จากตากาล็อก 101 ถึง ภาษาข้างถนน

 

ผมมักจะถูกถามอยู่บ่อยครั้ง ไปอยู่ข้างถนนกับคนไร้บ้านในมะนิลาเป็นปีๆ ผมพูดภาษาตากาล็อกได้หรือไม่

ผมมักตอบชัดๆ เลยว่า “ต้องได้ครับ” แล้วก็แอบคิดอยู่ในใจว่า คนถามไม่รู้เลยเหรอ การพูดภาษาของคนที่เราไปคลุกคลีได้นั้น เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับนักมานุษยวิทยา

การเข้าใจภาษาของกลุ่มคนที่เราศึกษา มีความสำคัญมากๆ ที่จะช่วยให้เข้าใจทัศนะ ความคิดของคนแต่ละวัฒนธรรม อย่างการใช้คำในแต่ละภาษาสะท้อนโลกทัศน์ของคนในสังคมนั้นๆ ตัวอย่างง่ายๆ ที่ใช้ประกอบคำอธิบายอยู่บ่อยๆ เช่น คนไทย ถือลำดับอาวุโสและช่วงชั้นเป็นสำคัญ ภาษาไทยจึงมีคำสรรพนามหลายคำเพื่อสะท้อนสถานะของผู้พูดและคู่สนทนา เช่นคำว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทข้าพระพุทธเจ้า กระผม ผม ข้าพเจ้า ข้า เรา กู ฉัน ดิฉัน หนู ฯลฯ ขณะที่ภาษาอังกฤษมีแค่คำว่า I กับ You แทนฉันกับคุณ ใช้ได้ทั่วไป จะเพื่อนพูดกับเพื่อน พ่อพูดคุยลูก หรือนักศึกษาปรึกษากับอาจารย์ ก็ I กับ You นี่แหละ เพราะโดยหลักใหญ่เขาถือว่าคนเท่ากัน

ดังนั้น แม้ฟิลิปปินส์จะเป็นประเทศที่คนไม่น้อยสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ แต่การเข้าใจภาษาตากาล็อกก็ยังจำเป็นสำหรับการเข้าใจโลกทัศน์ของคนฟิลิปปินส์มากกว่านั้น

กับคนไร้บ้านที่มากกว่าครึ่งเรียนต่ำกว่ามัธยม ทำให้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ผมยิ่งต้องใช้ภาษาตากาล็อก และต่อให้คุยกับคนไร้บ้านบางคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ ผมก็จะพูดตากาล็อก เพราะไม่อยากให้คนไร้บ้านคนอื่นๆ ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ต้องแหยงที่จะพูดกับผม

พอผมอยู่ไปนานๆ เข้า มีคนไร้บ้านหน้าใหม่มา และรู้ว่าผมไม่ใช่คนฟิลิปปินส์ แล้วอยากโชว์พูดภาษาอังกฤษกับผม เขาจะถูกคนไร้บ้านคนอื่นๆ เบรกเองว่า พูดอังกฤษทำไม ไอ้นี่ (หมายถึงผม) พูดตากาล็อกได้

คำถามต่อมาที่ยิงใส่ผมก็คือ เรียนภาษาตากาล็อกที่ไหน ใช้เวลานานไหม ยากไหม กว่าจะพูดได้ (ผมเดาเอาว่าคนถามคงจะนึกเปรียบเทียบอยู่ในใจว่า คนไทยเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อนุบาลจนจบมหาวิทยาลัยยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เสียส่วนใหญ่)

คำตอบก็คือ ผมเรียนภาษาตากาล็อกที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ที่นั่นเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Center for Southeast Asian Studies: CSAS) ที่แข็งมาก และก็มีปรัชญาพื้นฐานที่หนักแน่นว่าคุณจะเข้าใจสังคมไหนๆ ไม่ได้ถ้าไม่เข้าใจภาษาของสังคมนั้น จึงเปิดวิชาภาษาตะวันออกเฉียงใต้ที่สอนโดยเจ้าของภาษา อย่างผมก็เรียนภาษาตากาล็อกกับอาจารย์ชาวฟิลิปปินส์

จะโวต่ออีกหน่อยก็ได้ว่า ทุกๆ ภาคซัมเมอร์จะมีนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกาบินมาเรียนภาษาต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่วิสคอนซินแห่งนี้ไม่ว่าจะเป็น ภาษาไทย ฟิลิปปินส์ ลาว เขมร อินโดนีเซีย พม่า ก็สะท้อนความเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

