วิกฤติอาชีพ ‘แม่นม’ ในอังกฤษ

คุณแม่มือใหม่ชาวอังกฤษกว่าล้านคน ขาดแคลนผู้ช่วยเพื่อให้นมลูกด้วยตัวเอง

Mentor หรือ Breastfeeding peer-support คือผู้ช่วยเหลือคุณแม่หลังคลอดบุตร ให้คำแนะนำ และถือเป็นบริการจากรัฐอย่างหนึ่ง ในการจัดผู้ช่วยคุณแม่ให้เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของตัวเองได้ กำลังเป็นที่ขาดแคลนในประเทศอังกฤษตอนนี้

ที่จริงแล้ว ‘แม่นม’ หรือผู้ช่วยคุณแม่ให้นมลูกด้วยตัวเอง ที่พบเห็นในชุมชนอังกฤษทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานแต่ไม่ได้ค่าแรง (unpaid women) หรือเป็นคนชนชาติเดียวเดียวกันกับคุณแม่หลังคลอดที่ต้องการความช่วยเหลือในช่วงแรกๆ

ทั้งนี้ บริการสำหรับคุณแม่มือใหม่ (Breastfeeding peer-support) ที่ว่ามีสองกรณีคือ แม่นม และบริการผู้ช่วยและให้ข้อมูลที่มาจากหน่วยบริการสาธารณสุขอังกฤษ (National Health Service: NHS)

งานวิจัยชื่อ Availability of breastfeeding peer-support in the UK: a cross-sectional survey หรือสรุปความเป็นภาษาไทยว่า บริการทีมพี่เลี้ยงช่วยคุณแม่ให้นมลูกด้วยตัวเองในอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟ (Cardiff University) จะเก็บข้อมูลจาก NHS เป็นหลัก

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาโดยการขอข้อมูลทารกแรกเกิดจำนวน 696 คน จาก NHS กว่า 177 แห่ง ซึ่งมีหน้าที่จัดบริการงานสาธารณสุขต่างๆ เช่น กองทุนการให้กำเนิดบุตรแห่งชาติ (National Childbirth Trust: NCT) รวมถึงการจัดหาบุคลากรเพื่อให้ข้อมูลและความช่วยเหลือคุณแม่มือใหม่เรื่องการเลี้ยงลูกทั่วประเทศ ซึ่งพบว่า…

บริการด้าน สาธาณสุข NHS ทั่งอังกฤษ มีบริการพี่เลี้ยงช่วยคุณแม่ให้นมลูกเพียง 56 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

และข้อสรุปอื่นๆ มีดังนี้

1) ความไม่มั่นคงของงบประมาณสนับสนุนเป็นเหตุผลหลัก ที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการให้บริการ

2) แม้ว่ากลุ่มเป้าหมายของงานบริการดังกล่าว จะคือคุณแม่ยากจนชนชั้นแรงงาน หรือชนชั้นกลางระดับล่าง แต่การให้บริการก็ยังไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่ว่าอยู่ดี

3) ไม่มีการเก็บข้อมูลกลุ่มผู้ช่วยคุณแม่ให้นมบุตรด้วยตัวเองอย่างเป็นระบบเท่าที่ควร

“ตรงข้ามกับหลักการเรื่องบริการสาธารณสุข ที่ว่าทุกๆ เมืองต้องมีบริการช่วยเหลือผู้หญิงให้นมลูกด้วยตัวเอง เข้าถึงข้อมูลได้ และต้องสนับสนุนการให้นมลูกได้อย่างต่อเนื่อง แต่ผลการศึกษาพบว่า บริการด้านนี้ยังไม่มีเสถียรภาพ”

เอมี แกรนท์ (Aimee Grant) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า งานที่ต้องทำต่อไป คือการแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิดังกล่าว

ที่มาวิกฤติ ‘แม่นม’

ในอังกฤษ การเลือกปฏิบัติต่อแม่ที่ให้นมบุตรเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง ประเทศอังกฤษได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่คุณแม่ให้นมลูกๆ ด้วยตัวเองน้อยที่สุดในโลก

อ้างอิงจากผลสำรวจ The Lancet เมื่อมกราคม 2016 พบว่า มีคุณแม่ชาวอังกฤษเพียง 1 ใน 200 คน หรือราว 0.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ยังให้นมลูกๆ ด้วยตัวเอง หลังเด็กๆ อายุเกิน 1 ขวบ

และผลสำรวจของ Public Health England พบว่าสามในสี่ของคุณแม่ชาวอังกฤษให้นมลูกด้วยตัวเองหลังคลอดบุตรเพียง 2 เดือนแรกเท่านั้น

การได้รับนมแม่เพียง 2 เดือนแรกของชีวิตเป็นเรื่องน่ากังวลและส่งผลต่อสุขภาพ แต่สำหรับเด็กๆ ที่อายุเกินหนึ่งขวบแล้ว อาจมีคำถามว่า จำเป็นต้องได้รับนมแม่อีกหรือ?

คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก WHO เพื่อพัฒนาการที่สมวัย เด็กๆ ควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน หลังจากนั้นจึงกินอาหารเสริม หรืออาหารเด็กควบคู่กับนมแม่อย่างต่อเนื่องจนอายุครบ ‘อย่างน้อย’ 2 ขวบ

ข้อดีของการให้นมลูกด้วยตัวเองมีอยู่หลายประการ หลักๆ คือสร้างภูมิคุ้มกันให้บุตร ลดอัตราการติดเชื้อของบุตร และช่วยเสริมทัพให้พัฒนาการเด็กๆ เป็นไปตามวัย หากสำหรับคุณแม่ การให้นมลูกด้วยตัวเองลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้

ข้อดีมีสารพัด และพลเมืองในประเทศโลกที่หนึ่งย่อมเข้าใจดี หากการที่คุณแม่ชาวอังกฤษไม่นิยมให้นมลูกด้วยตัวเองไม่ได้มาจากเหตุผลส่วนตัวเช่น ‘ไม่อยากให้’ หรือเป็นค่านิยมของคนเมืองผู้ดี หากเกี่ยวพันกับเรื่อง ‘ความกดดัน’ เรื่องหน้าที่การงาน ปัญหาเรื่องเงินเดือนที่ไม่เท่าเทียมอันเป็นผลจากเรื่องเพศ (gender pay gap)

อ้างอิงจากสถาบันศึกษาวิจัยด้านรายได้ (Institute for Fiscal Studies: IFS) โดยเฉพาะเรื่องภาษีและนโยบายสาธารณะ รายงานสถิติที่เกี่ยวกับผู้หญิงในเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการลาคลอดของผู้หญิงว่า

ผู้หญิงราว 54,000 คน เมื่อกลับมาทำงานแล้วอาจได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายราวสามเท่า บางรายถึงขั้นถูกกดดันให้ลาออกจากงานและตำแหน่งที่มั่นคงในที่สุด


อ้างอิงข้อมูลจาก:
myscience.org.uk
theguardian.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า