ออเดรย์ ถัง วีรสตรีข้ามเพศ ในสังคมที่ยังก้าวไม่ข้ามเรื่องเพศ

โบราณว่าสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ทุกวิกฤติย่อมเปิดโอกาสให้เหล่าผู้มีความสามารถจากหลากทิศทางได้ออกมาแสดงฝีมือ เช่นเดียวกับสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ระบาดภายในไต้หวันครั้งนี้ ที่นอกจากรัฐบาลของ ไช่ อิงเหวิน จะออกมารับมือกับภัยพิบัติการแพร่ระบาดของไวรัสได้เป็นอย่างดีและทันท่วงทีเป็นรายแรกๆ ของโลก ด้วยมาตรการทางสาธารณสุขที่รัดกุม ทั้งความพยายามในการเพิ่มความเข้มงวดในสนามบิน และด่านตรวจคนเข้าเมือง การกักตัวนักท่องเที่ยวจากประเทศเสี่ยง มีการจัดวางเจลทำความสะอาดและเครื่องมือวัดไข้ไว้ในสถานที่สาธารณะหลายจุด ไปจนถึงความพยายามในการเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยรายวัน เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคของประชาชน

ออเดรย์ ถัง วีรสตรีข้ามเพศ

ที่โดดเด่นที่สุดก็คือรัฐมนตรี ออเดรย์ ถัง (Audrey Tang) อัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์และอดีตโปรแกรมเมอร์คนดังจาก Silicon Valley ได้ผันตัวมาช่วยงานการเมืองภายในรัฐบาลพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของ ไช่ อิงเหวิน โดย ออเดรย์ ถัง ได้ใช้ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ของเธอในการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสภายในไต้หวัน ไม่ว่าฐานข้อมูลการจัดจำหน่ายหน้ากากอนามัยในพื้นที่ต่างๆ รอบเกาะไต้หวัน หรือแม้แต่แผนที่ของสถานที่ที่ผู้โดยสารเรือ Diamond Princess เคยเดินทางไปเยือน เพื่อเพิ่มความสะดวก และกระตุ้นการระมัดระวังให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากความสามารถระดับ IQ 180 ของเธอแล้ว ชื่อเสียงของ ออเดรย์ ถัง ที่หลายคนให้ความสนใจไม่น้อยเลยก็คือ ‘เพศสภาพ’ ของเธอ ในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (transgender) คนแรกที่ได้มีโอกาสขึ้นมามีบทบาทนำในการเมืองระดับประเทศช่วงวิกฤตินั้นเอง

ยิ่งเมื่อบวกกับเมื่อช่วงพฤษภาคมในปี 2019 ที่ผ่านมา ได้มีการผ่านกฎหมายสมรสของเพศเดียวกัน ก็ยิ่งดูเหมือนจะช่วยตอกย้ำถึงความเปิดกว้าง และความก้าวหน้าของสังคมประชาธิปไตยภายในไต้หวัน ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงข้ามเพศหรือกลุ่มเพศทางเลือก (LGBTIQ) ภายในสังคม ได้สามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้ไม่อย่างเคอะเขิน และได้รับการยอมรับจากสังคมโดยรอบเป็นวงกว้าง จนได้รับการโจษขานว่าเป็นผู้นำระดับแถวหน้าด้านความหลากหลายทางเพศภายในทวีปเอเชีย

ครอบครัวที่สมบูรณ์ต้องมีพ่อและแม่เท่านั้น

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง สังคมไต้หวันในปัจจุบันก็ยังไม่ได้เปิดกว้างเหมือนอย่างที่หลายคนคิด หรือได้เห็นผ่านสื่อเสมอไป หลักฐานข้อสังเกตประการแรกเลย หากยังจำกันได้เมื่อครั้งที่ไต้หวันมีการเปิดให้ประชาชนได้ร่วมลงประชามติต่อประเด็นการสมรสของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ในปลายปี 2018 (ปีเดียวกับที่ไต้หวันมีศึกการเลือกตั้งท้องถิ่น) เกือบ 7 ล้านเสียง จากประชากรทั้งหมดที่ออกมาใช้สิทธิกว่า 10 ล้านเสียง ได้เลือกที่จะลงคะแนนคัดค้านต่อประเด็นการแก้กฎหมายสมรสสำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (Same-Sex Marriage Bill) และประเด็นด้านการจัดหลักสูตรการศึกษาภายในโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (Gender Equality Education Reform)

