อภิชาต สถิตนิรามัย: ภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยในหม้อต้มกบ

บทสัมภาษณ์ชุด ‘ภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยในหม้อต้มกบ’ ในวาระครบรอบ 1 ทศวรรษการรัฐประหาร 2557 คุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คลี่ปมเศรษฐกิจไทยทีละชั้น เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ภายใต้กรอบประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยตั้งแต่ยุค ‘เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย’ จนถึง ‘กบในหม้อต้ม’ 

มากกว่านั้นอาจารย์อภิชาติยังชำแหละให้เห็นถึงโครงสร้างความสัมพันธ์ของระบบอุปถัมภ์และทุนผูกขาด ระหว่าง ‘นายทุน-ขุนศึก’ ที่เข้ามากุมอำนาจเศรษฐกิจการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ก่อนจะโยงเข้ามาสู่เรื่องใกล้ตัวที่กระทบต่อประชาชนที่สุดคือปัญหาปากท้อง

WAY ภูมิใจเสนอบทวิพากษ์เศรษฐกิจการเมืองไทยอันเข้มข้น ตรงไปตรงมา และคมชัดที่สุดในรอบทศวรรษ กับ 4 ประเด็นสำคัญ 1) สภาวะถดถอยและการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 2) นายทุน-ขุนศึก ในระบบอุปถัมภ์ผูกขาด 3) ปัญหาเชิงโครงสร้างและฉันทามติของประชาชน และ 4) วิกฤตหนี้ครัวเรือน 

Part 1

จากเสือตัวที่ 5 กลายร่างเป็น ‘กบตุ๋น’

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย ได้เปรียบเปรยสภาพเศรษฐกิจไทยในวันนั้นว่าเป็นเหมือนสภาวะ ‘ต้มกบ’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 

แม้เวลาล่วงเลยมาถึง 7 ปีแล้ว ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมามากหลาย ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร คสช. ผ่านการเลือกตั้ง 2 ครั้ง โดยที่พรรคอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ผ่านความบอบชํ้าทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการไร้ความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาลทหาร และผลพวงจากวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยผุดขึ้นผุดลงมาโดยตลอด จนเกิดดีเบตกันว่ามันคือภาวะวิกฤตหรือเพียงแค่ถดถอยกันแน่ 

กระทั่งวันหนึ่งตื่นเช้าขึ้นมาแล้วอ่านข่าวในหน้าฟีดพบว่า ‘หนี้สินครัวเรือน’ ของคนไทยทะลุ 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ไปแล้ว รายได้โตไม่ทันรายจ่าย หนี้บ้านลามหนี้รถ ชวนให้นึกถึงภาพในอนาคตว่า ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ ที่แท้ทรูกำลังจะมาถึงในไม่ช้าหรือไม่ 

ดังนั้น WAY จึงหอบคำถามทางเศรษฐกิจเพื่อไปหาคำตอบกับอาจารย์อภิชาตอีกครั้งว่า เหตุใดเราจึงเดินมาถึงจุดนี้ได้ 

อาจารย์อภิชาตยืนยันหนักแน่นเช่นเดิมว่า ไทยยังคงอยู่ในภาวะต้มกบ อุณหภูมิของนํ้ากำลังเดือดพล่าน กระโดดออกไปไม่ได้ เพราะฝาถูกปิดไว้ พร้อมกับจุดประเด็นที่น่าสนใจคือ 1) สภาวะถดถอยและการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 2) นายทุน-ขุนศึก ดึงขากบไม่ให้กระโดด 3) ปัญหาเชิงโครงสร้างและฉันทามติของประชาชน และ 4) วิกฤตหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นข้อสังเกตและบทวิพากษ์อันเข้มข้น ตรงไปตรงมา และคมชัดที่สุดในรอบทศวรรษ

7 ปีที่แล้ว อาจารย์มองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ใน ‘ภาวะต้มกบ’ ถึงตอนนี้เรายังคงอยู่ในภาวะเดิม ในหม้อเดิมหรือไม่

ใช่ เรายังคงอยู่ในภาวะต้มกบที่นํ้ากำลังเดือดขึ้นเรื่อยๆ ในระดับที่มากกว่าเมื่อ 7-8 ปีก่อนด้วยซํ้า กบในหม้อกำลังจะสุกแล้วด้วยซํ้า ปัญหาเดิมเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ยังไม่ได้รับการแก้ไขในสาระสำคัญ อีกทั้งยังมีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาที่ทำให้นํ้าเดือดเร็วและแรงขึ้น รากฐานของปัญหาภาวะต้มกบก็คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเติบโตช้าลงเรื่อยๆ 

ทำไมประเทศไทยจึงเดินมาถึงจุดนี้ได้

หากมองย้อนกลับไปช่วงก่อน ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ในช่วงทศวรรษ 2530-2540 เศรษฐกิจไทยเติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 7-8 เปอร์เซ็นต์ ไทยหมายมั่นปั้นมือจะเป็น ‘เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย’ ตามหลังฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งได้กลายมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงตั้งแต่ทศวรรษก่อนหน้าแล้ว เรามีความหวังที่จะกระโจนไปข้างหน้า แต่ก็ต้องพังทลายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 (รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท) ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 

ภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อไทยกลายมาเป็นฐานการผลิตและส่งออกในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การนำของทุนยานยนต์ญี่ปุ่น รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ผลักดันให้ไทยกลายเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากไทยสามารถผลิตและประกอบรถยนต์ได้ปีละ 1 ล้านคัน รวมไปถึงการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (hard disk drive) ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดคอมพิวเตอร์ทั่วโลก และไทยก็เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยที่ -2.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2540 และ -7.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2541 พุ่งสูงขึ้นถึง 7.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2546 ตามตัวเลขของธนาคารโลก (World Bank) 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองเริ่มก่อตัวขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากการเลือกตั้งท่วมท้นถล่มทลาย จนนำไปสู่การรัฐประหาร 2549 

อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ส่งสัญญาณคงที่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แม้จะผ่านวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) แต่ก็ยังเติบโตต่อไปได้จากอุตสาหกรรมจากการส่งออกยานยนต์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ กระทั่งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ทำให้วงการคอมพิวเตอร์เป็นอัมพาต เมื่อโรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากนํ้าท่วม เพราะไทยคือผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก 

สินค้าหลัก 2 ตัว ที่เราส่งออกมีส่วนแบ่งในตลาดสูง (แต่เป็นฐานการผลิตให้กับต่างประเทศ) ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไปและถูกดิสรัปต์อย่างมาก ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์หมดความสำคัญลงไปและถูกแทนที่ด้วย SSD (solid state drive) ซึ่งอยู่ในสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์อื่นๆ ขณะที่รถยนต์สันดาปภายในกำลังถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า เมืองไทยเองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมและมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ถ้าเปรียบเทียบสินค้าส่งออกหลักนี้ ถือว่าอยู่ในห้วงเวลาที่เรียกว่า ‘Kodak Moment’ ที่กล้องฟิล์มถูกแทนที่ด้วยกล้องดิจิทัล ทำให้โกดักซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่โตมโหฬารต้องเจ๊งไป

