เสียงกรอบแกรบของใบไม้แห้งที่ปกคลุมพื้นดินและเสียดสีกับฝีเท้าของผู้มาใหม่ดังขึ้นเป็นระยะ ตลอดการเดินเท้าจากเชิงเขาสู่ยอดเขาและสันเขากว่า 500 เมตร ผ่านป่าหิน ป่าเต็งรัง ณ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งนำโดย ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช หัวหน้าคณะวิจัยโครงการ ‘โบราณคดีชาติพันธุ์ก่อนไท (ย) ในแม่ฮ่องสอน’ ก่อนจะเจอปากถ้ำที่เป็นหมุดหมายของการเดินทางครั้งนี้ นั่นคือแหล่งโบราณคดี ‘ถ้ำผีแมนโลงลงรัก’
การขุดค้นถ้ำผีแมนโลงลงรักของคณะวิจัย ใช้ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2556-2559) กระทั่งปัจจุบันคณะวิจัยยังคงทำการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบจากถ้ำแห่งนี้ รวมถึงรักษาสิ่งที่อาจารย์รัศมีบอกเสมอว่า “โบราณคดีเป็นวิทยาศาสตร์ ใช้หลักเหตุและผล แต่เวลาไปปฏิบัติงานจริงก็ต้องเคารพชุมชนด้วย” ดังเห็นได้จากเมื่อไปถึงปากถ้ำ คณะวิจัยและผู้ร่วมเดินทางได้ทำพิธีขออนุญาตผีตามความเชื่อของชาวไทใหญ่ ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าของสถานที่ ก่อนเข้าไปในบริเวณถ้ำที่มีการขุดค้น
หลักฐานจาก ‘โลงไม้’ สู่ข้อสันนิษฐานและความท้าทายใหม่
จากปากถ้ำมีบันไดไม้ไผ่สูงราว 15 เมตร เป็นทางสำหรับเดินลงไปคูหาถ้ำที่ยังมีแสงสว่างจากปากถ้ำส่องถึง ทว่าการเดินทางไม่ได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ แต่ยังต้องใช้เชือกโรยตัวลงไปอีกชั้น จากนั้นต้องมุดและคลานเข้าคูหา A1 ที่พบหลักฐานค่อนข้างสมบูรณ์ หนึ่งในนั้นคือชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์บรรจุในโลงไม้ที่ปิดฝาสนิท
“เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีจากการทำงานของอาจารย์รัศมีที่พบว่ามีกระดูกคนอยู่ในโลง ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า โลงลักษณะนี้เป็นโลงศพจริงๆ”
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์ หนึ่งในคณะวิจัย เป็นผู้อธิบายถึงสิ่งที่ค้นพบ เนื่องจากหลักฐานชิ้นนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่พบกระดูกคนในโลงไม้ที่ปิดสนิทโดยไม่ถูกรบกวน และยังยืนยันข้อสันนิษฐานว่า โลงไม้มีไว้สำหรับการปลงศพ โดยบริเวณคูหา A1 พบโลงศพจำนวน 39 ฝา หรือราว 19 โลง ภายในโลงไม้มีกระดูกของหลายคน เช่น บางโลงมี 12 คน บางโลงมี 18 คน แต่ละโลงประกอบไปด้วยโครงกระดูกของเพศชาย เพศหญิง ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงอายุ 25 ปี อีกทั้งยังมีรูปแบบการแกะสลักหัวโลงแตกต่างกัน 9 แบบ เสมือนสัญลักษณ์บ่งบอกตระกูล ครอบครัว และเครือญาติของคนในยุคสมัยนั้น
“การใช้กกหูในการตรวจดีเอ็นเอ ทำให้สามารถทราบละเอียดได้มากขึ้นว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย จากที่ไม่เคยตรวจสอบได้เลย ก็เพิ่งมาตรวจสอบได้ในช่วง 5 ปีหลังมานี้เอง”
นอกจากคำอธิบายของชนม์ชนกแล้ว ยังมีผลการศึกษาของ รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ ในงานพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยากับการศึกษาดีเอ็นเอคนโบราณในปางมะผ้า ผ่านการตรวจหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยวิธีการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งดีเอ็นเอจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เรียกได้ว่าเกือบจะสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และช่วยยืนยันได้ว่ากระดูกมนุษย์ที่พบในถ้ำผีแมนมีความเกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรม
“ค่าดีเอ็นเอที่ได้จากการส่งตรวจพบว่า โครงกระดูกเป็นของผู้หญิง และสัมพันธ์กับอีกโครงกระดูกในโลงที่เป็นผู้ชาย โดยมีลักษณะเหมือนเป็นเครือญาติกัน”
การศึกษาดีเอ็นเอโบราณครั้งนี้มีเป้าหมาย 3 ประการ ดังนี้
- ต้องการทราบว่าแต่ละโครงสร้างของดีเอ็นเอโบราณมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นเครือญาติกันหรือไม่ และเป็นเพศใด โดยการแยกเพศจากโครโมโซม X และ Y
- ต้องการเปรียบเทียบดีเอ็นเอโบราณในแหล่งโบราณคดีปางมะผ้ากับแหล่งโบราณคดีอื่น เช่น บ้านเชียง จีนตอนใต้ และจีนตอนเหนือ
- ต้องการวิเคราะห์และเปรียบเทียบดีเอ็นเอมนุษย์โบราณกับดีเอ็นเอมนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งดีเอ็นเอของคนปัจจุบันจะเป็นการเก็บตัวอย่างจากกลุ่มชาติพันธุ์ ยกเว้นคนในภาคกลางและภาคใต้
“จริงๆ เริ่มมีการศึกษาในปี 2561 แต่ผลการศึกษาครั้งนั้นมีข้อจำกัดเนื่องจากคณะวิจัยมีดีเอ็นเอของคนปัจจุบันค่อนข้างจำกัด และดีเอ็นเอโบราณในตอนนั้นยังไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใดกันแน่ แต่ยืนยันได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก”
ออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) เป็นหนึ่งในระบบตระกูลภาษาที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การใช้ภาษาตระกูลนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ทางใต้ของภาคพื้นทวีปเอเชีย อีกทั้งยังสามารถแยกกลุ่มย่อยของระบบภาษาภายในตระกูลเดียวกัน อาทิ ภาษามอญ ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม เป็นต้น ทว่าในปัจจุบันที่เห็นว่าภาษามีความแตกต่างกัน เป็นผลมาจากประวัติศาสตร์และสังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมภายใต้เงื่อนไขและบริบทที่เผชิญ อย่างภาษาเวียดนามที่มีเสียงสูงต่ำมากเมื่อเทียบกับภาษามอญและภาษาเขมร เพราะเวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองและรับอิทธิพลของจีนมาราว 2,000 ปี
แม้การดำเนินงานในช่วงแรกอาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จ ทว่าต่อมาคณะวิจัยได้นำฟันและกระดูกกกหูที่พบไปตรวจสอบดีเอ็นเอใหม่อีกครั้งที่เยอรมนี เพราะกระดูกสองส่วนนี้สามารถพบดีเอ็นเอได้ชัดที่สุดในร่างกาย และจากการตรวจสอบพบสัดส่วนพันธุกรรมจากเอเชียทางตอนเหนือประมาณร้อยละ 50 ก่อให้เกิดเป็นคำถามต่อไปว่า แท้จริงแล้วคนจากเอเชียตอนเหนือมาอยู่ที่ปางมะผ้าตั้งแต่เมื่อไร
ขณะที่การเปรียบเทียบดีเอ็นเอมนุษย์โบราณกับดีเอ็นเอมนุษย์ปัจจุบันยังไม่พบความเกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรม เนื่องจากยังไม่สามารถระบุชาติพันธุ์จากดีเอ็นเอของกระดูกมนุษย์ที่อยู่ในโลงไม้ได้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในอนาคตที่จะต้องพิสูจน์หลักฐานทางชาติพันธุ์ต่อไป
แกะรอยสุสานครอบครัว เรียนรู้วัฒนธรรมการปลงศพ
การขุดค้นถ้ำผีแมนโลงลงรักครั้งนี้ ไม่เพียงพบโลงไม้ที่ปิดสนิท และไม่ถูกรบกวนจากปัจจัยภายนอก แต่ยังพบกระดูกมนุษย์ที่ฝังอยู่ในลักษณะตามกายวิภาค จำนวน 1 โครง ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้รู้ว่า วัฒนธรรมการปลงศพจะมีการฝังศพ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการฝังศพทั้งร่างเมื่อเสียชีวิต เมื่อฝังไว้ระยะเวลาหนึ่งและร่างกายถูกย่อยสลายเหลือเพียงกระดูก จากนั้นจะมีการคัดเลือกชิ้นส่วนกระดูกเพื่อทำพิธีกรรมก่อนนำไปฝังครั้งที่ 2
