ทวิตภพกับการข้ามไปมาของผู้คนบนพรมแดนโลกจริงและโลกเสมือน สู้ไปติดแฮชแท็กไป

รูปแบบการชุมนุมของม็อบเยาวชนคนหนุ่มสาวถูกกล่าวถึงตลอดทั้งปี 2020 ทั้งในแง่ของคอนเทนต์และรูปแบบ นี่คือการชุมนุมทางการเมืองที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จุดเด่นหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือการใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียในการขับเคลื่อนการชุมนุม ทั้งการรวมตัว นัดหมาย หลอกล่อ (หรือแกง) นำเสนอประเด็นผ่านการติดแฮชแท็ก จนกลายเป็นวาระทางสังคมได้ในแต่ละช่วงเวลา

แฮชแท็กประจำปี 2020

ทวิตเตอร์ รายงาน 10 อันดับ แฮชแท็กที่ถูกใช้มากที่สุดตลอดช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา พบว่า การติดแฮชแท็กบนทวิตเตอร์ประเทศไทยนั้นเพิ่มมากขึ้นแบบทวีคูณ สำหรับหลายๆ คน แฮชแท็กกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังเพื่อทำให้ผู้คนและชุมชนต่างๆ มารวมตัวกัน ขับเคลื่อนบทสนทนาและแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญ

นอกจากนี้ปี 2563 ยังเป็นปีที่มีข่าวใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายเรื่องบนทวิตเตอร์จนกลายเป็นข่าวดัง และข่าวที่อัพเดตสถานการณ์แบบเรียลไทม์ จึงไม่น่าแปลกใจหากว่า #โควิด19 จะเป็นแฮชแท็กที่มีคนทวีตถึงมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของแฮชแท็กที่มีการทวีตมากที่สุดในประเทศไทย ในปีนี้ #covid19 (และแฮชแท็กเรื่องเดียวกัน) คือแฮชแท็กที่ถูกทวีตทั่วโลกไปเกือบ 400 ล้านทวีต และเป็นแฮชแท็กที่ทำให้เราพูดถึงหัวข้ออื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

แอคเคาท์ที่มีการทวีตถึงมากที่สุดในปีนี้แสดงให้เห็นว่า ‘คนทั่วไป’ ล้วนเป็นกระบอกเสียงบนทวิตเตอร์ โดยจาก 9 ใน 10 ของแอคเคาท์มีการทวีตถึงมากที่สุดเป็นแอคเคาท์ทั่วไปไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของฟอลโลเวอร์ แต่ขึ้นอยู่กับความเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ที่ตรงกัน

บทสนทนาต่างๆ บทสนทนาที่เกี่ยวกับวงการบันเทิงและ K-Pop ยังคงเป็นหัวข้อยอดนิยม นอกจากนี้คนไทยเข้ามาใช้ทวิตเตอร์เพื่อสนทนาเรื่องสำคัญและการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่เกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียม และเสียงสะท้อนของ LGBTQ+ เพิ่มมากขึ้น แต่ในช่วงครึ่งปีหลังมานี้เรื่องเกี่ยวกับการเมืองกลายเป็นหัวข้อบทสนทนาที่ได้รับความนิยมซึ่งมาพร้อมกับแฮชแท็กต่างๆ อย่าง#whatishappeninginthailand และ #หยุดคุกคามประชาชน

10 อันดับแฮชแท็กยอดนิยม ได้แก่ 1. เป๊ก ผลิตโชค (#เป๊กผลิตโชค) 2. ลิซ่า แบล็คพิงค์ (#lisa) 3. แบมแบม GOT7 (#bambam) 4. #ไบรท์วิน 5. #ออฟกัน 6. #หวานใจมิวกลัฟ 7. #โควิด19 8. #16ตุลาไปแยกปทุมวัน 9. #ม็อบ17ตุลา 10. #เนเน่

การข้ามพรมแดนไปมาระหว่างโลกเสมือนกับโลกจริง สู้ไปติดแฮชแท็กไป

ตัวละครที่ถูกเรียกว่า New Voter ปรากฏตัวขึ้น มีฉากหลังเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี่คือการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปีหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก่อนที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 จะกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า สว.แต่งตั้ง 250 คน ซึ่งมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลเอกประยุทธ์กลับมาอีกครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 สร้างความได้เปรียบทางการเมืองแก่คณะรัฐประหาร

นี่คือการเลือกตั้งท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ปกติ เพราะระหว่างการจัดการเลือกตั้ง การนับคะแนน การรายงานผล และประกาศผล ได้ก่อความสงสัยให้กับประชาชน กระทั่งวันนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายใดๆ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเลือกโดยกระบวนการของ คสช.

กลุ่ม New Voter คือกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป พวกเขาถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเวลา 8 ปีที่ว่างเว้นจากการเลือกตั้ง ทำให้กลุ่ม New Voter กลายเป็นกลุ่มประชากรตัวแปรทางการเมืองที่สำคัญ เพราะไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า พวกเขาจะออกเสียงลงคะแนนภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ไปในทิศทางใด

การเกิดขึ้นของกระแส New Voter เป็นสิ่งท้าทายการเมืองไทยแบบเดิมๆ เพราะกรมอุตุนิยมทางการเมืองต่างพยากรณ์ถึงความคิดและทัศนคติทางการเมืองของคนเจเนอเรชั่นนี้ ว่ามีความแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนอย่างชัดเจน

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 และผลการเลือกตั้งก็หยุดทุกความท้าทายไว้ที่ความคุ้นชินเดิมๆ

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ปฏิกิริยาที่เกิดตามมาก็คือ ‘แฟลชม็อบ’ ของกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หนึ่งปีผ่านไป กลุ่ม New Voter หวนกลับมาอีกครั้งเมื่อสิทธิและเสียงของพวกเขาถูกกระทำชำเรา

แต่การชุมนุมประท้วงต้องชะงักลง เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ล่วงมาจนถึงเดือนมิถุนายน ความเคลื่อนไหวจึงปรากฏอีกครั้ง เมื่อ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ถูกบังคับให้สูญหายในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563

#saveวันเฉลิม ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 บนทวิตเตอร์ ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่เป็นการตั้งคำถามว่า ทำไมถึงต้องทำกับเขาแบบนี้ ตอนนี้นายวันเฉลิมอยู่ที่ไหน และยังปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงมีการจัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ ต้าร์-วันเฉลิม ที่บริเวณสกายวอล์ค หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน โดยมี พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีตประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) เป็นแกนนำ

การติด #Save ในแง่หนึ่งสะท้อนแนวคิดการผดุงความยุติธรรม

ในบทความ ‘ช่วยกันดันแฮชแท็กให้ขึ้นเทรนด์เถอะ’ คนรุ่นใหม่กับการขับเคลื่อนสังคมด้วย #ทวิตเตอร์  วิรดา แซ่ลิ่ม นักศึกษาปริญญาโทสาขา Media and Politics มหาวิทยาลัย Amsterdam ศึกษาปรากฏการณ์ทวิตเตอร์ไทยแลนด์ที่คนรุ่นใหม่ใช้เพื่อขับเคลื่อนการเมืองและสังคม ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะ คสช. ผู้คนไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ในช่วงที่กระแสการเมืองร้อนแรง ในโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะทวิตเตอร์ก็จะร้อนแรงด้วย เธอมองว่า การใช้ทวิตเตอร์ขึ้นสู่จุดพีคมากในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จนถึงปัจจุบัน

“97 เปอร์เซ็นต์ ของ 2,000 กว่าทวีตที่เธอใช้ในการศึกษาล้วนเป็นแอ็คหลุมหรือแอคเคาท์ที่อวตารเป็นอีกตัวตนหนึ่งขึ้นมาโดยไม่มีการ identify ว่าตัวเองเป็นใคร แต่ล้วนพูดความจริงหรือสื่อสารความในใจอย่างตรงไปตรงมา” รายงานชิ้นดังกล่าว ระบุ

หลังจากคลายมาตรการล็อคดาวน์ หลังปรากฏการณ์ #Saveวันเฉลิม จากนั้นมากระแสการชุมนุมถูกผลักขึ้นสูง จนทะลุเพดาน จากข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ในปี 2020 ที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นการก้าวข้ามไปมาบนพรมแดนระหว่างโลกจริงและโลกเสมือน การเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองที่หลอมรวมกับปรากฏการณ์ที่เกิดในโลกออนไลน์ จนกลายเป็นโลกใบเดียวกัน

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า