เอ็นริเล่ เบื้องหลังฮีโร่

ผมรู้จัก เอ็นริเล่ ตั้งแต่ปี 2554 เขาชอบเตร็ดเตร่อยู่ที่เชสพลาซ่า เช่นเดียวกับ บาร์ตโตเรเม แต่เขาไม่เหมือนกับ บาร์ตโตเรเม ทีเดียวนัก จะว่าไปก็ไม่เหมือนกับคนไร้บ้านหลายคน

เอ็นริเล่ไม่เคยติดคุก จึงไม่มีรอยสักสังกัดแก๊งในคุกอย่างบาร์ตโตเรเม เขาไม่ใช้ยาเสพติดประเภทยาบ้า ที่คนฟิลิปปินส์เรียกว่า ชาบู เหมือนบาร์ต แต่เขาดื่มและก็ดื่มหนักไม่น้อย เอ็นริเล่เรียนหนังสือสูงกว่าบาร์ตมาก เขาจบปริญญาตรี พูดภาษาอังกฤษได้ดี ใช้ศัพท์สูง ไวยากรณ์ถูกต้องเป๊ะ

ภูมิหลังทางครอบครัวของเขาก็ต่างจากบาร์ต เขาไม่ได้มาจากครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษาต่ำ ทำงานระดับล่าง เป็นคนขายปลาอย่างพ่อแม่บาร์ต พ่อแม่ของเอ็นริเล่ต่างเรียนจบมหาวิทยาลัย แถมยังไปทำงานที่ต่างประเทศทั้งคู่

สิ่งที่ย้อนแย้งก็คือ ความทะเยอทะยานของพ่อแม่เขา ที่ดิ้นรนไปทำงานต่างประเทศ ยอมแยกห่างจากครอบครัว เพื่อหวังว่า สักวันหนึ่งจะหอบหิ้วเงินกลับมาอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข แต่สุดท้ายกลับมาเป็นตัวผลักให้เอ็นริเล่มีชีวิตลงท้ายที่ข้างถนน

เอ็นริเล่เป็นชายรูปร่างเล็ก ผิวคล้ำแดงแบบคนฟิลิปปินส์ที่มีเชื้อสายของคนท้องถิ่นล้วนๆ ไม่มีเชื้อจีนหรือสเปนิชปน ริมฝีปากหนา อายุราว 40 กลางๆ มักสวมหมวกแก็ป เขามีเงินติดตัวจากการทำงาน ‘รีแบ็กกิ้ง’ (re-bagging) คือ งานถ่ายสินค้าที่ท่าเรือจากกระสอบใหญ่ใส่ถุงเล็กเพื่อไปกระจายต่อ งานที่ว่า ต้องไปทำงานที่เมืองท่ารับส่งสินค้าจากต่างประเทศ เช่น บาตังกัส (Batanggas) บาตะอัน (Bataan) สินค้าที่ส่งเข้ามาส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยเคมีและข้าวสาร มาจากเวียดนาม อินโดนีเซีย แล้วก็ไทย

รีแบ็กกิ้ง เป็นงานหนักแต่ได้ค่าแรงราคาถูก ต้องอดหลับอดนอน ทำตลอดเวลาเมื่อเรือเทียบท่า แถมยังต้องทนแสบร้อนกับปุ๋ยเคมีอีก ที่หลับที่นอนก็ไม่มี แค่หาที่นอนตามมีตามเกิดเอาตามท่าเรือนั่นเอง คนที่ยอมไปทำงานนี้เป็นคนที่ไม่ค่อยมีทางเลือกนักอย่างคนไร้บ้าน เพราะงานนี้ไม่เกี่ยงวุฒิการศึกษา ไม่แคร์ว่าจะเคยติดคุกมารึเปล่า ขอให้ทำงานได้ก็พอ

เวลาทำงานของแต่ละช่วงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าที่มี โดยเฉลี่ยประมาณ 5-10 วัน หากน้อยกว่านี้จะไม่คุ้มกับค่ากินอยู่และค่ารถ เนื่องจากเมืองท่าอยู่ไกลออกไปสองสามชั่วโมง คนรับเหมางาน จะจัดรถไว้รับคนไร้บ้านไปทำงานฟรีเฉพาะขาไป แต่ขากลับคนไร้บ้านต้องจ่ายค่ารถเองราว 100 กว่าถึง 200 กว่าเปโซ ขึ้นกับระยะทางใกล้ไกล ค่าแรงที่ได้รับขึ้นอยู่กับปริมาณที่เขาสามารถถ่ายของลงถุงได้ โดยเฉลี่ยหากไปทำงานเจ็ดวัน หักค่ากินแล้วจะเหลือค่าแรงกลับมา 200-300 เปโซ (150-225 บาท)

