‘บุ้ง ทะลุวัง’ เสียชีวิต หลังอดอาหารเรียกร้องปฏิรูปศาล หยุดขังคนเห็นต่าง

เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ ผู้ต้องขังคดีการเมืองจากข้อกล่าวหา #ม112 ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อเวลา 11.30 น. ภายหลังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้แจ้งว่า บุ้ง ทะลุวัง มีอาการหัวใจหยุดเต้นในช่วงเช้าวันนี้ โดยให้การช่วยเหลือฉุกเฉินด้วยการปั๊มหัวใจ ก่อนส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

บุ้ง เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองวัย 28 ปี ถูกศาลอาญามีคำสั่งถอนประกันตัวในคดี ม.112 กรณีทำโพลสำรวจความเห็นเรื่องขบวนเสด็จ และศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งจำคุก 1 เดือน ในคดีละเมิดอำนาจศาล กรณีวิวาทกับ รปภ. และถูกจำคุกตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2567 เป็นต้นมา จากนั้นบุ้งได้เริ่มประท้วงด้วยการอดข้าวอดนํ้าเมื่อวันที่ 27 มกราคม เพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และขอให้หยุดคุมขังนักกิจกรรมที่เห็นต่างทางการเมือง รวมระยะเวลาอดอาหารทั้งสิ้น 109 วัน

บุ้ง เนติพร เป็นที่รู้จักในฐานะนักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มทะลุวัง เติบโตในครอบครัวตุลาการ โดยมีพ่อเป็นผู้พิพากษา พี่สาวเป็นทนายความ เคยเป็นติวเตอร์ โดยเริ่มสนใจการเมืองในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายและได้เข้าร่วมการชุมนุม กปปส. ในการขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 

บุ้งยอมรับว่า เธอเคยเป็น ‘สลิ่ม’ แต่เมื่อรับรู้ข่าวสารมากยิ่งขึ้นทำให้ ‘ตาสว่าง’ จากการค้นหาชื่อของคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 ว่าเขาผู้นั้นคือคนไร้บ้าน เธอจึงรู้สึกผิดต่อคนเสื้อแดงมาตลอด จนรู้สึกว่าต้องออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเริ่มจากประเด็นด้านการศึกษา ตั้งแต่กลางปี 2563 เช่น ประเด็นเรื่องทรงผมของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เนื่องจากตนเองเป็นติวเตอร์ จึงเห็นว่าระบบการศึกษาไทยนั้นล้าหลัง รวมทั้งได้เข้าร่วมม็อบกลุ่มนักเรียนเลว และกลุ่มทะลุวังในเวลาต่อมา 

บุ้งร่วมกับกลุ่มทะลุวัง เริ่มต้น ‘ทำโพล’ ตั้งคำถามที่ไม่เคยมีมาก่อนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งจากการสัมภาษณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า บุ้งคือผู้ออกไอเดียการทำโพลนี้ ภายหลังได้เข้าร่วมกับกลุ่มทะลุวังในฐานะผู้สนับสนุนกลุ่ม แต่ขณะนั้นยังไม่ได้เรียกตนเองอย่างเต็มปากว่า ‘บุ้ง ทะลุวัง’ แต่อย่างใด ต่อมามีการทำโพลขบวนเสด็จจนทำให้บุ้งต้องกลายมาเป็นผู้ต้องหาในคดี ม.112  

บุ้งเป็นที่จดจำของคนในสังคมจากกรณีการให้ความช่วยเหลือ หยก ธนลภย์ หรือ ‘หยก ทะลุวัง’ เพื่อให้สามารถเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ โดยอาสาเป็นผู้ปกครอง อีกทั้งทำกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มทะลุวังมาอย่างต่อเนื่อง และถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงวิธีการในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง โดยเฉพาะการบุกไปยังพรรคเพื่อไทย ระหว่างการแถลงข่าวพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคภูมิใจไทยในการจัดตั้งรัฐบาล จนก่อให้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า บุ้งได้เขียนพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหมดให้กับ หยก ธนลภย์ ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว

ในระหว่างถูกคุมขัง บุ้งได้เขียนจดหมายลงวันที่ 14 มีนาคม 2567 ระบุว่า จะขอสู้เพื่อต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงประเทศ ให้กระบวนการยุติธรรมของไทยนั้นมีความยุติธรรมอย่างแท้จริง แม้จะถูกตีตราว่าพวกตน (รวมถึงบุ้ง ตะวัน และแฟรงค์) เป็นเพียง ‘ไม้ซีกงัดไม้ซุก’ โดยช่วงหนึ่งระบุว่า “เพราะถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส บุ้งไม่ขอเป็นทาส ไม่ว่าจะชาตินี้หรือชาติไหน ขอตายอย่างที่เราได้เลือก ตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ซึ่งแสดงถึงความไม่ยอมแพ้ในการต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคมไทย   

อ้างอิง

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

จรณ์ ยวนเจริญ
มนุษย์ขี้กลัว ผู้ที่กำลังเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตอีกครั้ง ทาสหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า