‘The Carters’ บียอนเซและเจย์ซีบอกอะไรใน ‘Apesh*t’

Apesh*t

เมื่อวานตอนนอนๆ เล่นๆ เปิดดูยูทูบ และพบว่า ‘The Carters’ – บียอนเซ และ เจย์ซี ออกเอ็มวีใหม่ ภาพ thumbnail เป็นทั้งคู่ยืนอยู่หน้าโมนาลิซา

และฉันก็อุทานขึ้นมาว่า

เข้ นี่ยกกองไปถ่ายในลูฟวร์เลยเหร้อ

ตอนแรกก็ไม่ได้สนใจเพลงแนวนี้อยู่แล้ว แต่พอดูไปดูมา เอ๊ะ เดี๋ยวนะ ทำไมต้องลูฟวร์วะ

ใช่ ถึงแม้ว่าพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์จะเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม่บีกับพ่อเจย์มีเงินทั้งที จะเอาที่ไหนก็ได้ แล้วทำไมต้องเป็นลูฟวร์ที่เดียว?

เอ๊ะ เดี๋ยวนะ เริ่มแปลกๆ ไหนจะชื่อเพลงอีก เพราะนอกจากคำว่า ‘Apesh*t’ ที่เป็นสแลงแปลว่าบ้าคลั่งแล้ว ape แปลว่าลิง ซึ่งมันเป็นคำสแลงในภาษาอังกฤษที่เขาใช้เรียกคนดำกัน ก็เลยลองมาไล่ดูเอ็มวีอีกรอบ

เอ๊ะ เดี๋ยวนะ มีหลายรูปเลยที่วาดในช่วงยุคการล่าอาณานิคม ภาพแนวนีโอคลาสสิก (Neo-classicism) โดยเฉพาะรูปของ ฌาค หลุยส์ เดวิด (Jacque Louis David) ทั้งที่รูปภาพในลูฟวร์มีเป็นร้อยๆ พันๆ รูป ศิลปินมีเป็นฝูง ทำไมเอ็มวีนี้ถึงเลือกเน้นแค่รูปของ ฌาค หลุยส์ เดวิด และรูปภาพในยุคนีโอคลาสสิก มันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ บียอนเซไม่น่าจะถ่ายมาเล่นๆ อวดรวยแล้วล่ะ นางต้องมีอะไรจะบอกแน่ๆ

อภิธานศัพท์วันนี้

นีโอคลาสสิก (Neo-classicism) เป็นยุคหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่หลังจากประชาชนโยนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ออกจากวังแวร์ซายไป โค่นระบบกษัตริย์ เชิดชูระบอบประชาธิปไตย การเมืองฝรั่งเศสก็ระส่ำระสาย มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นว่าเล่น ตั้งแต่เป็นรัฐทหาร จนเปลี่ยนมามีจักรพรรดินโปเลียน คนโดนตัดหัวไม่เว้นวัน เรียกว่าเป็น ‘The Age of Terror’ หรือช่วงเวลาแห่งความกลัว ในยุคนั้น ภาพวาดแนวนีโอคลาสสิกถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองสุดๆ

เล่าให้ฟังก่อนว่า ฌาค หลุยส์ เดวิด เป็นเหมือนผู้ริเริ่มภาพวาดแนวนีโอคลาสสิก เขาเคยวาดภาพ ‘The Death of Marat’ และ ‘The Death of Socrates’ ก่อนกาล ซึ่งเป็นภาพที่ทำเพื่อต่อต้าน และวิพากษ์วิจารณ์สังคมชนชั้นสูงในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16

คือแทนที่จะวาดภาพชนชั้นสูงใช้ชีวิตลั้ลลา มีความสุข สีฟุ้งๆ พาสเทลๆ แบบศิลปะยุคโรโคโค่ (Rococo) เดวิดเลือดกวาดให้คนมีลักษณะที่ชัดเจน มีฟอร์มเป็นเรขาคณิต พูดถึงชนชั้นกลาง และปัญญาชน

แต่ก็เหมือนตลกร้าย เพราะหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง จักรพรรดินโปเลียนชอบภาพวาดของเขามาก เลยเลือกใช้เขาเป็นศิลปินประจำตัว เดวิด ผู้ที่ต่อต้านการปกครองระบอบกษัตริย์ หลังจากที่เขาโค่นระบอบที่เขาเกลียดชังลงไป สุดท้ายก็มาวาดรูป ให้จักรพรรดิคนใหม่ในระบอบเดิม

