ฝันใหญ่ของคน ‘เบอร์เล็ก’ ในสนามผู้ว่าฯ กทม. 2565

บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในช่วงโค้งสุดท้ายเริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้น พร้อมด้วยสีสันและประเด็นทางการเมืองที่ไม่เคยปล่อยให้ชาวเน็ตได้ว่างงาน

ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะการเลือกตั้งได้ห่างหายไปจากเมืองหลวงมานานถึง 7 ปี เมื่อถึงคราวกลับมาให้ได้ประมือกันอีกครั้งในปี 2565 นี้ ก็มีผู้สมัครทั้งจากพรรคการเมืองต่างๆ และผู้สมัครอิสระเข้าแข่งขันเป็นจำนวนถึง 31 หมายเลข นับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อย ทั้งยังมีความแตกต่างอย่างหลากหลาย ไม่ว่าในแง่ของภูมิหลังและนโยบายที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อซื้อใจชาวกรุง

ท่ามกลางกระแสการหาเสียงของเหล่าผู้สมัคร ความได้เปรียบในพื้นที่สื่อคือแสงสว่างในลานมืดที่ทำให้เรามองเห็น ‘ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.’ หลายคนได้อย่างง่ายดาย ขณะเดียวกัน สปอตไลต์ขนาดมหึมานั้นก็อาจบดบังแสงเล็กๆ ของผู้สมัคร ‘เบอร์รอง’ โดยไม่ทันสังเกต

เมื่อพื้นที่สื่อตกเป็นของผู้สมัครเบอร์ใหญ่ จึงไม่แปลกที่จะสามารถเข้าถึงและมีอิทธิพลต่อมวลชนได้มากกว่า แต่สำหรับผู้สมัครรายย่อยนั้นแม้แสงไฟจะส่องไม่ถึง ก็มิอาจมองข้ามความตั้งใจและความใฝ่ฝันของผู้สมัครเบอร์เล็กๆ เหล่านั้นได้

ในวาระโค้งสุดท้ายก่อนจะเดินเข้าคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ WAY จึงถือโอกาสชวนบรรดาผู้สมัครรายย่อยมาพูดคุยและนำเสนอทัศนะ แนวคิด นโยบายต่างๆ รวมไปถึงบอกเล่าความฝันสูงสุดในการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้แก่ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งได้ใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนหย่อนบัตรลงคะแนน

หมายเลข 5: วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนา

“ถ้าผมโกง ขอรับโทษสูงสุดเท่ากับประหารชีวิต ผมไม่คิดจะโกง ผมถึงกล้าเอาชีวิตมายืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ใครมีหลักฐานว่าผมโกง ผมมีเงินรางวัลให้ 5 ล้านบาท”

คำมั่นฉะฉานเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจของ โจ-วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนา ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 5 ที่หมายจะสร้างกรุงเทพฯ ด้วยสายตาและประสบการณ์ของผู้จัดการบริษัทเอกชน แม้จะเป็นการลงสนามการเมืองครั้งแรก แต่วีรชัยก็สามารถนำเสนอนโยบายผ่านทัศนะของเขาได้เป็นอย่างดี

“ผมมีโอกาสได้เดินทางไปดูงานต่างประเทศ ได้เห็นวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ว่าเขาแก้กันอย่างไร ในฐานะที่เราเป็นผู้จัดการโครงการ เราคิดว่าน่าจะสามารถเอาวิธีที่ต่างประเทศใช้มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ได้ เลยตัดสินใจที่จะลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม.”

วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนา | photo: Bangkoknextgen

“ผมไม่ได้เป็นนักการเมืองมืออาชีพ ดังนั้นผมถือว่ากำลังเป็นนักการเมืองฝึกหัด ความท้าทายคือ ผมอาจจะไม่ได้คลุกคลีในเรื่องของการลงพื้นที่เท่ากับนักการเมืองมืออาชีพ ผมเพิ่งมาลงพื้นที่ได้ไม่ถึงเดือน ทำให้เริ่มเข้าใจว่าปัญหาของประชาชนคืออะไร แต่ก็พยายามติดตามอย่างต่อเนื่อง พยายามลงพื้นที่ให้ได้เยอะที่สุด พยายามพบปะผู้คนให้ได้มากที่สุด พยายามรับฟังปัญหาให้ได้มากที่สุด ดังนั้น ผมจึงคิดว่าผมพร้อมที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม.”

วีรชัยให้เหตุผลที่เลือกลงสนามผู้ว่าฯ กทม. ว่า เป็นเพราะเขาได้ไตร่ตรองแล้วว่าหากเลือกที่จะลงสมัครในส่วนของสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ก่อน ซึ่งต้องเน้นความใกล้ชิดกับประชาชน คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากตนเองยังไม่ได้ลงพื้นที่มากนัก แต่หากเป็นในฐานะผู้ว่าฯ กทม. วีรชัยมองว่าเป็นตำแหน่งที่จะต้องอาศัยทักษะการบริหารจัดการเป็นหลัก ซึ่งเหมาะสมกับประสบการณ์ที่มีเป็นทุนเดิมมากกว่า ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่าน่าจะเหมาะสมและสามารถทำหน้าที่ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ได้ดีที่สุด

“ผมอยากจะชนะเลือกตั้งครั้งนี้และอยากได้คะแนนโหวต 1,200,000 เสียง ซึ่งเกินกว่าที่หม่อมสุขุมพันธุ์เคยทำไว้ ผมอยากจะทำลายสถิติของท่าน”

นั่นคือความฝันสูงสุดที่วีรชัยบอกอย่างหนักแน่น

“ผมเห็นกรุงเทพฯ เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มทำงานที่กรุงเทพฯ แล้ว ผมก็รู้สึกว่ามันแย่ลง 

