‘นายผี’ กาลครั้งหนึ่งเคยมีอัยการยืนข้างประชาชน

น่าเสียดายที่ชีวิตให้เวลานายผีได้มีโอกาสใช้มันเพียง 69 ปี เขาตายก่อน… ก่อนที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างและการลุกขึ้นมาต่อสู้ของคนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัยที่กำลังเบ่งบานอยู่ในขณะนี้

เวลาที่เคยกัดกินความหวัง กลับมาสว่างไสวอีกครั้ง

แม้เราไม่อาจปลุกนายผีผู้นี้ให้กลับมามีลมหายใจใหม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ดีที่สุดในฐานะคนรุ่นหลังที่นายผีเคยพยายามปฏิวัติต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของพวกเราคงจะเป็นการสลักชื่อนายผีไว้ในสังคม ผ่านสิ่งที่เขาเคยกระทำ จดจำการต่อสู้จนลมหายใจสุดท้ายของคนที่เลือกหันหลังให้ชีวิตที่ดีพร้อมของตัวเอง มาร่วมต่อสู้ดิ้นรนปลดแอกประชาชนออกจากอำนาจรัฐ ด้วยความหวังที่จะเห็นชีวิตที่ดีของคนข้างมากแห่งแผ่นดินปรากฏขึ้น

ภาพสุดท้ายของนายผีที่ทางการลาวส่งคืนให้แก่ครอบครัว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540
นายผีในฐานะนักปฏิวัติแยกกับป้าลมภรรยาที่ชายแดนไทย-ลาว เมื่อ พ.ศ. 2526 ก่อนที่ป้าลมจะได้พบกับนายผีอีกครั้งในอัฐิที่ทางการลาวส่งคืนให้หลังจากการเสียชีวิตของนายผีผ่านไปแล้ว 10 ปี

นายผีมิได้เป็นแค่นักเขียนที่ผลิตผลงานอันแหลมคมบ่งบอกยุคสมัยของเขา หรือเป็นนักปฏิวัติที่น่ายกย่องเท่านั้น อีกด้านหนึ่งเขายังเคยรับราชการเป็นอัยการ ผู้เขียนจึงอยากจะขอปลุกอัยการ อัศนี พลจันทร ซึ่งเป็นเสี้ยวหนึ่งของชีวิตนายผีขึ้นมาให้สังคมได้รับรู้ว่า ทศวรรษ 2480 – 2490 มีอัยการยืนข้างประชาชน

วัยเด็กที่เท้าไม่ต้องแตะพื้น มือไม่เปื้อนดิน

นายผี เป็นนามปากกาของ อัศนี พลจันทร เขาเกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2461 ที่บ้านท่าเสา จังหวัดราชบุรี ในตระกูลขุนนางหัวเมืองผู้มั่งมี เป็นลูกชายคนเดียวของ พระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) กับ นางมนูกิจวิมลอรรถ (สอิ้ง พลจันทร) ตระกูลของนายผีเป็นตระกูลที่มีชื่อเสียงด้านกฎหมาย บิดาเขาเป็นถึงผู้พิพากษาศาลฎีกา1 นอกจากนี้ยังเป็นตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากพระยาพล (จันท์) ผู้รั้งเมืองกาญจนบุรีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นต้นตระกูลของสกุล ‘พลจันทร’, ‘พลกุล’, ‘พลธร’ และ ‘วงศาโรจน์’

พระมนูกิจวิมลอรรถ และ นางมนูกิจวิมลอรรถ
บิดามารดาของนายผี

 

หลังจากที่นายผีเกิดได้ 3 เดือน นางมนูกิจวิมลอรรถมารดาก็สิ้นใจ เขากลายเป็นลูกกำพร้า แต่ชีวิตก็มิได้พบกับความลำเค็ญ ไร้คนเหลียวแล เพราะมีขุนวิเศษธานีผู้เป็นปู่คอยเลี้ยงดู นายผีเติบโตมาใน ‘บ้านรั้วใหญ่’ ของปู่กับย่า เหตุที่ต้องเรียกว่าบ้านรั้วใหญ่ก็เพราะภายในบ้านของขุนวิเศษธานี กรมการที่ปฤกษา เมืองราชบุรี มีทาสไพร่อยู่เป็นจำนวนมาก ต่อให้หมดยุคเลิกทาสไปแล้วก็ไม่มีใครยอมออกจากบ้านอยู่สืบลูกหลานกันต่อไป จนคนละแวกนั้นจึงเรียกบ้านขุนวิเศษธานีว่า บ้านรั้วใหญ่

