บันทึกจากศาลในฐานะนักเขียนศิลปะ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

นี่คือบันทึกจากที่บทความวิจารณ์ศิลปะและกระทรวงวัฒนธรรม ทำให้เราต้องไปขึ้นศาลที่นครศรีธรรมราช

ก่อนจะเริ่มกัน เราอยากจะขอให้ทุกคนคิดไว้ตลอดว่า เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก ในประเทศที่การวิพากษ์วิจารณ์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง นักเขียน นักวิจารณ์ นักคิด ไม่ควรโดนฟ้องร้องเพราะความเห็นเกี่ยวกับศิลปะ โดยเฉพาะที่จัดแสดงต่อสาธารณะ แต่เราอยู่ประเทศที่มีกฎหมายห้ามไม่ให้มีความเห็นต่อเรื่องอื่นอีกหลายหัวข้อ และนั่นก็เป็นสาเหตุที่เราต้องไปขึ้นศาลไกลถึงใต้ เพราะศิลปินผู้ฟ้องตัดสินใจไปฟ้องเราที่นั่น เราเคยได้ยินเสียงบ่นกันมากมายว่า “เรามีนักเขียนศิลปะน้อยเกินไป” ดังนั้น ขอให้การต่อสู้ของเราได้กลายเป็นเกราะป้องกันให้กับนักเขียนศิลปะในอนาคตด้วยเถอะ

การวิจารณ์และการเยาะเย้ย คงเป็นคมดาบสองฝั่งในเล่มเดียวกัน การเข้าใจผิดระหว่างการวิจารณ์กับการเยาะเย้ยเป็นเรื่องง่ายดายเมื่อเจตนาของผู้วิจารณ์มักถูกมองข้าม การเยาะเย้ยมีจุดประสงค์เพื่อลดทอนคุณค่าของสิ่งนั้น ในขณะที่การวิจารณ์มักจะเป็นการสร้างสรรค์ หรือโบราณคงจะเรียกว่า ‘ติเพื่อก่อ’ การวิจารณ์มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาสิ่งนั้นให้ดีขึ้น สำหรับเราแล้วตอนนี้ เวลาจะวิจารณ์อะไร เรามักจะมาพร้อมกับคำถามที่ว่า ‘อะไรจะทำให้สิ่งนี้ดีขึ้น’ ไม่ว่า ‘สิ่งนี้’ จะหมายถึง ศิลปิน สถาบันศิลปะ วงการศิลปะ นักเรียน ประชาชน หรือแม้กระทั่งความรู้สึกของเราต่อศิลปะชิ้นนั้นๆ เราวิจารณ์เพราะเราใส่ใจ แต่เดาว่าความใส่ใจของเราอาจไปเหยียบอัตตาของใครหลายคน หรืออย่างน้อยก็คือคนที่ฟ้องเรา 

เท่าที่รู้ เราอาจจะเป็นนักเขียนศิลปะในประเทศไทยคนแรกที่โดนฟ้องร้องเพราะวิจารณ์งานศิลปะ ซึ่งแน่นอน เราเลือกทางที่ง่ายกว่าได้ ก็แค่ยอมรับข้อกล่าวหาและขอโทษแบบที่เด็กดีควรจะทำ (แต่เป็นเด็กดีไปก็ไม่ได้ทำให้เราไปไหนหรอก) ถ้าเราทำแบบนั้น เรื่องคงไม่ยืดเยื้อมาจนถึงขนาดนี้ เราทำได้ แต่ถ้าเราเลือกยอมรับว่าการวิจารณ์ศิลปะเป็นสิ่งที่ผิด ก็อาจจะเปิดช่องให้ศิลปินแบบนี้ฟ้องร้องคนอื่นที่แสดงความเห็นต่อผลงานของศิลปินได้อีกในอนาคต เราเลยเลือกทางที่ยากกว่า และส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเรา เราเขียนความเห็นของตัวเองแทบไม่ได้ไปสักพัก ดังนั้น ถ้าคดีของเราเป็นคดีแรกจริงๆ เราจะสู้เพื่อให้คดีนี้เป็นคดีสุดท้าย

ก่อนที่จะเล่าเรื่องกระบวนการของคดี ขอเล่าก่อนว่าเรา ได้ พยายามหาทางประนีประนอมในเชิงวิชาการแล้ว เราเสนอกับโจทก์ว่าเราจะสัมภาษณ์เขาและเขียนบทความเกี่ยวกับผลงานของเขาขึ้นอีกชิ้น เพื่อส่องแนวคิดและการตีความใหม่ให้กับผลงานและการทำงานของเขา เขาจะมีอำนาจอย่างเต็มที่ในการเล่าเกี่ยวกับการทำงานของเขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย แต่สุดท้ายข้อเสนอนี้ไม่เป็นผล เพราะเขาต้องการให้เรารู้สึกสลดกับสิ่งที่เขียนและขอโทษเขา ดังนั้น เราก็เลยต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของตัวเอง

แน่นอนว่าการโดนฟ้องร้องไม่ใช่เรื่องโชคดีหรอก แต่เราก็ถือว่าตัวเองค่อนข้างโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนมากมายระหว่างการต่อสู้คดีนี้ และเราคงไม่สามารถต่อสู้คนเดียวได้หากไม่มีบุคคลเหล่านี้ WAY ช่วยประสานงานแต่งตั้งทนายความ เป็นส่วนสำคัญในการวางแผนเตรียมสู้คดี 

แน่นอนพี่ทนายที่ทำงานอย่างเป็นมืออาชีพและคอยลงไปศาลทุกครั้ง เราต้องขอบคุณพี่ทนายที่ยืนยันในการตัดสินใจของเรา และไม่โน้มน้าวให้เราขอโทษถ้าเราไม่ต้องการมากๆ นอกจากนี้ก็คือบรรดาคนในแวดวงศิลปะที่ต่างแสดงความเป็นห่วง เป็นกำลังใจช่วย และยืนยันว่าการเขียนวิจารณ์ศิลปะควรเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนพึงมี ทุกคนที่สนับสนุนหลักฐานในคำเบิกความของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจารย์อภินันท์ โปษยานันทน์ ผู้มอบบทความมาเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบกับบทวิจารณ์ของเราในระหว่างการเบิกความ 

รวมถึงพยานทางวิชาการอีก 2 คน อาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี และ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ที่บินมาจากเชียงใหม่เพื่อสู้คดีถึงนครศรีธรรมราช อันที่จริงมีถึง 3 คน ถ้าจะนับรวมนักวิจารณ์ศิลป์ชื่อดังของไทย อาจารย์ถนอม ชาภักดี ที่ตกลงเป็นพยานให้แต่แรก แต่เสียชีวิตก่อนการเบิกความ 

ถึงอย่างนั้น จิตวิญญาณของอาจารย์ก็ยังคงอยู่ในหนังสือของอาจารย์ถนอม ที่อาจารย์ทัศนัยนำมาใช้ในการอ้างสิทธิในการวิจารณ์ศิลปะระหว่างการเบิกความ 

ที่สำคัญที่สุดคือ ครอบครัวของเราที่เข้าใจและอยู่เคียงข้างเราเสมอ และไม่เคยโทษเราในสิ่งที่เราทำ

ในส่วนของคดี เราต้องรวบรวมหลักฐานว่าเราทำงานในหอศิลป์และบทความเก่าๆ ของเรา เพื่อนำมารับรองว่าเรามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะวิจารณ์ศิลปินคนนี้ เราต้องทบทวนเหตุผลที่เราเขียนบทความนั้นให้ละเอียดเพื่อนำไปสู้ในชั้นศาล แต่สิ่งที่เราทำเพื่อชนะคดีอาจจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์เจตนาเราไปอีกทางเลย เพราะหลักฐานที่เราต้องหาคือสิ่งที่พิสูจน์ว่า ‘ฉันมีความสามารถเหมาะสมพอที่จะวิจารณ์’ หลังจากนั้นเราก็ถามตัวเองมาตลอดว่า ‘เราต้องมีคุณสมบัติอะไรที่จะวิจารณ์ได้เหรอ’

ส่วนหนึ่งที่เราชนะคดี น่าจะเป็นเพราะตำแหน่งของเราในสถาบันศิลปะ มันเจ็บปวดที่คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้า

เราไม่ได้ทำงานในแกลเลอรี

เราไม่เคยเขียนอะไรแบบนี้มาก่อน

คนที่ฟ้องร้องเราไม่ใช่ศิลปิน แต่เป็นองค์กรขนาดใหญ่

และอีกมากมายหลาย ‘ถ้า’

คำถาม ‘ถ้า’ เหล่านี้ ล้วนเป็นความกลัวของเรา และความกลัวนั้นเองที่ทำให้เราสงสัยว่า ‘บทวิจารณ์คืออะไร’ มันควรอยู่ในรูปแบบไหนและควรปรากฏที่ไหน 

สำหรับตอนนี้ เราเลือกที่จะเรียกตัวเองว่า ‘นักเขียนศิลปะ’ แทนที่จะเป็น ‘นักวิจารณ์’ เพราะเรายังไม่แน่ใจว่าจะคลายความสงสัยนี้อย่างไร

ตอนนี้ คดีความทั้งหมดของเราสิ้นสุดลงแล้ว ทั้งคดีอาญา และคดีแพ่ง เราหวังว่าเรื่องราวนี้จะช่วยเป็นกำลังใจให้หลายคนกล้าพูดถึงศิลปะโดยไม่ต้องกลัว เพราะหลังจากคดีความ เราได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเขียนวิจารณ์ศิลปะคือความกล้าหาญ ความกล้าหาญนี้เองที่อยู่เคียงข้างเราตอนอยู่บนแท่นพยานคนเดียว เรากำหมัดแน่น กลั้นน้ำตา และสกัดความกลัวเอาไว้ มองหน้าศาลและตอบทุกอย่างด้วยความสัตย์จริง

เราขอเพียงแค่ผู้อ่านทุกคน ว่าอย่าลงโทษผู้อื่นเพียงเพราะความเห็นเกี่ยวกับศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นคดีความ ในการทำงาน หรือปิดโอกาสใคร เพียงเพราะเขาแสดงความเห็นอะไรบางอย่าง 

เราหวังว่าศิลปินและสถาบันศิลปะจะรับฟัง ยอมรับความเห็นและคำวิจารณ์อย่างแท้จริง คดีความแค่ครั้งเดียวก็พอที่จะเป็นตัวอย่างให้ทุกคนแล้ว ขออย่าให้ต้องมีอีกคดีเลย

แล้วสุดท้ายนี้ ขอฝากให้สำหรับคนที่อยากจะวิจารณ์ แม้ว่าจะมีคดีของเราเป็นตัวอย่างแล้ว เพื่อป้องกันการโดนฟ้องร้องอีกในอนาคต ทนายแนะนำว่า การวิจารณ์ที่จะทำให้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล มักจะเป็นการ ‘ยกข้อเท็จจริง’ มากกว่าการแสดงความเห็น ดังนั้นทนายแนะนำว่าให้ใช้สำนวนเช่น ‘สันนิษฐานว่า’ / ‘สงสัยว่า’ / ‘สังเกตว่า’ หรือ ‘อาจกล่าวได้ว่า’ แทนการกล่าวถึงความเห็นไปตรงๆ จะรัดกุมกว่า 

แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ไม่อยากให้คำแนะนำนี้ต้องมาจำกัดความคิดสร้างสรรค์ในการเขียนของใคร เพราะฉะนั้น จงเขียนไปเถอะ

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า