รถยนต์สันดาปภายในและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว สินค้าประเภทนี้ยังคงไปได้สวยในตลาดโลก แต่วันนี้หากไม่มีการปรับตัว เปลี่ยนการผลิตเป็นสินค้าใหม่ เทคโนโลยีใหม่ เศรษฐกิจไทยก็จะยิ่งโตช้า สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกเข้าไปอีก และนี่คือเหตุที่ทำให้นํ้าในหม้อต้มกบยิ่งเดือดเข้าไปอีก

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เราแทบไม่ได้แก้ไขปัญหาหรือปรับตัวเลยหรือ 

การรัฐประหาร 2557 คือต้นทุนที่สูงมาก ที่สำคัญที่สุดทำให้ไทยเสียโอกาส เพราะเรามัวแต่นั่งเฉยๆ ขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งทางการเมือง จนไม่ได้มาสนใจแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุด นอกจากต้นทุนความไม่เป็นประชาธิปไตยทางการเมืองแล้ว ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการรัฐประหาร ยิ่งเพิ่มเชื้อไฟใต้หม้อต้มกบ ทำให้นํ้าร้อนถึงจุดเดือดในอัตราเร่งที่มากขึ้น และยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่หมายถึงปัญหานี้มันแก้ไขยาก ต้องตั้งใจและพยายามแก้ แก้ไปแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เราไม่ได้ทำอะไรเลยที่จะแก้ปัญหาเช่นนี้ในเชิงโครงสร้าง สังคมไทย เทคโนแครต นักวิชาการไทย พูดถึง ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ (middle-income trap) เห็นปัญหานี้มานานกว่า 10 ปี องค์ความรู้เรามี เรารู้ปัญหา แผนแก้ไขก็มี อย่างเช่นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล คสช. มีกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ต้องการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง พูดง่ายๆ คือ การแก้ไขปัญหาต้มกบนี้ไง 

ไม่กี่วันมานี้ สว. ก็ตั้งคำถามต่อรัฐบาลเศรษฐา 8 ข้อ ว่าแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลางไปถึงไหนแล้ว คำถามคือ ทำไมเพิ่งมาถามรัฐบาลใหม่ แสดงว่ามีแผนยุทธศาสตร์ชาติมา 8 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ทำเลยสักอย่าง หรือทำก็ไม่ถึงจุดที่ตั้งไว้ พอไม่ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน นํ้าในหม้อต้มกบมันก็เดือดขึ้นเรื่อยๆ จนกบสุกและเปื่อยไปในที่สุด

จริงหรือไม่ที่หลายฝ่ายมองว่า รัฐไทยลงทุนตํ่าในการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และการลงทุนของรัฐส่วนใหญ่ก็ไม่ตอบโจทย์นี้ นอกจากการสร้างถนนเป็นหลัก

การแก้ปัญหาโครงสร้าง ในความหมายแท้จริงของมันคือ การแก้ปัญหาที่ยากที่สุด แล้วการแก้ปัญหาโครงสร้างนี้ต้องการความสามารถของรัฐที่ดีกว่ารัฐไทยที่ตัดถนนเก่งที่สุดตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้าไปปราบคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันก็ยังตัดถนนอยู่ 

การตัดถนนนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่ดี เพราะจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง สามารถเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบัน รัฐไทยต้องเผชิญกับภาระใหม่ๆ โครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น แต่รัฐก็ยังไม่ปรับตัว หนำซํ้าโครงสร้างระบบราชการไทยยังใหญ่เทอะทะขึ้นไปเรื่อยๆ ภายหลังการรัฐประหาร 2557 ที่ได้เอาอำนาจนำของระบบเศรษฐกิจไปไว้ที่ระบบราชการแล้วนำโดยทหาร ทำให้ความสามารถของรัฐไทยที่จะไปแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างศักยภาพของประเทศมันลดลงเรื่อยๆ ประสิทธิภาพลดลงไปอีก ไม่ใช่แค่จะมาตัดถนนอย่างเดียว แต่ในความจริงแล้วต้องนำงบประมาณไปทำส่วนอื่นๆ ด้วย

รัฐต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะสามารถสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อสร้างศักยภาพของประเทศได้

ระบบราชการจำเป็นต้องถูกปฏิรูปครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล (efficiency and effectiveness) ยกเลิกงานเก่าๆ ที่ไม่จำเป็น แล้วไปโฟกัสงานใหม่ๆ ที่จำเป็น ซึ่งการปฏิรูประบบราชการยังเป็นปัญหาทางการเมือง เพราะข้าราชการเป็นองคาพยพที่มีอำนาจทางการเมืองสูง อย่างเช่น ทหารก็เป็นราชการ ‘ระบอบประยุทธ์’ ก็คือระบอบที่เอาราชการขึ้นมามีอำนาจนำ ดังนั้น มันจึงไม่นำไปสู่การปฏิรูประบบได้ เพราะตัวเองผูกพันกับผลประโยชน์เช่นเดิม ดังนั้น การปฏิรูประบบราชการจึงแยกไม่ออกจากการปฏิรูปการเมืองที่ให้พลังนอกระบบราชการเป็นตัวขับเคลื่อน การปฏิรูประบบราชการครั้งสุดท้ายคือ เมื่อ 20 ปีที่แล้วในสมัยทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนทางการเมืองสูง และนำไปสู่การปฏิรูประบบราชการได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

เมื่อเศรษฐกิจไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ตลาดไม่มีกลไกอัตโนมัติในการแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยตนเอง หรือภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘ระบบตลาดล้มเหลว’ (market failure) ดังนั้น รัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทชี้นำในการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน ผ่านนโยบายด้านอุตสาหกรรม (industrial policy) เช่น โลกตะวันตกหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถแข่งขันกับจีนได้ เป็นต้น สรุปง่ายๆ คือ รัฐต้องนำตลาด ขณะที่รัฐไทยกลับไม่มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากพอที่จะมานำเช่นนี้ ทั้งยังกลายมาเป็นอุปสรรคหลักที่ทำให้เราสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเอเชีย หลายประเทศมักจะมีรัฐนำตลาด อย่างเกาหลีใต้ พอจะเป็นต้นแบบของไทยได้หรือไม่ 

จริงๆ แล้วเราไม่สามารถเลียนแบบเกาหลีใต้ได้หรอก เราไม่ได้มีขีดความสามารถในยุคเดียวกันที่เหมือนกัน แม้จะมีการปฏิรูประบบราชการสมัยสฤษดิ์ครั้งใหญ่ภายใต้การช่วยเหลือของธนาคารโลก และเป็นจุดเริ่มต้นในการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าได้ ทำให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศยากจนเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ แต่ก็ไม่สามารถสู้เกาหลีใต้ในยุคเดียวกันได้ ถึงทำได้ก็อยู่ในดีกรีที่ตํ่ากว่าอยู่ดี และเราก็ยังติดกับดักรายปานกลางมาตลอด 

