“บุน นายกิน ห่อเปี๊ยะ ของนกนก มั้ย”
จูลูส คนไร้บ้านวัยหนุ่ม กระซิบถามผม ขณะที่เขาเห็นผมยืนมอง ชายที่ถูกเรียกว่า นกนก กำลังมัดถุงห่อเปี๊ยะ หรือที่คนไทยเรียกว่า ขนมเปี๊ยะ เรียงขายกับพื้น ตอนสายที่โบสถ์ปาโกะ
ผมตอบไปว่า “กินสิ หิวกว่าจะได้แจกข้าว ต้องกินนี่รองท้องไปก่อน ถูกดีด้วย”
จูลูสซุบซิบบอกผมต่อว่า แสดงว่าท้องผมนี่สามารถปรับตัวเหมือนคนไร้บ้านได้แล้ว ที่กิน ห่อเปี๊ยะ ของนกนก แล้วท้องไม่เสีย
ที่เขาพูดเช่นนี้ ก็เพราะห่อเปี๊ยะที่เอามาขายนั้น พูดให้รื่นหูหน่อย ก็ต้องบอกว่า มันเป็น ห่อเปี๊ยะรีไซเคิล แต่ถ้าพูดตรงๆ ก็คือ มันเป็นห่อเปี๊ยะที่มาจากถุงขยะของร้านเบเกอรีที่ทิ้งเจ้าขนมนี่เพราะมันหมดอายุแล้ว แต่นกนกนำกลับมาแยกใส่ถุงพลาสติกเนื้อบางๆ แบบถุงก๊อบแก๊บขายให้คนไร้บ้าน
นกนกเป็นคนผิวดำคล้ำ ผมหยิกติดหัว ริมฝีปากหนา ตาดุเข้ม รูปร่างกำยำ แบบคนมีเชื้อสายลูกครึ่งผิวสี คนทั่วไปไม่ว่าจะรู้จักชื่อเขาหรือไม่รู้จักชื่อเขาก็ตาม มักเรียกเขาว่า นกนก (Nognog) คำนี้ไม่ใช่ชื่อ แต่เป็นสแลงในภาษาตากาล็อก ใช้เรียกคนที่มีลักษณะออกไปทางนิโกร หรือ เนกริโต (Negrito) คนผิวดำแต่ตัวเล็ก ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองในแถบหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งที่อยู่ในแถบภูเขาและแถบชายทะเล คำว่า นกนก มีนัยเหยียดนิดๆ เหมือนเมื่อก่อนที่คนไทยเรียกลูกครึ่งผิวสีว่า “ไอ้มืด”
ในหมู่คนไร้บ้านในมะนิลา น้อยคนจะไม่รู้จักนกนก หลายคนเป็นลูกค้าห่อเปี๊ยะรีไซเคิลของเขา เพราะราคาถูกเพียงถุงละ 5 เปโซ หรือ 3 บาท 50 สตางค์เท่านั้น ถูกกว่าค่ารถเมล์อีก ในถุงหนึ่งจะมี ห่อเปี๊ยะ บี้ๆ แบนๆ หรือไม่ก็หัก เห็นไส้ทะลัก หลากสี ทั้งสีม่วงของไส้เผือก สีน้ำตาลดำรสช็อกโกแลต ส่วนที่เห็นมากที่สุดคือสีเขียวของไส้ถั่วบด ถ้าเอาน้ำหนักมารวมกัน ก็อาจจะได้ห่อเปี๊ยะชิ้นเต็มประมาณ 5-6 ชิ้น บางวันนกนกอาจมีขนมปังอย่างอื่นมาขายด้วย เช่น ขนมปังแผ่นเปล่าๆ ไม่มีหน้า เค้กแยมโรล แต่คนไร้บ้านนิยมห่อเปี๊ยะเพราะหนักท้องกว่าเบเกอรีอย่างอื่น
โดยทั่วไปคนไร้บ้าน จะซื้อห่อเปี๊ยะนี้กินระหว่างมื้อ พอประทังหิว เช่น ที่โบสถ์ปาโกะ กว่าจะได้กินอาหารเที่ยงก็บ่ายโมงกว่า ขณะที่อาหารเช้าแจกแค่ข้าวต้ม ทำให้สัก 11 โมงคนก็หิวกันแล้ว ใครหิวและพอมีเหรียญ ก็จะซื้อห่อเปี๊ยะ แล้วแบ่งให้เพื่อนๆ หยิบกิน พอมีอะไรให้น้ำย่อยในกระเพาะได้ย่อยบ้าง
