เมื่อส่องกล้องไปยังกลไกรัฐราชการไทยที่ใช้จัดการกับโควิด-19 เราจะพบข้อบกพร่องอยู่ในทุกกระบวนการ จนน่าตั้งข้อสงสัยว่า รัฐไทยจะพาประชาชนฝ่าออกไปจากม่านวิกฤตินี้ได้อย่างไร หรือเมื่อผ่านไปแล้ว แต่ละคนจะต้องอยู่ในสภาพบอบช้ำมากแค่ไหน
งานศึกษามากมายชี้ตรงกันว่า ตลอดช่วงวิกฤติโควิด รัฐไทยออกมาตรการป้องกันและเยียวยาที่ ‘มองข้าม’ คนจำนวนมากไป กล่าวอีกนัยคือ รัฐมุ่งที่จะไปให้ถึงเป้าหมายในการลดจำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้ติดเชื้อ และพร้อมจะใช้ทุกวิถีทางโดยไม่คำนึงถึงมิติความเป็นมนุษย์ ด้วยวิธีคิดเช่นนี้เองจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนวิจารณ์ว่า รัฐบาลไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการรับมือกับโควิด
ไม่ว่าการประเมินผ่านคำว่า ‘สิ้นเชิง’ จะรุนแรงและเกินจริงหรือไม่ก็ตาม คงปฏิเสธได้ยากว่าการรับมือของรัฐไทยมีความบกพร่องอยู่มากมายหลายจุด ขณะเดียวกัน ความบกพร่องล้มเหลวนี้ยังเป็นไปโดยปราศจากความรับผิดชอบอย่างเห็นได้ชัด ทุกชีวิตที่สูญเสียล้วนได้รับผลกระทบและถูกมองข้าม ยากมากที่จะได้รับการเยียวยาทดแทนอย่างแท้จริง
“ผมคิดว่ากลไกของรัฐในการจัดการโควิด แตะตรงไหนมันก็โดนทั้งนั้น แตะเรื่องการสื่อสารก็โดน แตะเรื่องการเยียวยาก็โดน แตะเรื่องการควบคุมโรคก็โดน โดนหมด”
คำพูดของ ชัชชล อัจนากิตติ สะท้อนสภาวะดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน
ชัชชลเป็นนักวิชาการแห่งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) งานวิจัยหัวข้อ ‘ประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์และการใส่ใจดูแลท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19’ ที่ปรากฏชื่อเขาเป็นผู้จัดทำ คือหนึ่งในผลงานสำคัญที่สังคมไทยควรค่าแก่การรับรู้เข้าใจ เพราะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่จะต่อเติมความสมบูรณ์ของภาพปัญหาการจัดการวิกฤติของรัฐไทย และเป็นหนึ่งในผลงานที่ยืนยันว่า การบริหารภายใต้ระบบราชการไทยได้มองข้ามคนจำนวนหนึ่งไปอย่างไม่ไยดี
บทสนทนานี้ตั้งต้นจากงานวิจัยของเขา งานวิจัยที่เข้าไปศึกษา เก็บข้อมูล ทำความเข้าใจประสบการณ์และอารมณ์ความรู้สึกของบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มคนซึ่งปรากฏอยู่ในทุกจุดของระบบสาธารณสุข กลุ่มคนซึ่งเอาใจใส่ดูแลเรา แต่กลับไม่มีระบบใดสนับสนุนหรือใส่ใจพวกเขาเลย
“บุคลากรทางการแพทย์มักถูกมองในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เราจะเห็นเขาในฐานะคนที่ต้องมาดูแลเรา แต่เราไม่ค่อยเห็นหรอกว่าเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง อย่างเช่นเขาต้องพยายามขวนขวายหาความรู้ด้วยตัวเองเพื่อที่จะมารักษาคน เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่า มันเกิดอะไรขึ้น (วะ) เขาต้องพยายามที่จะหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อจะดูแลตัวเองและคนไข้ เขาต้องเผชิญกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย การพักผ่อนที่น้อยลง ค่าตอบแทนที่ไม่รู้จะเบิกจ่ายให้เขาได้เมื่อไหร่ ผมคิดว่างานชิ้นนี้พยายามที่จะเปิดมุมเหล่านี้ให้ทุกคนได้เห็นไปพร้อมกัน”
ข้อความข้างต้นคือแก่นของงานวิจัย ถัดจากนี้จะเป็นการพูดคุยเพื่อลงลึกในรายละเอียดที่ว่า “แตะเรื่องไหนก็โดน”
อะไรคือความหมายของ ‘การใส่ใจดูแล’ หรือ แคร์ (care) ในงานวิจัย มันคือความหมายเดียวกับที่เราใช้กันทั่วไปหรือไม่
มันมีทั้งความเหมือนและต่างครับ เวลาเราพูดว่าผมแคร์คุณ เราก็จะนึกถึงการเห็นอกเห็นใจคนที่ใกล้ชิดเรา ญาติพี่น้องเรา ทำให้เขารู้สึกดี ให้เขามีความสุข อะไรอย่างนี้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นความหมายที่เราสามารถเข้าใจได้ในความหมายทั่วไปเลย แต่ว่ามันก็อาจจะเป็นด้านที่สวยงามแต่เพียงด้านเดียว
