Artemisia Gentileschi: ศิลปินสาวโคตรเมทัลกับภาพวาดจากแรงแค้น

Artemisia Gentileschi
Susanna and the Elders

‘Susanna and the Elders’ หรือรูปหญิงสาวที่พยายามปัดป้องชายมีอายุสองคน หน้าตาทะเล้น จุ๊ๆ ที่พยายามจะเอื้อมมาจับตัวเธอแบบ “ขอผมจับ ขอผมทัช” เธอกลับไม่ตอบว่า “อย่ามาทะลึ่งเบ่เบ๋” แต่เธอดันพวกเขาออกไปให้ไกลที่สุดด้วยความขยะแขยง และสีหน้าที่เต็มไปด้วยความรำคาญประมาณว่า “ออกไป ออกป๊ายยยยย” คือรูปที่วาดโดย อาร์เทมิเซีย เจนทิเลสคิ (Artemisia Gentileschi) ในปี 1610 เมื่อเธออายุเพียง 16 ปี และเป็นรูปแรกที่มีบันทึกว่าศิลปินสาวคนนี้วาด

หลังจากที่โบกมือบ๊ายบายนิทรรศการการาวัจโจไปได้อาทิตย์นึง ก็รู้สึกว่าเสียดายที่คนไทยน่าจะได้เห็นงานแนวนี้มากขึ้น วันนี้เลยอยากยกตัวอย่างศิลปินอีกคนในสมัยนั้นที่โหดดิบพอๆ กัน นั่นก็ อาร์เทมิเซีย เจนทิเลสคิ

ที่ยกตัวอย่างรูปของเธอมา เพราะนับว่าลูกศิษย์คนหนึ่งของการาวัจโจ แต่ทำไมถึงต้องเป็นอาร์เทมิเซีย? ศิลปินอื่นมีตั้งเยอะแยะ ทำไมไม่เอามาพูด

เพราะเธอพิเศษมากน่ะสิ เธอเป็นผู้หญิงไม่กี่คนในประวัติศาสตร์ที่ได้ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ยุคนั้นว่าเป็น ‘ศิลปิน’ งานของเธอนอกจากจะเปี่ยมไปด้วยพลังแล้ว อาร์เทมิเซียยังมีเชื้อเพลิงในการทำงานคือแรงแค้น

แค้นแบบไหนเหรอ? ก็ต้องฟังเรื่องราวของเธอก่อน

อาร์เทมิเซีย เจนทิเลสคิ เกิดในครอบครัวศิลปินช่วงปี 1593 พ่อของเธอ โอราซิโอ เจนทิเลสคิ (Orazio Gentileschi) เป็นศิลปินในยุคนั้นเช่นกัน เป็นเพื่อนในวงการศิลปินเดียวกับการาวัจโจ ว่ากันว่าปีกเหยี่ยวของคิวปิดในรูป Amor Vincit Omnia นั้น การาวัจโจไปขอยืมมาจากพ่อของเธอเองนี่ล่ะ

ตอนนั้นที่เธอเจอการาวัจโจ น้องเซียอายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น เธอจึงได้รับการสั่งสอนจากการาวัจโจนิดหน่อยช่วงที่เขาอยู่โรม ก่อนที่การาวัจโจจะหนีคดีออกจากโรมไปตอนที่เธออายุ 13 หลังจากนั้นน้องเซียก็ช่วยงานพ่อในสตูดิโอของเขาเรื่อยๆ อายุ 16 ปี เธอเก่งขนาดคุณพ่อเอ่ยปากเองเลยว่า “ลูกสาวผมเนี่ย วาดรูปเก่งจนไม่มีเพื่อนเลย” โถ หนูลูก! และก็จริง หลังจากที่แม่ตายอายุ 12 ชีวิตเธอก็รายล้อมโดยผู้ชายทั้งนั้น

พออาร์เทมิเซียอายุได้ 17 ปี เธอก็ตั้งเป้ามุ่งมั่นว่าจะเป็นศิลปินให้ได้ แม้คนเป็นพ่อจะไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะผู้หญิงสมัยนั้น ไม่ใช่แค่จะเป็นได้ยากนะ แต่แทบไม่มีใครเป็นศิลปินด้วยซ้ำ สังคมอิตาลียุคนั้นบีบบังคับให้ผู้หญิงต้องเป็นเมีย เป็นแม่

แต่ด้วยความเก่งของเธอ สุดท้ายคุณพ่อก็ยอมให้ฝึกเป็นศิลปินจนได้ และได้จ้างอาจารย์อีกคนนึงมาสอนเธอ นั่นก็คือ อกอสติโน ทาสซี (Agostino Tassi) ผู้เป็นเพื่อนร่วมงานของเขาเอง การเรียนการสอนผ่านไปเหมือนจะดี แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน เพราะอาจารย์ทาสซีที่คุณพ่อจ้างมา ข่มขืนลูกสาวของเขาเองในปี 1612

เรื่องเกิดขึ้นในห้องทำงานของเธอตอนที่อาร์เทมิเซียอายุได้ 18 ปี ทาสซีลอบเข้าไปในระหว่างที่เธอทำงานอยู่ และพยายามจะเสนอให้เธอมีอะไรกับเขา เธอปฏิเสธ แต่ทาสซีก็ยังไม่หยุด จนสุดท้าย เขาก็ดึงมือของเธอออกจากรูปที่เธอกำลังวาด แล้วก็บังคับขืนใจเธอ แน่นอนว่าเธอต่อสู้กลับอย่างรุนแรง พยายามที่จะปกป้องตัวเองด้วยการข่วนหน้า ดึงผม หรือแม้แต่ดึงอวัยวะเพศของเขาแรงจนมีเศษเนื้อหลุดออกมา (คุณผู้ชายที่อ่านมาถึงตรงนี้คงจะกุมเป้ากันใหญ่ ขอโทษด้วยค่ะ) แต่ก็ไม่สามารถหยุดทาสซีได้ เขากดเธอลงที่หน้าอก ดันเข่ามาไว้หว่างขาเธอ และอุดปากเธอด้วยผ้าเช็ดหน้า

หลังจากนั้นทาสซีก็พยายามกดดันให้อาร์เทมิเซียมีอะไรกับเขาอีกเรื่อยๆ ด้วยการสัญญาว่าจะแต่งงานกับเธอเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของเธอ

หากแต่ว่า เขาแต่งงานแล้ว! ผ่าง! แล้วยังไม่พอ เขายังเคยมีคดีที่พยายามฆ่าภรรยาตัวเองด้วย! ผ่าง! ผ่าง! มิหนำซ้ำ เขายังเคยข่มขืนผู้หญิงมาหลายคนแล้วด้วย! ผ่าง! ผ่าง! ผ่าง!!!

คนเป็นพ่อ พอรู้เรื่องก็ยอมไม่ได้ เขาเลยตั้งข้อหาดำเนินคดีกับทาสซี การพิพากษาดำเนินไปหลายเดือน แต่คนที่โดนทรมานให้สารภาพ ไม่ใช่ผู้ต้องหา แต่กลับเป็นเหยื่อ อาร์เทมิเซียโดนทรมานโดย Sibille ซึ่งเป็นเครื่องทรมานในสมัยนั้น ที่จะใช้เหล็กพันเข้ากับนิ้ว แล้วดึงด้วยเชือกให้เหล็กรัดแน่นขึ้นๆ ผู้ต้องหาจะทรมานจนต้องพูดความจริง คล้ายๆ Lasso of Truth ของ Wonder Woman แต่ทรมานกว่ามาก

อาร์เทมีเซียโดนทรมานให้สารภาพความจริง ในห้องไต่สวนคดี โดยชายที่กระทำชำเราเธอนั่งมองเธอทรมานอย่างไร้ไยดี และไม่มีใครคิดจะทำอะไรกับเขาเลย

ในห้องไต่สวน อาร์เทมิเซียตะโกนว่า “นี่สินะ แหวนแต่งงานที่คุณสัญญากับฉัน มันคือความทรมานที่ฉันต้องได้รับจากสิ่งที่คุณกระทำ!” แต่การทรมานก็ไม่เป็นผล อาร์เทมิเซียพูดซ้ำทุกรอบว่า “ฉันพูดความจริง! ฉันพูดความจริง! ฉันพูดความจริง!”

หลังจากผ่านไปหลายเดือน สุดท้าย เธอก็ชนะคดีจนได้ เพราะพยานและหลักฐานทั้งหมด (ก็แหงสิ! หลักฐานตำตาขนาดนั้น) เธอเป็นผู้หญิงไม่กี่คนที่สามารถชนะคดีข่มขืนแบบนี้ ด้วยโจทก์ที่มีอำนาจขนาดนี้ได้ในยุคนั้น

โคตรเมทัล

สุดท้ายทาสซีเลือกการลงโทษโดยการถูกขับไล่ออกจากโรม แทนการติดคุก แต่ผ่านไปไม่กี่เดือน เขาก็กลับมาลอยหน้าลอยตาอยู่ที่โรม

อ่านแล้วก็หัวร้อน ทำไม? ทำไมผู้ชายเลวๆ แบบนี้ถึงรอดจากกระบวนการยุติธรรม? โกร้ธ!!!