คือมันไม่ได้ดีขึ้นนะ อย่างเรื่องขยะ แต่ก่อนคุณจำลอง (ศรีเมือง) คุณพิจิตต (รัตตกุล) เคยทำมา มันสะอาดและดูดีมากเลย แต่มาวันนี้ขยะเต็มไปหมด พอน้ำท่วมขยะก็ลอยเต็มท้องถนน ผมคิดว่าอันนี้ต้องเริ่มแก้ได้แล้ว และอีกอย่างคือปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM 2.5 มันมากจนผมทนไม่ไหว รู้สึกว่าทำไมเราไม่ทำอะไรนอกจากติดตั้งเครื่องตรวจวัดเพิ่ม ซึ่งมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเลย การปลูกต้นไม้ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้น ต้องมาแก้ที่ต้นเหตุ นั่นคือลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีมากเกินไป โดยเราควรจะพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้บัสเลน หรือการกวดขันวินัยจราจร เพื่อให้การจราจรติดขัดน้อยลง”

นอกจากนี้ วีรชัยได้กล่าวทิ้งทายสำหรับโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่า “อยากจะให้พิจารณาคนรุ่นใหม่ ไม่สังกัดพรรคการเมือง ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก และที่สำคัญ ผมไม่คอร์รัปชัน ถ้าผมโกง ใครมีหลักฐาน ผมมอบเลย 5 ล้านบาท เพราะผมไม่ได้จะมาโกง ผมจะมาช่วยคนด้วยวิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ ผมมั่นใจว่าจะนำพาการพัฒนากรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้”

ติดตาม วีรชัย เหล่าเรืองพัฒนา หมายเลข 5 ได้ที่: เฟซบุ๊ค Bangkok Nextgen

หมายเลข 13: พิศาล กิตติเยาวมาลย์

“ไปมาสะดวก กินอยู่สบาย ปลอดภัยทุกคน งานการมีทำ”

สโลแกนตรงไปตรงมาที่สามารถเข้าใจได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ฟัง คือตัวตนที่ พิศาล กิตติเยาวมาลย์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 13 เลือกนำเสนอต่อมวลชนชาว กทม. ด้วยการขี่รถจักรยานยนต์ไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อส่งเสียงของตัวเองผ่านโทรโข่งคู่ใจ

“ผมมีใจที่จะมาทำงานตรงนี้ตั้งแต่สมัยที่ผมยังขี่จักรยานอยู่ในกรุงเทพฯ และได้ประกาศในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่าจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 เพราะผมอยากจะช่วยคน เวลาเห็นคนทุกข์ยากแล้วรู้สึกว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะทำ ตัวผมเองผ่านอาชีพมาเยอะมาก ตั้งแต่เป็นคนกลางคืน เป็นผู้จัดการคลับ ขี่มอเตอร์ไซค์ ขับรถทัวร์ คุมโรงงานทำรองเท้า ทำทัวร์ดำน้ำ เป็นไกด์ เป็นผู้แทนจำหน่ายจานดาวเทียม ผมใช้ชีวิตแบบชาวบ้านธรรมดา จึงมองว่าตัวเองมีประสบการณ์เยอะแยะและหลากหลาย ตอนนี้ผมพร้อมก็เลยคิดว่า เฮ้ย ลองดูเว้ย”

พิศาล กิตติเยาวมาลย์ | photo: จรณ์ ยวนเจริญ

ในบรรดาอาชีพที่เคยทำมาตลอดชีวิต การลงเล่นการเมืองอาจเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากวิถีเดิมของพิศาลมากที่สุด ซึ่งผู้สมัครหมายเลข 13 บอกเล่าและย้ำอย่างหนักแน่นว่าการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต บนแนวคิดที่ว่าไม่เป็นนักการเมือง แต่ต้องการแสดงให้เห็นว่าคนธรรมดาก็สามารถเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ได้

“ผมต้องการชนะเลือกตั้ง ถ้าเทียบระหว่างคนอื่นกับผม แค่การสตาร์ตก้าวแรกก็ต่างกันแล้ว หากไม่นับรวมเงินค่าสมัคร ผมใช้เงินหาเสียงแค่วันละร้อยเดียว เป็นค่าน้ำมันรถจักรยานยนต์ และค่าถ่านไฟฉายโทรโข่งเท่านั้น”

“นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมของผม คือการเปลี่ยนแปลงแนวทางการหาเสียงที่ไม่จำเป็นต้องทำโปสเตอร์หรือจ้างสื่อมวลชน ผมไม่ทำโปสเตอร์ ไม่ทำใบปลิว ไม่ทำนามบัตร ลุยด้วยขา 2 ขา ออกหาเสียงและพูดนโยบายให้พี่น้องฟัง นโยบายทั้ง 9 ข้อ ผมท่องอยู่ในสมองจนขึ้นใจ…

“หนึ่ง-มีรถขนส่งชุมชนวิ่งตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง ถึง 5 ทุ่ม วิ่งทุก 5 นาที เก็บ 100 บาทต่อเดือน สอง-มีทางจักรยานที่ปลอดภัย สาม-ทางเท้าต้องเรียบและแข็งแรง สี่-ถนนเรียบ ตีเส้นจราจร ห้า-ท่อระบายน้ำต้องมีประสิทธิภาพ หก-สวนสาธารณะเปิดตั้งแต่ตี 4 ขายอาหารได้เช้าเย็น เจ็ด-สร้างที่จอดรถเพื่อไม่ให้มีการจอดรถริมถนน แปด-ห้ามวางขยะทิ้งไว้ริมถนน ส่งเสริมให้มีรถขนส่งชุมชนรับขยะ และเก้า-ติดกล้องวงจรปิดทุก 100 เมตร”

