- ในปี 2551 ในขณะที่มีอายุ 44 ปี ชัยวัฒน์ได้รับมอบหมายดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
- ปี 2554 ภายใต้ปฏิบัติการ ‘ยุทธการตะนาวศรี’ โดยการสนธิกำลังทั้งตำรวจและทหาร บุกทำลาย-เผาที่พักยกหมู่บ้านบางกลอย จำนวน 98 หลัง ชาวบ้านต้องหนีไปอยู่ในป่า ก่อนที่จะทยอยเดินเท้าลงมาอาศัยที่บ้านบางกลอยล่าง
- ปี 2555 ชัยวัฒน์ตกเป็นข่าวอีกครั้งในเหตุการณ์เผานั่งยางช้างป่าเพื่อเอางา โดยจับผู้ต้องหาได้ 5 คน ประกอบด้วยลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ชัยวัฒน์ใช้ตำแหน่งยื่นประกันตัว ปฏิเสธไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น
- 17 เมษายน 2557 มีผู้พบเห็นบิลลี่ถูกชัยวัฒน์ ซึ่งในตอนนั้นเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไว้ในฐานครอบครองน้ำผึ้งป่า ในเดือนเดียวกัน ชัยวัฒน์ยอมรับว่าควบคุมตัวนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ หลานชายปู่คออี้ ฐานครอบครองน้ำผึ้งก่อนสูญหายไป
- ชัยวัฒน์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าชุดปราบปรามเฉพาะกิจของกรมอุทยานฯ ‘หน่วยฯ พญาเสือ’ บุกตรวจค้นบ้านพักนายสมัคร ดอนนาปี ซึ่งปลูกอยู่บนยอดเขามิสก๊อก หมู่ 3 บ้านประดาง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก โดยกล่าวหาว่านายสมัคร สร้างบ้านบุกรุกป่าประมาณ 4 ไร่ จนนำไปสู่การฟ้องร้องกันหลายคดี
- ปี 2561 ระหว่างเป็นที่ปรึกษาหน่วยฯ พญาเสือ ชัยวัฒน์เริ่มเป็นที่สนใจขึ้นอีกครั้ง หลังทีมพญาเสือ สืบค้นพยานหลักฐานจนนำไปสู่คำพิพากษาบนชั้นศาลคดี ‘เปรมชัย’ ในปีถัดมา
“ผมพิทักษ์ป่า ยืนสู้กันแบบไม่รู้อะไรเลย สื่อก็เห็นว่าเราได้รักษาผืนป่า แต่คนบางคนเห็นว่าเราไปเหยียบเท้าคนอื่น ก็ไม่เป็นไร วันนี้กระบวนการยุติธรรมเริ่มต้น ผมก็จะต่อสู้เปิดหน้าชนแล้ว”
ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ให้สัมภาษณ์ภายหลังได้รับการประกันตัวจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในคดีการหายตัวไปของ นายพอละจี รักจงเจริญ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ท่าทีและแววตาของเขาระหว่างการให้สัมภาษณ์ ผลักให้ตนกลายเป็นผู้ถูกใส่ความ ด้วยประโยคที่บอกว่า “มีเกมอยู่เบื้องหลัง”
“ก็ชัดอยู่แล้ว ผมทำคดีใหญ่ๆ ทั้งนั้น ผมจับใครบ้าง คดีใหญ่ๆ มีใครบ้าง หรือระดับสูงๆ ที่มีเอี่ยวอยู่ สุดท้ายกลับมาลงเอยที่ผม ถ้าไม่มีผม ทรัพยากรคงช่วงชิงเอาไปได้เยอะ”
ประโยคนี้ของชัยวัฒน์น่าสนใจ “ผมจับใครบ้าง คดีใหญ่ๆ มีใครบ้าง หรือระดับสูงๆ ที่มีเอี่ยวอยู่”
ประโยคนี้ของชัยวัฒน์ นำมาสู่คำถามที่ต้องหาคำตอบ
2551
ในขณะที่มีอายุ 44 ปี ชัยวัฒน์ได้รับมอบหมายดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นพื้นที่ที่ถูกกล่าวขานถึงความซับซ้อนของสภาพปัญหา แนวเขตแดนที่ติดกับประเทศพม่า และมีชุมชนอาศัยอยู่ในป่า
ก่อนหน้านั้น ในปี 2539 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ย้ายชาวกะเหรี่ยง 57 ครอบครัว 391 ชีวิต จากป่าใหญ่ใจแผ่นดินมาอยู่บนที่ดิน-ที่ทำกิน ที่ต่อมาถูกเรียกว่า ‘บ้านบางกลอยล่าง’ อุทยานฯ รับปากจะจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้าน แต่ไม่สามารถทำได้อย่างที่ให้สัญญาไว้ ชาวบ้านจึงทยอยกันหนีกลับไปอยู่บ้านเดิมที่ป่าใหญ่ใจแผ่นดิน
2553
