บาร์ตโตเรเม

หากจะถามว่า ใครที่ช่วยให้ผมท่องโลกข้างถนนในมะนิลาได้อย่างถึงรากถึงแก่น แม้มีเวลาแค่สิบอาทิตย์ในตอนไปชิมลางข้างถนนครั้งแรกในปี 2554

ผมตอบได้โดยไม่ต้องลังเลว่า คนคนนั้นก็คือ บาร์ตโตเรเม หรือ บาร์ต

เขาเป็นผู้ชายร่างเล็ก ผิวคล้ำ ไว้ผมรากไทร อายุสามสิบกลางๆ บาร์ตเรียนไม่จบประถมสี่ จึงพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ แต่หลังจากบทเรียนเรื่องที่โรเดลเอากล้องถ่ายรูปผมไป ผมก็บอกเขาว่า ไม่จำเป็นต้องหาใครที่พูดภาษาอังกฤษได้มาช่วย เพราะผมจะฝึกใช้ภาษาตากาล็อกที่เรียนมา คำไหนไม่รู้จักก็เปิดดิกชันนารี ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องจริงๆ ก็ค่อยหาคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ช่วยแปลเป็นครั้งๆ ไป

บาร์ตเป็นคนพูดจาเอะอะมะเทิ่ง บางครั้งก็ใจร้อน อยู่ๆ ก็เถียงกับคนอื่นเสียงดังอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เวลาพูดมุกตลกก็เป็นประเภทหยาบโลนใต้สะดือเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังเคยเข้าคุกตารางมาแล้วสามครั้ง เป็นคดีประเภทวิ่งราวทรัพย์เสียสองครั้ง และยาเสพติดอีกครั้งหนึ่ง ดังมีรอยสักที่หัวไหล่บอกสังกัดแก๊งในคุกเป็นพยาน

คนไร้บ้านหลายคนจึงมองผมด้วยสายตาเป็นห่วงว่า ผมนั้นไร้เดียงสาและกำลังถูกบาร์ตหาประโยชน์

คนไร้บ้านคนหนึ่งบอกผมว่า ทุกครั้งที่เขาเจอผมกับเพื่อน ซึ่งเขาหมายถึงบาร์ต เพื่อนผมเมาทุกครั้ง

ลุงคนไร้บ้านอีกคนที่เป็นนักดื่มตัวจริงเพราะดื่มทุกวัน บอกผมว่า บาร์ตโตเรเม จะเป็นคนสุดท้ายในโลกนี้ที่เขาจะชวนมาร่วมดื่ม เพราะพูดจาเสียงดังเหลือเกิน ทั้งๆ ที่การดื่มเหล้าเป็นข้อห้ามของสวนสาธารณะ บาร์ตก็ยังเสียงดัง สงสัยจะกลัว รปภ. ไม่รู้ว่าเขากำลังดื่ม

บางคนเตือนผมว่า ควรจะหาคู่หูใหม่ที่ดีกว่านี้ มิเช่นนั้นจะพลอยเจอปัญหาไปด้วย บางคนสงสัยว่า ผมสิ้นไร้คนคบหาเชียวหรือ ถึงมาสนิทกับบาร์ต

แต่ผมที่สนิทคุ้นเคยกับเขา ไปไหนมาไหนด้วยกันอยู่บ่อยๆ กลับไม่รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ แถมยังรับรู้ถึงความห่วงใยที่บาร์ตมีกับผม ตั้งแต่คอยระแวดระวังกระเป๋าที่ผมมักเผอเรอวางไว้ เพราะไม่คิดว่าจะถูกขโมย ไปจนถึงใส่ใจสิ่งที่ผมอยากเรียนรู้

ที่สำคัญ ผมคิดว่า ผมเห็นบาร์ตในมุมที่คนอื่นไม่เห็น และเราแชร์ความรู้สึกบางอย่างร่วมกัน

วันหนึ่งผมไปถึงเชสพลาซ่า ตอนสายๆ เห็นคนไร้บ้านที่นั่นสามสี่คน ดื่มจิน-เหล้าขาวราคาถูกที่นิยมในหมู่คนไร้บ้าน – โดยยกเวียนกันไป อันที่จริงการดื่มแอลกฮอล์เป็นเรื่องต้องห้ามในสวน แต่พวกเขาก็แอบดื่มกัน  โดยเทจินใส่ขวดน้ำ ดูไม่ออกว่าเป็นน้ำเปล่าหรือจิน หากไม่ได้กลิ่น ผมสังเกตบาร์ตมีสีหน้าไม่ดี อย่างเห็นได้ชัด ไม่มีมุกตลกเหมือนปกติ ทั้งๆ ที่เวลาดื่มเช่นนี้ น่าจะเป็นช่วงเวลาตลกโปกฮา

เอ็นริเล่ คนไร้บ้านอีกคน เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อเช้าบาร์ตไปสมัครงานเป็นคนงานก่อสร้าง แต่ไม่ได้งาน ทั้งๆ ที่เขาคาดหวังไว้มากว่าจะได้งาน เพราะบารังไกกัปตัน (เทียบได้กับหัวหน้าหมู่บ้าน) เซ็นรับรองในใบสมัครให้เขาแล้ว แต่เขาก็ยังพลาด หัวหน้าคนงานบอกว่า มีคนงานเต็มแล้ว แต่บาร์ตรู้ดีว่า เพราะรอยสักบอกว่าเขาเป็นคนขี้คุกต่างหาก ที่ทำให้เขาไม่ได้งาน

ในอารมณ์ที่เมาเต็มที่ บาร์ตพูดด้วยเสียงสั่นเครือว่า เขาหวังว่าจะได้งาน งานอะไรก็ได้ งานต่ำต้อยราคาถูก ก็ไม่ว่า ขอให้เขาได้หาเงินเลี้ยงลูกเมีย แต่เขาก็ยังพลาด แล้วอย่างนี้จะให้เขากลับบ้านไปดูหน้าลูกเมียที่หิวอยู่บ้านได้ยังไง

ถึงตอนนี้ ผมเห็นบาร์ตเป็นคนละคน ผมเห็นเขาเป็นผัวและเป็นพ่อคน

ช่วงนั้น บาร์ตไม่ได้เป็นคนไร้บ้านเต็มตัว เพราะเขาได้เมีย และญาติของเมียสงสารลูกเขาสามคนที่ต้องกินนอนอยู่ข้างถนน จึงสร้างเพิงโกโรโกโสอยู่ที่บาเซโกะ สลัมที่ใหญ่ที่สุดของเมืองมะนิลา คล้ายกับสลัมคลองเตยบ้านเรา แต่บาร์ตบอกว่าอยู่ที่นั่นไม่มีงานไม่มีเงิน

แหล่งหาเงินของเขาอยู่ที่ข้างถนน วิธีการหาเงินที่บาร์ตถนัดก็คือ การเรียกคนขึ้นรถจีปนีย์ (Jeepney) คล้ายรถสองแถวบ้านเรา และได้เศษเหรียญจากคนขับเป็นการตอบแทน มีสแลงเรียกงานนี้ว่า บาร์คเกอร์ (barker) หากลองคิดตาม ก็คงเห็นภาพหมาเห่า สะท้อนว่าคนที่ตะโกนเรียกผู้โดยสารขึ้นรถนั้นถูกมองอย่างไร

บาร์ตหาเงินจากการเป็นบาร์คเกอร์ได้วันละร้อยถึงสองร้อยเปโซ (75-150 บาท) แต่ปัญหาก็คือ ถ้าช่วงปิดเทอม ไม่ค่อยมีนักศึกษาขึ้นรถที่ป้ายที่เขาโบก ทำให้เขาหาเงินได้น้อยลง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงอยากหางานเป็นลูกจ้างที่มีรายได้แน่นอนทุกวัน

ถึงกระนั้นบาร์ตยังมองตัวเองว่า เป็นคนไร้บ้าน เพราะบ้านที่บาเซโกะคือบ้านเมีย ไม่ใช่บ้านเขา และญาติเมียก็รังเกียจเขาชัดเจนมาก ผมเคยไปบ้านของแม่เมียของบาร์ต ที่มีพี่น้องข้างเมียของบาร์ตอยู่ด้วยกัน หลานเมียถึงกับบอกว่า ไม่ให้บาร์ตเข้าบ้าน เพราะกลัวบาร์ตจะขโมยของ

ขณะที่ใครๆ มักคิดว่า บาร์ตคงเอาเปรียบหาประโยชน์จากผม แต่ความจริงแล้ว เขาร่วมแชร์ค่าข้าวเวลาเรากินอะไรด้วยกัน แม้ผมจะออกตังค์มากกว่าเขาบ้างก็เป็นธรรมดา โดยบอกว่า ให้เขาเก็บเงินไว้ให้ลูก

ตรงกันข้าม ผมเองต่างหากที่ยังมีเม้มเงิน เนื่องจากการระวังไม่ให้ถูกมองว่า เป็นนักศึกษาต่างชาติร่ำรวย ผมจะไม่ควักแบงก์ร้อยเปโซออกมาใช้ จะแตกเป็นแบงก์ยี่สิบ หรืออย่างมากก็แบงก์ห้าสิบไว้ล่วงหน้า ทำให้ผมดูเหมือนไม่มีแบงก์ใหญ่ติดกระเป๋า

ในช่วงสิบสัปดาห์นี้ผมยังไม่เคยอาบน้ำ เหมือนคนไร้บ้าน ผมจะเอาเสื้อผ้าออกมาจากออฟฟิศเพื่อนพออยู่ได้สามสี่วัน พอเสื้อผ้าหมด ก็กลับไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ออฟฟิศ

เวลาที่ผมจะกลับจากลูเนต้า บาร์ตจะถามผมเสมอว่า มีเงินค่ารถพอกลับมั้ย ผมโชว์เหรียญให้เขาดูว่าผมมีค่ารถพอดี ทั้งๆ ที่ โดยความจริงแล้ว ผมยังมีเงินซ่อนอยู่อีก บาร์ตมักเอาเงินเหรียญที่เขาได้จากการโบกรถแบ่งให้ผมสิบยี่สิบเปโซเสมอ บอกว่า เอาติดตัวไว้ เผื่อซื้อน้ำกิน หรือหากตกรถจะได้ไม่ต้องเดินกลับ

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าบาร์ตเอาใจใส่ผมอย่างมาก เขาสังเกตว่า หลังจากผ่านไปสามสี่อาทิตย์ ผมแทบจะไม่กลับไปนอนที่สำนักงานของเพื่อน วันไหนผมกลับ ผมจะไปตอนกลางวัน อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า และก็เอาเสื้อผ้าสองสามชุดออกมาภายในเย็นวันเดียวกัน

วันหนึ่งเขาเลยถามผมว่า ผมมีปัญหาอะไรกับเพื่อนหรือเปล่า ทำไมถึงอยู่แต่ที่ลูเนต้า ผมจึงบอกความรู้สึกว่า ผมผิดหวังกับเพื่อน ซึ่งทำงานที่เรียกตัวเองว่า นักจัดตั้งองค์กรชุมชน (Community Organizer) เดิมเขาบอกว่า อยากจะทำงานรวมกลุ่มคนไร้บ้าน เหมือนที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ในเมืองไทย ทำงานจัดตั้งคนไร้บ้าน แต่เอาเข้าจริง พวกเขาเหยาะแหยะไม่เอาจริง

ฟางเส้นสุดท้ายที่ผมรู้สึกแย่ก็คือ มีคนไร้บ้านถูกเจ้าหน้าที่กระทรวงสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ‘จับ’ ตัวไป แต่ ‘นักจัดตั้ง’ เหล่านี้ ไม่กล้าทำอะไรเลย ผมเลยไม่รู้สึกสนิทใจที่จะกลับไปนอนที่นั่น

ภาพวันนั้นคือ เรานอนก่ายหน้าผากคุยกันที่สวนลูเนต้า ผมบอกบาร์ตว่า ตอนนี้ผมเริ่มเข้าถึงความรู้สึกของคนไร้บ้านที่ว่า มีบ้านแต่ไม่อยากกลับบ้านเป็นยังไง อยู่ที่นี่สบายใจกว่า

บาร์ตได้ฟังแล้วก็บอกว่า งั้นก็อยู่นี่แหละ อยู่เป็นเพื่อนกัน มีอะไรก็แบ่งกัน ไม่ลำบากหรอก ว่าแล้ว เขาก็หันมาทำท่าตลก เล่าเรื่องโปกฮาให้ฟัง เป็นอีก moment หนึ่งที่ผมรู้สึกว่า บาร์ตคือเพื่อนสนิท

บาร์ตเป็นคนไร้บ้านมาไม่ต่ำกว่าสิบปี จึงรู้จักคนมาก รู้ซึ้งวิถีข้างถนนเป็นอย่างดี  วันหนึ่งผมบอกบาร์ตว่า ผมได้ยินมาว่า ที่โบสถ์ปาโกะ (Paco Church) มีการแจกอาหารในวันอาทิตย์และให้คนไร้บ้านอาบน้ำได้ด้วย แต่ผมไม่เคยไปและไม่รู้ว่าจะไปยังไง เมื่อบาร์ตรับรู้ แน่นอนว่าเขาก็อาสาไปเป็นเพื่อนผม

ในเช้าวันอาทิตย์ที่เราไปถึงนั่น เป็นเวลาสักเจ็ดโมงเช้าถือว่าสายแล้ว เพราะโบสถ์เปิดประตูให้คนเข้ามาได้ตั้งแต่หกโมงเช้า และก็แจกข้าวต้มชงกับผงช็อกโกแลต เรียกว่า ชัมโพราดอ (champorado) ไปแล้ว ส่วนอาหารมื้อหลักที่จะแจกต้องรอไปถึงเที่ยงกว่าจะได้กิน

แต่ผมกับบาร์ตก็ไม่ได้อดข้าวเช้า เขาทักทายเพื่อนเก่ากลุ่มหนึ่งที่เขาสนิทเป็นพิเศษ เป็นคนเก็บของเก่าที่โทรมสุดๆ ทั้งเสื้อผ้า หน้าตา เหมือนไม่ได้อาบน้ำมาทั้งอาทิตย์ ส่วนใหญ่ยังรุ่นหนุ่ม อายุบวกลบแถวๆ สามสิบ จะมีแค่คนหนึ่งที่ดูอาวุโสกว่าเพื่อน อายุน่าจะสี่สิบปลายๆ

พวกเขาเห็นผมกับบาร์ตเพิ่งมาถึง คงไม่ได้กินอะไรตอนเช้า ก็แบ่งข้าวต้มช็อกโกแลต ที่พวกเขากินเหลือให้เราสองคน ระหว่างนั่งรอ บาร์ตบอก เขาไม่ได้มาที่นี่สักสี่ห้าปีแล้ว เมื่อก่อนที่ยังเก็บของเก่า จะมาอาบน้ำซักผ้าที่นี่ แต่ตอนนี้เขาไม่ใช่คนไปกินข้าวตาม feeding program จึงไม่ได้มาที่นี่ แต่ที่มาวันนี้ก็เพราะผมบอกว่าอยากมา

อย่างที่บอกว่า เมียของบาร์ตมีบ้านอยู่ในสลัม คืนหนึ่ง บาร์ตต้องการกลับไปนอนกับเมีย และรู้สึกเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องหาใครสักคนนอนเป็นเพื่อนผม

กฎข้างถนนก็คือ ห้ามนอนคนเดียว ไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง และหากเป็นอะไรไปก็ไม่มีใครรู้

บาร์ตพาผมไปหาเพื่อนสนิทกลุ่มที่ผมเคยเจอที่ปาโกะที่ว่า โทรมสุดๆ บางคนไม่ใส่เสื้อ บางคนเดินตีนเปล่า แต่หน้าตามอมแมมนั้นเหมือนกันทุกคน

ตอนแรกบาร์ตพาผมไปหาพวกเขา ที่นอนกันอยู่ประจำหน้าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแห่งหนึ่ง และบอกว่า จะฝากให้ผมนอนด้วย ผมรู้สึกไม่สะดวกใจ และบอกบาร์ตว่า ไม่ต้องห่วง ผมยังมีคนไร้บ้านคนอื่นๆ ที่ผมรู้จักที่ปาโกะ จะไปนอนกับพวกเขาได้

ผมกับบาร์ตจึงเดินกลับออกมา แต่ผมเห็นสีหน้าผิดหวังของคนกลุ่มนั้น เพราะเขากำลังถูกไม่ไว้วางใจโดยผม ผมกับบาร์ตหยุดยืนคุยกันที่สี่แยกไฟแดง ผมถามบาร์ตว่า ผมควรกลับไปนอนกับพวกเขาใช่มั้ย บาร์ตก็ยืนยันว่า ใช่ เขารับรองว่าผมจะปลอดภัย ผมจึงตัดสินใจเดินกลับไปนอน

พอพวกเขาเห็นว่า ผมเดินกลับมานอนกับพวกเขา ทุกคนก็สีหน้าดีขึ้น คนไร้บ้านคนหนึ่ง สละตำแหน่งที่เขานอนประจำให้ผมนอน ทำนองว่า เป็นฟุตบาทมุมที่ดีที่สุด มีลมพัด ไม่ค่อยมียุง ส่วนตัวเขาขยับไปนอนถัดออกไป

คืนนั้นผมไม่ได้หลับโดยง่าย ช่วงที่ผมนั่งยังไม่เอนตัวนอน ก็มีเด็กข้างถนนสองคนมากวนขอเงินจากผม คนหนึ่งยังตัวเล็กสักแปดเก้าขวบ อีกคนวัยรุ่นสักสิบสี่สิบห้าเห็นจะได้ ทั้งสองคงเห็นผมเป็นคนหน้าใหม่ และผิวพรรณเสื้อผ้าผมก็ต่างกับคนอื่นๆ ที่สกปรกกว่าคนเก็บของเก่าทั่วไปเสียอีก ผมไม่ใส่ใจและบอกว่าไม่มีเงินจะให้

คนไร้บ้านคนอื่นๆ พยายามบอกให้เจ้าสองคนนี้ไปได้แล้ว อย่ามากวนผม แต่ทั้งสองก็ยังเซ้าซี้

โดยไม่ทันรู้ตัว คนไร้บ้านหนุ่มคนหนึ่งก็ต่อยเข้าที่หน้าของเจ้าวัยรุ่น เด็กสองคนรีบวิ่งหนีทันทีที่รู้ว่าถูกเอาจริง พวกเขาวิ่งหนีข้ามถนน อย่างไม่กลัวถูกรถชน เสียงเบรกรถดังสนั่นหวั่นไหว ถ้าสองคนนี้ถูกรถชน ผมคงมีส่วนเป็นต้นเหตุด้วย

สุดท้ายผมก็ได้นอน พอรู้สึกตัวกลางดึก ยังไม่ทันพ้นเที่ยงคืน ลืมตาขึ้น ก็เห็นพวกเขาเมากันได้ที่ ไม่ใช่เมาเหล้าแต่เป็นเมากาว ทำท่าสอยดาวอยู่ที่เกาะกลางถนน ผมนึกอยู่ในใจภาวนาอย่าให้เกิดเหตุร้าย

คืนนี้ ผ่านไปได้ด้วยดี รุ่งเช้าผมก็แยกออกจากกลุ่มกลับไปลูเนต้า คนไร้บ้านที่นั่นถามว่าเมื่อคืนผมไปนอนที่ไหน ไม่เจอผมในที่ที่ผมนอนประจำ ผมบอกว่า บาร์ตพาไปนอนกับกลุ่มคนเก็บของเก่าบนถนนทัฟต์ (Taft Avenue)

พวกเขาบอกว่า โชคดีที่ไม่ถูกจับ ที่ตรงนั้นตำรวจมาจับอยู่บ่อยเพราะโจ่งแจ้งเหลือเกิน โดยเฉพาะคนกลุ่มนั้น ถูกจับเข้าๆ ออกๆ ห้องขังจนชินแล้ว แต่ถ้าผมถูกขังด้วย ผมคงเยินแน่

ผมฟังแล้วนึกถึงที่บาร์ตรับรองว่าผมจะปลอดภัยหากอยู่กับกลุ่มนี้ แล้วบอกตัวเองว่า บนท้องถนนไม่มีใครรับรองความปลอดภัยให้ได้ โดยเฉพาะยามคนเมา ไม่มีใครจำความอะไรได้

อยู่ข้างถนนต้องรู้จักกลัวไว้บ้าง โชคดีแล้วที่ไม่เจอเรื่องร้ายๆ

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า