ระบบราชการไทยในอดีตมีความสามารถในการผลักไทยออกจากประเทศยากจนได้ แต่ไม่ได้มีความสามารถพอในการผลักไทยออกจากประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งจำเป็นต้องมีความสามารถมากกว่าเดิม เพิ่มขึ้นไปอีก ยากขึ้นไปอีกระดับ การหลุดออกจากกับดับความยากจนมันง่าย แค่คุณผลิตเสื้อผ้ารองเท้า ใช้เครื่องจักรนำเข้า มีแรงงานเพียงพอ ต้นทุนตํ่า แต่การหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง คุณต้องมีการวิจัยและพัฒนา คุณต้องมีเทคโนโลยี แรงงานมีทักษะสูงขึ้น เป็นต้น 

อย่างเกาหลีใต้เขาเริ่มจากอุตสาหกรรมเบา ไปอุตสาหกรรมหนัก เคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ จนถึงมาถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่รัฐเกาหลีใต้เขาเห็นศักยภาพแล้วหนุนให้ออกไปสู่ตลาดโลก จะเห็นได้ว่า รัฐเองต้องยื่นมือเข้าไปช่วยตรงนี้ ลำพังเอกชนลงทุนในส่วนนี้ด้วยตัวเองย่อมมีความเสี่ยงสูง ต้องใช้เงินมหาศาล แต่รัฐที่จะทำแบบนี้ได้ต้องมีวิสัยทัศน์ มีประสิทธิภาพ มีการทดลอง และนี่เป็นแค่หนึ่งในเงื่อนไขอันจำเป็นที่จะช่วยให้เราหลุดออกจากภาวะต้มกบได้ 

Part 2

‘นายทุน-ขุนศึก’ สองเชฟใหญ่ผู้รังสรรค์เมนูเศรษฐกิจ ‘กบตุ๋น’

การรัฐประหาร 2557 นับเป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับไทยในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลทหารจดจ่ออยู่กับการแสวงหาอำนาจทางการเมืองและการปราบปรามผู้เห็นต่าง โดยที่สาระสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจปากท้องไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเป็นการซํ้าเติม ‘ภาวะต้มกบ’ ที่ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งทางเศรษฐกิจในตลาดโลก การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง พร้อมกับปัญหาใหม่ๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามาดิสรัปต์เศรษฐกิจไทยอย่างสุดขั้ว จนกบในหม้อไม่ต่างอะไรกับ ‘กบตุ๋น’ ที่ค่อยๆ เปื่อยโดยไม่รู้ตัว

อาจารย์อภิชาตไม่ได้มองภาวะต้มกบนี้เป็นเพียงปัญหาทางเศรษฐกิจมิติเดียวเท่านั้น หากยังเป็นปัญหาในเชิง ‘เศรษฐกิจการเมือง’ ด้วย เมื่อหาคำตอบถึงเหตุและปัจจัยอื่นว่า ทำไมประเทศไทยจึงสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน ทำให้พบว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ‘นายทุน-ขุนศึก’ คือ สองเชฟใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังการปรุงเมนูต้มกบให้เป็นกบตุ๋น ผ่านความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ผูกขาด ที่เติมเชื้อไฟใต้หม้อต้มกบให้เดือดพล่าน ซํ้ายังช่วยกันฉุดรั้งขากบไม่ให้กระโดดออกจากหม้ออีกด้วย 

เศรษฐกิจไทยในภาวะต้มกบ นอกจากประเด็นเรื่องการไม่ปรับตัวของภาครัฐและภาคธุรกิจดังที่อาจารย์วิพากษ์แล้ว มีสมการอื่นใดอีกหรือไม่ที่เติมเชื้อไฟในภาวะเช่นนี้ อย่างเช่นการผูกขาดของนายทุนและชนชั้นนำ

แน่นอน ชนชั้นนำไทยเป็นส่วนหนึ่งในภาวะต้มกบ กล่าวอย่างง่ายที่สุดก็คือ การรัฐประหาร 2557 ทำให้ชนชั้นนำไทยมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งรัฐได้เอาอำนาจนำของระบบเศรษฐกิจไปไว้ที่ระบบราชการที่นำโดยทหาร ทำให้ความสามารถของรัฐไทยที่จะไปแก้ไขปัญหาภาวะต้มกบและเสริมสร้างศักยภาพของประเทศลดลงไปอีก 

การใช้มาตรา 44 แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าจะสั่งอะไรด้วยมาตรานี้ได้หมดเลย แต่ไม่ได้ใช้อำนาจตรงนี้ในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญเชิงโครงสร้างใดๆ อีกทั้งคณะรัฐประหารยังอยู่ในอำนาจอย่างต่อเนื่องถึง 9 ปี ก็ยิ่งทำให้เราสูญเสียโอกาสในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ไป

ชนชั้นนำไทยในสมการต้มกบนี้ หมายถึงกลุ่มไหนบ้าง และพวกเขามีความสัมพันธ์กันอย่างไร

ชนชั้นนำไทยประกอบไปด้วยชนชั้นนำทางการเมือง ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ที่ในระยะหลังพวกเขาใกล้ชิดสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น การผูกขาดทางการเมืองจากการรัฐประหาร 2557 นำไปสู่การผูกขาดทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘รัฐ-ทุน’ ตั้งแต่หลังการรัฐประหารเป็นต้นมาอยู่ในรูปแบบ ‘นายทุน-ขุนศึก’ อย่างน้อยก็มีชนชั้นนำสองปีกนี้แหละที่ผลิตสิ่งที่เรียกว่า ‘ทุนนิยมพวกพ้อง’ หรือ ‘ระบบทุนนิยมอุปถัมภ์ผูกขาด’ ผ่านการสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบประยุทธ์’ 

ระบบนี้ก็คือ ตัวที่ดึงขากบไม่ให้กระโดดออกจากหม้อที่นํ้ากำลังเดือด ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-ทุนเช่นนี้ มันไม่ healthy และเป็นหนึ่งในความจำเป็นที่เราจะต้องเอาตัวแปรนี้ออกไป ไม่ให้มาเป็นข้อจำกัดทางการเมืองอีก

ทำไมรัฐกับทุนจึงร่วมกันผูกขาดได้

เพราะว่าพวกเขาเข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐได้ ควบคุมองค์กรกำกับดูแลได้ หรือที่เรียกว่า ‘state capture’ ก็คือ กลไกที่กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ กลไกที่ป้องกันการผูกขาด เช่น กลไกการป้องกันการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ที่ทุนมีพลังอำนาจมากเกินจน กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ไม่กล้าใช้อำนาจในการพิจารณาเรื่องการควบรวม มีแต่เพียงอำนาจในการรับทราบเท่านั้น จนทำให้เหลือผู้ให้บริการเพียง 2 เจ้าใหญ่เท่านั้น หรือกรณีการควบรวมกิจการค้าปลีก-ค้าส่ง ที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ไม่สามารถทำอะไรกับการควบรวมได้ อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการรัฐประหาร 2557 ที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-ทุน แนบแน่นและกระจุกตัวเป็นกลุ่มก้อนอย่างเข้มข้นมากขึ้น

การผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ส่งผลอย่างไรต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย

การผูกขาดมันขัดขวางการมีนวัตกรรม (innovation) และเทคโนโลยี ซึ่งโดยปกติทุนต่างชาติจะแข่งขันกันด้วยสิ่งนี้ ทำให้เกิดศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในตลาดโลก แต่ก็มาพร้อมกับการลงทุนวิจัยและพัฒนา และการแข่งขันด้วยความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ที่สูงด้วยเช่นกัน แต่เมื่อตลาดภายในประเทศไทยถูกผูกขาด ทำให้การแข่งขันด้วยนวัตกรรมลำบากขึ้น เพราะไม่มีใครสู้กับทุนใหญ่ได้ ดังนั้น นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์จึงไม่เกิดขึ้น 

ตัวอย่างเช่น การผูกขาดโดยเจ้าตลาด ในอุตสาหกรรมเหล้า-เบียร์-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมูลค่าตลาดนับแสนล้านบาท แต่มีผู้เล่นเพียงไม่กี่เจ้า เราจึงไม่เห็นภาพของธุรกิจสุราสร้างสรรค์ หรือสุราท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างเหล้าญี่ปุ่นหรือไวน์ยุโรป หรือกรณีการผูกขาดของทุนพลังงาน ประชาชนอย่างเราๆท่านๆ ก็คงทราบดี เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงจากค่าไฟที่สูงขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ผูกขาด จึงทำลายความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เราต้องทลายเสีย เพื่อให้เราออกจากภาวะต้มกบได้

ทำไมทุนไทยถึงไม่ไปแข่งขันในระดับโลก แต่กลับผูกขาดเพียงแค่ภายในประเทศ

เพราะว่านายทุนสามารถเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ทำให้องค์กรควบคุมกำกับดูแล (reguratory body) ทางธุรกิจ ‘เป็นหมัน’ ในทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าไม่สามารถขัดขวางการควบรวมกิจการของผู้ค้าปลีกรายใหญ่ได้ เป็นต้น ดังนั้น ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ผูกขาดจึงทำให้พวกนายทุนหากินง่าย ไร้คู่แข่ง ไม่ต้องลงทุนพัฒนาเพื่อสร้างศักยภาพอะไร ต่างจากการต้องออกไปแข่งขันทางการค้าภายนอกประเทศ ที่ทุนต่างประเทศเขามีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สูงกว่า มันก็เลยกลายมาเป็นปัญหาว่าไข่กับไก่อะไรเกิดก่อนกัน อย่างเกาหลีใต้มีทุนแชโบล (กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพล) หรือทุนผูกขาดภายในประเทศ อย่างแดวู ซัมซุง แต่วันหนึ่งได้พัฒนาขีดความสามารถจนสามารถออกไปแข่งขันในตลาดนอกประเทศได้

เราจะเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างไร เพื่อให้หลุดออกจากภาวะต้มกบ

หากจะหลุดออกจากหม้อต้มกบ ข้อที่ 1 คือ การปฏิรูประบบราชการ และข้อที่ 2 ก็คือ ทลายความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำแบบนายทุน-ขุนศึกหยิบมือเดียวนี้ ไม่งั้นพวกเขาก็ยังคงดึงขากบคนละข้างไม่ให้กระโดดออกจากหม้อต่อไป ซํ้าจะยิ่งทำให้ไทยขาดศักยภาพ ความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจแบบรวยกระจุก-จนกระจาย จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเราสามารถมองเห็นได้จากตัวอย่างการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่เหลือเพียง 2 เจ้าใหญ่ ซึ่งเป็นการผูกขาดที่รัฐอนุญาตให้เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-ทุนที่ไม่ healthy 

Part 3

‘ฉันทามติใหม่’ ในวันที่ชนชั้นนำเอาหินทับฝาหม้อไม่ให้กบกระโดด

 

การเลือกตั้ง 2566 เป็นการแสดงออกถึงความพยายามของประชาชน เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของไทย เนื่องจากมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งถึงร้อยละ 75.71 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52 ล้านคนทั่วประเทศ 

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนครั้งใหญ่เช่นนี้ อาจารย์อภิชาตมองว่า การที่ประชาชนเทคะแนนให้กับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย รวมกว่า 300 ที่นั่ง เป็นการแสดงออกของประชาชนว่า ไม่ต้องการ ‘ระบอบประยุทธ์’ ที่ลงหลักปักฐานมายาวนานเกือบทศวรรษ ทั้งยังสร้าง ‘ฉันทามติใหม่’ ทางการเมือง 

ขณะที่ 14 ล้านเสียงของพรรคก้าวไกล มีเจตจำนงในการเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทลายทุนผูกขาด ปฏิรูปกองทัพ ซึ่งล้วนแล้วเกี่ยวโยงต่อการทำลายอำนาจที่กระจุกตัวของชนชั้นนำแทบทั้งสิ้น

ฉันทามติใหม่คือ ความพยายามของกบที่จะกระโดดออกจากหม้อต้มที่นํ้าเดือดปุดๆ แต่สุดท้ายกบไม่สามารถกระโดดออกมาได้สักที เพราะมีการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เติมเชื้อไฟใต้หม้อต้มกบ กดทับฝาหม้อเอาไว้ไม่ให้กบกระโดดออกมา กระทั่งอาจนำไปสู่การระเบิดออกมาเป็นความรุนแรงทางการเมือง 

การเลือกตั้ง 2566 ได้สะท้อนอะไรทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทยบ้าง

การเลือกตั้ง 2566 ที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งได้รับเสียงสนับสนุนมาเป็นลำดับที่ 1 ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทยมาเป็นลำดับที่ 2 คนเลือก 2 พรรคนี้รวมกันได้ประมาณ 300 เสียงจากทั้งหมด 500 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร หากตีความตามนี้แสดงว่า คนไทยมีความต้องการความเปลี่ยนแปลง ไม่เอาระบอบประยุทธ์ และต้องการคนใหม่ๆ เข้ามาบริหารประเทศ ตรงนี้ผมเชื่อว่าเป็น ‘ฉันทามติ’ แน่นอน 

พรรคก้าวไกลที่มาเป็นลำดับที่ 1 เสนอว่า ต้องแก้ปัญหาโครงสร้าง พรรคเพื่อไทยที่มาเป็นลำดับที่ 2 ไม่ได้พูดเรื่องปัญหาโครงสร้างอย่างชัดเจนนัก ดังนั้น หากจะบอกว่าเป็น ฉันทามติ 300 เสียงของคนไทยในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงไม่ถูกเสียทีเดียว เป็นเพียงแค่ฉันทามติไม่เอาระบอบประยุทธ์เท่านั้น 

