Are you there God? It’s me, Margaret ถึงมาร์กาเร็ต ขอบคุณจริงๆ

วัยเยาว์สู่วัยแรกรุ่น การตัดสินใจครั้งสำคัญ การเดินทางและการเติบโต คือเรื่องราวที่หนังเรื่องนี้กำลังจะบอก

Are you there God? It’s me, Margaret (2023) ภาพยนตร์จากผู้กำกับ เคลลี่ เฟรมอน เคร็ก (Kelly Fremon Craig) หรือที่ผู้เขียนขอเรียกว่า อ้อมกอดอุ่นที่โอบรับเราในรูปแบบของภาพยนตร์ หนังที่นำเสนอการเข้าสู่วัยแรกรุ่นได้อย่างจริงใจ ละมุนละไม ทำเอาอมยิ้มได้ตลอดทั้งเรื่อง (ทั้งยิ้มตามเสน่ห์ของบทภาพยนตร์ และยิ้มให้ตัวเองในอดีตที่หวนนึกถึง) 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือของ จูดี้ บลูม (Judy Blume) นักเขียนนวนิยายที่มักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องราวชวนถกเถียง (ในอดีตตลอดจนถึงปัจจุบัน) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศ ประจำเดือน หรือการคุมกำเนิด จนเรียกได้ว่าหนังสือหลายเล่มของเธอถึงกับโดนแบนในรั้วโรงเรียนที่สหรัฐช่วงทศวรรษ 1970 

เรื่องของเรื่องเริ่มต้นเมื่อคุณพ่อของมาร์กาเร็ตได้งานใหม่ในอีกเมือง เธอและครอบครัวต้องย้ายไปอยู่นิวเจอร์ซีย์ ในเวลานั้นมาร์กาเร็ตอายุเพียง 11 ปี เธอผูกพันกับนิวยอร์กมากกว่า การย้ายไปอีกเมืองจึงมีความหมายง่ายๆ ว่าเธอต้องลาจากเมืองที่เธอใช้ชีวิตมาตลอด 11 ปี เจรจากันครู่หนึ่ง มติก็เป็นเอกฉันท์ เธอเก็บกระเป๋าออกเดินทางกับครอบครัวเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในนิวเจอร์ซีย์ 

ที่นั่น…เธอเติบโต

ความสวยงามของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการแตะประเด็นที่น่ากระอักกระอ่วนใจได้อย่างอ่อนโยน ค่อยๆ พาเราไปทำความรู้จัก พาเราไปเข้าใจกับความต้องการของตัวละครเหล่านั้น จนมันยากมากที่เราจะรู้สึกเกลียดหรือโกรธพวกเขา กลับกัน มันยิ่งทำให้เราเข้าใจพวกเขามากขึ้น ตัวละครในเรื่องนี้อาจโลดแล่นอยู่แค่ในจอสี่เหลี่ยม แต่พวกเขาล้วนเหมือนใครสักคนที่เรารู้จัก พวกเขาทำให้เรานึกถึงใครสักคนที่เราเคยเจอหรือสนทนา พวกเขามีตัวตน พวกเขามีตัวตนจริงๆ

*บทความเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

Are you there God? It’s me, Margaret.

การขอพรต่อพระเจ้าจากเด็กวัย 11 ปี ที่เธอเองก็ไม่รู้ว่ามีจริงไหม มาร์กาเร็ต ไซมอน เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อนับถือศาสนายิว (ยูดาห์) แม่นับถือศาสนาคริสต์ หนังเรื่องนี้ให้โอกาสเราในฐานะคนดู ค่อยๆ เดินทางเสาะหาตัวตนไปกับเธอ ถ่ายทอดความต้องการของเด็กคนหนึ่งผ่านการพนมมือ ร้องขอต่อพระเจ้า 

และใช่ เธอไม่จำเป็นต้องเชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริง บางครั้งระหว่างการเปลี่ยนแปลง เราเพียงอยากได้ใครสักคนที่คอยอยู่เคียงข้าง รับฟังความต้องการที่แท้จริง แม้มันอาจจะดูน่าอาย หรือดูเล็กน้อยไปบ้าง การขอพรต่อพระเจ้าจึงเหมือนเครื่องมือแสดงความจริงใจที่ภาพยนตร์ตั้งใจใช้ ให้เราเข้าใจตัวละครมาร์กาเร็ตมากขึ้น เพราะหลายครั้งความเป็นเด็กก็เป็นกำแพงไม่ให้ใครบางคนเปิดใจรับฟัง 