ตอนแรกที่ผมกินห่อเปี๊ยะนั้น ก็ตั้งแต่ตอนที่ผมไปมะนิลาใหม่ๆ และยังอยู่กับกลุ่มอาเตะอาร์ลีน นกนกหิ้วห่อเปี๊ยะมาขาย หน้าตามันดูได้ เพราะใส่ถุงใหม่เรียบร้อยแล้ว ครั้นพอผมมาเห็นสภาพ ก่อนที่จะมาถูกใส่แพ็คเกจจิ้งใหม่นั้น ก็ทำให้ผมกินไม่ลงอยู่หลายวัน ก่อนจะทำใจ แล้วกลับมากินห่อเปี๊ยะของนกนกได้อีก เพราะสภาพมันมาจากกระสอบปุ๋ยใส่ขยะชัดๆ ที่มะนิลาบ้านเรือนมักจะใช้ถุงปุ๋ยเป็นถุงขยะ ห่อเปี๊ยะแตกๆ และขนมปังของนกนก ก็มากับถุงปุ๋ยแบบนั้น คลุกเคล้าอยู่กับขยะอื่นๆ พวกถุงพลาสติก โดยมากเป็นกระดาษจากร้านเบเกอรี แล้วมีก็ฝุ่นผงที่ก้นถุง นกนกจะค่อยๆ เลือกห่อเปี๊ยะชิ้นที่ยังไม่เละมากมาใส่ถุงพลาสติกขายให้คนไร้บ้าน
ด้วยความที่มันมาจากถุงขยะ แล้วก็มีแต่คนไร้บ้านที่กิน คนไร้บ้านหลายคนพูดทำนองเดียวกันว่า ห่อเปี๊ยะนกนก คือ อาหารสัญลักษณ์ของคนไร้บ้าน มีแต่คนไร้บ้านเท่านั้นที่กินอาหารเช่นนี้ แต่จะว่าไป ไม่เฉพาะคนไร้บ้านเท่านั้นที่กินอาหารจากถังขยะ คนจนอีกไม่น้อยที่กินอาหารจากถังขยะจนมีสแลงคำว่า ปักปัก (pagpag) รู้กันทั่วไป คำนี้จริงๆ เป็นคำกริยา แปลว่า สะบัด (มือ) หมายถึงเวลาเอาอาหารเหลือมาจากถังขยะ แล้วก็สะบัด เคาะๆ ให้สิ่งสกปรกหลุดออกไปเสียหน่อย จึงค่อยกิน
ปักปักที่คนไร้บ้านชอบมากก็คือ พวกเศษเนื้อไก่จากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่คนกินเหลือ หากเจอไก่อยู่ในกล่องสำหรับห่อกลับบ้าน พวกเขาจะรู้สึกว่า สะอาดกินได้ เพราะอยู่ในกล่อง ไม่ต้องคิดว่า กล่องนั้นอยู่ในถังขยะอีกที
นกนกเองก็รู้ตัวว่า เขาหมิ่นเหม่มากที่เอาของจากถุงขยะมาขาย และระมัดระวังทีเดียว ตอนที่ผมถ่ายรูปห่อเปี๊ยะของเขา เมียเขาก็ย้ำว่า ห้ามเอาไปเผยแพร่ที่ไหนเด็ดขาด ไม่อย่างนั้น เธอกับนกนกจะไม่ได้ขายห่อเปี๊ยะนี้อีก คนไร้บ้านก็จะหิว เพราะไม่มีห่อเปี๊ยะกิน
วันหนึ่ง ผมแบกห่อเปี๊ยะนี้ไปเดินขายกับนกนก เราเดินผ่านกลุ่มคนที่กำลังสมัครงานไปทำงานต่างประเทศที่ข้างสวนลูเนต้า พอมีคนถามว่า ผมแบกอะไร ผมบอกว่า มีเบเกอรีมาขาย พร้อมเปิดถุงปุ๋ยใส่หอเปี๊ยะที่รีแพ็คเกจจิ้งแล้วให้คนเลือก นกนกที่เดินล่วงหน้าผม หันกลับมาเห็นคนกำลังมุงดูขนมในถุง เขารีบเดินกลับมา ยกถุงแบกหนีไปทันที พร้อมบอกผมว่า “ห้ามขายห่อเปี๊ยะนี่ให้คนอื่น ของนี้สำหรับคนไร้บ้านเท่านั้น”
