คนนอกประเทศเมียนมาร์อาจประหลาดใจเล็กน้อย เมื่อพบว่าเราจะติดต่อเพื่อนชาวเมียนมาร์ทางเฟซบุ๊คได้ง่ายกว่าทางอีเมล์หรือช่องทางโซเชียลอื่น เพราะชาวเมียนมาร์ส่วนใหญ่ใช้เฟซบุ๊คได้ทางสมาร์ทโฟน นั่นก็มีส่วนที่ทำให้ อองซานซูจี ต้องใช้เฟซบุ๊คเป็นครั้งแรก ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19
การระบาดระลอกที่ 1 และ 2 ในเมียนมาร์
21 สิงหาคม 2020 อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊คเกี่ยวกับการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากที่เมืองซิตดเหว่ (စစ်တွေ) รัฐยะไข่ ในห้วงยามนี้ เธอยังกล่าวอ้างด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่ 3-4 คน ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบการควบคุมโรค เป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดใหม่ที่มาจากพวกเขา และจำเป็นต้องล็อคดาวน์เมืองซิตดเหว่โดยเร่งด่วนเพื่อควบคุมโรค
ในวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมียนมาร์เปิดเผยว่ามีประชาชน 19 คน ติดเชื้อไวรัสในรัฐยะไข่ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2020 ซึ่งถือว่าเป็นการติดเชื้อในท้องถิ่นครั้งแรกในรอบหลายเดือน ในการระบาดระลอกใหม่นี้ พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในเมียนมาร์พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลอย่างเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขและการกีฬาของเมียนมาร์ระบุว่า ไม่มีการติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม ถึง 16 สิงหาคม 2020 แต่หลังจากนั้น กลับพบการติดเชื้อของผู้ป่วยรายใหม่ ส่วนใหญ่มาจากเมืองซิตดเหว่ เมืองท่าและเมืองหลวงของรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ ถัดไปหน่อยก็เป็นบังคลาเทศและอินเดีย ซึ่งต่างก็เป็นพื้นที่ที่มีการอัตราการติดเชื้อสูงในเอเชีย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2020 อินเดียมีตัวเลขติดเชื้อสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และบังคลาเทศอยู่ในอันดับที่ 4 ของเอเชีย)
มีรายงานยอดผู้ป่วยใหม่ในรัฐยะไข่ 180 รายในเวลาเพียง 11 วัน ที่น่าตกใจคือมีทารกวัย 2 เดือนติดเชื้อด้วย ซึ่งได้รับการบันทึกว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมาในเมียนมาร์ ยิ่งไปกว่านั้นคือ ในบรรดาผู้ติดเชื้อเหล่านี้ ราว 79 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ เชื่อกันว่าศูนย์กลางของเชื้อมาจากตลาดสดท้องถิ่นในเมืองซิตดเหว่ (คุ้นๆ ไหมว่าคล้ายๆ กับเมื่อตอนที่เกิดการระบาดเมื่อปลายปี 2019 ที่ว่ากันว่าเริ่มมาจากตลาดสดในเมืองอู่ฮั่น)
รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยทางการแพทย์ของเมียนมาร์ กล่าวว่า เชื้อไวรัสที่พบครั้งนี้เป็นแบบเดียวกับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในมาเลเซีย ซึ่งพบการระบาดในยุโรป อเมริกาเหนือ และบางพื้นที่ของเอเชีย เป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อมากกว่าเดิม
ดูเหมือนว่าโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ดูอย่างกรณีของเกาหลีใต้ที่เคยได้รับคำชมมากมายว่าควบคุมการระบาดได้ดี ก็ยอมรับว่าต้องเผชิญกับการระบาดระลอกที่สองเมื่อช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ใกล้บ้านเรามาหน่อยในกลุ่มอาเซียน อย่างเคสของเวียดนาม ก็เพิ่งเจอ second wave ในเมืองดานัง หลังจากไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตในช่วง 5 เดือนแรก แต่พอมาเจอการระบาดระลอกที่ 2 ทำให้มีผู้ติดเชื้อไปแล้วถึง 1,034 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตไปแล้ว 29 ราย
