Caravans (1978) คาราวานที่ไม่ไปไหน

มีหนังที่เราคาดว่าจะดีหลายเรื่องเมื่อนั่งดูแล้วรู้สึกว่าไม่ไปไหน เรื่องหนึ่งคือหนังเรื่อง Caravans (1978) สร้างจากหนังสือของ เจมส์ เอ. มิเชนเนอร์ (James Albert Michener) ผู้เขียนหนังสือระดับดีมากและขายดีหลายเล่ม อีกทั้งได้นักแสดงนำคือ แอนโทนี ควินน์ (Anthony Quinn) ที่มีผลงานระดับดีและดีเลิศมากมายจารนัยไม่หมด

แต่ใบหน้าของแอนโทนี ควินน์ในหนังเรื่องนี้ ชวนให้อ่านออกว่าเขาก็ไม่ค่อยรู้ตัวว่ากำลังแสดงหนังอะไรกันอยู่ สาเหตุสำคัญคือหนังไม่มีทิศทางและไม่ไปไหนนี่แหละ

ก่อนจะหาที่นั่งดูด้วยกัน ก็ต้องโฆษณาผู้เขียนก่อนคือ เจมส์ เอ. มิชเชนเนอร์ เขาเป็นนักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) ที่เขียนนวนิยายระดับมหากาพย์ไว้มากมาย แต่ละเล่มหนาเป็นนิ้ว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าของดินแดนต่างๆ บนโลก เช่น ตะวันตกของอเมริกา ฮาวาย อลาสกา เท็กซัส เม็กซิโก คาริบเบียน รวมทั้งอัฟกานิสถานในเรื่อง Caravans นี้ 

หนังสือของเขาถูกสร้างเป็นหนังหรือมินิซีรีส์มีชื่อเสียงหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือเรื่อง Hawaii (1959) ที่ผมเคยเขียนถึงเมื่อหลายเดือนก่อน อีกเรื่องที่เป็นมินิซีรีส์คือ Centennial (1974) ซึ่งผมเคยเขียนถึงเมื่อหลายปีก่อน   

นอกจากนี้มีอีกหลายเรื่องก็น่าดู แต่บางเรื่องพอสร้างหนังแล้วไม่ดีนัก เพราะเนื้อหามากมายในหนังสือไม่สามารถเขียนเป็นบทหนังที่ดีได้ง่ายๆ แต่ดูเหมือน Caravans เรื่องนี้จะหลงทางมากที่สุด

ต่อมาก็โฆษณานักแสดงนำคือ แอนโทนี ควินน์ เป็นนักแสดงที่มีผลงานมีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง หลายคนควรรู้จักเขาจากหนังเรื่อง The Guns of Navarone ( 1961) กับ Lawrence of Arabia (1962) ที่พลาดมิได้เลยคือหนังขาวดำเชิงปรัชญาปี 1964 เรื่อง Zorba the Greek น่าดูมาก   

แอนโทนี ควินน์ รับบทผู้นำชาวอาหรับในหนัง 2 เรื่องที่เรารู้จักกันดีคือ ออดา อาบูตายี ในลอว์เรนซ์แห่งอะราเบีย กับอีกเรื่องหนึ่งมีชื่อไทยว่า จอมจักรพรรดิโอมาร์มุกตาร์ (Lion of the Desert) ปี 1980 คนดูหลงลืมไปเลยว่าเขารับบทผู้นำชนเผ่าทะเลทรายในหนังเรื่อง Caravans  

ผมเคยอ่านหนังสือเรื่องนี้  เมื่อดูหนังก็เห็นจริงว่าแอนโทนี ควินน์ เป็นส่วนเกิน  เขายิ่งใหญ่เกินไปที่จะเล่นหนังเรื่องนี้

Caravans เป็นหนังปี 1978 กำกับโดย เจมส์ ฟาร์โก (James Franco) เล่าเรื่องเจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐอเมริกาชื่อมิลเลอร์ รับบทโดย ไมเคิล ซาราซีน (Michael Sarrazin) ได้รับคำสั่งให้ออกตามหาพลเมืองสหรัฐที่หายไป เธอชื่อ เอลเลน รับบทโดย เจนนิเฟอร์ โอนีล (Jennifer O’Neill) (ซึ่งงามมากเวลานั้น) เอลเลนเป็นภรรยาของนายพลนัสซูราฮ์นายทหารคนหนึ่ง (หนังมิได้ระบุชื่อประเทศ) ซึ่งไม่ชอบใจที่สถานทูตสหรัฐเข้ามายุ่งกับครอบครัวของเขา มิลเลอร์ติดตามเอลเลนไปในทะเลทรายหลายนาทีอย่างน่าเบื่อหน่าย (หมายถึงคนดู) จนกระทั่งพบว่าเธอติดไปกับชนเผ่าโคจิ (Kochi) ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายที่มีอยู่จริงๆ และยังคงอยู่ในศตวรรษนี้  

ปรากฏว่าเธอได้รับการต้อนรับอย่างดีจากหัวหน้าเผ่าคือ ซัลฟิการ์ รับบทโดย แอนโทนี ควินน์ ทั้งๆ ที่เธอผิวขาวผมทอง เธอบอกกับมิลเลอร์ว่าเธอมีความสุขดี มีเสรีภาพที่จะไปจากกองคาราวานนี้ได้ตลอดเวลา เธอสมัครใจอยู่เองมิได้ถูกลักพาตัว

เนื้อหามีเท่านี้ ที่เหลือฉายให้เห็นความเป็นอยู่ของขาวโคจิที่เลี้ยงแพะแกะและทอเสื้อ กับซับพล็อตเล็กๆ น้อยๆ กระจัดกระจาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องประเพณีและกฎหมายของโคจิ ซึ่งจริงหรือเปล่าก็ไม่ทราบ หลายเรื่องก็ดูแปลกๆ เหมือนฝรั่งผู้สร้างจะตีความเอาเอง เช่น ฉากทำโทษในที่สาธารณะ 2 ฉาก หรือบทบาทของบัณเฑาะก์คนหนึ่งซึ่งไม่มีที่มาที่ไป ที่ดูแปลกตาที่สุดคือ โคจิในหนังเป็นชนเผ่าที่ผู้หญิงแต่งกายมีสีสันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนางเอกเอลเลน เธอมีชุดลายดอกสวยงามใหม่ๆ สดใสรับกับผมสีทองได้ทุกวัน เรียกว่านั่งดูจนอดไม่ได้ต้องหารูปชาวโคจิในกูเกิลดู ก็พบว่าพวกเขาแต่งกายค่อนข้างมีสีสันจริงๆ ด้วย แต่ไม่ฉูดฉาดเท่าที่เห็นในหนัง   

ฉากเต้นรำก็จะเป็นอีกฉากหนึ่งที่ใช้เวลานานมากจนน่าแปลกใจ เมื่อนึกถึงฉากการรำของไทยหรือการเต้นของชนเผ่าต่างๆ ในแปซิฟิกที่ปรากฏในหนังฝรั่งหลายเรื่อง ก็อดระแวงไม่ได้ว่าหลายเรื่องก็เป็นฝรั่งคิดเอาเองหรือเปล่า นึกถึงหนังเจมส์ บอนด์ในบ้านเราก็จะเข้าใจ

ไคลแม็กซ์ของหนังไปอยู่ที่ซัลฟิการ์ลอบขนอาวุธให้แก่รัสเซีย แต่ถูกนายพลนัสซูราฮ์โจมตีในตอนท้าย เอลเลนถูกลูกหลงตาย มิลเลอร์กลับสถานทูตมือเปล่า แล้วเผ่าโคจิก็ออกเดินทางต่อไป จบ 2 ชั่วโมงไม่มีใครได้อะไรเลย หนังถ่ายทำในเขตอิหร่าน   

ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว จบด้วยการกลับไปที่เดิม

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า