แต่ลองคนไร้บ้านคนไหนพูดไม่ดีเกี่ยวกับห่อเปี๊ยะ ให้นกนกได้ยินล่ะก็ เป็นเรื่องเหมือนกัน วันหนึ่ง ที่โบสถ์ปาโกะ มีคนไร้บ้านหน้าใหม่คนหนึ่งมาดูนกนกกำลังเลือกห่อเปี๊ยะจากถุงปุ๋ย แล้วก็บ่นพึมพำว่า ของนี้มาจากถุงขยะ กินได้ยังไง กระทั่งนกนกรำคาญ ลุกมาต่อยสั่งสอนหนุ่มผู้ไม่สำรวมนี้ ดีแต่ว่า เขาต่อยที่ลำตัว ไม่ใช่ที่หน้า
แม้แต่คนไร้บ้านด้วยกันก็ยังปกป้อง หากใครมาต่อว่าห่อเปี๊ยะของนกนก มีป้าคนหนึ่ง แกมาพึมพำอยู่หน้านกนกว่า ของแบบนี้กินไม่ได้ แกเคยกินแล้วท้องเสีย ทำให้ถูกคนไร้บ้านคนอื่นออกปากไล่ให้ไปไกลๆ ว่า ถ้าไม่อยากกิน ก็ไม่ต้องกิน คนอื่นที่จะกินมี มันสะท้อนว่า คนที่กินก็รู้ว่า ของมันไม่สะอาด แต่ก็ต้องกินเพราะไม่มีทางเลือกเท่าไหร่ ไหนๆ ก็ต้องกินแล้ว ก็ไม่อยากให้ใครมาพูดย้ำถึงความสกปรก หรือเรื่องอนามัยให้แสลงใจ
เรื่องที่มาของห่อเปี๊ยะ นกนกไม่ยอมบอกใครเด็ดขาดว่า เขาเอามาจากไหน เขาบ่ายเบี่ยงบอกว่าเอามาจากโรงงานผลิต เพราะเขารู้จักคนใน และบอกอีกว่า เขามีต้นทุนต้องจ่ายให้คนที่เอาถุงนี้มาให้เขา แต่จากการเดาของผม ผมคิดว่า นกนกจ่ายเงินซื้อถุงขยะจากคนเก็บขยะมากกว่า เพราะวันหนึ่งผมเคยเห็นเขานั่งดักรถขยะ ครั้นไม่เจอก็ต้องเดินหา และถามผมว่า เห็นรถขยะผ่านมามั้ย
ส่วนตัว นกนก เขามีชื่อจริงว่า เจโสน (Jason – ออกเสียงแบบคนฟิลิปปินส์ เป็น เจโสน) แรกๆ เมียเขาบอกผมว่า แม่ของนกนกเป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน ที่มาทำงานในฟิลิปปินส์ นั่นจึงทำให้เจโสนได้เชื้อผิวสีมา แต่ครั้นผมคุยกับ นกนก จริงๆ เขาบอกว่า เป็นรุ่นยายของเขาที่เป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน ส่วนรุ่นพ่อแม่เขา ก็กลืนเป็นครอบครัวคนฟิลิปปินส์แล้ว ฐานะทางบ้านไม่เลว เขาเคยเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย แต่ยอมรับว่า เขาใช้ยา เคยขโมยของเพื่อน ทำให้ติดคุกและเรียนไม่จบ
ถามว่า เขามีปมอะไร ที่ทำให้ต้องใช้ยา เจโสนบอกว่า เขาไม่ชอบพ่อของเขา พ่อเคยตีเขาแรงมาก ทำให้เขาไม่อยากอยู่บ้าน เกเร ใช้ยา เมื่อถูกพ่อให้ออกจากบ้าน เขาก็ถือทิฐิว่า จะไม่กลับไปบ้านอีกเด็ดขาด ทั้งๆ ที่เขาบอกว่า บ้านพ่อเขาอยู่ไม่ไกลจากย่านปาโกะ