สำหรับ ‘แคร์’ ในที่นี้ เป็นมุมมองทางสังคมศาสตร์ เป็นแนวคิดของกลุ่มนักมานุษยวิทยาการแพทย์ บุคคลหลักๆ ที่เสนอเรื่องนี้ชื่อ อาร์เธอร์ ไคลน์แมน (Arthur Kleinman) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน เขาพูดว่าในด้านหนึ่ง แคร์คือด้านที่เราพูดกันโดยทั่วไปว่าเราแคร์ใครสักคนหรือเราถูกแคร์โดยใครสักคน แต่ความเป็นจริงแล้วแคร์ยังเป็นปฏิบัติการเชิงศีลธรรม ซึ่งก็คือการลงมือทำ เพราะฉะนั้นแคร์จึงหมายถึงการที่เราเข้าไปทำอะไรบางอย่าง อย่างเช่นการเข้าไปดูแลผู้ป่วย สมมติญาติเราต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง และเราต้องไปเป็น caregiver ต้องเป็นผู้ดูแล ต้องหาข้าวให้เขากิน ต้องป้อนยาเขา เปลี่ยนแพมเพิร์ส คำว่าแคร์จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติ ไม่ใช่แค่คุณพูดว่าคุณแคร์ แต่มันต้องทำให้เห็น
คำว่าแคร์ ไม่ได้มีแต่ด้านสวยงามนะครับ มันยังเต็มไปด้วยความเครียด ความหนักอึ้งในการดูแล ถ้าหากว่าคุณต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะต้องแคร์ไปถึงเมื่อไหร่ อย่างเช่นคุณอาจต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นสิบปี มันจึงเต็มไปด้วยบททดสอบทางจิตใจและบทสอบทางร่างกาย แล้วก็ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล เพราะฉะนั้นแคร์จึงไม่ใช่เรื่องที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ หรือเพียงแค่ว่าคุณมีจิตใจดีงาม แต่เป็นเรื่องที่ว่าคุณมีเวลาไหม มีเงินไหม มีระบบสนับสนุนทางสังคมไหม เข้าถึงสวัสดิการไหม เพราะฉะนั้นแคร์จึงไม่ใช่เรื่องปัจเจก ไม่ใช่เรื่องฉันแคร์เธอ เธอแคร์ฉัน ไม่ใช่แค่นั้น แต่เป็นเรื่องของสังคม
อีกด้านหนึ่ง เวลาเราพูดถึงแคร์ ไคลน์แมนจะเรียกว่ามันเป็นปฏิบัติการทางศีลธรรมที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น เข้าใจความลึกซึ้งของชีวิตมากขึ้น ซึ่งก็จะดูโรแมนติกกับความเป็นมนุษย์อยู่บ้าง หรือค่อนข้างมนุษย์นิยมไปหน่อย แต่ก็จะมีนักมานุษยวิทยาการแพทย์ที่พยายามขยับขยายมุมมองว่า จริงๆ แล้วแคร์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์มาช่วย อย่างเช่นเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ท่อช่วยหายใจ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ในช่วงหนึ่งที่มีการพัฒนาระบบเทเลแคร์ (TeleCare) ขึ้นมา เพราะว่าในสังคมที่มีผู้สูงอายุเยอะๆ คนที่จะเข้าไปดูแลไม่สามารถรองรับไหว สุดท้ายก็ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
เราอาจจะเคยคิดว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เย็นชา มันไม่ warm (อบอุ่น) มัน cold (เย็นชา) ซึ่งเป็นคนละด้านกับแคร์ที่เรารู้สึกว่าโลกมนุษย์ต้องให้มนุษย์ดูแลกัน เทคโนโลยีพวกนั้นเป็นของสามานย์ แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย เทคโนโลยีหรือว่าวัตถุสิ่งของต่างๆ มันกลับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การดูแลใส่ใจของมนุษย์เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึง good care (การใส่ใจดูแลที่ดี) จึงหมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นไม่มีสูตรสำเร็จครับ มันแล้วแต่ว่าในพื้นที่ ในเวลา และบริบทนั้นๆ อะไรที่มาช่วยกันแล้วทำให้ good care เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นข้าวของ เป็นนโยบาย เป็นอารมณ์ความรู้สึก อะไรเหล่านี้มันเชื่อมกันหลายๆ อย่าง เพื่อจะ deliver (ส่งมอบ) ตัว good care และแคร์ก็เป็นสิ่งที่มี dynamic มาก เพราะถ้าคุณทำแบบหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง มัน good แต่พอสถานการณ์เปลี่ยน การเชื่อมโยงที่มันเคยมี มันก็อาจจะไม่ good แล้ว ดังนั้นคุณก็ต้องเปลี่ยนตาม
อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ อาเธอร์ ไคลน์แมน หันมาสนใจเรื่องแคร์
โจน ไคลน์แมน (Joan Kleinman) ภรรยาของเขาเป็นอัลไซเมอร์ระดับรุนแรง คือทั้งสองคนเป็นมานุษยวิทยาที่มีชื่อเสียงนะครับ มีงานสำคัญเยอะ ภรรยาของเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนศึกษา และเป็นนักวิชาการมาด้วยกัน ทำงานมาด้วยกัน จนถึงวันหนึ่ง โจนก็ค่อยๆ มีอาการอัลไซเมอร์ และเกิดภาวะสมองเสื่อม (dementia)
ภูมิหลังของ อาร์เธอร์ ไคลน์แมน เขาเป็นหมอ แล้วก็มาเป็นนักมานุษวิทยา เมื่อเขารับหน้าที่เป็น caregiver ให้กับภรรยา เขาก็เริ่มหันมาสนใจว่าแคร์แบบที่เขาถูกสั่งสอนมาในโรงเรียนแพทย์ แคร์ที่เพียงแค่ซักประวัติ จ่ายยาคนไข้ แล้วก็จบกันไป แคร์แบบนั้นไม่ใช่สูตรสำเร็จ และเมื่อเขาได้ดูแลภรรยาของเขาจริงๆ จึงเป็นสถานการณ์ที่ทำให้เขาได้รู้จักตัวเอง ได้รู้จักค้นหาความหมายของชีวิต ค้นหาว่าความเป็นมนุษย์คืออะไร
ไคลน์แมนบอกไว้ว่า ถึงที่สุดแล้ว public health care หรือแคร์ที่เขาถูกสั่งสอนมาในฐานะแพทย์ มันไม่ใช่แคร์ โรงเรียนแพทย์ไม่ได้สอนให้เขาแคร์ แต่เขามารู้จักจริงๆ ตอนที่ได้ดูแลภรรยา เขาก็เลยพยายามท้าทายระบบสาธารณสุขว่า หมอไม่เคยเข้าใจคำว่าแคร์ในมิติของความเป็นมนุษย์ ไม่มีศิลปะของการเป็นแพทย์ ศิลปะของการเป็นแพทย์ต้องมากกว่าความรู้เชิงเทคนิค
ตอนนี้กำลังจะมีหนังสือเล่มสำคัญของเขาฉบับแปลไทยนะครับ คือ The Soul of Care: The Moral Education of a Husband and a Doctor ชื่อไทยประมาณว่า จิตวิญญาณของการดูแล น่าจะออกปีนี้ล่ะครับ
ตัวคุณชัชชลเองมาสนใจเรื่องแคร์ได้อย่างไร
ตอนผมเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ ผมสนใจเรื่องมานุษยวิทยาการแพทย์ครับ แล้วผมก็ทำธีสิสเกี่ยวกับมานุษยวิทยการแพทย์ ผมได้อ่านงานของไคลน์แมน ผมคิดว่าถ้ามองแบบผิวเผิน แคร์เป็นเหมือนอะไรที่เรารู้จักมันนะ แต่จริงๆ มันอาจเป็นสิ่งที่เราต้องทำความรู้จักเพิ่ม ผมเลยคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่โรคระบาดเกิดขึ้น หรือเกิดภัยพิบัติอื่นๆ นอกจากโรคระบาด อย่างเช่นสถานการณ์สิ่งแวดล้อม หรือในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเจ็บป่วยทางจิตใจ ผมเลยรู้สึกว่าแคร์เป็นสิ่งสามัญที่น่าจะถูกทำความเข้าใจให้มากขึ้น และน่าจะนำมาช่วยเยียวยาอะไรกันได้ ผมก็เลยมาสนใจเรื่องแคร์
ประเด็นเรื่องแคร์ตอนนี้ ในกลุ่มคนที่สนใจทางด้านมานุษยวิทยาค่อนข้างขยับขยายมากขึ้น แล้วก็มีมุมมองใหม่ๆ มาคุยกันเยอะ อย่างในยุคเริ่มต้นของไคลน์แมนจะพูดถึงแคร์ระหว่างคนกับคน แต่พอมีสถานการณ์เรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะขยายไปถึงเรื่องการแคร์สิ่งมีชีวิตอื่น ทำให้คนหันมาสนใจว่าในกระบวนการทำฟาร์ม คุณแคร์พวกหมู วัว หรือพืช อะไรพวกนี้แค่ไหน มีการใช้ปุ๋ยเคมีอะไรบ้าง ผมคิดว่ามันเป็น issue ร่วมสมัยที่เราเคยคิดว่ารู้แล้ว แต่จริงๆ ยังเต็มไปด้วยความไม่รู้อีกมากมาย
ในไทยมีการศึกษาเรื่องแคร์ในมุมของมานุษยวิทยามากน้อยแค่ไหน
ก็พอมีนะครับ ส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดหมู่ของบุคลากรทางแพทย์ ในโลกที่มัน formal เวลาเรานึกถึงแคร์ อย่างเช่น caregiver คนที่คอยดูแลผู้ป่วยติดเตียงก็เริ่มมีแล้ว แต่ว่ายังไม่ค่อยมาก แต่เท่าที่ผมรู้ก็อาจจะจำกัดอยู่ในกลุ่มนักมานุษยวิทยา ถ้าในกลุ่มนักจิตวิทยา ผมไม่ทราบนะครับว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าในทางมานุษยวิทยาบอกได้เลยว่ายังไม่เยอะเท่าไหร่ แล้วก็ยังสนใจเฉพาะประเด็นคนกับคน
เวลาพูดถึงคำว่าแคร์ เรามักจะนึกถึงในมุมของการดูแลคนไข้ แต่งานที่คุณศึกษาคือ การดูแลคนที่ดูแลคนไข้อีกที ตรงนี้แตกต่างกันไหม