จริงอยู่ที่ครอบครัวไซมอนไม่ได้ดูโหดร้าย กลับกัน มีคุณแม่แสนใจดีพร้อมจะโอบอุ้มลูกสาวของเธอ มีคุณพ่อที่มักจะสวมรอยยิ้มบนใบหน้าอยู่เสมอ แต่ถึงกระนั้น ภาพยนตร์ก็ยังเลือกให้มาร์กาเร็ตเดินทางด้วยตัวของเธอเอง ตัดสินใจด้วยตัวของเธอเอง ตัวละครทุกตัวไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้มาร์กาเร็ตเป็นแบบใดแบบหนึ่งเพราะพวกเขา เพียงแค่เป็นแรงกระตุ้นเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของตัวเองที่อยากจะเล่า ส่งเสริมกันแบบที่ไม่ได้ดูฝืนหรือประดิษฐ์ แต่ลงตัว และจริงใจ

“Margaret is nothing. She has no religion until she decides.” (มาร์กาเร็ตไม่นับถืออะไรทั้งนั้น จนกว่าเธอจะเลือกเอง) หนึ่งในประโยคที่สะท้อนธีมการให้สิทธิ์ในการตัดสินใจเป็นอย่างดีหลังจากที่ครอบครัวคุณย่า คุณตา คุณยาย พยายามจะคาดคั้นและบังคับให้เธอนับถือศาสนา จนแม่ของเธอต้องบอกให้ชัดว่า ชีวิตของเธอ เธอควรได้เลือกเอง และใช่ มันควรจะเป็นแบบนั้น มาร์กาเร็ตได้ลองไปตามกิจกรรมของศาสนาต่างๆ เข้าโบสถ์และวัดของทั้งศาสนาคริสต์และยิว หาข้อมูลและคลุกคลีให้ได้มากที่สุด

แต่สุดท้ายมาร์กาเร็ตก็ยังเป็นเพียงเด็กอายุ 11 ปีคนหนึ่ง เธอไม่จำเป็นต้องรู้ตอนนี้ก็ได้ว่าเธอต้องการจะนับถือศาสนาอะไร ครอบครัวต่างหากที่ควรจะนำเสนอด้านดีๆ ของศาสนา สร้างพื้นที่ในการช่วยเหลือมาร์กาเร็ต แทนที่จะใช้ความต่างของศาสนาฟาดฟันกันราวอาวุธชั้นเลิศ มาร์กาเร็ตอาจจะใช้เวลานานหน่อย 1 ปี 2 ปี หรือ 10 ปี แต่นั่นก็ยังเป็นสิทธิ์ในการเลือกของเธออยู่ดี 

I’m a woman!

มาร์กาเร็ตกระโดดโลดเต้น ดีอกดีใจ ทำคนดูอย่างเรายิ้มไปตามๆ กัน “ฉันเป็นผู้ใหญ่แล้ว!” เธอกล่าวกับตัวเองทันทีที่ประจำเดือนมาครั้งแรก แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับผู้ชม เพราะก่อนหน้านี้หนังได้เล่าถึงเพื่อนในกลุ่มของเธออีก 3 คน กับประสบการณ์ ‘ครั้งแรก’ ไปแล้ว 

ความโดดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการเล่าถึงเรื่องเพศที่เด็กผู้หญิงแทบจะทุกคนต้องประสบพบเจอ บางคนดีใจตอนประจำเดือนมาครั้งแรก บางคนร้องไห้ และบางคนมองมันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว จนถ้าให้เรียกว่าหนังเรื่องนี้เปรียบเสมือนวิชาสุขศึกษาที่เฟรนลี่ต่อผู้ชมก็คงไม่ผิดนัก 

I listen to the wind, to the wind of my soul.
Where I’ll end up? Well, I think only god really knows.

ภาพยนตร์ปิดจบด้วยเสียงเพลง The Wind ของ Yusuf / Cat Stevens ซึ่งเป็นการจบที่สมบูรณ์ เนื้อหาของเพลงพูดถึงการเดินทางและความไม่แน่นอนของชีวิต ทิศทางของลมอาจพาเราไปเจอปัญหาบ้าง เจอเรื่องราวดีๆ บ้าง แต่นั่นคือความสวยงามของการได้เติบโต 

ขอบคุณมาร์กาเร็ตและใครก็ตามที่เคยเป็นมาร์กาเร็ตมาก่อน การเดินทางและการเติบโตของคุณมีคุณค่าเสมอ

ที่มา:

ฟิซซา อวัน
ฟูลไทม์นิสิต พาร์ทไทม์บาริสต้า พกหนังสือไว้ข้างกายเสริมสร้างความเท่ในยุคดิจิทัล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า