เขยิบใกล้ไทยเข้ามาอีกนิด ที่กำลังเป็นข่าวใหญ่และวิกฤติในตอนนี้ คือ เมียนมาร์ ประเทศเพื่อนบ้านด้านตะวันตกของไทย มีพรมแดนชิดติดกันเป็นแนวยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร เป็นศูนย์กลางการระบาดใหม่ของโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียนไปแล้ว
ช่วงเย็นของวันที่ 26 สิงหาคม 2020 ทางการเมียนมาร์ตัดสินใจประกาศล็อคดาวน์ครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่รัฐยะไข่ ส่งผลให้ประชาชนในรัฐยะไข่ทั้งหมดที่มีมากกว่า 3 ล้านคนต้องอยู่ภายใต้มาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวด โดยอนุญาตให้สมาชิกเพียง 1 คนเท่านั้น ในแต่ละครัวเรือนออกมานอกบ้านเพื่อซื้อหาข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นได้ ยกเว้นข้าราชการและแรงงานในโรงงาน
27 สิงหาคม 2020 สื่อเมียนมาร์รายงานว่าทางการเมียนมาร์สั่งปิดโรงเรียน และสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยไม่มีกำหนด หลังจากพบผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนนับ 100 รายในพื้นที่รัฐยะไข่
29 สิงหาคม 2020 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 77 ราย นับเป็นยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงที่สุดของประเทศ ซึ่งมาจากระลอกสองล้วนๆ กระทรวงสาธารณสุขเมียนมาร์ไม่ได้ระบุสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ทั้ง 77 ราย แต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในเมืองซิตดเหว่ ที่ทางการประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์และเคอร์ฟิว
ถ้าติดตามข่าวสถานการณ์โควิด-19 เวฟแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนจะพบว่าเมียนมาร์เป็นประเทศหนึ่งที่มีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนตัวเลขที่ไม่สูงมาก เมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลถึงสิ้นเดือนเมษายน 2020 มีรายงานผู้ติดเชื้อรวม 151 ราย รักษาหายแล้ว 28 ราย และเสียชีวิต 6 ราย (แม้ว่าหลายฝ่ายสงสัยว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจมากกว่านี้หรือไม่) จนสามารถประกาศใช้มาตรการผ่อนปลนคลายล็อคให้รถโดยสารในเมืองย่างกุ้งกลับมาวิ่งได้ตามปกติ
โควิด-19 เวฟสองในเมียนมาร์ดูเหมือนว่าจะรุนแรงกว่าเวฟแรกถ้าเทียบกราฟสถิติผู้ติดเชื้อ เวฟแรกอยู่ที่ไม่ถึง 200 ราย ในขณะที่เวฟสองนี้แตะ 800 รายแล้ว โดยที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น การอ่านตัวเลขสถิติบอกเราว่าเวฟแรกและเวฟสองในเมียนมาร์มีความรุนแรงแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันในเวฟแรกและเวฟสองนี้คือ การสื่อสารเรื่องโควิด-19 ของรัฐบาลที่ส่งตรงไปถึงประชาชน เพื่อควบคุมยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลยุทธ์ของอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งลงมากำกับดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
หลังจากที่มีการยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเคสแรก เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2020 ทำให้เธอตัดสินใจกระโดดลงมาใช้เฟซบุ๊ค เพื่อขยายขอบเขตการเข้าถึงประชาชน เพราะมีข้อมูลว่าชาวเมียนมาร์นิยมแพลตฟอร์มเฟซบุ๊คมากที่สุด เป็นจำนวนตัวเลขราว 26 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 54 ล้านคน
Aung San Suu Kyi’s Facebook: First Wave
ผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกในเมียนมาร์ได้รับการยืนยัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2020 เกิดขึ้นหลังจากที่อองซานซูจีได้ลงพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อหาเสียงสนับสนุนก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020
1 เมษายน 2020 อองซานซูจีเปิดบัญชีเฟซบุ๊คใช้ชื่อว่า Aung San Suu Kyi
“ฉันไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้เฟซบุ๊คตั้งแต่ทีแรก” ซูจี เขียนลงในโพสต์แรกบนบัญชีเฟซบุ๊คของเธอ ที่มีเครื่องหมายถูกสีฟ้าหลัง Facebook Account ซึ่งยืนยันว่าเป็นบัญชีจริงที่ผ่านการรับรองแล้ว
“ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน บัญชีนี้สร้างขึ้น เพื่อใช้สื่อสารกับประชาชนให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกับความท้าทายของโควิด-19” ซูจีระบุในโพสต์
ส่วนเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อบัญชีเหมือนกันว่า Aung San Suu Kyi ซึ่งมีอยู่ก่อนหน้านี้และมีผู้ติดตามมากกว่า 2 ล้านคนนั้น เป็นของเครือข่ายสาธารณะ ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเธอ และแคมเปญต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่หยุดเคลื่อนไหวไปแล้ว ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2018
กระทรวงสาธารณสุขของเมียนมาร์ออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 เวฟแรก ภายในประเทศ และพื้นฐานระบบสาธารณสุขของเมียนมาร์ที่ยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอในการรับมือหากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ ต่อมาอองซานซูจีออกมาแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ 2 ครั้ง ในถ้อยแถลงนั้นมีสาระสำคัญที่คล้ายคลึงกันคือ เธอขอให้ชาวเมียนมาร์อย่าตื่นตระหนก และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกับแนวทางของรัฐบาล อีกทั้งเธอยังได้สาธิตวิธีการล้างมือที่ถูกต้องผ่านคลิปรณรงค์การล้างมือของทางการด้วย
ในขณะที่สื่อต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่า การลงมาใช้เฟซบุ๊คครั้งนี้เกิดขึ้นทันทีภายหลังฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ออกแถลงเตือนว่ามีชาวเมียนมาร์ราว 3 แสน 5 หมื่นคนทั่วประเทศที่อยู่ในความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้านสาธารณสุขในช่วงโควิด-19 เวฟแรก แพร่ระบาด
ซูจีอธิบายว่า เธอต้องใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมในเมียนมาร์ เพื่อเป็นพื้นที่ในการเผยแพร่แนวทางของรัฐบาล และทำการไลฟ์พูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้องถึงปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ในเมียนมาร์
เธอสวมหน้ากากแฮนด์เมดเพื่อเป็นแม่แบบแก่ประชาชน แม้ว่าเธอจะไม่ได้ออกไปข้างนอกตั้งแต่เดือนเมษายนในช่วงการระบาดของโควิด-19 เวฟแรก
“บางคนไม่ชอบใส่หน้ากากเพราะหายใจลำบากหรือเพราะอากาศร้อน เราต้องทำตัวให้เหมือนกับนักวิ่งมาราธอนและฝึกฝนให้มีนิสัยนี้” ซูจีโพสต์ในเฟซบุ๊ค
นอกจากนี้ยังโพสต์ในลักษณะที่เป็นการแสดงความห่วงใย การส่งกำลังใจ การขอบคุณ ไปจนถึงเรื่องเล่าจิปาถะทั่วไป ที่บางวันก็พักเรื่องโควิดไปคุยเรื่องอื่นบ้าง เหมือนๆ กับที่เราโพสต์เฟซกันทั่วไปนี่แหละ