พิศาลไม่ได้มองว่าต้นทุนที่แตกต่างจะทำให้ตัวเองด้อยกว่าผู้สมัครหมายเลขอื่นแต่อย่างใด กลับกันแล้วยังเป็นหนทางสร้างโอกาสและจุดขายที่โดดเด่น ทั้งยังยินดีหากในอนาคตจะมีผู้สมัครคนอื่นนำแนวทางการหาเสียงของตัวเองไปปรับใช้

ติดตาม พิศาล กิตติเยาวมาลย์ หมายเลข 13 ได้ที่: เฟซบุ๊ค จ้องมองผู้ว่า หรือ Pisarn Kittiyaowamarn

หมายเลข 14: ธเนตร วงษา

“ถ้าเกิดผมอยู่ในคฤหาสน์ แต่ล้อมรอบไปด้วยสลัม ก็คงจะไม่มีความสุข ผมเลยตัดสินใจมาลงสมัครผู้ว่าฯ ถึงแม้ทางครอบครัวจะไม่มีใครเห็นด้วยเลยก็ตาม แต่ผมก็จะทำ”

ธเนตร วงษา ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 14 แสดงความตั้งใจในการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ผ่านข้อความดังกล่าว ด้วยหวังจะมาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับกรุงเทพฯ ผ่านความถนัดและประสบการณ์ด้านการเงินและธุรกิจ เพราะไม่อาจทนเห็นความยากลำบากของคนกรุงเทพฯ ได้

ธเนตร วงษา | photo: จรณ์ ยวนเจริญ

“ผมอยากจะช่วยสังคม โดยที่ผมเองก็มี sales point ผมอยู่กรุงเทพฯ มา 38 ปี ส่วนตัวผมไม่มีปัญหารถติด แต่ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีผู้ว่าฯ คนไหนแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ผมก็อยากจะมาแบ่งปัน เพราะผมมีวิธีการแก้ปัญหารถติดได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตัวผมเองทำได้ ผมก็อยากจะแนะนำคนอื่นให้ทำตาม อีกเรื่องที่สำคัญคือเศรษฐกิจ ตอนนี้คนลำบากเยอะมาก ผมอยู่เหนือวิกฤติมา 20 ปี ผมทำธุรกิจอย่างไร ผมก็อยากจะนำวิธีการมาแนะนำเป็นนโยบายให้คนกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด เพราะนโยบายปัจจุบันที่รัฐบาลให้เงิน 3,500 บาท ใช้ไม่นานก็หมด พอข้าวของแพงขึ้นคนก็อยากจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะรายได้ที่มีมันไม่ทันกับรายจ่าย”

เนื่องจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เป็นตำแหน่งใหญ่ มีอำนาจครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต ธเนตรมองว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะนำแนวทางที่เคยทำมาแนะนำให้กับคนกรุงเทพฯ ทั้งยังได้กล่าวทิ้งทายถึงความฝันสูงสุดในการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ว่า

“ถ้าผมได้มีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็จะเป็นเกียรติประวัติของผม และผมเองก็จะทำงานสุดชีวิต ผมคิดว่าปัญหาทุกอย่างจะสามารถจบลงได้ภายใน 4 ปี สำหรับการแก้ปัญหา PM 2.5 ผมมีแผนปลูกต้นไม้ 10 ล้านต้น โดยที่ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณ ผมจะทำให้ดูว่ามันทำได้อย่างไร ผมจะเป็นผู้ว่าฯ ที่ไม่ได้ใช้แค่เงินอย่างเดียว แต่ผมจะหาเงินด้วย ภายใน 4 ปีนี้ผมจะทำให้เห็นว่าการหาเงินเป็นแสนล้านให้กับ กทม. มันทำอย่างไร”

ติดตาม ธเนตร วงษา หมายเลข 14 ได้ที่: เฟซบุ๊ค ธเนตร วงษา ผู้สมัครผู้ว่า กทม. เบอร์14 รถไม่ติด เศรษฐกิจดี สุขภาพแข็งแรง

หมายเลข 16: ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์

“อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดภัยสำหรับทุกคน มันอาจจะดูเป็นความฝันเล็กๆ แต่จริงๆ แล้วความปลอดภัยคือพื้นฐานของทุกอย่าง ถ้าคนในกรุงเทพฯ มีความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน สุขภาพ คุณภาพชีวิต รวมถึงความปลอดภัยในอนาคตของลูกหลาน ทุกๆ อย่างจะดีขึ้นโดยปริยาย”

ความฝันสูงสุดของ จิ๊บ-ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 16 คือการผลักดันนโยบายด้านความปลอดภัยที่ควรจะเกิดขึ้นในสังคม ทั้งในฐานะของผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. และฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร

“เราทนไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แล้วก็มานั่งคิดว่าทำไมเราต้องทนกับเรื่องอย่างนี้จริงๆ เหรอ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย เราเป็นผู้หญิง เราเห็นข่าวผู้หญิงโดนข่มขืน ข่าวผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ ข่าวเด็กถูกทำร้ายร่างกาย เราเห็นข่าวเหล่านี้ตามสื่อต่างๆ เต็มไปหมด และเราก็รู้สึกว่า นี่จะต้องเจอกับเรื่องพวกนี้จริงๆ เหรอ

“พอเราคิดได้อย่างนี้ เราก็รู้สึกว่าถ้ามีโอกาส จะผลักดันเรื่องนี้ แล้วทำเป็นนโยบาย กรุงเทพฯ ต้องไม่ทนถ้าเรามีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯ เราจะเปลี่ยนตามสิ่งที่เราคิด คนกรุงเทพฯ ควรจะได้รับอะไรที่ดีกว่านี้

ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ | photo: จรณ์ ยวนเจริญ

“นโยบายที่ผ่านมา ล้วนเป็นนโยบายที่ดีมากๆ แต่ทำไมนโยบายของคนที่ได้รับเลือกตั้งถึงไม่เกิดขึ้นจริง บางท่านก็เกิดขึ้นจริง 50 เปอร์เซ็นต์ บางท่านนโยบายหาเสียงเกิดขึ้นจริงเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เราก็มาตกผลึกได้ว่าผู้ว่าฯ ไม่ได้มีอำนาจเยอะ นโยบายจึงแบ่งได้ 2 แบบคือ นโยบายที่ทำได้จริง กับ นโยบายขายฝัน ซึ่งก็ลืมไปเสียเถอะ เพราะมันก็แค่นโยบายหาเสียง ส่วนนโยบายที่ทำได้แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะว่าพวกเขาไม่ใส่ใจไง บางครั้งผู้บริหารที่ดูแค่นโยบายหลัก แต่ไม่ลงมาใส่ใจรายละเอียด มันส่งผลให้นโยบายไม่สามารถเกิดขึ้นจริงอย่างมีประสิทธิภาพได้

“ถ้าเปรียบเทียบ กทม. เป็นบริษัท มันไม่ใช่ SME แต่เป็น Large Enterprise เป็นแบบองค์กรขนาดใหญ่มากๆ ที่ต้องขับเคลื่อนแบบใหญ่ๆ เหมือนช้างตัวอ้วนๆ ตัวหนึ่งที่ต้องไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นคนที่เป็นหัวหน้าต้องรู้นโยบายและต้องลงมาไล่จี้รายละเอียดๆ เหล่านี้ด้วย”

นอกจากนี้ ศศิกานต์ยังได้นำเสนอโปรเจกต์ที่กำลังจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ นั่นคือโปรเจกต์ ‘ผู้หญิงสู้กลับ’ โดยจะเป็นโครงการที่มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อหรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เธอยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า

“เราเป็นผู้หญิงที่เดินมาอย่างตั้งใจเพื่อจะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ และเราเป็นนักบริหารที่ไม่ใช่เพียงบริหารการเงินเท่านั้น แต่เราจะเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง”

ติดตาม ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ หมายเลข 16 ได้ที่: Sasikarn Watt

หมายเลข 20: อมรพรรณ อุ่นสุวรรณ

“ตอนนี้คนไม่รู้จักเราในฐานะของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เราไม่ติดโพล แต่เราคิดว่านโยบายของเราตรงนี้มันดีที่สุดในช่วงเวลานี้ เพราะตอนนี้ปัญหาที่ทุกคนเจอมากที่สุดคือ การขาดงานและขาดเงิน ข้าวจะกินเข้าไปยังไม่มีเลย”

อมรพรรณ อุ่นสุวรรณ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 20 กล่าวถึงสถานการณ์การหาเสียงและโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยแสดงให้เห็นจุดยืน รวมถึงความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนว่า แม้จะไม่ได้ติดอยู่ในโพลหรือเป็นชื่อที่ประชาชนส่วนใหญ่จดจำได้ แต่ในฐานะผู้ลงสมัคร ก็มีความพร้อมที่จะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของชาวกรุงเทพฯ อย่างเต็มที่

อมรพรรณ อุ่นสุวรรณ | photo: Amornpann Ownsuwann

หนึ่งในนโยบายที่อมรพรรณกล่าวถึงและผลักดันเป็นพิเศษคือ การนำแนวคิดการจัดการทางสถาปัตยกรรมมาปรับใช้ในการปรับแต่งโครงสร้างบ้านเรือน ตึก รวมไปถึงผังเมือง โดยอมรพรรณอธิบายว่า

“เดิมเคยลงพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว และได้ไปเจอปัญหาที่อยากจัดการ ซึ่งก็คือตัวงบที่กำลังทำอยู่ โดยเป็นงบเรื่องการปรับปรุงบ้าน เราอยากให้จุดหมายปลายทางของมันไปถึงการเป็นสถาปัตยกรรมโลก พออยากทำงานในส่วนของ กทม. ก็จำเป็นต้องลงผู้ว่าฯ เพราะจะได้มีอำนาจสูงสุดที่เราจะสามารถทำได้

“เรามองเห็นว่าปลายทางของงบนี้ นอกจากจะไปลงตามบ้านแล้ว ตึกสูงรวมไปถึงชุมชนก็สามารถใช้งบนี้ร่วมกันได้ด้วย คนในชุมชนจะเอางบนี้ไปซ่อมบ้านเฉยๆ ก็ได้ สภาพแวดล้อมโดยรวมมันก็จะดีขึ้น แต่ถ้าเราได้ทำ Destination Architecture มันก็สามารถไปได้ทั่วโลก ซึ่งโดยตัวคำว่า ‘สถาปัตยกรรม’ จะช่วยปรับระบบผังเมืองและตะล่อมให้เมืองเข้าที่เข้าทาง โดยไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปอะไรที่ทำไว้ดีอยู่แล้ว แต่ส่วนต่อที่เราจะทำ มันมีดีไซน์และ Landscape เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ผังเมืองไม่สะเปะสะปะ รวมถึงมีทิศทาง”

อมรพรรณกล่าวถึงความฝันสูงสุดในการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ว่า หากได้เป็นผู้ว่าฯ ก็คิดว่าคงจะเป็นแค่ 4 ปี และจะพยายามทำงานให้เสร็จ ซึ่งในตัวนโยบาย ในส่วนที่เป็นแผน Destination Architecture ก็จะมีส่วนเข้าไปช่วยส่งเสริมอาชีพด้าน Creative Business มากขึ้น และถ้าหากกรุงเทพฯ เรียบร้อยขึ้น มีความสวยงามจนติดอันดับโลก ธุรกิจด้านภาพยนตร์และแฟชั่นจะเข้ามามากกว่านี้ โดยยกตัวอย่างแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศที่ถูกให้ความสำคัญ 

นอกเหนือไปจากสองด้านนี้แล้ว หากสามารถทำได้จริงก็จะนำไปสู่การขยับพัฒนาต่อไปได้ในอีกหลายด้าน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้อมรพรรณนำเสนอและตอบคำถามด้วยความมั่นใจเป็นอย่างมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ที่อมรพรรณอยากทำเป็นอันดับแรกในฐานะผู้ว่าฯ นั่นคือ การนำงบประมาณในส่วนตรงนั้นมาซ่อมบ้านให้คนเสียก่อน

“ตอนวางแผนตัวนโยบาย เราคำนึงว่านโยบายเดียวต้องประหยัดและได้ผลเยอะที่สุด ได้ลงไปถึงทุกคนอย่างเท่าเทียม ในการจัดสรรงบประมาณภายใต้นโยบายของเรา คุณจะสามารถทำสวนเองที่บ้านก็ได้ จะซ่อมบ้านซ่อมรั้วก็ได้ จะซื้ออิฐแผ่นเดียวมาแปะแล้วเงินที่เหลือเอาไปเป็นค่ารักษาพยาบาลก็ได้ คือคุณสามารถเอาไปใช้ในเรื่องเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือตัวเองเฉพาะหน้าก่อนก็ได้เช่นกัน”

ท้ายสุด อมรพรรณกล่าวว่าขอเพียงแค่เลือกเบอร์ 20 และอยากชวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนมาลงคะแนนเสียง เพราะเพียงแค่คะแนนโหวตเดียวก็อาจจะช่วยเหลือคนที่กำลังลำบากได้เป็นสิบคน

“ตอนนี้เราแทบไม่คิดเลยว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ แล้วฉันจะเป็นยังไง ป้ายก็ทำอยู่แค่ 50 ใบ เราอยากลุยให้มากที่สุดและเก็บปัญหาให้มากที่สุด ก็หวังว่าเขาจะเชื่อว่าเราทำงานได้ และเราก็จะทำงานให้ได้ ตอนนี้ก็เหลือแค่รอวันลงคะแนนอย่างเดียวเท่านั้น”

ติดตาม อมรพรรณ อุ่นสุวรรณ หมายเลข 20 ได้ที่: Amornpann Ownsuwann

หมายเลข 25: ประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ

ถ้ากรุงเทพฯ เป็นได้แค่เมืองหลวงคงน่าเสียดาย ไม่ว่ากรุงเทพฯ จะพัฒนามายาวนานแค่ไหน แต่ตอนนี้ก็ยังเป็นได้แค่เมืองหลวง มันถึงเวลาแล้วที่กรุงเทพฯ จะต้องเป็นมากกว่าเมืองหลวง กรุงเทพฯ จะต้องเป็นมหานครแห่งโอกาส”

ประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 25 หรือที่ใครหลายๆ คนอาจเคยได้ยินเขาในชื่อของ ‘ลุงซุ้ง’ โดยประพัฒน์ให้เหตุผลว่า ที่ใช้ชื่อลุงซุ้งในการหาเสียงนั้น เกิดจากความต้องการที่จะทำให้รู้สึกเป็นกันเอง เพราะการสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ก็มาจากแนวคิดที่ต้องการจะสร้างสังคมที่ดีเพื่อลูกหลานในอนาคตต่อไป

ประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ | photo: Amarintv.com

“ผมมีแนวทางและนโยบายที่อยากจะทำกรุงเทพฯ ให้เป็นอย่างที่คิดเอาไว้ แต่หากใช้วิธีการเข้าหาผู้ว่าฯ คนอื่นเพื่อขอความช่วยเหลือ ผมคิดว่าเสียงเราคงไม่ดังพอ เลยตัดสินใจมาลงสมัครผู้ว่าฯ เอง เพื่อที่จะได้มั่นใจว่า ถ้าเราพูดแล้วเสียงของเราจะไปถึงคนฟังแน่นอน”

“จริงๆ กรุงเทพฯ มีปัญหาเยอะ แต่ผมไม่ได้เอาตรงนั้นมาใช้เป็นนโยบาย เพราะมันมีนโยบายที่รอแก้ปัญหาอยู่แล้ว ผมเน้นที่จะสร้างโอกาสให้กรุงเทพฯ โดยมุ่งเป้า 9 ด้าน เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นมากกว่าเมืองหลวง ซึ่งจะต้องเป็นมหานครแห่งโอกาส”

ประพัฒน์ ได้อธิบายเป้าหมาย 9 ด้าน ซึ่งอยู่ในนโยบายหลัก ประกอบไปด้วยแนวคิดต่างๆ ที่จะผลักดันให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่ประกอบไปด้วย 9 ลักษณะ ได้แก่ Creative City (เมืองสร้างสรรค์) Hub City (เมืองศูนย์กลาง) Innovation City (เมืองนวัตกรรม) Safety City (เมืองปลอดภัย) Smart City (เมืองอัจฉริยะ) Sport City (เมืองกีฬา) Startup City (เมืองสตาร์ตอัพ) Street Food City (เมืองอาหารข้างทาง) และ Tourist City (เมืองท่องเที่ยว) 

นอกจากนี้ ประพัฒน์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีคนเก่ง มีความสามารถ และมีความคิดสร้างสรรค์เยอะ จะต้องมีการสร้างโอกาสและผลักดันให้คนเหล่านี้มีผลงานในระดับโลกในกรุงเทพฯ ให้ได้ และจะเปิดประตูต้อนรับคนจากต่างประเทศให้เข้ามาหาโอกาสในกรุงเทพฯ ได้ด้วยเช่นกัน

ติดตาม ประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ หมายเลข 25 ได้ที่: ว่าที่ฯ ผู้ว่าฯ ลุงซุ้ง