นีโอคลาสสิกกลายเป็นภาพวาดแนวโฆษณาชวนเชื่อ เชิดชูจักรพรรดิและการปกครอง ด้วยการจัดองค์ประกอบภาพให้เหมือนกับภาพวาดของฮีโร่หรือเทพในสมัยกรีก-โรมัน เพราะฉะนั้นมันเลยถูกเรียกว่านีโอคลาสสิกไง เพราะมันคือการเอาเทคนิคภาพวาดสมัยคลาสสิกกลับมาดัดแปลงใหม่ ดังนั้นเวลามองภาพพวกนี้ ก็เหมือนกับเวลาเซลฟี่แล้วใส่ฟิลเตอร์เยอะๆ ปลอมๆ คนดูในเฟซก็บอก สวยจังเลย น่ารักจังเลย แต่รูปที่แท็กมาต่างหากคือความจริง

นโปเลียนในยุคนั้นก็ยิ่งใหญ่จริงๆ เพราะแทบจะครองไปจนเกือบถึงเอเชียได้ อีกฝั่งนึงของยุโรปเอง ในอังกฤษ ก็เป็นยุค Colonial หรือยุคล่าอาณานิคม น้ำตาล กาแฟ และสินค้านำเข้าบูมมากๆ เป็นผลพลอยได้มาจากการค้าทาส และแน่นอนว่าฝรั่งเศสก็ต้องไม่แพ้กัน ทำให้ยุโรปในตอนนั้นเป็นเหมือนการแข่งกันว่า ใครจะสามารถแย่งชิงพื้นที่ทางการทำมาหากินและมีทาสมากกว่ากัน

กลับมาที่ ‘The Carters’ บียอนเซและเจย์ซีเกี่ยวอะไรกับยุคล่าอาณานิคมและการค้าทาส? เกี่ยวสิ เกี่ยวเต็มๆ เลย เพราะทาสที่ว่า จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคนดำและคนผิวสีต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากแอฟริกา หรือหมู่เกาะในแถบแคริบเบียน บียอนเซเองก็เกิดในครอบครัวที่มีแม่เป็นเชื้อสาย French Creole หรือเชื้อสายของทาสที่ถูกบังคับให้มาทำงานต่างถิ่น

ตัดภาพมาปัจจุบัน ปัญหาการเหยียดสีผิวยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในอเมริกา คนดำยังถูกมองว่าเป็นชนชาติที่ด้อยกว่า และเป็นอันตรายถึงแม้ว่าจะคนผิวสีและคนผิวดำ ที่ประสบความสำเร็จมากขึ้นๆ ทุกวัน

บียอนเซและเจย์ซีนับว่าเป็นคู่ที่มีชื่อเสียงมากในวงการบันเทิง เรียกว่า ถ้าพูดถึงบียอนเซก็จะต้องมีคนร้อง “อ๊อลเด๊อะซิ้งเกิ้ลเล้เด้ะ อ๊อลเดอะซิงเกิ้ลเล้เดะ” หรือถ้าเพลง ‘Love On Top’ เปิดที่ข้าวสารนี่สาวกแม่บีแต่ละคนก็จะต้องเต้นตามได้แทบทุกคนแบบไม่ได้นัดหมาย

คู่สามีภรรยา The Carters มีค่าตัวรวมกันเกินกว่า หนึ่งล้านล้านดอลลาร์ (ย้ำ หนึ่ง-ล้าน-ล้าน-ดอลลาร์) แฟนๆ ของบียอนเซเรียกเธอว่า ‘Queen B’ หรือราชินี ถึงขนาดมีโบสถ์บียอนเซในอเมริกาเลยทีเดียว เรียกว่านอกจากบียอนเซและเจย์ซีแล้ว ยังมีคนดำอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จ อย่าง ริฮานนา สนูปด๊อก แร็ปเปอร์หลายๆ คน ไปจนถึงนักกีฬา และนักการเมือง อย่างโอบามา ที่เป็นประธานาธิบดีถึงสองสมัย คนดำเหล่านี้มาไกลมากๆ เมื่อเทียบกับยุคล่าอานานิคม ที่คนเหล่านี้ถูกทำให้เป็นเพียงแค่สิ่งของ และตอนนี้ ผู้คนทั่วโลกยกย่องราวกับเป็นกษัตริย์หรือเทพ และเอ็มวีนี้เอง ก็เป็นเหมือนบทสนทนาที่มองย้อนกลับไปในอดีต ผ่านความสำเร็จของคู่สามีภรรยา The Carters

ในรูปซ่อนอะไร

(เนื่องจากรูปเยอะมาก แบบเย้อะม้ากเล้ยเธ้อ ฉันก็จะไม่อธิบายรูปละเอียดๆ แต่จะเล่าให้ฟังแค่ส่วนที่เด่นๆ นะคะ ขอโทษจริงๆ ถ้าว่างจะกลับมาอธิบายให้คราวหน้าเนอะ)

Apesh*t

เอ็มวีเปิดด้วยชายผิวดำคนนึงนั่งยองๆ อยู่หน้าทางเข้าลูฟวร์ ก่อนที่จะตัดเข้าไปที่ภาพวาดบนเพดาน ซึ่งถ้าซูมดูใกล้ๆ มันคือรูป ‘The Fall Icarus’ หรือ ตำนานอิคารัส คนธรรมดาที่หาญกล้าสร้างปีกขึ้นมาเพื่อบินไปบนสรวงสวรรค์ ก่อนจะพบจุดจบอันน่าเศร้าด้วยการโดนแสงอาทิตย์ของเทพอพอลโลแผดเผาจนขี้ผึ้งที่ยึดปีกละลายและร่วงลงมาในที่สุด

Apesh*t
‘The Fall Icarus’

ในตำนาน ปีกของอิคารัสโดนแผดเผาและโดนทำลาย เพื่อลงโทษมนุษย์ผู้อาจหาญเทียบตัวเองกับอำนาจของทวยเทพ แต่ในเอ็มวีกลับให้ชายผิวดำนั่งอย่างสบายๆ ด้วยปีกขนาดใหญ่ทรงพลัง ตรงข้ามกับจุดจบอันน่าเศร้าของอิคารัส ราวกับว่าปีกของเขาไม่ได้สะทกสะท้านอะไรจากอำนาจของเทพเลย

ฉากต่อมาคือ บียอนเซและเจย์ซีในชุดขาว ยืนเคียงข้างกันเหนือบันไดทางขึ้นไปที่รูปปั้น ‘The Winged Victory of Samothrace’ หรือเทพี Nike (เออ ชื่อเดียวกับแบรนด์รองเท้านั่นล่ะ) ข้างล่างบนขั้นบันไดมีนักเต้นหลากเชื้อชาติใส่เสื้อผ้าสีนู้ดนอนเรียงกันขึ้นมา

Apesh*t

ชื่อก็บอกอยู่ว่า ‘Winged Victory’ ที่เป็นเครื่องหมายของชัยชนะ ชัยชนะของ The Carters ก็คือความสำเร็จของพวกเขาในวงการบันเทิง ที่อยู่เหนือปัญหาทางเชื้อชาติและสีผิว The Carters ปีนขึ้นขั้นบันไดมาสู่จุดสูงสุดของความสำเร็จ และอาจจะไปได้ไกลขึ้นๆ ท่อนหนึ่งที่บียอนเซร้องในช็อตนี้คือ

Gimme my check, put some respect on my check
Or pay me in equity, pay me in equity.

พูดถึงเมื่อตอนที่เธอได้รับค่าตัวไม่เท่าเทียมกับนักร้องชาย หรือนักร้องผิวสีคนอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเกิดกับศิลปินผิวสีหลายๆ คนในวงการสื่อ แต่เธอก็ตอกกลับเหตุการณ์นั้นด้วยท่อนต่อมาว่า

Watch me reverse out of debt
He got a bad bitch, bad bitch
We livin’ lavish, lavish
I got expensive fabrics, fabrics
I got expensive habits, habits

เธอ reverse ออกมาจากหนี้ หมายความว่า หนี้ที่เธอเคยมี มันสวนทางกับความร่ำรวยอยู่ตอนนี้ เธอและสามีสามารถใช้ชีวิตสุดหรู มีการใช้จ่ายแสนแพงได้ ด้วยชื่อเสียงที่เธอสร้างขึ้นมา บียอนเซเปย์สามีหนักมาก หนักแค่ไหน? มาดูท่อนต่อไป

