วีรกรรมสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกับอุบัติการณ์รังสี มรดกองค์กรจากยุคสงครามเย็น

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ถ้าตามหลักนานาชาติของทบวงการปรมาณูเพื่อสันติ เป็นเหตุการณ์ในระดับ incident แปลว่าอุบัติเหตุที่ยังไม่ถึงมนุษย์ มนุษย์ยังไม่ได้รับบาดเจ็บ มนุษย์ยังไม่สูญเสียชีวิต ถือเป็นขั้นที่ยังไม่สูงจนเป็น accident เหมือนอย่างเชอร์โนบิลหรือฟุกุชิมะไดอิชิที่ญี่ปุ่น”

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แถลงข่าวกรณีสารซีเซียม-137 (Caesium-137) วัตถุกัมมันตรังสีที่หายไปจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี และเพิ่งพบสารดังกล่าวที่โรงงานถลุงเหล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดเดียวกันในสภาพที่ถูกหลอมแล้ว จนผู้เชี่ยวชาญและประชาชนทั่วไปกังวลว่า อาจก่อให้เกิดผลกระทบและเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

ทว่าการแถลงข่าวของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกลับไม่สร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนเลยแม้แต่น้อย ทั้งการแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ให้ความชัดเจนว่า สารซีเซียมถูกหลอม ณ โรงงานแห่งนั้นหรือยัง หากหลอมแล้วมันถูกส่งต่อไปยังที่ใดบ้าง และไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า หากสารซีเซียมเกิดการรั่วไหลจนปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ประชาชนควรรับมืออย่างไร และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะมีมาตรการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป

“ณ ขณะนี้เราไม่มั่นใจว่าอุปกรณ์นั้นหลอมหรือยัง สมมุติมันเข้าไปในเตาหลอมแล้วก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นเหล็กเหลว ตอนนี้ก็กลายเป็นฝุ่นเหล็กไปแล้ว

“ผมไม่ได้ยืนยันว่ามันใช่อุปกรณ์นั้นไหม แต่มันคือการเผาในระบบปิด ผู้ประกอบการเขาไม่ยอมทิ้งหรอก มันมีราคา อย่ากังวล เราวัดรอบโรงงานหลอมเหล็กแล้ว เราตรวจสอบแล้ว ไม่มีรั่วออกมาเลยครับ

“ขอความกรุณากราบวิงวอนนักข่าวช่วยออกข่าวเรื่องนี้ไป เราอยู่กับมันได้ ถ้าเรารู้หลักในการทำงาน”

เหล่านี้ล้วนเป็นการแถลงข่าวที่ชวนให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม สมกับชื่อองค์กรที่รักสันติ ซึ่งคล้ายจะมุ่งหมายให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกว่าจะมีการปนเปื้อนหรือรั่วไหลของสารอันตรายที่ส่งผลถึงตาย 

WAY ชวนย้อนอ่านความเป็นมาของโครงการปรมาณูเพื่อสันติ (Atoms for Peace) ที่ก่อกำเนิดขึ้นท่ามกลางบริบทของสงครามเย็น ไปจนถึงผลงานและวีรกรรมของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกับเหตุการณ์สำคัญเมื่อครั้งอดีต 

‘ปรมาณูเพื่อสันติ’ โครงการจากมหาอำนาจที่ถือครองนิวเคลียร์มากสุดในโลก

“วันนี้ผมรู้สึกคล้ายถูกบีบให้ต้องพูดในภาษาใหม่ๆ ภาษาที่ผมซึ่งรับราชการทหารมาเกือบทั้งชีวิตพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้ และภาษาใหม่นั้นคือภาษาแห่งยุคสงครามปรมาณู”

ปรมาณูเพื่อสันติ (Atoms for Peace) คือชื่อแถลงการณ์ที่ ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น กล่าวปราศรัยต่อหน้าสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 1953 ณ กรุงนิวยอร์ก เพื่อเสนอให้เกิดการควบคุมและเปลี่ยนพลังงานนิวเคลียร์จากอาวุธที่ใช้ประหัตประหารชีวิตคนมาเป็นพลังงานสร้างสรรค์ที่อำนวยความสะดวกแก่มนุษยชาติ

ควรทราบว่า สหรัฐอเมริกาคือชาติแรกที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในฐานะอาวุธ และเวทีแสดงผลงานอวดพลานุภาพต่อสายตาชาวโลกครั้งใหญ่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 เมื่อระเบิดปรมาณู 2 ลูก ได้แก่ เด็กน้อย (Little Boy) และเจ้าอ้วน (Fat Man) ดิ่งพสุธาลงทำลายเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิตามลำดับ คร่าชีวิตผู้คนประมาณ 106,000 คน และบาดเจ็บอีกประมาณ 11,000 คน นักวิทยาศาสตร์คาดกันว่า ระเบิดเจ้าอ้วนที่ทำลายเมืองนางาซากิมีอานุภาพเทียบเท่าระเบิด TNT ปริมาณ 23,000 ตัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ศักยภาพของระเบิดปรมาณูกลับไม่หยุดพัฒนาลง เมื่อถึงปี 1948 สหรัฐทำการทดสอบปรมาณูลูกใหญ่กว่าเดิม ด้วยการทิ้งบอมบ์ใส่หมู่เกาะรกร้างในมหาสมุทรแปซิฟิก ทว่าเพียง 1 ปีให้หลัง สหภาพโซเวียต หนึ่งในชาติมหาอำนาจหลังสงครามก็สามารถพัฒนาและผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้เอง 

ขณะนั้นมีความเชื่อแพร่หลายในสังคมเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐและชาติตะวันตกต่างๆ ที่เดินตามเส้นทางทุนนิยมว่า ประเทศคอมมิวนิสต์ไว้ใจไม่ได้ และหนึ่งในหนทางสกัดกั้นอำนาจและอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ที่กำลังขยายตัว นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ที่ดี และสร้างโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแล้ว รัฐบาลก็ควรจะมีอาวุธที่ทรงพลังอย่างระเบิดปรมาณูเพื่อคุ้มครองประเทศ

สหรัฐเดินหน้าโครงการผลิตระเบิดไฮโดรเจน ซึ่งมีอานุภาพเทียบเท่าระเบิด TNT นับล้านตัน เพื่อเป็นการตอบโต้สหภาพโซเวียต กระทั่งสำเร็จในเดือนพฤศจิกายน 1952 ในวันทดสอบสมรรถภาพ ระเบิดไฮโดรเจนได้สำแดงอานุภาพเป็นรูปดอกเห็ดขนาดยักษ์ และถล่มเกาะ Elugelab ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 0.5 กิโลเมตร จมหายไปในทะเล

แต่ก็อีกนั่นแหละ เพียง 2 ปีให้หลัง สหภาพโซเวียตก็สามารถผลิตระเบิดไฮโดรเจนได้เช่นกัน และโลกก็ก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็นนับแต่นั้น

“ท่ามกลางประวัติอันด่างพร้อยของระเบิดปรมาณู สหรัฐอเมริกาไม่ได้ปรารถนาจะแสดงพลกำลังเท่านั้น แต่ยังมีความปรารถนาและความหวังในสันติภาพด้วย”

คำปราศรัยของไอเซนฮาวร์เกิดขึ้นท่ามกลางยุคแห่งความหวาดกลัวระเบิดปรมาณูและสงครามนิวเคลียร์ เขาเสนอให้แต่ละประเทศตั้งหน่วยงานด้านพลังปรมาณู เพื่อกำกับ ควบคุม ตรวจ ยึด จัดเก็บ และปกป้องสารกัมมันตรังสีและวัตถุที่เกี่ยวข้อง

“หน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญกว่านั้นของหน่วยงานด้านพลังงานปรมาณู คือการคิดค้นวิธีที่จะทำให้วัสดุกัมมันตรังสีที่ก่อให้เกิดปฏิริกริยานิวเคลียร์ได้เหล่านี้ รองรับการใช้งานเพื่อแสวงหาสันติของมนุษยชาติ จะมีการระดมผู้เชี่ยวชาญมาหาทางประยุกต์ใช้พลังงานปรมาณูเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเกษตร การแพทย์ และกิจกรรมเพื่อสันติอื่นๆ วัตถุประสงค์พิเศษคือการจัดหาพลังงานไฟฟ้าจำนวนมากแก่พื้นที่ที่ขาดแคลนพลังงานทั่วโลก” บางส่วนจากคำปราศรัยของไอเซนฮาวร์

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในประเทศไทย

หลังมีแถลงการณ์ของไอเซนฮาวร์ไม่นาน รัฐบาลไทยก็มีมติคณะรัฐมนตรีให้แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการเกี่ยวกับพลังงานปรมาณู’ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ’) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2497 (ค.ศ. 1954) เพื่อหารือกับคณะผู้แทนสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติ 

จากนั้นกิจการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติในประเทศไทยจึงเริ่มขึ้นผ่านความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ ในค่ายโลกเสรี เช่น สหรัฐให้ทุนสนับสนุน ฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์ไทย และจัดหาเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยและห้องปฏิบัติการด้านนิวเคลียร์ โดยเฉพาะในยุครัฐบาลของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ที่สหรัฐให้ความช่วยเหลือหลายด้านในฐานะพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค

เมื่อทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 1957 ภายใต้อาณัติของสหประชาชาติ ประเทศไทยก็ร่วมลงนามในสัตยาบัน และยอมรับสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons) 

IAEA คือการรวมตัวของหน่วยด้านพลังงานปรมาณูของแต่ละประเทศเพื่อพัฒนาการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ โดยมีหลักการ 3 อย่าง ได้แก่ Safety หรือความปลอดภัยในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์ Security คือการปกป้องวัสดุนิวเคลียร์และรังสีจากเงื้อมมือของผู้ไม่หวังดี และ Safeguard คือการทำบัญชีบันทึกจำนวนและตำแหน่งแห่งที่ของวัสดุกัมมันตรังสีที่สามารถใช้ผลิตอาวุธได้ทั่วโลก

