วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักข่าว The Economist รายงานว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียจะไม่พิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ลงบนธนบัตรรุ่นใหม่
“สถาบันกษัตริย์อังกฤษจะยังอยู่บนเหรียญ แต่ธนบัตร 5 ดอลลาร์ออสเตรเลียจะสะท้อนประวัติศาสตร์และมรดกของประเทศเรามากขึ้น” จิม ชาลเมอร์ส (Jim Chalmers) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 หลายประเทศในเครือจักรภพเริ่มประกาศตนเป็นสาธารณรัฐ ไม่นับสถาบันกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของรัฐ หรือผู้นำในเชิงสัญลักษณ์อีกต่อไป รัฐบาลของประเทศเหล่านี้เริ่มให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของประเทศ โดยเฉพาะช่วงก่อนจะถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคม และการตัดสินใจถอดพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 คือส่วนหนึ่งของกระแสแยกตัวออกจากเครือจักรภพครั้งนี้
ธนาคารกลางระบุว่า ธนบัตรของออสเตรเลียจะแทนที่พระบรมฉายาลักษณ์ด้วยเรื่องราวและบุคคลสำคัญจากชนเผ่าอะบอริจิน ผู้เป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้นานนับหมื่นปีก่อนเจ้าอาณานิคมจะเข้ารุกราน จนส่งต่อภูมิปัญญา วัฒนธรรม ศิลปะ และวิถีชีวิตมาถึงปัจจุบันมากมาย แม้การปกครองที่กดขี่ของเจ้าอาณานิคมได้คร่าชีวิตชาวอะบอริจินไปกว่าครึ่ง จนบางรัฐแทบไม่เหลือชาวอะบอริจินเลือดแท้แล้วก็ตาม
ที่ผ่านมา พรรคแรงงานของออสเตรเลียภายใต้การนำของ แอนโทนี อัลบาเนซี (Anthony Albanese) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พยายามหาทางผลักดันให้มีการถอดถอนสถาบันกษัตริย์อังกฤษออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐ แล้วแทนที่ด้วยประมุขที่มาจากการเลือกตั้งโดยพลเมืองออสเตรเลีย
แม้จะยังไม่บรรลุผล แต่ความพยายามในการถอนสถาบันกษัตริย์ออกจากการเป็นผู้นำเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งในออสเตรเลียและอีกหลายประเทศในเครือจักรภพ
ที่มา
- Some of the new king’s realms may become republics
- Australia is removing British monarchy from its banknotes