แต่สำหรับเอ็นริเล่ เขาขึ้นชื่อเรื่องขี้เมา ดื่มหนัก จึงได้เนื้องานน้อย แล้วก็ได้ค่าแรงน้อยกว่าคนอื่นไปด้วย บางทีหักค่ากินระหว่างทำงาน ยังไม่พอค่ารถขากลับ ดีแต่ว่าคนรับเหมาไว้ใจออกค่ารถให้เขากลับ ไม่ต้องเดินเท้ากลับมามะนิลาแบบที่ผมเคยได้ยินมาบ้าง พอกลับมามะนิลาแล้วเงินหมด เอ็นริเล่ก็อยู่รอดด้วยการไปกินข้าวตามฟีดดิ้งโปรแกรม

หากฟังเพียงแค่นี้ ก็อาจสรุปอย่างผิวเผินไปว่า เอ็นริเล่มาเป็นคนไร้บ้านเพราะการดื่มหนักและการขาดวินัยของตัวเอง แต่เรื่องราวชีวิตของคนย่อมซับซ้อนกว่านั้น น่าสงสัยทำไมเขาจึงกลายมาเป็นคนดื่มหนัก

เขาบอกผมว่า ถ้าอยากรู้จักเขาดีขึ้น ผมควรจะหาอะไรให้เขาดื่มพิเศษหน่อย ไม่ใช่ยิน (gin) รสแรงบาดคอ เขาบอกว่า เขาอยากได้ ‘ลองเน็ค’ (long neck) พร้อมยกมือสองข้างบอกระยะความสูงประมาณ 1 ฟุตประกอบ ผมเข้าใจดีว่าลองเน็คของเขาหมายถึง เหล้าบรั่นดีสีอำพันในขวดเหล้ากลมคอยาวๆ ต่างกับยินที่บรรจุในขวดเล็กป้อมๆ เหมือนขวดยาแก้ไอ

บรั่นดีมีกลิ่นหอมชวนดื่มเพียวๆ ตบด้วยน้ำเปล่า นานๆ ทีคนไร้บ้านจะลงขันกันดื่มเจ้าลองเน็คในวันพิเศษ เช่น วันเกิดของใครสักคน ราคาของมันก็ถูกกว่าเหล้าไทยเกือบครึ่ง เพราะในฟิลิปปินส์ราคาเหล้า บุหรี่ ไม่ถูกโก่งด้วยภาษีนานาชนิดเหมือนในไทย

หลังจากบรั่นดีไปได้สักคอขวด เอ็นริเล่บอกว่า ชีวิตเขาเริ่มไม่มีความสุข ที่เขาต้องเปลี่ยนความสนใจจากพวกวาดเขียนมาเรียนวิศวะ ผมต้องสารภาพว่า ตอนที่เขาบอกว่าเขาเรียนสาขา nautical engineering ผมยังไม่เข้าใจว่ามันคือสาขาอะไร พอเขาอธิบายผมถึงเข้าใจว่า เป็นวิศวกรด้านเครื่องยนต์ในเรือ เพราะพ่อและปู่ของเขาทำงานเป็นซีแมน (seaman) จึงอยากให้เอ็นริเล่ทำงานนี้ด้วย โดยที่เขาไม่ชอบนัก แต่ขัดใจไม่ได้

แรงงานฟิลิปปินส์ขึ้นชื่อเรื่องทำงานในเรือเดินสมุทรมานาน เรียกว่าเป็นยุคแรกๆ ของแรงงานข้ามชาติเริ่มตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 ที่มีการค้าของสเปนข้ามมหาสมุทรระหว่างเม็กซิโก กับฟิลิปปินส์ ก็ใช้แรงงานชาวฟิลิปปินส์ กระทั่งมีชาวฟิลิปปินส์ไปตั้งรกรากในอเมริกาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ด้วยเหตุนี้ แรงงานโดยเฉพาะแรงงานชายที่ไปทำงานต่างประเทศ จึงถูกเรียกรวมๆ ว่า ซีแมน (seamen) ทั้งๆ ที่ในระยะหลังงานที่ไปทำมีหลากหลายมากกว่างานในเรือ

อย่างข้างๆ ลูเนต้า ก็เป็นแหล่งรับสมัครคนงานไปทำงานต่างประเทศ ย่านนั้นก็เรียกว่า ‘ซีแมน’ ทั้งๆ ที่ งานที่ประกาศให้ทำงาน มีทั้งงานกรรมกร ช่างไฟ ช่างปูน ไปจนถึง แพทย์ พยาบาล หากเดินผ่านแถวนั้น จะเห็นคนขวักไขว่ทั้งนายหน้าและคนงานที่เตรียมเอกสารประกอบกันหนาเตอะ ไม่ว่าจะเป็นปริญญาบัตร ใบประกาศอบรมต่างๆ ใบรับรองสุขภาพ ใบรับรองประวัติว่า ไม่เคยถูกดำเนินคดีอาชญากรรม

