มิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ในไทย มีการทำประชามติที่สวิตเซอร์แลนด์ ประชามติเรื่องที่ว่าไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองโดยตรง แต่เป็นเรื่องปากท้อง เพราะข้อเสนอคือการจ่ายเงินเลี้ยงชีพให้เปล่ากับประชาชน – และหัวข้อนี้ก็ถูกตีตกไป เพราะผลคะแนน ‘รับ’ มีน้อยกว่าที่คาด
ต่างจากการหว่านเงินที่ไม่เป็นระบบระเบียบ การจ่าย ‘เงินเดือนให้เปล่า’ (basic income) โดยรัฐ คือ การจ่ายเงินให้บุคคลมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นต่ำ โดยหลักการแล้ว basic income ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ กับประชาชน ไม่ต้องใช้หนี้ ไม่ต้องทำงานชดเชย และทุกคนภายใต้การปกครองของรัฐนั้นๆ ต้องได้สวัสดิการ basic income นี้อย่างเท่าเทียมกัน
แคนาดาโมเดล
แนวคิด basic income คือเครื่องมือหนึ่งที่หลายๆ ประเทศพยายามนำมาใช้เพื่อขจัดปัญหาความยากจน เช่น ฟินแลนด์ เมืองอูเทร็คท์ (Utrecht) ในเนเธอร์แลนด์ เคนยา และอีกหลายประเทศ ต่างเคยทดลองให้ระบบ basic income ซึ่งผลที่ออกมาพบทั้งข้อดีข้อเสีย ซึ่งข้อมูลนี้จะถูกนำไปศึกษาก่อนจะมีการสรุปออกมาว่า การจ่ายเงินให้เปล่า ‘เวิร์ค’ หรือ ‘ไม่เวิร์ค’ กับประเทศของตัวเอง
ที่แคนาดา เมื่อสัดส่วนที่นั่งของฝ่ายอนุรักษนิยมในสภามีมากขึ้น โครงการที่อดีตวุฒิสมาชิก ฮิวจ์ ซีกัล พยายามผลักดันมานานได้ผ่านการพิจารณาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 แต่ basic income แบบแคนาดาไม่ได้ถูกหว่านไปทั่วแผ่นดินของ จัสติน ทรูโด เนื่องจากเรื่องเงินๆ ทองๆ แบบนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติและความมั่นคงทางการคลังของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องเลือกพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นสถานที่ทดลองนโยบายแจกเงินเดือนให้กับประชาชน
รัฐออนตาริโอ คือพื้นที่ที่ผ่านข้อพิจารณาหลายๆ ด้าน โจทย์ของการทดลองคือ จะเกิดอะไรขึ้น หากประชาชนอายุระหว่าง 18-65 ปี ซึ่งอยู่ใต้เส้นความยากจน (poverty line) จะได้รับเงินคนละ 1,320 ดอลลาร์ หรือราว 47,000 บาท และหากเป็นผู้พิการจะได้เพิ่มเป็น 1,820 ดอลลาร์ราว หรือ 64,000 บาท
ความยากจนในแคนาดาไม่ใช่ปัญหาเล็ก ย้อนกลับไปทศวรรษ 1970 อัตราผู้ตกอยู่ใต้เส้นความยากจนในออนตาริโอมีจำนวนมาก ถึงขั้นที่เคยมีรายงานว่า คนต้องกินอาหารสัตว์ประทังชีวิต จนปัจจุบันเด็ก 1 ใน 5 มีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน ซึ่งนัยว่าอยู่ในระดับสูงมากจากการจัดอันดับขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) มากกว่าประเทศแถบสแกนดิเนเวียถึงสามเท่า
ดอกผลที่หวังไว้ของ basic income คือ ช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจน ไม่ให้มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่ามาตรฐาน ให้โอกาสแรงงานที่มีสัญญาจ้างไม่มั่นคง ได้รับค่าจ้างไม่เป็นธรรม มีสิทธิ์เลือกเส้นทางที่ดีกว่า และทำให้คนจนได้กับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีกครั้งในฐานะมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกับคนอื่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเข้าถึงบริการต่างๆ ท้ายที่สุด ความยากจนจะค่อยๆ หายไปด้วยตัวเอง และกลายเป็นแรงกระตุ้นให้คนกลับมาทำงาน ซึ่งจะช่วยรัฐประหยัดงบประมาณด้านอื่นๆ ได้อีกมาก
โพลล่าสุดจากการสำรวจชาวแคนาดา 1,500 คน มีถึง 2 ใน 3 สนับสนุนให้ใช้ basic income แทนการช่วยเหลือของรัฐในรูปแบบสวัสดิการอื่นๆ แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ออกมาปฏิเสธแนวคิดนี้ ด้วยเหตุผลว่า พวกเขาไม่เต็มใจให้รัฐนำเงินภาษีที่พวกเขาจ่ายไปใช้เพื่อบรรเทาความจน