ใช่ครับ ก็มีความต่างกัน เพราะว่าบุคลากรทางการแพทย์หรือคนที่ทำหน้าที่ดูแลคนอื่น ส่วนใหญ่มักจะถูกมองข้ามไป เพราะเวลาเราพูดถึงแคร์ เราจะพูดถึงว่าคนไข้ควรจะได้รับการดูแลยังไง แต่คนที่เป็น caregiver มักจะถูกละเลย ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองก็ต้องเผชิญกับอะไรที่หนักหนาสาหัสเหมือนกัน
แคร์ในบุคลากรทางการแพทย์ ในช่วงก่อนเกิดกับหลังเกิดโควิดมีการเปลี่ยนแปลงไปไหม เพราะหมอบางรายอาจจะบอกว่าสิ่งที่เจอช่วงโควิดเป็นเพียงแค่การทวีคูณสิ่งที่เจออยู่แล้วในช่วงที่ยังไม่มีโควิด
ใช่ครับ ผมคิดว่าโควิดเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่รีดเอาทุกอย่างออกมา ไม่ว่าเรื่องดีหรือเรื่องเฮงซวย เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันไม่ต่างกันมาก แต่มันปรากฏอย่างชัดเจนและเข้มข้นในช่วงโควิด ยกตัวอย่างเช่น เรารู้อยู่แล้วว่าในระบบวัฒนธรรมองค์กรของสาธารณสุขไทยจะมีระบบต่ำสูงในทางวิชาชีพ เวลาคุณนึกถึงบุคลากรทางการแพทย์ คุณจะนึกถึงหมอ พยาบาล เภสัชกร ซึ่งเสียงของแต่ละวิชาชีพก็ไม่เท่ากัน หมออาจจะเสียงดังกว่าพยาบาล ทีนี้คนที่เราอาจจะไม่เคยนึกถึง อย่างเช่นนักเทคนิคการแพทย์ เขาก็เป็นคนที่เสียงไม่ดังเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่พอสถานการณ์โควิดถาโถมเข้ามา เขาก็ยิ่งถูกละเลย ทั้งที่งานของเขาสำคัญมาก เพราะเขาจะต้องเป็นคนแปลผลตรวจเพื่อจะบอกว่าในแต่ละเคสเป็น negative หรือ positive วันๆ หนึ่งเขาต้องตรวจเชื้อเป็นพันๆ ตัวอย่าง โดยที่เขาเองไม่สามารถพูดถึงค่าตอบแทนที่จ่ายไม่ตรงเวลา หรืองานที่หนักจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน เสียงของเขามันเหมือนกับพูดไปแล้วไม่มีใครได้ยิน ซึ่งเราก็รู้ว่า hierarchy (ลำดับศักดิ์) พวกนี้มันมีอยู่ แต่ถ้าไม่มีสถานการณ์มาบีบเราก็คงไม่เห็นหรอกว่ามันเข้มข้นหรือรุนแรงแค่ไหน
ในขณะเดียวกันแม้ว่าคุณจะเป็นหมอก็ตาม แต่ลำดับชั้นอาวุโสของความเป็นหมอก็มีผล อย่างเช่นถ้าคุณเป็นหมอที่เพิ่งจบใหม่ ไปใช้ทุนปีแรก ในโรงพยาบาลอาจจะมีหมอรุ่นพี่ ในช่วงโควิดแรกๆ เขาอาจจะบอกว่าให้คุณไปเป็นคน swap ในช่วงที่ชุด PPE ก็ยังไม่ค่อยจะมี ทำอะไรก็ยังไม่เป็น ในงานวิจัยของผมมีคนหนึ่งสะท้อนว่า เขาไม่เคยถูกเทรนให้ swap เขาต้องไปดูในยูทูบว่า swap ทำอย่างไร แล้วก็ให้ไปทำเลย หรือว่าให้เข้าเวร ควงงานอยู่อย่างนั้น
สุดท้ายเรื่องเหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีระบบสนับสนุน หรือระบบที่มีความเป็นมืออาชีพในเชิงวิชาชีพที่เท่ากัน แต่มันมีวัฒนธรรมของความเป็นไทยแทรกอยู่เสมอ ซึ่งเรามักจะมองไม่เห็นหรือไม่รู้สึก จนกระทั่งโควิดเข้ามา สิ่งเหล่านี้มันทำงานชัดเจน เข้มข้น แล้วก็ส่งผลต่อสถานภาพของระบบสาธารณสุขในการรับมือกับโรคระบาด
เหล่านี้เป็นภาพลบๆ ด้านที่เป็นภาพบวกๆ ก็มีเหมือนกัน
ภาพบวกๆ ที่ว่าเช่นอะไรบ้าง
อย่างเช่นความเป็นไทยที่รู้สึกว่าเราเป็นคนมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือกัน อะไรทำนองนี้ ซึ่งในแง่นี้ถือว่าช่วยได้ในตอนแรก ตอนแรกเราจะเห็นภาพบุคลากรทางแพทย์เป็นผู้เสียสละ เป็นฮีโร่ หรือมีบางคนที่รู้สึกว่าเราเป็นรุ่นพี่ เราต้องช่วยรุ่นน้อง เราจะไม่ทอดทิ้งเขา แต่ว่าอะไรก็ตามที่ถูกวางอยู่บนปัจเจกแบบนี้ พอถึงจุดหนึ่งมันก็ไม่ไหว เพราะสถานการณ์โควิดมันไม่แน่นอน แล้วก็ยาวนาน คุณจะเป็นฮีโร่ตลอด 3 ปี ไหวหรือ ผมว่าเป็นฮีโร่ได้ประมาณเดือนหนึ่งก็ล้าแล้วนะ ซึ่งก็เป็นความปกติของมนุษย์ เราจะไปโยนภาระให้คนต้องเสียสละ หรือจะไปเรียกร้องกับเขาแบบนี้ไปตลอดไม่ได้
หมายความว่ามิติทางวัฒนธรรมหรือความเป็นไทย มีผลต่อการรับมือโควิดอยู่ไม่น้อย?
ผมคิดว่าใช่ แต่ขณะเดียวกัน ในการรับมือกับโควิดกลับเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง ไม่ค่อยถูกนำเสนอ หรือไม่ค่อยถูกทำความเข้าใจมากนัก เรามักจะสนใจกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การค้นพบยาหรือวัคซีนนู่นนี่ หรือว่าเทคนิคอะไรต่างๆ ซึ่งก็ถูกต้องและเป็นสิ่งที่จำเป็นเหมือนกัน แต่ว่าความรู้แบบนั้นเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอที่จะจัดการกับสถานการณ์ ต้องอาศัยความเข้าใจในเชิงสังคมศาสตร์ วัฒนธรรม หรืออะไรอื่นๆ อีกมากมาย เพราะต่อให้คุณผลิตวัคซีนมาดีแค่ไหน แต่คนไม่เชื่อ ไม่อยากฉีด หรือปฏิเสธวัคซีนบนความเชื่อหรือความแตกต่างทางวัฒนธรรม การผลิตสิ่งของเชิงเทคนิคเหล่านั้นก็อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดจำนวนมาก ชี้ว่าระบบราชการไทยมีปัญหา ในงานของคุณพอจะเห็นอะไรแบบนั้นไหม
ผมว่ามันก็ชัดเจนนะครับ ถ้าให้ยกตัวอย่าง บุคลากรที่ทำงานด่านหน้าแล้วก็ทำงานกับชุมชน ด้านหนึ่งเขาก็เป็นผู้รับนโยบายจากส่วนกลางมาทำงาน เพราะฉะนั้นถ้าส่วนกลางมีความไม่ชัดเจนในการสื่อสารหรือการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ก็จะทำให้คนที่ทำงานกับประชาชนในด่านหน้าทำงานยากมาก อย่างกรณีวัคซีนในช่วงแรกๆ ที่เป็นซิโนแวค (Sinovac) ก็จะให้ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) เข้าไปเชิญชวนทุกคนในชุมชนให้มาฉีด ทีนี้ถ้าพอนึกออก ตอนนั้นความไว้ใจของประชาชนต่ำมาก แต่ที่เขายอมมาฉีดเพราะเขาเชื่อใจเจ้าหน้าที่ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) เชื่อใจ อสม. เพราะมองว่าเป็นคนในชุมชนตัวเอง คนพวกนี้มีความปรารถนาดีกับเรา ดูแลเรามานาน อยู่ด้วยกันมานาน
ทีนี้พอนัดไปฉีดปุ๊บ วันที่บอกว่าวัคซีนจะมา กลับไม่มา แล้วก็เลื่อนไป เลื่อนไปไม่รู้ถึงเมื่อไหร่ ความไว้วางใจที่เคยเป็นจุดแข็งของภาคสาธารณสุขพื้นฐานในระดับชุมชนจึงถูกบั่นทอนไปด้วยความไม่ชัดเจน และความไม่แน่นอนจากการบริหารของรัฐราชการส่วนกลาง คือความไว้วางใจนั้นสร้างยาก แต่ทำลายง่ายนะครับ แล้วกว่าจะฟื้นคืนกลับมา ผมว่าน่าจะยากกว่าการทำลายอีก
การที่ทรัพยากรกระจุกตัวอยู่ที่รัฐส่วนกลาง ความโปร่งใส และการตรวจสอบต่ำ มี democratic accountability ต่ำ democratic legitimacy ต่ำ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลมากต่อการจัดการและการบริหารราชการระดับพื้นที่ของบุคลากรทางการแพทย์
ประเทศไทยในอดีตเคยได้รับการยกย่องว่ามีประสิทธิภาพในการรับมือโรคระบาด อย่างโรคซาร์ส (SARS) ซึ่งตอนนั้นก็อาศัยระบบราชการไทยเช่นกัน แต่พอมาเจอโควิดกลับล้มเหลว จุดนี้น่าจะสะท้อนว่ามีปัจจัยอย่างอื่นมากไปกว่าระบบราชการด้วยไหม เช่น ผู้บริหารประเทศ ณ ขณะนั้น
ผมคิดว่าใช่ครับ กรณีซาร์สผมอาจไม่ค่อยรู้ข้อมูลเท่าไรนัก แต่ซาร์สกับโควิดความรุนแรงก็ไม่เท่ากัน การเรียกร้องในการรับมือก็คงจะไม่เหมือนกัน ผมอาจพูดเรื่องซาร์สไม่ได้ แต่โควิดชัดเจนครับว่ามันเริ่มมาจาก democratic accountability นี่แหละ คือกลไกในการแสดงความรับผิดรับชอบในระบอบประชาธิปไตยมันต่ำ เพราะความยึดโยงกับประชาชนมีน้อย ถ้าพูดตรงๆ ก็คือ รัฐบาลชุดนี้สืบทอดมาจากการรัฐประหาร เพราะฉะนั้นการยึดโยงกับประชาชนและกลไกในการตรวจสอบจึงต่ำ ความชอบธรรมก็ต่ำ สิ่งที่เขาพยายามรักษาคืออำนาจ แต่อำนาจนั้นไม่ได้วางอยู่บนความไว้วางใจของประชาชนหรือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
พอจะพูดได้ไหมว่า pain point ของปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์ เป็นเพราะว่าเราไม่เป็นประชาธิปไตย
อาจพูดอย่างนั้นก็ได้ครับ แต่ถ้าพูดในทางวิชาการก็คือเรื่องนี้แหละครับ democratic accountability กลไกของการเข้ามาสู่อำนาจรัฐ และกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มันไม่ค่อยยึดโยงกับประชาชน เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจึงไม่ได้มีประชาชนเป็นที่ตั้ง อย่างเช่นเรื่องวัคซีน ทำไมถึงเกิดความรู้สึกว่ามันไม่ใช่วัคซีนของประชาชนขึ้นมาได้ล่ะ มันเป็นสิ่งที่ไม่เมคเซนส์ที่จะเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย
อีกประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากคือ มาตรการต่างๆ ที่ออกมามักตั้งอยู่บนฐานความรู้ทางการแพทย์อย่างเดียว แต่ไม่คำนึงถึงมิติอื่นๆ ทางวัฒนธรรมและสังคม?