เมื่อเคยเข้าคุก นกนกก็มีรอยสักติดตัวออกมา คนส่วนมากในฟิลิปปินส์เมื่อติดคุก แล้วก็มักไปเข้าแก๊งต่างๆ ในคุก เพื่อให้มีพวก ไม่ถูกรังแก โดยมีรอยสักเป็นเสมือนอาร์มบอกสังกัด ส่วนคนไม่เข้าแก๊งต้องทำงานรับใช้ขาใหญ่หรืองานบริการในคุก ครั้นเมื่อออกจากคุก เจ้ารอยสักกลายเป็นเครื่องกีดกันให้เขาหางานทำไม่ได้ เช่นเดียวกับที่บาร์ตโตเรเมโดน แค่จะไปสมัครทำงานก่อสร้าง โฟร์แมนยังไม่อยากรับเลย บาร์ตบอกผมว่า คนไร้บ้านหลายคนเคยผ่านคุกกันมาแล้ว เพราะเจ้ารอยสักกลายมาเป็นอุปสรรคที่ทำให้หางานยาก
บาร์ตบอกว่า คนหลายคนที่อยู่บนท้องถนน เขารู้จักตั้งแต่ตอนอยู่ในเรือนจำมะนิลา โดยเฉพาะคนที่อยู่แก๊งเดียวกันจะสนิทสนมกันเป็นพิเศษ แก๊งใหญ่ๆ เช่น Batang City Jail ที่แปลตามตัวได้ว่า เด็กคุก ส่วน Bahala na Gang หรือ BNG คำว่า bahala แปลว่า รับผิดชอบ ในฟิลิปปินส์มีสำนวนพูดว่า Bahala na Dyos หมายถึงเป็นความรับผิดชอบของพระเจ้า นัยของมันก็คือ อะไรจะเกิดก็เกิด พระเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบ ชื่อแก๊ง BNG จึงมีนัยว่า ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น จะเป็นจะตาย เป็นเรื่องที่พระเจ้ารับผิดชอบเอง
หากมองระดับผิวๆ บางคนอาจจะคิดว่า เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่คนอย่างนกนก หรือ บาร์ตโตเรเม มีรอยสัก และทำให้นายจ้างไม่อยากจ้าง ผมอยากจะชวนให้นึกเปรียบเทียบระหว่างเมืองไทยกับฟิลิปปินส์ ทั้งสองประเทศย่อมมีคนเคยติดคุกติดตะรางเหมือนกัน แต่การเลือกปฏิบัติที่ฟิลิปปินส์รุนแรงกว่า อย่าว่าแต่จะสมัครงานสูงๆ ที่ข้องเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เลย งานระดับล่างอย่างแรงงานในร้านอาหาร ที่นายจ้างไม่ได้จ่ายค่าแรงตามกฎหมาย ก็ยังมีการสกรีนไม่รับคนที่เคยมีประวัติติดคุก
ที่นายจ้างในฟิลิปปินส์ทำเช่นนี้ได้ ก็เพราะมีคนตกงานมากมายในฟิลิปปินส์ นายจ้างจึงมีแต้มต่อ สามารถเลือกเฉพาะที่ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม แถมยังจ่ายค่าแรงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดอีก เพราะมีคนตกงานรอทำงานเยอะ ถ้าลูกจ้างคนนี้ไม่ทำ ก็มีคนอื่นอยากทำอีกเยอะ เรื่องการสกรีนคนที่เคยมีประวัติอาชญากรรม ไม่ให้ทำงานจึงกลายเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ในฟิลิปปินส์
ส่วนนายจ้างไทยซีเรียสกับคนเคยติดคุกน้อยกว่า ไม่ใช่เพราะใจดีกว่าหรอก แต่เพราะปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขืนสกรีนมาก จะไม่มีคนทำงานซะเลย จึงต้องยอมรับคนที่เคยโดนคดีเข้าทำงาน นายจ้างไทยยังต้องจ่ายค่าแรงให้ลูกจ้างเต็มตามกฎหมายด้วยเพื่อมัดใจ ขืนจ่ายไม่เต็ม ลูกจ้างหนี หาลูกจ้างใหม่ไม่ใช่ง่ายๆ
