19 วัน 35 กรณี ข้อเรียกร้องก่อนสมัชชาคนจนกลับบ้าน “ประชาธิปไตยกินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน”

มันเริ่มต้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม กระทั่งถึงวันนี้นับนิ้วซ้ายไปขวารวมแล้ว 19 วันที่ประชาชนกว่า 400 คนจากหลายพื้นที่รวมตัวกันในนาม ‘สมัชชาคนจน’ ปักหลักชุมนุมอยู่เลียบคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื้อรังยาวนานผ่าน 35 กรณีเดือดร้อน ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนปีที่ผ่านมา ทว่ามันเกี่ยวพันกับนโยบายของรัฐมาแทบทุกยุคทุกสมัย

แม้ในช่วงแรกเสียงพูดของพวกเขาจะแผ่วเบาบนหน้าสื่อ รวมทั้งรัฐก็มีท่าทีที่ผู้ชุมนุมเห็นว่าไม่จริงใจ แต่หลังการปักหลักสู้และเจรจา ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลอาจจะตอบรับข้อเสนอมากขึ้น และทำให้ผู้ชุมนุมสมัชชาคนจนตัดสินใจกลับบ้านในบ่ายวันนี้ ถึงกระนั้นก็ตามคงต้องจับตากันต่อไป เนื่องจาก ‘บันทึกความเข้าใจ’ ระหว่างประชาชนกับรัฐบาลจะเป็นผลจริงหรือไม่

23 ตุลาคม ก่อนเดินทางกลับบ้าน เราพาย้อนกลับไปดูเส้นทางการเคลื่อนไหวในนามแห่งคนจนบนท้องถนนอีกครั้ง

ออกจากที่มั่นสู่ท้องถนน

สมัชชาคนจนกับการชุมนุมเป็นภาพจำที่หลายคนคุ้นเคย แต่ในระยะหลัง โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง พวกเขาเลือกปักหลักบนที่มั่น นิ่ง เงียบ มันเป็นความนิ่งท่ามกลางอารมณ์แปรปรวนทางการเมืองและการปะทะความคิดของผู้คน

อะไรทำให้พวกเขาตัดสินใจทิ้งเรือกสวนไร่นามากางมุ้งปักหลักชุมนุมบนท้องถนนอีกครั้ง ข้อความในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ตอบคำถามของความสงสัยนั้นอย่างตรงไปตรงมา

“นับเป็นเวลากว่าสิบปีภายใต้สถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางการเมืองได้เป็นความขัดแย้งหลักในสังคม สมัชชาคนจนเลือกที่จะสงบอยู่ในที่มั่นโดยแทบจะมิได้ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งที่ปัญหาต่างๆ ของสมัชชาคนจนยังคงค้างคา จนกระทั่งการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พวกเราออกมาคัดค้านการรัฐประหาร และประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับคณะรัฐบาลเผด็จการรัฐประหาร จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันปัญหาข้อเรียกร้องของเราก็ยังคงค้างอยู่เช่นเดิม

“พวกเราสมัชชาคนจนได้ประชุมปรึกษาหารือและมีความเห็นร่วมกันว่า ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่พวกเราจะออกมาชุมนุมเพราะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว และรัฐบาลได้ทำหน้าที่บริหารมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะหากนับเวลารวมไปกับห้าปีที่ผ่านมาของคณะรัฐประหารก็ถือได้ว่ารัฐบาลได้ทำหน้าที่มาอย่างยาวนาน และเพียงพอที่จะรับรู้เรื่องราวปัญหาต่างๆ ของสมัชชาคนจนได้เป็นอย่างดี

“การชุมนุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเรา ซึ่งมิได้หมายถึงเพียงแค่กรณีปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าที่ยืดเยื้อยาวนานเท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึงการปกป้องสิทธิทางนโยบายที่รัฐบาลประกาศออกมาลิดรอนละเมิดสิทธิของพวกเรา และยังหมายถึงความตั้งใจของพวกเราที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย อย่างที่พวกเราเรียกว่า ‘ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน’ อย่างมั่นคงและเท่าเทียม”

คนจนมาจากไหน เรียกร้องอะไร

5 ประเด็นใหญ่ 35 กรณีย่อย คือปัญหาเร่งด่วนที่ค้างคามานานจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มันทั้งไม่ถูกแก้ปัญหา และไม่ถูกพูดถึง ความยืดเยื้อของการแก้ไขที่ไม่คืบหน้าสร้างปัญหาใหม่ กลายเป็นโรคเรื้อรังของคนจนที่นับวันก็ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นทุกที

1. ประเด็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

โดยเป็นกลุ่มที่รวบรวมชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินและสูญเสียอาชีพประมงจากการสร้างเขื่อน ทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ มีข้อเรียกร้องคือ ให้รัฐบาลทั้งในรูปแบบเงินชดเชย หรือชดเชยที่ดินทำกิน และให้ยุติการสร้างเขื่อนที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ

2. ประเด็นที่ดิน

โดยกลุ่มชาวบ้านที่เผชิญปัญหาการประกาศเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ทับที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน มีข้อเรียกร้องคือ 1.ให้รัฐพิสูจน์สิทธิก่อนขับไล่ชาวบ้าน และจัดสรรที่ทำกินใหม่ให้ชาวบ้าน 2.หากพิสูจน์สิทธิว่าชาวบ้านไม่ผิด ต้องให้ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่เดิม

3. ประเด็นป่าไม้

เป็นกลุ่มชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตัดสวนยางและถูกขับไล่ออกจากที่ดินเดิม ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. และการประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน พวกเขามีข้อเรียกร้องคือ 1.ชะลอการขับไล่ชาวบ้านเพื่อให้รัฐพิสูจน์สิทธิก่อนขับไล่ (รวมพื้นที่ที่อยู่ในขั้นตอนของการออกโฉนดที่ดิน) และ 2.รัฐจัดสรรที่ดินในพื้นที่เป็นนิคมสหกรณ์

4. ประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน

เป็นการรวมกันของกลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง และเผชิญปัญหาสวัสดิการที่บั่นทอนคุณภาพขั้นต่ำ พวกเขามีข้อเรียกร้องคือ 1.ออกมาตรการให้บริษัทเอกชนจ่ายค่าชดเชยย้อนหลังในกรณีที่ถูกเลิกจ้างงาน และหากเอกชนไม่จ่าย รัฐต้องจ่ายแทน 2.ให้รัฐผลักดันโรงงานทำสถานเลี้ยงเด็ก (nursery) เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับลูกจ้างในการดูแลครอบครัว และ 3.ให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ

5. ประเด็นปัญหาราคาพืชผลผลิตตกต่ำ

โดยกลุ่มเกษตรกรที่เผชิญกับความผันผวนทางราคาพืชผลทางการเกษตรกับเกษตรกรที่ทำกินบนพื้นที่ที่ไม่มีหลักประกัน ข้อเรียกร้องคือ ให้รัฐบาลประกันราคาพืชผลทางการเกษตร รวมเกษตรกรที่ไม่มีโฉนดที่ดินและขอให้การเจรจาเป็นไปอย่างเสมอหน้า คือ ตัวแทนสมัชชาคนจนทั้ง 11 คน เข้าพบรัฐมนตรีจาก 11 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา

ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน

สำหรับการมาทวงถามสัญญารอบนี้ สมัชชาคนจนมิได้หมายถึงเพียงแค่กรณีปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าที่ยืดเยื้อเท่านั้น แต่ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวนี้รวมถึงการปกป้องสิทธิทางนโยบายที่รัฐบาลประกาศออกมาลิดรอนละเมิดสิทธิของประชาชน และยังหมายถึงความตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย ตามคำขวัญของสมัชชาคนจนที่ว่า ‘ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน’

8 ตุลาคม สมัชชาคนจนเริ่มขยับอีกครั้ง โดยแถลงให้มีการเปิดการเจรจา ‘อย่างเสมอหน้า’ กับรัฐบาล โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องเปิดการเจรจาแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน โดยมีองค์ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลกับผู้แทนสมัชชาคนจน 2.ให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนเป็นรายกรณีปัญหาตามที่สมัชชาคนจนเสนอ และ 3.ให้ส่งผลการเจรจาตามข้อ (2) เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

วันนั้น นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร รับข้อเสนอของสมัชชาคนจน เพื่อจะนำไปประสานกับนายกรัฐมนตรี

10 ตุลาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งแต่งตั้งและมอบหมายให้นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทำหน้าที่เจรจาแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนแทนนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้ข้อยุติในการแก้ไขปัญหารายกรณีและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งมีการนัดหมายประชุมเจรจาในวันที่ 10 ตุลาคม ณ อาคารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.)