ใช่ครับ อย่างเช่นถ้าเราไปดูกลุ่มเปราะบาง จะพบว่าเขามีเงื่อนไขชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจ หรือต้นทุนของชีวิตที่ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจความแตกต่างหลากหลายในเงื่อนไขชีวิตของผู้คน นโยบายที่วางอยู่บนความรู้เชิงเทคนิคทางการแพทย์เพียงเดียวก็คงไม่สามารถจัดการโรคระบาดได้อย่างครอบคลุม เพราะว่าถ้าคุณเป็นคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ คุณถูกกักตัวแล้วเอาอะไรกิน เพราะฉะนั้นความเข้าใจชีวิตทางสังคมของผู้คนจึงต้องมาควบคู่กันกับมาตรการควบคุมโรค
ดูเหมือนว่าปัญหาจะย้อนกลับไปยังประเด็นที่ว่า โรงเรียนแพทย์เองก็ยังไม่รู้จักคำว่าแคร์ ในความหมายที่ลึกกว่านั้น
ใช่ครับ คือเป็นทั้งปัญหาในทางสาธารณสุขไปพร้อมๆ กับเป็นปัญหาของประเทศไทยในการจัดการนโยบายต่างๆ ผมคิดว่าการใช้ความรู้ทางสังคมศาสตร์ในการกำหนดนโยบายอาจจะน้อยไปหน่อย
ในงานวิจัยของคุณเสนอให้ต้องมีระบบการใส่ใจดูแลที่ยืดหยุ่น (resilience) ความหมายของมันคืออะไร
ถ้าเราย้อนกลับไปดูความหมายของแคร์ มันไม่ได้มีสูตรสำเร็จว่าแคร์ที่ดีต้องเป็นหนึ่ง สอง สาม สี่ คุณต้องทำแบบนี้ ไม่ใช่ แต่แคร์ที่ดีต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และพลวัตของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่นในช่วงแรก แคร์ที่ดีอาจจะเป็นการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการในการควบคุมการเข้าออกของคน มาตรการเข้าพื้นที่ มาตรการส่งเสริมให้เข้าถึงหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ดังนั้น ในช่วงแรกๆ แคร์ที่ดีคือการป้องกันได้ดี
แต่พอช่วงป้องกันเราพลาด หรือเราอาจจะบอกว่าทุกประเทศก็ป้องกันไม่ไหวเพราะมันรุนแรงเหลือเกิน มันเป็นเรื่องของการรักษาแล้ว เพราะฉะนั้นแคร์ที่ดีในการรักษาคืออะไร คือการเข้าถึงระบบสาธารณสุข การใส่ท่อช่วยหายใจ การมีเตียงที่เพียงพอ การสร้างโรงพยาบาลสนาม ดังนั้น แคร์จึงมีพลวัตยืดหยุ่นไปพร้อมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ถ้าเราย้อนกลับมาดูการรับมือในระบบสาธารณสุขไทยจะพบว่ามันปรับตัวตามสถานการณ์ช้า ทำให้ระบบเสียหายไปเยอะ
ถ้าเราย้อนไปดู ความเข้มแข็งที่เข้ามาซัพพอร์ตระบบของรัฐก็คือภาคประชาชน ภาคเอกชน อย่างเช่น การเกิดขึ้นของ ‘กลุ่มเส้นด้าย’ (อาสาสมัครภาคประชาชน) แปลว่าอะไร แปลว่ากลไกของรัฐปรับตัวช้า หรือมีบางคนที่บอกว่ารัฐพังไปแล้ว กลับกลายเป็นประชาชนน่ะต้องช่วยเหลือกันเอง มีกลุ่มเส้นด้าย กลุ่มประชาชนช่วยเหลือกันเอง หรือว่าชมรมแพทย์ชนบทที่เกณฑ์หมอจากต่างจังหวัดเข้ามาไล่ตรวจ ไล่ swap ชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ
ความยืดหยุ่นที่เราคุยกัน มันเป็นคล้ายๆ ความสามารถในการรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ ไม่ใช่การให้บุคลากรไปด้นสดที่หน้างานแล้วบอกพวกเขามีความยืดหยุ่น
ความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์คือสิ่งที่รัฐราชการไทยขาดแคลนใช่ไหม
ใช่ครับ ความยืดหยุ่นต้องวางอยู่บนความต่อเนื่องด้วยนะครับ หมายความว่าคุณต้องประเมินและตอบสนองสถานการณ์ในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็ต้องประเมินสถานการณ์ในอนาคตไปพร้อมๆ กันว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วในสถานการณ์ที่ถูกปัจจัยภายนอกอย่างโควิดถาโถมเข้ามา คุณมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวแค่ไหน เร็วแค่ไหน หรือกลับมาแข็งแรงได้ในระดับไหน
