‘อยู่กับบาดแผล’ ความทรงจำร่วมของเหยื่อการเมืองเหลืองแดงในรัฐลอยนวล

‘บาดแผล’ เป็นคำสองคำที่แยกขาดจากกัน ‘บาดแผล’ โดยความหมายแล้วหมายถึงแผลที่ถูกของมีคม ขณะที่คำว่า ‘แผล’ หมายถึง รอยชำรุด, เนื้อหนังที่แตกออกเพราะเป็นโรคหรือถูกของมีคม

มองในบริบทนี้ คำว่าบาดแผลที่ปรากฏเป็นชื่องานเขียนเล่มล่าสุดของ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา จึงอาจไม่ได้มีความหมายของ แผล’ ที่ถูกทำให้แตกออกเพราะของมีคมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการ ‘อยู่กับบาดแผล’ ที่ถูกอำนาจของความรุนแรงในนามรัฐแยกผู้ได้รับผลกระทบจากการเมืองให้แตกออกเป็นมวลชนสีเสื้อสองฝั่ง จนกระทั่งมองข้ามว่าใจกลางของแผลที่ทุกคนต่างได้รับนั้นคือ ความเป็นมนุษย์ที่มีร่วมกัน และไม่ควรมีสิ่งใดมาทำให้สิ่งนี้ต้องแตกแยก

​โดยเฉพาะอุดมการณ์ทางการเมือง

​นั่นอาจจะเป็นเหตุผลของหนังสือที่ชื่อ อยู่กับบาดแผล

 

อยู่กับบาดแผล มีที่มาจากงานวิจัยที่แสดงถึงผลกระทบจากวิกฤติการทางการเมืองช่วงปี 2553-2557 ซึ่งเป็นเสียงของผู้ได้รับความรุนแรงจากสองฟากฝั่งการเมือง ประเด็นน่าสนใจที่แปรเปลี่ยนเป็นหนังสือคือ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองนั้นมีความหมายที่คลุมเครือ แตกต่างจากเหตุการณ์เมื่อครั้ง 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 โดยนำเสนอผ่านมุมมองด้านมานุษยวิทยาในการรับฟังเสียงของผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง นั่นก็คือความทุกข์ทนทางสังคม (social suffering)

ดังนั้น หนังสือ อยู่กับบาดแผล จึงตั้งใจนำเสนอเสียงจากเหยื่อสามัญชน ในความรุนแรงทางการเมืองเหลือง-แดงให้ทุกฝ่ายได้ยินไม่ว่าจะสมาทานตัวเองอยู่ในฝั่งใดก็ตาม

มองจากเหตุและผลเบื้องต้นที่กล่าวโดย อินทิรา เจริญปุระ ในฐานะพิธีกรและผู้เข้าร่วมพูดคุย จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เมื่อ ธร ปีติดล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้ว่ายังคงมีความเป็นงานวิจัยอยู่ เนื่องจากประสบการณ์การอ่านงานบุญเลิศชิ้นก่อนหน้า ในเรื่อง สายสตรีท ซึ่งมีความเป็นงานวิจัยน้อยกว่านี้ ธรให้ความเห็นว่า รายงานวิจัยต้องพยายามวางระยะห่างจากสิ่งที่ตัวเองศึกษา ซึ่งอาจเป็นความตั้งใจของตัวผู้เขียน เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

“แต่ถึงกระนั้นก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ งานนี้เป็นงานที่เปิดเสียงของคนที่ถูกลืม คนที่เรามักจะมองข้าม หรือคนที่เรามองด้วยอคติ บางครั้งคนในสังคมจะมองผู้ชุมนุมที่อยู่แนวหน้าด้วยอคติ แต่อาจารย์บุญเลิศช่วยให้เรามองภาพเขาในฐานะความเป็นมนุษย์ ผมพูดได้ง่ายๆ ว่าอาจารย์บุญเลิศช่วยคืนความเป็นมนุษย์ให้คนจำนวนมากที่ถูกเล่าเรื่องในหนังสือเล่มนี้”

