อาโป หวัง-อ็อด มัมบาบาตอกบนปก Vogue ชนเผ่านักรบพื้นเมืองกับการเอาคืนทางวัฒนธรรมความงาม

ทันทีที่ โว้ก ฟิลิปปินส์ (Vogue Philippines) เผยโฉมหน้าปกฉบับเดือนเมษายน แรงสั่นสะเทือนก็กระเพื่อมไปทั่วทุกซอกมุมอุตสาหกรรมความงามของโลก คำชื่นชมหลั่งไหลมาจากบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ด้านความงามแทบทุกแพลตฟอร์มของสังคมออนไลน์ 

Diet Prada เพจแฟชั่นชื่อดังบนอินสตาแกรมเขียนชื่นชมความกล้าหาญของโว้ก ฟิลิปปินส์ มีคนกดไลก์และให้หัวใจรวมกันมากกว่า 430,000 ดวง รวมถึง 1 ดวงจากนาโอมิ แคมป์เบลล์ (Naomi Campbell) แอนน์ เคอร์ทิส (Anne Curtis) นักแสดงลูกครึ่งฟิลิปปินส์-อเมริกัน โพสต์ว่า “ช่างเป็นปกที่งดงาม!” เบรทแมน ร็อค (Bretman Rock) อินฟลูเอนเซอร์ในวงการแฟชั่น คอมเมนต์สั้นๆ ว่า “คารวะ” แฮร์ริส รีด (Harris Reed) ครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนปัจจุบันของนินา ริชชี ให้ความเห็นว่า “สง่างาม” ขณะที่เคท เมนดอนคา (Kate Mendonca) บรรณาธิการไลฟ์สไตล์ของยาฮู (Yahoo!) ใช้คำว่า “นิยามใหม่ของความงาม

ริ้วรอยบนใบหน้า มือที่หยาบกร้าน และรอยสักเต็มตัวของ อาโป หวัง-อ็อด (Apo Whang-Od) สตรีช่างสักวัย 106 ปี แห่งเผ่าพันธุ์นักรบบุตบุต (Butbut) บนยอดเขาบุสคาลัน (Buscalan) จังหวัดคาลิงกา (Kalinga) ทางตอนเหนือของมะนิลา ถูกนิยามว่าเป็นการตีความความหมายใหม่ของ ‘ความงาม’ ในศตวรรษที่ 21 เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมความงามของตะวันตกปฏิเสธมาตลอด เห็นได้จากพื้นที่โฆษณาที่เต็มไปด้วยเซรั่มลดริ้วรอย ครีมบำรุงเพื่อผิวขาวกระจ่างใส และสารพัดผลิตภัณฑ์ที่มุ่งแสวงหาความงามอ่อนเยาว์ ขาว ใส และสมบูรณ์แบบที่จะพาหญิงสาวเดินย้อนสวนกาลเวลา ในนิตยสารความงามทุกฉบับ รวมถึงโว้กในประเทศต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่โว้กฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะรอยสักบนเรือนร่างของอาโป หวัง-อ็อด เอง ก็เป็นสิ่งที่ตะวันตกไม่เพียงปฏิเสธ แต่ยังนิยามว่าเป็นสิ่งน่าอายที่ควรต้องประนามและกำจัดให้สิ้น

ย้อนกลับไปในศตวรรษที่แล้ว ก่อนที่อเมริกาเข้ายึดครองฟิลิปปินส์เป็นดินแดนใต้อาณานิคม (1898–1946) ต่อจากสเปน บรรพบุรุษของอาโป หวัง-อ็อด หรือที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า มาเรีย อ็อกเกย์ (Maria Oggay) ดำรงวิถีของนักรบที่ประกาศชัยชนะเหนือชนเผ่าอื่นๆ ด้วยการฆ่าตัดหัว (headhunting) ผู้เป็นศัตรู 

เลน วิล์คเคน (Lane Wilcken) ช่างสักทางวัฒนธรรม (cultural tattoo practitioner) ชาวอเมริกัน อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างการล่าหัวศัตรูกับการสักในยุคนั้นไว้ในหนังสือ Pilipino Tattoos: Ancient to Modern (2010) ว่า การล่าหัวศัตรูทำหน้าที่รักษาความสมดุลและความยุติธรรมระหว่างชนเผ่าต่างๆ ที่มีความขัดแย้งกัน ‘เครื่องหมายของนักรบ’ จึงเป็นกิจกรรมทางพิธีการที่เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์และขั้นตอนมากมาย กว่าจะเสร็จสิ้นการทำสัญลักษณ์เครื่องหมายนักรบบนร่างกาย นักรบผู้นั้นอาจต้องเสียหมูหลายตัวและข้าวหลายกระสอบให้กับมัมบาบาตอก (Mambabatok) ช่างสักที่ใช้เครื่องมือพื้นบ้านอย่างไม้ไผ่และหนามจากต้นส้มโอ ทิ่มแทงลงไปในร่างกาย นำหมึกสีดำจากถ่านหินและน้ำให้ฝังลึกลงไปในผิวหนังจนเกิดเป็นลวดลายตามที่ออกแบบไว้ 