แต่การที่พรรคก้าวไกลหาเสียงว่า ต้องการทลายทุนผูกขาด แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยเสียงสนับสนุนของก้าวไกล 14 ล้านเสียง แสดงเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งจุดหมายปลายทางของการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ ก็คือการแก้ไขปัญเศรษฐกิจไทยในหม้อต้มกบนี่แหละ ที่จะต้องนำมาสู่การวางกติกาใหม่ ปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ มีนโยบายอุตสาหกรรม ที่สร้างนำไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันและสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมใหม่ๆ 

เมื่อประชาชนแสดงเจตจำนงไม่เอาระบอบประยุทธ์ 14 ล้านเสียงต้องการให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาลไปเปลี่ยนโครงสร้าง แต่ผลที่ออกมาเราได้รัฐบาลข้ามขั้ว ผลกระทบระยะยาวจะเป็นอย่างไร  

การที่พรรคเพื่อไทยข้ามขั้วจับมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม มันทำให้ความพยายามในการทลายทุนผูกขาดมันยากยิ่งกว่าเดิม เพราะระบบอุปถัมภ์ผูกขาดยังคงดำเนินอยู่ต่อไปไม่ได้รับการแก้ไข               

ตอนที่เครื่องบินของคุณทักษิณแลนดิ้งที่ดอนเมือง มีข่าวลือจาก ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ หรือ ‘หมาแก่’ สื่อมวลชนชื่อดังช่อง 9 ระบุว่า มีเครื่องบินเจ็ทอีกลำนึงบินตามมาด้านหลัง เครื่องบินเจ็ทลำนี้เป็นเครื่องบินส่วนตัวของนายทุนใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทย 

ถ้าข่าวลือของหมาแก่ ผมยํ้านะครับว่าข่าวลือ เป็นความจริง มันหมายความว่า ทุนขนาดใหญ่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วนี้ ดังนั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้มีวาระ (agenda) ในการทลายทุนผูกขาด หรือว่ามีก็ทำไม่ได้

ทุนใหญ่ก็จะยังคงผูกขาดต่อไปอย่างน้อยอีก 4 ปี ?

มันก็ไม่แน่หรอกครับ การเมืองมันเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา เราก็ไม่รู้หรอก แต่สิ่งที่เราเห็นจากการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วนี้ มันทำให้วาระการทลายทุนผูกขาดไม่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้

ด้วยรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลข้ามขั้ว วาระการทลายทุนผูกขาดในรัฐบาลชุดนี้ไม่น่าจะเกิด แล้วนโยบายเศรษฐกิจของเพื่อไทยจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอะไรได้บ้าง

นโยบายที่รัฐบาลใช้หาเสียงและเริ่มปฏิบัติไปแล้วบ้าง นโยบายเหล่านี้ ไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาต้มกบแม้แต่น้อย เพราะนโยบายส่วนใหญ่ทั้งหมดเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น หรือแก้ปัญหาระยะยาวแบบขอไปที ตัวอย่างเช่น การลดค่าไฟ ซึ่งเป็นการใช้เงินกระเป๋าซ้ายซื้อเงินกระเป๋าขวา หรือการอุดหนุนนํ้ามันก็ดี อันนี้เป็นการใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่ใช่การแก้ไขปัญหารากฐานในระยะยาว ไม่ได้ลงลึกไปสู่การแก้ไขปัญหาการผูกขาดด้านพลังงาน

อีกนโยบายที่เพิ่งแถลงไปว่าจะดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้คือ ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ (Keynesian Economics) ถ้าคุณกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหรือเศรษฐกิจตกตํ่า จะวิกฤตหรือไม่ก็ได้ แต่เศรษฐกิจอย่างน้อยมันตกตํ่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น  รัฐบาลสามารถใช้นโยบายการเงินการคลังแบบขยายตัวเพื่อเข้ามาทดแทนกำลังซื้อที่ลดลงได้ เช่น การแพร่ระบาดโควิด-19 กำลังซื้อหดหายไปเลยจากตลาดจากการล็อคดาวน์ รัฐบาลจึงแจกเงินออกมา เพื่อพยุงกำลังซื้อให้มีอยู่ต่อไป 

ทฤษฎีแบบเคนส์เช่นนี้ ถูกออกแบบให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว แม้แต่จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) เจ้าสำนักยังเคยกล่าวไว้ว่า “In the long run we are all dead” หรือ “ในระยะยาวพวกเราจะตายกันหมด” 

ความหมายคือ เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย 

อย่างไรก็ตาม มีแค่นโยบาย Soft Power ที่ถือว่ามาถูกทาง แต่ก็ต้องคงปรับอีกเยอะ เพราะเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ในแง่ส่งเสริมความสามารถการแข่งขัน 

อย่าไปติดคำว่า Soft Power พูดเน้นง่ายๆ ว่า ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ เช่นที่เห็นในปัจจุบันอย่างกางเกงช้าง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยตัวมันเอง หรือการผลักดันให้คนใดคนหนึ่งเป็นแฟชั่นดีไซน์เนอร์ มันต้องมีระบบนิเวศน์ของการออกแบบสร้างสรรค์ด้วย กางเกงช้างตัวเดียวไม่ได้ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ แต่เราต้องวางกฎหรือกติกาอย่างไร ให้ส่งเสริมคนไทยให้เข้าสู่วงการออกแบบ มีสถาบันผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอย่างไร เมื่อมีบุคลากรที่พร้อมแล้วก็ต้องมีทุนในการผลิตความคิดออกมาให้เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งเราต้องพูดถึงทั้งระบบด้วย

พรรคก้าวไกลนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจบนแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่มีจุดเน้นต่างออกไปจากพรรคเพื่อไทยอย่างไร 

พรรคก้าวไกลเสนอในทางตรงกันข้ามกับพรรคเพื่อไทย บนแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบสำนักสถาบันนิยม (Institutional Economics) นั้นมันไม่สำคัญตรงชื่อ เมื่อสักครู่เราพูดถึงปัญหาระยะสั้นกับปัญหาระยะยาว ซึ่งปัญหาระยะยาวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง 

คำว่าเชิงโครงสร้างแปลว่าแก้ง่ายๆ ไม่ได้ ต้องลงทุนเยอะ ทำอะไรหลายอย่างเยอะ การกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วครั้งชั่วคราวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาระยะยาวได้ และปัญหาระยะยาวนี้ เกิดจากกฎหรือกติกาในระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้จูงใจคนให้มีความสามารถในการแข่งขัน 

ตัวอย่างเช่น กติกาการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม กติกาที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม ระบบอุปถัมภ์ผูกขาดคือ การไปทำลายกติกา ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันหรือแรงจูง (incentive) ให้คนพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาแข่งขันในตลาด การแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างมีหลายระนาบ ระนาบที่แก้ไขยากที่สุดอันหนึ่งคือ ระนาบกติกา และการบังคับใช้กติกาที่เป็นธรรม ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันหรือนวัตกรรม

เมื่อกลับมาที่เศรษฐศาสตร์สำนักสถาบันนิยม สำนักนี้ให้ความสำคัญกับกติกาทางเศรษฐกิจ ที่ได้สะท้อนภาพกติกาทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมอย่างที่กล่าวไปข้างต้น  ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีกติกาที่เป็นธรรม เพื่อก่อให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาด นำมาสู่การสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน แต่โดยพื้นฐานแล้วต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การวางกติกาที่เป็นธรรม คือการต่อสู้ทางการเมือง แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ตัวของมันเองคือการเมืองอย่างสำคัญที่สุด 

ระบบอุปถัมภ์ผูกขาด มันก็ถือกติกาชุดหนึ่ง เราจะแก้กติกาตรงนี้อย่างไร แน่นอนก็จะต้องสร้างกติกาใหม่ขึ้นมาเพื่อทำลายทุนผูกขาด มันแปลว่าอะไร มันก็คือการเมืองใช่ไหม และเป็นความยากในระดับรากฐาน ตราบใดที่การเมืองไทยยังไม่เปลี่ยน พลังทางการเมืองใหม่ๆ ยังไม่เกิดขึ้นและมีผลต่อการแก้ไขปัญหารากฐานทางการเมือง กติกาทางเศรษฐกิจก็จะยังไม่เปลี่ยน แม้จะเปลี่ยนได้ก็จะเป็นการเปลี่ยนชั่วครั้งชั่วคราวแทน ไม่ได้เปลี่ยนทั้งระบบ 

ยกตัวอย่าง พรบ.สุราก้าวหน้า ถูกกดดันไปเรื่อยๆ มันก็อาจจะเกิด แต่ระบบอุปถัมภ์ผูกขาดมันก็ยังคงอยู่ นี่คือตัวอย่างที่กติกาบางส่วนมันแก้ไขได้ แต่กติกาชุดใหญ่ที่ทำให้ระบบอุปถัมภ์ผูกขาดยังอยู่ มันคือการเมืองที่แก้ไขยาก 

หากความพยายามในการกุมอำนาจของชนชั้นนำเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันจะนำมาสู่ความรุนแรงทางการเมืองหรือไม่ หากเทียบกับความขัดแย้งในอดีตเช่น เสื้อเหลือง-เสื้อแดง และ ชนชั้นนำเพียงหยิบมือ-คนส่วนใหญ่ของประเทศ อันไหนรุนแรงกว่ากัน 

ตอนนี้เรายังไม่สามารถตอบอะไรได้ แต่หากมองออกมาเป็นฉากทัศน์ (scenrio) ที่หลากหลายก็จะทำให้เราได้เห็นภาพความเป็นไปได้ 

การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วทำให้พัฒนาการทางการเมืองของไทย มี 2 แนวโน้ม คือ 

หนึ่ง ชนชั้นนำไทย มีอำนาจกระจุกตัวมากขึ้น

สอง ความพยายามในการมีส่วนร่วมของประชาชนสูงขึ้นเรื่อยๆ

สองแนวทางนี้มันสวนทางกัน เพราะการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วมันทำให้ ชนชั้นนำไทยมีอำนาจมากขึ้น กระจุกตัวมากขึ้น ส่งผลให้ความพยายามของประชาชนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มากขึ้นเป็นไปได้ยากขึ้น ให้ผลลัพธ์แบบ ‘หักมุม’ ฝืนฉันทามติของประชาชน 

ความต้องการมีส่วนร่วมของประชาชน (participation) มันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ความขัดแย้งเสื้อสีเหลือ-แดง การเคลื่อนไหวของขบวนการคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มันคือ ปรากฎการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง

จากพฤษภาทมิฬเป็นต้นมา เราจะเห็นโครงสร้างอำนาจมันกระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นนำใน กลุ่มนายทุน-ขุนศึก ในวงแคบมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับความต้องการของประชาชนที่มีความต้องการในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มากขึ้น และมันยัง ‘ปะทะ’ กันอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงออกเป็นขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ

การยุบพรรคตัดสิทธิ์ การตัดสินคดี การแก้ไข ม.112 ปฏิรูปเท่ากับการล้มล้าง แสดงให้เห็นว่า ชนชั้นนำที่มีอำนาจกระจุกตัวสูงขึ้นนี้ ไม่ประนีประนอม ซึ่งเราไม่เห็นสัญญาณการประนีประนอมนี้เลย หากการยุบพรรคตัดสิทธิ์ของพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นจริงหมายความว่า พวกเขา (ชนชั้นนำ) ต้องการย้อนเข็มนาฬิกากลับไปมากกว่าปี 2521 รัฐธรรมนูญปี 2560 มันก่อให้เกิดอำนาจที่กระจุกตัวมากกว่าช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 ด้วยซํ้า 

อำนาจที่เข้มข้นและกระจุกตัวของชนชั้นนำนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 มันส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทยในหม้อต้มกบนี้ 

กติกาทางการเมืองที่มีการกระจุกตัวทางอำนาจสูงเช่นนี้ จะทำให้การแก้ไขกติกาต่างๆ ที่มีรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นตัวรองรับ จะทำให้การแก้ไขกติกาที่ทำให้กบกระโดดยากขึ้นไปอีก เศรษฐกิจก็จะโตช้าลง สูญเสียความสามารถในการแข่งขันขึ้นไปอีก สังคมไทยก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเข้าไปอีก หลังปี 2570 เป็นต้นไป ประชากรวัยแรงงานจะลดลงถึงปีละ 3 แสนคนลงไปอีกเรื่อยๆ จำนวนการลดลงของประชากรวัยแรงงานเช่นนี้ คิดเป็นการเจริญเติบโตที่ช้าลง 0.8 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP เช่น ปีที่แล้วเราโต 1.9 เปอร์เซ็นต์ หากสิ่งเหล่านี้เกิดเราจะโตเพียง 1.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น                        

ดังนั้น การกระจุกตัวของอำนาจในมือของชนชั้นนำที่เข้มข้น เหมือนสุมเชื้อไฟใต้หม้อต้มกบที่รุนแรงขึ้น ไม่นับว่ามันจะปะทุออกมาเป็นความรุนแรงทางการเมืองหรือไม่ ถ้าหากชนชั้นนำประนีประนอมทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้ฝาหม้อต้มกบคลายออกทีละน้อย ช่วยลดการปะทะกันทางการเมืองได้ กบก็พอที่จะกระโดดออกมาได้บ้าง กบอาจจะเจ็บตัวนิดหน่อย หากไม่มีท่าทีประนีประนอมทางการเมือง ก็เหมือนการปิดฝาหม้อแล้วเอาหินทับไปอีก 3 ก้อน มันก็อาจระเบิดออกเป็นความรุนแรงทางการเมืองได้

Part 4

หนี้ท่วม GDP NPL บ้านชนชั้นกลาง วิกฤตต้มกบไม่เหมือนฝันร้ายต้มยำกุ้ง

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทยทะยานสูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP ทะลุค่าเฉลี่ยมาตรฐานสากลคือ 80 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP สถานการณ์หนี้สินของคนไทยนำไปสู่ข้อกังวลว่า เรากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนฝันร้ายปี 2540 หรือไม่

อาจารย์อภิชาตไขคำตอบจากคำถามที่ว่า ต้นตอปัญหาหนี้สินครัวเรือนของคนไทยมีสาเหตมาจากอะไร ส่งผลต่อคนกลุ่มไหนมากที่สุด และสาเหตุใดเราจึงเดินมาถึงจุดนี้

มาตรการลดดอกเบี้ยของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ที่พยายามงัดข้อกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยของลูกหนี้ลง จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนไทยใน ‘ภาวะต้มกบ’ ได้หรือไม่ วิธีไหนคือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในระยะยาว และจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจซํ้ารอยต้มยำกุ้งหรือไม่

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนของคนไทยในปัจจุบัน มีประเด็นอะไรควรจับตาเป็นพิเศษ

สภาวะหนี้โดยรวมของไทยอยู่ที่ 91 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP ประมาณ 16.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้บ้านอยู่ประมาณ 5 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้กลายเป็นหนี้ NPL ประมาณ 2 แสนล้านบาท ตรงนี้เป็นเพียงหนี้บ้านอย่างเดียว เราไม่ได้พูดถึงหนี้อื่นอย่าง หนี้บัตรเครดิต หนี้บริโภคส่วนบุคคล หนี้รถยนต์ หรืออื่นๆ

ที่น่ากลัวคือ หนี้เสียมันโตเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ก่อนเกิดโควิด-19 หนี้ต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นซึ่งคือเพดานสูงสุดแล้ว ที่เป็นมาตรฐานโลกที่ขีดกำกับหนี้ครัวเรือนไว้ตรงนี้

แต่สิ่งที่น่ากลัวขึ้นไปอีกคือ หนี้ที่กำลังจะเสีย SM (Special Mention Loan) ที่กำลังจะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคต ไอ้หนี้นี้คือ หนี้ที่ขาดการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย 1-2 เดือนแต่ยังไม่ถึง 3 เดือน จ่าย 2 เดือนหยุด 1 เดือน แล้วกลับไปจ่ายใหม่ ซึ่งหมายความว่าหนี้เช่นนี้ ไม่สามารถเดินได้อย่างปกติได้ หนี้ SM น่ากลัวมากที่สุดเพราะว่า โตขึ้นจากปีที่แล้วถึง 31 เปอร์เซ็นต์ โอกาสที่ SM จะกลายไปเป็น NPL มีมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นสัญญาณมันไม่ดี

ลักษณะของหนี้สินคนไทยเกิดจากหนี้สินประเภทใดบ้าง

คนเรามันมีหนี้หลายแบบ มีหนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ หนี้บ้าน ปกติเราจะเลือกจ่ายหนี้บ้านมากที่สุดก่อน เพราะเราต้องอยู่อาศัย แล้วค่อยไปจ่ายหนี้อื่นๆ ดังนั้น ลูกหนี้ก็เลือกที่จะทิ้งการผ่อนหนี้อื่นๆ ก่อน ตอนนี้มันลามมาถึงหนี้บ้าน ดังนั้นภาระการผ่อนหนี้มาเริ่มน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ

หากเราไปดูไส้ในของเครดิตบูโร คนที่มีปัญหาหนี้ NPL ส่วนใหญ่คือใคร ก็คือผู้ที่มีหนี้บ้านมูลค่าตํ่ากว่า 3 ล้านบาท นั่นคือ บ้านของชนชั้นกลาง ดังนั้น ไม่ใช่เพียงแค่คนชั้นล่างที่ประสบปัญหาหนี้ แต่มันลามมาถึงชนชั้นกลางแล้ว บ้านราคา 3 ล้านนี้หมายความว่า คุณต้องมีรายได้ที่มั่นคงในระดับหนึ่ง คุณจึงจะมีกำลังผ่อนบ้าน

อะไรเป็นสาเหตุให้คนเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว

อาจเป็นผลต่อเนื่องมาจากโควิด-19 รายได้ยังไม่กลับเข้าสู่ปกติเหมือนก่อนโควิด-19 หรืออาจเป็นเพราะว่า รายได้โตไม่ทันรายจ่าย คนที่ซื้อบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาทคือ คนที่มีรายได้ระหว่าง 10,000-30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจากการสำรวจของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ผ่านมาพบว่า คนที่มีรายได้ในระดับนี้ มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนรวมการผ่อนหนี้แล้ว 114 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แสดงว่ารายได้ของพวกเขาโตไม่ทันรายจ่ายจริง

อันนี้แหละคือสัญญาณที่บ่งบอกว่า ภาระหนี้สินอยู่ในสภาวะที่แย่ลง แต่มันจะอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจหรือไม่นั้นคงจะต้องรอดูต่อไป โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของหนี้ SM

NPL อันตรายมากน้อยขนาดไหนต่อระบบธนาคาร จะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเหมือนในปี 2540 หรือไม่

ยังไม่น่าอันตรายนัก เพราะธนาคารได้สำรองเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่ากำไรของธนาคารจะลดลงก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ธนาคารขาดทุน สถานการณ์เช่นนี้ยังไม่นำประเทศไทยไปสู่วิกฤตธนาคาร (banking crisis) ที่จะทำให้ธนาคารล้มเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งที่แบงก์ขาดทุนจากการสำรองเงิน

ปัจจุบันอุตสาหกรรมธนาคารของไทยมีความมั่นคงสูงมาก เมื่อเทียบกับช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

อะไรคือรากฐานของปัญหาหนี้สินของคนในปัจจุบัน

รายได้โตไม่ทันรายจ่าย มันก็เลยเป็นหนี้ ไม่สามารถจ่ายหนี้ที่มีอยู่ได้ ทำให้หนี้สินสะสมมากยิ่งขึ้น

ถามว่าทำไมรายได้โตไม่ทันรายจ่าย เพราะว่า GDP ที่ผ่านมามันเติบโตช้า มันก็กลับไปเรื่องเดิมอีกคือภาวะต้มกบ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลงเรื่อยๆ ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยตํ่าลงเรื่อยๆ เพราะเราสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อยๆ มันจึงโผล่ไปที่ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทำอย่างไรรายได้คนไทยถึงจะเพิ่มขึ้น สามารถโตทันกับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นได้

แหล่งรายได้หลักของคนไทยมาจากการเป็นแรงงานไม่ว่าจะระดับไหน อย่างเช่นผมเป็นข้าราชการ รายได้หลักของผมคือเงินเดือน เงินเดือนก็คือแรงงานประเภทหนึ่ง กรรมกรรายวันตอนนี้บางคนได้ 400 บาทแล้ว เป็นต้น ไม่นับมหาเศรษฐีที่รายได้ส่วนใหญ่ของพวกเขามาจากกำไร

รายได้แรงงานที่ผ่านมาของคนส่วนใหญ่ในเมืองไทย มาจากการใช้แรงงานทักษะระดับกลาง และระดับล่าง แรงงานที่ใช้ทักษะสูงมีน้อยมาก

รายได้ของแรงงานทักษะสูงมีมากพอกับรายจ่าย แต่ที่เป็นปัญหาคือครึ่งล่างลงมา ค่าจ้างขั้นตํ่าของเราคือ 300 บาทแล้วมา 400 บาท ใช้เวลากี่ปี ซึ่งมันโตไม่ทันรายจ่ายไปแล้ว แรงงานก็เลยต้องเป็นหนี้ขึ้นมา หนี้ต่อรายได้มันจึงเพิ่มขึ้น

ค่าแรงของเราก็ยังตํ่ากว่าค่าแรงในต่างประเทศ หนึ่ง เพราะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช้า สอง ระดับของค่าแรงของงานในระนาบเดียวกันตํ่ากว่าของต่างประเทศ งานนอกกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ 15,000 บาทไม่ได้หากันง่ายๆ ถ้าคุณจบปริญญาตรี หางานที่มีเงินเดือน 15,000 บาทในเชียงใหม่ ไม่ใช่ว่าคุณจะหาได้ง่ายๆ

ดังนั้น สิ่งที่เราเรียกกันว่า good job งานที่ดี มีรายได้พอสมควร มีการจ้างงานที่มั่นคงไม่ถูกไล่ออกง่ายๆ มันมีไม่เยอะ

ถ้าจะทำให้คนไทยมีรายได้สูงขึ้นจากเดิม ประเทศไทยควรมีทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร

เส้นทางอุตสาหกรรมของไทย การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา เราเติบโตขึ้นมาจากสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น ใช้ทรัพยากรเข้มข้น ใช้เทคโนโลยีและทุนตํ่า ดังนั้น เราจึงสามารถส่งออกสินค้าได้เยอะจากการมีแรงงานที่ค่าแรงตํ่า

แต่แรงงานเหล่านี้มีทักษะตํ่า การศึกษาไม่ต้องสูง ไปยืนบนสายพานการผลิต เอาชิ้นส่วนมาประกอบกัน ต้นทุนแรงงานคือสัดส่วนสำคัญของสินค้าส่งออก เพื่อให้ได้กำไรที่มาก ดังนั้น แรงงานก็ต้องทำงานที่ใช้ทักษะตํ่าต่อไป

งานที่ดี (good job) ของเราที่ได้ค่าแรงสูงจากการใช้ทักษะที่สูงมีน้อยมาก และเมื่อเวลาผ่านไป ไทยยิ่งสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ค่าแรงที่น้อยมันก็ยิ่งไม่พอใช้เพราะไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศที่มีค่าแรงตํ่ากว่าไทยอย่างกัมพูชาทุนก็ย้ายไป เราจึงไม่สามารถผลิตสินค้าส่งออกเช่นเดิมได้อีกต่อไป เช่น เสื้อผ้า สิ่งทอ พวกนี้แทบไม่เหลือในประเทศไทยแล้ว

เพื่อให้แรงงานไทยมีทักษะสูงขึ้น ได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น สินค้าจะต้องมีความซับซ้อนมากขึ้น มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น มากกว่าเสื้อผ้ารองเท้า เราก็จะต้องเพิ่มทักษะแรงงานของเรา ตรงนี้แหละที่เรายังไปไม่ถึง

ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ อุตสาหกรรมรถยนต์ ใครคือเจ้าของยี่ห้อ ใครคือเจ้าของเทคโนโลยี ใครคือเจ้าของเครื่องยนต์ ใครคือเจ้าของชิ้นส่วนสำคัญแพงๆ ของรถยนต์ ไม่ใช่คนไทยเลย แม้ทุนจะตั้งโรงงานในเมืองไทยเพื่อผลิตชิ้นส่วนที่มูลค่าสูง แต่ไม่ใช่คนไทย มูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่อยู่ที่เจ้าของ ไม่ใช่คนไทยอีกมันก็ทำให้ค่าแรงไม่สูง ถึงตรงนี้ มันก็คือ กับดักรายได้ปานกลาง ถ้าเราอยากให้ค่าแรงสูงขึ้น เราต้องผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง งานที่ใช้ทักษะสูง มีเทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นของตนเอง

มาตรการลดดอกเบี้ยที่รัฐบาลเห็นต่างจากธนาคารแห่งประเทศไทย จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนไทยได้มากน้อยเพียงใด

รัฐบาลต้องการให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า ดอกเบี้ยในระดับนี้เหมาะสมแล้ว คุณเศรษฐาต้องการให้มีการลดดอกเบี้ย ต้องการลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยของลูกหนี้

แน่นอนว่าการลดดอกเบี้ยทำให้ภาระการจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง แต่รากฐานของปัญหาการมีหนี้สินสูงคือ รายได้โตช้ากว่ารายจ่าย การลดดอกเบี้ยเพื่อไปกระตุ้นการลงทุน เพื่อเพิ่มผลผลิต GDP เราก็จะโตในทางนี้ ดอกเบี้ยคือ ต้นทุนหนึ่งในการลงทุนทางการเงิน การลดดอกเบี้ยในปัจจุบันมันไม่ค่อยจะส่งเสริมการลงทุนมากนัก เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ มากมาย

ตอนนี้นายทุนไทยลงทุนนอกประเทศมากกว่าในประเทศไทย นายทุนไทยไม่ได้ขาดเงินนะครับ เงินฝากในระบบเศรษฐกิจไทยยังมีเยอะอยู่ แต่ทำไมนายทุนไม่ลงทุนในประเทศ ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะดอกเบี้ยแพง แต่ไม่รู้จะลงทุนอะไรที่ทำให้แข่งกับต่างประเทศได้

มันก็กลับเรื่องเดิม การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งทุนไทยก็จะไม่สามารถแข่งกับต่างประเทศได้ สู้ไม่ลงทุนเสียตั้งแต่ต้นจะดีกว่า ดังนั้น ปัญหาต้มกบแก้ไขไม่ได้ด้วยการลดดอกเบี้ยหรอก

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

Photographer

นฤภรกมล แมงกะพรุน
คุยกับหมารู้เรื่องกว่าคุยกับปลา มีเพื่อนเป็นหมาทั่วจังหวัดเชียงใหม่ หลงใหลในเรื่องนามธรรม แต่บ้าคลั่งการซื้อโคมไฟมือสอง โดยปกติทำงานวิชวล แต่ก็แอบๆ อยากเขียนด้วยบ้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า