การแสดงความจริงใจของรัฐบาลต่อข้อเสนอของสมัชชาคนจน ทำให้ข้อเรียกร้องมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยสมัชชาคนจนแถลงว่า “การเจรจาแก้ไขปัญหารายกรณีของสมัชชาคนจน ‘อย่างเสมอหน้า’ จะดำเนินการไปได้”

รัฐบาลไม่จริงใจ

แม้ก่อนหน้าจะมีสัญญาณที่ดีว่าข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนน่าจะถึงมือรัฐบาลแล้ว แต่วันที่ 14 ตุลาคม กลับพบว่ายังไม่มีการเจรจาใดๆ เกิดขึ้นตามมาแต่อย่างใด

17-18 ตุลาคม สมัชชาคนจนหยุดการเคลื่อนไหวชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้เข้าร่วมประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ปี 2563 ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ชี้หลายฝ่ายจับตา โดยเมื่อพ้นจากการประชุมสภาแล้ว พวกเขาจะเดินหน้าทวงถามอีกครั้ง

21 ตุลาคม การยกเลิกการเจรจาของรัฐบาล นำมาสู่การเคลื่อนไหวอีกครั้ง ครั้งนี้สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ว่า ‘รัฐบาลไม่จริงใจ’ เพราะเดิมมีการนัดหมายว่าจะเปิดการเจรจาอย่างเสมอหน้าในช่วงเช้าของวันนี้ แต่รัฐบาลกลับยกเลิกการเจรจาและเปลี่ยนเวลาเป็นช่วงบ่าย ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับสมัชชาคนจน โดยมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการยื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ และดูเหมือนไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นสมัชชาคนจนได้เข้าเจรจากับทั้ง 11 กระทรวง แต่เป็นเพียงตัวแทน ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอย่างที่ตั้งใจไว้แต่อย่างใด

ภาพจากแฟนเพจสมัชชาคนจน Assembly of the Poor

22 ตุลาคม นายไพรฑูรย์ สร้อยสด โฆษกสมัชชาคนจน ให้สัมภาษณ์กับ WAY ว่าในวันดังกล่าว ตัวแทนสมัชชาคนจนจะเข้าเจรจากับรัฐมนตรีและตัวแทนรัฐมนตรีอีก 2 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการตรวจสอบความคืบหน้าของข้อเสนอ ซึ่งสมัชชาคนจนเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการคุกคาม และผ่อนผันปฏิบัติการในพื้นที่ตามนโยบายของโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.)

กรณีนี้สืบเนื่องจากการเจรจาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม โดยการเจรจากับตัวแทนรัฐมนตรีทั้ง 11 กระทรวง เป็นการตรวจพิจารณาบันทึกการเจรจาที่เกิดขึ้นไปแล้ว 2 วันแรก คือ 15-16 ตุลาคม โดยมี 3 ส่วน เข้าร่วมเจรจา คือ 1.สมัชชาคนจน 2.สํานักงานปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) และ 3.ตัวแทนจากระทรวงต่างๆ

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่ายังมีบางประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ โดยฝ่ายสมัชชาคนจน เสนอให้รัฐบาลมีมติผ่อนผัน ไม่ให้มีการดำเนินคดีกับชาวบ้านในพื้นที่ปัญหา 35 กรณีย่อย แต่รัฐบาลยังไม่รับข้อเสนอแต่อย่างใด

ภาพจากแฟนเพจสมัชชาคนจน Assembly of the Poor

กลับบ้าน

22 ตุลาคม ช่วงเช้าสมัชชาคนจนบุกทำเนียบวางพวงหรีดไว้อาลัยรัฐบาล ก่อนที่จะมีการเจรจากันต่อในช่วงบ่ายถึงเวลาเกือบ 1 ทุ่ม กระทั่งได้บันทึกความเข้าใจร่วมกัน โดยรัฐบาลมีท่าทีที่ตอบรับมากขึ้นในการรับข้อเสนอของสมัชชาคนจน

23 ตุลาคม นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เปิดเผยกับเว็บไซต์ The Reporters ว่า ผลการเจรจาเป็นที่น่าพอใจ สมัชชาคนจนพร้อมเดินทางกลับวันนี้ โดยรัฐบาลจะนำบันทึกความเข้าใจทั้ง 35 กรณีเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ เป็น มติคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า โดยในวันนี้ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมตัวแทนสมัชชาคนจนจะร่วมกันแถลงข่าวผลการเจรจาแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ก่อนทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ และเดินทางกลับภูมิลำเนา

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า