นอกจากนี้ ในปี 2018 ยังมีการปรากฏตัวและความพยายามอย่างหนักของกลุ่มนักเคลื่อนไหวสายอนุรักษนิยมเพื่อต่อต้านคัดค้านการแก้กฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันอยู่หลายครั้งตลอดทั้งปีอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการล่ารายชื่อเพื่อเพิ่มประเด็นคำถามที่แสดงออกถึงความเกลียดชังภายในประชามติที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (CEC) ตั้งใจจะจัดขึ้นในช่วงปลายปีพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่น (ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนกันเกือบ 700,000 ราย) ยังมีการปิดถนน การเดินขบวน การก่อการประท้วงหน้าสถานที่สำคัญๆ ภายในตัวเมืองไทเป ส่วนใหญ่มักมีการตั้งคำโปรยของแคมเปญการรณรงค์ไว้ที่ประเด็น ‘ความสมบูรณ์ของครอบครัว’ (Chinese family value) ครอบครัวที่สมบูรณ์ต้องมีพ่อและแม่เท่านั้น

ทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความตัดสินว่าประมวลกฎหมายเอกชน (Taiwan’s Civil Code) ไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสมรสของคู่สมรสเพศเดียวกัน ว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญของไต้หวัน ตามคำร้องของ ฉี เฉีย เหวย (Chi Chia-wei) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความเท่าเทียมทางเพศคนหนึ่ง ตามข้อพิจารณาหมายเลขที่ 748 ของศาลนั้น มีคำสั่งไว้ว่าทางฝ่ายนิติบัญญัติต้องรีบดำเนินการแก้ไข หรือร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อรองรับการสมรสของเพศเดียวกันภายใน 2 ปี ก็คือภายในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ปี 2019 หากไม่เป็นเช่นนั้น (ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด) จะถือว่าการสมรสของคู่สมรสเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายไปโดยปริยายตามคำสั่งของศาล

Chi Chia-wei ในขบวน Taiwan Pride 2016

ทำให้ปี 2018 เป็นปีของการรณรงค์ และเคลื่อนไหวต่อต้านสำหรับกลุ่มอนุรักษนิยมทางการเมืองซึ่งมองการสมรสของเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ผิดปกติ แม้ว่ากลุ่มอนุรักษนิยมจะไม่ได้ออกมาตั้งข้อเสนอคัดค้านการสมรสของคู่สมรสเพศเดียวกันอย่างตรงไปตรงมาก็ตาม แต่ด้วยท่าทีของการต่อต้าน และความพยายามในการขัดขวางไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายเอกชนดั้งเดิมให้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสมรสของคู่สมรสเพศเดียวกัน ทางฝ่ายอนุรักษนิยมเสนอว่า หากต้องการให้คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย ควรเขียนกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาแทนที่จะมาใช้กฎหมายฉบับเดิม ซึ่งสร้างไว้ใช้เฉพาะแค่ชายกับหญิงเท่านั้น

วงการบันเทิงไต้หวันก็ยังไม่กล้าเปิดตัว

ปฏิกิริยาของวงการบันเทิงไต้หวันต่อกฎหมายแต่งงานในเพศเดียวกัน นอกเหนือไปจากความเคลื่อนไหวในทางการเมืองระดับชาติแล้ว ในระดับที่เล็กลงมาอย่างวงการบันเทิงก็เช่นกัน ดารา นักร้อง นักแสดง หรือผู้ที่มีชื่อเสียงหลายคนภายในอุตสาหกรรมการแสดงของไต้หวันนั้นมีเพียงน้อยคนมากที่จะกล้าประกาศตัว หรือเปิดเผยเพศสภาพที่แท้จริงของตนเอง มีนักแสดงหลายคนภายในไต้หวันที่ประชาชนและแฟนคลับปักใจเชื่อว่าเป็นหนึ่งในกลุ่ม LGBTIQ จากความเป็นไปได้ในลักษณะท่าทางและพฤติกรรม ทว่าเขาเหล่านั้นก็ไม่เคยประกาศตัวในที่สาธารณะถึงเพศสภาพที่แท้จริงของตนเองเลย