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2020 ซูจีโพสต์ข้อความเกี่ยวกับโควิด-19 เกือบทุกวัน มีผู้ติดตามเฟซบุ๊คของเธอ กว่า 2.6 ล้านคน (ซึ่งมากกว่าของนายกรัฐมนตรีไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มียอดผู้ติดตาม 9 แสน 5 หมื่นคน) ทุกโพสต์ที่เธอโพสต์ได้รับคำคอมเมนต์มากมาย เกือบทั้งหมดเป็นข้อความที่แสดงความเคารพและความรัก อย่างเช่น
“เราทุกคนจะเติมเต็มเจตนารมณ์ของคุณแม่”
“เราจะทำอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ขอให้คุณแม่มีสุขภาพแข็งแรงและรักคุณแม่”
ดูเหมือนว่าจะไม่มีคอมเมนต์แบบตรงไปตรงมาทั้งในเฟซบุ๊คและสื่อสาธารณะต่างๆ มากนัก ที่อาจชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของเธอและรัฐบาลในการรับมือกับโควิด-19 ในด้านหนึ่ง สะท้อนว่าประชาธิปไตยในเมียนมาร์ทุกวันนี้ขึ้นอยู่กับความเคารพและความรักต่ออองซานซูจีเป็นส่วนใหญ่
Aung San Suu Kyi’s Facebook: Second Wave
หลังจากที่ประกาศว่าเมียนมาร์เข้าสู่การระบาดระลอกใหม่
28 สิงหาคม 2020 เฟซบุ๊คของอองซานซูจีเผยแพร่การไลฟ์พูดคุยประเด็นวิกฤติโควิด-19 ในรัฐยะไข่กับทีมเจ้าหน้าที่จากรัฐยะไข่ ซูจียืนยันว่าจะไม่ให้มีเหตุการณ์การขาดแคลนอาหารในท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 เวฟสอง ในรัฐยะไข่ ซึ่งเธอได้อนุมัติให้จัดตั้งกองทุนฉุกเฉินมูลค่า 1 พันกว่าล้านจั๊ตหรือประมาณกว่า 23 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชน 3 ล้านคนในรัฐยะไข่ที่ตกอยู่ภายใต้มาตรการล็อคดาวน์อย่างไม่มีกำหนด พร้อมกับจัดเตรียมสถานที่กักตัวรอบเมืองซิตดเหว่จำนวน 13 แห่งและสถานพยาบาลอีก 6 แห่ง
นอกจากประเด็นเรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชนแล้ว ประเด็นหนึ่งที่ซูจีเน้นย้ำมากเป็นพิเศษคือ ประเด็นเรื่องโซเชียลมีเดีย เธอกล่าวว่าการโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊คจะต้องไม่พยายามสร้าง fake news ยิ่งถ้าเป็นการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับโควิด-19 จะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีประโยชน์ ทุกคนที่ใช้เฟซบุ๊คควรคำนึงถึงเรื่องการที่จะยิ่งทำให้การควบคุมโรคมีความยากลำบาก ซึ่งเราสามารถใช้เฟซบุ๊คเพื่อสกัดกั้นไวรัส เหมือนอย่างที่เธอกระโดดลงมาใช้เฟซบุ๊ค เพื่อต่อสู้กับไวรัส
คำถามที่ตามมาคือ การใช้เฟซบุ๊ค หรือโซเชียลมีเดียอื่นเพื่อหยุดยั้งไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางการระบาดใหม่ จะทำได้มากน้อยและครอบคลุมขนาดไหน เนื่องจากว่าเดิมทีนั้น ยะไข่เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรง ตามที่มีรายงานข่าวว่ามีการปราบปรามชาวโรฮิงญา จนต้องอพยพหนีภัยความรุนแรงไปยังประเทศเพื่อนบ้านนับหลายแสนคน ในเมืองซิตดเหว่ยังเป็นที่ตั้งของค่ายพักชาวโรฮิงญาหลายแห่งซึ่งถูกจำกัดขอบเขตนับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นในปี 2012 อีกทั้งระบบสาธารณสุขในรัฐยะไข่ยังอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน มิหนำซ้ำยังเป็นสนามรบของกองทัพเมียนมาร์กับกองทัพอาระกัน (AA) หรือที่รัฐบาลเมียนมาร์ตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
โดยเฉพาะในประเด็นหลังนี้นำมาสู่การที่รัฐบาลเมียนมาร์สั่งปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในหลายเมืองทั่วรัฐยะไข่และรัฐชิน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2019 โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการปิดกั้นการก่อการร้ายของกลุ่มกองทัพอาระกัน จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2020 เพิ่งจะเริ่มมีการปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตในรัฐยะไข่และรัฐชินอีกครั้ง บางพื้นที่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ แต่บางพื้นที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ช้ากว่าเครือข่าย 2G หลายฝ่ายกังวลว่าในหลายพื้นที่ของยะไข่ที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตถูกจำกัดอยู่แค่ระบบ 2G นั้น อาจทำให้เกิดข่าวลือและข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น กระนั้น ในชั่วโมงการไลฟ์ของอองซานซูจีก็มิได้พูดถึงประเด็นการฟื้นฟูสัญญาณอินเทอร์เน็ตในรัฐยะไข่ ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 เวฟสอง
หลังจากที่อองซานซูจีเปิดเฟซบุ๊คชื่อ Aung San Suu Kyi ตามที่เธอบอกว่าสำหรับใช้สื่อสารกับประชาชน ในการสกัดกั้นโควิด-19 ได้รับกระแสตอบรับอย่างท่วมท้น ประชาชนแห่กด Like มหาศาล ทำให้ต่อมา เธอได้ตั้งบัญชีเฟซบุ๊คขึ้นมาอีกบัญชีหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า Chair NLD เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2020 เพื่อใช้โฆษณาหาเสียงของพรรคเอ็นแอลดี (National League for Democracy) โดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับโควิด-19 เนื่องในวาระการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 8 พฤศจิกายน 2020
พื้นที่ออนไลน์เป็นเวทีสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กันในวงกว้าง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ประลองกำลังของชนชั้นปกครอง เพื่อโกยคะแนนทางการเมือง
นั่นก็น่าสังเกตว่า เฟซบุ๊ค โซเชียลมีเดียยอดนิยมที่สุดในเมียนมาร์ได้กลายเป็นสนามประลองกำลังทางการเมืองสนามใหญ่สุดในเมียนมาร์ อย่างเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2020 เฟซบุ๊คคัดค้านคำร้องจากแกมเบีย ที่ยื่นฟ้องต่อศาลโลกเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา เรื่องให้เผยแพร่โพสต์และการสื่อสารของกองทัพและตำรวจเมียนมาร์ ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊คเผยแพร่ hate speech จนเกิดวิกฤติโรฮิงญา
อย่างไรก็ตาม ชั่วโมงนี้ ต้องถือว่าพรรคเอ็นแอลดี สามารถยึดพื้นที่โซเชียลมีเดียยอดนิยมได้สำเร็จระดับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในระดับที่มากกว่าพรรคการเมืองคู่แข่งอื่นๆ
ยังไม่รู้ว่าเฟซบุ๊คของเธอจะกู้วิกฤติโควิดในเมียนมาร์ได้หรือไม่ ขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ คือได้แผ่พื้นที่หาเสียง นำโด่งพรรคคู่แข่งแล้ว!
ท้ายนี้ มีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาว่า ประเทศไทยกำลังถูกล้อมประชิดไปด้วยประเทศที่มี second wave ของโควิด-19 ต้องอย่าลืมด้วยว่าประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากต่างประเทศ การนำเข้าแรงงาน ถ้ามีการ quarantine ก็จะมีค่าใช้จ่าย จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงงานต่างๆ ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าด้านฝั่งเมียนมาร์ได้สั่งปิดด่านพรมแดนทุกด่านแล้วก่อนหน้านี้ ในขณะที่มีรายงานว่าทางการไทยได้กำชับให้จังหวัดชายแดนด้านประเทศเมียนมาร์เฝ้าระวังช่องทางธรรมชาติ
เพราะว่าเวฟสองนี้ไวรัสจะเปลี่ยนทางสัญจรใหม่ ตามที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ลงในเฟซบุ๊คส่วนตัว ‘Yong Poovorawan’ ว่า งวดนี้ไวรัสจะเปลี่ยนมาเป็นเดินเท้ามาหรือนั่งเรือมาหรือว่ายน้ำมา จากที่ในเวฟแรกนั้นเคยบินมา
และถ้าเฟซบุ๊คของเธอ ก็เอาไม่อยู่นี่ น่ากลัวว่าอาจจะกระเทือน จากฝั่งโน้นถึงฝั่งนี้ได้อย่างที่มีคำเตือน เพราะไทย-เมียนมาร์ แผ่นดินติดกัน