การฝังศพครั้งที่ 2 มีทั้งการฝังในโลง การวางกระดูกบนพื้นดิน และการฝังไว้ใต้ดิน โดยรูปแบบการฝังในโลงไม้ 1 โลง จะใช้สำหรับ 1 ตระกูล กล่าวคือ เมื่อมีคนในครอบครัวเสียชีวิตเพิ่ม ก็จะนำชิ้นส่วนกระดูกมาฝังรวมกับกระดูกของคนในครอบครัว โดยคณะวิจัยยืนยันได้จากลักษณะโลงที่สามารถงัดฝาโลงเปิดออกได้เพื่อใส่กระดูกเพิ่มเข้าไป ประกอบกับการนำกระดูกบางชิ้นไปตรวจดีเอ็นเอ ทำให้ทราบอายุของกระดูกมนุษย์ และภายใน 1 โลง ยังประกอบด้วยคนหลายช่วงอายุ
“พวกเขามี 154 คน ล้วนเป็นเครือญาติกันทั้งหมด เรียกได้ว่าที่แห่งนี้คือสุสาน ไม่ใช่สุสานเหมือนในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงที่เป็นสุสานที่มองไม่เห็น แต่สถานที่แห่งนี้ถูกล้อมรอบไปด้วยพวกเขาโดยทั้งสิ้น” ศ.ดร.รัศมี กล่าว
สิ่งสำคัญที่อาจารย์รัศมีชวนพินิจเพิ่มเติมในคูหา A1 คือ ในถ้ำนี้ยังมีหลืบเล็กๆ ที่ต้องคลานเข้าไป ซึ่งพบหลักฐานจากการตรวจอายุด้วยวิธีคาร์บอน-14 ทำให้รู้ว่ามีคนเข้ามาใช้พื้นที่ในสุสานกว่า 424 ปี โดยในช่วง 2,000 ปี ยังมีคนอยู่ในถ้ำ เพราะมีการนำศพมาฝังไว้ก่อน หลังจากนั้นช่วง 1,900-1,800 ปี ก็มีการนำศพมาฝังต่อในบริเวณคูหา A1 กระทั่งเข้าสู่ช่วง 1,700 ปี จึงได้ขยายการฝังศพไปอีกคูหาหนึ่ง
จากการตรวจสอบอายุของโลงไม้ คณะวิจัยพบว่า โลงไม้ขนาดเล็กมีอายุมาก ส่วนโลงไม้ขนาดใหญ่มีอายุน้อยลงมา ประกอบกับเมื่อทราบอายุของโครงกระดูก จึงเข้าใจได้ว่าโลงไม้มีการใช้ซ้ำ โดยแต่ละครอบครัวจะฝังชิ้นส่วนกระดูกไว้กับครอบครัวของตนเองที่ถูกฝังก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ภายในโลงไม้ยังพบของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ภาชนะดินเผา ภาชนะไม้ ไม้ทอผ้าที่ทำจากไม้สัก ลูกปัดแก้ว เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับสำริด กระดูกหมู และเมล็ดพืช ซึ่งเป็นเครื่องเซ่นที่ถูกบรรจุไว้ในโลงไม้ โดยภาชนะดินเผาหรือไม้ทอผ้าจะเป็นของที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ไม่ได้เป็นการทำขึ้นใหม่ ทั้งยังเป็นการแสดงถึงการใช้ภูมิปัญญาและวัสดุในท้องถิ่นอีกด้วย ขณะเดียวกัน ไม้ทอผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ก็เป็นหนึ่งสัญลักษณ์ที่แสดงเพศทางชีววิทยาของบุคคลนั้นๆ ที่ถูกฝัง และการค้นพบลูกปัดแก้ว หอยเบี้ย ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า พวกเขามีการติดต่อกับคนภายนอก เนื่องจากไม่พบว่ามีการทำลูกปัดแก้วในพื้นที่บริเวณนี้
หากมองในแง่รูปแบบของโลงไม้ รศ.ดร.นาฏสุดา ภูมิจำนงค์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นหนึ่งในคณะวิจัยของโครงการนี้ อธิบายว่า โลงไม้ที่พบในถ้ำผีแมนโลงลงรักทำมาจากไม้สักทั้งหมด จากเส้นวงปีของไม้มีอายุประมาณ 200 ปี เนื่องจากบริเวณถ้ำลอดมีความอุดมสมบูรณ์ของไม้สัก โดยจะมีการสร้างโลงจากข้างนอกถ้ำ ทำให้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายมากนัก รวมถึงไม้สักยังมีคุณสมบัติพิเศษคือ เสี้ยนตรง หากผ่าลำต้นออกเป็นแนวดิ่ง จะสามารถแบ่งออกมาเป็นสองซีกได้ จึงง่ายต่อการทำตัวโลง
อย่างไรก็ดี การจะทำโลงต้องมีการกานไม้เตรียมไว้ก่อน โดยใช้จอบควั่นเปลือกไม้รอบลำต้นให้เป็นร่องลึก เพื่อให้ต้นไม้ยืนต้นตาย ทำให้ไม้แห้งและมีน้ำหนักเบา ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี กว่าที่ต้นไม้จะยืนต้นตายและทำโลงไม้ขึ้นมาได้ อีกทั้งการทำโลงไม้ 1 โลง ต้องใช้ไม้สัก 2 ต้น คือ สำหรับทำเป็นโลงไม้ใส่กระดูกครอบครัว 1 ต้น และอีก 1 ต้น สำหรับเป็นตัวล็อกเมื่อโลงไม้นั้นไม่มีการใส่กระดูกเพิ่มแล้ว ซึ่งคณะวิจัยสันนิษฐานว่า กรณีโลงไม้ที่มีขนาดใหญ่อาจเป็นการจับจองไม้สักของครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ เพราะกระบวนการปลงศพต้องใช้เวลา มิใช่รอให้มีคนเสียชีวิตก่อนแล้วจึงจะมาตัดต้นไม้
ก่อนวางโลงจะมีการปักเสากั้น เพื่อป้องกันการลบหลู่ร่างของผู้ที่เคยอยู่ในพื้นที่นี้ สะท้อนว่าถ้ำผีแมนโลงลงรักมีการใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสุสานโดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากถ้ำหรือแหล่งโบราณคดีอื่นที่มีการใช้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งการใช้ในการตั้งถิ่นฐานและใช้เป็นสุสาน
ขณะเดียวกันโลงไม้ที่พบยังมีการลงรัก หมายถึงการใช้ยางรักทาเคลือบผิวไม้ เพื่อรักษาสภาพและเพิ่มความคงทนของโลงไม้ หรือบางโลงจะมีการวาดตกแต่งภายนอกเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้วยยางรัก ซึ่งยางรักถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศในเอเชียตะออกเฉียงใต้ รวมถึงญี่ปุ่นและจีน เมื่อคณะวิจัยศึกษานำมาเปรียบเทียบกับการลงรักของกลุ่มชาติพันธุ์ในปัจจุบัน พบว่า งานช่างลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับฝีมือช่างของ ‘ชาวไทใหญ่’ ในปางมะผ้า และ ‘ชาวไทเขิน’ ในจังหวัดเชียงใหม่ อันสะท้อนถึงภูมิปัญญาที่ตกทอดมา
สุสานแห่งนี้มีความหมายมากกว่าสถานที่ฝังศพ
“เขามีการคัดเลือกพื้นที่ที่จะนำโลงศพเข้าไปทำเป็นสุสาน คือไม่ใช่ว่าจะวางตรงไหนในถ้ำก็ได้”
วอกัญญา ณ หนองคาย นักโบราณคดี อธิบายถึงการเลือกที่ตั้งของโลงไม้ โดยเฉพาะโลงไม้ในคูหา A1 จะพบว่าบริเวณนั้นเป็นส่วนของถ้ำตาย คือเป็นถ้ำที่แห้ง ไม่ค่อยมีน้ำ และไม่เกิดหินงอกหินย้อยแล้ว โดยอุณหภูมิจะอยู่ที่ 22-23 องศาเซลเซียส ส่วนความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 69-70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ด้านนอกความชื้นสัมพัทธ์จะอยู่ที่ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ และหากเป็นบริเวณที่ยังมีการเกิดหินงอกหินย้อยอยู่ก็จะไม่มีการนำโลงไปวางไว้
อีกด้านหนึ่ง ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา อธิบายเพิ่มเติมถึงหลักการที่สำคัญของการเลือกพื้นที่ทำสุสาน คือ ความชื้นต้องต่ำที่สุด ส่วนอุณหภูมิไม่จำเป็นต้องสูงมากหรือต่ำมาก แต่จำเป็นต้องมีอุณหภูมิคงที่ ด้วยเหตุนี้ การจำกัดจำนวนคนที่จะเข้าไปศึกษาแหล่งโบราณคดีในบริเวณคูหา A1 จึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะคนที่เข้าไปภายในถ้ำจะมีความร้อนแผ่ออกจากตัว รวมถึงการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านลมหายใจ ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายในถ้ำ
แน่นอนว่านอกจากข้อจำกัดเรื่องจำนวนคนแล้ว ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า เมื่อคนยังเข้าไปได้อย่างยากลำบาก ทั้งต้องมุด คลาน และระวังหินงอกหินย้อยระหว่างทาง แล้ว ในอดีตผู้คนนำโลงไม้เข้าไปได้อย่างไร