โดยทั่วไป การสอนภาษาที่นั่นจะมีสามระดับ คือ ขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูง ถ้าเรียนภาคปกติต้องใช้เวลาเรียนสามปี (หกเทอม) แต่ผมเรียนจบแค่ขั้นกลางคือแค่สองปี ในปีแรกพอจบขั้นต้นผมก็ไปมะนิลาสองเดือนในปี 2554 ทำให้รู้คำศัพท์พื้นฐานมากขึ้น จากนั้นกลับไปเรียนจบขั้นกลาง พอสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ผ่าน ผมก็กลับไปลุยต่อในภาคสนาม ทำให้ภาษาพูดของผมพัฒนาเร็วมาก จากสองเดือนแรกที่ยังพูดได้พื้นๆ พอย่างเข้าเดือนที่ห้าที่หก ผมก็พูดแซวและอำคนอื่นด้วยภาษาตากาล็อกได้

ส่วนจะว่าภาษาตากาล็อกยากหรือไม่นั้น ผมมักจะตอบว่า ไม่ยาก เพราะภาษาเขียนของตากาล็อกใช้อักษรภาษาอังกฤษ ทำให้การอ่านออกเสียงไม่ยาก เมื่อเทียบกับที่ผมเห็นเพื่อนฝรั่งอ่านภาษาไทย ภาษาลาว ยากกว่ากันมาก

แต่ส่วนที่ยากขึ้นมา ในภาษาตากาล็อกคือ โครงสร้างที่ซับซ้อน คือนอกจาก คำกริยาที่ต้องผันเปลี่ยนรูปไปตามเวลา หรือ tense อย่างที่เราเรียนในภาษาอังกฤษแล้ว ภาษาตากาล็อก ยังมีลูกเล่นเรื่อง ‘จุดเน้น’ (focus) ที่มากกว่า active / passive voice ในภาษาอังกฤษ ที่มีแค่ประธานเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำ ภาษาตากาล็อกนี่เน้นได้หลายตำแหน่งมาก นอกจากเน้นประธาน เน้นวัตถุที่ถูกกระทำแล้ว ยังมีเน้นสถานที่อีก ซึ่งกริยาก็ต้องเปลี่ยนรูปตามการเน้นที่ต่างกัน

โครงสร้างการเรียงประโยค ก็เป็นอีกอย่างที่ต่างจากภาษาไทยและอังกฤษ คือ ไม่ได้เรียง ประธาน-กริยา-กรรม แต่เรียง กริยา-ประธาน-กรรม จะพูด ประธาน-กริยา-กรรม ก็ได้ แต่ต้องมีคำว่า ay (อาย) ไว้หลังประธาน

ตัวอย่างของประโยค “ผมจะไปโรงเรียน” ในภาษาไทย สามารถพูดเป็นภาษาตากาล็อก ได้หลายวิธี เช่น pupunta (จะไป) ako (ฉัน) sa eskuwelan (โรงเรียน) [future tense]

พอเขียนออกมาแล้ว ผมก็พบว่า ผมต้องอธิบายเพิ่มอีกอย่างว่า ภาษาตากาล็อกมีคำเชื่อมที่ภาษาไทยเรียกว่า บุพบท ที่ต้องใช้ให้เหมาะสมด้วย อย่าง sa (ซะ) ใช้บอกสถานที่

ลองพูดประโยคข้างบนอีกแบบ โดยที่ยังเน้นประธานเหมือนเดิมแต่เอาประธานมาขึ้นหน้าจะเป็น ako (ฉัน) ay pupunta (จะไป) sa eskuwelan (โรงเรียน)

ถ้าจะพูดโดยเน้น สถานที่ที่จะไป ไม่เน้น ประธาน จะเขียนใหม่ว่า pupuntahan (จะไป) ko (ฉัน) ang eskuwelan (โรงเรียน) – โรงเรียนเป็นที่ที่ฉันจะไป

จะเห็นว่า คำกริยา (จะไป) เปลี่ยนเป็น pupuntahan และ ประธาน ako (ฉัน) เปลี่ยนเป็น ko เพราะ ako ใช้แทนฉัน เฉพาะในประโยคที่เน้น ฉันเป็นผู้กระทำเท่านั้น ส่วน sa หน้า eskuwelan ในประโยคแรก เปลี่ยนเป็น ang (อัง) เพราะคำว่า ang ใช้นำหน้าคำที่เน้นเสมอ