สายๆ วันหนึ่งที่หน้าโบสถ์ที่มีโครงการช่วยเหลือคนไร้บ้าน ผมก็นั่งอยู่กับคนไร้บ้าน รอเวลาที่จะถึงเวลาร่วมกิจกรรมของโบสถ์ก่อนจะรับอาหาร ชายที่เป็นกรรมการบารังกัย (barangay) หรือเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า เป็นกรรมการหมู่บ้าน ในเขตที่โบสถ์แห่งนี้ตั้งอยู่ ก็พูดขึ้นมาว่า เขารู้ว่าปั๊มน้ำมันใกล้ๆ กำลังต้องการเด็กปั๊ม
“มีใครอยากไปทำงานบ้าง” เขาถาม
มีคนไร้บ้านหนุ่มๆ สองสามคนพยักหน้า ผมนั่งอยู่ด้วย แต่ผมเฉยๆ
แล้วเขาก็บอกต่อไปว่า ถ้าเขาแนะนำให้ใครไปทำงาน เจ้าของปั๊มน้ำมันที่เขารู้จักก็จะรับแน่ แต่ก่อนที่เขาจะแนะนำใครไปทำงาน เขาอยากมั่นใจว่าเขาแนะนำถูกคนว่า เป็นคนขยันขันแข็งแล้วก็ประวัติดี แล้วเขาก็ชี้มาที่พวกเรานั่งกันอยู่ พร้อมพูดว่า “ไหน พวกแกถอดเสื้อให้ดูหน่อยสิ”
แล้วก็ยังหันหน้ามาพูดกับผม “แกอีกคนถอดเสื้อให้ด้วย จะไปทำงานรึเปล่า”
ที่เขาเรียกให้ถอดเสื้อนั่น ไม่ใช่เพื่อจะดูมัดกล้ามว่าใครแข็งแรงไม่แข็งแรง หรือดูพุงว่าใครอ้วนใครผอม แต่ที่เขาจะดูก็คือ ดูว่าใครมีหรือไม่มี ‘รอยสัก’ คนที่มีรอยสักก็คือ คนที่เคยติดคุกมาแล้ว นี่เป็นวิธีการดูประวัติคนอย่างง่ายที่สุดว่า ใครเคยหรือไม่เคยติดคุก
ผมเองก็เรียนรู้ว่า การจะถามคนไร้บ้าน ว่าเคยติดคุกนั้น หยาบเกินไป ควรใช้คำถามว่า มีรอยสักมั้ย แค่นี้ก็รู้เรื่อง
กลับมาที่นกนก เป็นเรื่องน่าสนใจที่เขาเคยเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่มีปัญหากับครอบครัว และยาเสพติดทำให้เขาต้องมาใช้ชีวิตอยู่ข้างถนนร่วมสิบปี ถึงกระนั้นเขาก็มีความคิดดีทีเดียว ผมถามคนไร้บ้านร่วมร้อยคนว่า ความฝันของพวกเขาคืออะไร ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า อยากมีบ้าน มีงานทำ มีครอบครัว
นกนกเป็นคนเดียวที่ความฝันของเขาไม่ใช่เพื่อตัวเขาเอง แต่เพื่อคนไร้บ้าน เขาพูดถึงความฝันของเขา
“ถ้าวันไหนที่ฉันมีเงินเยอะนะ ฉันจะสร้างตึกให้เพื่อนฉันอยู่ฟรี ไม่ต้องให้เพื่อนฉันต้องนอนตากฝนลำบากที่ข้างถนน เอาแบบง่ายๆ มีหลังคา นอนรวมๆ กัน มีหลายๆ ชั้น จะได้นอนได้หลายคน”
ฟังอาจจะดูเป็นความฝันที่ช่างไกลเกินเอื้อม แต่อย่างน้อยผมก็รู้สึกดี ที่นกนกเขานึกถึงคนอื่น ไม่ใช่แค่ตัวเอง