 

ไม่แปลกที่เคยมีคนเปรียบเปรยถึงชีวิตวัยเด็กของนายผีไว้ว่า “เท้าแทบจะไม่ได้สัมผัสกับดิน”2 เนื่องจากเวลาเดินทางไปโรงเรียนเขาจะมีพี่เลี้ยงขี่รถม้าไปส่ง พอไปถึงก็อุ้มไปส่งถึงหน้าประตู หากจะกล่าวว่านายผีเป็นคุณหนูที่เท้าไม่ต้องแตะพื้น มือไม่เปื้อนดินก็ดูจะไม่เกินไป ชาติกำเนิดในตระกูลขุนนางหัวเมืองผู้มั่งมีทำให้นายผีห่างไกลจากความลำบากลำบนของสามัญชน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่รู้ไม่เห็นกับความทุกข์ยากของคนอื่น เนื่องจากสมัยที่อยู่ราชบุรีนายผีชอบชวนพี่เลี้ยงไปเที่ยวเล่นที่บ้านชาวจีนที่มาเช่าที่ดินของปู่กับย่าปั้นโอ่งขายอยู่บ่อยครั้ง

ที่นั้นเองที่นายผีได้พบเห็นชีวิตที่ต้องดิ้นรนตามแบบฉบับของสามัญชน ชาวจีนผู้นี้ในแผ่นดินเกิดตัวเองเขามีอาชีพเป็นครู แต่ฝ่ายตรงข้ามมองว่าเขาเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลจะเอากันถึงตาย จนเขาต้องละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนข้ามน้ำข้ามทะเลมาปั้นโอ่งปั้นไหขายอยู่ในแผ่นดินอื่น นายผีวัยเด็กทำได้เพียงถอดเครื่องประดับมีราคาของตัวเองตกหล่นไว้ตามคันนาระหว่างทางกลับบ้านหลายต่อหลายครั้ง หวังให้เพื่อนเล่นชาวจีนผู้นี้มาเก็บได้ และต่อให้เขาจะตั้งใจทำตกหายบ่อยแค่ไหนย่าของเขาก็สามารถหาเครื่องประดับชิ้นอื่นมาสวมใส่ให้ใหม่ได้เสมอ3

เป็นความจริงว่านายผีเติบโตมาอย่างชนชั้นสูงคนหนึ่ง แต่เขาเป็นชนชั้นสูงที่มีใจรักความเป็นธรรมตั้งแต่เล็ก เห็นได้จากงานเขียนเรื่องแรกของเขา สมัยอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เรื่อง เกวลี เด็กนักเรียนหญิงที่กล้าสะบัดผมเปียไพล่หลัง  เชิดหน้าขึ้นท้าทายต่อความไม่ถูกต้องและการแสดงอำนาจบาทใหญ่ของครูประจำชั้น

ต้นฉบับเรื่อง เกวลี ที่เขียนโดยลายมือของนายผี

“เธอไม่ต้องเถียง ฉันบอกให้ออกมานี่” เสียงของคุณครูพิมลยิ่งห้วน และกระแทกดัง
เด็กสาวก้าวมาข้างหน้าอย่างกล้าหาญ แต่ปากไม่ยอมหยุด “คุณครูฟังความข้างเดียวนี่คะ หนู…”
“อย่าเพิ่งพูดอะไรทั้งนั้น เกวลี, เธอทำผิดไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งเดียวนะ หลายครั้งแล้ว ไม่ว่ากับครูหรือกับเพื่อนๆ ก็ตาม เธอทำอรุณศรีหัวแตกครั้งนี้ เพราะเธอเจตนาๆ ฉันรู้นะ ฉันรู้…” คุณครูพิมลเน้นประโยคหลังอย่างชัดเจน เด็กสาวตาแดงก่ำด้วยฤทธิ์โทษะ “ฉันจะต้องทำโทษเธอละเกวลี”
“เชิญค่ะ หนูเสียใจที่คุณครูไม่ได้ให้ความยุติธรรมแก่นักเรียนเช่นนี้ ทำโทษน่ะ หนูไม่เจ็บเท่าไรหรอก แต่มันส่อถึงความแสดงอำนาจบาทใหญ่ของคุณครูเอง หนูรู้นะคะ หนูรู้…”4

ส่วนหนึ่งของงานเขียนเรื่อง เกวลี

อัยการหนุ่มใน ‘ดินแดนเนรเทศ’

ชีวิตวัยหนุ่มของนายผีเป็นช่วงเวลาที่เขาโลดแล่นอยู่บนเส้นทางอาชีพอัยการ หลังจากสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากรั้วมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ใน พ.ศ. 2483 นายผีเขาหันไปทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะทนการรบเร้าจากญาติผู้ใหญ่ที่ต้องการให้สอบเข้ารับราชการไม่ไหว ยอมไปสมัครสอบอัยการ เขาสอบตก…สอบตกในแบบที่ใครก็ไม่อยากจะเชื่อ แม้แต่ผู้คุมสอบเองยังไม่เชื่อจึงขอตัวนายผีไปทำงานที่กรมอัยการในตำแหน่งอัยการฝึกหัดที่กองคดี ชีวิตอัยการของนายผีจึงเริ่มขึ้นต้นตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2484

โดยที่ญาติผู้ใหญ่ที่คะยั้นคะยอให้เขามารับราชการ เพราะเสียวสันหลังกับข้อเขียนในหนังสือพิมพ์ของเขา ไม่รู้เลยว่าการผลักให้ ‘ไอ้กวีน้อยที่อวดดี’5 มาเป็นอัยการนั้นเป็นเรื่องที่น่าเสียวสันหลังกว่าเป็นไหนๆ

เด็กชายที่มีจิตใจรักในความยุติธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อก้าวเข้ามาเป็นผู้ใช้กฎหมายเขาจึงกลายเกวลีตัวละครที่เขาสร้างขึ้นในวัยเด็กแบบไม่รู้ตัว นายผีใช้ชีวิตอัยการแบบไม่ยอมจำนนต่ออำนาจบาตรใหญ่ของผู้มีอิทธิพล ยื่นมือเข้าไปสะสางคดีความที่ไม่มีใครกล้าแตะ ด้วยการเรียกตัวน้องชายของนายกรัฐมนตรีมาฟ้องให้ศาลลงโทษฐานยักยอกลวดหนามของหลวงไป ผลคือเขาถูกหมายหัวส่งไปแดนเนรเทศ เดิมทีจะให้ไปอยู่แม่ฮ่องสอน แต่เขาใช้วิธีเอาเกลือจิ้มเกลือรอดมาได้ เพราะรู้อยู่แล้วว่าการถูกส่งไปแม่ฮ่องสอนจะเป็นเช่นไร เนื่องจากบิดาของ คุณอุทธรณ์ พลกุล ญาติสนิทเคยถูกส่งไปลิ้มรสมาแล้ว นายผีจึงชิงเขย่าขวัญคนส่งเสียก่อน

…ลองเอาเกลือจิ้มเกลือดูสักหน, เราก็แสดงให้ปรากฏว่าที่นั่นหากเราไปก็รวยแน่ เพราะเป็นแดนค้าฝิ่นที่ลือชื่อ; ในที่สุดก็เปลี่ยนใจเนรเทศไปเมืองแขกทางใต้โดยหวังจะใช้ความขัดแย้งที่ชนมาลายูมีต่อคนไทยทั่วไปนั้นมาฆ่าเราให้ตาย…6

แดนเนรเทศสำหรับอัยการหนุ่มที่กล้าและไม่กลัวใครจึงเปลี่ยนมาเป็นปัตตานี ดินแดนห่างไกลและคุกรุ่นไปด้วยความขัดแย้งระหว่างชาวมาลายูมุสลิมกับเจ้าหน้าที่รัฐ

นายผีสมัยถูกย้ายไปเป็นอัยการผู้ช่วยจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485