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติเปิดการประกวดราคาเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูในปี 1958 ต่อมาก็มีการลงนามในสัญญาสั่งซื้อเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยจากบริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา อีก 2 ปีต่อมา คณะกรรมการฯ ก็มีมติเห็นชอบให้ใช้ที่ดินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ด้านถนนวิภาวดีรังสิต เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารปฏิกรณ์ปรมาณู ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ปี 2504 (ค.ศ. 1961) รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 จัดตั้งสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เพื่อวิจัยค้นคว้าและนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งควบคุมความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งานและประชาชนทั่วไป 

ระยะแรก สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติอยู่ภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วย้ายสังกัดไปอยู่กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และกระทรวงอุตสาหกรรม ตามลำดับ จนมีการปฏิรูประบบราชการขนานใหญ่ในปี 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติจึงถูกย้ายไปสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ’ และเมื่อปี 2562 ก็ได้ย้ายอีกครั้งไปสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จนถึงปัจจุบัน

ในช่วงหนึ่งมีการแยกภารกิจด้านการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์และการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งการให้บริการทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีออกจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แล้วก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ขึ้นในปี พ.ศ. 2549

อย่างไรก็ดี เมื่อกาลเวลาผ่านไป พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2508 เริ่มไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงมีการออก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี และเพื่อคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม 

ทว่า พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ได้กำหนดบทบัญญัติในการกำกับดูแลเครื่องกำเนิดรังสีที่เคร่งครัด จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการหลายราย จึงมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปี 2559 เพื่อลดภาระแก่ผู้ที่ดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดรังสี ตลอดจนแก้ไขอัตราโทษและดุลพินิจในการกำหนดโทษให้มีความเหมาะสม กระทั่งออกมาเป็น พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

นั่นหมายความว่า ปัจจุบันสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติไม่เพียงแต่จะเป็นหน่วยงานหลักในการเสนอแนะนโยบาย แนวทาง และแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ แต่ยังต้องคอยกำกับดูแลกิจการเหล่านี้ให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ ประชาชน และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ย้อนมองอุบัติการณ์ทางรังสีในอดีต

ที่ผ่านมา สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเคยสร้างชื่อเสีย (ง) มาแล้ว เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรังสีที่จังหวัดสมุทรปราการในปี 2543 กรณีเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 หรือเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่ไม่ใช้แล้วถูกแยกชิ้นส่วนออกมา แล้วนำไปเก็บในสถานที่ที่ไม่มีการกำกับดูแลอย่างที่จอดรถร้างในซอยอ่อนนุช คนขายของเก่าที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์จัดการแยกชิ้นส่วนเพื่อขายของเก่า จนรังสีแพร่ออกมา ส่งผลให้ผู้ได้รับรังสีต้องเจ็บป่วยนับสิบราย มี 3 ราย เสียชีวิตภายในเวลา 2 เดือน และมีรายงานสรุปว่า มีผู้เข้ารับการตรวจร่างกายมากถึง 948 คน จากประชากร 1,882 คน

โคบอลต์-60 ถูกนำเข้าโดยบริษัท กมลสุโกศล อิเลคทริค จำกัด และบริษัท กมลสุโกศล จำกัด เมื่อปี 2538 อย่างถูกกฎหมาย แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่าง ปส. กลับไม่มีการดำเนินการตรวจสอบว่า บริษัทดังกล่าวจัดเก็บสารกัมมันตรังสีอย่างปลอดภัยและถูกต้องตามหลักปฏิบัติหรือไม่ และไม่เคยแจ้งให้บริษัททำรายงานแจ้งต่อ ปส. ทุกๆ 60 วัน ตามกฎหมาย ดังนั้น ปส. จึงไม่มีทางทราบถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยของสารเหล่านี้ และไม่มีข้อมูลว่ากากรังสีที่เลิกใช้งานแล้วถูกจัดเก็บดูแลอย่างไร ณ ที่แห่งใดบ้าง

เหตุการณ์โคบอลต์-60 ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่นับสิบนับร้อยชีวิต อุบัติเหตุทางรังสีไม่เพียงส่งผลกระทบต่อร่างกาย แต่ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน โดยเฉพาะต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งไม่เพียงจะหย่อนยานด้านการกำกับควบคุม แต่มาตรการหลังเกิดเหตุยังดูเหมือนไม่มีความพร้อมอีกด้วย ตัวอย่างเช่นเจ้าหน้าที่ของ ปส. ไม่สวมชุดป้องกันรังสีในปฏิบัติการกู้ซากกัมมันตรังสี และเจ้าหน้าที่ระดับบริหารยังออกมาพูดว่า ไม่มีงบประมาณจัดซื้อและไม่จำเป็นต้องใช้ชุด

น่าจับตามองต่อไปว่า แม้องค์กรนี้จะก่อตั้งมากว่า 60 ปีแล้ว และผ่านประสบการณ์รับมืออุบัติเหตุทางรังสีหลายหนตั้งแต่อดีต แต่กับเหตุการณ์ซีเซียม-137 ที่หายไปในปัจจุบันก็ยังสร้างความเคลือบแคลงสงสัย จนไม่อาจมั่นใจได้เลยว่า สุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมจะได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัยจริงหรือไม่

ที่มา

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า