คณะวิจัยสันนิษฐานว่า ผนังถ้ำเดิมอาจเกิดการทรุดตัว ซึ่งเดิมสามารถเดินทางเข้าออกและเคลื่อนย้ายโลงไม้เข้ามาได้โดยสะดวก แต่เมื่อผนังถ้ำทรุดตัวลงทำให้ปิดเส้นทางการเข้าออก เหลือเพียงช่องทางเล็กๆ ที่ต้องใช้วิธีมุดหรือคลานผ่านได้คนต่อคนเท่านั้น
2 ทศวรรษของการขุดค้น กับคำตอบและคำถามที่ยังไม่สิ้นสุด
“นักโบราณคดีจะอยากรู้ไปเรื่อยๆ สมมุติเรารู้อันนี้แล้ว แต่คิดว่าน่าจะรู้มากกว่านี้อีก จึงต้องค้นหาคำตอบต่อไป”
หนึ่งในแง่มุมการทำงานโบราณคดีของวอกัญญา เมื่อถูกถามถึงโครงการโบราณคดีชาติพันธุ์ก่อนไท (ย) ในแม่ฮ่องสอน ว่าปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากการค้นพบหลักฐานสำคัญดังที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าโครงการวิจัยนี้มีความคืบหน้าอย่างมาก ทว่าความอยากรู้ย่อมไม่มีสิ้นสุด เมื่อมีอีกหลายสิ่งรอให้เหล่านักโบราณคดีไปค้นพบและทำการศึกษา
กระนั้น อย่างน้อยความคืบหน้าของการขุดค้นและศึกษาหลักฐานที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นโลงไม้ กระดูกมนุษย์ อุปกรณ์เครื่องใช้ หรือเครื่องประดับต่างๆ ก็มีส่วนช่วยตอบคำถามที่ค้างคาใจตลอดระยะเวลาการทำงาน 20 ปีที่ผ่านมาของอาจารย์รัศมี และข้อค้นพบใหม่ในครั้งนี้เป็นเสมือนจิ๊กซอว์ที่ช่วยปะติดปะต่อเรื่องราวในอดีต อีกทั้งเป็นเข็มทิศช่วยชี้หนทางต่อไปว่า นักโบราณคดีและนักวิจัยจะต้องมองหาอะไร หรือมีความท้าทายใหม่อะไรที่รอการไขให้กระจ่าง
นอกจากนี้ยังสามารถอธิบายความคิดความเชื่อของคนในพื้นที่ด้วยแง่มุมใหม่ อย่างความเชื่อของคนในพื้นที่ว่าผีแมนเป็นคนย้ายโลงไม้และสร้างสุสานในถ้ำ เพราะโลงศพมีขนาดยาว คนธรรมดาไม่น่าจะทำได้ แต่การศึกษาของคณะวิจัยสามารถให้คำตอบได้ว่า การเคลื่อนโลงศพขึ้นผา การสร้างสุสานในถ้ำ เป็นฝีมือของมนุษย์อย่างแน่นอน และหวังว่าในอนาคตความรู้นี้จะได้รับการบรรจุในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของโรงเรียนในพื้นที่
ท้ายที่สุด แม้การเดินทางในวันนี้จะเสร็จสิ้น แต่เป้าหมายของนักวิจัยยังคงดำเนินต่อไป คือ หนึ่ง การสร้างกระบวนการจัดการความรู้และกายภาพของแหล่งโบราณคดี สอง การสแกนถ้ำเพื่อจะสำรวจและเก็บเป็นหลักฐาน หากมีกรณีที่ต้องปิดถ้ำก็ยังสามารถนำสิ่งที่ค้นพบไปจัดแสดงได้ สาม การทำพิพิธภัณฑ์และการอนุรักษ์โลงไม้
“แม่ฮ่องสอน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมนุษย์สมัยใหม่ และมีวัฒนธรรมโลงไม้ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เพิ่งเข้ามา แต่คนไม่ค่อยรู้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีทรัพยากรภูมิหลังที่สำคัญ และยังเป็นเส้นทางมรดกโลก เนื่องจากที่นี่มีการเคลื่อนย้ายของประชากรโบราณหลายระลอก รวมถึงเป็นเส้นทางการอพยพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ทั้งจากทางตะวันตกและตะวันออก”
โครงการทัศนศึกษา ‘โบราณคดีที่แม่ฮ่องสอน: พบร่างร่วมบรรพชนแห่งสยามประเทศ’ และเสวนาวิชาการเรื่อง ‘แม่ฮ่องสอนโมเดล: ภูมิทัศน์พิเศษทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ’ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 18-20 มีนาคม 2565 ณ อำเภอเมือง และอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน