เอ็ดการ์ – เด็กตะกร้า

“บุญเลิศ เปลี่ยนเสื้อของนายซะ”

เอ็ดการ์ คนไร้บ้านที่เชสพลาซ่าในสวนริซัล พูดหน้าขึงขังกับผมในเช้าวันหนึ่ง พร้อมกับโยนเสื้อยืดตัวหนึ่งให้ผม มันเป็นเสื้อที่เหม็นอับ เพราะเขาใส่แล้วไม่ได้ซัก นั่นเป็นสัปดาห์แรกๆ ของการลงภาคสนามของผมในมะนิลาเมื่อปี 2554

“แล้วก็เปลี่ยนกระเป๋านายด้วย” เขาพูดเสียงหนักต่อไปว่า “นายรู้มั้ย กระเป๋าของนายน่ะมันใหม่มาก คนทั้งลูเนต้าสงสัยกันหมดว่าในกระเป๋าใหม่ๆ ของแกมีอะไรบ้าง ถ้านายอยากจะเป็นคนไร้บ้าน นายต้องใส่เสื้อผ้าที่เก่ากว่านี้ และก็ใช้กระเป๋าใบเก่าๆ”

เอ็ดการ์พูดพลางยื่นกระเป๋าใบหนึ่งให้ผม มันเป็นกระเป๋าสะพายข้างใบเล็กๆ นอกจากเลอะเทอะแล้วสภาพของมันยังเก่ามาก ผิวผ้าใบของกระเป๋าหลุดลุ่ยหลายแห่ง เขาบอกว่า นี่เป็นกระเป๋าที่เขาใช้มานานแล้ว แต่เขาจะให้ผมไว้ใช้ เขาอยากให้ผมดูกลมกลืนกับคนไร้บ้านมากกว่านี้

ถึงแม้ผมจะมีประสบการณ์กับคนไร้บ้านทั้งในกรุงเทพฯ และโตเกียว และคิดว่าตัวเองระวังดีแล้ว ที่หาเสื้อผ้าเก่าใส่ไปลูเนต้า ผมกลับไม่รู้ตัวเลย กระทั่งเอ็ดการ์บอกผมว่า เสื้อยืดที่ผมคิดว่าเก่าแล้วเมื่อใส่ที่วิสคอนซินนั้นก็ยังดูดีกว่าที่คนไร้บ้านทั่วไปใส่มาก ส่วนเสื้อเชิ้ตลายสก็อตแขนสั้นอีกตัวที่ผมชอบใส่ เพราะเข้าใจว่าเป็นเสื้อที่พวกคนงานใส่นั้น คนไร้บ้านบอกผมว่า เสื้อเชิ้ต แม้จะเป็นลายสก็อต เป็นเสื้อของคนทำงานออฟฟิศ คนชั้นล่างจะใส่แต่เสื้อยืด

ที่สำคัญก็คือ ผมใช้กระเป๋าแบ็คแพ็คใบเดียวกับที่ผมใช้เรียนที่วิสคอนซิน ผมเพิ่งสังเกตว่า สภาพของมันแม้ไม่ถึงกับใหม่ แต่ยังดูดี สีดำสนิท ซิปแน่นหนาไม่ขาดไม่แตก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับใบที่เอ็ดการ์โยนมาให้ กระเป๋าผมดีกว่ากันมาก ผมมารู้เพิ่มเติมจากคนไร้บ้านคนอื่นอีกว่า กระเป๋าใหม่ เป็นอันตรายสำหรับคนข้างถนน มากกว่าเสื้อผ้าใหม่เสียอีก

คนไร้บ้านอาจมีเสื้อผ้าใหม่ใส่ได้ ถ้ามีคนให้ แต่กระเป๋าใหม่ จะหมายถึงคนที่เพิ่งมาเป็นคนไร้บ้าน แสดงว่า ยังมีข้าวของในกระเป๋าเยอะอยู่ จึงเป็นเป้าหมายของการถูกขโมย

หลังจากนั้น ผมก็เปลี่ยนเครื่องทรงตัวเองเสียใหม่ ด้วยการหาเสื้อผ้าเก่าๆ ซึ่งหาได้ไม่ยากจากคนไร้บ้านด้วยกัน สายวันอาทิตย์ที่โบสถ์ปาโกะจะมีคนไร้บ้าน มาอาบน้ำและซักผ้า และจะมีคนเอาเสื้อผ้าที่เก็บได้ มาซักขาย ผมก็ได้เสื้อมือสองจากที่นี่มาสองตัวตัวละ 10 เปโซ (7.50 บาท) ส่วนกระเป๋า ผมซื้อกระเป๋าแบ็คแพ็คเก่าใบหนึ่งจากคนไร้บ้านช่วงที่เขากำลังลงแดงอยากเหล้าสุดๆ ในราคา 40 เปโซ (30 บาท)

สำหรับสีผิวและหน้าตา ก็ปล่อยให้มันหมองคล้ำไปตามเวลาที่อยู่บนท้องถนน พร้อมกับน้ำหนักที่ลดลง จนท้ายที่สุด เมื่อครบสิบสัปดาห์ กางเกงที่เคยใส่ได้ปกติก็หลวมโพรก เอวผมลดไปสักสี่ห้านิ้ว

เอ็ดการ์ เป็นชายวัยสามสิบต้นๆ รูปร่างบึกแต่ไม่ถึงกับอ้วน ไว้ผมหนาลงมาตรงๆ ลงมาถึงคอ ถ้าใครมีเหล้ามาชวนดื่ม เขาก็ดื่มหนักเอาการ ผมเคยเห็นเขาดื่มเหล้าเมา ตาขวางๆ หาเรื่อง แล้วก็เหวี่ยงหมัดใส่คนไร้บ้านสูงวัยคนหนึ่ง ทำให้ผมระมัดระวังไม่คุยด้วยเวลาเขาดื่ม เพราะไม่รู้ว่าจะพูดผิดหูหรือทำให้เขารำคาญขึ้นมาตอนไหน

ตอนนั้นผมรู้แต่ว่า เขาหากินจากการเล่นหมากรุก ทั้งมีกระดานหมากรุกให้คนมาเล่นเช่า และเล่นพนันหมากรุกด้วยตัวเอง นอกจากนี้ เอ็ดการ์ มักคลอเคลียกับหญิงวัยรุ่นคนหนึ่ง บาร์ตคนไร้บ้านที่สนิทกับผมกระซิบบอกผมว่า เธอเป็นโสเภณีหน้าโง่ที่ขายตัวหาเงินเลี้ยงเอ็ดการ์

เอ็ดการ์ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพ่อแม่ของเขา เขาเป็นเด็กกำพร้าที่โตมากับศูนย์เลี้ยงเด็กกำพร้า เรื่องราวที่เขารับรู้จากปากของคนอื่นก็คือ เขาเป็นทารกที่ถูกทิ้งไว้ในตะกร้าที่เบย์วอล์ค และมีคนโทรเรียกให้ศูนย์เลี้ยงเด็กกำพร้าของรัฐมารับไปเลี้ยง

ฟิลิปปินส์ แม้จะเป็นประเทศคาทอลิกที่ได้ชื่อว่าเคร่งครัดเรื่องการควบคุมพฤติกรรมทางเพศ และศาสนจักรก็ยังมีอิทธิพลทั้งในทางการเมือง และวิถีชีวิตของผู้คน แต่เอาเข้าจริงแล้ว ก็เป็นสังคมมือถือสากปากถือศีล ไม่ต่างกับสังคมไทยที่บอกตัวเองว่าเป็นสังคมพุทธเท่าไรนัก

เครือข่ายโบสถ์คาทอลิก ในมะนิลาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการคัดค้านการออกกฎหมายที่จะให้มีการให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิด (Reproductive Health-RH Bill) มานานหลายปี ก่อนที่กฎหมายนี้จะผ่านการบังคับใช้ได้โดยต้องแก้ไขสาระสำคัญไปหลายมาตราในปี 2557 เครือข่ายของโบสถ์คาทอลิกตีความว่า การคุมกำเนิดเป็นการขัดพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อไม่มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิด แต่การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสเกิดขึ้นแพร่หลายในสังคม เด็กที่เกิดจากคู่ชายหญิงที่ไม่พร้อมจะมีลูก จึงต้องโตมาอย่างทุลักทุเล รวมถึงเอ็ดการ์

ภาพสะท้อนการเป็นสังคม มือถือสากปากถือศีล ที่เห็นได้ชัดอีกประการก็คือ การเคร่งครัดว่าในสังคมคาทอลิกจะไม่มีการหย่าร้าง (divorce) เพราะถือว่า การแต่งงานในโบสถ์เป็นการให้สัญญากับพระผู้เป็นเจ้าว่าจะดูแลกันไปตลอดชีวิต ไม่อาจจะละเมิดสัญญากับพระเจ้าได้ แต่คู่ชีวิตที่มีเหตุให้ไปด้วยกันไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องแยกทางกันอยู่ดี เพียงแต่ใช้คำว่า แยกทาง (separation) ไม่ใช่การหย่าร้าง แต่ผลของมันแทบจะไม่ได้แตกต่างกัน คือ เด็กจำนวนมากก็ต้องโตกับพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง ไม่ก็ไม่มีทั้งพ่อและแม่ โดยโตมากับญาติๆ แทน คนไร้บ้านที่ผมรู้จักในเวลาต่อมา จำนวนเกินกว่าครึ่ง ก็โตมากับครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้าง…ไม่ใช่ครับ พ่อแม่แยกทางกัน

แม้จะมีโอกาสได้เรียนตามอัตภาพ แต่เอ็ดการ์ย่อมไม่รู้สึกถึงความอบอุ่นในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น เขาก็ทำเช่นเดียวกับเด็กหลายคนในบ้านพักเด็กกำพร้า คือหนีออกจากบ้าน และมาใช้ชีวิตข้างถนน หาเลี้ยงตัวเอง ทุกรูปแบบ เช่น เป็นแรงงานเด็กราคาถูกในตลาด ลักเล็กขโมยน้อย ไปจนถึง เคยทำงานเป็นสายให้กับทางตำรวจ เข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มที่มีการเดินขบวนประท้วง

แม้จะดูไม่ได้มีพื้นฐานการศึกษาสูง แต่น่าสนใจว่าเอ็ดการ์เข้าใจการลงภาคสนามของผมได้อย่างดี ดังที่เขาบอก ให้ผมทำตัวให้กลมกลืนกับคนไร้บ้าน เขายังแนะนำผมอีกว่า หากผมอยากจะรู้จักชีวิตคนไร้บ้าน ผมไม่ควรจะสนิทกับบาร์ตโตเรเมคนเดียว เพราะคนไร้บ้านมีชีวิตไม่เหมือนกัน ให้ไปกับเอนก (ชื่อ เอ-นก ไม่ใช่ อะ-เหนก) คนเก็บของเก่าบ้าง ไปกับ ดากูล คนนวดบ้าง (แต่เขาไม่เห็นบอกว่า เขามีอะไรให้ผมเรียนรู้)

เอ็ดการ์ เป็นคนเอาเรื่องทีเดียว หากใครคิดจะยุ่งกับคู่ขาของเขา คืนหนึ่งพวกเราเดินไปนอนกัน มีผม บาร์ตโตเรเม เรย์มอนด์ คนไร้บ้านอายุมากหน่อยที่ชอบเหล่ผู้หญิง เอ็ดการ์กับคู่ขาของเขา และยังมีคนไร้บ้านคนอื่นอีกสองสามคน พวกเราพากันเดินไปนอนที่ฟุตบาทไม่ไกลจากสวนลูเนต้า

ก่อนเดินไปนอน ผมไม่รู้เลยว่า พวกเขาแอบดื่มเหล้ากันมาแล้ว เพราะผมไม่ได้อยู่ด้านในของเชสพลาซ่า บาร์ตโตเรเมเป็นคนชวนให้เรย์มอนด์มากับพวกเราด้วย เพราะเห็นเขาพูดภาษาอังกฤษได้ เขาพยายามพูดภาษาอังกฤษ อธิบายอะไรต่างๆ ให้ผมฟัง จนบางครั้งก็น่ารำคาญ

ขณะที่ ผม บาร์ตโตเรเม และเรย์มอนด์ กำลังเอนตัวลงนอน เอ็ดการ์ก็หันมาพูดกับผมหน้าตาขึงขังว่า “อย่าไว้ใจมัน” พร้อมชี้ไปที่เรย์มอนด์ ทำให้เรย์มอนด์รู้สึกเสียหน้าที่ตัวเองถูกดิสเครดิต จึงลุกขึ้นมายืนเถียงกับเอ็ดการ์ พอจับความได้ว่า เอ็ดการ์โมโหเพราะตอนที่เรย์มอนด์ยืนฉี่ก่อนนอนนั้น เขาตั้งใจหันหน้าไปทางด้านเอ็ดการ์ เพื่ออวดของให้คู่ขาของเอ็ดการ์เห็น

แน่นอนว่า บนท้องถนนการโต้เถียงไม่ค่อยกินเวลานาน เพียงไม่กี่คำ เอ็ดการ์กับเรย์มอนด์ก็เหวี่ยงหมัดใส่กัน ทั้งคู่ถือเป็นคนตัวใหญ่พอฟัดพอเหวี่ยงกัน และไม่มีท่าทีว่าใครกลัวใคร แม้เอ็ดการ์จะได้เปรียบที่หนุ่มกว่า แต่เขากลับโดนหมัดของเรย์มอนด์เข้าเต็มๆ จนมีแผลแตกและมีเลือดออกที่ใต้ตา ก่อนที่บาร์ตโตเรเมและคนอื่นๆ จะแยกคนทั้งสองจากกัน และย้ำว่า “เพื่อนกัน เพื่อนกัน พอแล้ว”

ก่อนนอน เรย์มอนด์ ยังคุยโวให้ผมฟังว่า เขาเร็วกว่าและปล่อยหมัดเข้าเป้ากว่า บาร์ตโตเรเมต้องบอกให้เขาหุบปากและนอนได้แล้ว ส่วนผมนึกไปถึงเรื่องเล่าเก่าๆ ที่เคยได้ยินแล้วก็กลัวขึ้นมา การล้างแค้นที่รุนแรงที่สุดในหมู่คนไร้บ้าน ก็คือ การใช้หินก้อนใหญ่ทุ่มใส่หัวของอริขณะที่กำลังนอนหลับ ผมหวังว่า เอ็ดการ์คงไม่ล้างแค้นแบบนี้ เพราะผมนอนติดกับเรย์มอนด์ กลัวจะโดนไปด้วย

แต่ความจริงแล้ว ผมกลัวเกินเหตุ คืนนั้นผ่านไปโดยไม่มีอะไรอีก ทั้งสองมึนตึงอยู่วันสองวัน แล้วก็เป็นเรย์มอนด์ในฐานะคนแก่กว่า ที่พูดกับเอ็ดการ์ก่อนว่า “brother ขอโทษนะเว้ย จับมือหน่อย อย่าได้มีเรื่องกันอีก” เอ็ดการ์ก็จับมืออย่างแกนๆ จบเรื่องไป วันหลังก็แชร์เหล้ากันกินได้อีก

วันอาทิตย์วันหนึ่งของเดือนมิถุนายน ผมเห็นคนเยอะแยะมาเที่ยวที่สวนลูเนต้ามากกว่าปกติ แต่ไม่ทันได้เอะใจถาม เป็นเอ็ดการ์ที่ถามผมว่า รู้มั้ย ทำไมคนจึงมาลูเนต้าเยอะ ผมบอกไม่รู้ เขาก็บอกว่า เป็นวันพ่อของฟิลิปปินส์ ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่สามของเดือนมิถุนายน เป็นการฉลองวันพ่อวันเดียวกับในสหรัฐอเมริกา

ผมนิ่งและหลับตายาวๆ จนเอ็ดการ์ถามว่า เป็นอะไร ผมตอบไปว่า “คิดถึงพ่อ พ่อผมเพิ่งเสียเมื่อปีที่แล้ว”

เอ็ดการ์ถามผมว่า สนิทกับพ่อมั้ย ผมบอกว่า ไม่สนิทแต่ก็รักพ่อ

เขาถามต่อว่า “พ่อนายเคยเล่นกับนายตอนเด็กๆ เคยซื้อของเล่นให้นายมั้ย” ผมพยักหน้าตอบว่าเคย

เอ็ดการ์พูดต่อไปว่า “นายยังดี นายยังมีพ่อ เคยเล่นกับพ่อ ฉันสิ ฉันยังไม่เคยเห็นหน้าพ่อเลย ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นพ่อฉัน”


ป.ล. ถ้าไม่เกรงใจราชบัณฑิต อยากสะกดชื่อเพื่อนคนนี้ว่า เอ็ดก้า…ร ไม่ใช่ เอ็ดการ์ เพราะคนฟิลิปปินส์ออกเสียง R ชัดมาก เป็น เอ็ดก้า…รรร ด้วยซ้ำ ถ้าออกเสียงว่า เอ็ดก้า จะเข้าใจไม่ได้เลยว่าหมายถึงใคร

 

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า