ถ้าจะเปลี่ยน tense จาก ‘จะไป’ เป็น ‘กำลังไป’ โดยยังเน้นสถานที่ปลายทางจะพูดว่า pumupuntahan (กำลังไป) ko (ฉัน) ang eskuwelan (โรงเรียน)

ผมลองเขียนประโยคอื่น เพื่อให้เห็นการสลับระหว่างเน้นประธาน กับเน้นวัตถุบ้าง เช่น

uminom (ดื่ม) ako (ฉัน) ng serbesa (เบียร์) – ฉันดื่มเบียร์

inumin (ดื่ม) ko (ฉัน) ang serbesa (เบียร์) – เบียร์เป็นสิ่งที่ฉันดื่ม

จะเห็นว่ามีอย่างน้อยสามคู่ ที่ต้องเปลี่ยนให้สัมพันธ์กันคือ รูปกริยา รูปประธาน และตัวมาร์กเกอร์ (marker) ที่บอกจุดเน้นว่าจะมี ang หรือ ไม่มี ang

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงอดรู้สึกไม่ได้ว่า ภาษาตากาล็อกนี่ยาก ซับซ้อน แต่เชื่อผมเถอะครับ อ่านอย่างนี้ดูยากครับ แต่พอเข้าใจหลักและไปฟังคนพูดจริงๆ เราจะปรับตัวและใช้เป็นขึ้นมาเอง เพราะมันจะมีคำกริยาอยู่บางคำที่มันจะใช้ในรูปเฉพาะของมัน เช่น คำว่า ‘ไป’ มักใช้ในรูปแบบ เน้นปลายทางที่จะไป คำว่า ‘ล้าง’ มักใช้ในรูปที่เน้นวัตถุที่ถูกล้าง เรียกว่า in-form (อินฟอร์ม) เป็นต้น

ผมขอพอเรื่องภาษาตากาล็อก 101 เบื้องต้นไว้เท่านี้ ต่อไปจะพูดถึง คำที่น่าสนใจในภาษาตากาล็อกบ้าง

ผมชอบคำว่า ‘พวกเรา’ ในภาษาตากาล็อกมาก เพราะมีอยู่สองคำและมีความหมายต่างกัน ต่างจากภาษาไทย ที่มีคำว่า ‘พวกเรา’ อยู่คำเดียว เหมือนคำว่า ‘we’ ในภาษาอังกฤษ คือ พวกเรา หมายถึง ตัวผู้พูด คนอื่นๆ ที่อยู่ในฝั่งผู้พูด และก็รวมถึงคนที่เราคุยด้วย ก็นับเป็น ‘พวกเรา’ ด้วย แต่ในภาษาตากาล็อก มีคำสองคำ แยกความหมายให้ชัดเจน

คำแรกคือคำว่า kami (คามิ) แปลว่า ‘พวกฉัน’ ในความหมายที่หมายรวมถึง คนพูด และคนอื่นๆ ที่อยู่ในฝั่งผู้พูด แต่ไม่ครอบคลุมคนที่เราคุยด้วย
คำที่สอง คือคำว่า tayo (ตาโยะ) แปลว่า ‘พวกเราทั้งผอง’ คือ รวมทั้งผู้พูด คนที่อยู่ฝั่งผู้พูด และก็รวมคนที่เราคุยด้วย เช่น ถ้าเราจะชวนคนอื่น ทำอะไรพร้อมกัน จะใช้คำว่า tayo เช่น kain tayo (คาอิน ตาโยะ) แปลตามตัวว่า กินข้าวพวกเรา ใช้พูดเวลาชวนกันกินข้าว

ช่วงแรกที่ผมไปอยู่มะนิลา และกำลังปรับตัวเข้ากับชีวิตคนไร้บ้าน เช่น กินข้าวจากถุงพลาสติก นอนข้างถนน ไม่กลับห้อง ป้าคนหนึ่งก็ถามว่า ทำอย่างนี้ทำไม กลับบ้านไม่ได้เหรอ สีหน้าเธอเหมือนสงสารผม พอผมบอกว่า ผมกำลังทำตัวเป็นคนไร้บ้าน

ป้าก็พูดว่า “kami lang yagit” (พวกฉันเท่านั้นที่เป็นคนไร้บ้าน) คือแกไม่นับว่าผมเป็นคนไร้บ้านด้วย