อย่างไรก็ตาม ด้วยเสียงสนับสนุนมากกว่า แม้แต่ผู้นำจากรัฐควิเบคและอัลเบอร์ตาซึ่งมาจากฟากเสรีนิยมก็ยังเห็นว่า basic income มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ออนตาริโอจึงเตรียมทุ่มงบประมาณ 25 ล้านดอลลาร์ เพื่อทดลองใช้ระบบ basic income ในปี 2017 เป็นเฟสแรก
อย่างไรก็ตาม ซีกัล เจ้าของแนวคิด ก็ยังบอกว่า แม้เขาจะคาดหวังว่า basic income คือวิธีการแก้ปัญหาความยากจนที่หลายๆ รัฐบาลกำลังมองหา แต่ไม่มีอะไรเป็นยาวิเศษที่สามารถรักษาความยากจนให้หายขาด และ basic income ที่กำลังจะใช้ก็ไม่มีใครรู้ผล มันสามารถออกได้ทั้งหัวและก้อย – ได้ผล ไม่ได้ผล สิ่งที่จำเป็นต้องทำเป็นอันดับแรกจึงถูกเรียกว่า ‘การทดลอง’
กรณีศึกษาจากหลายทศวรรษก่อน
basic income มีคำถามที่น่าคลางแคลงใจอยู่ไม่น้อย ว่าเป็นการแก้ปัญหาความยากจนที่มีประสิทธิภาพจริงหรือเปล่า เพราะเป็นการผูกภาระสำคัญไว้กับระบบการเงินของชาติ กระตุ้นให้คนทำงานจริงหรือไม่ อาจทำให้คนขี้เกียจก็ได้ เพราะอย่างไรเสีย ก็ยังมีรัฐมาคอยรองรับ ฯลฯ
มองย้อนกลับไปก่อนจะมีโครงการทดลองที่ออนตาริโอ ในทศวรรษ 1970 ดอแฟง (Dauphin) ในรัฐมานิโตบา เมืองเกษตรกรรมเล็กๆ มีประชากรประมาณ 20,000 คน ด้วยความพยายามของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ประชาชนทุกคนรับเงิน basic income เป็นรายบุคคล เรียกว่า ‘Mincome’ ที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์จากเส้นแบ่งความยากจน โดยแหล่งงบประมาณเหล่านี้มาจากการหักเงิน 50 เซ็นต์จากทุกดอลลาร์ที่มาจากแหล่งรายได้อื่นๆ ของรัฐ
อย่างไรก็ตาม ดอแฟงไม่ใช่ตัวอย่างที่เป็นอุดมคติสำหรับมุมมองด้านตลาดแรงงาน เพราะเป็นเมืองเกษตรกรรม ชาวบ้านทำงานเป็นฤดู มีรายได้ไม่มาก ผลการทดลองที่ได้อาจไม่สามารถใช้เป็นตัวอย่างได้กับทุกกรณี
ปี 1974 ชาวบ้าน 1,000 คนเริ่มรับเงินให้เปล่าจากรัฐ โครงการนี้ดำเนินการไปด้วยดีเป็นเวลาสี่ปี ดอแฟงให้กลายเป็นเมืองทดลองที่มีประสิทธิภาพ แต่เวลาสี่ปีก็นานพอให้เห็นข้อเสียอีกด้าน เมื่องบประมาณที่ตีเป็นเงินปัจจุบันสูงถึง 85 ล้านดอลลาร์ ประกอบกับนโยบายรัดเข็มขัดและการเปลี่ยนรัฐบาลท้องถิ่นมานิโตบา โครงการนี้จึงหยุดลงในปี 1977
ผ่านไปเกือบ 40 ปี ศาสตราจารย์ เอเวลีน ฟอร์เก็ต (Evelyn Forget) จากมหาวิทยาลัยมานิโตบา (University of Manitoba) ทำการศึกษารื้อข้อมูลเก่าๆ ถึงผลลัพธ์ของโครงการดอแฟง สิ่งที่พบคือความประหลาดใจ เมื่อมีเงินเข้ามาให้ชุมชน คนมีความสามารถในการจ่ายเพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจคือ ตัวเลขค่ารักษาพยาบาล อุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และอาการป่วยทางจิต ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับประเทศที่ผู้คนต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลบ่อยครั้ง
ข้อสงสัยที่ว่า เงินให้เปล่านี้ทำให้คนทำงานน้อยลง ข้อมูลจากดอฟินระบุว่า มีความเปลี่ยนแปลงทางด้านการงานจริง แต่ก็เพียงเล็กน้อย ตามข้อมูล ชั่วโมงการทำงานของแรงงานรวมทั้งหมดหายไป 9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นคนสองกลุ่มคือ คุณแม่มือใหม่ที่สามารถใช้เวลากับลูกได้มากขึ้น กับกลุ่มเด็กชายวัยรุ่นที่ต้องลาออกจากโรงเรียนมาหางานทำเพื่อเลี้ยงครอบครัวที่ยากจน ได้กลับไปสู่ห้องเรียนอีกครั้ง และสำหรับหลายๆ ครอบครัว basic income คือหลักประกันความมั่นคงให้กับชีวิต เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ตกไปอยู่ในสถานการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจ เช่น กรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน
อ้างอิงข้อมูลจาก: bigthink.com
theguardian.com