เมื่อรูปแบบในการแสดงความรักของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก หรือของพ่อแม่ที่มีต่อลูก จากที่เคยเป็นเรื่องปกติถูกตั้งคำถามถึงความไม่ปกติ ประเด็นต่างๆ จึงถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันว่า เส้นแบ่งของความเหมาะสมคืออะไร คุณค่าแบบใดที่สังคมปัจจุบันควรยึดถือ โดยเฉพาะเรื่องการเคารพสิทธิเด็กซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยหสำหรับผู้ใหญ่หลายคนในบริบทของสังคมไทย แต่เราสามารถเรียนรู้ประเด็นนี้ร่วมกันได้ผ่านมุมมองที่เปิดกว้าง เพื่อช่วยกันสรรสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทุกคน
มะห์–สุพัตรา วัฒนานนท์ เป็นนักจิตวิทยาในโรงเรียนที่ทำงานในส่วนของ The Wellbeing Team and Designated Safeguarding Lead ณ โรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปกป้องสิทธิเด็กในโรงเรียนโดยตรง ด้วยนโยบายของโรงเรียนที่อิงกับวัฒนธรรมตะวันตก การทำความเข้าใจคำว่า ‘การยินยอม’ หรือ consent จึงเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังกันโดยพื้นฐาน
เธอมองว่า เด็กก็คือคนคนหนึ่งที่มีความคิดความรู้สึกไม่ต่างจากผู้ใหญ่แบบเราๆ ดังนั้นการเคารพสิทธิเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่คนในสังคมต้องมีความตระหนักและย้ำเตือนกันอยู่เสมอ รวมถึงการไม่ปล่อยผ่านให้การละเมิดเนื้อตัวร่างกายของเด็กๆ กลายเป็นเรื่องปกติ เพื่อให้เด็กอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ในสังคมก็จำเป็นต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่า เขาจะแสดงความรักและเคารพสิทธิของตัวเองและผู้อื่นอย่างไรได้บ้าง
ในบริบทประเทศไทย ปัจจัยอะไรที่ทำให้การเคารพพื้นที่ส่วนตัวของเด็กไม่ค่อยได้รับความสำคัญมากเมื่อเทียบกับบริบทของต่างประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองเด็กโดยเฉพาะ
อาจเป็นเพราะความสบายของวัฒนธรรมของเรา เราโตมากับคำว่า ไม่เป็นไรหรอก แค่นี้เอง ไม่ต้องขออนุญาตหรอก ทำไปก่อนแล้วค่อยไปขอก็ได้ บางครั้งเราจะเห็นการจับตัวเด็กหรือการถ่ายรูปเด็กที่ไม่ได้ขออนุญาตก่อน หรือไปถ่ายรูปกิจกรรมในโรงเรียน พอถ่ายเสร็จแล้วก็ค่อยไปขออนุญาตผู้ปกครองทีหลัง สิ่งเหล่านี้ทำกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้กฎกติกาหรือกฎหมายถูกยืดหยุ่นหรือตีความกันไปหลายแบบ แต่ถ้าเมื่อไรเริ่มมีคนไม่ยอมและเรียกร้องสิทธิของตนเองขึ้นมา แล้วดันประเด็นนี้ขึ้นมา คนคนนั้นหรือเด็กคนนั้นก็จะถูกมองว่า เรื่องมาก จะอะไรนักหนา แค่นี้เอง ไม่เห็นเป็นอะไรสักหน่อย ทั้งๆ ที่เขาเรียกร้องสิทธิของเขาเอง พอถ้าพูดบ่อยๆ หรือเรียกร้องสิทธิของตนเองมากเข้าก็จะกลายเป็นว่า คนอื่นก็ไม่อยากยุ่งด้วย
กลับกัน เด็กสมัยนี้เริ่มถูกสอนแล้วว่า ถ้าเขาพูดว่าไม่ เราที่เป็นผู้ใหญ่ก็ต้องฟังเขาและต้องหยุดพฤติกรรมนั้นๆ แต่ก็จะมีบ้างเห็นที่เห็นว่า พอเด็กพูดว่า “ไม่” แทนที่จะชื่นชมว่าเขาทำสิ่งที่ถูกต้องในการรักษาสิทธิของตนเอง ผู้ใหญ่บางคนก็พยายามอัดวิดีโอตอนที่เขาพูดว่า “ไม่” เอาไว้ด้วยซ้ำ แล้วเอามาโพสต์เพราะรู้สึกว่าน่ารัก หลายๆ คน การถ่ายรูปเด็กทุกการกระทำ ถ้ามองกลับกันเป็นตัวเราเอง เรายังอึดอัดเลย เด็กก็มีความรู้สึกเหมือนกัน แต่บางทีเราลืมจุดนี้ไป เพราะเรารู้สึกว่าน่ารักจังเลย ซึ่งความรักความหวังดีของเราบางทีมันอาจจะมากเกินไป จนกลายเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก เพราะเรากำลังละเมิดสิทธิของเขาอยู่
เราจะอธิบายให้ผู้ปกครองที่มองว่าเขาทำสิ่งเหล่านี้จนเป็นเรื่องปกติเข้าใจได้อย่างไรว่าเด็กก็มีสิทธิของตัวเอง
ที่จริงเรื่องสิทธิของตนเอง การมีสิทธิและเคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่น เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องปลูกฝังกันมานานแล้ว ถ้ามาเริ่มสอนกันตอนนี้อาจยากที่จะเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ก็ต้องอาศัยเวลาด้วย อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องกฎหมาย ถ้าเด็กพูดว่าไม่ แต่ผู้ใหญ่ยังทำอีก มันผิดในหลักการข้อใดบ้าง เช่น ไม่อยากให้มาโดนตัว จะมีหลักกฎหมายหรือบ้างอะไรมาคุ้มครองเด็ก แล้วเด็ก ๆ เขารู้ไหมว่าเขามีสิทธิที่จะพูดปฏิเสธ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดลงมาจากโครงสร้างข้างบน ส่วนหน่วยเล็กๆ จากฐานของสังคมก็คือครอบครัว ถ้าเราพยายามทำข้างล่าง แต่ข้างบนไม่มีอะไรมาบังคับเลย คนก็อาจหละหลวม ไม่ปฏิบัติตาม แต่ถ้ามีกฎหมายด้วย มีการกำกับและใช้มันอย่างเข้มงวด รวมถึงมีการสอนในครอบครัวและโรงเรียนด้วย มันก็จะค่อยๆ เชื่อมโยงมาบรรจบกัน มีกระบวนการสอนให้เปิดใจว่า เด็กคือคนคนหนึ่งที่มีสิทธิ์มีเสียง สามารถเรียกร้องในสิ่งที่เขาต้องการได้เช่นกันบนพื้นฐานที่เหมาะสม เช่น ความปลอดภัย ความรัก การเข้าโรงเรียน บางคนบอกว่าอย่างนี้เด็กขออะไรก็ต้องให้ทั้งหมดเลยหรือ หรือถ้าเด็กพูดปฏิเสธก็ต้องยอมให้เสมอเหรอ เราก็ต้องดูความเหมาะสมด้วยว่าให้ได้เท่าไร เช่น ถ้าเด็กพูดว่าไม่ไปโรงเรียน ไม่ทำการบ้าน เราก็ต้องดูว่าเรื่องที่เด็กปฏิเสธมีประโยชน์หรือมีโทษอะไรต่อตัวเด็กบ้าง อะไรที่ทำให้เขาพูดแบบนั้น
ตัวเราเองเวลาอบรมเรื่อง child protection ให้กับพนักงานใหม่ที่เข้ามาทำงานในโรงเรียน ทุกคนต้องเข้ารับการอบรมเรื่องการคุ้มครองสิทธิเด็กในโรงเรียน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจในเรื่องสิทธิเด็ก และถ้าพนักงานพบว่าเด็กกำลังถูกละเมิดสิทธิเขาควรจะทำอย่างไร บางครั้งก็จะมีคำถามว่า ถ้าเป็นลูกเขาเอง ทำไมเขาจะยุ่งไม่ได้ ทำไมเขาจะตี เราก็ให้คิดกลับกันว่า ถ้าเป็นตัวเอง สมมุติว่าทำงานไม่ดีแล้วเจ้านายมาตีจะยอมไหม ทุกคนจะบอกว่าไม่ยอม เราก็บอกว่าสิ่งนี้คือแบบเดียวกัน ถ้าเด็กทำการบ้านไม่เสร็จ หรือทำไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม พ่อแม่หยิบไม้มาตีเพื่อให้ลูกทำให้เสร็จ พ่อแม่อาจมองว่ามันเป็นความหวังดี แต่นั่นไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม เพราะมีทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถทำได้ เช่น พูดคุยทำข้อตกลงต่างๆ หรือมีการให้รางวัล เป็นต้น ขนาดผู้ใหญ่เรายังมีกฎหมายคุ้มครองตัวเราเลย เด็กก็เช่นเดียวกัน และการพูดถึงสิทธิเด็ก เราต้องย้ำบ่อยๆ ไม่ใช่พูดครั้งเดียวจบ เพราะหลายอย่างถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติบ่อยๆ ก็อาจจะลืมได้ ฉะนั้นต้องคอยทบทวนเสมอให้รู้กันเป็นพื้นฐาน
ด้วยวัยของเด็กที่อาจจะยังสื่อสารไม่คล่อง บวกกับวัฒนธรรมไทยที่เด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ เมื่อเขาสื่อสารตรงๆ ไม่ได้ ผู้ใหญ่จะมีวิธีสังเกตการแสดงออกของเด็กอย่างไรได้บ้าง
เราสามารถดูการแสดงออกได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า ท่าทาง มือที่ปัดออก การเบี่ยงตัวออก หรือถ้าเข้าไปกอดแล้ว เขาไม่ได้ตอบสนองต่อความรักด้วยการกอดกลับ แต่ยืนตัวแข็งหรือเอามือดันเอาไว้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นแล้วว่าเขาไม่อยากให้มาโดนตัวนะ หรืออาจจะไม่สะดวกใจกับพฤติกรรมนั้นๆ ที่ผู้ใหญ่ทำกับเขา
บางครั้งคนในครอบครัวอาจไม่ได้สังเกตว่าเด็กอึดอัดแค่ไหน เพราะรู้สึกว่าทำกันมานานแล้ว ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ลูกก็ไม่ได้บ่น แต่แน่นอนว่าคนถูกกระทำ เขาไม่กล้าพูดว่าเกิดอะไรขึ้น หรือไม่รู้ว่าเรื่องนั้นๆ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม จนเรื่องเกิดขึ้นยาวนานจนโตเป็นผู้ใหญ่ถึงได้รู้ว่าที่เคยถูกทำแบบนั้นเป็นการละเมิดสิทธิร่างกายของฉัน
บางครอบครัวอาจจะมีการเล่นการแซวกันของอวัยวะเพศชายของเด็ก เด็กอาจจะรู้สึกเขินและเอามือมาปิด หรืออาจจะโวยวายเวลาโดนแซว นั่นก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เด็กไม่ชอบที่ถูกทำแบบนั้น ถ้าเราเห็นหรือได้ยินสิ่งเหล่านี้ในบ้าน เราก็ต้องเตือนกันด้วยว่าถ้าทำแบบนี้ต่อไปเด็กจะไม่กล้าคุยเรื่องนี้กับเรานะ หรือเด็กอาจจะคิดไปได้ว่าเป็นเรื่องปกติเพราะพ่อก็ยังมาแซวมาเล่นของเขาเลย ซึ่งจริงๆ ถ้าเราอยากเล่นกับเด็ก มีวิธีการมากมายที่จะเล่นกับเขาได้ ไม่จำเป็นต้องไปล้อเรื่องอวัยวะเพศหรือเล่นสัมผัสกับ private part ของเด็กๆ บางทีเราล้อเล่นกับเขา เด็กเกิดพฤติกรรมเลียนแบบและไปทำกับคนอื่นๆ ต่อ เพราะไม่รู้ว่ามันไม่เหมาะสม
ถ้าผู้ใหญ่ต้องการแสดงความรักกับเด็ก ควรมีขอบเขตอย่างไร
การแสดงความรักเป็นคำที่กว้างมาก เวลาที่เราอยากบอกว่าเรารักกัน บางบ้านกอดหอมกันเป็นเรื่องปกติ บางบ้านมีการสัมผัสตัวน้อย กอดกันน้อย แต่จะเป็นความห่วงใยถามไถ่มากกว่า แน่นอนว่าการกอดสัมผัสไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร แต่แสดงความรักก็ไม่ได้หมายถึงการสัมผัสตัวเท่านั้น เพราะเมื่อถึงเด็กโตถึงวัยหนึ่งแล้วการสัมผัสร่างกาย โดยเฉพาะส่วนที่มีเสื้อผ้าปกคลุมนั้นไม่เหมาะสมอีกต่อ ในเด็กเล็กๆ ที่ต้องการการสัมผัสมากๆ อยากให้เรากอดแสดงความรัก เราก็กอดตอบเขา แล้วชวนเขาคุยถามไถ่ว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง เพราะเราคงไม่ได้นั่งกอดเขาตลอดไปทั้งชั่วโมง ถ้าเราอยากสอนให้เขารู้จักสิทธิของตัวเองและสิทธิของคนอื่น อาจบอกว่า เวลาเจอหน้าลูกๆ หลานๆ อาจจะบอกว่าคิดถึงจังเลย ขอหอมแก้มได้ไหม ขอกอดหน่อยนะ/มาให้แม่กอดที ถ้าเขาพยักหน้าหรือพุ่งตรงมากอดเรา เราค่อยหอมแก้มหรือกอดเขา ถ้าเด็กไม่ให้ เราก็ไม่ควรทำ เพราะบางทีเขาอาจจะรู้สึกรำคาญ หรือวันนั้นเขาอารมณ์ไม่ดี ไม่อยากให้มายุ่ง เราก็อาจจะใช้วิธีอื่นๆ ในการแสดงความห่วงใยหรือแสดงความรักกับเขาแทนนอกจากการสัมผัสตัว อาจจะเป็นการพูดคุย นั่งอยู่ข้างๆ กัน หรือเล่นข้างๆ กัน สิ่งเหล่านี้อาจจะดูเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่แสดงให้เห็นถึงเรื่องการเคารพสิทธิของเด็กที่สามารถทำกันได้ทุกวัน
เข้าใจว่าเด็กเล็กๆ เขาน่ารัก น่าสัมผัส แต่ข้อควรจำก็คือ หนึ่ง-ถ้าเราไม่ใช่คนในครอบครัวเขา แล้วจะไปสัมผัสตัวเด็ก เราต้องขออนุญาตทั้งพ่อแม่เด็กและตัวเด็กก่อนว่าเขาโอเคไหม สอง-การถ่ายรูป ถ้าครอบครัวไม่อยากให้ใครมาถ่ายรูปก็สามารถบอกได้เลย แล้วถ้าเด็กรู้สึกว่าเขาไม่อยากให้ถ่าย เราก็ต้องปกป้องคุ้มครองลูกเราด้วยการพูดว่า ขออนุญาตไม่ให้ถ่ายรูปนะคะ แต่ยืนคุยกับน้องได้ หรือหันไปถามลูกก็ได้ว่าเขาโอเคไหม นี่ก็เป็นการแสดงถึงความห่วงใย เขาก็จะรับรู้ได้ว่าคนที่บ้านห่วงใยเขาเช่นกัน และสามารถเรียนรู้การเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่นจากสิ่งที่พ่อแม่ปฏิบัติกับเขา
เมื่อเกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดเด็ก เรามักพบว่าเด็กที่เป็นเหยื่อเป็นเด็กผู้หญิง จึงเน้นที่การสอนเด็กผู้หญิง ถ้าเป็นการสอนเด็กผู้ชายจะมีความแตกต่างกันไหม
ภาพในสื่อที่ออกมามักทำให้เราติดภาพว่าส่วนใหญ่คนกระทำเป็นผู้ชาย คนถูกกระทำเป็นผู้หญิงเสมอ เด็กก็จะถูกสอนว่าอย่าให้ผู้ชายมาโดนตัวนะ ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนคำได้ว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ผู้ชายที่มากระทำ ทุกๆ คนมีโอกาสที่จะละเมิดสิทธิของเด็กด้วยกันทั้งนั้น เราสามารถสอนทั้งกับเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายได้โดยใช้คำรวมๆ ว่า ถ้ามีผู้ใหญ่มาโดนตัวแล้วเราไม่ชอบ เราสามารถบอกได้ว่าอันนี้หนูไม่ชอบค่ะ ผมไม่ชอบครับ
การสอนเรื่องสิทธิพื้นฐานให้กับเด็กสามารถทำได้หลายแบบเลย เช่น การสอนให้เด็กรู้จักเลือกเสื้อผ้าแต่งตัวของตนเอง สมมุติว่าแม่มาบอกให้แต่งตัวใส่ชุดนั้นชุดนี้ แล้วเด็กไม่อยากใส่แบบที่แม่เลือก ถ้าเด็กพูดว่าไม่ แล้วพ่อแม่เคารพเขา รับฟังเขา เด็กก็จะได้เรียนรู้และเป็นการฝึกฝนว่า เขามีสิทธิหรือสามารถแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ พอเขาเริ่มมั่นใจมากขึ้น แน่นอนว่าถ้ามีเรื่องสำคัญหรือถูกรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว เขาก็จะมีความกล้าที่จะพูดมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็น ไม่ใช่แค่พ่อแม่ที่ต้องรู้ แต่รวมถึงครูหรือคนที่ทำงานกับเด็กๆ ก็ควรรู้
ถ้าเป็นการถูกเนื้อตัวกันระหว่างเด็กๆ ด้วยกันเอง จะสอนเขาอย่างไรได้บ้าง
ในแต่ละวัยความเข้มข้นของเนื้อหาที่สอนก็อาจจะต่างกันไป ในวัยอนุบาลอาจจะมีการเล่นที่มีการถูกเนื้อตัวกัน เพื่อแสดงความรัก เช่น หอมแก้มกัน กอดกัน ถ้าเราสอนเขาตั้งแต่ต้น เขาก็จะรู้ว่าอันนี้คือใกล้เกินไป ถ้าผู้ใหญ่เห็นก็สามารถเข้าไปคุยได้ เช่น เมื่อกี๊คุณครูเห็นนะ หนูได้ขอเพื่อนหรือเปล่าลูก เพื่อนโอเคไหม ถ้าเขาบอกว่าขอแล้ว เพื่อนโอเค เรื่องนี้ก็ผ่านไปได้ แต่ครูสามารถสอนเพิ่มเติมหรือแนะนำเพิ่มเติมได้ว่า มีวิธีที่เราแสดงว่าชอบเพื่อนได้มากมายนะนอกจากการหอมแก้มหรือกอดกัน อาจจะลดจากการหอมแก้มเป็นจุ๊บมือ เปลี่ยนเป็นแปะมือแทนได้ไหม ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นเด็กต้องขออนุญาตเพื่อนก่อน
ส่วนเด็กที่ถูกกอดหรือหอมแก้ม ก็อาจจะสอนเขาได้ว่าถ้าจะมีเพื่อนมาโดนตัวเรา เราต้องให้เขาขอเราก่อน ซึ่งถ้าเราไม่ชอบเราสามารถบอกเขาได้นะคะ เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้ เพราะเด็กบางคน say yes ตลอด เพื่อนทำอะไรก็ยอม เขาก็จะไม่ได้เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ ไม่ได้เรียนรู้ว่านี่เป็นพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง เราต้องสอนว่าถ้าหนูรู้สึกไม่ดี หนูปฏิเสธได้นะ ถ้าเป็นเพื่อนมาหอมแก้มเรา แล้วเราโอเค ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นคนอื่นที่เราไม่รู้จัก ไม่ได้สนิท มาขอหอมแก้มเรา แบบนี้ไม่ได้นะ แล้วหนูจะทำยังไงถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้น จะต้องบอกใครบ้างถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้น เป็นการสอนให้เด็กรู้จักสิทธิในร่างกายของตนเองและป้องกันตนเองไปด้วยค่ะ
ในเรื่องการถูกเนื้อต้องตัวกันระหว่างเด็กๆ นั้น เราอาจจะไม่ได้ใช้การห้ามปรามไปหมด เพราะเด็กอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมทำไม่ได้ แล้วยิ่งอยากทำหรือต่อต้าน เราอาจจะเปลี่ยนเป็นการสอนพฤติกรรมที่เหมาะสมแทนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ต้องขออนุญาตเพื่อนก่อน ใช้การจับมือกันแทน หรือเปลี่ยนเป็นนั่งเล่นอยู่ข้างๆ กันแทน ถ้าเพื่อนปฏิเสธ ก็ไม่ได้หมายความว่าเพื่อนไม่รักเรา เขาแค่ไม่ชอบให้มาโดนตัว หรือรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเขาแค่นั้นเอง แต่ถ้าเป็นการเล่นที่ไม่เหมาะสมจริงๆ เช่น การจับส่วนสงวน แบบนี้เราสามารถห้ามได้ว่านี่เป็นพื้นที่ส่วนตัว ไปจับของเขาไม่ได้นะ เราจะไม่ไปทำแบบนี้กับใครทั้งนั้นและไม่ให้ใครมาจับของเรา เรื่องสิทธิในร่างกายของฉัน นอกจากคนในครอบครัวจะช่วยสอนแล้ว ที่โรงเรียนก็สามารถสอนในชั้นเรียนได้ตั้งแต่ยังเล็กเลยค่ะว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ส่วนตัวของร่างกายเรา อาจเป็นการเอาตุ๊กตามาใส่เสื้อผ้าให้เขาดูว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ส่วนตัวบ้าง หรือการให้ระบายสีภาพว่า ตรงไหนเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเราที่ไม่ควรให้คนอื่นเข้ามาจับ เป็นต้น
ในส่วนของโรงเรียน เวลาที่เด็กเข้าห้องน้ำ ทำภารกิจส่วนตัว คุณครูก็ไม่จำเป็นต้องไปจับหรือช่วยทำความสะอาดของเด็กนะ หากเป็นเด็กนักเรียนในชั้นอนุบาลอาจจะมีการสอนในตอนต้นว่าควรทำความสะอาดตรงไหนบ้าง บอกขั้นตอนการเขาทำความสะอาดให้กับเขา เช่น บอกเขาว่าหยิบทิชชูมาพันแล้วเช็ดตรงไหนบ้าง และให้เด็กนักเรียนทำเอง เขาจะได้เรียนรู้พึ่งพาตนเอง รวมถึงรู้จักว่าห้องน้ำเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่เราจะไม่เข้าไปหากมีคนอื่นใช้อยู่ หรือเวลาที่เด็กเป็นหกล้ม หรือมีบาดแผลต่างๆ หากมีเสื้อผ้าปิดอยู่ และคุณครูหรือคุณครูห้องพยาบาลจะขอดูแผล คุณครูก็ต้องบอกหรือขออนุญาตเด็กก่อน เช่น ขอดูแผลหน่อยนะ ขอคุณครูเลื่อนขากางเกงขึ้นนิดนึงจะได้ทำความสะอาดสะดวก เป็นต้น เด็กๆ ก็จะได้เตรียมตัวก่อนเวลามีคนเขาจะมาโดนตัว และรับรู้ได้ว่าคุณครูเคารพสิทธิของเขา ถ้าเราอยู่ในสังคมที่คนรู้จักเคารพสิทธิซึ่งกันและกันมาตั้งแต่ต้น มีการขออนุญาตกัน พอโตขึ้นเรื่องพวกนี้ก็ไม่ต้องสอนกันมาก เพราะทุกคนเข้าใจพื้นฐานการเคารพกันโดยรวมอยู่แล้ว ส่วนในเด็กวัยรุ่นเราอาจจะมีการสอนให้รู้จัก การขอ consent อื่นๆ เวลาที่เขามีเริ่มต้นมีความรักและความสัมพันธ์ รวมถึงสอนในเรื่องการละเมิดสิทธิในรูปต่าง ๆ ว่ามีอะไรบ้าง
ถ้าเด็กๆ ไม่รู้เรื่องสิทธิในร่างกายของตนเองจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้างในอนาคต
แน่นอนว่าอาจจะมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาในอนาคต เด็กๆ ที่ไม่ได้เรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิในร่างกายของตนเองและผู้อื่น ก็มีโอกาสที่จะไปละเมิดสิทธิผู้อื่น เพราะเขาไม่รู้ว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเล่นจับอวัยวะกัน การถอดเสื้อผ้า ล้วงมือเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัว หรือการกอดจูบที่ไม่ได้ขออนุญาต หรือในอีกด้านหนึ่ง เด็กๆ อาจจะไม่รู้ว่าตนเองกำลังถูกละเมิดสิทธิในร่างกายของตนเองอยู่ เพราะอาจจะเคยโดนแบบนี้ทำมาก่อน ก็คิดว่านั่นอาจจะเป็นวิธีการแสดงความรัก ทำให้พฤติกรรมสมยอม ไม่กล้าเรียกร้องว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิ ไม่กล้าบอกใครค่ะ สิ่งเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ เราต้องพูดได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่โอเค เราไม่ชอบ เมื่อมีคนมาละเมิดสิทธิเรา ถ้าเมื่อไรที่เรายอม แล้วบอกว่าไม่เป็นไร เมื่อมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงกว่าแล้วยังคิดว่าไม่เป็นไร เขาก็มีโอกาสที่จะโดนซ้ำๆ อยู่เรื่อยๆ หรือไปกระทำกับคนอื่นได้เช่นเดียวกัน
หากมองไปที่ภาพใหญ่ในระบบการศึกษา การสอนเรื่องเพศศึกษาของเรามีเนื้อหาเหล่านี้มากเพียงพอแล้วหรือยัง
ในส่วนของโรงเรียนไทยทั่วไปเราไม่แน่ใจว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างตั้งแต่ในสมัยที่เราเป็นนักเรียนจึงอาจจะไม่สามารถตอบคำถามได้ชัดเจนว่ามีการสอนที่เพียงพอหรือยังเพราะข้อมูลอาจจะไม่เพียงพอ ขอเล่าในส่วนของโรงเรียนเราทำงานอยู่จะสอนเพศศึกษาให้เด็กมัธยมในวิชาที่เรียกว่า relationships and sex education (RSE) หรือวิชาความสัมพันธ์และเพศศึกษา ส่วนในเด็กวัยประถมปีนี้จะเริ่มสอนเป็นวิชา RSE ด้วยเหมือนกัน โดยเน้นในเรื่องสุขภาพจิตใจ และสอนในเรื่องความสัมพันธ์ที่มีหลายรูปแบบ พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เพศชายเพศหญิงเท่านั้น สามารถมีแม่สองคนได้ โครงสร้างครอบครัวมีหลายแบบ สามารถมีครอบครัวแบบแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือพ่อเลี้ยงเดี่ยวได้ จะได้เรียนรู้ในการยอมรับความแตกต่างในสังคม แต่จะยังไม่ได้สอนในเรื่อง sex education ในวัยประถมค่ะ ถ้าเป็นเด็กเล็กหรือวัยอนุบาล ก็จะสอนเน้นเรื่องการขออนุญาต ให้รู้จักดูแลตัวเอง รู้จักการปฏิเสธ พอเริ่มโตขึ้นมาก็จะสอนเรื่องพื้นที่ส่วนตัว ตรงไหนห้ามคนอื่นสัมผัส จะเน้นเรื่องพวกนี้มากขึ้นโดยทำให้การพูดถึงอวัยวะเพศเป็นเรื่องปกติเหมือนการพูดถึงมือหรือขา ไม่ทำให้เป็นเรื่องแปลก เพื่อให้เด็กกล้าสื่อสารในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
ในหลักสูตรของไทยน่าจะต่างกันในการพูดถึงเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าถ้าครูไทยมีความรู้และผ่านการอบรมเขาจะสามารถสอนได้ บางทีอยากจะสอน แต่ไม่รู้หลักการว่าจะพูดได้แค่ไหน ก็ต้องช่วยกันคิดหลักสูตรขึ้นมาว่าเด็กในวัยไหนควรจะรู้อะไรได้แค่ไหนบ้าง พอพูดเรื่องอวัยวะเพศหรือเพศศึกษา ก็เหมือนเป็นเรื่องต้องห้ามที่ไม่มีใครอยากพูด ไม่ค่อยมีใครกล้าแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียน เพราะรู้สึกอาย รู้สึกเขิน รู้สึกเหมือนเป็นเรื่องบาป ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงพูดแล้วจะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เช่น ถ้ามีแผลตรงนั้นแล้วไม่กล้าบอกใคร จะทำอย่างไร ซึ่งบางทีการเกิดแผลนั้นอาจจะเกิดจากการถูกล่วงละเมิดก็ได้ ถ้าเด็กสามารถสื่อสารได้ เรื่องการเคารพสิทธิในร่างกายซึ่งกันและกัน และการละเมิดทางร่างกายต่างๆ ก็จะได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่ต้น ดีกว่าให้มารู้ตอนโตว่าฉันถูกละเมิด
มันเศร้านะถ้าเด็กไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเวลาเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ยิ่งมาจากคนใกล้ชิดจะยิ่งเจ็บปวดและไม่เข้าใจว่าทำไมเขาทำแบบนี้กับเรา ส่วนคนทำอาจจะบอกว่าก็หนูชอบไง หนูชอบให้ลูบ ลุงกับป้าก็เลยลูบให้ แต่ทั้งที่คุณรู้ว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเด็ก คุณเป็นผู้ใหญ่ ต้องสามารถควบคุมตัวเองได้มากกว่าเด็ก
การเอาคำว่ารักมาเป็นเหตุผล ก็เป็นการทำร้ายเด็กเหมือนกัน ก็รักเลยทำแบบนี้ เด็กเลยไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วรักคืออะไรกันแน่ จะทำให้เด็กสื่อสารได้ยากเมื่อเขาโตขึ้นมา เรื่องพวกนี้จะติดตัวไปแล้วลืมไม่ได้ง่ายๆ และมีโอกาสที่จะกลับมาเกิดขึ้นอีก การแสดงความรักสามารถทำได้หลายรูปแบบ ครูบางคนอาจชอบลูบหัวลูบไหล่เวลาเจอเด็ก เราก็จะบอกว่าเปลี่ยนเป็นแปะมือกันก็ได้ หรือสวัสดีก็ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กโตมาในครอบครัวแบบไหน เราอาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่เราต้องช่วยกันระมัดระวังพฤติกรรมในการแสดงออกของกันและกันด้วย
ในโลกยุคโซเชียล เราควรจะเรียนรู้กฎเกณฑ์อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม
ต้องบอกว่าเมื่อคลิปหรือรูปทุกรูปที่ถูกถ่ายขึ้นไปอยู่บนสื่อออนไลน์แล้ว ต่อให้คุณลบก็ไม่ใช่ว่าทุกคนลบไปกับคุณ มันยังทิ้งรอยไว้เป็น digital footprint อยู่ตรงนั้น เราอาจจะไม่ได้ห้ามคุณพ่อคุณแม่ให้โพสต์รูปเลยเพราะมันยาก บางรูปอยากจะโพสต์ให้คนอื่นดูความน่ารักนั้นๆ เพราะลูกของเราน่ารัก ก็ให้เลือกรูปที่เหมาะสม ให้คิดเสมอก่อนโพสต์รูปหรือคลิปลงไป (stop think and act) อย่างภาพเด็กเปลือยที่พ่อแม่ชอบเอาลงแล้วติดสติกเกอร์ปิดอวัยะตรงนั้น ภาพแบบนี้หมิ่นเหม่มากว่ามันเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ถ้าเด็กโตขึ้นแล้วมาเห็นภาพก็อาจจะมีคนเอามาล้อได้โดยที่เราไม่มีทางรู้เลย เราจึงต้องช่วยกันปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็ก รวมถึงเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกเรา อย่าไปถ่ายรูปลูกของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้กลับมามองตัวเองว่าเราชอบไหมเวลามีคนยื่นกล้องมาถ่ายหน้าเรา ถ่ายรูปเราตอนร้องไห้งอแง เราต้องเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นแบบอย่างในการรู้จักเคารพสิทธิของเด็กบ้าง รวมถึงคำนึงเรื่องความปลอดภัยของเด็กด้วย เช่น บางครั้งโพสต์ภาพบ้านที่อยู่ หรือโรงเรียนของเด็ก เรื่องพวกนี้ต้องระวัง เพราะอาจมีคนไม่ประสงค์ดีเห็นแล้วอยากจะลักพาตัวเด็กไปก็มี ถ้าเรานึกถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็จะช่วยให้เกิดความตระหนักเรื่องการคุ้มครองสิทธิเด็กได้มากขึ้น
ที่จริงไม่โพสต์ไปเลยก็ได้ แต่มันยากมาก ฉะนั้นก็ต้องขออนุญาตเด็กหรือผู้ปกครองเขาก่อนว่าขอโพสต์รูปนี้ได้ไหม ก็จะเป็นวิธีที่ไม่หักดิบเกินไป ลองสื่อสารกับเขาในวัยที่เขาสื่อสารกับเราได้ ในเด็กวัยที่ยังสื่อสารไม่ได้ก็ต้องระวังรูปที่ไม่เหมาะสม ในรูปแต่ละรูปจะมีเส้นแบ่งระหว่างความน่ารักกับการละเมิดสิทธิอยู่เสมอ เราต้องหมั่นพูดคุยกับเด็กเรื่องนี้และสื่อสารกันในสังคม เราเชื่อว่าเด็กก็จะได้รับการคุ้มครอง ถูกละเมิดน้อยลง เมื่อทำให้เรื่องการละเมิดสิทธิพวกนี้ไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้ทั่วไป
พวกเราในฐานะคนในสังคมถือว่าได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้มากขึ้นแล้ว ให้กลับไปดูที่บ้านตัวเองว่ามีเรื่องอะไรต้องปรับเปลี่ยน ช่วยกันเป็นหูเป็นตา การระวังการละเมิดสิทธิเด็กไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม ไม่อยากให้มองว่าเป็นหน้าที่ของแม่หรือพ่อเท่านั้น ทุกคนที่อยู่รอบตัวเด็กสามารถป้องกันเรื่องเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้ ถ้าเห็นก็สามารถช่วยแจ้งช่วยเตือนได้ ไม่ใช่บอกว่าเขาเป็นพ่อแม่นะ เราไม่ควรยุ่ง เขาเป็นครูนะ เขาไม่ทำเด็กหรอก เพราะเคสแบบนี้มักเกิดขึ้นจากคนใกล้ตัวมากกว่าคนแปลกหน้าเสียอีก ก็ขอให้ทุกคนเป็นหูเป็นตาและช่วยกันคุ้มครองสิทธิเด็ก