นายผีถูกส่งไปอยู่ปัตตานีในช่วงเวลาที่การสร้างชาตินิยมตามนโยบายรัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตชาวมาลายูมุสลิมในพื้นที่ หลังรัฐนิยมหลายฉบับของจอมพล ป. ได้ออกกฎมาละเมิดต่อต่อศรัทธาของชาวมาลายูมุสลิม อาทิ รัฐนิยมฉบับที่ 10 เรื่องการแต่งกายของประชาชนที่นำซึ่งยุคมาลานำไทยของจอมพล ป. บังคับให้ผู้หญิงชาวมาลายูมุสลิมต้องถอดผ้าคลุมศีรษะออกและเปลี่ยนมาสวมหมวกแทน ส่วนผู้ชายก็ต้องละทิ้งโสร่งมานุ่งกางเกงแทน หลักปฏิบัติตามศาสนาและอัตลักษณ์ของชาวมาลายูมุสลิมถูกการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรมอันฉาบฉวยของจอมพล ป. ทำให้เป็นเรื่องผิดและมีโทษตามกฎหมาย ยังไม่รวมถึงการบังคับให้พูดภาษาไทยและนับถือศาสนาพุทธ ชีวิตชาวมาลายูมุสลิมในปัตตานีเดือดร้อนจากนโยบายทางวัฒนธรรมของจอมพล ป. เป็นอย่างมาก

แม้ว่าประกาศรัฐนิยมว่าด้วยวัฒนธรรมของจอมพล ป. จะมิใช่กฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่รัฐภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. ก็บังคับให้ประชาชนต้องปฏิบัติตาม7

เมื่อมาอยู่ปัตตานีนายผีเป็นข้าราชการคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเผด็จการทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ท่ามกลางการไล่จับชาวมาลายูมุสลิมที่ไม่สวมหมวกหรือนุ่งโสร่งของเจ้าหน้าที่ เขาจึงทำหน้าที่อัยการตามอุดมการณ์ของตัวเองด้วยการสั่งไม่ฟ้องชาวบ้าน ครั้งหนึ่งนายผีเคยเอ่ยปากเตือนสติตำรวจในพื้นที่ว่าอย่าไปจับชาวมาลายูมุสลิมด้วยข้อหาทางวัฒนธรรมเช่นนี้ ถ้าจับมาคุณจะเดือดร้อน แต่วันรุ่งขึ้นตำรวจก็ยังจับผู้หญิงชาวมาลายูมุสลิมที่ไม่สวมหมวกมากว่า 50 คน พร้อมทั้งทำการปรับเงิน และเจ้าหน้าที่ตำรวจคนนั้นก็ต้องเดือดร้อนจริงๆ เนื่องจากนายผีสั่งไม่ฟ้องชาวบ้านทั้งหมด พร้อมทั้งสั่งให้คืนเงินค่าปรับให้แก่ผู้เสียหาย ตำรวจผู้นั้นต้องไปหากู้เงินมาคืนให้ชาวบ้าน

คุณอัศนีทำผมได้ ผมต้องไปกู้เงินที่ตลาดมาคืนให้เขา เงินที่ปรับมาจากเขาส่งเข้าคลังไปแล้ว ไม่รู้จะได้คืนเมื่อไร8

นายผีแสดงให้ชาวมาลายูมุสลิมในพื้นที่ประจักษ์แล้วว่า เขาเป็นอัยการที่เลือกอยู่ข้างประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเพียงใด เขากลายเป็น ‘คุณอัศจรรย์’ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างเรียกขาน เพราะแกอัศจรรย์ตั้งแต่วิถีชีวิตและการแต่งกายที่เรียบง่าย เป็นอัยการที่ใส่รองเท้าผ้าใบไม่ใช่รองเท้าหนังอย่างที่ผู้เป็นข้าราชการนิยมกัน เหนือสิ่งอื่นใดความยุติธรรมและความกล้าของแกก็น่าอัศจรรย์ใจกว่าใคร ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมุ่งแต่จะไล่จับชาวบ้าน อัยการนายผีก็ตั้งท่าปฏิเสธไม่ฟ้องชาวบ้านอย่างเดียวเช่นกัน

