Beauty and the Class: เรื่องราวของความงาม ชนชั้น และอำนาจ กับ ฐิติพงษ์ ด้วงคง

ฐิติพงษ์ ด้วงคง หรือ ‘อาจารย์ธง’ รู้จักกันเป็นอย่างดีในวงการเวทีประกวดนางงาม ในฐานะกูรูและนักพากย์การประกวด แม้จะเป็นกูรูและแฟนคลับนางงามตัวยง แต่อีกด้านหนึ่ง อาจารย์ธงคือนักวิชาการที่คร่ำหวอดและคลุกคลีอยู่กับการศึกษาประเด็นความงามโดยกระบวนทัศน์แบบข้ามศาสตร์ ผ่านบริบททางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และการเมือง 

บ่ายสงบๆ เหมาะแก่การพูดคุยเรื่องสวยๆ งามๆ วันหนึ่ง เราชวนอาจารย์ธงมานั่งพูดคุยในประเด็น Beauty and the Class ถ้าความงามจะเป็นเรื่องของใครสักคน ชนชั้นและอำนาจอาจจะมีส่วนในการจัดการกับความงาม แน่นอนว่าความสวยงามไม่ได้มีแค่การพูดถึง ‘ความงาม’ แต่การชำแหละและกรีดผ่าม่านหมอกของชนชั้นและอำนาจเพื่อค้นหาความงามต่างหาก คือสิ่งที่งดงามที่สุดของบ่ายวันนั้น 

และบทสัมภาษณ์ข้างล่างนี้ คือเรื่องราวสวยๆ งามๆ ที่เราอยากนำเสนอ   

ความงามคืออะไร

ถ้าเราศึกษาทฤษฎีความงามย้อนไปตั้งแต่ยุคเพลโต ความงามที่เราพูดถึงกันมันถูกตีความผ่านการมองเห็น ในโลกตะวันตกจะมีกระบวนทัศน์ (paradigm) ในการมองความงามผ่านการมองเห็นอยู่ สำนวนที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็เช่น “Beauty lies in the eyes of the beholder” ความงามจะงามแบบใด ขึ้นอยู่กับสายตาของคนมอง เพราะฉะนั้น ถ้าเราว่ากันด้วยรูปแบบ รูปทรง ก็จะต้องมีการมอง การจ้อง แล้วจึงตีความว่างามไม่งาม

หรือความงามอาจจะหมายถึงคุณภาพของวัตถุที่เรามองผ่านเลนส์สายตาของเราก็ได้ สำหรับผม คนที่อธิบายความงามได้ตรงกับใจผมมากที่สุดก็คือ เดวิด ฮูม (David Hume) นักปรัชญาชาวสกอตแลนด์ แม้ว่าเราจะมองความงามผ่านรูปทรง หรืออะไรก็ดี แต่ท้ายที่สุด สิ่งที่เรามองว่างาม มันจะต้องนำมาซึ่ง ความอภิรมย์ ความงามที่เกิดขึ้นในใจมันคือความรู้สึกและอารมณ์

ทุกคนมีสิทธิมองสิ่งต่างๆ ว่างามได้ ถ้าสิ่งนั้นมันเทียบได้กับความภิรมย์สมสมัยในใจคุณ และสิ่งที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ความงามไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากของที่สวยงามในใจอย่างเดียวก็ได้ ความงามอาจจะเกิดจากสิ่งที่มองดูแล้วน่าเศร้า โศกาอาดูร เช่น วันที่มีเมฆหมอกดำทะมึน หรือราตรีกาลที่เรามองไม่เห็นสิ่งใดเลย เห็นเพียงแสงดาว ก็สามารถเป็นความงามได้ เพราะสิ่งที่เรามองเห็นและจดจ้อง สามารถสร้างความอภิรมย์ในใจได้ก็ถือว่าเป็นความงาม

แสดงว่าความเศร้าก็สามารถสร้างความโรแมนติกขึ้นมาได้ และความโรแมนติกที่ว่าก็สามารถสร้างความงามได้เช่นกัน?

ใช่ครับ เวลาที่ฝนโปรยหม่น เราอาจจะทำอารมณ์ไปกับอากาศตอนนั้น ซึ่งเราอาจจะเศร้ามากก็ได้ แต่ถ้าภาพที่เรากำลังมองดูฝนโปรยปรายนอกหน้าต่าง แล้วถูกครอบด้วยทีวีและเสียงเพลงกลายเป็นมิวสิควิดีโอ ผู้ชมที่มองผ่านจอก็อาจจะมองว่ามันเป็นความงามก็ได้ ท่ามกลางความเหงา ความเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย

สำหรับสังคมที่เราอยู่ ใครมีอำนาจในการกำหนดความงาม 

ถ้ามองจากโลกแฟชั่น ยกตัวอย่างจากภาพยนตร์เรื่อง The Devil Wears Prada ก็จะเห็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า ‘trendsetter’ (ผู้กำหนดเทรนด์) เช่นนั้นใครเป็นคนกำหนดความงามในสังคมอาจจะต้องถามก่อนว่า ความงามแบบไหนล่ะ เพราะความงามมีหลากหลายมิติ ความงามในตัวผู้คน หรือจะมีเรื่องของเพศสภาพ ความงามของผู้หญิง ความงามของผู้ชาย ความงามจากธรรมชาติ 

ถ้าเราพูดถึงบริบทของคน ของมนุษย์ คนที่กำหนดก็คือกลุ่มคนที่มีอำนาจ ความงามเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งซึ่งคนมีอำนาจใช้ครอบงำกลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยกว่าตัวเอง ทำให้พวกเขาอ่อนโน้มตามและถูกปกครอง

ความงามอาจจะเป็นเครื่องมือสำหรับกลุ่มคนที่กำหนดมันขึ้นมา สำหรับผม ที่เห็นชัดเจนตามมิติประวัติศาสตร์นะ คนที่กำหนดมันขึ้นมาคือชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครอง 

ถ้ามองผ่านมิติทางประวัติศาสตร์ ก็หมายความว่าชนชั้นนำไทยเป็นผู้กำหนดความงามในแต่ละยุคสมัย?  

ผมคิดว่ามีส่วนมากๆ เลยนะ ถ้าเรามองว่าความงามมันเป็นเรื่องของยุค เวลา สถานที่ ปัจจุบันยิ่งต้องรวมพวกชนชั้นนายทุนเข้าไปด้วย นายทุนมีสินค้าและมีการสร้างกำไรเม็ดเงินจากความงาม เพราะฉะนั้นก็จะมีหลากหลายกลุ่มที่เข้ามาฉวยชิงผลประโยชน์จากความงามที่ถูกกำหนดขึ้น 

ด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยเองก็น่าสนใจมากๆ บุคคลที่มีส่วนกำหนดความงามโดยใช้เพศเข้ามาเป็นหน่วยในการกำหนดสร้าง เราก็เริ่มต้นสมาทานคุณค่าของวิคตอเรียนในสมัยรัชกาลที่ 6 เราจะเห็นว่าผู้หญิงมีการสร้างความงามแบบตะวันตก ที่เป็นไปตามกลุ่มแนวคิดนอกที่ไปเรียนในตะวันตก เมื่อก่อนเราอาจจะมองว่าความงามแบบไทยๆ งามพอแล้ว แต่พอตะวันตกเข้ามาในบ้านเรา รวมถึงผ่านอุดมการณ์ที่ชนชั้นนำในบ้านเราไปรับเอามาจากตะวันตก ผู้หญิงเริ่มมีการประกอบสร้างความงามแบบตะวันตกมากขึ้น

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ผมทรงดอกกระทุ่มที่มักตัดกันเริ่มหายไป เริ่มมีการไว้ผมยาวมากขึ้น เสื้อผ้าที่เมื่อก่อนเป็นผ้าแถบ ก็เริ่มมีการปกคลุมเรือนกายอย่างมิดชิด เปลี่ยนจากการนุ่งโจงกระเบนเป็นนุ่งซิ่น และกลายมาเป็นกระโปรงในที่สุด

อีกยุคที่ผมมองว่าบ้านเรามีการแบ่งความงามด้วยการแยกเพศออกเป็นสองขั้ว ก็คือยุคที่มีการปกครองโดยกลุ่มนายพล เป็นอุดมการณ์ที่มองว่าผู้ชายควรจะเป็นชนชั้นปกครอง ผู้หญิงก็ควรที่จะเป็นไม้ประดับ ผู้หญิงก็จะต้องแสดงออกให้เป็นผู้หญิง ผู้หญิงถูกจัดวางให้เป็นดอกไม้ของชาติ ผู้หญิงควรจะแต่งกายอย่างไรถึงจะออกจากบ้านได้ หรือผู้หญิงควรจะมีเรือนกายอย่างไร แนวคิดเรื่องการสร้างกายแบบ Eugenic (คนขาวอารยัน) มันถูกเผยแพร่ด้วยอุดมการณ์ความงามที่ผ่านวัฒนธรรมมวลชน ที่กลุ่มชนชั้นนำเป็นผู้กำหนดขึ้น

หลังจากที่มีการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญไทยในปี 2477 ปีนั้นมีการประกวดนางสาวสยาม ที่วังสวนสราญรมย์ เพื่อเป็นการกำหนดตัวแทนของผู้หญิงไทยและผู้หญิงในชาติที่มีความทันสมัย ให้เห็นภาพว่าควรเป็นอย่างไร ถ้าเราไปดูภาพการประกวดนางสาวสยามยุคนั้น เราจะเห็นว่าผิวกายของผู้หญิงที่ร่วมประกวดในยุคนั้นค่อนข้างกระจ่าง รูปหน้าก็ออกไปในโทนลูกครึ่ง หรือแม้แต่สาวงามที่ไปประกวดนางงามจักรวาลคนแรกของไทยก็เป็นลูกครึ่ง เพราะฉะนั้นเรือนกายแบบ Eugenic ถูกนำมาสร้างเป็นความงามของผู้หญิง และทำให้เกิดลักษณะของตัวแทนของรัฐชาติได้ด้วย 

ทำไม จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเลือกสร้างความงามของผู้หญิงในแบบ Eugenic แทนที่จะสร้างความงามให้โดดเด่นแบบเอเชีย

เป็นเพราะเราเพิ่งผ่านสงครามมา เราต้องการแสดงความเป็นอารยะและเป็นโลกสมัยใหม่ เราจะเห็นว่า ยุคของ จอมพล ป. เอง มีการสมาทานคุณค่าแบบโลกตะวันตกหลายอย่างเลย เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรากำลังเข้าสู่โลกสมัยใหม่ และสิ่งที่จะแสดงให้เห็นว่าเราเข้าสู่โลกสมัยใหม่ได้ง่ายที่สุดก็คือ เรือนกาย เรือนกายถือเป็นคำประกาศ (manifesto) คล้ายกับพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจและความทันสมัยที่ง่ายที่สุด 

เราจะเห็นได้เลยว่าสิ่งที่นำมาประกอบสร้างเป็นความงาม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายหรือทรงผมก็ดี มันถูกนำมาไว้บนเรือนกายเราหมด ยุคจอมพล ป. ก่อนจะออกจากบ้านผู้หญิงต้องใส่หมวก ผู้หญิงก็หันมานุ่งซิ่นแทนการนุ่งโจงกระเบนแบบเดิม เห็นความเป็นสมัยใหม่ที่พ้องไปกับสังคมตะวันตก เพื่อนำเสนอว่าเราเป็นชาติที่ทันสมัย 

ตั้งแต่ยุค ร.6 ถึงปัจจุบัน เทรนด์ความงามมันเปลี่ยนไปอย่างไร     

เทรนด์ความงามยุค ร.6 จนถึงปัจจุบันย่อมเปลี่ยนแน่นอน โลกเปลี่ยน อุดมการณ์ก็เปลี่ยน เพราะมันมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่เข้ามากระทบ อุดมการณ์บางอย่างก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนเสียทีเดียว แต่มีการผสมผสาน และมีการไหลผ่านของชุดอุดมการณ์ที่ทำให้เกิดความลงตัวกับยุคสมัย 

แม้ว่าในอดีตผู้คนจะเริ่มต้นจากความงามแบบ Eugenic แต่ปัจจุบันหลายคนก็อาจจะมองว่าความงามของไทยเริ่มถอยกลับไปหาราก ซึ่งผมมองว่าไม่ได้เป็นการกลับไปหารากความเป็นไทยมิติเดียวแบบนั้น เพราะความเป็นไทย (Thainess) ใครเป็นคนกำหนดเอาไว้ล่ะ? 

ความงามแบบไทย เราอาจจะต้องถามว่า เป็นผู้หญิงไทยจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเป็นไทยเชื้อสายจีน หรือความงามแบบไทยราชสำนัก เราต้องถามให้ชัดว่า ความงามแบบไทยๆ หนึ่งคือเป็นแบบไหนกันแน่ มีมิติใดบ้าง สองคือถูกนำมาใช้เพื่ออะไรเมื่อนำมาบวกกับความงาม กลับไปสู่คำถามที่ว่า ใครที่อยากให้เราสมาทานอุดมการณ์ชาตินิยม อาจจะเป็นแบบเดิมผ่านระบบการศึกษาก็ดี หรือผ่านวัฒนธรรมมวลชนก็ดี แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นรากของเราหรือไม่เป็นก็ได้ อีกทั้งยังเป็นอุมดการณ์ที่ยังคงสถานะอยู่และใช้งานในปัจจุบัน

ความเป็นไทยที่บอกว่ากลับไปสู่เหง้า กลับไปเป็นไทยแบบล้านนาเหรอ อีสาน กลาง หรือใต้ ความเป็นไทยที่เรากำลังพูดถึง เป็นความงามแบบที่ถูกรวบรวมเข้ากับศูนย์กลางหรือเปล่า มันถูกทำให้เป็นส่วนกลางหรือเปล่า คุณต้องลองตั้งคำถามนะ 

ถ้าผมพูดถึงบริบทที่ผมศึกษาผ่านบริบทนางงามยุคปัจจุบัน ความงามที่เรานำเสนอผ่านชุดประจำชาติของเรา เราบอกว่าแบบนี้คือสิ่งที่นางงามควรจะใส่ เพราะเป็นความงามที่สูงส่งเลอค่า เหมาะที่สุดสำหรับการเป็นตัวแทนของรัฐชาติ หลังปี 2014 หลังจากชุดตุ๊กตุ๊ก ไทยแลนด์ มันเป็นชุดที่แสดงความเป็นไทยแบบชาวเขาไหม หรือชุดรองเง็งทางใต้ได้ไหม?

 

ความงามมีส่วนในการสร้างรัฐชาติใช่ไหม

ก็มีส่วนนะครับ มีส่วนในการสร้างรัฐชาติแบบที่เรียกว่า Hegemony หรืออำนาจนำ อย่างที่เราคุยกันไปถึงประเด็นเรื่องความงามกับความเป็นไทยชัดเจนเลย ว่านั่นคือการนำเอาความงามเข้ามาทำให้เห็นพื้นที่ของอุดมการณ์ชาติแบบไหนที่กำลังทำงานอยู่ เพียงแต่ความงามมันอาจจะไม่เหมือนกับจุดกำเนิดของอุดมการณ์เสียทีเดียว เพราะมันมีการปรับตัวไปกับยุคสมัย 

แสดงว่าเมื่อมีอำนาจนำก็ต้งมีการจัดลำดับทางสังคม?

ใช่ ยิ่งถ้าศึกษา อันโตนีโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) โดยเฉพาะทฤษฎีอำนาจนำจะเห็นว่ามันสามารถอธิบายเรื่องความงามในบ้านเราได้ ความงามที่ถูกกำหนดขึ้นโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจในการกำหนดขึ้น และถูกนำเสนอผ่านสื่อที่เป็นวัฒนธรรมมวลชน ซึ่งก็เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ควบคุมให้คนที่อยู่ภายใต้อาณัติของอำนาจปฏิบัติตาม

การจัดลำดับทางสังคมที่เกิดขึ้นก็แสดงว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจด้วย?

ก็เกี่ยวกันอย่างแน่นอน กลุ่มคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเขาต้องสร้างพันธมิตร เพื่อให้ตนเองคงไว้ซึ่งสถานะของตนเอง อย่างน้อยคงเดิม อย่างมากสูงขึ้น เราจะเห็นกลุ่มนายทุนที่เขาสร้างเครือข่ายและพึ่งพาชนชั้นปกครองเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ คนกลุ่มนี้เองก็กำหนดอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างทีเดียว และหนึ่งในนั้นก็คือ เทรนด์ของความงาม 

ถ้าเป็นในอดีต เราก็จะเห็นได้เลยว่าภาพความสัมพันธ์จะเป็นลักษณะของชนชั้นปกครองกับชนชั้นล่าง ผ่านเรื่องของการประกอบสร้างความงามให้กับผู้หญิง เวลาที่ส่งคนไปประกวดนางงามจักรวาล เขาก็จะใช้เครื่องแต่งกายที่ยึดโยงกับความงามแบบราชสำนักอย่างชัดเจน แต่ว่าในปัจจุบัน เครื่องแต่งกายกลับไม่ได้ถูกส่งมอบมาจากชนชั้นปกครองแล้ว มันเป็นการส่งมอบจากกลุ่มทุนที่เขาผลิตเครื่องแต่งกายขึ้นมา ขณะเดียวกันกลุ่มนายทุนก็พยายามจะสร้างความหรูหรา ทันสมัย ขณะเดียวกันก็มีความเป็นอีลีท (elite) รวมอยู่ในผลิตภัณฑ์ของตนเองด้วย 

ซึ่งก็ทำให้กลุ่มนายทุนที่ผลิตผลิตภัณฑ์เกี่ยวโยงกับความงามหยิบยืมสมบัติของชนชั้นนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการผลิตงานของตนเอง หรือถ้าเราสังเกตเห็น ชนชั้นปกครองบางส่วนก็ลงมารับบทเป็นผู้เล่นในตลาดแบบนายทุนด้วย ตอนนี้เวลาเราไปประกวดนางงาม สิ่งที่น่าสนใจมากคือการสนับสนุนเครื่องแต่งกายของสาวไทยที่ถูกนำมาใช้ในการประกวดในระดับสากล   

หมายความว่าความงามมันเลื่อนไหล อีกทั้งการแต่งกายเพื่อเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมก็สามารถทำได้ด้วย

ผมคิดว่ามันถูกใช้เป็นพาหนะเพื่อเลื่อนขึ้นลงของชนชั้น ซึ่งจะใช้เพื่อเลื่อนขึ้นของชนชั้นมากกว่า ถ้าถามว่ามันจำกัดเฉพาะชนชั้นนายทุน หรือชนชั้นกลางระดับสูง (upper middle class) ไหม ผมคิดว่าไม่นะครับ ชนชั้นผู้ผลิตแบบสาวโรงงานเขาก็มีสิทธิที่จะมีความสุขกับการสร้างความงามหรือการแต่งตัว ในการนำมาใช้กับอะไรบางอย่างเหมือนกัน อาจจะนำมาใช้ต่อกรกับอำนาจความเป็นชายภายในบ้านก็ได้ หรือขณะเดียวกันก็ถูกใช้เพื่อสร้างความอภิรมย์หรือพึงพอใจให้กับตัวเองล้วนๆ ก็ได้

จะสังเกตเห็นว่า เราสามารถพบเจอผลิตภัณฑ์ที่ขายใกล้ๆ โรงงาน ซึ่งก็ขายดีมากด้วย สาวโรงงานมีสิทธิสวย มีสิทธิมีอำนาจในการสร้างความงามแบบที่ตนเองอยากจะมีได้เหมือนกัน แต่ว่าความงามเหล่านี้ ใครเป็นคนกำหนด ก็กลับมาเหมือนอีหรอบเดิมอีก ชนชั้นที่สูงกว่าเป็นผู้กำหนดใช่ไหม?

ความน่าสนใจของตัวอย่างที่อาจารย์ยกมา เครื่องสำอางที่ขายให้กับชนชั้นผู้ผลิต กับชนชั้นอื่นก็ต่างกันด้วย?  

ใช่เลย เพราะมันเป็นเรื่องของอำนาจในการเข้าถึงความงามไง ซึ่งมันก็ลดหลั่นไปตามอำนาจทางเศรษฐกิจและชนชั้นถูกไหม แต่ไม่ได้หมายความว่า ความงามเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มหรือบางชนชั้น สำหรับผม ความงามเป็นเรื่องของคนทุกชนชั้น ผู้หญิงในชนบทก็สวยได้ มันเป็นเรื่องของทุกคน 

“เพราะในท้ายที่สุดความงามมันเป็นเรื่องของความพึงพอใจ ความอภิรมย์สมสมัย เราเกิดเป็นมนุษย์มันต้องมีทุกข์และสุขถูกไหม หนึ่งในความสุขก็คือความอภิรมย์ที่ว่า”

ถ้าเป็นอย่างที่เล่ามา ความงามที่จะเป็นของผู้หญิงแต่ละกลุ่ม อาจต้องถูกสร้างโดยทุนนิยมสื่อ สิ่งพิมพ์ โฆษณา ด้วยไหม?

ใช่ครับ ถ้าเรามองตรงจุดนี้ เราจะเห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์ โฆษณา มันเป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องมือของการเผยแพร่อุดมการณ์ ถ้ามองในระดับรัฐชาติ ทุนนิยมสื่อสิ่งพิมพ์ หรือโฆษณาเหล่านี้ มันเป็นเครื่องมือของรัฐชาติ (the apparatus of the state) เพราะฉะนั้นมันเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่อุดมการณ์ไว้ครอบงำความงามเอาไว้ 

เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้น เราก็จะไม่มีกลุ่มแฟนคลับ กลุ่มคนที่ยกคุณให้เป็นแบบอย่างของความงาม เพราะเรื่องแบบนี้มันต้องมีองค์อำนาจนำ เพราะชวนคิดต่อว่า ปัจจุบันใครเป็นองค์อำนาจนำในมิติความงามของเพศหญิงในบ้านเรา 

สีผิว เป็นเรื่องหนึ่งของแบบอย่างความงาม (epitome) ด้วยใช่ไหม

อันนี้ผมชวนคุยย้อนกลับไปยุคอาณานิคมและพาออกไปนอกบริบทไทยๆ บ้าง เราจะเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่มนุษย์เราต้องดีลและจัดการอำนาจที่มากดทับตลอดเวลา ขณะเดียวกันเราก็ต้องสร้างอำนาจขึ้นมาเพื่อให้เราอยู่รอด 

ในลาตินอเมริกา คุณจะเห็นเลยว่าความงามในตัวของผู้หญิงมันเริ่มมาจากเรือนกาย เริ่มจากชนชั้นผิว มันมีคำศัพท์ว่า stratification ก็คือการแบ่งคนตาม pigment ของสีผิว คนขาวจะอยู่ยอดบนของพีระมิดสูงสุด ในกลุ่มประเทศอาณานิคมแถบลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นเวเนซูอาลา โคลัมเบีย เปรู เปอร์โตริโก ถามว่ายุคนั้นผู้หญิงที่ผู้ชายอยากแต่งงานแล้วเอามาเป็นทั้งแม่และแม่พันธุ์ เอามารับใช้ระบบสืบพันธุ์คือ ผู้หญิงผิวขาว

ผิวสีขาวเป็นผิวที่มองแล้วคงไว้ซึ่งความเป็นอารยะและศิวิไลซ์ จะสามารถธำรงซึ่งอำนาจของพวกเขาได้ มันจะรักษาไว้ซึ่งอำนาจของการเป็นเจ้าของ เจ้าคนนายคน เจ้าอาณานิคม เป็น conquistador (ชนชั้นนายทหารที่ถูกส่งไปอยู่ประเทศอาณานิคม) ของภูมิภาคนี้ ไปจนกระทั่งคนผิวดำ ยุคนั้นคนที่ผิวดำก็คือคนที่เป็นทาสมาจากกาฬทวีป คือคนดำที่ถูกชาวโปรตุเกสและสเปนนำใส่เรือมาขายเป็นทาส เพราะฉะนั้นสีผิวมันมีนัยยะและความหมาย ซึ่งก็เป็นมิติหนึ่งในการมองความงาม

กลับมาที่บ้านเรา ทำไมตอนนี้ถึงมีความนิยมผิวขาวกระจ่างใส เราเกี่ยวของอะไรกับอาณานิคมแบบที่เล่าไหม ก็เกี่ยวครับ แต่ผมมองว่าที่นิยมความขาว ความเหลือง แบบเกาหลี จีน และประเทศเหล่านี้มีอะไรนำบ้านเรา – เศรษฐกิจ 

จีนใช้เศรษฐกิจในการเบิกทางให้กับประเทศตัวเอง ซึ่งเป็นบริบทเดียวกันลาตินอเมริกาด้วย เขาเรียกว่า Hegemonic Economy หรืออำนาจนำทางเศรษฐกิจ การที่จีนอยู่เหนือทางด้านเศรษฐกิจ บ้านเราอยู่ภายใต้อำนาจนำทางเศรษฐกิจของจีน ยกตัวอย่างเวลาเจ้าสัวของเราเปิดห้างในจีน ไปดูสิ เลือกดาราแบบไหนไปเปิดห้าง รูปลักษณ์ภายนอกเป็นอย่างไร 

เป็นเพราะอำนาจนำทางเศรษฐกิจของประเทศจีนและชนชั้นของลูกจีนที่เป็นชนชั้นที่มั่งคั่งในสังคมไทย ทำให้ความงามแบบสาวหมวยกลายเป็นที่นิยมใช่ไหม

สำหรับผม มองว่าเป็นเวลาของพวกเขามากกว่า ซึ่งก็สอดคล้องกับปรากฏการณ์ในโลก ไม่ใช่แค่ในระดับเมืองไทย ลุคของนางแบบจีนในโลกที่สวมใส่เสื้อผ้าด้วยไฮเอนด์แบรนด์หรือพวก couture (แฟชั่นชั้นสูง) ไม่ว่าจะเป็น Chanel, Dolce Gabana, Givenchy ล้วนแล้วแต่มีนางแบบจีนเข้าไปเป็น muse ให้กับแบรนด์ไฮเอนด์มากขึ้น 

หรือแม้แต่ชาวไทยเชื้อสายจีน ดาราที่มีผลงานในจีน ก็กลายเป็น muse เป็น Friend of Chanel หรือแม้แต่มีดาราที่มีเชื้อสายฝรั่งด้วย จีนด้วย เป็นภาพสะท้อนที่น่าสนใจมากว่าเป็น neocolonial hegemonic body (เรือนกายที่แฝงไว้ซึ่งอำนาจนำแห่งลัทธิอาณานิคมใหม่) ของโลกสมัยใหม่ มีจีนที่เป็นอำนาจนำยุคใหม่ กับโลกเก่าที่มีอำนาจนำจากเรือนกายแบบยูจีนิก แบบคนขาว ก็ถูกเชิญไปเดินแบบที่มิลาน 

ถ้าอาจารย์บอกว่ามันเป็นเรื่องเวลา นั่นก็หมายความว่า เวลาของความงามแบบภูมิภาคของไทยจะต้องเกิดขึ้นเช่นกัน

ถูกต้อง เพราะความงามมันเลื่อนไหลไปกับอุดมการณ์ของอำนาจนำ ยกตัวอย่างนะ ความงามแบบอีสานมีการเลื่อนเข้ามาในกระแสหลัก แต่ผมก็ยังมองว่ามันยังคงเป็นความงามแบบชายขอบ (maginalized beauty) อยู่ ซึ่งมันก็อยู่ชายขอบมานานแล้ว เพียงแต่ปัจจุบันโลกของเราสมาทานชุดคุณค่าความหลากหลาย โลกกำลังพูดถึงการไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

เพราะฉะนั้นมันก็เลยกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ความงามกระแสรองอื่นๆ เข้ามา และเรื่องของ political correctness หรือความถูกต้องทางการเมือง ก็ถูกนำมาใช้ในฐานะโฆษณาชวนเชื่อของงานโฆษณา เราก็จะเห็นพวกโฆษณาที่โอบอุ้มความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แฟชั่น สินค้าความงาม เวทีการประกวดนางงามก็เช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งคือ ความงามที่เป็นชายขอบมักถูกมองด้วยสายตาของนักล่าอาณานิคมเหมือนกันนะ มองความงามแบบชายขอบว่างามแบบแปลกๆ (exotic) เป็นเรือนกายที่น่าค้นหา น่าค้นพบ ซึ่งมันก็สอดคล้องกับแนวคิดของ เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) ที่มองว่าวิธีคิดแบบนี้มันคือการคงอยู่ของแนวคิดบูรพคดีนิยม (Orieantalism)

มันมีความทับซ้อนกันอยู่ระหว่างยุคอาณานิคม และยุคหลังอาณานิคม ถ้าเรานำแนวคิดแบบ post modern มอง อย่าง UN บอกว่าต้องการทำให้อาณานิคมหายไปในโลกสมัยใหม่ ก็ยังมี เปอร์โตริโก ยิบรอลตา เหลืออยู่ จักรวรรดิแบบเก่าก็ยังเหลือ แถมยังมีจักรวรรดิแบบใหม่อย่างอำนาจนำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอีก ทำไมเราถึงสมาทานความขาวแบบเกาหลี จีน แบบนี้ไม่ใช่การล่าอาณานิคมยุคใหม่หรือ?

ความงามแบบชายขอบก็กลายมาเป็นเครื่องมือของการสร้างคุณค่าแบบสากลด้วยหรือเปล่า

ผมคิดว่าต้องฟังเสียงคนชายขอบด้วยนะ ว่าเขาต้องการหรือเปล่า เราเองก็ต้องฟังเสียงของพวกเขาด้วย หรือเขาถูกพูดแทนจากคนส่วนกลาง ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้มีเสียงของพวกเขา เราน่าจะลองไปถามคนกลุ่มชายขอบที่ว่านี้ด้วยนะ ว่าจริงๆ แล้วเขาอยากจะให้ตัวเองเข้ามาสู่ศูนย์กลางด้วยหรือเปล่า หรือจริงๆ เป็นเพียงแค่คนที่อยากถูกทิ้งไว้ 

มันไม่ใช่ว่าเขาอยากถูกใช้เป็นเครื่องมือ แต่คำถามที่น่าสนใจสำหรับผมคือ คนกลุ่มนี้อยากมีตัวแทนที่ใช้อำนาจกระทำการไหม ถ้าเขาอยากมีอำนาจกระทำการ ผมมองว่า สังคมแบบ inclusive society ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มนี้ส่งเสียง ซึ่งมันพ้องไปกับเทรนด์ของโลกตะวันตก เพราะโลกตะวันตกเขามีประวัติศาสตร์การถูกกดทับที่โหดร้ายมาก่อน ขณะเดียวกัน บ้านเราเองก็หมุนไปตามโลกด้วย 

ในทางกลับกันมีก็มีความพยายามต้านกระแสอยู่ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะเดินไปทางเดียวกัน แน่นอนว่ามันมีการยึดยื้อของอำนาจระหว่างคนสองกลุ่ม อนุรักษนิยมกับเสรีนิยมมันยังมี การต่อสู้ยังมีอยู่

ในสายตาของอาจารย์ อยากให้ลองประเมินการต่อสู้ระหว่างคุณค่าแบบ inclusive society กับพลังอนุรักษนิยมในมิติของความงาม

ประสบความสำเร็จนะ ในระดับหนึ่งเท่านั้น มันเกิดการรับรู้ผ่านพื้นที่ของความงามว่าที่ผ่านมามันมีคนที่ถูกทิ้ง มันมีคนชายขอบ อย่างการประกวดนางงาม 2018 โลกมีนางงามข้ามเพศ โลกมีนางงามชนพื้นเมืองในเวียดนามที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนของรัฐชาติ โดยเฉพาะเวียดนาม นางงามที่ก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนเขาก็ไม่ได้มีโทนสีผิวที่ขาวกระจ่างใส เหมือนกับค่านิยมที่เกิดจากการตกอยู่ภายใต้ภายอาณัติของอำนาจนำทางเศรษฐกิจในประเทศเอเชียอื่นๆ ในที่สุดคนก็เริ่มพูดถึงเรื่องเหล่านี้

ถ้าเราย้อนกลับไปมองกลุ่มคนที่ติดตามนางงามมาตั้งแต่เริ่ม ก็ยังไม่มีการสนับสนุนเรื่องของการข้ามเพศ ก็ยังมองว่าควรไปประกวดเวทีที่จัดไว้เฉพาะสาวข้ามเพศ ไม่ควรที่จะข้ามพรมแดนสู่การประกวดของผู้หญิงตามเพศกำเนิด แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นคือความเป็นชายขอบมีท่าทีที่เปลี่ยนไป สำหรับผม ความเป็นชายขอบมันลดลง แต่ถ้าจะทำให้ความเป็นชายขอบเหลือศูนย์มันอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ต้องติดตามต่อไป 

ประเทศไทยเองก็พยายามปรับตัวเข้ากับเทรนด์ inclusive society ของโลก เมื่อไม่นานมานี้ห้องเสื้อแบรนด์ไทย จัดงานแฟชั่นโชว์ที่มีนางแบบหลากหลายมาก ทั้งเรือนกายที่แปลก พลัสไซส์ ลูกครึ่งไทยไนจีเรีย สาวหมวย สาวที่หน้าไทย คือมีทุกรูปแบบ วงการแฟชั่นเป็นวงการที่พยายามจะขายสิ่งที่ล้อไปกับเทรนด์อยู่แล้ว ด้วยธรรมชาติความรวดเร็วของมัน

ในจอทีวีก็เช่นกัน เราไม่ค่อยเห็นนางเอกผิวคล้ำๆ กันหรอก แต่ตอนนี้กลับมีมากขึ้น แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้เป็นภาพทั้งหมดนะ มันก็เลยเกิดเป็นมิติของตัวแทน ตอนนี้สำหรับผม ความน่าสนใจอยู่ที่ว่ามันมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น 

การปรับตัวของสังคมไทยที่ล้อไปกับเทรนด์โลก สามารถเปลี่ยนวิธีคิดและทัศนคติของสังคมไทยได้มากน้อยแค่ไหน เพราะทุกวันนี้ความงามแบบภูมิภาคยังคงถูกเบียดขับอยู่

มันมีความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้เปลี่ยนอย่างถอนรากถอนโคนเสียทีเดียว เพราะอย่าลืมว่ามันมีมิติความงามที่เกี่ยวพันกับอำนาจทางเศรษฐกิจ ความงามแบบไหนที่ทำให้คุณสวยแพงล่ะ โดยเฉพาะสังคมที่เต็มไปด้วยวาทกรรมเบียดขับ “อุ๊ย ดูแพงจังเลย” หรือบอกว่า “นี่ๆ หน้าวีเชฟ” การพูดแบบนี้มันสะท้อนอำนาจในการเข้าถึงด้วยนะ เพราะแปลว่าต้องมีเงินถึงจะทำหน้าวีเชฟได้

อย่างผมศึกษาเรื่องการประกวดนางงาม มิสยูเอสเอ มิสยูนิเวิร์สจากลาตินอเมริกา ตอนนี้พยายามเล่นกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ในสังคมของพวกเขา พื้นที่ที่สามารถสำแดงอำนาจของการกดทับได้มากที่สุด ก็คือ เรือนกาย จะมีความพยายามจัดการกับร่างกายของตัวเอง ถ้าเราสามารถเจาะลงไปในประเด็นส่วนที่เราเห็นชัดที่สุด เช่น ผม ใครคือคนที่มีผมหยิกฟูล่ะ ในยุคมิลเลนเนียมก็พากันไปยืดผมหมด หรือตอนนี้เราก็มีเครื่องหนีบผม เพราะผมเป็นภาพของชนชั้นต่ำกว่าไง ผมหยิกมันไปเกี่ยวโยงเกี่ยวพันกับความเป็นทาส แต่ตอนนี้มีผู้หญิงที่ไม่สยบยอมต่อความคิดที่ว่าอีกต่อไป จะไม่ยืดผมแล้ว ปล่อยผมฟูแอฟโฟร่มาประกวดนางงามเลย เพราะความงามแบบนี้ก็ควรได้รับการเชิดชู  

ในอดีตเมืองไทยนางแบบผิวสีไม่มีเลย มีแต่หมวยกับฝรั่ง ไม่ก็หน้าไทย แต่ปัจจุบันลูกครึ่งไทย-แอฟริกัน ปรากฏคนกลุ่มนี้มากขึ้น ต่อๆ ไปเทรนด์ก็จะเพิ่มมากขึ้น 

สำนวนไทยที่ว่า ‘สวยแต่รูปจูบไม่หอม’ มันเกี่ยวพันกับแนวคิดเรื่องเรือนกายอย่างไร

จูบไม่หอม มันคือการลิ้มลองนำไปสู่ความงามภายใน คุณค่าความงามในมิติของการเป็นวัฒนธรรมชั้นสูง มันต้องยึดโยงกับความเฉลียวฉลาดด้วย แต่ว่าในหลายๆ ครั้ง สติปัญญาที่ชนชั้นนำเขียนเอาไว้มันไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่ปรากฏออกมา ความงามที่เราพูดถึงมันถูกประกอบสร้างให้อยู่บนเรือนกาย แต่ความงามที่ชนชั้นนำบอกว่าผู้หญิงจะต้องสมาทานเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมในมิติของสิ่งที่สังคมคาดหวัง นั่นคือความประพฤติ

วิธีคิดเหล่านี้ก็คอยกดขี่ผู้หญิงเอาไว้ว่า กุลสตรีต้องอยู่ในบ้าน อยู่ให้เป็นศักดิ์เป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล ผู้หญิงที่ถูกตราหน้าว่า สวยแต่รูปจูบไม่หอม ก็จะเป็นผู้หญิงประเภทที่ดูก๋ากั่น ไม่เอางานบ้านงานเรือน ไม่ยอมนั่งพับเพียบ ไม่เอาการสั่งสอนมารยาทแบบผู้ดีมาใช้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้คือความคาดหวังที่สังคมมีต่อผู้หญิงมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก ยุควิคตอเรียนก็มีปรากฏ บ้านเราก็ส่งลูกหลานไปเรียน Finishing School (โรงเรียนสอนการบ้านการเรือน) 

ยกตัวอย่างนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน การสร้างคาแรคเตอร์ของแม่พลอย สิ่งเหล่านี้เป็นรูปแบบของผู้หญิงส่วนกลาง สังคมส่วนกลางคาดหวังว่าผู้หญิงต้องมีกิริยามารยาทที่ดีงดงาม แล้วเกิดอะไรขึ้นกับนางลำหับ ตัวละครในวรรณคดี นางกากีอีก ตัวนางกากีนี่เป็นผู้หญิงที่สวยมากๆ เลยนะ มีพญานาคกับพญาครุฑมาหลงรัก แย่งกัน สุดท้ายก็เป็นผู้หญิงแบบจูบไม่หอม เพราะไม่ตรงกับความคาดหวังของส่วนกลาง คุณจะตั้งชื่อลูกว่ากากีไหมล่ะ หรือตั้งชื่อลูกว่าวันทองไหม ทั้งๆ ที่พวกนี้สวยมากเลยนะ 

สรุปก็คือ ชนชั้นปกครองที่กำหนดความงามขึ้นมา เขาคาดหวังไปมากกว่าความงามแค่เรือนกาย แต่ต้องมีความเฉลียวฉลาด มีแบบแผนตามที่พวกเขาคาดหวัง ผมคิดว่าความคาดหวังมันไปไกลถึงเรื่องศีลธรรมจรรยาด้วยนะ พอความงามของเรือนกายกับความงามที่มีความเฉลียวฉลาด ศีลธรรมจรรยา มันไม่ไปด้วยกัน มันก็เกิดความผิดหวัง จนเป็นสำนวนที่ว่านั่นแหละ 

สำหรับอาจารย์แล้ว ผู้หญิงไทยในยุครัฐชาติในอดีตกับผู้หญิงในยุครัฐบาล คสช. มันเหมือนหรือต่างกันกี่มากน้อย 

ที่ผ่านมามีความพยายามทำให้ผู้หญิงเป็นแม่ที่ดีของลูก แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้ว คือความพยายามให้ผู้หญิงเป็นแม่ของรัฐชาติด้วยซ้ำ คุณก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ยุคจอมพล ป. มีการประกวดแม่แห่งชาติเสียด้วยซ้ำ เพื่อให้ผู้หญิงสมาทานแนวคิดของรัฐจารีต ถ้ามองตามอุดมการณ์ที่เคยมี ยุค คสช. เองก็ต้องการไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่ว่ามันมีตัวแปรที่ต่างออกไป คุณอยู่ในยุคที่มีสื่อ มีข้อมูลข่าวสาร คุณจะแสดงออกอย่างไรก็ได้ นอกเหนือจากการบังคับของรัฐบาล 

ผู้หญิงมีอำนาจกระทำการ มีเน็ตไอดอลมากมายที่ไม่จำเป็นต้องสยบยอมอุดมการณ์ในอดีต อีกทั้งพื้นที่ที่เกิดจากเครื่องมือสื่อสารและความทันสมัยในยุคนี้ มันทำให้ผู้หญิงไทยเห็นพื้นที่ที่อยู่นอกรัฐชาติแบบไทยๆ ออกไป เขาก็มีพื้นที่เป็นของตัวเอง

ในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้ติดตามอย่างใกล้ชิด ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า การตอบคำถามของนางงามเปลี่ยนไปตามอุดมการณ์ของรัฐอย่างไร 

มันเปลี่ยนแปลงและสะท้อนการตื่นตัวเรื่องความถูกต้องทางการเมือง อีกทั้งสะท้อนให้เห็นการเคลื่อนไหวที่ประชาคมโลกเคลื่อนไป แม้ว่าฝั่งประชาคมโลกเองก็มีฝั่งอนุรักษนิยมนะ แต่สิ่งที่ประชาคมโลกส่วนใหญ่ต้องการมันเคลื่อนมาถึงบ้านของเราแล้ว อีกทั้งยังถูกเล่าผ่านความคิดของผู้หญิง เรื่องเหล่านี้ต่อให้มันไม่ประสบความสำเร็จ แต่ยังมีกลุ่มคนที่ออกมาพูดในสภาวะที่บ้านเรามีความเป็นประชาธิปไตยน้อย กลุ่มคนที่เชื่อเรื่องเหล่านี้เองก็ยังมีพื้นที่ในโลกเสมือน ซึ่งคนกลุ่มนี้เขาก็อยากจะแสดงความคิดเห็นแบบคนโลกที่หนึ่งเขาทำกัน 

เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่อยากไปว่าผู้หญิงที่ไปตอบคำถามบนเวทีนางงามแล้วไม่ตรงใจคนหัวก้าวหน้า หรือสอดคล้องไปกับความคิดแบบคนโลกที่หนึ่ง แต่ผมมองว่า เพราะการตอบคำถามที่มันล้มเหลวนี่แหละ ที่ทำให้เกิดการพูดคุยเป็นวงกว้าง มันเกิดกระบวนทัศน์ในการรับรู้ (paradiam of learning) ในเวลาที่เราอยู่ในยุคที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

คำถามสุดท้ายคือ ใครเป็นคนเสพความงาม?

มวลชนครับ มนุษย์ทุกคนเสพความงาม ระหว่างความทุกข์ระทมกับความพึงพอใจ คนจะเลือกอะไรล่ะ คุณคิดว่าการหลับที่ดี เป็นความงามไหม อย่างน้อยๆ คนที่ไม่สามารถมีเวลาในการเสพสุนทรียะ แต่พวกเขาก็ต้องมีเวลานอน สำหรับผมแล้ว เวลานอนมันเป็นความงามรูปแบบหนึ่ง การได้พักผ่อนตื่นขึ้นมาในยามรุ่งอรุณ

สำหรับความงามในมิติของเพศ ผมคิดว่าอย่างน้อยๆ ทุกคนก่อนออกจากบ้าน คุณทำสิ่งหนึ่งแล้ว คุณทำ ‘body project’ คุณส่องกระจก คุณแต่งตัว แต่งหน้าทาปาก เราทำสิ่งต่างๆ เหมือนพิธีกรรม และเราก็รู้ว่าสิ่งที่เราทำมันตอบสนองกับอะไร มันเป็นทั้งทุนเรือนกายและทุนวัฒนธรรมของเรา เราเสพแฟชั่นแบบเดียวกัน เราสมาทานแนวคิดฮิปปี้เหมือนกันว่ะ ฯลฯ แม้กระทั่งวันที่เรายุ่งที่สุด เราต้องอาบน้ำแปรงฟันนะ มันก็คือก้าวหนึ่งในการไปสู่ความงาม 

ไม่มีใครทุกข์ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีเวลาว่างหรือไม่มี คนเราจะไม่มีใครแสวงหาความงามกันเลยเหรอ ไม่ว่าคุณจะมีทุนหรือไม่มีทุน จะเป็นชนชาติใดก็ตาม มันเป็นเรื่องพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ของเรา สำหรับผมความงามเป็นเรื่องของทุกคนครับ

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า