เสียงปืนหลายนัดที่ดังขึ้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 จังหวัดนครราชสีมา ค่อยๆ เงียบหายไปจากความสนใจของสังคม แต่เหตุการณ์กราดยิงจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 31 ราย ก่อนที่ จ่าสิบเอกจักรพันธ์ ถมมา จะถูกวิสามัญฆาตกรรมในเช้าวันถัดมา ยังหลอกหลอนญาติผู้เสียชีวิต เป็นฝันร้ายของเมืองโคราช เป็นความทรงจำบาดแผลของสังคมไทย
เหตุการณ์นี้อาจจะเป็นการสังหารหมู่พลเรือนที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของไทย[1]
คำถามแรกหลังเหตุการณ์กราดยิง หนีไม่พ้นระบบรักษาความปลอดภัยของกระบวนการคลังอาวุธของทหารว่าระบบหละหลวมหรือไม่ เพราะผู้ก่อเหตุสามารถบุกเข้าไปปล้นอาวุธได้อย่างง่ายดาย แม้ว่า พันเอกวินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก จะออกมาแถลงถึงกรณีที่มีประชาชนตั้งข้อสงสัย ว่าสถานที่เก็บอาวุธหรือสิ่งหวงห้ามมีระบบปิดล็อค และจัดให้มีเจ้าหน้าที่เวรยามเฝ้ารักษาการณ์ รวมถึงในช่วงเวลาปกติจะมีระบบการตรวจสอบกำกับดูแลที่เคร่งครัดตามนโยบายผู้บังคับบัญชาที่ได้สั่งการและเน้นย้ำอยู่เสมอ
แต่ก็ไม่สามารถไขข้อข้องใจต่อสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำตอบจากตัวแทนกองทัพที่ไม่สามารถหลบเลี่ยงคำครหาที่ว่า “นายทหารระดับสูงของไทยจำนวนมากมัวแต่ยุ่งเรื่องการเมือง รั้งตำแหน่งรัฐมนตรี รวมถึงก่อรัฐประหาร แทนที่จะไปเข้มงวดเรื่องการกำกับดูแลพลทหาร”[2]
คำถามในประเด็นถัดมาก็คือ กฎหมายการถือครองอาวุธปืน ไทยเป็นประเทศที่มีสถิติผู้ถือครองอาวุธปืนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย กระทรวงกลาโหมของไทยออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการถือครองอาวุธปืนเฉลี่ยปีละกว่าล้านกระบอก แต่ปืนยังมีราคาแพงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เพราะไทยไม่มีฐานการผลิตปืนในประเทศ จึงต้องนำเข้า ปืนราคา 500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 15,000 บาท ที่สหรัฐอเมริกา อาจมีราคาเพิ่มเป็น 2,500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 75,000 บาท หากนำมาขายในไทย
คนไทยส่วนใหญ่ที่มีปืนในครอบครอง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ รวมถึงชนชั้นกลางและผู้มีฐานะร่ำรวยที่นิยมสะสมหรือยิงปืนเป็นกีฬา ขณะเดียวกัน สถิติคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนในไทยก็มีจำนวนสูงเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในเอเชีย คดีเหล่านี้มีทั้งการฆาตกรรม การใช้ความรุนแรงจากปืน อุบัติเหตุที่เกิดจากปืน การฆ่าคนโดยไม่เจตนา รวมถึงการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืน[3]
มูลเหตุของการสังหารหมู่ในครั้งนี้มีที่มาจากความไม่พอใจผู้บังคับบัญชาและเครือญาติจากปัญหาเรื่องที่ดิน
พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) (ในขณะนั้น) ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ด้วยตนเอง เป็นการให้สัมภาษณ์ที่ยอมรับเป็นนัยว่า เรื่องทุจริตในกองทัพบกมีอยู่จริง
นอกจากนี้ เขายังกล่าวขอโทษทั้งน้ำตา และขอร้องให้ประชาชนอย่าตำหนิกองทัพในสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยประโยคที่ทำให้สังคมไทยจดจำ
“ณ นาที ณ วินาทีที่ผู้ก่อเหตุได้ลั่นไกสังหารคู่กรณี ณ วันนั้น ณ นาทีนั้น เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไป”
อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยข้อมูลว่า มีทหารสังกัดหน่วยงานเดียวกับ จ่าสิบเอกจักรพันธ์ อีก 20 นาย ร้องเรียนถึงโครงการเดียวกันนี้ และนอกจากทหารกลุ่มนี้ เขายังได้รับแจ้งว่า มีทหารอีกหลายร้อยนายที่ถูกโกงในเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน
เพื่อเป็นการทบทวนความทรงจำถึงมูลเหตุการสังหารหมู่ เราจำเป็นต้องกล่าวถึงเหตุจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อจ่าผู้ก่อเหตุซื้อบ้านในโครงการของแม่ยายผู้พัน โดยมีภรรยาของผู้พันเป็นผู้รับเหมา ตกลงราคากันที่ 7.5 แสนบาท[4] จ่าผู้ก่อเหตุจึงได้ไปกู้เงินจากโครงการเงินกู้ อทบ. (กิจการออมทรัพย์ข้าราชการทหารบก) เพื่อการเคหะสงเคราะห์ ซึ่งทหารยศจ่ากู้ในวงเงินได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ที่สุดแล้วจ่าผู้ก่อเหตุได้รับอนุมัติเงินกู้จำนวน 1,125,000 บาท นั่นหมายความว่าจ่าจะต้องได้เงินทอน 375,000 บาท และค่านายหน้าที่แนะนำลูกค้าอีก 50,000 บาท รวมแล้วเป็น 425,000 บาท
แต่ปัญหาคือขั้นตอนการรับเงินกู้มันพิสดารต่างจากการกู้ธนาคารปกติ ที่เมื่อกู้เงินมาก็ต้องไปจ่ายให้เจ้าของโครงการหรือเจ้าของที่ดิน แต่เจ้าของโครงการกลับเป็นผู้มาเบิกเงินกู้สวัสดิการ ที่สำคัญคือแคชเชียร์เช็คที่ออกเงินให้ก็เป็นชื่อแม่ยายผู้พัน ไม่ใช่ชื่อของจ่าผู้ก่อเหตุ ปัญหาจึงเกิด เมื่อแม่ยายผู้พันได้เงินไปแล้วไม่ยอมทอนให้จ่า
แม้ว่าเบื้องหลังของการก่อเหตุจะเป็นเรื่องการฉ้อโกงและเอาเปรียบนายทหารชั้นผู้น้อย แต่คำถามที่สังคมไทยมุ่งควานหาคำตอบกลับเป็นสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งลายพราง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจกองทัพและการแทรกแซงทางการเมือง
หากปมปัญหาที่ดินเป็นต้นเหตุ คำถามตามมาคือ ผลประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจโดยกองทัพนี้ มีโครงสร้างอย่างไรและสร้างมูลค่ามากแค่ไหน นี่เป็นเรื่องที่สังคมไทยอาจเริ่มให้ความสนใจ แต่ก็ยากในการควานหาคำตอบ
กองทัพบกมีกรรมสิทธิ์ที่ดินราวๆ 460,000 ไร่ แต่ที่มหาศาลกว่านั้นคือที่ดินที่กองทัพบกครอบครองโดยไม่มีกรรมสิทธิ์ ที่มีมากกว่า 4 ล้านไร่ ซึ่งจำแนกได้เป็นที่ดินสงวนและที่ดินหวงห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินที่เช่าจากหน่วยงานอื่นหรือเอกชน รวมทุกประเภทแล้วกองทัพบกมีที่ดินอยู่ในครอบครองประมาณ 5 ล้านไร่[5]
ข้อเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลธุรกิจของกองทัพทั้งหมดให้สาธารณชนรับทราบจึงระงมขึ้น เพราะธุรกิจของกองทัพมีลักษณะหลุมดำของธุรกิจสีเทาที่ไร้การตรวจสอบ
ลักษณะปิดกั้นการตรวจสอบดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากสำหรับกองทัพไทย เรื่องอื้อฉาวต่างๆ ที่เกิดในกองทัพ เช่น การเสียชีวิตอย่างไร้คำอธิบายของพลทหารหลายนาย[6] มีการสอบสวนกันเป็นการภายในมาโดยตลอด แต่คำตอบไม่เคยมีลักษณะ ‘อกผายไหล่ผึ่ง’ ต่อสาธารณะ กองทัพมีลักษณะปิดกั้นการตรวจสอบ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่มีหลักฐานว่าทหารเป็นฝ่ายยิงประชาชนจนเสียชีวิตในปี 2553
คำตอบยังคงถูกลักพาไปจากความจริง.
1 กองบรรณาธิการวอยซ์ออนไลน์. 10 กุมภาพันธ์ 2020. สื่อนอกระบุ ‘เหตุกราดยิงโคราช’ บ่งชี้กองทัพไทย ‘หละหลวม’. Voice Online. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2020, จาก https://voicetv.co.th/read/ez745uHt3
2 อ้างแล้ว
3 อ้างแล้ว
4 พลวุฒิ สงสกุล. 12 กุมภาพันธ์ 2020. เบื้องหลังเหตุจ่ากราดยิงโคราช จากอาชญากรรมสู่ประเด็นทุจริตในกองทัพบก. The Standard. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2020, จาก https://thestandard.co/korat-shooting-120263/
5 กองบรรณาธิการ. 10 กุมภาพันธ์ 2020. วอชเชอร์: เมื่อ “กองทัพ” ต้องรับผิดชอบกรณี “กราดยิงโคราช” มากกว่าที่ทำอยู่. มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2020, จาก https://www.matichonweekly.com/in-depth/article_273615
6 กองบรรณาธิการ. 18 กุมภาพันธ์ 2020. สื่อต่างชาติรายงาน กองทัพไทยยอมรับมีนายทหารระดับสูงหาประโยชน์จากการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกองทัพ. BBC News. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2020, จาก https://www.bbc.com/thai/international-51535721