‘กบฏบวรเดช’ ผู้พ่ายแพ้คณะราษฎร แต่ชนะใจฝ่ายอนุรักษนิยม

‘เหตุการณ์กบฏบวรเดช’ เป็นความพยายามก่อการรัฐประหารด้วยกำลังอาวุธเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของคณะราษฎรในปี 2476 ภายใต้ชื่อปฏิบัติการอย่างเป็นทางการว่า ‘คณะกู้บ้านกู้เมือง’ ซึ่งในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง อธิบายว่ากบฏบวรเดชเป็นความพยายามแรกของ ‘ขบวนการปฏิปักษ์การปฏิวัติสยาม’ (counter revolution) ซึ่งเกิดหลังเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 เพียง 1 ปี

‘คณะกู้บ้านกู้เมือง’ ประกอบไปด้วยเจ้านายและขุนนางจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาทิ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งเป็นผู้นำในการกบฏครั้งนั้น ได้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาลคณะราษฎรให้ใช้การปกครองในรูปแบบของระบอบราชาธิปไตย โดยใช้กำลังทหารจากหัวเมืองเป็นกำลังหลัก กระทั่งเกิดการปะทะกันในเดือนตุลาคม 2476

อย่างไรก็ตามการปะทะด้วยกำลังอาวุธในเดือนตุลาคมจบลงด้วยชัยชนะของคณะราษฎร เหล่าผู้นำฝ่ายกบฏคนสำคัญ อาทิ พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ถูกยิงเสียชีวิต ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายา เดินทางหนีไปยังประเทศกัมพูชา ขณะที่ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ถูกจับกุม นายทหารระดับนำหลายนายเสียชีวิตในสมรภูมิ แนวร่วมจำนวนมากถูกจับขึ้นศาล มีผู้เกี่ยวข้องถูกจับกุม 600 คน ถูกส่งฟ้องศาลพิเศษ 346 คน ถูกตัดสินลงโทษ 250 คน ถูกปลดจากราชการ 117 คน

ปฏิบัติการต่อต้านการก่อกบฏครั้งนั้นนำมาสู่การสร้างอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่บริเวณหลักสี่ บางเขน กรุงเทพฯ ที่เรียกกันว่า ‘อนุสาวรีย์หลักสี่’ หรือ ‘อนุสาวรีย์ปราบกบฏ’ หรือ ‘อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ’ ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้น ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช โดยอนุสาวรีย์ดังกล่าวถูกรื้อถอนหลังการรัฐประหาร 2557 โดยไม่มีคำอธิบายเหตุผลที่แน่ชัดจากเจ้าหน้าที่รัฐ

24 ปีผ่านไป กลับมาใหม่ใต้อุดมการณ์เดิม

ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าเป็นการปกครองที่ถือเอาข้างมากแต่เสียงเท่านั้น เพราะถ้าเอาโจร 500 คน มาประชุมกับพระ 5 รูป และเสนอญัตติอภิปรายกันว่าจะไปปล้นเขาดีหรือไม่ดี ลงมติกันทีไร โจร 500 ก็ต้องไปปล้นเขา เพราะเอาชนะพระได้ทุกที

ถ้อยคำของ ‘แมลงหวี่’ ซึ่งเป็นนามปากกาของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นตัวอย่างประโยคคุ้นเคยในทางประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนหลักคิดร่วมกันของฝ่ายปฏิปักษ์การปฏิวัติที่กลับมาอีกครั้ง หลังการรัฐประหารล้มอำนาจคณะราษฎรอย่างถาวรได้ในปี 2490 โดยอุดมการณ์อนุรักษนิยมที่ไม่เชื่อในความเท่าเทียมทางการเมือง ถูกผลิตขึ้นหลังการรัฐประหารโดยนักเขียน ซึ่งส่วนใหญ่คืออดีตนักโทษการเมืองและผู้ลี้ภัยในเหตุการณ์กบฏบวรเดช เช่น พระยาศราภัยพิพัฒ หลุย คีรีวัต หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน ว.ช.ประสังสิต นายหนหวย เป็นต้น ซึ่งเคยถูกคุมขังและได้รับการนิรโทษกรรมในสมัยรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บางคนเป็นผู้ลี้ภัยหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช หรือบางคนเป็นนักเขียนที่มีความชื่นชมวีรกรรมของกบฏบวรเดช

อย่างไรก็ตามนักเขียนสารคดีการเมืองหรือนักหนังสือพิมพ์เหล่านี้ ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นความต้องการกลับไปหาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างสมบูรณ์ หรือโจมตีระบอบประชาธิปไตยที่คณะราษฎรสถาปนาอย่างเด็ดขาดแต่อย่างใด หากแต่มุ่งฝันถึงระบอบการเมืองอนุรักษนิยม ที่มี ‘คณะกู้บ้านกู้เมือง’ เป็นแรงบันดาลใจ

ในการศึกษาของ สมบัติ จันทรวงศ์ สารคดีการเมืองเหล่านี้ มีลักษณะของการทำให้เรื่องราวทางการเมืองกลายเป็นเรื่องที่สนุกสนานเร้าอารมณ์ สร้างความรู้สึกแบบเดียวกับนวนิยายซึ่งเป็นเรื่องแต่งขึ้นตามจินตนาการ รวมถึงการใช้สำนวนภาษาที่เข้าใจง่ายและชวนอ่าน ที่สำคัญที่สุด คือการอธิบายเหตุการณ์ทางการเมือง โดยมีแนวโน้มอธิบายการเมืองในลักษณะที่เป็นเรื่องของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ด้วยการใช้กำลังหรือกลอุบาย ของผู้ที่มีบทบาททางการเมืองเพียงไม่กี่คน

ให้ความหมายใหม่ แก่มรดกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

คำว่า ‘ปฏิวัติ’ เป็นคำศัพท์ทางการเมืองที่ค่อนข้างได้รับผลกระเทือนจากเหตุการณ์ในช่วงนี้เป็นอย่างมาก คำว่า ‘ปฏิวัติ’ หากจะมีใช้กันอยู่บ้างก็ไม่แพร่หลายทั่วไป เพราะแม้แต่การกระทำของคณะราษฎรเองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ก็เรียกกันว่า ‘การเปลี่ยนแปลงการปกครอง’ มากกว่า ‘การปฏิวัติ’ ดังนั้นคำว่า ‘ปฏิวัติ’ เมื่อแรกเริ่ม จึงไม่น่าจะมีเวลาพอที่จะสถาปนาความหมายที่แน่นอน

สำหรับผู้ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เช่น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ หลุย คีรีวัต ‘การปฏิวัติ’ ถูกอธิบายความหมายออกไปในลักษณะที่ทำให้เกิดความไม่ดีไม่งามจากการเปลี่ยนแปลงเมื่อ พ.ศ. 2475 เช่น โจมตีเหตุการณ์ ‘2475’ ว่าเป็นเพียง “การปฏิวัติตามทฤษฎี” ส่วน “การปฏิวัติทางจิตใจ” ของคนไทยยังไม่เกิด หรือบางคนพยายามลดความสำคัญของศัพท์คำนี้ลง โดยอธิบายว่า “การปฏิวัติกิจการงานเมืองนั้นมีมาทุกยุคทุกสมัย แม้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มี เพียงแต่ว่าสมัยก่อนทำโดยแนบเนียนอาศัยศีลธรรมเป็นที่ตั้ง แต่ในสมัยปัจจุบัน (2490) มักทำโดยหักโหมไม่คำนึงถึงจิตใจและศีลธรรมของพลเรือน”

ดังตัวอย่างที่ หลุย คีรีวัต ได้โจมตี “การปฏิวัติทางจิตใจ” ของคณะราษฎรอย่างรุนแรง ว่า

คณะปฏิวัติ (2475 – เพิ่มเติมโดยผู้เขียน) ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำลายล้างศีลธรรมจรรยาและประเพณีของพลเมืองโดยใช้วิธียุแยงตะแคงบอน โน้มเอียงความรู้สึกของประชาชนพลเมืองไปในแนวทางของตน ซึ่งทางคณะปฏิวัติอ้างว่า เมื่อปฏิวัติโดยกำลังเสร็จแล้วต้องปฏิวัติทางจิตใจต่อไป การกระทำทั้งนี้เป็นการเลียนแบบรัสเซียหลังการปฏิวัติใหม่ๆ เพื่อเรียกร้องให้ชนชั้นต่ำเข้ามาเป็นพรรคพวก

ดังนั้นแม้แต่การแต่งเนื้อแต่งตัวที่เปลี่ยนแปลงไปหมด จากผ้าม่วงถุงน่องรองเท้าที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและมีค่า ก็ว่าเอามาจากเขมรจากอินเดียซึ่งเป็นชนชาติเมืองขึ้น เหตุนี้จึงอนุญาตให้มีเสรีภาพถึงขนาดนุ่งกางเกงจีนและกางเกงขาสั้นใส่รองเท้าแตะไปออฟฟิศกัน เครื่องแบบของทหารแต่ก่อนดูสง่างามและพากภูมิก็ถูกปลดบ่าปลดอินทนูเหมือนทหารแดง สำหรับพวกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำการแต่งกายในสมัยนั้นแต่งตัวแบบบ๋อยไหหลำของพวกฝรั่ง คือสวมเสื้อคอปิดและนุ่งกางเกงขายาวสีขาว

คำว่า ‘กบฏ’ ที่ความหมายไม่ชัด

ขณะที่คำว่า ‘กบฏ’ ซึ่งถูกใช้ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช ก็ถูกพลิกความหมาย นักเขียนบางคนถือว่า ‘การปฏิวัติ 2475’ ต่างหาก คือ ‘การกบฏ’ เพราะการปฏิวัติจะสำเร็จลงไปได้ด้วยดี นั้นจะต้องใช้วิธีประณามของเก่าให้เห็นว่าชั่วร้ายเลวทราม แล้วก็เอาของใหม่ที่ได้ปรุงแต่งอย่างสวยสดงดงามเข้ามาแทนที่ ฉะนั้นคำประกาศของคณะราษฎรที่แม้จะรุนแรง แต่ก็เป็นเพียงข้ออ้างของพวกกบฏ”

อย่างไรก็ตาม สมบัติ จันทรวงศ์ วิเคราะห์ว่าผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่เกิดจากการที่ผู้เขียนสารคดีทางการเมืองในยุคนี้ คือการทำให้ศัพท์คำว่า ‘ปฏิวัติ’ ไม่มีความหมายที่กระชับแน่นอน แต่ถูกใช้อย่างสับสนปนเปไปหมดอย่างคำว่า ‘กบฏ’

เช่น ผู้เขียนบางคนถึงแม้ว่าขณะหนึ่งจะพูดถึงการปฏิวัติ 2475 ว่าเป็น “การปฏิวัติสังคมครั้งใหญ่ของเมืองไทย” แต่ก็ไม่ได้พิถีพิถันกับการใช้คำว่า ‘ปฏิวัติ’ ให้มีความแตกต่างจาก ‘การกบฏ’ อย่างจริงจัง เพราะเมื่อเอ่ยถึงกบฏบวรเดช ในงานเขียนของนายหนหวยก็กล่าวว่าเป็นเพียง ‘การปฏิวัติซ้อน’ เท่านั้น

อีกวิธีการหนึ่งที่งานเขียนสารคดีการเมืองในยุคนี้ใช้คือ คำว่า ‘รัฐประหาร’ เพราะเมื่อกลุ่มทหารที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะรัฐประหาร’ กระทำการรัฐประหาร ล้มรัฐบาลของ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2490 นั้น แทนที่นักเขียนเหล่านี้จะนิยามคำว่า ‘รัฐประหาร’ ตามความหมายที่แท้จริง กลับทำให้การก่อการรัฐประหารดังกล่าว กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องไปด้วยวิธีการต่างๆ กัน บางคนเริ่มด้วยความพยายามแยกแยะ ‘รัฐประหาร’ ออกจากการ ‘ยึดอำนาจการปกครอง’ เช่น ว.ช.ประสังสิต อธิบายว่า

“การเรียกร้องอำนาจคืนมาจากผู้ไม่มีสิทธิที่จะใช้อำนาจแต่ได้ขืนใช้อำนาจนั้นอยู่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าตนไม่มีสิทธิ หรือใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้อง เช่น รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ความจริงเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยแต่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เพราะได้ปิดสภาผู้แทนราษฎร, งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา บริหารราชการโดยไม่ต้องรับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางคณะรัฐมนตรีซึ่งไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ การล้มรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ เรียกว่า “การยึดอำนาจการปกครอง”

และให้ความหมายคำว่า ‘รัฐประหาร’ ว่า

“การล้มล้างรัฐบาล… ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากผู้บริหารไม่มีสมรรถภาพ การบริหารงานเสื่อมโทรม จึงจำเป็นต้องล้มล้างแก้ไข หากไม่แก้ไขความหายนะจะมีขึ้น และจะแก้ไขโดยวิถีทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ จึงต้องล้มล้างรัฐบาลลงเสีย นั้นคือการสร้างความหมายที่ว่าในขณะที่ ‘การยึดอำนาจการปกครอง’ เป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม หรือไม่ถูกต้องด้วยกฎหมาย การ ‘รัฐประหาร’ ก็เป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไร้สมรรถภาพ”

จะเห็นได้ว่าหลังการรัฐประหาร 2490 เหล่านักเขียนสารคดีการเมืองจำนวนมาก คืออดีตนักโทษการเมืองในเหตุการณ์กบฏบวรเดช และหลายคนคือคนที่ไม่เห็นด้วยกับคณะราษฎรที่ครองอำนาจยาวนานกว่า 25 ปี การรัฐประหาร 2490 ซึ่งปิดฉากอำนาจของคณะราษฎรอย่างเด็ดขาด มีส่วนทำให้อุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่เคยถูกปิดกั้นไปหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 และอีกครั้งหลังการกบฏบวรเดช ได้กลับมาเผยแพร่อุดมการณ์ตัวเองอีกครั้งผ่านงานเขียนสารคดีการเมือง

อย่างไรก็ตาม การกลับมาในวันที่รัฐธรรมนูญถูกยึดเป็นแบบแผนโครงสร้างการเมืองการปกครอง และระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สังคมไทยคุ้นเคยแล้ว ความฝันของผู้ที่สนับสนุนกบฏบวรเดชจึงเปลี่ยนแปลง ดังที่เราได้เห็นรูปธรรมนั้นในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2492 ที่ความคิดอนุรักษนิยมสายปฏิรูป ขึ้นมามีบทบาทนำ

อ้างอิง

  • ณัฐพล ใจจริง. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ.2475-2500) นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556. หน้า 154
  • สมบัติ จันทรวงศ์. ภาษาทางการเมือง: พัฒนาการของแนวอธิบายการเมืองและศัพท์การเมือง ในงานเขียนประเภท สารคดีทางการเมืองของไทย พ.ศ.2475-2525. กรุงเทพ: สถาบันไทยคดีศึกษา, 2533

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า