ผมพูดตอบไปว่า “yagit tayo” (พวกเราเป็นยากิต) คือให้รวมผมและคนอื่นๆ เป็นคนไร้บ้านด้วย แค่เปลี่ยนคำว่า kami (พวกฉัน) เป็น tayo (พวกเรา) ความหมายเปลี่ยนทันที คือกลายเป็นพวกเราทั้งหมดเป็นคนไร้บ้าน ป้าแกกำลังกินข้าวอยู่ พอได้ยินผมตอบ แกถึงกับสำลักว่า ทำไมผมถึงอยากเป็นคนไร้บ้านเสียขนาดนี้

ภาษาตากาล็อก ก็มีคำสุภาพ แต่ไม่มากเท่าภาษาไทย หลักใหญ่ก็คือ เติมคำว่า po (โปะ) จะต่อท้ายหรือแทรกไว้ในประโยค เหมือนคำว่า ครับ/ค่ะ ในภาษาไทย แต่ โปะ ใช้ได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย คำเรียกญาติส่วนใหญ่แยกผู้ชายผู้หญิง พื้นฐานก็คือ คำเรียกผู้ชาย จะลงท้ายด้วยสระโอ เช่น filipino, tito (ลุง, น้า, อาผู้ชาย) ส่วนผู้หญิงลงท้ายด้วย อา filipina, tita (ป้า, น้าหรืออาผู้หญิง)

มีคำกล่าวหลักพื้นๆ ทางด้านภาษาว่า ในสังคมหนึ่งๆ ที่คุ้นเคยเกี่ยวกับสิ่งใดมากๆ เขาจะมีศัพท์เกี่ยวกับสิ่งนั้นมากๆ เช่น คนเอสกิโมอยู่กับหิมะ สภาพแวดล้อมรอบตัวมีสีขาวทั่วไป พวกเขาจึงมีคำเรียกสีขาวหลายเฉด ด้วยคำหลายคำ คงจะทำนองเดียวกับคนไทยที่คุ้นเคยกับสีเขียว แต่เราไม่มีคำเฉพาะ เราใช้วิธีการขยายความแทน เช่น เขียวขี้ม้า เขียวตองอ่อน

สำหรับคนฟิลิปปินส์ ที่อยู่กับพายุและฝน พวกเขามีคำแยกชัดเจนระหว่าง ฝนที่ลงเม็ดปรอยๆ กับฝนตกแบบเปียก อย่างแรกเรียกว่า ambon (อัมบน) อย่างหลังเรียกว่า ulan (อุลัน) ตอนที่ภาษาตากาล็อกผมยังไม่แข็งแรง พอมีฝนตกปรอยๆ ผมก็พูดขึ้นมาว่า May ulan (มายอุลัน-มีฝนตก) คนไร้บ้านที่อยู่ข้างๆ พูดเสียงดังกับผมว่า นี่มันแค่ ambon (อัมบน-ฝนลงเม็ด) ทำนองว่าแค่ฝนลงเม็ด อย่าพูดว่า ฝนตก เดี๋ยวตกจริงๆ คนไร้บ้านไม่ชอบฝน เพราะหาที่นอนยาก

คำว่า ข้าว ในภาษาตากาล็อกก็น่าสนใจมาก คนไทยมี ข้าวเปลือก ข้าวสาร และข้าวสวย (ข้าวที่หุงแล้ว) คือ เราเอาคำอื่นๆ ไปขยายคำว่าข้าว แต่ภาษาตากาล็อก สามคำนี้จะเปลี่ยนไปเป็นคนละคำเลย คือ palay (ปาลัย-ข้าวเปลือก) bigas (บิกัส-ข้าวสาร) และ kanin (คานิน-ข้าวสวย)

ก่อนจะไปถึงภาษาข้างถนน ในฐานะคนเรียนภาษาตากาล็อก ผมขอบอกว่า ภาษาตากาล็อกที่สอนให้เด็กนักเรียนไทยท่องกันตอนเช้าหน้าชั้นเรียน ตามกระแสนิยมเรื่องภาษาอาเซียน นั้นสอนผิดนะครับ อันนี้ผมเปิดดูจากตำราเรียนของน้องอันนาหลานของผมเอง ที่สอนว่า Kumusta (คุมุสตะ) เป็นคำทักทายเหมือนคำว่า สวัสดี ในภาษาไทย นี่ผิดอย่างมหันต์มาก