Artemisia Gentileschi
Jael and Sisera

นั่นก็คงเป็นเหตุผลเดียวกับว่าทำไมการาวัจโจถึงรอดคดีทะเลาะวิวาทเรื่อยๆ ก็เพราะทาสซี ถึงแม้จะเป็นที่โจษจัน ก่อคดีไปทั่ว ก็ยังเดินร่อนไปร่อนมาได้ เพราะงานของเขาเป็นที่ชื่นชอบของพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 (Pope Innocent X) และผู้อยู่สูงสุดของศาสนาแบบนี้คุ้มกะลาหัว เกิดอะไรขึ้น สุดท้ายก็รอดทุกที แต่หลังจากที่เขากลับมาที่โรม อาร์เทมิเซียก็ตอกหน้าเขาด้วยการเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงยิ่งกว่าเขาไปเสียแล้ว

หลังจากที่การไต่สวนสิ้นสุด คดีความนั้นก็กลายเป็นที่โจษจันกันไปทั่วโรม สิ่งที่อาร์เทมิเซียได้กลับมาจากความเจ็บปวดทั้งหมดมีเพียงแค่ศาลตัดสินว่าเธอยังมีเกียรติในฐานะสตรีอยู่ และพ่อของเธอจึงให้เธอแต่งงานกับศิลปินหนุ่มอีกคนเพื่อกอบกู้เกียรติยศของเธอ แต่มันแทนกันได้มั้ยเล่า!

อาร์เทมิเซียเองกลายเป็นผู้หญิงที่มีชื่อเสียงไปทั่วโรม ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นในทางแง่ลบ เสื่อมเสียเกียรติ แต่หลังจากแต่งงาน เธอและสามีย้ายไปเมืองฟลอเรนซ์ และเธอก็เริ่มได้รับการว่าจ้างมากขึ้น ด้วยความที่เป็นผู้หญิงที่เก่งตั้งแต่เด็ก เรียกว่าอายุน้อยร้อยฝีแปรง เธอได้รับการว่าจ้างจากผู้มีอิทธิพลต่างๆ ตั้งแต่ชนชั้นนำตระกูลเมดิซี (Medici) ไปจนถึงพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 1 แห่งอังกฤษ และได้วาดเหตุการณ์สำคัญๆ ตามคัมภีร์ไบเบิลมากมาย

แต่ช้าแต่ ความเท่ของเธอไม่ใช่แค่นั้น เพราะสิ่งที่เธอวาด เป็นมุมมองของตัวละครที่เป็นหญิง อย่างที่ยกตัวอย่างไปเมื่อรูปแรก ‘Susanna and the Elders’ ในขณะที่ศิลปินชายคนอื่นๆ มักจะวาดซูซานนาที่โดนถ้ำมองให้มีลักษณะยั่วยวน อาร์เทมิเซียเลือกที่จะวาดซูซานนาจากมุมมองของเหยื่อ นักประวัติศาสตร์ศิลป์สงสัยกันว่า เธอวาดรูปนี้เพราะพฤติกรรมของทาสซีหรือเปล่า เพราะเขาเข้ามาในเวลาที่ตรงกับเมื่อเธอเริ่มวาดรูปนั้น เราจะเห็นว่าอาร์เทมิเซียเริ่มเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในผลงานแล้ว

แต่รูปที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คงจะเป็นรูปที่เธอได้แรงบันดาลใจในเรื่องนี้มาจากอาจารย์คนเก่า การาวัจโจ เธอเลือกวาดรูปที่เล่าเรื่องราวเดียวกันกับการาวัจโจ นั่นก็คือ จูดิธและโฮโลเฟิร์น ใน ‘Judith beheading Holofernes’

Artemisia Gentileschi
Judith beheading Holofernes

อาจารย์วาดไว้โหดแค่ไหน ศิษย์วาดได้โหดยิ่งกว่า เพราะในขณะที่การาวัจโจวาดรูปจูดิธ โดยให้เธอเป็นคนลงมือฆ่าโฮโลเฟิร์นคนเดียวอย่างเลือดเย็น ไม่มีความรู้สึกบนใบหน้าของเธอ และมีข้ารับใช้แก่คอยรอรับหัวของเขา รูปที่อาร์เทมิเซียวาด กลับเป็นหญิงสาวสองคนช่วยกันฆ่าโฮโลเฟิร์น ใบหน้าของจูดิธย่นยู่ยี่ ปากเธอเม้มปึ้ด เต็มไปด้วยความแค้นอยู่ในใบหน้า ราวกับเธอกำลังจะบอกว่า ต้องใช้แรงหญิงสาวถึงสองคน เลือดที่สาดบนเตียง ใบหน้าของโฮโลเฟิร์นที่กำลังตายพะงาบๆ ขัดกับมือที่พยายามเอาตัวรอดด้วยการดันข้ารับใช้ของจูดิธออกไป แต่ก็ไม่เป็นผล เมทัลป่ะล่ะ

เมื่อรูปจูดิธออกมา ก็เกิดความตกอกตกใจต่อชาวเมืองโรมมาก เพราะภาพมันตำตามากว่าเธอไม่ได้วาดออกมาลอยๆ นักประวัติศาสตร์ศิลป์คาดเดาว่า เธอเอาตัวเองไปใส่ไว้ในจูดิธ และให้ตัวละครโฮโลเฟิร์นเป็นทาสซี ชายผู้ข่มขืนเธอ ในความเป็นจริงที่เธอไม่ได้รับความยุติธรรม รูปวาดนั้น เธอได้สำเร็จโทษชายผู้ข่มขืนเธออย่างเลือดเย็น

นี่คือการที่เธอเอาความแค้นมาลงกับงานศิลปะของเธอ ถ้าเธออยู่ยุคนี้ก็คงจะออกมาแสดงพลังติดแฮชแท็ก #metoo ไปเรียบร้อยแล้ว

และไม่ค่ะ ไฟแค้นยังไม่ดับเพียงเพราะรูปเดียว เพราะมันมีภาคต่อแหละเธ้อ! นั่นคือรูป ‘Judith and her Maidservant’

Artemisia Gentileschi
Judith and her Maidservant

ทั้งสองรูปเล่าถึงเหตุการณ์หลังจากนั้นที่จูดิธและหญิงรับใช้ของเธอพยายามจะเอาหัวของโฮโลเฟิร์นไปซ่อน ค่ะ ฆ่าแล้วก็ต้องจัดการกับศพให้เรียบร้อย นางคิดมาเป็นสตอรีส์เลยค่าคุ้ณผู้ฉ่ม

แต่รูปนี้ก็สร้างความฮือฮาไม่แพ้รูปก่อน เพราะศิลปินชายที่วาดเรื่องนี้มักจะวาดให้จูดิธชูหัวของชายที่เธอฆ่าอย่างภูมิใจ ประมาณว่า “ชนะแล้วเว้ย!” แต่อาร์เทมิเซียเลือกที่จะตีความเหตุการณ์นี้ใหม่ โดยให้จูดิธซ่อนหัวของชายที่เธอฆ่า หัวของโฮโลเฟิร์นโผล่ออกมาเพียงนิดเดียวเท่านั้น และสีหน้าท่าทางของเธอก็เต็มไปด้วยความกระวนกระวาย

Artemisia Gentileschi
Judith and her Maidservant

เธอพยายามจะบอกว่า ผู้หญิงเมื่อกระทำความกล้าหาญไปแล้ว สิ่งที่เธอได้ ไม่ใช่ความภูมิใจ แต่คือความเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดกับเธอ เช่นเดียวกับที่เธอโดนทรมานเมื่อเธอกล้าดำเนินคดีกับอาจารย์เก่าที่ข่มขืนเธอ นักประวัติศาสตร์คาดว่าเธอวาดรูปเกี่ยวกับจูดิธประมาณห้าเวอร์ชั่น แต่เหลือรอดมาแค่สองสามเวอร์ชั่นเท่านั้น

Artemisia Gentileschi
Judith beheading Holofernes

ถ้าสังเกตดีๆ เวอร์ชั่นนึง นอกจากจะเปลี่ยนสีเสื้อแล้ว เลือดของโฮโลเฟิร์นพุ่งกระฉูดปรู๊ดปรี๊ดกว่ารูปเวอร์ชั่นแรก ขนาดกระเซ็นไปโดนเนินอกของเธอด้วยซ้ำ และใบหน้าอันเต็มไปด้วยความแค้นของจูดิธก็ชัดเจนมากขึ้น สีของผ้าคลุมตัวโฮโลเฟิร์นเป็นสีแดงเพื่อขับให้เลือดด้านหน้าดูชัดเจนขึ้น และเหตุผลที่เลือกเปลี่ยนสีเสื้อจูดิธ ก็เพื่อที่จะขับให้สีของเลือดดูสดขึ้นเช่นกัน อารมณ์ประมาณว่า รูปแรกฉันไม่พอใจ มันต้องโหดกว่านี้

คิดว่าถ้าเธอมาอยู่ในยุคนี้ก็คงฟังเพลงวงเดธเมทัล โยกหัวระหว่างผสมสีวาดรูปแน่ๆ

อาร์เทมิเซียวาดเรื่องราวของผู้หญิงเสียส่วนใหญ่ และตัวละครที่เธอเลือกมาวาด ถ้าไม่เป็นผู้หญิงที่ล้างแค้นอะไรสักอย่าง ก็มักจะเป็นตัวละครผู้หญิงที่ถูกกระทำชำเรา เสื่อมเสีย หรือเป็นเหยื่อของผู้ชาย เช่น คลีโอพัตรา ที่ก่อนจะฆ่าตัวตาย เธอได้ทบทวนเรื่องเกียรติยศของเธอ, ลูครีเทีย (Lucretia) เมียของนายพล แต่กลับโดนทหารของนายพลคนนั้นข่มขืน เธอเลยเลือกจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย, หรือ ดานาเอ (Danaë) ตัวละครหญิงในเทพนิยายกรีกที่มีลูกกับซูสเพราะเขาแปลงร่างเป็นฝนสีทองพร่างพรมลงมา

เออ เป็นฉันก็โกรธนะ ตากฝนอยู่ดีๆ แล้วท้อง อะไรวะ มิหนำซ้ำยังโดนเมียของคนที่ทำให้ท้องมาตามรังควานชีวิตด้วย ฉันก็อยู่ของฉันดีๆ เนี่ย โอ๊ย

Artemisia Gentileschi
Danaë

แม้แต่รูปพอร์เทรทตัวเธอเอง ‘Self-Portrait as the Allegory of Painting’ ก็ยังวาดเพื่อตอกย้ำว่า “ฉัน-เป็น-ศิล-ปิน-หญิง-นะ! รู้ไว้ซะ!” มีคนสงสัยว่า เหตุผลที่ทาสซีข่มขืนเธอ ไม่ได้มาจากแค่ความใคร่ที่เขามีต่อเธอ แต่เป็นเพราะเขาอิจฉาในความสามารถของสาวน้อยวัยเพียง 18 ปี ที่ห่างจากเขาถึงหลายปีแต่เก่งเกินหน้าเกินตา การดึงแขนเธอออกจากศิลปะที่เธอวาดอยู่ เป็นเหมือนการบอกเธอว่า “หยุดวาดรูปแล้วมาเป็นเมียพี่ดีกว่าน้อง” เพราะศิลปินในยุคนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้หญิงจะเป็นกันได้ การที่เธอเลือกวาดตัวเองเป็นศิลปิน เป็นเหมือนการบันทึกไว้ว่า ครั้งนึง ในยุคที่ทุกคนกีดกันผู้หญิงให้เป็นศิลปิน มีเธอคนนึงที่ได้ผงาดมาเทียบชั้นผู้ชาย

Artemisia Gentileschi
Self-Portrait as the Allegory of Painting

อาร์เทมิเซียเป็นผู้หญิงไม่กี่คนที่ได้รับการจารึกเอาไว้ว่าเธอเป็นศิลปิน แต่กว่าคนจะขุดประวัติของเธอมาได้ ก็ใช้เวลานานแสนนาน และนักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ขุดเรื่องเธอขึ้นมาก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน หลังจากนั้น เธอเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินหญิงหลายต่อหลายคนตั้งแต่ตอนนั้น

ความน่าเศร้าอีกอย่างของชีวิตเธอคือ ถึงแม้เธอจะมีชื่อเสียงแล้ว ค่าตัวเธอกลับน้อยกว่าการจ้างผู้ชายวาดรูป เธอถึงขนาดเขียนจดหมายไปถึงผู้ว่าจ้าง เนื้อความว่า

“เพราะฉันเป็นผู้หญิงใช่ไหม คุณถึงกดราคาฉันขนาดนี้”

และแม้ว่าจะผ่านไป ศิลปะดำเนินจากบาโรกมายุคร่วมสมัย จนร่วมสมัยจะเริ่มเก่าแล้ว ศิลปินหญิงทั่วไปก็ยังโดนกดราคาอยู่เหมือนเดิม

เฮ้อ น่าแค้นใจนัก ไปวาดรูปตัดคอคนกดราคาดีกว่า บ๊ายบาย


อ้างอิงข้อมูลจาก:
artsandculture.google.com
dirtysexyhistory.com
vice.com
wikipedia.org/wiki/Artemisia_Gentileschi
theguardian.com

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า