เหมือนช่วงที่เราโดนสึนามิน่ะครับ ทุกอย่างในชุมชนที่พังงาราบเป็นหน้ากลอง แต่ว่าเขาจะฟื้นตัวกลับมาได้แค่ไหน เขาจะมีศักยภาพกลับมาได้แค่ไหน แต่กลับมาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงกลับมาเหมือนเดิมนะครับ เวลาเราพูดถึง resilience บางทีเราอาจจะนึกถึงกลับมาอยู่ในสภาวะเดิม แต่จริงๆ resilience ที่ผมหมายถึงคือ bouncing forward (กระดอนไปข้างหน้า) หมายความว่า คุณไม่จำเป็นต้องกลับมาเหมือนเดิม เราไม่ได้โหยหาสิ่งที่ดีในอดีต แต่เราต้องสร้างสถานการณ์ที่เราต้องเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกับอนาคตที่ไม่แน่นอน นี่เป็นโจทย์สำคัญของสังคม
โควิด-19 ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี พอจะเห็นการปรับปรุงของราชการไทยบ้างไหม
ถ้ามองบนงานวิจัยที่เก็บข้อมูลมา ผมคิดว่าค่อนข้างสิ้นหวัง เพราะ resilience ต้องวางอยู่บน trust (ความเชื่อใจ) และแคร์ ก็คือว่าถ้าเราแคร์กันมากพอ เรามีศักยภาพที่จะส่งมอบความเอาใจใส่ที่ดี แล้ว trust ก็จะเกิดตามมา ถ้าระบบสาธารณสุขมีทรัพยากรเพียงพอ มีการจัดการอย่างดี ช่วยเหลือคนได้ทั่วถึง คนที่ป่วยก็หายป่วย คนที่จะตายก็ไม่ตาย คนที่ยังไม่ป่วยก็แข็งแรง ฉะนั้นถ้าคุณมีแคร์ที่ดี สิ่งที่จะได้ตามมาคือ trust แล้วองคาพยพทั้งหมดที่อยู่บนความไม่แน่นอน ก็จะเกิดความยืดหยุ่น เกิดการปรับตัว แล้วจะเข้มแข็ง
แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าการ deliver care ยังไม่ดีพอที่จะรักษา trust เอาไว้ ไม่ใช่แค่รักษา trust ไว้ไม่ได้นะ คุณยังจะทำให้มันพังพินาศไปอีก มันทำให้เกิด distrust (ความไม่เชื่อใจ) ตั้งแต่ข้างล่างเลย ประชาชนไม่เชื่อว่าระบบสาธารณสุขชุมชนจะดูแลเขาได้ ถูกตั้งคำถาม เขาต้องพยายามหาคนรู้จักที่เป็นหมอ หรือใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเพื่อที่จะเข้าถึงแคร์ คือระบบมัน provide (จัดหา) แคร์ไม่ได้ ก็เลยทำให้แคร์เกิดขึ้นผ่านสายสัมพันธ์ส่วนบุคคล แล้วแต่คุณจะรู้จักหมอไหม หาเตียงได้ไหม อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคนยัง trust คนกันเองอยู่ แต่คนไม่ trust ระบบแล้ว ระบบไม่สามารถทำให้คน trust ได้ ตั้งแต่ล่าง กลาง ไปจนถึงบน
แล้วยิ่งคุณอยู่ข้างบน คุณยิ่งห่าง อย่างที่ผมบอกว่าแคร์เป็นเรื่องของการเจอกัน ปฏิบัติต่อกัน ยิ่งคุณอยู่ข้างบน คุณห่างจากประชาชนอยู่แล้ว แล้วคุณยังไม่สามารถปรากฏตัวหรืออยู่ที่นั่นกับเขาได้อีกมันก็ยิ่งหนัก อีกคอนเซปต์สำคัญว่าด้วยแคร์ คือสิ่งที่เรียกว่า presence แปลว่าการปรากฏตัว การปรากฏในความหมายของแคร์ก็คือ คุณอยู่ที่นั่น คุณอยู่ที่นั่นกับคนที่คุณดูแล คุณทำให้เขารู้สึกว่ามีคุณอยู่เคียงข้างเขา คุณพร้อมจะเผชิญความทุกข์ยากไปกับเขา อันนี้แหละคือ presence
ถามว่ารัฐไทยอยู่ตรงไหน รัฐไทยปรากฏก็จริง แต่ไม่อยู่กับคน มันเหมือนคุณไปหาหมอที่ห้องตรวจ คุณเห็นหมอปรากฏใช่ไหม ซึ่งหมอที่แคร์เขาจะอยู่กับคุณ แต่กระบวนการแคร์ในสถานการณ์โควิดของไทย คุณบอกได้ไหมว่ารัฐไทยอยู่กับคุณบ้างไหม หรือเขาอยู่แค่ในทีวี เขาแค่ปรากฏให้เห็น แต่เขาไม่อยู่กับเรา เมื่อเป็นแบบนี้ presence จึงไม่เกิด ยิ่งในระดับล่างที่ห่างออกไปก็ยิ่งเลือนรางจางหาย หรือไม่ปรากฏอยู่เลย
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะย้อนกลับไปแก้ ผมว่าค่อนข้างยากนะ เพราะว่า trust พังไปเยอะ มันอยู่ในสภาวะ distrust ด้วยซ้ำ ประชาชนไม่เชื่อว่า หนึ่ง-คุณมีความปรารถนาดีต่อเราจริง สอง-ประชาชนไม่เชื่อว่าคุณมีศักยภาพที่จะทำสิ่งนั้น สาม-คุณไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ คงเส้นคงวา สิ่งเหล่านี้ทำให้ความไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นอย่างชัดเจน
ถ้าเราจะฟื้นความไว้วางใจ ต้องฉีดแคร์เข้าไปเพื่อให้เกิด trust ขึ้นมา ข้อสงสัยก็คือ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดในสังคมที่ควรจะต้องหันมาสนใจเรื่องแคร์เป็นอันดับแรก