ในเมืองปัตตานีทุกคนไม่มีใครเรียกคุณอัศนี แต่เรียกคุณอัศจรรย์ แกก็ไม่แคร์…9

การส่งอัยการหัวแข็งอย่างนายผีมาเสี่ยงตายในปัตตานี นอกจะไม่ทำให้เขาตายหรือกลัวจนหัวอ่อนยอมจำนนต่อความไม่เป็นธรรมแล้ว เขายังกลายเป็นเสี้ยนหนามของเผด็จการเสียเอง ปัตตานีนับว่าเป็นสถานที่แดนเนรเทศที่ขัดเกลาให้คนที่มาจากครอบครัวชนชั้นอย่างนายผีได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากอันแท้จริงของสามัญชนที่ถูกกระทำจากอำนาจรัฐรอบตัว

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2487 หรือ 2 ปีหลังการถูกเนรเทศมายังปัตตานี นายผีก็ถูกสั่งย้ายอีกครั้ง เหตุเพราะเขาถูกรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ป. สงสัยว่า “ได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยอิสลามในทางกลับ” การเป็นอัยการในแดนเนรเทศของเขาจึงจำต้องสิ้นสุดลง

หลังจากนั้นนายผีถูกส่งไปประจำอยู่ที่อื่นอีกหลายที่ ทั้งสระบุรี อยุธยา และกลับไปประจำที่กองคดี กรมอัยการในกรุงเทพฯ เป็นที่สุดท้าย แม้บทบาทในฐานะอัยการของนายผีจะไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก แต่เขาก็เดินทางอยู่บนเส้นทางผู้ใช้กฎหมายยาวนานถึง 11 ปี (พ.ศ. 2484 – 2495) และก่อนที่จุดจบของเขาในฐานะอัยการที่ยืนข้างประชาชนอย่างนายผีต้องยุติลงอย่างถาวรหลังรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ป. ไล่จับกุมกบฏสันติ นายผีซึ่งร่วมแสดงความเห็นคัดค้านการส่งทหารเข้าร่วมในสงครามเกาหลีกับกบฏสันติด้วย จึงต้องละทิ้งอาชีพอัยการ หนีคำสั่งจับตายก่อนที่เผด็จการจะมาถึงตัวเขา


เชิงอรรถ
  1. ยืนหยัด ใจสมุทร, อุดมคติและแก่นเพชรแห่งวรรณกรรม นายผี อัศนี พลจันทร บนหนทางสู่ความเปลี่ยนแปลง, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ อัศนี พลจันทร (นายผี) ) 2557, หน้า 10
  2. วชิระ บัวสนธ์ (บรรณาธิการ), ชีวิตและผลงาน: ตำนาน “นายผี” อัศนี พลจันทร (2461 – 2530), (กรุงเทพฯ: 21 เซ็นจูรี่) 2541, หน้า 240
  3. วิมล พลจันทร, รำฤกถึงนายผีจากป้าลม, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ทะเลหญ้า) พิมพ์ครั้งที่ 2 พฤศจิกายน 2533, หน้า 9-10
  4. ไอดา อรุณวงศ์ (บรรณาธิการ), ความงามของชีวิต โดยป้าลม และสังเขปประวัติ อัศนี พลจันทร, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อ่าน) 2561, หน้า 130-132
  5. เป็นคำที่ ชิต บุรทัต ใช้ต่อว่านายผีสมัยเป็นนักหนังสือพิมพ์
  6. จดหมายถึงคุณหวัน (จิระนันท์ พิตรปรีชา และ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) ใน ความงามของชีวิต โดยป้าลม และสังเขปประวัติ อัศนี พลจันทร, หน้า 278-279
  7. นิธิ เอียวศรีวงศ์ (บรรณาธิการ), มลายูศึกษา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาชนมลายูมุสลิมในภาคใต้, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์) 2550, หน้า 43
  8. ความงามของชีวิต โดยป้าลม และสังเขปประวัติ อัศนี พลจันทร, หน้า 21
  9. ความงามของชีวิต โดยป้าลม และสังเขปประวัติ อัศนี พลจันทร, หน้า 152

Author

วรรณา แต้มทอง
อดีตนักเรียนกฎหมายที่เลือกทำความเข้าใจความยุติธรรมผ่านวรรณกรรม จึงล้มลุกคลุกคลานกับเปาบุ้นจิ้นอยู่หลายปีกว่าจะเรียนจบปริญญาโท หวั่นไหวกับหนังสือ วรรณกรรม
สารคดี จนอยากเป็นนักเขียน ชอบฟังเพลงที่แปลไม่ออก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า