ด่า

bitchโตมร ศุขปรีชา

 

ผมเคยได้ยินคนไทยบอกกันตอนไปต่างประเทศว่า เวลาได้ยินฝรั่งด่ากันนี่ มันไม่รู้สึก ‘มันส์’ เหมือนกับการด่าของคนไทยที่ด่ากันเองเลย

ฟังแล้วผมเห็นด้วยอยู่ครามครันนะครับ ว่าการด่าของฝรั่งด้วยภาษาอังกฤษนั้นมันไม่ได้ ‘อรรถรส’ เหมือนการด่าด้วยคำไทยแม้สักกระผีกริ้น

โอย…ด่าแบบไทยๆ นี่มันมันส์พะยะค่ะ ถึงรสถึงชาติถึงอกถึงใจ มีโยนิโสมนสิการหรือการพิจารณาในการด่าอย่างแยบคายเหนือชั้นกว่าการด่าของฝรั่งเยอะ

คิดได้ดังนั้นแล้วก็ต้องคิดต่อล่ะนะครับ ว่าเอ๊ะ! แล้วมันมีปัจจัยอะไรหรือเล่า ที่ทำให้การด่าแบบไทยๆ นั้นมันถึงอกถึงใจยิ่งกว่าการด่าแบบฝรั่ง

โอเคล่ะ การที่เราเติบโตมากับ ‘วัฒนธรรมการด่า’ แบบนี้ (ที่ต้องบอกว่าเป็น ‘มรดกชาติ’ หรือ ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ อันควรรักษาไว้อย่างหนึ่งเลยทีเดียว) ก็น่าจะเป็นเรื่องหนึ่ง แต่มีเรื่องอื่นๆ อีกไหมเล่าที่อธิบายออกมาเป็นรูปธรรมให้เห็นได้ว่า ทำไมการด่าแบบไทยถึงทุรนร่านทุรายได้มากกว่าการด่าแบบฝรั่ง    โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นคนไทยที่ด่าคนไทยด้วยกันเองนี่แหละ!

ผมนึกเรื่องนี้ไม่ออก จนกระทั่งได้อ่านที่ อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในบทความที่ไหนสักแห่งว่า-การด่าของคนไทยกับของฝรั่งนั้นไม่เหมือนกัน

ข้อสังเกตที่ว่าก็คือ เวลาฝรั่งด่ากันนั้น ฝรั่งจะด่ากันด้วยเรื่องเพศ เช่น fuck you นี่ถือว่าเจ็บแสบแล้ว แต่ถ้าเป็นคำด่าของไทย เราจะไม่ด่าว่า ‘เย็-คุณ’ เฉยๆ หรอก มันไม่เจ็บแสบพอ แต่เราจะด่าอย่างเหนือชั้นกว่าด้วยคำว่า ‘เย็-แม่’ ซึ่งไม่ใช่การเอากับตัวคุณเฉยๆ ทว่าเป็นการไปเอากับ ‘แม่’ ของคุณ แล้ว อาจารย์ยุกติ ก็บอกว่า มันแสดงให้เห็นว่า วิธีด่าของไทยนั้นไม่ได้เล่นล้อกับเรื่องทางเพศมากเท่ากับเรื่องความสูงต่ำของสถานภาพทางสังคม

มาคิดดูก็จริงนะครับ เพราะคำด่าในสังคมไทยนั้น เรามักจะด่ากันด้วยคำที่ ‘เหยียด’ อีกฝ่ายให้ ‘ต่ำ’ กว่าทั้งนั้นเลย อย่างในกรณีนี้ก็คือการเอาแม่ของคุณ (ซึ่งถือว่าเป็น ‘ของสูง’) ดึงลงมาให้ต่ำ ไม่ได้ต่ำ ‘เท่า’ กับคนที่ทำกิริยาอาการเย็-นะครับ แต่ต่ำกว่านั้นลงไปอีก เพราะแม่เป็นได้แค่คนที่ถูกเย็-

หรือที่เพิ่งอ่านในกระทู้ไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็เป็นดราม่าร้านอาหารที่ด่าลูกค้าว่าเป็น ‘ลูกค้าชั้นต่ำ’ ที่มาทำให้ร้านของเขาเสื่อมเสียชื่อเสียง ร้านไม่ต้องการลูกค้าประเภทนี้หรอก อะไรทำนองนี้

คำด่าทั้งหลายของเรา ถ้าจะให้เจ็บแสบที่สุด ก็ต้องด่ากันประมาณว่า ไพร่ สถุล สกุลต่ำ ระยำหมา หน้าด้าน อะไรทำนองนั้น ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าเรา ‘ผูก’ เอาเรื่องความเลวทรามหรือไร้ศีลธรรม (ระยำหมา หน้าด้าน) เข้ากับความ ‘ต่ำชั้น’ ทางสังคม และต่อให้เป็นการด่าเรื่องทางเพศ วิธีด่าของเราก็ไม่เหมือนฝรั่งนะครับ เพราะเราไม่ได้ด่ากันด้วยเรื่องทางเพศโดยมี ‘สำนึก’ ว่าคนสองคนนั้น ‘เสมอ’ กัน แต่เรามัก ‘ด่า’ โดยมีเป้าหมายในการ ‘เหยียด’ อีกฝ่ายให้สิ้นสูญซึ่งความเป็นคน หรือถ้าทำขนาดนั้นไม่ได้ อย่างน้อยก็ลดระดับความเป็นคนของอีกฝ่ายลงไปตามลำดับขั้นของโครงสร้างสังคมก็ยังดี

ตอนเด็กๆ ผมเคยดูละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องหนึ่ง จำได้ว่าเคยเห็นตัวละครที่เป็นเจ้าหญิงร้ายๆ ที่บริภาษด่านางเอกว่า นางเอกนั้นเป็นคนชั้นต่ำ ประมาณว่าเป็นจัณฑาลหรืออะไรสักอย่าง เจ้าหญิงเกลียดชังนางเอกมาก เพราะเจ้าชายมาหลงรักนางเอก (ตามพล็อตเรื่องแบบจักรๆ วงศ์ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะล้อเลียนคนชั้นสูงไปในตัว) เจ้าหญิงเลยมีบัญชาให้ทหารจับนางเอกมาสักคำว่า ‘นางแพศยา’ เอาไว้ที่หน้าผาก แล้วเนรเทศออกไปจากเมือง ทำให้นางเอกได้รับความอับอายไปชั่วชีวิต

ดูเผินๆ เหมือนกับว่าเจ้าหญิงบริภาษนางเอกด้วยประเด็นเรื่องเพศ แต่ในเวลาเดียวกันก็เห็นได้ชัดเจนเลยนะครับ ว่าการด่าและการลงโทษนั้น เจ้าหญิงหยิบประเด็นเรื่องความสูงต่ำของลำดับชั้นทางสังคม ความเป็นมนุษย์ ศีลธรรม และสถานภาพ เอามาผสมรวมกัน มันจึงเป็นการลงโทษที่เจ็บแสบมาก เพราะนอกจากจะเป็นคนชั้นต่ำโดยกำพืดแล้ว รอยสักยังเป็นหลักฐานบอกให้คนอื่นๆ  รู้ว่านางเอกยังเป็นคนร่านราคะ มากเรื่องคาวใคร่ทางเพศด้วย การกระทำของเจ้าหญิงจึงถือเป็นการลงโทษในระดับอัจฉริยะสร้างได้

ตรงนี้ผมคิดว่าน่าสนใจมากนะครับ เพราะต่อให้ด่ากันด้วยเรื่องคล้ายๆ กัน เช่น ถูกแย่งผัว แย่งเมีย แย่งแฟน แต่ถ้าเทียบกับฝรั่งแล้ว เวลาฝรั่งด่ากัน ต่อให้ด่ากันด้วยเรื่อง ‘พฤติกรรม’ หรือแม้กระทั่งเป็นประเด็นทาง ‘ศีลธรรม’ (ไม่ว่าจะเป็นชุดศีลธรรมแบบคริสต์หรือชุดศีลธรรมของคนเมืองสมัยใหม่ว่าด้วย monogamy ก็แล้วแต่) ก็จะไม่มีความรู้สึกในการเหยียดอีกฝ่ายให้ ‘ต่ำ’ ลงไปในความเป็นคน เหมือนเวลาคนไทยเจอเรื่องแบบเดียวกัน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถึงจะรู้สึกว่าอีกฝ่ายต่ำช้าทางศีลธรรม แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับสถานภาพในสังคมหรือความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์

ถ้าพูดแบบศีลธรรมคริสต์ก็คือ ต่อให้อีกฝ่ายเลวแค่ไหน ชุดศีลธรรมแบบคริสต์ก็สอนไว้ว่าต้องให้พระเจ้าเป็นผู้พิพากษา ไม่ใช่ตัวเราจะไปพิพากษาใครได้ ดังนั้น ถ้าพูดอีกอย่าง (ของอีกอย่าง) ก็คือ แม้รู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็น ‘คน’ ที่ ‘เลว’ (คือปฏิบัติกับเราไม่ดี) แต่โดยทั่วไปแล้ว ความเป็น ‘คน’ (หรือเป็น ‘สิ่งสร้าง’ ของพระเจ้า) ก็ยังคงอยู่ และเมื่อความเป็นคนยังคงอยู่ คนคนนั้นก็ย่อมมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนที่ทัดเทียมเสมอภาคกับเราด้วย

แต่ถ้าเป็นการด่าในสังคมไทย ผมว่าเรามักจะเอาความเป็น ‘คน’ กับความดีเลวมาปะปนกัน ประมาณว่าถ้าใครทำเลวต่อเรา สมควรแก่การถูกด่าแล้วละก็ ส่วนใหญ่แล้วคนคนนั้นมักจะถูก ‘เหยียด’ จนไม่เหลือความเป็นคนไปด้วย

ตรงนี้แหละครับ ที่ทำให้การด่าแบบไทยๆ นั้นมัน ‘มันส์’ ไปจนถึงแก่นถึงกึ๋น ด่าแล้วขนลุกขนชันสาแก่ใจกูนักโว้ย!

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าคนอื่นๆ เห็นด้วยไหม แต่เอาเป็นว่าผมคิดไปเองก็แล้วกันนะครับ ว่าที่การด่าแบบไทยๆ มันเป็นแบบนี้ก็เพราะเรามีสำนึกเรื่องสูงต่ำลำดับชั้นแฝงฝังอยู่ข้างในอย่างแนบเนียนและรุนแรง จนบางครั้งเรามองไม่เห็นนี่เอง

การด่าแบบไทยๆ ที่ถึงพริกถึงขิง ถึงเครื่องถึงรส จึงเป็นเครื่องยืนยันให้เราเห็นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ว่าสังคมไทยของเรามีจิตใต้สำนึกเป็นแบบไหน,

และเพราะอะไรเราถึงไม่ค่อยเหมาะกับประชาธิปไตยเท่าไหร่นัก!

 

******************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Cramp นิตยสาร Way ฉบับ 83, มีนาคม 2558)

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า