หมายเลข 26: พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ

“ผมจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของโลก จะต้องใหญ่ขึ้นเทียบเคียงกับปักกิ่ง ผมจะไม่ย้ายเมืองหลวง แต่จะย้ายศูนย์ราชการออกไป โดยกรุงเทพฯ ชั้นในจะต้องเหลือเพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับพาณิชยกรรมและการท่องเที่ยว”

พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 26 กล่าวด้วยน้ำเสียงอันแน่วแน่ถึงแนวคิดอันยิ่งใหญ่ที่ต้องการจะพัฒนากรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองหลวงของโลก โดยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของความตั้งใจว่า

“ผมเริ่มจากการมีแนวคิดที่จะพัฒนากรุงเทพฯ เนื่องจากกรุงเทพฯ มีปัญหามากมายและถูกหมักหมมมาเป็นเวลานาน หากคิดแบบ Inside Out ก็จะติดขัดไปหมด เพราะกรุงเทพฯ มันเล็ก แนวคิดของผมคือการมองจากข้างนอกเข้ามา นั่นคือการคิดนอกกรอบ โดยกรุงเทพฯ จะต้องพัฒนาเป็นเมืองที่ใหญ่ขึ้น เป็นเมืองหลวงของโลก ไม่ใช่เพียงเมืองหลวงของประเทศไทยอย่างเดียวเท่านั้น ฉะนั้น แนวคิดที่ผมจะเสนอคือการที่จะต้องควบรวม 7 จังหวัดปริมณฑล จากพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร ก็จะขยายเป็น 13,000 ตารางกิโลเมตร ให้เหมือนกับปักกิ่ง นั่นคือแนวทางในการพัฒนาของผม

พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ | photo: Monthon Ngernwattana

“จะต้องมีการย้ายศูนย์ราชการออกไป โดยกรุงเทพฯ ชั้นในจะต้องเหลือเพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับพาณิชยกรรมและการท่องเที่ยวเท่านั้น ส่วนศูนย์ราชการจะย้ายออกไปเหมือนปูตราจายาในกัวลาลัมเปอร์ เท่านี้ก็จะทำให้กรุงเทพฯ ชั้นในว่างมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาจราจรและปัญหาความเจริญต่างๆ ได้ เพราะทุกวันนี้แม้ความเจริญจะสามารถขยายไปได้โดยธรรมชาติ แต่อย่างกรณีเมืองนนทบุรี ปทุมธานี ปากน้ำ สมุทรสาคร แม้ความจะเจริญจะไปถึงแล้ว แต่ก็ยังได้รับบริการเช่นเดียวกับ อบต. อยู่ ทั้งๆ ที่ควรจะได้รับการบริการจาก กทม. เสียมากกว่า

“ผมไม่ได้ด้อยค่า อบต. นะ แต่ขนาดมันเล็ก มันจึงได้แค่เสาไฟกินรี หากจะทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ อย่างอุโมงค์ยักษ์ก็ยังทำไม่ได้ รวมถึงการแก้ปัญหาที่เป็นลักษณะองค์รวม อย่างเช่นปัญหาน้ำท่วม หากขยายเมืองออกไปอย่างที่บอก แม่น้ำทั้ง 4 สาย ตั้งแต่แม่กลองจนถึงบางประกง น้ำก็คงไม่ท่วมกรุงเทพฯ เพราะสามารถบริหารจัดการได้ อีกทั้งมีเนื้อที่พอที่จะสร้างแก้มลิงกักเก็บน้ำ รวมถึงเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้ เพราะอีก 20 ปี น้ำจะท่วมจากภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้ จึงต้องคิดอย่างเป็นระบบว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร จะกันเพียงเฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นในโดยปล่อยให้ปากน้ำ มหาชัย แม่กลอง ต้องจมน้ำไปไม่ได้ ต้องคิดเป็นระบบ”

นอกจากความตั้งใจที่อยากจะรวมจังหวัดในเขตปริมณฑลเข้ากับกรุงเทพฯ ย้ายศูนย์ราชการออกไป และต้องการเพิ่มอำนาจในพื้นที่จังหวัดโดยรอบแล้ว มณฑลยังได้นำเสนอนโยบายในด้านการขนส่งสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนด้วยเช่นกัน

“ผมจะให้ชาวบ้านทุกคนขึ้นรถเมล์สีแดงฟรี เพราะคนที่มีรายได้ 331 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่สามารถที่จะนั่งรถไฟฟ้าได้ เนื่องจากราคาที่สูง หากจะไปแก้ปัญหาด้วยการลดราคาคงลำบาก เนื่องจากเป็นเรื่องของสัญญาสัมปทานที่ถูกกำหนดไปแล้ว อีกทั้งคอนเซปต์ในการสร้างรถไฟฟ้าคือต้องการให้คนมีรถยนต์จอดรถไว้ แล้วใช้รถไฟฟ้าแทน ฉะนั้น คนที่มีรายขั้นต่ำซึ่งใช้รถไฟฟ้าไม่ได้ ก็ต้องชดเชยพวกเขาด้วยการลดค่าใช้จ่าย และให้นั่งรถเมล์ฟรีแทน โดยเอาเงินจากที่ กทม. จ่ายเป็นเงินโบนัสให้กับข้าราชการ ลูกจ้าง และอีกส่วนที่เป็นเงินรายได้จากภาษีสรรพสามิต หากไม่พอก็ใช้เงินส่วนแบ่งจากสัมปทานเพิ่มอีก รถไฟฟ้าต้องมาช่วยคนจน นี่คือแนวคิดที่จะทำ”

มณฑลยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า หากชอบแนวคิดและนโยบายของเขาก็ขอให้เลือก เพื่อให้เขามีโอกาสเข้าไปทำงาน ส่วนคนที่คิดว่านี่คือการขายฝันและไม่มีทางเป็นไปได้ ก็ให้เลือกเช่นกัน และถ้าหากไม่สามารถทำตามที่กล่าวไว้ได้ก็จะยอมเดินลงจากตำแหน่งไป

หมายเลข 27: ภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์

“ผมต้องการชูประเด็นให้คนกรุงเทพฯ ตื่นตัวว่าทำไมจึงต้องเพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าฯ ทุกวันนี้ คนกรุงเทพฯ หลงทาง มัวแต่ไปเลือกคนที่สื่อกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งนโยบายนั้นล้วนเป็นนโยบายซ้ำซาก แต่ทุกคนไม่เคยคิดเลยว่าที่คิดและคุยกันอยู่นั้นทำได้หรือเปล่า”

ภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 27 กล่าวในฐานะอดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) 2 สมัย ซึ่งได้ผ่านประสบการณ์การทำงานร่วมกับอดีตผู้ว่าฯ กทม. ถึง 2 คน คือ อภิรักษ์ โกษะโยธิน และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร โดยข้อค้นพบที่ภูมิพัฒน์นำมากล่าวถึงเป็นประเด็นหลักในการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้คือ ปัญหาที่ผู้ว่าฯ มีอำนาจไม่มากพอ ด้วยเหตุนี้ จึงลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เพื่อที่จะได้เข้าไปเพิ่มอำนาจและแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์ | photo: จรณ์ ยวนเจริญ

แม้เป้าหมายดังกล่าวจะเป็นความยึดมั่นและตั้งใจมาตั้งแต่ในสมัยที่ยังเป็น ส.ก. แต่ในการลงสมัครผู้ว่าฯ ครั้งนี้ ผู้สมัครเบอร์ 27 ได้ลงสมัครในนาม ‘ผู้สมัครอิสระ’ ซึ่งแม้จะเสียเปรียบในบางอย่าง แต่ก็แลกมากับการได้ทำตามแนวทางที่ตัวเองตั้งใจอย่างแท้จริง

“ความท้าทายคือเราไม่มีสมาชิกเลย ปกติพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์จะมีสมาชิกที่เคยเป็น ส.ส. ส.ก. หนุนหลัง ดังนั้น การลงอิสระทำให้เราเสียเปรียบในด้านการมีมวลชน แต่ข้อได้เปรียบคือการที่เราสามารถคิดและพูดอะไรได้ตามที่อยากจะทำโดยไม่ต้องมีกรอบ”นอกจากนี้ ภูมิพัฒน์ได้เสนอว่าจะต้องมีการจัดตั้งพรรคการเมืองที่จะสามารถผลักดันกระทรวงมหานครให้ได้ และต้องมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหานครเพื่อบริหาร รวมถึงแก้ไขปัญหาในกรุงเทพฯ ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายสูงสุด

หมายเลข 29: กฤตชัย พยอมแย้ม

“ผมมีความรู้สึกว่าอยากให้คนกรุงเทพฯ กลุ่มที่เป็นพลังเงียบจริงๆ ออกมาให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง หากเราปล่อยให้คนที่มีเบื้องลึกเบื้องหลังมาบริหารประเทศ มาบริหารกรุงเทพฯ ก็จะเข้าสู่อีหรอบเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง เรื่องของตำแหน่งหน้าที่การงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ ใครที่มีผลประโยชน์กับข้าราชการ รัฐบาล หรือกระทรวง ก็จะเข้ามากอบโกย ฉะนั้นผมยอมไม่ได้”

เสียงจาก กฤตชัย พยอมแย้ม ในฐานะผู้สมัครหมายเลข 29 สังกัดพรรคประชากรไทย ซึ่งตัวของกฤตชัยถือเป็นหนึ่งในผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทางการเมืองในระดับหนึ่ง

“ผมเกิดและโตที่กรุงเทพฯ ได้เห็นปัญหาหลายอย่าง พอไปต่างประเทศเยอะๆ ก็จะมีแนวคิดหลายอย่างที่คิดว่าน่าเสียดาย อย่างเช่น ตลาดห้วยขวาง ผมเคยไปยืนในตอนกลางคืน ผมคิดว่าถ้าทำให้ตลาดห้วยขวางกลายเป็นแลนด์มาร์กที่ดูแล้วเกิดความรู้สึกอลังการ สวยงาม และมีค่า มันก็จะทำให้เกิดการส่งเสริมในเชิงท่องเที่ยวกับกรุงเทพฯ กับชาวต่างชาติได้ สภาพความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ เองก็จะดีขึ้นด้วย ตรงนี้เลยเป็นแรงบันดาลที่ทำให้รู้สึกว่าอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากรุงเทพฯ ก็เลยเป็นแนวคิดเริ่มต้นที่อยากจะพัฒนากรุงเทพฯ จริงๆ”

กฤตชัย พยอมแย้ม | photo: จรณ์ ยวนเจริญ

“ผมเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าคนกรุงเทพฯ กลุ่มหนึ่งเขาก็ระอา แล้วคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นคนที่คิดเป็นและมีความรู้สึกรักกรุงเทพฯ แต่การที่มีพวกมากลากไปหรือกลุ่มที่ซื้อเสียง จะปฏิเสธไม่ได้นะ ถ้าจะบอกว่าไม่มีการซื้อเสียง ผมเถียงเลย อาจจะมีการซื้อเสียงโดยวิธีการอื่นก็ได้ หรือว่าซื้อมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นการหาเสียงอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมันก็เปลี่ยนวิธีการไปเรื่อยๆ ผมไม่อยากให้คนกลุ่มนี้มากำหนดชะตาชีวิตคนกรุงเทพฯ

“คนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ออกมาเพราะเขาอาจมีความรู้สึกว่า รวยแล้ว มีเงิน มีฐานะ มีชีวิตที่ดี และมีความรู้สึกว่าทำไมจะต้องไปยุ่งกับการเมือง อยากจะทำอะไรก็ทำไป เดี๋ยวก็ตายแล้ว ผมไม่อยากให้คนกรุงเทพฯ เกิดความคิดแบบนี้

