มูลนิธิเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (Asian Network for Free Election – ANFREL) หรือ อันเฟรล ได้ลงพื้นที่เพื่อเฝ้ามองการเปลี่ยนผ่านของพม่าในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งคำรบ 2 หลังรอดพ้นจากการปกครองของทหาร อันเฟรลเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชีย ไม่มีอำนาจเอาผิดใครแม้ว่าจะตรวจพบความไม่โปร่งใส แต่รายงานที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนมีความน่าเชื่อถือในระดับสากล อันเฟรลคาดหวังจะเห็นพัฒนาการทางการเมืองพม่าในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา ยังมีประเด็นที่เป็นปัญหา
“พระสงฆ์พม่าควรมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้” ถ้อยคำของ Amaël Vier จากอันเฟรล และบทบาทหัวคะแนนของพระวีระธู
นักสังเกตการณ์จากอันเฟรลมองว่าในสังคมพม่า กลุ่มพระสงฆ์เป็นกลุ่มก้อนที่มีพลังไม่น้อย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรายงานสถิติจำนวนพระสงฆ์ในสมัยประธานาธิบดีพลเอกเต็งเส่ง พบว่ามีจำนวนกว่า 500,000 รูป แต่พระสงฆ์พม่าไม่มีสิทธิทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2008 มาตรา 392 ที่ห้ามกลุ่มนักบวชลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งนั่นก็อาจยังไม่เรียกว่าเป็นการส่งเสริมหรือเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยแห่งโลกสมัยใหม่ได้อย่างแท้จริง Vier ตั้งคำถามว่า ควรยกเลิกกฎข้อนี้หรือไม่
วาทกรรมที่ว่าพระสงฆ์ สามเณร ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การเมืองไม่ใช่กิจของสงฆ์ มีข้อเท็จจริงรองรับแค่ไหน อย่างไร เป็นคำถามใหญ่มาก และดูจะเป็นประเด็นถกเถียงที่ชาวพุทธให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่พระสงฆ์ออกมาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจน ในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง การร่วมปราศรัยทางการเมือง การแสดงจุดยืนในโซเชียลมีเดีย กระทั่งเป็นแกนนำม็อบชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล
2 พฤศจิกายน 2020 เพียงไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งทั่วไป พระวีระตู่ (ဦးဝီရသူ) หรือที่ในสื่อไทยคุ้นในชื่อว่า พระวีระธู (Ashin Virathu) พระพม่าที่เรียกตัวเองว่า ‘บิน ลาเดน แห่งพม่า’ ได้เข้ามอบตัวกับตำรวจ หลังจากหลบหนีหมายจับมาเป็นเวลาปีกว่าในข้อหาปลุกระดมมวลชน
พระวีระธูเคยขึ้นปกนิตยสาร TIME เมื่อปี 2013 ได้รับการขนานนามว่าเป็นโฉมหน้าของผู้การก่อร้ายชาวพุทธ เนื่องจากพฤติกรรมความเป็นชาตินิยมสุดโต่ง จนเมื่อปี 2018 เฟซบุ๊คได้ระงับการใช้งานบัญชีเฟซบุ๊คของเขาและถอดคลิปวิดีโอจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังและทำร้ายมุสลิมโรฮิงญาออกทั้งหมด แต่เขาก็ยังเดินสายออกไปเทศน์/ปราศรัยในที่สาธารณะทั่วประเทศ เขาวิพากษ์วิจารณ์ อองซานซูจี ว่าเป็นภัยของพุทธศาสนา และยกย่องตัวแทนของทหารในรัฐสภาว่าเป็นเยี่ยงพระพุทธเจ้า เขาเป็นแกนนำเคลื่อนไหวในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหารให้แก้ตัวบทกฎหมาย ไม่ให้มีการแต่งงานข้ามศาสนา การปรากฏตัว และการเข้ามอบตัวครั้งนี้ของเขาถูกมองว่าเป็นความจงใจทางการเมืองอย่างชัดเจน เพราะเขากล่าวกับกลุ่มผู้สนับสนุนที่ด้านหน้าสถานีตำรวจในเมืองย่างกุ้งว่าให้ “ล่าพรรคนกสู้”