ชัยวัฒน์ริเริ่มโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนบ้านโป่งลึก-บางกลอยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับงบประมาณจากสำนักคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลังพบว่าโครงการช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ก่อนหน้านี้ได้ยุติลง พร้อมๆ กับการดำเนินการ ‘ยุทธการตะนาวศรี’
รายงานข่าวของสำนักข่าว The Reporters ระบุว่า ในปี 2553 อุทยานฯ ได้ผลักดันชาวบ้านอีก 2 ครั้ง โดยได้ทำรายงานเสนอไปยังผู้บริหารกรมอุทยานฯ ว่า มีชนกลุ่มน้อยบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า เพื่อปลูกพืชไร่และอาศัยที่ทำกินอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุเนื่องจากชนกลุ่มน้อยเห็นว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวดในการดำเนินการ ไม่ได้ใช้มาตรการเด็ดขาด จึงอพยพเข้ามาอยู่กันเพิ่มขึ้นจนเมื่อมีการบินตรวจสอบสภาพป่าและการเดินลาดตระเวนเดือนเมษายน 2554 พบว่า บริเวณชายแดนไทย-พม่ามีชุมชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงอพยพเข้ามาหลบซ่อน ปลูกพืชไร่ในพื้นที่ป่ามากกว่าเดิม
รายงานข่าวของสำนักข่าว The Reporters
2554
ปีถัดมา ภายใต้ปฏิบัติการ ‘ยุทธการตะนาวศรี’ โดยการสนธิกำลังทั้งตำรวจและทหาร บุกทำลาย-เผาที่พักยกหมู่บ้านบางกลอย จำนวน 98 หลัง ชาวบ้านต้องหนีไปอยู่ในป่า ก่อนที่จะทยอยเดินเท้าลงมาอาศัยที่บ้านบางกลอยล่างจนถึงปัจจุบัน
ยุทธการตะนาวศรี ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังถูกนำไปผูกโยงกับเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของทหารตกติดต่อกัน 3 ลำ ในป่าลึกของแก่งกระจานในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งสื่อมวลชนเสียชีวิต 17 ราย
ชัยวัฒน์ได้นำกำลังเข้าช่วยเหลือกู้ศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 17 คน และด้วยบุคลิกความเป็นผู้นำ ที่นำกำลังกู้ศพผู้เสียชีวิตด้วยตัวเองเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใต้บังคับบัญชาจนทำให้ภารกิจสำเร็จลงด้วยดี ทำให้ชัยวัฒน์ได้การยอมรับนับถือเป็นอย่างมากจากผู้ใต้บังคับบัญชา และได้รับการยกย่องจากคนไทยทั่วประเทศ เขาได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประจำปี 2554 จากวีรกรรมในครั้งนั้น
บางส่วนจากบทความ ส่องเส้นทางชีวิต ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ แห่งเมืองคนดุ
ภาสกร จำลองราช ระบุถึงเหตุการณ์เดียวกันนี้ในสำนักข่าว The Reporters ว่า เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเหตุที่ใช้อ้างในการเปิดยุทธการตะนาวศรี และผลที่ได้รับจากปฏิบัติการในครั้งนั้น ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ในป่าแก่งกระจาน สุดท้ายกลายเป็นประเด็นที่คณะกรรมการมรดกโลกตั้งคำถามและเป็นเหตุให้ผืนป่าแห่งนี้ยังไม่ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกโลก
“ข้อกล่าวอ้างเรื่องกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาหลบพักในพื้นที่ใจแผ่นดิน ซึ่งหลักฐานที่พบมีเพียงมีด ปืนแก๊ป และอุปกรณ์ทำมาหากินของชาวบ้าน หรือข้อกล่าวอ้างเรื่องการบุกรุกป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งแท้ที่จริงคือการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นวิถีของชาวกะเหรี่ยงที่รัฐบาลไทยให้การรับรองว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ที่สำคัญคือมีหลักฐานหลายชิ้นระบุชัดว่าหมู่บ้านบางกลอยเป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่กันมานับร้อยปี ก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และก่อนมีกฎหมายอุทยานฯ เสียด้วยซ้ำ หน่วยงานรัฐใช้อำนาจอะไรในการบังคับโยกย้ายชุมชนดั้งเดิมแห่งนี้ให้ออกจากป่าใหญ่ที่บรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงร่วมกันบุกเบิกกันมา” บางส่วนจากรายงาน ระบุ
เพียงไม่กี่เดือนหลังจากได้รับการยกย่องเป็น ‘วีรบุรุษแก่งกระจาน’ เขาได้ตกเป็นจำเลยร่วมในคดีจ้างวานฆ่า นายทัศน์กมล โอบอ้อม อดีตผู้สมัคร สส. พรรคเพื่อไทย จังหวัดเพชรบุรี แกนนำในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับกลุ่มกะเหรี่ยงบางกลอย
2555
เกิดเหตุการณ์เผานั่งยางช้างป่าเพื่อเอางา โดยจับผู้ต้องหาได้ 5 คน ประกอบด้วยลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ชัยวัฒน์ใช้ตำแหน่งยื่นประกันตัว ปฏิเสธไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น
ในปีเดียวกันนั้น เขาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกรวบแก๊งลักลอบล่าสัตว์ได้ที่ป่าห้วยแม่ประโดน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ-ใต้ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ตัวผู้กระทำผิด 9 คนพร้อมอาวุธครบมือ หนึ่งในนั้นเป็นตำรวจยศ พ.ต.ท. ต่อมาภายหลังกลับไม่ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดี วีรกรรมครั้งนั้น ส่งผลให้มีประชาชนให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก
ในปีเดียวกันนี้ ปู่คออี้ ยื่นฟ้องกรมอุทยานฯ ต่อศาลปกครอง และได้มีคำพิพากษาในอีก 6 ปีต่อมาสรุปว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้เกิดความเสียหาย ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ฟ้อง
2557
17 เมษายน 2557 มีผู้พบเห็นบิลลี่ถูกชัยวัฒน์ ซึ่งในตอนนั้นเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไว้ในฐานครอบครองน้ำผึ้งป่า ในเดือนเดียวกัน ชัยวัฒน์ยอมรับว่าควบคุมตัวนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ หลานชายปู่คออี้ ฐานครอบครองน้ำผึ้งก่อนสูญหายไป
“ผมยืนยันได้ปล่อยตัวบิลลี่ ผมยังบอกด้วยซ้ำ ผมจะตบเขาด้วยซ้ำให้น้ำผึ้ง 5 ขวด ผมบอกมึงมาติดสินบนกูอีก ตอนนั้นฝนตกเปียก ทุกคนยังจำนาทีนั้นได้อยู่เลย ที่ยกเขาลงจากท้ายรถ มาวันนี้ว่าผมควบคุมตัวเขาอยู่ จนโยงมาถึงว่าพบกะโหลกแล้วตาย กะโหลกนั้นเป็นของใคร เศษชิ้นส่วนนั้นของใคร”
ชัยวัฒน์ กล่าวหลังได้รับการประกันตัวหลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีการเสียชีวิตของบิลลี่
2559
บทความ ส่องเส้นทางชีวิต ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ แห่งเมืองคนดุ เผยแพร่ใน กรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า “เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในหมู่คนรู้จักว่า มีนิสัยใจคอกว้างขวาง ไม่เกรงกลัวใคร และด้วยบุคลิกดังกล่าว เขามักเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์แหลมคมที่เป็นทั้งด้านบวกและด้านลบอยู่เสมอ”