 

ธรตั้งข้อสังเกตว่า งานของบุญเลิศเล่มนี้นำเสนอถึงความฝัน ความพลิกผันในชีวิต ความโหดร้าย และอย่างหนึ่งที่เคยปรากฏใน สายสตรีท นั่นคือ การดิ้นรนเพื่อหาความสุข ซึ่งการดิ้นรนเป็นมิติสำคัญอย่างหนึ่งที่บุญเลิศถ่ายทอดออกมาเมื่อต้องเล่าถึงชีวิตผู้คน

“อ่านเล่มนี้แล้ว ความรู้สึกหนึ่งที่เราจะได้ นั่นก็คือการที่เราจะไม่ลืมพวกเขาจริงๆ”

ในมุมมองนักเขียน วีรพร นิติประภา บอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อ อยู่กับบาดแผล ว่าพื้นฐานความเป็นนักเขียนนิยายมักจะมองงานวิชาการว่ามีแต่ข้อมูล ซึ่งในการเขียนนิยายจะสามารถเจียระไนความเป็นมนุษย์ได้แวววาวกว่า ทว่าสำหรับ ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่ร้อยเรียงไว้ใน อยู่กับบาดแผล นั้น แม้แต่นิยายก็ยังต้องพ่ายแพ้

“เราเห็นคนในหลายมิติมาก ไม่ใช่แค่มิติทางการเมือง แต่เป็นความหวัง ความฝันของเขา รวมถึงครอบครัวเขา ชีวิตก่อนและหลังจากนั้น ความขัดแย้งมันไม่ได้ทำลายแค่คนคนเดียวที่บังเอิญไปอยู่ตรงนั้น แต่ครอบครัวที่บังเอิญไม่ได้อยู่ตรงนั้นก็เสร็จด้วย ซึ่งอันนี้สั่นสะเทือนมาก เรามักจะไม่ค่อยได้เห็นมิติด้านนี้ เราจะเห็นแต่ว่า คนนั้นถูกยิง ในฐานะข่าวเราก็จะเห็นแค่คนถูกยิง ชายไม่ทราบชื่อ ไม่ทราบอายุ แฟนเขาเป็นใคร ลูกเขาเป็นใคร ชีวิตเขาอยู่แบบไหน และหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร”

นอกจากนี้ การนำเสนอของผู้เขียนผ่านผู้ได้รับผลกระทบจากสองขั้วสีทางการเมือง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก ทั้งความหวังในสิ่งเดียวกัน ความต้องการในสิ่งเดียวกัน และเจ็บปวดเหมือนกัน ทำให้มองเห็นว่าผู้คนทั้งสองฟากที่อยู่ในเล่มนี้ทั้งหมดมีทางเลือกจำกัดจำเขี่ยไม่ต่างกัน

“กล่าวคือ เขาไม่มีทางเลือกที่จะไม่มาทางนี้ และไม่มีทางเลือกหลังจากความรุนแรงจบลง เขาไม่มีทางเลือกเป็นอย่างที่เขาเป็น เราจึงพบว่า ความขัดแย้งทางการเมืองมันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะ มันไม่ใช่เรื่องที่คนคนหนึ่งวันนี้ออกไปเดินเล่น แต่เขาถูกผลักโดยอะไรก็แล้วแต่ ณ จุดนั้นของทั้งสองขั้วสีที่จะไปอยู่ตรงนั้น”

เช่นกัน ต่อความรู้สึกของอินทิรา อยู่กับบาดแผล แม้จะเป็นหนังสือที่มุ่งเน้นเพื่อถ่ายทอดความเจ็บปวดจากผลกระทบทางการเมืองของผู้คนทั้งสองฝ่าย แต่ผู้อ่านจะไม่เห็นน้ำเสียงหรือโทนดราม่าปลุกเร้าอารมณ์ให้คล้อยตาม ตรงกันข้าม น้ำเสียงในเล่มนี้กลับราบเรียบ ในฐานะนักเขียนเช่นกัน อินทิรามองว่า นี่เป็นสิ่งที่สะเทือนภาวะข้างในอย่างไม่อาจปฏิเสธ

 

“หนังสือเล่มนี้เสียงนิ่งมาก เล่าเหมือนเสียงบรรยายภาพธรรมดามากๆ เลยค่ะ แต่ว่าสั่นสะเทือนในจุดเดียวกับที่พี่แหม่ม (วีรพร นิติประภา) พูด ก็คือญาติพี่น้องค่ะ คนเหล่านี้ไม่ได้มีชื่อแค่สถิติ หรือเป็นแค่จำนวน หรือเป็นแค่ชายคนหนึ่งในสำนวนคดี บางคนแค่บังเอิญไปอยู่ตรงนั้นก็มี บางคนตั้งใจก็มีนะคะ แต่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่อย่างไรมันมีคนข้างหลังเขาอีกเยอะเลยที่จะต้องดูแล และยิ่งเล่าด้วยน้ำเสียงที่ไม่ตัดสินอะไรเลย มันรุนแรงมากจริงๆ”

จากเรื่องราวของผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 25 คนผ่านการทำงานร่วมสองปีที่ต้องใช้เวลาเพียงช่วงปิดเทอม เนื่องจากติดภาระหน้าที่การสอน ในฐานะ ‘อาจารย์’ บุญเลิศกล่าวต่อถึงผลงานตัวเองจากการที่เลือกศึกษาทั้งสองขั้วสีทางการเมือง เพราะเห็นว่าที่ผ่านมามีงานเขียนเฉพาะเกี่ยวกับฟากฝ่ายทางการเมืองสีใดเพียงสีหนึ่ง จึงทำให้สนใจทำการศึกษาเหยื่อทั้งสองสี โดยมุ่งไปยังกลุ่มผู้บาดเจ็บเพื่อให้ได้ประสบการณ์จากพวกเขาโดยตรง

“การศึกษาเน้นไปยังผู้บาดเจ็บและผู้พิการ ผมไม่ได้ศึกษาผู้เสียชีวิต เพราะถ้าศึกษาผู้เสียชีวิต ผมจะต้องไปศึกษาญาติพี่น้องเขาใช่ไหม ก็จะไม่ได้จากประสบการณ์เขาโดยตรง แต่ว่าทำไมต้องเลือกผู้บาดเจ็บและคนพิการ เพราะว่าเขาเป็นคนที่ได้รับผลกระทบลึกและยาวที่สุด คือเหตุการณ์ผ่านไปหกเจ็ดปีแล้ว แต่เขายังต้องอยู่กับบาดแผลที่มัน mark อยู่กับตัวเขา แล้วเขาจะใช้ชีวิตที่เหลือยังไง ผมจึงอยากศึกษาตรงนี้ ทีนี้พอเลือกจะศึกษาตรงนี้ ผมก็จะหาข้อมูลค่อนข้างยาก”

 

เนื่องจากผู้พิการหรือบาดเจ็บจากทั้งสองฟากสีเสื้อทางการเมืองนั้นค่อนข้างหาตัวยากประการหนึ่ง อีกประการคือ การยินยอมพูดคุย ซึ่งบุญเลิศยอมรับว่าจริงๆ แล้ว ตัวบุคคลที่ได้สัมภาษณ์นั้นมีจำนวนมากกว่า 25 คน ทว่าบางคนไม่ได้ถูกนำมาใช้ เช่น บุคคลที่บาดเจ็บเล็กน้อย หรือผู้ที่อยู่ในเรือนจำที่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่ามีความซับซ้อนมาก เช่น กรณีเผาศาลากลางที่อุบลราชธานี

กาลเวลาในบาดแผล

​แม้จะจัดวางช่วงเวลาในหนังสือไว้ในช่วง 2553-2557 อันเป็นช่วงปีของเหตุการณ์ล้อมปราบกลางกรุงเทพฯ มาจนถึงการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งในแง่หนึ่งแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วนเป็นเรื่องราวในอดีต การย้ำเตือนเพื่อพูดคุยในเรื่องราวที่ผ่านไปแล้ว เปรียบอีกแง่ย่อมไม่ต่างจากการขุดคุ้ยแผลเก่าให้กลับขึ้นมาเป็นแผลใหม่อีกครั้ง

แต่หากไถ่ถามถึงเหตุผลที่เรายังคงต้องพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่นั้น ความเห็นของวีรพรคือ เราต้องมองว่าความรุนแรงนั้นเป็นความรุนแรงในระดับไหน แบบไหน ความรู้สึก หรือทางกาย หากเป็นความรุนแรงในแบบลากปืนออกมา เราอาจผ่านมาแล้ว แต่เป็นการผ่านที่อาจวนกลับมาได้ทุกเมื่อ แต่ความรุนแรงต่อผู้ได้รับผลกระทบนั้นผ่านไปได้หรือเปล่า วีรพรสรุปเป็นคำเดียวสั้นๆ

“ยังค่ะ”

ขณะที่ธรมองว่า แม้หนังสือเล่มนี้จะใช้ชื่อที่มีคำว่า ‘บาดแผล’ แต่บาดแผลในบริบทของหนังสือไม่ใช่บาดแผลทางกาย แต่คือบาดแผลทางใจ เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านี้เชื่อมโยงต่อไปถึงอาชญากรรมโดยรัฐและการลอยนวล ความไม่เคยต้องรับผิดของรัฐ หรือ impunity

“ถามว่าเรื่องความรุนแรงโดยไม่ต้องรับผิด โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดโดยรัฐ ถามว่าเป็นเรื่องใหม่หรือเปล่า โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย เราจะเห็นกรณีแบบนี้เยอะ การฆ่าสังหารในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ การสังหารในเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งมีประเด็นคล้ายกันกับที่หนังสือเล่มนี้ต้องการเล่าถึง คือการลอยนวลโดยไม่ต้องรับผิด คุณอินทิราถามว่าเรายังต้องใส่ใจหรือไม่? เราต้องใส่ใจอย่างมาก เพราะว่าเมื่อโยงไปยังเรื่อง impunity แล้ว มันโยงอยู่กับเรื่องสำคัญหลายเรื่องในสังคม”

หนึ่งในหลายเรื่องที่ธรยกตัวอย่างมา คือเรื่องของการดูแลผู้ถูกกระทำ เมื่อมีการพูดถึงความพยายามทำให้คนมารับผิดกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็จะมีเสียงถามถึงความเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว และตั้งคำถามว่า หรือความจริงแล้วเราควรจะลืม

“สิ่งที่อาจารย์บุญเลิศพยายามนำเสนอผ่านงานนี้ อย่างแรกสุดเลยสำหรับคนที่ถูกกระทำ มันไม่ใช่ option ของการลืม ทุกคนมีความทรงจำกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา บาดแผลเกี่ยวกับความรู้สึกมันไม่ได้ถูกเยียวยาได้ด้วยการไปบอกให้เขาลืมเอาง่ายๆ สิ่งที่สำคัญกว่าที่อาจารย์บุญเลิศต้องการนำเสนอก็คือ ความทุกข์ทนที่มาจากตัวเขากับความทรงจำ ในแง่หนึ่งสิ่งที่ผ่านมามันก็คือความทรงจำ เราก็เป็นกล่องความทรงจำที่เกิดขึ้นในอดีต สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกก็คือความสัมพันธ์ของเขาเมื่อมองย้อนกลับไปยังความทรงจำนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่จบ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในชีวิตเรา เราจะรู้สึกอย่างไรต่อความทรงจำ มันก็คืออยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นตามมามากมาย”

ตรงนี้โยงมายังสิ่งที่บุญเลิศให้ความสำคัญมาก นั่นคือการบอกเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำว่า “เขาเป็นใคร” โดยเปรียบเทียบผู้ถูกกระทำทั้งสองฝ่าย แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสารชัดเจนคือ ความรู้สึกต่อความทรงจำของผู้ถูกกระทำทั้งสองฝ่ายไม่เหมือนกัน

“ทำไมถึงไม่เหมือนกัน เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมากับเขานั้นไม่เหมือนกัน ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชนะ อีกฝ่ายหนึ่งกลับรู้สึกโดนตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าเขาเป็นคนผิดหรือไร้ค่า ถูกตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าไร้ค่า หรือพูดง่ายๆ ว่าอยู่ในกลุ่มที่เป็นคนไม่ดี เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญสำหรับคนที่ถูกกระทำจึงไม่ใช่การลืม มันคือการดูแลเส้นทางที่เกิดขึ้นเหมือนกับเหตุการณ์นั้น มันถึงนำมาซึ่งประเด็นที่ว่า ทำไมเราจึงไม่ควรมองว่ามันจบแล้ว มันมีกระบวนการมากมายที่จะต้องคืนความยุติธรรม คืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ที่ถูกกระทำเหล่านี้”

 

ความทรงจำร่วมต่อทางแยกของการระลึกถึงบาดแผล

“พอมันเป็นงานวิจัยขึ้นมา มันก็ทำให้ทรงจำของปัจเจกกลายเป็นทรงจำของสังคมไปด้วย ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากตอนที่เหตุการณ์มันเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่รู้สึก คือเรื่องนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น และไม่ควรจะเกิดขึ้นซ้ำอีก เกิดขึ้นซ้ำ ไปเรื่อยๆ การเกิดขึ้นซ้ำของมันอาจสะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีทรงจำของสังคมหรือเปล่า(วะ) และไม่ใช่เราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าผู้ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา รอด พิการ หรือใช้ชีวิตอยู่ต่อมาอย่างไร ยังไม่รู้ว่าคนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นยังไงกันบ้าง สังคมต้องการความทรงจำนี้ไหม เพื่อที่จะรู้ว่าต่อไปเราจะทำอย่างนี้อีกไหม”

 

ประเด็นของความทรงจำว่าสำคัญมากน้อยขนาดไหน เพิ่มเติมต่อจากความรู้สึกของวีรพร ธรมองต่อในแง่ของความทรงจำของเหยื่ออาชญากรรม ว่ามีความยากต่อความทรงจำของเหยื่อกับความทรงจำของสังคมหรือว่าความทรงจำร่วม (collective memory) ซึ่งเมื่อมาถึงความทรงจำร่วมที่มากับบาดแผล ซึ่งมีความอิหลักอิเหลื่อบางอย่าง

“อย่างแรกสุด เมื่อเราพูดถึงความทรงจำร่วม มันจะมีสิ่งที่คล้ายกับทางแยกระหว่างการระลึกถึงบาดแผลกับการก้าวเดินต่อไป ในฐานะความทรงจำร่วมของสังคม การระลึกถึงความทรงจำที่เลวร้ายก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันทำให้เรารู้ถึงบทเรียน เราถึงจะก้าวเดินต่อไปอย่างไม่ผิดพลาด อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่หนึ่ง การระลึกถึงบาดแผล ก็ทำให้เกิดความรู้สึกทรมานในสังคม ตรงนี้เองที่เราจะสามารถหาจุดสมดุลได้อย่างไร

ประเด็นที่สอง ‘ความทรงจำร่วม’ โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มันไม่ได้มีความทรงจำของผู้ถูกกระทำอย่างเดียว ความทรงจำของผู้กระทำก็มี ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ที่มีส่วนในการกระทำ แต่รวมถึงผู้ที่สนับสนุนการกระทำด้วย

ในสังคมที่ต้องก้าวเดินต่อไปพร้อมความทรงจำร่วม ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องถูกสะสาง เราพูดถึงเหตุการณ์ที่คล้ายกันและคลุมเครืออย่างเหตุการณ์ 6 ตุลา เราจะพบว่า ความทรงจำของผู้กระทำเป็นมิติที่อิหลักอิเหลื่อที่สุด ถ้าลองอ่านงานของอาจารย์เรื่อง 6 ตุลา เราจะถูกดึงความรู้สึกเศร้าสลดอีกแบบหนึ่ง ไม่แพ้กับงานชิ้นนี้ในเรื่องของความทรงจำที่ผู้กระทำมีต่อเหตุการณ์

​“ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเราจะจัดการกับความทรงจำเหล่านี้ยังไง เพราะเราต่างก็เป็นพยานของเหตุการณ์ ฉะนั้น ความทรงจำร่วมในมุมของผมจึงไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ถูกกระทำกับผู้กระทำ ยังมีผู้ที่สนับสนุนการกระทำ ซึ่งเราจะต้องอยู่ร่วมกับพวกเขาเหล่านี้ คำถามก็คือว่าเราจะก้าวต่อไปยังไง”

 

วัฒนธรรมลอยนวล

ต่อเนื่องจากสิ่งที่ธรได้กล่าวไป จากประเด็นที่อยู่ในหนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง โดย ธงชัย วินิจจะกูล บุญเลิศเองกล่าวว่าตนก็นึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาอยู่เสมอขณะที่ทำงานเล่มนี้

“ซึ่งประเด็นที่อาจารย์ธรพูดและคุณทราย (อินทิรา เจริญปุระ) ถามมันเชื่อมโยงกัน คือเราอยู่ในวัฒนธรรมที่คนกระทำผิดลอยนวล (impunity) ที่คนกระทำความผิดไม่ถูกลงโทษ คนสั่งการให้ใช้ความรุนแรงไม่ถูกลงโทษ เราจึงได้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆ ในตอนท้ายของหนังสือก็จะพูดถึงว่าเราได้พูดว่าเราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร ผมคิดว่า ในยุคสมัยนี้เราก็อาจจะจัดการกับมันยาก มันมีคำว่า ‘ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน’ แต่เราไม่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านก็เพราะว่าคนที่ใช้ความรุนแรงยังเป็นผู้ใช้อำนาจอยู่ เขาจะตั้งคณะกรรมการมากี่ชุด คณะกรรมการก็อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจ กรรมการไม่ได้เป็นอิสระ ดังนั้น ความเป็นอิสระที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงมันถึงไม่เกิด”

ดังนั้นการจะจดจำ จึงไม่อาจมองข้ามประเด็นที่ผู้ถูกกระทำ ซึ่งเจ็บตัวแล้วยังต้องเจ็บใจอีก บุคคลเหล่านี้จึงต้องการเพียงแค่ให้วันหนึ่งความจริงจะถูกเปิดเผย และวันนั้นพวกเขาอาจหลุดพ้นไปจากสถานะความเป็น ‘เหยื่อ’

“จากการศึกษางานที่เกี่ยวข้องกับ suffering ของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองในหลายๆ ประเทศนั้น คือผมเห็นว่า เรายังไม่เคยเดินไปสู่การยอมรับเหยื่อ ขอโทษเหยื่อ ทำตรงนั้น

ถึงที่สุดแล้วจากงานศึกษาที่ผ่านมาระบุว่า เหยื่อไม่ได้ต้องการที่จะเอาชีวิตใครคืนหรอก แต่อย่างน้อยคุณค่าของเขาได้รับการเคารพในฐานะของผู้ถูกกระทำ เพราะถึงที่สุดในสงครามกลางเมือง เมื่อสืบสาวไปแล้วมันไม่เหลือใครเลยที่มือจะไม่เปื้อนเลือด

“แต่ถึงที่สุดสังคมจะเรียนรู้ว่าเราจะไม่ผลักสังคมไทยไปสู่ความรุนแรงแบบนั้นอีกแล้ว และนี่คือสิ่งที่ผมอยากถ่ายทอด คือเราอย่าผลักสังคมไทยไปสู่ความรุนแรงแบบนั้น”

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า