฝิ่นในตอนเหนือ แต่การย้ายถิ่นก็นำพาแหล่งผลิตยาเสพติดเคลื่อนลงมาใกล้ชายแดนภาคเหนือของไทย ส่งผลให้มีข่าวยาเสพติดทะลักชายแดนไทยอย่างต่อเนื่อง
“ผมยอมรับว่าบ้านของผมเป็นแหล่งกบดานผู้ค้ายา แต่มันไม่เป็นธรรมที่จะเหมารวมว่าเราทุกคนเป็นลูกหลานของผู้ค้ายาทั้งหมด” สาโรจน์ ชาวลาหู่ สมาชิกบ้านกองผักปิ้งกล่าว
ในพื้นที่สีแดง ด่านตรวจของเจ้าหน้าที่มีให้เห็นอยู่เสมอ ในขณะที่ฉันและนักข่าวอีกคนเดินทางตามแนวชายแดนเพื่อติดตามร่องรอยของคดีชัยภูมิ พวกเราในฐานะคนนอกผ่านด่านตรวจได้อย่างง่ายดาย แต่หากเมื่อไรที่เป็นทีของสาโรจน์ การผ่านด่านตรวจนั้นกลับไม่ใช่เรื่องง่าย เขามักถูกเจ้าหน้าที่ทหารสั่งตรวจปัสสาวะแม้ว่าเขาจะต้องผ่านด่านตรวจนั้นเป็นประจำ หลานของสาโรจน์ในวัย 17 ปี เคยโดนเจ้าหน้าที่ซ้อมในระหว่างการตรวจค้นร่างกายเพื่อค้นหายาเสพติด
ชาวลาหู่อีกจำนวนหนึ่งให้สัมภาษณ์คล้ายคลึงกัน พวกเขาเคยผ่านประสบการณ์ตรง หรือมีเพื่อนและคนในครอบครัวที่ถูกกระทำความรุนแรงในฐานะผู้ที่น่าสงสัยว่ามียาเสพติดในครอบครอง
“ชีวิตของชนกลุ่มน้อยก็ลำบากมากพอแล้วจากการที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พวกเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมรับโชคชะตา เขาจะทำแบบเดียวกันไหมหากผู้ต้องสงสัยไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย?” สาโรจน์ตั้งคำถาม
ไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่เขาเสียชีวิต…
เจ้าหน้าที่รัฐและทหารเร่งส่งทรัพยากรและความช่วยเหลือเข้าสู่หมู่บ้านกองผักปิ้ง เพื่อบรรเทาความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชัยภูมิ ห้องน้ำใหม่ถูกสร้างขึ้นในบ้านแม่ของเขา
รถกระบะวิ่งเข้าออกเพื่อส่งวัสดุก่อสร้างให้กับชุมชน เจ้าหน้าที่บอกว่าพวกเขาจะได้ถังเก็บน้ำ จะมีการขยายสายส่งไฟฟ้าเข้าไปในหมู่บ้านเร็วๆ นี้ และจะมีการริเริ่มโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต
เจ้าหน้าที่จากฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นรวมถึงนายอำเภอเชียงดาว สราวุฒิ วรพงษ์ เข้าเยี่ยมหมู่บ้านเพื่อสำรวจปัญหาและความต้องการของชุมชน ชาวบ้านเล่าว่าสราวุฒิน่าจะเป็นนายอำเภอคนแรกในรอบ 10 ปีที่ลงมาเยี่ยมหมู่บ้านถึงที่
“หมู่บ้านนี้ถูกละเลยมาอย่างยาวนาน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น เราเลยพยายามหางบประมาณเพื่อมาช่วยเหลือหมู่บ้าน เพราะเราไม่อยากให้เขาถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” สราวุฒิกล่าว
แม่ทัพภาคที่ 3 พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ทหารมีเจตนาอันดีที่จะช่วยเหลือชุมชน หลังจากการเสียชีวิตของชัยภูมิ พลโทวิจักขฐ์ เล็งเห็นโอกาสทำค่ายเยาวชนปลอดยาเสพติด เนื่องจากบ้านกองผักปิ้งยังถือเป็นพื้นที่สีแดง ทหารจะร่วมนำส่งผู้เสพยาให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำการคัดกรอง และส่งต่อไปยังค่ายบำบัด ‘ผู้เสพคือผู้ป่วย’ ตามนโยบายรัฐบาล
“เราจะไม่ใช้วิธีแบบทหาร” พลโทวิจักขฐ์ กล่าว และย้ำว่าการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่เป็นหน้าที่ของทหาร โดยใช้วิธีการที่ ‘เหมาะสม’ เสมอมา
“เราไม่ใช้อาวุธหากไม่จำเป็น อาวุธจะใช้ก็เพื่อป้องกันตัวเท่านั้น และต้องไม่สร้างผลกระทบให้คนที่ไม่ใช่เป้าหมาย เราไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ภาคสนามบรรจุกระสุนปืนหากไม่มีเหตุอันสมควร นี่คือกฎเหล็กของเรา”
อย่างไรก็ตาม พลโทวิจักขฐ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนตอนหนึ่งว่า การวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิเป็นสิ่งที่กระทำได้โดยชอบธรรม
ในนามของความมั่นคง การเข้ามาของเจ้าหน้าที่รัฐและทหารด้วยความถี่มากกว่าปกติ กลับทำให้ชาวลาหู่บางคนรู้สึกไม่สบายใจ โดยเฉพาะคนที่มีความใกล้ชิดกับชัยภูมิและผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์ถูกกระทำด้วยความรุนแรง
ชาวลาหู่คนหนึ่งเล่าว่า เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาถ่ายรูปหน้าบ้านของตนและชาวลาหู่คนอื่นๆ โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจเพื่อมอบความช่วยเหลือในอนาคต ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่พร้อมแสดงแผนผังเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด บนผังมีชื่อของชัยภูมิและเพื่อนสนิทของเขาที่ยังอาศัยอยู่ในหมู่บ้านกองผักปิ้ง ยิ่งก่อกำแพงความไม่ไว้ใจกันระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ
ย้อนไปเมื่อต้นปี 2558 ไมตรี จำเริญสุขสกุล นักกิจกรรมกลุ่มรักษ์ลาหู่ซึ่งดูแลชัยภูมิก่อนหน้านี้ เผยแพร่คลิปวิดีโอผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งบันทึกภาพการพูดคุยระหว่างกลุ่มชาวลาหู่กับเจ้าหน้าที่ทหาร โดยชาวลาหู่ในคลิปทวงถามความรับผิดชอบในกรณีที่มีชายไม่ทราบชื่อเข้ามาในหมู่บ้านพร้อมกับรถทหารในคืนก่อนสิ้นปี 2557 และกระทำการตบหน้าเด็กและชาวบ้านที่กำลังนั่งผิงไฟ
ชายคนหนึ่งในคลิปบอกให้ชาวลาหู่ชี้ตัวผู้เกี่ยวข้อง เสียงชาวลาหู่คนหนึ่งดังขึ้น “มันเอาปืนจี้ จะเห็นได้ไง” ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าไม่มีใครใช้ความรุนแรง
คลิปวิดีโอนี้ถูกแชร์และนำไปตัดต่อเผยแพร่ซ้ำโดยบุคคลอื่นเพื่อใช้โจมตีรัฐบาลทหาร ส่งผลให้ทหารแจ้งความกล่าวหาไมตรีในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ศาลจังหวัดเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องคดีในปี 2559 เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะกล่าวหาว่าไมตรีเผยแพร่คลิปวิดีโอที่ผ่านการตัดต่อ ศาลยังวินิจฉัยอีกว่า นายไมตรีเผยแพร่คลิปวิดีโอโดยเข้าใจว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริง และมีพยานหลายคนยืนยันว่าชาวลาหู่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจริง
60 วันหลังจากเขาเสียชีวิต
เทียนหลายเล่มถูกจุดขึ้น ผู้นำทางจิตวิญญาณเปิดนำบทสวดไว้อาลัย หลายคนยังคงค้นหาความจริงจากการเสียชีวิตของชัยภูมิ
นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ชาวลาหู่ และผู้สนใจทั่วไปมารวมตัวกัน ณ ด่านตรวจถาวรบ้านริน เพื่อไว้อาลัยกับการเสียชีวิตของนักกิจกรรมหนุ่ม บางคนเดินตามหาร่องรอยของชัยภูมิตรงจุดที่เขาล้มลงด้วยกระสุนปืน ผู้ร่วมงานผลัดกันขึ้นกล่าวไว้อาลัยด้วยความเศร้าโศก และเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐเปิดเผยหลักฐานทางคดี โดยเฉพาะภาพจากกล้องวงจรปิดที่ยังไม่เปิดเผยสู่สาธารณะ
“เราอยากรู้เหมือนกันว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะมีจริงหรือไม่ ถ้าเขาทำผิดจริง เราก็จะยอมรับ แต่ไม่ว่าเขาจะถูกหรือผิด การฆ่ากันอย่างง่ายดายเช่นนี้ก็ไม่ควรเกิดขึ้น” ไมตรีกล่าว
ทนายสิทธิมนุษยชน สุรพงษ์ กองจันทึก กล่าวแสดงความเสียใจแก่ชุมชนชาวลาหู่ และสะท้อนภาพว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการละเลยของเจ้าหน้าที่ที่จะยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศพหุวัฒนธรรม
“ถ้าข้อเท็จจริงนี้เป็นที่ยอมรับ เจ้าหน้าที่จะทำงานอย่างมีมนุษยธรรม เราต้องกำจัดอคติทางชาติพันธุ์ที่ว่าชาวลาหู่ทุกคนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด”