หลังจากเรียนจบ พ่อของเอ็นริเล่ ซึ่งทำงานเป็นซีแมนอยู่แล้ว ก็ช่วยให้เอ็นริเล่ได้ไปทำงานในเรือ แต่แล้วโชคร้ายก็เกิดขึ้นกับเขา เอ็นริเล่เล่าว่า เรือที่เขาจะไปทำงานเป็นเรือขนส่งสินค้าจากสิงคโปร์ไปเกาหลีใต้ ดังนั้น เขาขึ้นเรือจากมะนิลา เพื่อจะไปขึ้นที่ท่าที่สิงคโปร์แล้วก็เริ่มทำงาน แต่ปรากฏว่า พอถึงสิงคโปร์ เรือนั้นเกิดอุบัติเหตุ ทำให้แผนการที่จะลงไปทำงานในเรือเพื่อเดินทางไปเกาหลีใต้ ต้องสะดุดลง เขาถูกส่งตัวกลับมามะนิลา

เอ็นริเล่เล่าถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า “ในฐานะวิศวกรเดินเรือ ครั้งหนึ่งในชีวิตเขาได้เคยลงเรือแล้ว แต่มันเป็นเที่ยวแรกและเที่ยวสุดท้ายในชีวิตฉัน หลังจากนั้น ฉันก็ไม่ได้ลงเรืออีกเลย” เพราะว่าทางบริษัทเปลี่ยนนโยบายการรับลูกเรือจากคนฟิลิปปินส์ ไปใช้คนอินเดียแทน ทำให้เขารู้สึกผิดหวังในโชคชะตา และไม่คิดจะทำงานในเรือเดินสมุทร รวมทั้งอับอายญาติพี่น้อง ที่เขาเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ไม่สามารถเป็นซีแมนอย่างพ่อและปู่ได้

เอ็นริเล่กลับมาทำงานรับจ้างทั่วไป เช่น เป็นคนขับรถ เป็นลูกมือติดตั้งระบบไฟฟ้า งานสุดท้ายเขาเป็นลูกจ้างร้านขายแว่นตาที่มีปู่เป็นเจ้าของ แต่กลับมีเหตุของหายที่ร้านแว่นตา โดยที่เพื่อนคนหนึ่งในร้านที่เอ็นริเล่เป็นคนชวนมาทำงาน ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ทำให้กระทบถึงความไว้วางใจในตัวเขาไปด้วย เขาจึงต้องออกจากงาน นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อสามปีที่แล้ว ที่ส่งผลให้เขามาเป็นคนไร้บ้าน

ผมถามเอ็นริเล่ ทำไมปู่เขาจึงไม่ไว้ใจเขาที่เป็นหลานชาย และพ่อเขาไม่ได้ช่วยรับรองหรือว่าเขาไม่เกี่ยว เอ็นริเล่ตอบผมด้วยเสียงเย็นชา ไม่คึกเหมือนบรั่นดียี่ห้อมาทาดอร์ (Matador) ที่เขาดื่ม “ฉันกับพ่อไม่ได้สนิทกัน เขาแยกทางกับแม่ฉัน แล้วเขาก็มีครอบครัวใหม่ กับปู่ฉันยิ่งไม่สนิท”

สารภาพว่าขณะนั้น ผมยังไม่ได้คิดถึงความรู้สึกเขามากพอ ผมกลับถามเขาต่อไปว่า “เมื่อก่อน ฉันก็เคยสัมภาษณ์นาย ไม่เห็นเคยบอกว่าพ่อแม่ฉันแยกทาง”

“มันเป็นเรื่องที่น่าเล่าให้คนอื่นฟังนักเหรอว่า พ่อแม่ฉันแยกทาง นายคิดว่าฉันอยากคิดถึงมัน และอยากพูดออกมาเหรอ? ครอบครัวฉันมันวุ่นวาย พี่น้องฉันมีเยอะแยะ แต่คนละพ่อคนละแม่กัน ทำไมนายถึงอยากรู้ เรื่องวุ่นวายในครอบครัวฉันล่ะ” คำตอบของเอ็นริเล่ทำให้ผมสะอึก

ถึงตอนนี้ ผมรู้ตัวแล้วว่าได้ล่วงล้ำชีวิตของเอ็นริเล่มากขนาดไหนที่สะกิดถามถึงเรื่องนี้ ผมจึงอธิบายว่า เห็นเขาเคยบอกว่าพ่อแม่เขาทำงานต่างประเทศทั้งคู่ เลยนึกว่าเขาสบายดี

เอ็นริเล่ตอบด้วยน้ำเสียงที่ยืดยานขึ้น ไม่รู้จะเพราะดีกรีจากน้ำเมาที่สะสมมา หรือเพราะอารมณ์ของเขาที่ดำดิ่งขึ้นว่า “ใช่…พ่อแม่ฉันไปทำงานต่างประเทศทั้งคู่ พ่อฉันเป็นซีแมน แม่ฉันไปทำงานที่ญี่ปุ่น แต่พอแม่ฉันไปทำงานไม่นาน…เขาก็บอกกับพ่อว่า เขามีครอบครัวใหม่แล้ว”

นั่นเป็นเหตุให้เอ็นริเล่ห่างและแทบไม่เคยเจอแม่ ส่วนพ่อก็มีครอบครัวกับผู้หญิงคนใหม่ แต่ถึงจะไม่มีครอบครัวใหม่ ก็คงไม่ต่างกันมากนัก เพราะปกติพ่อเขาก็ทำงานลงเรือเป็นส่วนใหญ่ เขาเจอหน้าพ่อไม่กี่วันในรอบสามสี่เดือน ช่วงนั้นเขากับพี่สาวกำลังเรียนแค่ชั้นประถม สองพี่น้องต้องอยู่กับพวกป้าๆ แทน

ถึงตอนนี้ เขาคงเมาได้ที่แล้ว เขาพูดประโยคเดียวกันซ้ำๆ กับผมว่า

“นายไม่มีทางจะเข้าใจว่า เวลานายยังเล็กๆ อยู่ แล้วพ่อแม่นายไม่อยู่กับนายมันเป็นยังไง…

“นายไม่ใช่ฉัน นายไม่มีวันจะเข้าใจว่า มันยากขนาดไหน”

ผมฟังเรื่องราวของเอ็นริเล่ แล้วนึกถึงงานมานุษยวิทยาเกี่ยวกับคนฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานต่างประเทศ ผู้เขียนคือ ราเชล ซาลาซาร์ ปาร์เรยัส (Rhacel Salazar Parrenas) เป็นชาวฟิลิปินา ตั้งชื่อหนังสืออย่างเสียดสีแสบสันว่า คนรับใช้แห่งยุคโลกาภิวัตน์  (Servants of Globalization: Women, Migration and Domestic work, 2003) ในหนังสือเล่มนี้ ราเชลสัมภาษณ์ครอบครัวชาวฟิลิปปินส์ที่มีแม่ไปทำงานต่างประเทศ พร้อมเรื่องราวความรู้สึกของลูกที่ถูกทิ้งไว้ให้อยู่กับญาติ จนนานวันกลายเป็นลูกรู้สึกห่างเหินกับแม่ และอยากให้แม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับพวกเขามากกว่าไปหาเงินไกลบ้าน

ท้ายที่สุด กลายเป็นว่า แรงงานผู้หญิงที่ยอมห่างจากครอบครัวไปทำงานไกลต่างแดน แต่เมื่อกลับมากลับไม่ได้พบครอบครัวอันอบอุ่นที่พวกเธอตั้งตารอวันจะกลับมาพบ

แต่แรงงานข้ามถิ่น ที่คนฟิลิปปินส์ใช้คำเรียกว่า OFW (Oversea Filipinos Workers) ก็ยังได้รับการสนับสนุนอำนวยความสะดวกจากรัฐบาลให้ไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไปทำงานเป็นแม่บ้าน ทั้งในตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกอย่างฮ่องกง เกาหลีใต้ และยุโรป โดยเฉพาะในอิตาลี รวมถึงในสหรัฐอเมริกา พวกเธอได้รับการยกย่องว่าเป็นฮีโร่ (bayani – บายานี) ยุคใหม่ ที่ส่งเงินกลับมาเลี้ยงครอบครัว และนำเงินตราเข้าประเทศ

ใครบ้างจะตระหนักถึงเรื่องราวของผู้อยู่เบื้องหลังฮีโร่อย่างเอ็นริเล่


หมายเหตุ: เรื่องเล่าตอนนี้ เขียนไว้สำหรับให้ พี่พัทยา เรือนแก้ว ประธานสมาคมธารา ที่ทำงานช่วยเหลือหญิงไทยในเยอรมนีและยุโรปมามากกว่า 20 ปี ได้เผยแพร่ใน ดี แมกกาซีน สื่อสำหรับคนไทยในยุโรปเป็นการเฉพาะอีกทางหนึ่ง ในโอกาสที่ได้พบพี่พัทยาที่งาน Thai Studies ที่เชียงใหม่เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2560 พร้อมกำลังใจว่า มีคนแถวนั้นอ่าน ‘สายสตรีท’ อยู่เหมือนกัน

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า