ในสถานการณ์โควิด ผมคิดว่าน่าจะเป็นคนมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ซึ่งไม่ได้หมายความแค่รัฐบาลส่วนกลางอย่างเดียว ยังหมายถึงอย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงเรียนแพทย์ อะไรเหล่านี้ คนที่จะมี intervention (การข้องเกี่ยว) ต่างๆ กับประชาชน กับผู้ป่วย ถ้ามีโอกาสอาจจะลองมาสนใจประเด็นเหล่านี้ดู ลองมาดูว่าภายใต้อำนาจหรือศักยภาพที่พวกเขามี เขาจะสามารถ deliver good care ในระดับที่เขารับผิดชอบได้แค่ไหน
แต่อันนี้ต้องบอกก่อนนะครับว่า เราคงไม่สามารถเหมารวมได้ว่า ในสังคมไทยไม่มีหน่วยงานไหนเลยที่ deliver good care ไม่ได้ มันมีแน่นอน อย่างเช่นที่ จะนะ สงขลา เป็นต้น ซึ่งอันนี้น่าสนใจ เราน่าจะเข้าไปถอดบทเรียนความสำเร็จได้ น่าเข้าไปดูความสำเร็จที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ว่าที่เขา deliver good care ออกมาได้ภายใต้เงื่อนไขของเขาได้ เป็นเพราะอะไร เขาทำอย่างไร คนที่ทำได้ดีแล้วก็ดีมากครับ ส่วนคนที่คิดว่ายังปรับปรุงได้อีก หรือควรจะทำความเข้าใจต่อคำว่าแคร์มากขึ้น ก็อาจจะเพิ่มเติมมากกว่านี้ได้ ผมคิดว่าก็น่าจะดี
เท่าที่ได้ประมวลงานวิจัยที่เกี่ยวกับโควิด-19 ดูเหมือนว่าการจัดการของรัฐไทยมีปัญหาทุกข้อต่อเลย?
ใช่ครับ เราต้องเข้าใจว่าในแต่ละด้านมันเชื่อมถึงกันหมด ถ้าคุณสื่อสารไม่ดี คนที่เอานโยบายไปดูแลชาวบ้านก็แย่ แต่ถ้าย้อนกลับมาพูดอย่างนามธรรมสักหน่อย คือถ้าสร้างกลไกที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผมคิดว่าอันนั้นแหละคือจุดเริ่มต้น
โอเค คุณอาจยังมีระบบที่ยังเฮงซวยอยู่นะในการจัดการกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร การเยียวยา หรือเรื่องอะไรก็ตาม แต่ถ้าคุณมีฐานของความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถส่งเสียงเข้าไปแล้วถูกรับฟัง ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานการณ์มากขึ้น ประชาชนไม่ถูกมองว่าเป็นแค่คนที่รอการเยียวยา รอการจัดการผลกระทบ ถ้ามันมีลักษณะที่เปิดกว้างต่อการมีส่วนรวม ทั้งในแง่ของการส่งเสียง หรือการเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติการอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหา ผมคิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ปัญหายิบย่อยต่างๆ จะถูกแก้ไขให้ลุล่วงมากยิ่งขึ้น
มองในแง่โครงสร้างทางการเมืองการปกครอง เราจะเห็นว่าพอมีโควิดระบาดอย่างรุนแรง สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการสถานการณ์ ซึ่งตรงนี้ทยอยเกิดขึ้นในทุกๆ จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมาเป็นคล้ายๆ ผู้บัญชาการสถานการณ์ หรือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มาเป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ หรือว่ามีคุณหมอคนนู้นคนนี้ที่อาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ มาร่วมกันบริหารจัดการสถานการณ์ เราพบว่าคุณให้อำนาจเขานะ แต่ทรัพยากรมันไม่มาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำลังคน เรื่องงบประมาณ เรื่องวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
ในช่วงโควิดที่ชุมชนท้องถิ่นช่วยเหลือจัดการกันเอง ถ้าเรามองในแง่ดี อย่างน้อยก็ยังดีที่มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น แต่ถ้ามองในแง่ร้าย อาจตั้งคำถามได้ว่า เขาแค่ปัดความรับผิดชอบหรือเปล่า คือมองได้สองแง่ เพราะรัฐไทยที่ยังรวมศูนย์ ความรับผิดชอบในทางประชาธิปไตยต่ำ ความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยต่ำ มันส่งผลอย่างรุนแรงต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา