The New York Times รายงานว่า ครูและอาจารย์กว่า 6,000 คน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยเยล มหาวิทยาลัยโรดไอแลนด์ และอื่นๆ ต่างพากันลงทะเบียนใช้งาน GPTZero แพลตฟอร์มสำหรับตรวจจับข้อความที่ถูกสร้างโดย AI (Artificial Intelligence – ปัญญาประดิษฐ์) ขณะที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันและมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ กำลังแก้ไขนโยบายจริยธรรมงานวิชาการ ตลอดจนการบรรจุ AI ในบางหลักสูตรและใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน
ความกังวลกรณี ChatGPT หรือแชทบอทของบริษัท OpenAI ที่เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2022 เกิดขึ้นจากนักเรียนนักศึกษาจำนวนหนึ่งใช้เครื่องมือนี้ในการเขียนการบ้านส่งอาจารย์ หรือกระทั่งใช้ทำข้อสอบปลายภาค ขณะเดียวกัน ข้อถกเถียงที่ว่า AI ควรถูกจัดวางอย่างไรในระบบการศึกษายังไร้ข้อสรุป แม้จะเป็นวาระการประชุมเร่งด่วนของบรรดาผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัยก็ตาม กระนั้น สิ่งที่สำคัญคือ การเรียนการสอนต้องมีการเปลี่ยนแปลงและต้องปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีมากขึ้น
แอนโทนี โอมันน์ (Anthony Aumann) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นมิชิแกน ให้คะแนนวิชาศาสนาโลกโดยการอ่านเรียงความชิ้นที่ดีที่สุดในคลาสเรียน ข้อเขียนชิ้นนี้กล่าวถึงการโต้แย้งเชิงศีลธรรมว่าด้วยการสวมใส่ ‘บุรเกาะอ์’ (burqa) หรือผ้าคลุมปิดตัวมิดชิดของผู้หญิงมุสลิม ด้วยการเขียนที่กระชับ ยกตัวอย่างเหมาะสม และมีข้อโต้แย้งรัดกุมไร้ช่องโหว่ ทำให้โอมันน์ถามขยายความเพิ่มเติม จนจี้จุดถึงคำถามสำคัญว่า เขียนความเรียงชิ้นนี้ด้วยตัวเองหรือไม่ ซึ่งนักศึกษาก็ยอมรับสารภาพว่าใช้ ChatGPT ช่วยเขียนรายงาน
หลังพบว่ามีการยืมมือ AI เขียนรายงาน ปี 2023 หรือในภาคการศึกษาปัจจุบัน โอมันน์จึงให้นักศึกษาเขียนร่างฉบับแรกในห้องเรียน จากนั้นนักศึกษาต้องอธิบายงานของตัวเองแบบปากเปล่าว่า งานเขียนแต่ละร่างแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งโอมันน์ไม่ได้ตัดการมีส่วนร่วมของ ChatGPT ออกไปเสียทั้งหมด เขาวางแผนใช้มันเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนและชวนนักศึกษาประเมินคุณค่าของ ChatGPT ด้วยเช่นกัน
สิ่งที่โอมันน์ค้นพบ เป็นสิ่งเดียวกับที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมหลายแห่งทั่วสหรัฐ เช่น ในนิวยอร์กและซีแอตเทิล มีความพยายามปิดกั้นการใช้งาน ChatGPT ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของโรงเรียน แต่นักเรียนก็สรรหาวิธีแก้ไขได้อย่างง่ายดาย
ตั้งแต่การศึกษาระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา ครูอาจารย์ส่วนใหญ่จึงเริ่มหลีกเลี่ยงการมอบหมายการบ้านหรือการสอบแบบ take-home และ open-book ซึ่งได้ผลกับการเรียนในภาวะโควิด-19 แต่ก็เสี่ยงที่นักเรียนจะใช้ ChatGPT ครูอาจารย์จึงหันมาใช้วิธีมอบหมายงานในชั้นเรียน การเขียนด้วยลายมือ การทำงานกลุ่ม หรือการสอบปากเปล่า รวมถึงการตั้งโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตนเอง เหตุการณ์ปัจจุบัน หรือเป็นคำถามปลายเปิดมากขึ้น
ทางด้าน เฟรเดอริค หลุยส์ อัลดามา (Frederick Luis Aldama) หัวหน้าภาควิชามนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส มองว่า วิธีเลี่ยง AI และการโกงแบบฝึกหัด-ข้อสอบของนักศึกษา อาจเริ่มจากการออกแบบโจทย์คำถามกับสิ่งที่ ChatGPT มีข้อมูลน้อย กล่าวอย่างง่ายคือ คำตอบที่ได้จาก ChatGPT มักเอนเอียงไปที่ข้อความตั้งต้น ซึ่งขอบเขตของคำตอบก็ไม่ไกลเกินกว่าข้อมูลที่มีอยู่บนโลกออนไลน์
ในกรณีที่มาตรการป้องกันการใช้ ChatGPT ไม่ได้ผล อัลดามาและอาจารย์คนอื่นๆ กล่าวว่า พวกเขาจะกำหนดมาตรฐาน วิธีการตรวจงาน และการให้คะแนนที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มความคาดหวังต่อนักศึกษา ฉะนั้น องค์ประกอบการเขียนอย่างบทนำ ข้อสนับสนุน บทสรุป และข้อเสนอในงานหนึ่งชิ้น อาจไม่เพียงพออีกต่อไป
“เราต้องยกระดับเกมของเราขึ้นมา” อัลดามาสะท้อนวิธีแก้ปัญหาชนิด ‘หนามยอก ต้องเอาหนามบ่ง’ เขาเสริมต่อไปว่า “จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และความคิดริเริ่มที่เดิมสมควรได้เกรด A จำเป็นต้องปรับฐานลงไปอยู่ในเกณฑ์ของงานเกรด B”
ส่วนทิศทางของมหาวิทยาลัยเท็กซัส มหาวิทยาลัยบัฟฟาโล และมหาวิทยาลัยเฟอร์แมน ไม่เพียงแต่กำหนดให้นักศึกษาต้องเรียนรู้การใช้เครื่องมือ AI อย่างเหมาะสม แต่ยังวางแผนบรรจุประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ AI ในหลักสูตรภาคบังคับของปีการศึกษาใหม่ เช่น ประเด็นความซื่อสัตย์ในงานวิชาการ
“เราต้องเน้นย้ำว่าสถานการณ์เช่นนี้กำลังมีปัญหา นักเรียนนักศึกษาจึงจะเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม” เคลลี อฮูนา (Kelly Ahuha) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรมวิชาการ มหาวิทยาลัยบัฟฟาโล นิวยอร์ก กล่าว “เราต้องป้องกันตั้งแต่ต้น ไม่ใช่รอเก็บกวาดปัญหาทีหลัง”
สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหานี้ในออสเตรเลีย กลุ่ม the Group of 8 (Go8 หรือกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ 8 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเอดิเลด มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น) ได้ออกนโยบายเชิงรุกในการจัดการ AI ผ่านการอบรมบุคลากร ออกแบบการประเมินใหม่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีตรวจจับ
“เราได้แก้ไขวิธีการประเมินผู้เรียนใหม่ในปี 2023 รวมถึงเปลี่ยนไปใช้ปากกาและกระดาษในการทดสอบมากขึ้น” แมทธิว บราวน์ (Matthew Brown) รองประธานผู้บริหารกลุ่ม Go8 กล่าว
สำหรับมาตรการรับมือการโกงข้อสอบในออสเตรเลีย อาจไล่ตั้งแต่การตัดคะแนน การลดเกรด การพักการเรียน ไปจนถึงยกเลิกวีซ่าสำหรับนักศึกษาต่างชาติเลยทีเดียว
ทั้งนี้ OpenAI ออกมาเผยว่า บริษัทตระหนักดีที่เทคโนโลยีของตนถูกใช้ในทางที่ผิด และกำลังพัฒนาโทคโนโลยีที่สามารถอ้างอิงได้ว่าเป็นข้อความที่มาจาก ChatGPT ขณะที่ Turnitin หรือบริการตรวจสอบการคัดลอกทางวิชาการ เตรียมสร้างฟีเจอร์ที่สามารถระบุได้ว่าข้อความใดมาจาก AI ซึ่งรวมถึง ChatGPT ภายในปี 2023
ปัญหาที่ฝั่งครูอาจาย์ ผู้บริหาร และคนในแวดวงการศึกษากังวล อาจสะท้อนได้จากคลิปมากมายบน TikTok ที่ชี้ช่องการใช้ AI เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้เรียน เช่น คลิปการลอกข้อสอบปรนัยผ่าน ChatGPT พร้อมระบุข้อความว่า “I don’t know about y’all but ima just have Chat GPT take my finals. Have fun studying.” หรือ “ผมไม่รู้ว่ะพวก แต่ผมแค่ใช้ ChatGPT ทำข้อสอบไฟนอลอะ เรียนให้สนุกนะเพื่อนๆ”
@caleb_sorensen It’s a hack y’all #chatgpt#college#finals#minnesota#smsu#screammovie♬ original sound – Caleb Sorensen
คลิปข้างต้นเป็นไวรัลและมีผู้เข้ามาโชว์ผลคะแนนที่ได้จากการกระดิกนิ้วป้อนคำสั่งผ่าน AI ซึ่งมีผู้เข้าชม #ChatGPT บน TikTok กว่า 579 ล้านครั้ง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ ยังครอบคลุมไปถึงการแก้ coding และสอนวิธีการใช้งานอีกด้วย
นอกเหนือจากการปรับปรุงวิธีการสอนเพื่อสกัดการโกงข้อสอบและการออกแบบนโยบายจริยธรรมวิชาการใหม่ สิ่งที่น่าสนใจคือ เราควรปรับตัวเพื่อหาความสมดุลในการใช้เทคโนโลยีอย่างไรโดยไม่ลดทอนศักยภาพด้านอื่นของเรา ท่ามกลางโลกอนาคตที่เราอาจไม่ต้องทนก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือสอบอีกต่อไป
อ้างอิง
- Alarmed by A.I. Chatbots, Universities Start Revamping How They Teach
- Australian Universities Crack Down on AI Software Cheating