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางมาร่วมรำลึกถึงชัยภูมิเช่นกัน เขาแสดงความเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจเผด็จการที่ผลักไสให้กลุ่มคนชายขอบมีความเปราะบางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสภาพแวดล้อมทางการเมืองไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยและรัฐมีการใช้อำนาจเกินขอบเขต
หลายเสียงเรียกร้อง “สังคมต้องไม่หยุดค้นหาความจริง”
1 ปี หลังจากที่เขาตาย
ความจริงยังคงไม่ปรากฏ ขณะที่เครือญาติชัยภูมิถูกจับเพิ่มเติม
สุมิตรชัย หัตถสาร นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และทนายอาสาให้กับครอบครัวชัยภูมิ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่พบการเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิด นอกจากนี้ ในระหว่างการไต่สวนคดีไม่พบว่ามีการใช้ภาพกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐาน โดยอัยการอ้างรายงานจากกองพิสูจน์หลักฐานว่า ทหารได้ส่งเครื่องฮาร์ดดิสก์ที่บันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดให้ตำรวจแล้ว เครื่องสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ “เปิดแล้วไม่พบภาพวันเกิดเหตุ”
การไต่สวนคดีการเสียชีวิตของชัยภูมิเริ่มขึ้นที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 โดยศาลได้เรียกไต่สวนตลอดช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และมีนัดอีกครั้งในวันที่ 20 มีนาคม 2561
นอกจากนี้ ฉันทนา ป่าแส ญาติของชัยภูมิ และ นาหว่ะ จะอือ น้องสะใภ้ของไมตรี ยังคงถูกควบคุมตัวในเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน หลังจากที่ถูกชุดสืบสวนตำรวจภูธรภาค 5 ปฏิบัติการปิดล้อมและตรวจค้นบ้านเครือญาติของชัยภูมิที่บ้านกองผักปิ้งในเดือน พฤษภาคม 2560 เพื่อขยายผลจากยาบ้า 2,800 เม็ดที่พบในคดีชัยภูมิ ฉันทนาโดนจับในข้อหาค้ายาเสพติดโดยมีผู้ซัดทอด ส่วนนาหว่ะโดนกล่าวหาว่าเป็นคนส่งยาให้กับชัยภูมิ แต่ไม่พบยาเสพติดในระหว่างการตรวจค้นบ้านทั้งสอง อย่างไรก็ตาม ตำรวจยืนยันว่ามีหลักฐานชัดเจนและทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน
ส่วนไมตรีถูกทหารในพื้นที่ติดตามอยู่เป็นระยะ จนต้องออกจากบ้านกองผักปิ้งตั้งแต่เกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรม และไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ไม่เพียงไมตรีเท่านั้นที่ไม่สามารถทวงคืนความปกติกลับมาได้…
วันนั้น ลานาบอกฉันว่า เธอเรียนรู้จากข่าวในโทรทัศน์ว่าคนข้างนอกเรียกบ้านของเธอว่าหมู่บ้านค้ายาเสพติด แม้ว่าเธอผ่านเรื่องราวการถูกกระทำอย่างเจ็บช้ำ และการต่อสู้กับอคติจากคนภายนอกที่มีต่อชาติพันธุ์ของเธอ แต่เธอยังคงมีรอยยิ้มบางๆ ในเวลาที่เธอเล่าเรื่องเหล่านั้น
“นี่เป็นวิธีเผชิญปัญหาของแม่” เธอพูดถึงรอยยิ้มบนหน้า “จริงๆ แล้ว แม่กลัว”
หมายเหตุ:
-
ชื่อของชาวลาหู่ที่ปรากฏในบทความเป็น ‘นามสมมุติ’ เพื่อความปลอดภัยของผู้ให้สัมภาษณ์
-
บทความนี้แปลเป็นฉบับภาษาไทยและเผยแพร่ครั้งแรกที่ waymagazine.org ในวาระครบรอบ 1 ปี การเสียชีวิตของชัยภูมิ ป่าแส ดัดแปลงและเรียบเรียงใหม่จากต้นฉบับ ‘Too little, too late for Lahu traumatised by youth’s killing’ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในสิ่งพิมพ์ Spectrum หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2560 โดยผู้เขียนได้รับอนุญาตจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์แล้ว
-
ต้นฉบับเดิมของบทความนี้ได้รับรางวัลดีเด่น ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2560 (Media Awards 2017) จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย