‘รักษาความลับ’ วัฒนธรรมองค์กรที่สร้างโดย Steve Jobs เป็นพิษ และปิดปากพนักงาน #AppleToo เมื่อพนักงาน Apple ไม่ทน

Apple เป็นหนึ่งในบริษัทที่ตั้งอยู่ใน Silicon Valley หรือที่เรียกกันว่า หุบเขาซิลิคอน ศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีไฮเทค (high technology) และนวัตกรรม (innovation) ของโลก 

ที่ผ่านมา เป็นที่รู้กันดีว่า Apple มีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการรักษาความลับเป็นอย่างมาก พนักงานทุกคนต้องอยู่ในการควบคุมของฝ่ายบริหาร แต่ไม่กี่ปีมานี้ Apple กลับกำลังเผชิญหน้ากับเรื่องที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน นั่นคือ ปัญหาความไม่สงบของพนักงาน

เดือนสิงหาคม 2021 พนักงานทั้งปัจจุบันและอดีตของ Apple กว่า 500 คน ได้ยื่นร้องทุกข์เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงทางวาจา การล่วงละเมิดทางเพศ การแก้แค้น และการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ให้กับกลุ่ม AppleToo ซึ่งเป็นการรวมตัวของพนักงานที่ออกมาเคลื่อนไหว (an employee-activist group) โดยมี Cher Scarlett และ Janneke Parrish เป็นแกนนำ 

ในเดือนเดียวกันนั้นเอง ทางกลุ่มก็ได้เริ่มโพสต์เรื่องราวของพนักงานที่ไม่ระบุชื่อผ่านโลกออนไลน์ พร้อมกับสนับสนุนให้เพื่อนร่วมงานที่ได้รับความเสียหาย ร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานของสหรัฐ เช่นเดียวกับพนักงานปัจจุบัน และอดีตพนักงานของ Apple 8 คน ที่เปิดเผยกับ The Times ถึงสารพัดปัญหาที่พวกเขาเจอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพการทำงาน ค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียม และการดำเนินธุรกิจของบริษัท

ซึ่งทั้ง 8 คนกล่าวว่า ปัญหาหลัก คือการเก็บความลับของ Apple ที่สร้างวัฒนธรรมที่ไม่ส่งเสริมให้พนักงานพูดถึงเรื่องราวในที่ทำงาน โดยการพูดถึงในที่นี้ไม่ใช่การพูดถึงเพื่อนร่วมงาน การบีบคั้น หรือประเด็นสังคมต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย ทว่าเป็นการพูดถึงปัญหาของผู้บริหาร ปัญหาเพื่อนร่วมงานซึ่งมักถูกไล่ออก รวมไปถึงการที่พนักงานกลัวที่จะวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินธุรกิจของบริษัท

“Apple มีวัฒนธรรมการเก็บความลับ ซึ่งนั่นเป็นพิษมาก

“ฉันเข้าใจว่าดีว่า ด้านหนึ่งการเก็บความลับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันมีผลต่อความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และเพื่อสร้างความประหลาดใจและความพึงพอใจให้กับลูกค้า แต่วัฒนธรรมดังกล่าวก็มีผลไปสู่ด้านอื่นๆ ด้วย อย่างการทำให้เป็นเรื่องต้องห้าม และการรักษาความลับเพื่อจะได้ไม่สร้างความเสียหายให้กับบริษัท” Christine Dehus ผู้ทำงานกับ Apple มาเป็นเวลา 5 ปี และออกจากบริษัทเมื่อเดือนสิงหาคม กล่าว 

ทั้งนี้ วันศุกร์ ที่ 17 กันยายน 2021 Tim Cook ประธานฝ่ายบริหาร Apple ได้ตอบคำถามพนักงานในการประชุมใหญ่ที่มีพนักงานทั้งหมดของบริษัทเข้าร่วมเป็นครั้งแรก หลังจากมีการร้องทุกข์ถึงปัญหาที่พนักงานได้เจอมาก่อนหน้านี้ รวมถึงความกังวลของพนักงานเกี่ยวกับประเด็นสังคมต่างๆ เช่น การจ่ายเงินที่เป็นธรรม หรือแม้แต่การเรียกร้องให้บริษัทมีจุดยืนทางการเมืองที่มากขึ้น อย่างกรณีการบังคับใช้กฎหมายห้ามทำแท้งของรัฐเท็กซัส เป็นต้น

ซึ่งจากการประชุมดังกล่าวที่เผยแพร่และออกอากาศไปให้พนักงานทั่วโลกได้ดูไปพร้อมกัน Cook ตอบคำถามเพียง 2 ข้อเท่านั้น จากคำถามจำนวนไม่น้อยที่ทางแกนนำกลุ่มพนักงานได้ตั้งคำถามเอาไว้ โดยคำตอบของเขาเป็นที่รับรู้อย่างทั่วกันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน และปัญหาจุดยืนประเด็นทางสังคมต่างๆ เป็นเรื่องที่มีมานานแล้วในบริษัท Apple 

Cook และ Deirdre O’Brien หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Apple ได้ตอบคำถามแรกเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างว่า Apple มีการพินิจพิเคราะห์ถึงแนวทางการให้ค่าตอบแทนมาโดยตลอด เพื่อให้แน่ใจว่าการจ่ายเงินให้กับพนักงานนั้นเป็นธรรม

“เมื่อใดก็ตามที่เราพบช่องว่าง ซึ่งต้องยอมรับว่าบางครั้งก็มี แต่เราก็จะปิดช่องว่างนั้นโดยทันที” O’Brien กล่าว

ส่วนอีกคำถามในประเด็นกฎหมายทำแท้งของรัฐเท็กซัสว่า Apple กำลังดำเนินการอะไรเพื่อปกป้องพนักงานของตนจากกฎหมายดังกล่าวบ้าง Cook ตอบว่า บริษัทกำลังตรวจสอบว่าจะสามารถช่วยต่อสู้ทางกฎหมายต่อกฎหมายฉบับใหม่นี้ได้หรือไม่ และประกันสุขภาพของบริษัทจะช่วยจ่ายเงินให้กับพนักงาน Apple ในเท็กซัสได้หรือเปล่า หากพวกเขาจำเป็นต้องเดินทางไปยังรัฐอื่นเพื่อทำแท้ง

คำตอบดังกล่าวของ Cook ได้รับการตอบรับอย่างหลากหลายจากพนักงานผ่าน Slack แพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับสื่อสารภายในองค์กร โดย Janeke Parrish กล่าวว่า ขณะที่พนักงานคนอื่นๆ เชียร์ Cook แต่สำหรับพนักงานบางส่วน รวมถึงเธอด้วยกลับรู้สึกผิดหวังในคำตอบนั้น

Parrish กล่าวว่า เธอได้ตั้งคำถามถึงขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมกับบริษัทว่า จะมีการดำเนินการอย่างไร ที่ทำให้แน่ใจว่าช่องโหว่การจ่ายเงินพนักงานนั้นจะได้รับการแก้ไข รวมถึงคำถามที่ว่า ผู้หญิงและคนผิวสีจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นหัวหน้ามากขึ้นหรือไม่ ซึ่งเธอกล่าวว่า “เราไม่ได้ยินว่า Tim ตอบคำถามในเรื่องเหล่านี้เลย” 

แม้ว่าการเผยแพร่ข่าวเรื่องปัญหาในที่ทำงานของ Apple จะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่ติดตาม Apple มานาน แต่สำหรับกลุ่ม AppleToo นี่เป็นแค่เรื่องธรรมดาที่เกิดใน Silicon Valley เท่านั้น

กล่าวคือ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว พนักงาน Google ทั่วโลกร่วมกันเดินออกจากสำนักงานเพื่อประท้วงนโยบายการล่วงละเมิดทางเพศ และปีที่แล้ว พนักงาน Facebook ร่วมกันประท้วงบริษัทเรื่องการจัดการโพสต์ของอดีตประธานาธิบดี Donald J. Trump รวมถึงบางบริษัท เช่น Coinbase ที่มีการสั่งห้ามอย่างเด็ดขาดถึงการสนทนาในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน

แต่สำหรับ Apple เรื่องอื้อฉาวและการเรียกร้องต่างๆ ของพนักงานที่เพิ่งปรากฏให้เห็นเมื่อไม่นานมานี้ เป็นเพราะการรักษาความลับของ Apple ที่ถือเป็นคุณสมบัติที่ Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้งที่ล่วงลับไปแล้วผลักดันให้มีมาอยู่เสมอ เพราะเขามักวิตกถึงการป้องกันการรั่วไหลของผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของ Apple เพื่อที่เมื่อเขาเปิดเผยผลิตภัณฑ์นั้นๆ บนเวที จะได้สร้างความประหลาดใจให้แก่สาธารณชนอย่างถึงที่สุด จนเมื่อเวลาผ่านไป วัฒนธรรมองค์กรดังกล่าวได้แผ่ขยายไปสู่สถานที่ทำงานอื่นๆ อย่างกว้างขาง

“ฉันไม่เคยเจอคนที่กลัวการต่อสู้กับนายจ้างมาก่อนเลย” Scarlett วิศวกรซอฟต์แวร์ของ Apple ที่เริ่มงานในเดือนเมษายน และเคยทำงานในบริษัทอื่นมาแล้ว 8 แห่ง กล่าว ในขณะที่โฆษกของ Apple ได้ชี้แจงถึงนโยบายของบริษัทที่กล่าวว่า พนักงานสามารถพูดเกี่ยวกับค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน หรือสภาพการทำงานของพวกเขาได้อย่างอิสระ

ทั้งพนักงานปัจจุบันและอดีตหลายคนของ Apple บอกกับ The Times ว่า พนักงาน Apple เพิ่งจะได้ติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นก็ในปี 2019 หลังจากที่ Apple ใช้ Slack เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดระบบระเบียบพนักงาน โดยเมื่อก่อน Apple มีวัฒนธรรมการแบ่งทีมพนักงานออกจากกัน เนื่องด้วยผลจากความต้องการในการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล ทำให้พนักงานไม่มีพื้นที่ติดต่อสื่อสารกันอย่างกว้างขวางภายในองค์กร 

เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 พนักงานได้รับคำสั่งให้ทำงานจากที่บ้าน Slack จึงได้รับความนิยมเป็นพิเศษ โดย Parrish กล่าวว่า “สำหรับพวกเราหลายคน นี่เป็นโอกาสแรกในการมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานคนอื่นๆ นอกทีม โดยก่อนหน้านี้พวกเราไม่เคยรู้เลยว่า มีใครบ้างกำลังประสบปัญหาอยู่” 

การร้องทุกข์ดูเหมือนจะสร้างผลกระทบในทางที่ดี เห็นได้จากปีนี้ที่ Apple จ้าง Antonio García Martínez ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการของ Facebook ปรากฏว่าพนักงานกว่า 2,000 คน ก็ได้ลงชื่อในจดหมายคัดค้านถึงบอร์ดบริหาร เพราะ Antonio เคยเขียนหนังสือที่ “เหยียดเชื้อชาติและเหยียดเพศอย่างโจ่งแจ้งเกินไป” (overtly racist and sexist remarks) จากหนังสือที่เขาเขียน และหลังจากนั้นไม่กี่วัน Apple ก็ไล่เขาออก 

นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พนักงานกว่า 100 คน ได้ลงชื่อในหนังสือเรียกร้องให้ Apple สนับสนุนชาวปาเลสไตน์อย่างเปิดเผย ระหว่างเหตุการณ์ความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอล และยังมีพนักงาน 7,500 คน ลงชื่อเพื่อขอให้ Apple ยืดหยุ่นกับการทำงานทางไกลเมื่อสถานการณ์โรคระบาดสิ้นสุด 

แต่ใช่ว่าจะมีเพียงการเคลื่อนไหวของกลุ่มพนักงานเท่านั้น บริษัท Apple เองก็กำลังต่อสู้กับพนักงานบางคนที่ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรกระจายออกสู่สาธารณะเช่นกัน แต่ทั้งนี้บางกรณี Apple ก็ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น

ตัวอย่างกรณีของ Ashley Gjovik อดีตผู้จัดการโครงการวิศวกรรมของ Apple ที่ทำงานมาเป็นเวลา 6 ปี ร้องทุกข์กับ Apple มาหลายเดือนว่า มีการทดสอบสารเคมีที่เป็นพิษอย่างไม่ดีพอหรือไม่ตรงตามมาตรฐานภายในสำนักงาน รวมถึงเรื่องที่เธอถูกผู้จัดการเหยียดเพศด้วย 

Ashley Gjovik

ซึ่งภายหลังการยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อสาธารณะในปีนี้ Gjovik ก็ถูกพักงาน และถูกไล่ออก โดย Apple ให้เหตุผลในการไล่ออกว่า เธอทำข้อมูลสินค้ารั่วไหล และไม่ให้ความร่วมมือกับการสืบสวน จนท้ายที่สุดเธอต้องยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ (the National Labor Relations Board) สำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ (the Occupational Safety and Health Administration) คณะกรรมการโอกาสการจ้างงานที่เท่าเทียมกัน (the Equal Employment Opportunity Commission) และกระทรวงยุติธรรม (the Justice Department) 

ต่อมากรณีของ Dehus ผู้เคยทำงานกับ Apple เรื่องการลดผลกระทบจากการขุดแร่ที่มีค่า เช่น เหล็ก ทอง และดีบุก เพื่อนำมาเป็นชิ้นส่วนประกอบอุปกรณ์เทคโนโลยีไฮเทคต่างๆ ในเขตความขัดแย้ง (conflict zones) โดย Dehus กล่าวว่า เธอต้องออกจาก Apple หลังจากใช้เวลาหลายปีในการต่อสู้กับกรณีที่ Apple ยื่นตำแหน่งงานอื่นให้เธอต้องทำงานมากขึ้นแต่ได้รับค่าจ้างน้อยลง 

การมอบหมายงานใหม่ให้เธอนี้ เป็นผลมาจากการที่เธอร้องเรียนกับบริษัทว่า งานของบริษัทที่เธอทำอยู่นั้น เธอไม่รู้สึกว่า เป็นสิ่งที่จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้ ทว่าบางกรณี อาจยิ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญในบางประเทศที่มีสงคราม (War-torn Countries) ก็เป็นได้ 

ตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่การขุดแร่ต่างๆ ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ ชาวคองโกที่มีพื้นฐานยากจนถูกขู่เข็ญ และถูกใช้ความรุนแรง เพื่อมาเป็นแรงงานในเหมืองแร่โคบอลต์ รวมถึงเด็กและเยาวชนราว 40,000 คน ที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เพราะมีฐานะยากจน กระทั่งต้องมาทำงานในเหมืองแร่เพื่อนำเงินมาเลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัว

photo: Image Journeys Sasha Lezhnev

นอกจากนี้ยังมีกรณีของ Richard Dahan ซึ่งเป็นผู้พิการทางการได้ยิน เปิดเผยว่าเขาทำงานอย่างยากลำบากที่ Apple Store ในแมรีแลนด์ เนื่องจากผู้จัดการไม่จัดหาล่ามภาษามือให้เขาทั้งที่มีกฎหมายกำหนดไว้ เขาต้องสื่อสารกับลูกค้าด้วยการพิมพ์บน iPad และลูกค้าบางคนปฏิเสธที่จะสื่อสารกับเขา ซึ่งผู้จัดการบอกว่านั่นเป็นสิทธิของลูกค้า 

สุดท้ายเขาก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานเป็นล่ามแทน แต่เมื่อถึงเวลานั้น เขาบอกว่า ผู้บริหารระดับสูงมองเขาเป็นเพียงคนที่มักออกมาร้องเรียน และปฏิเสธที่จะเลื่อนตำแหน่งให้เขา

“วัฒนธรรมที่ว่า ‘Drink our Kool-Aid’ ทำอะไรในสิ่งที่เราบอกให้คุณทำ เดี๋ยวเราก็จะช่วยคุณเอง แต่เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มตั้งคำถามหรือส่งเสียง เมื่อนั้นแหละ พวกเขาก็จะไม่ไยดีคุณเลย” Dahan กล่าว

ที่มา

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า