ชัยวัฒน์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าชุดปราบปรามเฉพาะกิจของกรมอุทยานฯ ‘หน่วยฯ พญาเสือ’ มีอำนาจหน้าที่ป้องกันและปราบปรามคดีป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ ทำให้ชื่อเสียงทางด้านงานป้องกันและปราบปรามของชัยวัฒน์ยิ่งเด่นชัดขึ้นและเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ พร้อมกับคดีฟ้องร้องหลายคดีที่เขามักเปรยว่า เกิดจากความกล้าชน ไม่เกรงกลัวใครของเขา
จากปฏิบัติการชุดพญาเสือ ที่บุกตรวจค้นบ้านพักนายสมัคร ดอนนาปี ซึ่งปลูกอยู่บนยอดเขามิสก๊อก หมู่ 3 บ้านประดาง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก โดยกล่าวหาว่านายสมัครสร้างบ้านบุกรุกป่าประมาณ 4 ไร่ จนนำไปสู่การฟ้องร้องกันหลายคดี
บทความ เส้นทางของ วีรบุรุษแก่งกระจาน นามว่า ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ระบุว่า สมัครและชัยวัฒน์ ต่างเป็นศิษย์เก่าคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เหมือนกัน และเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน โดยนายสมัคร เป็นศิษย์พี่รุ่น 41 นายชัยวัฒน์ ศิษย์น้องรุ่น 51
2561
ปี 2561 ระหว่างเป็นที่ปรึกษาหน่วยฯ พญาเสือ ชัยวัฒน์ เริ่มเป็นที่สนใจขึ้นอีกครั้ง หลังจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้รับแจ้งว่าพบนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งตั้งแคมป์พักในบริเวณจุดห้ามตั้ง เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพบว่าหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวมีสมาชิก คือ นายเปรมชัย กรรณสูต และพบซากสัตว์ป่าคุ้มครอง คือ ไก่ฟ้าหลังเทา ซากเนื้อเก้ง รวมทั้งซากเสือดำ พร้อมด้วยอาวุธปืน และเครื่องกระสุนจำนวนหนึ่ง
พนักงานสอบสวน สภ.ทองผาภูมิ และชุดพญาเสือ ตรวจหาหลักฐานในที่เกิดเหตุ กองนิติวิทยาศาสตร์ กรมอุทยานฯ เริ่มตรวจหาดีเอ็นเอจากชิ้นเนื้อเสือดำ กระทั่งในปี 2562 ศาลจังหวัดทองผาภูมิ พิพากษาจำคุกนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นเวลา 16 เดือน ใน 3 ข้อหา และชัยวัฒน์ได้มีส่วนร่วมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในครั้งนั้นด้วย
12 มิถุนายน ศาลปกครองสูงสุด ให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ให้กับปู่คออี้ และชาวบ้านรวม 6 คน เป็นเงิน 51,407-45,302 บาท พร้อมทั้งระบุว่า การขึ้นไปเผาบ้านของชาวบ้านเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ รวมถึงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
2562
ปัจจุบัน ชัยวัฒน์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) และตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่
“ผมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาไม่เกี่ยวกับการเสียชีวิตของบิลลี่ พร้อมสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครทำขอให้มีอันเป็นไป เชื่อมีขบวนการจัดฉากเขียนบทให้ผมผิด”
ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กล่าวหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เขาและพวกรวม 4 คน โดยใช้หลักทรัพย์คนละ 800,000 บาท
เรียบเรียงจาก:
- เส้นทางของ ‘วีรบุรุษแก่งกระจาน’ นามว่า ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ / nationtv.tv
- ส่องเส้นทางชีวิต ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ แห่งเมืองคนดุ / กรุงเทพธุรกิจ
- กระบวนการยุติธรรม จากยุทธการตะนาวศรี ถึงการหายตัวไปของ ‘บิลลี่’ ฆาตกรรมอำพราง และ รอยด่างในผืนป่าแก่งกระจาน / The Reporters