พิธีการของการสร้างสรรค์เครื่องหมายนักรบต้องดำเนินไปอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการสักที่หลังมือและข้อมือทั้งสองข้างเมื่อตัดหัวศัตรูได้หัวแรก และเมื่อได้หัวศัตรูหัวที่ 2 พวกเขาจะได้รับการประดับเรือนร่างด้วย บิกกิง (Bikking) รอยสักที่ลวดลายแผ่จากกลางหน้าอกออกไปเต็มหัวไหล่จนถึงต้นแขนทั้งสองข้าง เป็นสัญลักษณ์ที่ประกาศให้ทุกคนในสังคมเผ่าบุตบุตรับรู้ว่า ตนมิได้เป็นเพียงชายหนุ่มทั่วไป หากคือ ‘นักรบ’ แห่งเผ่าพันธุ์อย่างเต็มตัว ยิ่งตัดหัวศัตรูได้มากเพียงไรพวกเขาก็จะได้รับการประดับร่างกายด้วย ‘เครื่องหมายของนักรบ’ มากเพียงนั้น 

นักรบผู้ผ่านประสบการณ์หลากสมรภูมิจึงมีรอยสักเต็มแผ่นหลัง แขน ขา ก้น รวมถึงบนใบหน้า เพราะการสักบนร่างกายผู้ชายไม่ใช่การสร้างลวดลายธรรมดา หากเป็นการประดับเครื่องหมายนักรบ ทุกครั้งที่สัก มัมบาบาตอกต้องสาธยายบทสวดที่เรียกว่า อูลาลิม (Ullalim) เพื่อบอกเล่าและเชิดชูความกล้าหาญของนักรบเป็นพิธีกรรมควบคู่ไปด้วย

photo: Lars Krutak | https://www.larskrutak.com/return-of-the-headhunters-the-philippine-tattoo-revival/

ขณะที่รอยสักเต็มตัวบนเรือนร่างหญิงสาวมีความหมายถึงความงามและความอุดมสมบูรณ์แห่งร่างกายเพศเมียและแม่ รวมถึงยังสัมพันธ์กับความเชื่อของชีวิตหลังความตาย ลาร์ส กรูตัก (Lars Krutak) นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาด้านการสัก เคยเดินทางไปสัมภาษณ์หญิงอาวุโสแห่งคาลิงกาที่ร่างกายเต็มไปด้วยรอยสักหลายคน 

พวกเธอบอกเล่าเหตุผลของการสักให้กรูตักฟังว่า “เมื่อเสียชีวิตลง พวกเธอจะไม่สามารถนำลูกปัดและทองคำติดตัวไปได้ มีเพียงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ถูกแต่งแต้มบนร่างกายเท่านั้นที่จะติดตัวไปอยู่กับพวกเธอในชีวิตหลังความตาย” 

สังคมของชาวคาลิงกาในช่วงเวลานั้น มองหญิงที่ไม่มีรอยสักบนร่างกายว่าไม่สมบูรณ์แบบ ไม่เป็นที่พึงปรารถนา เฉพาะหญิงสาวที่แต่งงานแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถสักได้ ตำนานเล่าขานของชาวคาลิงกายุคก่อนอาณานิคมยกย่องเรือนร่างสตรีที่เต็มไปด้วยรอยสักว่า เป็นเรือนร่างที่มีเกียรติ อุดมสมบูรณ์ งดงาม และกล้าหาญ 

ทัศนคติเช่นนี้ถูกสั่นคลอนและเลือนรางไปในช่วงที่อเมริกาเข้ามายึดกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะฟิลิปปินส์

ปี 1898 หรือ 19 ปีก่อนอาโป หวัง-อ็อดจะถือกำเนิดในครอบครัวมัมบาบาตอก บนยอดเขาบุสคาลัน จังหวัดคาลิงกาทางตอนเหนือของมะนิลา อเมริกาเข้ายึดครองฟิลิปปินส์ต่อจากสเปน หลังจากนั้นไม่นานคณะมิชชันนารีชาวอเมริกันก็ตั้งโรงเรียนขึ้นที่คาลิงกา เปิดโอกาสให้เด็กทั้งชายและหญิงเข้าสู่ระบบโรงเรียน ที่ซึ่งไม่เพียงบ่มเพาะวิทยาการสมัยใหม่ หากยังส่งผ่านแนวคิดความงามแบบตะวันตกที่รังเกียจรอยสัก สร้างทัศนคติใหม่ให้เกิดขึ้นว่าการมีรอยสักโดยเฉพาะบนร่างกายผู้หญิงเป็นเรื่องน่าอาย 

แนวคิดเรื่องความงามของตะวันตกซึมเข้าสู่วัฒนธรรมของชาวกาลิงคา จนทำให้เด็กสาวรุ่นใหม่ในยุคนั้นหลายคนปฏิเสธการสร้างสรรค์ลวดลายบนผิวกายของตนเองภายหลังแต่งงานแล้ว และทำให้หญิงสาวบางส่วนที่แต่งงานแล้วและมีรอยสักบนร่างกายต้องสวมใส่เสื้อแขนยาวเมื่อออกนอกบ้านเพื่อปกปิดความน่าอายนั้น 

ขณะเดียวกันการตัดหัวศัตรู กิจกรรมแห่งความกล้าหาญของนักรบทุกเผ่าพันธุ์ก็ถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน กระหายเลือด และต้องห้าม อเมริกาประกาศห้ามไม่ให้มีการฆ่าตัดหัวกันในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ต้นศตวรรษ 1900 เมื่อการรบเป็นสิ่งต้องห้าม การทำเครื่องหมายของนักรบก็ลดความสำคัญลง 

อย่างไรก็ดี เอกสารทางประวัติศาสตร์ยังมีบันทึกการตัดหัวศัตรูของชนเผ่าในคาลิงกาอยู่ อิกิน ซัลวาดอร์ (Ikin Salvador) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ผู้ศึกษาวัฒนธรรมการสักของชาวเขา เคยบันทึกไว้ว่า “ผู้ชายคาลิงกาที่ฆ่าทหารญี่ปุ่นที่เข้ามายึดครองในช่วงทศวรรษ 1940 ได้ จะได้รับการสักที่แขนและหน้าอก” ช่วงเวลานั้นโลกกำลังเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นเข้ายึดครองฟิลิปปินส์ต่อจากอเมริกา 

อาโป หวัง-อ็อด เกิดในช่วงอเมริกายังคงเป็นเจ้าอาณานิคมฟิลิปปินส์ แม้จะเป็นยุคที่รอยสักไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นนักรบของชายหนุ่มมากเท่าในอดีต และหญิงสาวของชาวคาลิงกาได้สมาทานแนวคิดความงามของตะวันตกผ่านคณะมิชชันนารีไปบ้างแล้ว อาโป หวัง-อ็อด ก็เลือกที่จะเป็นมัมบาบาตอก ตามรอยพ่อของเธอตั้งแต่อายุ 15 เพื่อรักษาและสืบทอดวิธีการสักพื้นบ้านของชาวบุตบุตที่กำหนดว่า ต้องส่งผ่านความรู้และความชำนาญเฉพาะผู้สืบสายเลือดเท่านั้น 

ผู้ที่รับการสักจากเธอเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เธอกล่าวถึงความหมายของ บิกกิง บนร่างกายผู้ชายที่เธอสักให้ว่า ไม่ได้เป็นเครื่องหมายของนักรบเช่นในอดีต หากเป็นสัญลักษณ์ของ ‘การสืบเผ่าพันธุ์นักรบ’ ในขณะที่หญิงสาวส่วนหนึ่งยังคงมองว่าการสักคือการฝังความงามและสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์บนเรือนร่างตน แต่ความนิยมในการสักของชาวคาลิงกาก็ค่อยๆ ถูกลดความนิยมลง การเป็นมัมบาบาตอกถูกมองข้ามจากคนรุ่นหลัง เมื่อคนเก่าล้มตายไม่มีคนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาสืบทอด จนเหลืออาโป หวัง-อ็อด เป็นมัมบาบาตอกที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงคนเดียว

ความงามของร่างกายที่เต็มไปด้วยรอยสักของอาโป หวัง-อ็อด และคนเฒ่าคนแก่แห่งคาลิงกา สถิตอยู่บนยอดเขาบุสคาลันอย่างเงียบๆ จนปี 2007 ลาร์ส กรูตัก เดินทางไปคาลิงกาเพื่อเก็บข้อมูลและถ่ายทำสารคดี Tattoo Hunter (ตามล่าหาช่างสัก) ให้กับช่องดิสคัฟเวอรี และได้พบอาโป หวัง-อ็อด ที่ตอนนั้นอยู่ในวัย 90 ปี 

สารคดี Tattoo Hunter บอกเล่าเรื่องราวของอาโป หวัง-อ็อดในฐานะมัมบาบาตอกคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่แห่งคาลิงกา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อวัฒนธรรมการสักของที่นั่น ชาวต่างถิ่นโดยเฉพาะจากซีกโลกตะวันตกจำนวนหนึ่งเริ่มเดินทางไปที่คาลิงกาเพียงเพื่อจะพบและให้เธอสักร่างกายให้ด้วยเครื่องมือโบราณที่เธอชำนาญ จากนักเดินทางกลุ่มเล็ก เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่บรรจุการเดินทางขึ้นเขาบุสคาลัน ไปให้อาโป หวัง-อ็อด ผู้ตกเป็น ‘คุณยายฮิปสเตอร์’ โดยบังเอิญ (accidental hipster grandma) จากการแต่งกายที่มักสวมเสื้อยืดและกางเกงผ้าพื้นเมืองหลวมๆ มีผ้าหรือเครื่องประดับคาดหัว สักร่างกายให้ การสร้างลวดลายบนร่างกายที่ล้มหายไปจากวัฒนธรรมของคาลิงกาค่อยๆ ฟื้นกลับมา ไม่เพียงในหมู่นักท่องเที่ยว แต่คนหนุ่มสาวแห่งคาลิงกาเริ่มนิยมการสักร่างกายอีกครั้งตามความนิยมของชาวต่างถิ่น 

เกรซ ปาลิคาส์ (Grace Palicas) หลานสาวของอาโป หวัง-อ็อด ที่ไม่เคยคิดอยากเป็นมัมบาบาตอก ตัดสินใจศึกษาเทคนิคและวิธีการสักแบบพื้นบ้านจากเธอ รวมทั้งชักชวน เอลยาง วิกัน (Elyang Wigan) ลูกพี่ลูกน้องมาเรียนด้วย “เพื่อว่าพอฉันเข้ามหาวิทยาลัยเธอจะได้คอยช่วยอาโปแทนฉันในวันที่มีนักท่องเที่ยวมาเยอะ” เกรซกล่าว 

อาโป หวัง-อ็อด ในวันนี้จึงไม่ใช่มัมบาบาตอกคนเดียวของคาลิงกาที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เป็นมัมบาบาตอกที่อาวุโสที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ และแม้ทุกวันนี้ อาโป หวัง-อ็อด ในวัย 106 ปี จะทำการสักเพียงการใช้ไม้ไผ่ตอกบนเข็มจากหนามต้นส้มโอ บนข้อมือนักท่องเที่ยวนับร้อยครั้ง เพื่อสร้างจุด 3 จุด แต่ในแต่ละวันก็ยังคงมีนักท่องเที่ยวเดินซื้อแพ็กเกจทัวร์เดินเท้าพร้อมไกด์และล่ามพื้นเมืองขึ้นไปพบเธอ ผู้ไม่เข้าใจทั้งภาษาอังกฤษและภาษาตากาลอกบนยอดเขาบุสคาลัน ที่ซึ่งไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวนำรถขึ้นไป 

ไม่เพียงมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปหาความงามในแบบอาโป หวัง-อ็อด ถึงยอดเขาบุสคาลัน ฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว เกรซได้รับเชิญจากสตูดิโอสักในฝรั่งเศสให้เดินทางไปที่นั่นในฐานะช่างสักทางวัฒนธรรม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเป็นมัมบาบาตอก เป็นครั้งแรกที่ความงดงามบนเรือนร่างของชาวคาลิงกาได้รับการเปิดประตูให้เข้าสู่พื้นที่ชั้นในของอุตสาหกรรมศิลปะและความงามของโลกตะวันตก ก่อนจะได้รับการเปิดประตูให้เข้าสู่ใจกลางเมืองหลวงอย่างเป็นทางการ ด้วยการขึ้นปกโว้ก สื่ออันดับต้นๆ ของโลกอุตสาหกรรมความงามแห่งศตวรรษที่ 21

การเดินทางจากฐานะมัมบาบาตอก สู่คุณยายฮิปสเตอร์ สู่นางแบบปกโว้ก ที่สั่นสะเทือนโลกแฟชั่น อาโป หวัง-อ็อด ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการยึดมั่นในความงามของสังคมนักรบแห่งชนเผ่าบุตบุต ไม่ให้หวั่นไหวไปตามวิถีความงามและแรงกดดันจากโลกตะวันตก แนวคิดความว่าด้วยความงามของโลกตะวันตกต่างหาก ที่แม้พยายามกลืนกินอารยธรรมความงามอื่นด้วยเครื่องมือและอำนาจทุกอย่างที่มี แต่ก็พ่ายแพ้และต้องยอมศิโรราบให้ความงามที่แท้จริงที่มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตผู้คนรองรับ 

การขึ้นปกโว้ก ฟิลิปปินส์ของอาโป หวัง-อ็อต จึงเป็นการเอาคืนทางวัฒนธรรมความงามของชนเผ่าพื้นเมืองต่อเจ้าอาณานิคมโดยไม่ต้องลงแรง

อ้างอิง

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า