Kumusta (คุมุสตะ) แปลว่า How are you? ในภาษาอังกฤษ เป็นคำทักทายว่า สบายดีไหม มันไม่มีทางที่จะเทียบเคียงกับคำว่า สวัสดี ได้เลย ส่วนคำว่า สวัสดี ในภาษาตากาล็อก คล้ายภาษาอังกฤษ คือ เปลี่ยนไปตามเวลา โดยใช้คำว่า Maganda (มะกันดะ) ที่แปลว่า สวยดี (เวลาชมผู้หญิงว่าสวย ก็ใช้คำนี้) แล้วตามด้วยเวลา เช้า-บ่าย-เย็น ดังนั้น หากทักกันในเวลา เช้า บ่าย เย็นก็จะไม่เหมือนกัน ดังนี้ คือ Magandang umaga (มากันดัง อุมากะ-สวัสดีตอนเช้า) Magandang hapon (มากันดัง ฮาปน-สวัสดีตอนบ่าย) Magandang gabi (มากันดัง กาบิ-สวัสดีตอนค่ำ) ที่ต้องเติม ng หลัง maganda เพราะเป็นหลักการเชื่อมคำครับ

ผมโตมาในรุ่นที่ถูกสอนภาษาอังกฤษผิดๆ ถูกๆ มาตั้งแต่ชั้นประถม พอแก่แล้ว ถึงต้องคอยมาแก้ไขที่เรียนมาผิดๆ เช่น ออกเสียงผิดๆ เมื่อมาเห็นเด็กๆ รุ่นนี้ถูกสอนให้ท่องภาษาอาเซียนแบบผิดๆ ยิ่งรู้สึกว่าโรงเรียนและการศึกษาไทย ไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย

แน่นอนว่าผมอยู่กับคนไร้บ้าน ผมก็ย่อมมีภาษาข้างถนน (salitang kalye-ภาษาข้างถนน) ที่ใช้กันเฉพาะในหมู่คนไร้บ้าน อันที่จริงคำว่า yagit (ยากิต) ที่ข้างบน ผมใช้แทนคำว่า คนไร้บ้าน คำนี้ไม่ได้แปลว่าคนไร้บ้าน แต่แปลว่า ขยะ (rubbish) เป็นสแลงใช้เรียกคนเก็บของเก่าโทรมๆ คำนี้แม้แต่อาจารย์สอนภาษาตากาล็อกชาวฟิลิปปินส์ ที่เธอย้ายไปอยู่แคนาดาตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีก็ยังไม่รู้จัก

yagit เป็นสแลงที่ใช้เรียกคนไร้บ้าน ที่ไม่ค่อยน่าฟังเท่าไหร่ ผมเองคุยกับคนไร้บ้านหลายคนว่า เขายอมรับมากน้อยแค่ไหน ที่จะถูกเรียกว่ายากิต เหมือนที่ผมวิเคราะห์ว่า คนไร้บ้านในไทยยอมรับที่จะถูกเรียกว่า ‘ผี’ แค่ไหนกันบ้าง ถ้าไม่เรียกว่า ยากิตจะเรียกว่าอะไรดี มีคำว่า taong kalye (ตาอง คาลเย่-คนข้างถนน) palaboy (พาลาโบย-คนพเนจร) คำหลังนี้มีนัยต่างกับคำว่า vagrant ในภาษาอังกฤษ ที่คนฟิลิปปินส์ออกเสียงแบบสเปนว่า บากันชะ – ที่น่าจะใกล้เคียงกับคนจรจัดในภาษาไทย

แต่คำทั้งหมด เป็นคนละคำกับคำว่า pulubi (ปูลูบิ) ที่แปลว่า ขอทาน แม้แต่คนฟิลิปปินส์ทั่วๆ ไป ที่ไม่รับรู้เกี่ยวกับคนไร้บ้าน อาจจะเรียก คนไร้บ้านว่า ขอทาน แต่แทบไม่มีคนไร้บ้านคนไหน เรียกตัวเองว่า pulubi เพราะขอทานกับคนไร้บ้าน ห่างกันมาก คนไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่ขอทาน และขอทานที่มีรายได้ก็มักจะไม่ต้องไร้บ้าน เพราะมีเงินไปเช่าห้องอยู่

มีคำสแลงอีกคำหนึ่งที่พออยู่ไปสักพักและใช้คำนี้ คนไร้บ้านคนอื่นๆ รู้ได้ทันทีเลยว่า ผมอยู่ข้างถนนลึกจริง คือคำว่า batchoy (บ๊าตฉ่อย) อันที่จริงมันคือชื่อ ก๋วยเตี๋ยวประเภทหนึ่ง แต่ในหมู่คนไร้บ้าน คำนี้เป็นสแลง หมายถึง การเดินขออาหาร เพราะบางครั้งได้อาหารอย่างละนิดละหน่อย มารวมๆ กัน หน้าตาเละๆ เหมือน ก๋วยเตี๋ยวบ๊าตฉ่อย เช่นเวลาใครแบ่งอาหารให้ผม แล้วผมถามว่า บ๊าตฉ่อยมารึเปล่า

มีสองเรื่องสุดท้ายที่น่าจะพูดตั้งแต่ต้น เรื่องก่อนสุดท้ายก็คือ ตกลงว่า เราควรจะเรียกภาษากลางของฟิลิปปินส์ว่า ภาษาตากาล็อก (Tagalog) หรือ ภาษาฟิลิปิโน (Filipino) ผมขออธิบายอย่างนี้

ภาษาตากาล็อก เป็นภาษาถิ่นของคนที่อยู่ทางแถบลุ่มแม่น้ำปาซิกของเกาะลูซอน คือแถบเมืองมะนิลานั่นเอง คำว่า Tagalog มาจากคำว่า taga ilog (ตะกะ อิลอก) แปลว่าคนที่มาจากแถบแม่น้ำ (taga แปลว่า มาจาก ส่วน ilog แปลว่า แม่น้ำ) ส่วนภาษาที่ทางการเรียกว่า ภาษาฟิลิปิโน เป็นภาษาประจำชาติ ก็สร้างขึ้นจากภาษาตากาล็อกนั่นแหละ เพียงแต่รวมคำบางคำของภาษาถิ่นอื่นๆ เข้ามาด้วย เพื่อให้ชาติพันธุ์หรือคนภูมิภาคอื่นได้รู้สึกว่า พวกเขามีที่ทางอยู่ในภาษาประจำชาตินี้ด้วยเหมือนกัน

แต่มีบางคนบอกว่า อย่าไปหลงคารมรัฐเลย เพราะภาษาฟิลิปิโน มันก็ภาษาตากาล็อกเกือบทั้งหมดนั่นแหละ งั้นก็เรียกมันว่า ตากาล็อกให้รู้กันชัดๆ ไปเลย ไม่ต้องแสร้งเรียกว่าภาษาฟิลิปิโนหรอก ดังนั้นใครจะคิดเห็น จะเรียกยังไงก็ตามสะดวก ส่วนผมถือว่า เวลาผมพูดกับคนทั่วไป เขาเรียกภาษานี้ว่า ภาษาตากาล็อก ผมก็สะดวกเรียกมันว่าภาษาตากาล็อก

เรื่องท้ายสุดจริงๆ ที่อยากจะบอกก็คือ คำว่า ‘Tagalog’ นั้นออกเสียงว่า ตากาล็อก ไม่ใช่ ตากาล็อค ที่เป็นเสียง ค เหมือนคนไทยส่วนใหญ่ออก คนฟิลิปปินส์ ออกเสียง G กับ K ต่างกันมาก เรื่องนี้ ตอนแรกๆ ผมมักถูกเพื่อนชาวฟิลิปปินส์อำอยู่บ่อยๆ เวลาผมบอกว่า ผมกำลังหัดพูดภาษา Tagalok เขาพูดกับผมว่า

“บุญเลิศ นายพูดภาษา Tagalok เป็นเหรอ สอนเราหน่อยสิ ภาษา Tagalok พูดยังไง เราพูดเป็นแต่ภาษา Tagalog” เพราะผมออกเสียงเป็น Tagalok เสียง K ไม่ใช่ G

กระทั่งทุกวันนี้ ถ้าใครฟังเวลาผมออกเสียงคำว่า ‘ตากาล็อก’ จะรู้ทันทีว่า ผมออกเสียงต่างจากคนไทยทั่วไปที่มักออกเสียงเป็น ‘ตากาล็อค’

จะอธิบายผ่านตัวหนังสือว่า ‘ตากาล็อก’ ออกเสียงยังไงก็จนด้วยเกล้า เอาเป็นว่า ถ้าเจอผมก็ลองสะกิดให้ผมออกเสียงให้ฟังแล้วกันครับ

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า