หลังการค้นพบยาปฏิชีวนะเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ก็มีการใช้เกินความจำเป็นและใช้อย่างไม่สมเหตุสมผลอยู่เสมอ นี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียสามารถพัฒนาตัวเองจนต่อต้านตัวยาเหล่านั้นได้ ในปี 2012 องค์การอนามัยโลกรายงานว่า จำนวนคนไข้วัณโรคที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่า 1 ตัว อยู่ที่ 450,000 รายทั่วโลก
ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัก โอบามา สั่งให้ทางการสหรัฐเร่งหาแนวทางป้องกันและควบคุมปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ เนื่องจากสถิติจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ระบุว่า ชาวอเมริกันเกิดอาการดื้อยาจากการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะราว 2 ล้านราย และสาเหตุของผู้เสียชีวิต 23,000 ราย มาจากอาการดื้อยาดังกล่าว
ไมเคิล คินช์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเทคโนโลยีทางธุรกิจ แบ่งปันประสบการณ์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่ต้องดูแลลูกชายวัย 12 ปีที่มีอาการไส้ติ่งอักเสบ โดยพบว่ายาปฏิชีวนะที่ลูกชายได้รับ 2 ใน 6 ตัวเท่านั้นที่ให้ผลในการรักษา คินช์กล่าวว่า ไม่เพียงลูกชายเขาเท่านั้นที่ดื้อยาปฏิชีวนะ แต่พวกเราทุกคนที่เคยได้รับยาปฏิชีวนะ ล้วนเข้าข่ายที่จะมีโอกาสดื้อยา หรือเกิดอาการเชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้
ปัจจุบัน แพทย์เองก็มีความระมัดระวังในการสั่งยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะมากขึ้น แต่ผลที่เกิดขึ้นฟากของผู้ผลิตคือ บรรษัทยาเองเริ่มลดตัวยาที่ผลิตลง พวกเขาให้ความสนใจกับตัวยาที่มีสิทธิ์ปรากฏอยู่บนใบสั่งยาของแพทย์เป็นสำคัญ
แม้ว่าการติดเชื้อจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับผู้คนในวงกว้างขึ้นก็ตาม ทว่าบรรษัทยากลับเลือกลดกำลังการผลิตยาปฏิชีวนะลง จำนวนยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสถานพยาบาลในสหรัฐลดลงจากปี 2000 ที่มี 113 ตัว เหลือ 96 ตัว
ปัจจัยที่ทำให้ยาปฏิชีวนะลดจำนวนลงมีด้วยกันหลายประการ หลักๆ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ยาบางตัวถูกถอดออก เนื่องจากมันไม่สามารถให้ผลทางการรักษาได้อีกต่อไป แต่คินช์ให้ข้อมูลว่า สาเหตุหนึ่งที่ตลาดยาปฏิชีวนะลดขนาดลงก็เนื่องจากบริษัทยาไม่มีโครงการค้นคว้าและพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่ๆ โดยเฉพาะยาต้านแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะตั้งแต่ 3 กลุ่มขึ้นไป (multi-drug resistant bacteria)
คินช์ยกตัวอย่างกรณี Pfizer ที่เคยพัฒนายาปฏิชีวนะ 40 ตัวจาก 155 ตัวที่วางขายทั่วสหรัฐ แต่ทุกวันนี้ Pfizer ไม่ขายยาปฏิชีวนะแล้ว เช่นเดียวกับบรรษัทใหญ่ๆ อย่าง Eli Lilly, AstraZeneca หรือ Bristol-Myers Squibb ที่ทยอยถอนตัวจากตลาดยาปฏิชีวนะกันแทบทั้งสิ้น
การขาดยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่โลกต้องเผชิญ ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health: NIH) ซึ่งเป็นหน่วยงานในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐ เคยสรุปความสำคัญของปัญหานี้ไว้ในรายงานประจำปีตั้งแต่ปี 2011
ที่มา: consumeraffairs.com