ภาพนกยูงนักสู้มองไปยังดวงดาวสีขาวบนผืนธงพื้นแดง เป็นสัญลักษณ์ของพรรค NLD นัยยะของ ‘ล่านกสู้’ คือ ขอให้พระสงฆ์ทั่วประเทศและลูกศิษย์ของพระเหล่านี้ออกไปลงคะแนนเลือกพรรคที่ปกป้องเชื้อชาติและศาสนาพุทธ ซึ่งเขาเน้นย้ำว่าพรรค NLD ของอองซานซูจี เป็นปฏิปักษ์ต่อพุทธศาสนา ในครั้งนี้ พระวีระธูอาจได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานสร้างความเกลียดชังและหมิ่นรัฐบาล
ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยหรือคิดแบบเดียวกับอันเฟรล หรือกับพระวีระธู และ/หรือ มิใช่ทุกคนที่ต่อต้าน แต่การได้ปะทะกับถ้อยแถลงที่ยกมา ทำให้เรามองเห็นแนวคิดทั้งหมดที่ปะทะสังสรรค์กัน ซึ่งอาจสลักสำคัญ ต่อการพิจารณา มากกว่าแค่ต่อต้านหรือโอบรับ จำนน
จีวรสีเฉดแดง VS อาณานิคม เผด็จการทหาร และความเป็นอื่น
ศาสนาพุทธเกี่ยวข้องโยงกับการเมืองตลอดเวลา อย่างน้อยก็สำหรับประเทศพม่า ที่กล่าวอย่างนั้น เพราะบทบาทของพระพม่านั้นไม่จำกัดเฉพาะแค่ในวัดแต่มีส่วนร่วมกับสังคม พระที่ได้รับความเคารพ คือ พระที่เป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้าน และมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งในระดับชุมชนและประเทศ ดูตัวอย่างกรณีพระวีระธู ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาและขบวนการเคลื่อนไหวระดมพล อย่างเครือข่ายกลุ่มพุทธธรรมเพื่อการกุศล (ဗုဒ္ဓဓမ္မပရဟိတဖောင်ဒေးရှင်း) ซึ่งมีเจตนาสำคัญในการปกป้องพุทธศาสนาจากความเป็นอื่น ไม่ว่าจะเป็น ศาสนาอื่น พรรคการเมือง เอ็นจีโอต่างชาติ ไปจนถึงเคลื่อนไหวเพื่อทวงสิทธิทางการเมืองของพระสงฆ์ตามระบอบประชาธิปไตย แต่ทางมหาเถรสมาคมพม่าไม่รับรองและประกาศให้เป็นกลุ่มที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อปี 2018
กระนั้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2019 กลุ่มพุทธธรรมเพื่อการกุศล ได้จัดประชุมประจำปี และมีการตีพิมพ์หนังสือชื่อ အနှိုင်းမဲ့သာသနာပြုကုသိုလ် ယူကြပါစို့ แปลว่า ‘ขอให้เรารับผลบุญแห่งการบำรุงพระศาสนาอันหาที่เปรียบมิได้’ เขียนโดย พระติลอกาภิวังสะ/ติโลกาภิวังสะ แห่งอินเส่ง (အရှင်တိလောကာဘိဝံသ) หน้าปกเป็นรูปธงฉัพพรรณรังสี อันเป็นธงประจำพุทธศาสนา กำลังหย่อนลงหีบเลือกตั้ง พร้อมกับรูปนิ้วจุ่มหมึกสีม่วง สัญลักษณ์แทนการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (คณะกรรมการเลือกตั้งของพม่า (UEC) ได้กำหนดให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องเอานิ้วจุ่มหมึกสีม่วง ซึ่งเป็นหมึกที่ล้างไม่ออก หลังลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเลือกตั้งซ้ำสอง)
เนื้อหาหลักในหนังสือนั้น ว่าด้วยเรื่องของการสนับสนุนและทวงคืนสิทธิให้พระสงฆ์มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ โดยอ้างว่าเป็นผลพวงมาจากความไม่พอใจของพระสงฆ์ ที่มีต่อการเมืองการปกครอง
ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานข่าวว่าทางกองทัพ โดยผู้บัญชาการทหารภาคย่างกุ้ง ได้บริจาคเงินจำนวน 30 ล้านจั๊ตให้กับกลุ่มพุทธธรรมเพื่อการกุศล เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2019 ซึ่งตรงกับสมัยรัฐบาลที่นำโดยพรรค NLD ของอองซานซูจี ซึ่งทางกลุ่มของพระวีระธูและลูกศิษย์ของเขาโจมตี
กระแสการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์มีมานานแล้วและอยู่ในสังคมพม่ามาโดยตลอด
“บางอย่างบรรลุผลในเหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวร (Saffron Revolution) ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2007 เมื่อพระภิกษุรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง พวกอาตมาให้การศึกษาแก่พระภิกษุเหล่านั้น พวกเราคว่ำบาตรทหาร ไม่รับสิ่งของใดๆ จากทหาร สาเหตุหนึ่งที่จะทำให้รัฐบาลล่มสลาย คือ กระแสโลกาภิวัตน์ ไม่มีประเทศใดที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้อีกแล้ว ดูอย่างการล่มสลายของเผด็จการในอินโดนีเซีย”
พระอูเอการะ ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายงานเรื่อง ‘The Resistance of the Monk Buddhism and Activism in Burma’ (2009) โดย Bertil Lintner
เช่นเดียวกับในสังคมพุทธอื่น เมื่อดูบริบทคำสอนในพุทธศาสนา ไม่มีชุดความคิดใดที่ยืนยันได้ว่าพระสงฆ์กับการเมืองตัดขาดไม่ยุ่งเกี่ยวกัน ต่อประเด็นข้อนี้ จึงน่าสนใจว่า พระยุ่งการเมืองได้หรือไม่ โดยพิจารณาจากอะไร หรือมีเหตุผลใดรองรับ
ในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษที่ 20 ชาวพุทธจำนวนมากในอาณานิคมพม่าประสบกับความเปลี่ยนแปลงแบบสะท้านสะเทือน ที่มาพร้อมปีศาจลัทธิ (ล่า) อาณานิคม โดยหวาดกลัวกันมากว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าจะอันตรธาน พวกเขาจึงระดมมวลชนเคลื่อนไหว เพื่อธำรงรักษาพุทธศาสนาเอาไว้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ส่งผลทางอ้อมต่อหลายแง่มุมของสังคม องค์กรประชาสังคม ตลอดจนการเมืองของลัทธิชาตินิยมต่อต้านอาณานิคมฝรั่ง
ในหนังสือ Sangha and State in Burma (1975) ของ E. Micheal Mendelson กล่าวไว้ว่า ในยุคอาณานิคมมีความพยายามนำเอาแนวคิดในพุทธศาสนามาตีความใหม่ และถือว่าพุทธศาสนามีหลักธรรมที่สอดคล้องกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ
“ในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์พูดถึงเรื่องนิพพาน มักไม่พูดถึงเรื่องการเมือง แต่ในขณะนี้ชาวพม่ากำลังตกเป็นทาสของอังกฤษ ชาวพม่ายังมิอาจบรรลุนิพพานได้ แทนที่พระสงฆ์จะมาสวดมนต์เพื่อช่วยให้ชาวพม่าไปสู่นิพพาน แต่ควรที่จะช่วยปลดปล่อยชาวพม่าจากการเป็นทาสเสียก่อน โอกาสที่จะนำตัวเองไปสู่นิพพานถึงจะมีความเป็นไปได้”
ส่วนหนึ่งจากสุนทรพจน์ปี 1921 ของ พระอุตตะมะ (ဦးဥတ္တမ) ผู้นำสงฆ์ยุคใหม่
Mendelson ค้นพบว่าในยุคอาณานิคม พระสงฆ์พม่าหัวก้าวหน้าได้กลับไปค้นคว้าและอ้างอิงสารัตถะจากชาดก (พุทธประวัติในชาติต่างๆ ก่อนเป็นพระพุทธเจ้า) มากล่าว เพื่อยืนยันว่าพระสงฆ์พูดเรื่องการเมือง และยุ่งกับการเมืองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกชาดกเรื่อง มหากปิชาดก ที่ว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าถือกำเนิดเป็นพญาลิงจ่าฝูง ยอมสละชีวิต เพื่อรักษาและปกป้องบริวารของตน พญาลิงผูกเอวตนเองกับเถาวัลย์ แล้วโหนตัวข้ามลำน้ำ ใช้มือยึดกิ่งมะม่วงไว้ ใช้ร่างกายของตนเป็นสะพานเพื่อให้ฝูงลิงบริวารทั้ง 8๐,๐๐๐ ตัว ไต่เถาวัลย์ข้ามแม่น้ำ แล้วเหยียบไปบนหลังของตน ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อหนีการไล่ล่าของพระราชาเมืองพาราณสี ในเหตุการณ์แย่งชิงผลมะม่วง ลิงทั้งฝูงจึงหนีไปได้อย่างปลอดภัยทุกตัว