“อยากจะให้คนกรุงเทพฯ ทั้งหมดออกมาให้ความสำคัญ เพราะผู้ว่าฯ กทม. จะนำพากรุงเทพฯ ให้เจริญก้าวหน้าได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องทำงานเป็น เข้าถึงปัญหา และมีวิสัยทัศน์ในการทำงาน ที่สำคัญจะต้องกล้าตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของกรุงเทพฯ ฉะนั้น ทุกคนก็ควรจะต้องเลือก กฤตชัย พยอมแย้ม หมายเลข 29 พรรคประชากรไทย ถ้าอยากจะกินดี อยู่ดี มีสุข เลือกกฤตชัย”

หมายเลข 31: วิทยา จังกอบพัฒนา

การบอกเล่าความตั้งใจและนโยบายต่างๆ ที่อยากจะทำอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่มีสโลแกน เป็นเพียงการอธิบายในแต่ละประเด็นที่กรุงเทพฯ ควรได้รับการแก้ไข ผ่านทัศนะของ วิทยา จังกอบพัฒนา ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 31 ซึ่งถือเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่อายุมากที่สุด และผ่านการสมัครผู้ว่าฯ กทม. มาแล้วถึง 5 ครั้ง (รวมครั้งล่าสุดในปัจจุบัน)

วิทยา จังกอบพัฒนา| photo: amarintv.com

ตลอดระยะเวลาการสมัครผู้ว่าฯ กทม. 5 ครั้ง วิทยากล่าวว่า แทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ยกเว้นเรื่องคนที่นอนริมทางสถานีรถไฟฟ้าที่มีจำนวนมากขึ้น อย่างอื่นก็ยังคงไม่แตกต่างไปจากเดิม นอกจากปัญหาดังกล่าว วิทยายังได้กล่าวถึงปัญหาจราจร ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ถูกสั่งสมและยังไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นเวลานาน 

“ผมเห็นว่าปัญหาจราจรเป็นปัญหาที่ไม่มีใครแก้ได้ อีกทั้งเราก็อยู่กับปัญหานี้มาตลอด ตั้งแต่สมัยคุณทักษิณ ท่านบอกว่าจะแก้ภายใน 6 เดือน ก็แก้ไม่ได้ ผมว่าผมเห็นทางแก้ไขและสามารถทำได้ เพราะผมก็ต้องผจญภัยอยู่บนท้องถนนทุกวัน รวมถึงพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ทุกคน อันนี้ถือเป็นปัญหาหลัก เพราะว่าคนต้องทำมาหากิน ต้องทำงาน ปัญหานี้เป็นตัวบั่นทอนชีวิตอย่างมหันต์เลย

“ในสมัยแรกๆ ผมก็บอกว่าจะจัดการปัญหาเรื่องจราจร ไฟแดง-ไฟเขียว แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ ตอนนี้ผมมีหลักการที่ดีขึ้น คือจะทำและปรับปรุงทิศทางของการวิ่งรถ เพื่อที่จะไม่ให้ติดขัดเลย”

แม้การแก้ปัญหาจราจรจะเป็นนโยบายหลักที่วิทยามุ่งผลักดัน แต่ก็ยังมีนโยบายอีกหลายด้านที่วิทยาได้นำเสนอและอธิบายอย่างตรงไปตรงมา อย่างเช่น นโยบายอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน รวมไปถึงการยกประเด็นเรื่องเครื่องแต่งกายของนักเรียนที่ไม่ควรถูกบังคับ นโยบายเรื่องขนส่งสาธารณะ และนโยบายการจัดสรรพื้นที่ทำมาหากินของชาวกรุงเทพฯ แต่สาเหตุที่นโยบายเหล่านี้ของวิทยายังไม่สามารถส่งไปถึงภาคประชาชน อาจเป็นเพราะไม่มีการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยวิทยาได้อธิบายและกล่าวทิ้งท้ายว่า

“ถ้าให้ดีมันก็จะต้องมีเอกสารเผยแพร่ทั่วกรุงเทพฯ แต่ผมจะฝากถึงพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ว่า ถ้าเลือกผม ทุกคนจะไม่เสียใจ เลือกผมแล้ว ก็ต้องมีคนก้าวเข้ามาร่วมกับผมด้วย ถ้าเลือกวิทยาคนเดียว วิทยาจะไปรวมกลุ่มกับผู้สมัครทุกคนมาช่วยกันทำหน้าที่บริหาร กทม. ให้มันรอบทิศทางตามที่พวกเขาเสนอนโยบายมา ถ้าทำได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็ชี้แจงเหตุผลว่า ทำไมถึงทำไม่ได้ เงินไม่มี หรืออะไรก็ว่าไป”

ทั้งหมดที่นำเสนอมาข้างต้นนี้ คือเสียงและทัศนะจากผู้สมัครอิสระในสนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แม้พวกเขาเหล่านี้จะไม่ใช่ผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองใหญ่ๆ แต่ความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่อยากจะเข้ามาพัฒนากรุงเทพฯ นั้นไม่น้อยไปกว่าผู้สมัครรายใหญ่เลยแม้แต่น้อย

ท้ายที่สุดแล้ว แม้เหล่าผู้สมัครรายย่อยอาจจะยังไม่ใช่ผู้สมัครที่ติดโพลหรือเป็นผู้สมัครที่สื่อให้ความสนใจ แต่พวกเขาก็ได้เข้ามาช่วยกระตุ้นให้สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้มีบรรยากาศที่น่าสนใจและเต็มไปด้วยประเด็น แนวคิด รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่หลากหลายและสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้แก่สังคมได้มากยิ่งขึ้น


Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า