สิ่งที่น่าแปลกใจคือ มีผู้คนที่ประกอบอาชีพภายในอุตสาหกรรมการบันเทิงของไต้หวันเป็นจำนวนมาก ที่ออกตัวสนับสนุนแนวคิดการสมรสและสิทธิเสรีภาพของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ศิลปินบางรายอย่างเช่น โจลิน ช่าย (Jolin Tsai) ถึงขั้นแต่งเพลงและมิวสิควิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสิทธิของกลุ่มเหล่านั้น (มีภาพยนตร์หลายเรื่องมากที่นำเสนอบทบาทเกี่ยวกับ LGBTIQ เช่น Formula 17, The Wedding Banquet, และ Spider Lilies) แต่กลับมีน้อยคนมากที่จะประกาศตัวชัดเจนถึงเพศสภาพของตนเอง กรณีที่เขาผู้นั้นมีเพศสภาพเป็นหนึ่งในกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

จะมีก็แต่ศิลปิน ดารา หรือนักแสดงที่โด่งดังจากการเป็นนักทำช่อง Youtube ที่เรียกกันว่า Youtuber, TikToker, Vlogger หรือ Blogger ที่ไม่ได้พึ่งพิงตลาดวงการบันเทิงกระแสหลักอย่างค่ายละคร ค่ายเพลง และค่ายภาพยนตร์ขนาดใหญ่ระดับประเทศเพียงเท่านั้น เช่น Zhong Ming-xuan และ Huang Da-chien ที่กล้าจะประกาศตัวถึงเพศสภาพของตนเองและแสดงออกผ่านลักษณะท่าทางของความเป็นเพศสภาพตนเองอย่างเปิดเผย

จึงอาจอนุมานได้แบบหยาบๆ เบื้องต้นว่า วงการบันเทิงของไต้หวันนั้นแม้จะมีการรับรู้ และตระหนักถึงประเด็นความหลากหลายทางเพศภายในสังคมเป็นอย่างดี แต่ด้วยค่านิยม และกรอบขนบภายในสังคมคนหมู่มากที่ยังคงหล่อหลอมนั้น ทำให้หลายคนยังเกรงกลัว และกังวลที่จะยอมรับในความเป็นตัวตนของตนเอง หรือความหลากหลายทางเพศสภาพของเพื่อนร่วมวงการอยู่ ไม่ว่าจะด้วยความเหนียมอาย หรือความหวาดระแวงแคลงใจถึงการยอมรับจากสังคม ที่อาจจะยังไม่ได้เปิดกว้างเพียงพอที่จะยอมรับนักแสดง ศิลปินในวงการบันเทิงซึ่งมีสถานะเป็นเหมือนตัวแบบที่สังคมอาจเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

เมื่อการศึกษาไต้หวันห้ามครูเป็นเกย์

เมื่อกล่าวถึงเรื่อง ‘ตัวแบบ’ หรือ ‘เยี่ยงอย่างของสังคม’ แล้ว สิ่งที่จะละเลยไม่กล่าวถึงไปไม่ได้เลยในทุกๆ ครั้งที่มีการถกเถียงในประเด็นความหลากหลายทางเพศของไต้หวันก็คือ อุตสาหกรรมการศึกษา

อย่างที่ได้เกริ่นไว้ในช่วงก่อนหน้าว่าฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นรู้สึกคับข้องใจเป็นอย่างมากกับแผนการปฏิรูปการศึกษา และแผนการเรียนการสอนในระดับโรงเรียนขั้นพื้นฐานของรัฐบาลพรรค DPP ที่ประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยน (Chen Shui-bian) ได้ริเริ่มเอาไว้เมื่อช่วงกลางของทศวรรษที่ 2000 (เป็นแผนการสนับสนุนให้มีวิชาเพศศึกษาของทุกเพศรวมถึงกลุ่มความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ) ซึ่งทางฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นเชื่อว่าจะส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของเยาวชน และนักเรียนนักศึกษาจนเกิดการสับสนได้ ทำให้ทางฝ่ายอนุรักษนิยมในไต้หวันนั้นมีความพยายามที่จะเสนอให้แก้และปรับเปลี่ยนแนวทางในนโยบายการศึกษาประเภทนี้มาโดยตลอด

แน่นอนเมื่อสังคมไต้หวันยังมีความเป็นอนุรักษนิยมค่อนข้างสูง อาชีพที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในอุตสาหกรรมการศึกษาก็คือ อาชีพครู และอาจารย์ คนเป็นครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่จะมีพันธะและข้อผูกพันกับสังคมอยู่อย่างหนึ่ง คือ ห้ามเป็นเกย์ หรือแสดงออกว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ใครก็ตามที่ไม่รักษาพันธะหรือสัญญาใจเหล่านี้กับสังคมก็อาจมีปัญหาที่ส่งผลกระทบในด้านความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือออกมาได้ (สำหรับสังคมไต้หวันนั้น อาชีพอื่นๆ อาจพอมีการอนุโลมให้ได้บ้าง เช่น อาชีพนักเขียนบทละครโทรทัศน์ แต่สำหรับอาชีพครูหรือแม่พิมพ์ของชาตินั้นไม่ว่าอย่างไรสังคมก็ยากที่จะยอมรับ)

จากการที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนที่อยู่ในวัย 45 ไปจนถึง 75 ซึ่งถือว่าเป็น Generation X และ Baby Boomer กันอยู่ (ไต้หวันมีประชากรประมาณ 24 ล้านคน และจากการสำรวจล่าสุดในปี 2018 นั้น 14 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนในไต้หวัน หรือกว่า 3 ล้านคนเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ตัวเลขจะปรับขึ้นเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ คือเกือบ 5 ล้านคน) ทำให้แวดวงการศึกษานั้นยังเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมใหญ่ที่ไม่เปิดกว้างและไม่เป็นมิตรต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

เพราะยังมีความจำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์ต่อหน้าผู้ปกครองจำนวนมากของนักเรียนนักศึกษา ที่ยังเชื่อว่าหากมีครูหรือแม่พิมพ์ของชาติทำตัวเป็นแบบอย่างในเรื่องดังกล่าว อาจส่งผลกระทบด้านจิตใจ และพฤติกรรมเลียนแบบให้กับบุตรหลานของพวกตนได้ (ภาพจำ หรือ stereotype ของอาชีพสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศภายในไต้หวัน ก็คือ งานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบริการ เด็กเสิร์ฟ งานช่างแต่งหน้าทำผม ครูสอนโยคะ เทรนเนอร์ในยิม หรือผู้ที่ทำงานเบื้องหลังในวงการบันเทิงเป็นหลัก)

ตั๋วซุง ลื้อจะมีคนรักเป็นผู้ชายไม่ได้

ประเด็นท้ายสุดนั้นอยู่ในสถาบันที่มีขนาดเล็กที่สุด คือ สถาบันครอบครัว ครอบครัวในไต้หวันนั้นก็เหมือนครอบครัวคนจีนแผ่นดินใหญ่ทั่วๆ ไป มีระบบกงสี มีวัตรปฏิบัติและแนวทางของครอบครัว ยิ่งโดยเฉพาะบ้านใครมีธุรกิจ มีกิจการยิ่งจะแสดงออกถึงวัฒนธรรมและคุณค่าในแบบจีนเดิมค่อนข้างชัดเจน คือ เลือกที่รักมักที่ชังกับลูกชายและลูกสาวตามลำดับ ลูกชายมีไว้สืบทอดทรัพย์สมบัติและสืบสานกิจการกงสีของครอบครัวให้ก้าวหน้าต่อไป ลูกสาวนั้นต่อให้เลี้ยงดูอย่างไร โตมาก็ต้องออกเหย้าเรือนแต่งงานออกไปมีพ่อแม่ใหม่ เป็นลูกสะใภ้ใช้ชื่อแซ่คนอื่น ตามไปอาศัยอยู่บ้านสามี สุดท้ายคนที่จะได้อยู่บ้านเดิม และสามารถที่จะดูแลพ่อแม่คนแก่เฒ่าที่บ้านได้ก็มีแต่ลูกชายที่มีภาระมีภารกิจเหล่านี้อยู่ โดยภารกิจที่สำคัญที่สุด 2 ประการหลัก คือ ผลิตตั๋วซุง (ทายาทผู้สืบทอดตระกูลในรุ่นถัดไป) และจุดธูปบูชาบรรพบุรุษ (หน้าที่นี้จริงๆ ลูกสาวก็สามารถทำได้ แต่ส่วนใหญ่อพยพย้ายถิ่นฐานตามสามีไปก็เลยต้องเป็นหน้าที่ลูกชาย)

ทีนี้หากบ้านไหนหรือครอบครัวใดมีลูกชายหรือตั๋วซุงแล้วเป็นเกย์ หรือปรากฏขึ้นมาเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ บ้านหรือครอบครัวนั้นมักใจแทบแตกสลาย ด้วยสาเหตุแรกคือเรื่อง การรักษาระบบครอบครัว ถ้าลูกชายคนเดียวของตนเองมีลักษณะดังว่าก็จะเท่ากับว่าตระกูล ชื่อแซ่ของตนเองจะไม่มีใครสานต่อ เพราะลูกชายจะไม่แต่งงาน โอกาสของการผลิตตั๋วซุงออกมาสืบทอดวงศ์ตระกูลในสายนั้นๆ ก็จะขาดสะบั้นลง

อีกสาเหตุคือเรื่องวัฒนธรรมชายต้องคู่กับหญิงในสังคม จากการพูดคุยสนทนากับหลายครอบครัวที่ประกอบไปด้วยพ่อแม่วัย Generation X และลูกวัย Generation Y ในไต้หวันนั้น คนเป็นพ่อเป็นแม่หลายคนรับได้ หากสังคมจะเดินหน้าไปในทิศทางที่เปิดกว้างต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่เมื่อถามว่าหากเป็นกรณีของลูกหลานตัวเอง มีน้อยคนมากจนถึงไม่มีเลยที่บอกได้เต็มปากว่ายอมรับ

จากคำบอกเล่าของหลายครอบครัว มักพูดและมีความเชื่อในทิศทางใกล้เคียงกันว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับว่าพวกเขาล้มเหลวในการเลี้ยงดูลูกให้เจริญเติบโต โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีความอนุรักษนิยมและมีความเป็นจีนมากๆ จะเสียใจประหนึ่งว่าตนเองนั้นได้สูญเสียลูกไปให้กับสิ่งแปลกปลอม บางคนก็พูดแบบหวาดกลัวว่า “เหมือนโลกจะถล่ม ลุงทำใจไม่ได้หรอกถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ลุงอายเขา”

การเมืองก้าวหน้า วัฒนธรรมอนุรักษนิยม

จากที่ได้อภิปรายมาเบื้องต้น อาจกล่าวได้ว่าแม้ไต้หวันจะมีการพัฒนาการเมืองให้ขึ้นมาเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี มีระบบสาธารณรัฐ และการบริหารราชการที่ค่อนข้างโปร่งใสตรวจสอบ-คานอำนาจกันได้จริง แต่ในด้านสังคมและวัฒนธรรมไต้หวันนั้นก็ยังคงมีความเป็นอนุรักษนิยมค่อนข้างสูง

คำถามที่น่าสนใจนั้นจึงอยู่ที่ว่าการที่ไต้หวันนั้นสามารถผ่านกฎหมายการสมรสของคู่สมรสเพศเดียวกัน การเปิดให้เดินขบวนการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาภายในโรงเรียน ไปจนถึงการดึงตัว ออเดรย์ ถัง ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีที่คอยเป็นแนวหน้าในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันนั้นเป็นเพียงเพราะไต้หวันมีโครงสร้างทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่แข็งแรงเพียงพอจะเปิดให้ผู้คนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีได้ (บวกกับพลังทางการเมืองของพรรค DPP ซึ่งเป็นพรรคสายซ้ายกลางที่บังเอิญมีอำนาจทางการเมืองในช่วงนี้ และในตอนต้นของทศวรรษที่ 2000) อยู่แล้วหรือไม่ เลยทำให้ไต้หวันดูมีภาพที่เหมือนเป็นเมืองหลวงของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในแถบเอเชียไป

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อพิจารณากันในระดับวัฒนธรรมและสังคมนั้น ไต้หวันยังคงอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความอนุรักษนิยมและรากฐานทางวัฒนธรรมแบบเดิม ที่ยังยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศไม่ได้

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า