ฉะนั้นแล้ว ทำไมพระจะยุ่งการเมืองไม่ได้ ในแง่ที่ว่าเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้าน ทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์และปกป้องชาวพม่าจากการรุกราน ซึ่งการหยิบชาดกมาใช้นั้นไม่ใช่แค่การสนับสนุนการตีความหรือเนื้อหาบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง อัตลักษณ์แห่งชาติ หรือวัตรปฏิบัติของชาวพุทธเท่านั้น แต่เป็นการชี้นำ ปั้นแต่ง และช่วงชิงการนำเสนอกรอบเชิงมโนทัศน์ อันเป็นพื้นฐานของการวิวาทะต่อมา
พม่าเสียเมืองแก่อังกฤษ ปี 1885 ต่อมาในปี 1917 อังกฤษได้นำระบบการปกครองแบบ Dyarchy คือ มีรัฐบาล 2 ระดับมาใช้ เพื่อให้พม่ามีส่วนร่วมปกครองตนเอง ระดับหนึ่งเป็นรัฐบาลของเมืองแม่ที่รับผิดชอบเรื่องสำคัญ อีกระดับหนึ่งเป็นรัฐบาลของคนพื้นเมือง รับผิดชอบเรื่องการศึกษา การป่าไม้ หลังการเคลื่อนไหวของขบวนการชาตินิยมพม่า อังกฤษได้ปรับปรุงให้พม่ามีรัฐธรรมนูญและรัฐบาลของตนเองแต่ยังขึ้นตรงต่อสภาลอนดอน สภานิติบัญญัติประกอบด้วยผู้แทนอังกฤษและพม่า สภาล่างเลือกตัวแทนมาจากชนกลุ่มน้อยและผู้แทนกลุ่มผลประโยชน์ ในการเลือกตั้งครั้งที่ 4 เมื่อปี 1932 เริ่มมีกลุ่มพระสงฆ์ออกมาให้การสนับสนุนและแสดงจุดยืนในการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก
27 มิถุนายน 1946 (ก่อนที่อังกฤษจะประกาศให้เอกราชพม่า 2 ปี) อังกฤษเห็นว่าควรประกาศผ่านร่างกฎหมายให้พระสงฆ์และแม่ชีพม่ามีสิทธิเลือกตั้ง หลังจากมีประกาศเกี่ยวกับร่างข้อกฎหมายดังกล่าวออกไป ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่พระสงฆ์และชาวพุทธในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการเขียนวิจารณ์ลงในหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายเห็นด้วย และฝ่ายที่คัดค้าน
พระสงฆ์บางกลุ่มได้ยื่นฎีกาถึงผู้แทนอังกฤษประจำอาณานิคมพม่า เพื่อให้ถอดถอนร่างกฎหมายดังกล่าว ในระยะนี้มีการผลิตสร้างตัวบทมากมายเพื่อใช้อ้างสนับสนุนจุดยืนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยฝ่ายอนุรักษนิยมที่สร้างตัวบทขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่ที่น่าสังเกตคือใช้วิธีการเช่นเดียวกับกลุ่มพระก่อนหน้านี้ที่สนับสนุนให้พระมีส่วนร่วมทางการเมือง คือ กลับเข้าไปค้นหาและอ้างอิงสารัตถะจากชาดกต่างๆ
เช่นกรณีของ อูติ้นฉ่วย (ဦးတင့်ရွှေ) ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลี เขียนหนังสือเพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง ชื่อ พระสงฆ์กับการเลือกตั้ง (ဘုန်းကြီးနှင့်မဲ) ตีพิมพ์เมื่อปี 1946 งานของเขาเป็นความพยายามเก็บรวบรวมหลักฐานมานำเสนอว่าพระสงฆ์ควรเลือกตั้งได้หรือไม่ เขายกเอานิทานสำคัญสามเรื่องขึ้นมาแสดง คือ
นิทานเรื่องที่ 1 นาคเอรกปัตตะ หรือ นาคตะไคร้น้ำ
ว่าด้วยเรื่องของภิกษุหนุ่มขึ้นเรือไปในแม่น้ำคงคา แล้วดึงยึดใบเอรกะหรือตะไคร้น้ำกอหนึ่ง เมื่อเรือแล่นไปแล้วก็ไม่ปล่อย ทำให้ใบตะไคร้น้ำขาด (การทำให้ตะไคร้น้ำขาดนั้นผิดวินัยสงฆ์ข้อหนึ่ง ว่าด้วย การห้ามพรากของเขียว) ภิกษุหนุ่มนั้นไม่แสดงอาบัติ เพราะคิดว่าเป็นโทษเพียงเล็กน้อย แม้ภิกษุนี้บำเพ็ญธรรมในป่าเป็นเวลา 20,000 ปี เมื่อใกล้มรณภาพก็รู้สึกเหมือนมีใบหญ้าตะไคร้น้ำพันคออยู่ อยากจะแสดงอาบัติ แต่ไม่เห็นภิกษุอื่น จึงเกิดความเดือดร้อนขึ้นว่าตนมีศีลไม่บริสุทธิ์ เมื่อละโลกแล้วได้ไปเกิดเป็นนาคชื่อ เอรกปัตตะ มีลำตัวประมาณเรือที่ทำจากไม้ซุงต้นหนึ่ง (เรือโกลน)
นิทานเรื่องที่ 2 ปลากปิละ หรือ ปลาเกล็ดทองปากเน่า
ปลานี้เคยเป็นภิกษุชื่อ กปิละ ในสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ภิกษุกปิละเป็นพหูสูต มีบริวารมาก ศึกษาปริยัติธรรมจนมีความชำนาญในหลักธรรม แล้วก็ได้สอนผู้อื่น เมื่อได้สอนพระภิกษุมากขึ้น ลาภสักการะก็มากขึ้น จนเกิดความทะยานอยากในลาภสักการะและกล่าวว่า สิ่งที่ไม่สมควรแก่สมณะเป็นเรื่องที่สมควรแก่สมณะ สิ่งที่สมควรแก่สมณะเป็นเรื่องที่ไม่สมควรแก่สมณะ และกล่าวถึงสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ กล่าวถึงสิ่งมีโทษว่าไม่มีโทษ พระกปิละได้ด่าบริภาษพวกภิกษุที่ไม่เชื่อคำกล่าวของตน ทำให้ต่อมาไปเกิดในอเวจีนรก แล้วก็มาเกิดเป็นปลา แต่ด้วยเหตุที่ภิกษุกปิละได้บอกพระพุทธวจนะ กล่าวสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้าสิ้นกาลนาน ทำให้ไปเกิดเป็นปลา มีเกล็ดสีเหลืองเหมือนทองคำ แต่ด้วยกรรมที่ได้ด่าบริภาษภิกษุผู้มีศีลทั้งหลายที่ไม่เชื่อคำตน จึงส่งผลให้มีกลิ่นเหม็นฟุ้งออกจากปาก
นิทานเรื่องที่ 3 พระเน่าใน มีอยู่ในอัคคิขันโธปมสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุจำนวนหนึ่ง หลังจากภิกษุเหล่านั้นฟังจบ บางรูปกระอักเลือดอุ่นๆ ออกมา เพราะมีศีลไม่บริสุทธ์ ละเมิดวินัยสงฆ์ อีกจำนวนหนึ่งลาสิกขา อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีศีลบริสุทธิ์ จิตหลุดพ้นจากกิเลส
ในท่ามกลางกระแสวิวาทะกรณี พระควรเลือกตั้งได้หรือไม่ ติ้นฉ่วยได้แสดงสารัตถะดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งแนวเรื่องเน้นไปที่การพิจารณาถึงความเหมาะสมของพระวินัยเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในบทส่งท้ายของเขา ได้กล่าวว่า อย่างไรเสียก็เป็นเรื่องของพระสงฆ์ที่จะพิจารณาเองว่าควรเลือกตั้งได้หรือไม่ โดยเรื่องที่เขายกมาแสดงนั้นเป็นตัวบทประกอบการพิจารณาวิวาทะดังกล่าว
ไม่มีบทสรุปจากชาดก
การรับฟังแต่ละเสียงท่ามกลางความอึกทึกสับสนของวัฒนธรรมและการแสดงออก เราจะสามารถรับรู้ถึงข้ออ้างของ ทั้งวิถีเสรีนิยมและอนุรักษนิยม
กรอบความคิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยังโต้แย้งกันอยู่ และโต้แย้งได้ เค้าโครงที่กำหนดขอบเขตของสงฆ์กับปฏิสัมพันธ์ที่สงฆ์มีต่อฝ่ายฆราวาส อย่างการเมืองหรือเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของการสร้าง ตีความ และตีความซ้ำ
“ไม่มีเหตุผลใดที่จะเลือกปฏิบัติต่อสงฆ์ในระบอบประชาธิปไตย” Amaël Vier จากอันเฟรล กล่าว