Bought him a jet
Shut down Colette
Phillippe Patek

บียอนเซเป็น Bad bitch ขนาดซื้อเครื่องบินเจ็ตให้เจย์ซี ซื้อของร้านแฟชั่นดังในปารีส Colette ที่ปิดไปเมื่อปีที่แล้ว และซื้อนาฬิกาฟิลิป ปาเท็คให้สามี โดยที่ไม่ต้องไปยืมเพื่อนหรือยืมใครมา (ว้ายยยยยยยย)

Apesh*t
‘The Oath of Horatii’  โดย ฌาค หลุยส์ เดวิด

ถ้าดูดีๆ รูปภาพส่วนใหญ่จะมาจากยุคนีโอคลาสสิก เช่นเดียวกับรูปของ ฌาค หลุยส์ เดวิด ‘The Oath of Horatii’  พูดถึงการสาบานของเหล่าทหารโรมัน ที่พร้อมออกไปรบเพื่อบ้านเมือง ด้านขวามีเหล่าแม่และน้องสาวของทหารทั้งสามที่โศกเศร้าเสียใจ ตัวเนื้อภาพพูดถึงการเสียสละเพื่อชาติ แทนที่จะเป็นเพื่อศาสนา และกษัตริย์ เดวิดวาดภาพนี้มาเมื่อตอนก่อนจะเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส

Apesh*t

ตัดมาเป็นฉากที่ทั้งคู่ยืนอยู่ข้างรูปปั้นสฟิงส์ขนาดใหญ่จากอียิปต์ เป็นงานศิลปะเดียวในเอ็มวีที่ถูกสร้างโดยคนที่ไม่ใช่คนขาว พร้อมกับการร้องรำทำเพลงอย่างเมามันส์ ตรงกับคำสแลงของคำว่า ‘Apeshit’ ที่แปลว่าบ้าคลั่ง แม้แต่ในเพลงเอง ก็มีท่อนนึงที่บอกว่า

I can’t believe me we made it,
have you ever seen the crowd going apeshit?

เหมือนกับจะบอกว่า ฉัน และพวกคนของฉันนี่แหละ ที่ทำให้คนบ้าคลั่งได้เพราะสิ่งที่ฉันเป็นและฉันทำ ฉันคือเทพคนใหม่

ภาพต่อมาเป็น ‘The Intervention of the Sabine Women’ โดย ฌาค หลุยส์ เดวิด อีกแล้วค่าทั่นผู้ฉ่ม เห็นมั้ย ฉันบอกแล้วว่ามันต้องมีอะไรแน่ๆ

Apesh*t
‘The Intervention of the Sabine Women’ โดย ฌาค หลุยส์ เดวิด

รูปนี้พิเศษตรงที่เป็นรูปที่จบสวยด้วยการสงบศึกของสองฝ่าย ต่างกับรูปอื่นๆ ที่มักจะเป็นรูปการไปออกรบ และจบโดยผู้หญิงชาว Sabine (รูปนี้ไม่ใช่โฆษณาชุดชั้นในซาบีน่าแต่อย่างใด) เดวิดเลือกใช้ตัวเอกแตกต่างจากคนอื่น เพราะครั้งนี้เขาเลือกใช้ผู้หญิงเป็นตัวเอกในรูปภาพ เป็นภาพที่เดวิดกล่าวว่า เขา ‘ภูมิใจที่สุด’ และไม่ใช่แค่ภูมิใจ เพราะเป็นรูปที่พูดถึงสันติภาพ แทนที่การพูดถึงสงครามเหมือนอย่างรูปก่อนๆ

Apesh*t
‘The Coronation of Napoleon’ โดย ฌาค หลุยส์ เดวิด

ภาพต่อมาคือ บียอนเซ และนักเต้นผิวสียืนอยู่หน้าภาพ ‘The Coronation of Napoleon’ โดย ฌาค หลุยส์ เดวิด เจ้าเดิมเลย รูปวาดการแต่งตั้งภรรยาของจักรพรรดินโปเลียนให้เป็นจักรพรรดินีโดยนโปเลียนเอง แบบไม่ง้อพระสันตะปาปา อารมณ์แบบ “ข้าเจ๋งพอ ข้าแต่งตั้งเอง อย่ามายุ่งกับเมียข้า” ในตอนนั้น ทุกคนต่างบอกว่า นโปเลียนหยิ่งผยองมากที่ทำแบบนี้ มีการตีความว่า นี่เป็นเหมือนการประกาศของบียอนเซว่า “ฉันเองก็แต่งตั้งตัวเองเป็น Queen ได้ โดยไม่ต้องง้อใครเหมือนกัน”

ต่อมา เพลงหยุดมีเพียงเสียงวิ้งๆ และนักเต้นหญิงคนดำสองคนนั่งอยู่หน้าภาพ ‘Portrait of Madame Récamier’ โดย ฌาค หลุยส์ เดวิด คนดีคนเดิม ทุกอย่างสงบนิ่ง

Apesh*t
‘Portrait of Madame Récamier’ โดย ฌาค หลุยส์ เดวิด

Madame Récamier คือใคร?

จูเลียต เรคามีเยร์ (Juliette Récamier) เธอเป็นเหมือนที่รักของชนชั้นปกครอง และชนชั้นสูงในสังคมฝรั่งเศสในตอนนั้น พ่อของเธอเป็นนายธนาคารสุดร่ำรวย เธอแต่งงานกับนายธนาคารที่ร่ำรวยเช่นกัน เธอเป็นเหมือน muse เป็นนางแบบที่ศิลปินทุกคนจะต้องวาด หรือสร้างประติมากรรมของเธอ การได้รับเชิญไปบ้านของเธอเป็นสิ่งที่แทบจะปฏิเสธไม่ได้ และเดวิดในตอนนั้นก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่วาดภาพเธอ (ที่ตลกคือ ทุกคนจะต้องวาดเธอบนเก้าอี้ตัวนี้ด้วยนะ เหมือนว่าเป็นเก้าอี้ไอคอนนิคอะ)

ฉันเห็นภาพนี้ในเอ็มวี แล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า บียอนเซจะสื่อว่า เธอเองก็เหมือนมาดามเรคามีเยร์ของยุคนี้หรือเปล่านะ ที่สื่อ วงการบันเทิง แฟชั่น ต่างต้องการตัวเธอ การได้เอาเธอไปปรากฏตัวที่ไหน เป็นสิ่งที่ไม่มีทางปฏิเสธได้เลย น่าสนใจกว่าเมื่อเอ็มวีเลือกใช้รูปหญิงคนดำสองคนผูกผ้าไว้ที่หัว และทำให้เป็นรูปทรงเหมือนเก้าอี้ที่เธอนั่งอยู่ เหมือนเป็นการบอกว่า ความร่ำรวยของเธอนั้น ได้มาจากการนั่งอยู่บนคนดำ หรือการกดขี่คนดำ หรือเปล่านะ?

มีมองทาจรูปมือและคนดำที่ถือผ้าโบกสะบัดในรูป ‘The Raft of Medusa’ ของ ธีโอดอร์ เจอริโคลท์ (Theodore Gericault) ก่อนจะตัดเข้ารูปเต็มๆ โดยที่มีเจย์ซีอยู่หน้ารูป พร้อมช็อตเล็กๆ รูปม้าของ ‘The Charging Chasseur’ โดย ธีโอดอร์ เจอริโคลท์ อีกรอบ พร้อมช็อตชายผิวดำแต่งตัวคาวบอยๆ บนม้าสีดำ

Apesh*t
‘The Charging Chasseur’ โดย ธีโอดอร์ เจอริโคลท์

เจอริโคลท์เป็นคนที่เด่นในเรื่องการวาดภาพที่ต่อต้านจักรพรรดิและการปกครองด้วยทหารของฝรั่งเศส รูป ‘The Charging Chasseur’ ของเขาก็เป็นเหมือนกับรูปที่วิพากษ์วิจารณ์การวาดภาพโฆษณาชวนเชื่อแบบนีโอคลาสสิกของ ฌาค หลุยส์ เดวิด อย่างรูป ‘Napolean Crossing The Alps’ ว่าวาดเกินจริง หลอกลวงประชาชน เพราะในความเป็นจริงนโปเลียนข้ามเขาด้วยตัวล่อแบบหน้าจ๋องมากๆ ขัดกับรูปสุดเท่บนม้าของเขา

Apesh*t
‘The Raft of Medusa’ โดย ธีโอดอร์ เจอริโคลท์

ส่วนรูป ‘The Raft of Medusa’ นับว่าเป็นรูปที่อิมแพคมากๆ ของเจอริโคลท์ เพราะเขาวาดภาพวิพากษ์วิจารณ์การล่าอานานิคมของฝรั่งเศส เล่าถึงเหตุการณ์ที่เรือ The Medusa ล่องไปแอฟริกาเพื่อพาทาสกลับมาแตก และทุกคนบนเรือต้องลอยคออยู่บนแพง่อยๆ ที่ต่อขึ้นจากเรือ The Medusa รูปนี้น่าสนใจตรงที่ ในขณะที่คนขาวกำลังตกอยู่ในความสับสน สิ้นหวัง ในรูปมีการกินเนื้อมนุษย์กันเกิดขึ้นด้วย แต่ที่หัวของแพ จุดสูงสุดของภาพ มีคนดำกำลังโบกผ้า เพื่อเรียกเรือกู้ภัยที่ส่งมาช่วยเหลือคนเหล่านี้ เจอริโคลท์เลือกใช้คนดำ ที่ในตอนนั้นเป็นจุดต่ำสุดของสังคมเป็นพระเอกที่เต็มไปด้วยความหวัง ต่างกับคนอื่นๆ บนแพ

Apesh*t

ภาพตัดมาที่เจย์ซีด้านหน้าพีระมิดแก้วอันโด่งดังของลูฟวร์ และช็อตชายผิวดำในชุดกีฬานั่งคุกเข่าแบบเดียวกับนักฟุตบอลใน NFL (National Football League)

เล่าให้ฟังย่อๆ ว่านักกีฬาฟุตบอลผิวสีใน NFL ร่วมกันคุกเข่าแทนการยืนตรงเคารพธงชาติและเพลงชาติอเมริกาตั้งแต่ปี 2016 เป็นการประท้วงความทารุณที่ตำรวจเลือกยิงคนดำไม่เลือกหน้า และความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติในอเมริกา ผลตอบรับมีทั้งสองแง่ คือโดนยกย่อง และโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เคารพชาติ โดนัลด์ ทรัมป์เองก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผ่านทวิตเตอร์เช่นกัน

เราแอบรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่ The Carters ต้องการจะสื่อในเอ็มวีนี้ว่า ถึงแม้พวกอเมริกาจะมีนักกีฬาที่ทำชื่อเสียงให้ชาติ แต่ชาวอเมริกันกลับไม่เห็นถึงความรุนแรงที่คนผิวสีเหล่านี้ต้องพบเจอ

ตรงนี้ เนื้อเพลงร้องว่า

I said no to Super Bowl: You need me,
I don’t need you. Every night we in the end zone,
tell the NFL we in the stadium too.

เจย์ซีปฏิเสธการขึ้นเวที Super Bowl เวทีเปิดงานกีฬาระดับชาติที่ศิลปินแนวหน้าต่างก็อยากขึ้นไปแสดง เขาวิพากษ์วิจารณ์ NFL และ Super Bowl ว่าเป็นองค์กรกีฬาที่อ้างว่าไม่แสวงหาผลกำไร แต่สุดท้ายก็รับโฆษณารัวๆ อยู่ดี พร้อมบอกว่า ถึงไม่มีใครเชิญมา เจย์ซีย์ก็ไปแสดงที่สเตเดี้ยมที่คนเหล่านี้เชิญเขาไปได้โดยไม่ต้องมาง้อให้ไปแสดงให้

Apesh*t
เบื้องหลังคือ ‘Venus De Milo’

รูปปั้น ‘Venus De Milo’ พร้อมแม่บีแต่งชุดบอดีสูทที่ดูนู้ดๆ วีนัสเป็นเทพแห่งความงาม งานศิลปะเกี่ยวกับเทพวีนัสคือการนิยามความงามตามยุคสมัย เราจะเห็นศิลปินวาดวีนัสยุคแล้วยุคเล่า ผอมบ้าง อวบบ้าง หน้ามนบ้าง หน้าจิ้มลิ้มบ้าง บียอนเซยืนข้างวีนัสด้วยชุดสีนู้ดที่ดูเหมือนกับว่า เธอเองก็เป็นรูปปั้นเช่นกัน เท่าที่เราเข้าใจ บียอนเซต้องการจะสื่อว่า นิยามของความงามได้เปลี่ยนไปแล้ว

ตัดมายุค 2018 ความงามไม่ใช่แค่สิ่งที่จะต้องอยู่นิ่งๆ แบบรูปปั้น แต่คือการได้มีอิสระในการเคลื่อนไหว และก็เหมือนเป็นการบอกว่า “ฉันนี่แหละ เทพแห่งความงามอีกคน” และความงาม ไม่จำเป็นต้องนิยามโดยคนขาว ถ้ามองย้อนกลับไปจากตอนต้นของเอ็มวี ที่มีการเปรียบเทียบคนดำกับเทพลูซิเฟอร์ เอ็มวีนี้น่าจะเป็นเหมือนการบอกว่า ในยุคนี้ คนธรรมดามีความสามารถพอที่จะเอาตัวเองไปเทียบกับเทพได้แล้ว ปีกของอิคารัสสยายเด่นเป็นสง่า เหมือนกับการยืนอยู่บนจุดสูงสุดของบันไดหน้ารูปปั้นของเทพไนกี้ ถ้าดูดีๆ มีหลายช็อตมากที่ถ่ายให้บียอนเซและเจย์ซีอยู่ตรงกับปีกที่สยายพอดี

ที่น่าสนใจคือ การถ่ายภาพคนขาวในรูปที่ทำหน้าตางงๆ มองไปมองมา ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรของพวกเขา พร้อมมองทาสคนดำเล็กๆ น้อยๆ เหมือนเป็นการบอกว่า เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของคนขาวในอดีตเหล่านี้ มันมาจากการทำงานอันหนักหน่วงของทาสผิวสีทั้งหลายนี่แหละ ที่ทำให้เกิดชาติอันยิ่งใหญ่ของพวกกคุณมาได้

Apesh*t
‘The Portrait of a Negress’ โดย มารี กิลล์มีน เบนัวต์

มีช็อตเล็กๆ ที่น่าสนใจอีกคือรูป ‘Portrait d’une négresse’ หรือ ‘The Portrait of a Negress’ โดย มารี กิลล์มีน เบนัวต์ (Marie-Guilhelmine Benoist) ปี 1800 น่าสนใจมากเพราะเป็นรูปที่ชาวแอฟริกันเด่นเพียงรูปเดียวในเอ็มวี และการวาดภาพเหมือนคนในสมัยนั้น จะต้องเป็นคนสำคัญ แต่มารีเลือกที่จะวาดหญิงชาวแอฟริกัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อมูลว่าหญิงสาวในรูปเป็นใคร แต่ก็เป็นรูปที่ทำให้เกิดความฮือฮามาก เพราะมารีวาดให้เธอดูเป็นมนุษย์ และยิ่งกว่านั้นคือเธอวาดให้ดูไม่ต่างจากหญิงสูงศักดิ์ในยุคนั้น

ฝรั่งเศสมีการยกเลิกทาสในปี 1794 แต่เป็นการยกเลิกทาสชั่วคราว เพราะหลังจากนโปเลียนขึ้นเป็นจักรพรรดิ การมีทาสก็กลับมาในปี 1804 นักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสงสัยว่าการวาดหญิงชาวแอฟริกันคนนี้จะเป็นผลจากการเลิกทาสที่ทำให้ชาวแอฟริกันกลายเป็นเหมือนเทรนด์แฟชั่นในเวลานั้น

Apesh*t

เอ็มวีจบด้วยบียอนเซและเจย์ซียืนคู่กัน มีรูปโมนาลิซาคั่นกลาง ก่อนที่ทั้งคู่จะหันกลับมามองรูปโมนาลิซา เหมือนเป็นบทสรุปของเอ็มวีนี้ การยืนขนาบรูปโมนาลิซาของ The Carters เป็นเหมือนการประกาศว่า ถึงแม้ว่าบรรพบุรุษของเราจะถูกกดขี่ และแทบไม่มีที่ยืนในวงวัฒนธรรมชั้นสูง เราสองคนมาอยู่ในจุดที่ดังพอๆ กับโมนาลิซา ถึงขั้นทำให้ภาพวาดโมนาลิซาที่คนต่างต้องแย่งกันถ่ายรูปคู่ ถ่ายเซลฟี่ด้วย กลายเป็นแบ็คกราวด์ของเรา และนี่คือสิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณกันและกัน ที่ทำให้เราทั้งคู่มาถึงจุดนี้ได้ เราทั้งคู่ สามีภรรยาชาวแอฟริกันอเมริกัน ได้กลายมาเป็นไอค่อน ที่ดังพอๆ กับ หรือมากกว่าโมนาลิซาไปแล้ว


อ้างอิงข้อมูลจาก:
louvre.fr
britannica.com
19thc-artworldwide.orgng
genius.com
vulture.com

 

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า