จากป้ามล ถึงครูยุ่น ‘ความหวังดี’ ไม่ใช่ใบเบิกทางให้เราทำร้ายเด็ก

ในนามความรักและความปรารถนาดี ในนามแห่งระเบียบวินัย ในนามแห่งอนาคต หรือในนามอะไรต่อมิอะไร ที่ผู้ใหญ่สร้างวาทกรรมขึ้นมา เพื่อหาความชอบธรรมในการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง เป็นสิ่งมิอาจยอมรับได้ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ยืนยันเช่นนั้น 

“เราไม่สามารถทำร้ายเด็กได้ เพราะความหวังดี เราต้องเข้าใจว่าความดีเป็นอมตะ แต่คนดีไม่ใช่อมตะ ดังนั้น คนดีจึงต้องถูกตรวจสอบ” 

ไม่นานมานี้ คลิปวิดิโอหนึ่งเผยแพร่ภาพ มนตรี สินทวิชัย หรือ ครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก กำลังด่าทอเด็กในความดูแลด้วยถ้อยคำหยาบคาย ใช้ไม้เรียวหวดตีเพื่อลงโทษ นำมาสู่การแจ้งความครูยุ่น โดย ‘มูลนิธิเส้นด้าย’ ใน 2 ข้อหา คือทำร้ายร่างกายเด็ก และใช้แรงงานเด็ก 

เสียงของสังคมแตกออกเป็นสองฝั่ง ด้านหนึ่งมองว่า ความรุนแรงใดๆ ต่อเด็ก เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับ และไม่มีเหตุผลใดรองรับการกระทำเหล่านั้นได้

ทว่าอีกด้าน คนจำนวนไม่น้อยมองว่า การลงโทษด้วยการตี ยังคงจำเป็นในการกำราบเด็กและเยาวชนที่ดื้อรั้น กระทั่งว่า ความรุนแรงเป็นสิ่งยอมรับได้หากมีเหตุผลเพียงพอ

WAY ถือโอกาสสนทนากับ ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ของเด็กๆ ผู้ทำงานด้านสิทธิเด็กมายาวนาน  คลุกคลีกับงานด้านการช่วยเหลือและเยียวยาเยาวชนที่กระทำความผิด ผ่านเครื่องมือเชิงบวกที่หันหลังให้ความรุนแรง 

มากกว่านั้น เราอยากมองให้ไกลว่ากรณีของ ‘ครูยุ่น’ ด้วยการทบทวนกลไกการตรวจสอบ ประเมิน และดูแลสถานสงเคราะห์ของภาครัฐไทย ว่าภายใต้ความกะพร่องกะแพร่งที่เป็นอยู่ เด็กๆ ต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นไร และใครบ้างต้องรับผิดชอบ

ความรู้สึกแรกหลังได้ดูคลิปการทำโทษเด็กของ ‘ครูยุ่น’ เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก 

ในฐานะคนทำงานเรื่องสิทธิเด็ก และรู้จักครูยุ่นในมิติคนทำงานด้านปกป้องเด็กที่ถูกละเมิด เรารู้จักเขาในมุมนี้ เราเคยเห็นข่าวที่เขาเคยไปช่วยเด็กๆ ที่ถูกทำร้าย ถูกละเมิด นั่นคือภาพที่เราเห็นและสังคมก็เห็น

แต่พอเราได้เห็นคลิปที่เขาถือไม้หวดเด็ก เอาไม้ชี้หน้า พูดจาหยาบคาย เกรี้ยวกราด ลงไม้ลงมือ เรารู้สึกว่า “เฮ้ คุณหลุดมาขนาดนี้ได้อย่างไร” น่าสงสัยมากๆ เลยว่า ระบบการตรวจสอบคนทำงานด้านเด็ก มันหายไปไหนในประเทศนี้ มันพังไปแล้ว หรือจริงๆ มันไม่เคยมี

แต่ถึงอย่างนั้น ป้าก็ไม่อยากให้สังคมมุ่งเกรี้ยวกราดกลับไปที่ตัวครูยุ่น เหมือนที่เราไม่อยากให้ใครเกรี้ยวกราดที่ปัจเจก แต่อยากให้การสนทนาเรื่องนี้มองให้เห็นทางออกว่ามันอยู่ที่ไหนในเชิงระบบ แล้วเราจะไปถึงทางออกนั้นได้อย่างไร 

เราสามารถทำร้ายเด็กเพราะความหวังดีได้ไหม

ในนามความรักและความปรารถนาดี ในนามแห่งอนาคต ในนามแห่งระเบียบวินัย หรือในนามอะไรต่อมิอะไรที่ผู้ใหญ่สร้างวาทกรรมขึ้นมาเพื่อลงโทษเด็ก ป้ามองว่า ผู้ใหญ่คนนั้นกำลังฉ้อฉลต่อความเป็นเด็กของเขา เราต่างรู้ว่าเด็กๆ ต้องการเรียนรู้อีกมากมายกว่าจะถึงจุดที่เขาคิดได้ หรือมีวุฒิภาวะมากพอ ซึ่งบนเส้นทางเหล่านั้น เขาต้องการโอกาส ต้องการการบ่มเพาะด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นเราก็จะเป็นคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่เลี้ยงเด็กพร้อมๆ กับสร้างบาดแผลให้เขาระหว่างทาง แล้วเด็กก็เติบโตมาด้วยความรู้สึกกะพร่องกะแพร่ง 

หากมองว่า เราใช้ความรุนแรงลงโทษเด็กได้ด้วยความหวังดี เราคงต้องมาทบทวนแล้วว่า ตกลงเราเป็นนักสิทธิเด็กจริงหรือเปล่า หรือเป็นตัวปลอมที่เข้ามาในเส้นทางชีวิตของเด็กเหล่านี้เพื่อหวังประโยชน์อย่างอื่น

การอ้างความไม่ดีของเด็ก เพื่อยืนยันความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงในการลงโทษ ส่งผลอย่างไรต่อสังคม

ที่เขาพยายามจะบอกว่า “เด็กไม่ดีก็ต้องทำโทษ เพราะเขาใช้ยาเสพติด เพราะเขาดื้อ จึงจำเป็นต้องลงโทษเขา” เหล่านี้ป้าคิดว่า ผู้ใหญ่กำลังสร้างความชอบธรรมในกับตัวเองในการลงโทษเด็กมากกว่า เพราะในความเป็นจริง ถ้าเราทำงานกับเด็กบนหลักการและความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เด็กๆ เหล่านี้เขาไม่เคยเป็นผู้ใหญ่เหมือนเรา เขายังเป็นเด็กอยู่ แต่เราที่เป็นผู้ใหญ่นั้น เคยเป็นเด็กมาก่อน

ถ้าเราเข้าใจขั้วตรงข้ามนี้ เราจะใช้ประสบการณ์ของการเป็นผู้ใหญ่ทำงานกับเขา เพราะเรารู้ว่าเขาอายุยังน้อย วุฒิภาวะยังน้อย เราจึงต้องคุยกับเขาบนความเมตตา บนสิทธิ บนอนาคตที่เขากำลังจะเติบโต โดยไม่ต้องมีบาดแผลเยอะแยะไปหมด 

คุณต้องแฟร์ๆ ต้องไม่อ้างพฤติกรรมไม่ดีใดๆ ของเด็กๆ เพื่อใช้ความรุนแรงในการลงโทษโดยเด็ดขาด คุณรู้ใช่ไหมว่า เวลาเด็กๆ ทำผิด มันมีอีกตั้งหลายวิธีที่เราจะทำงานกับเขา 

นอกจากกรณีของ ‘ครูยุ่น’ มีเคสลักษณะนี้เกิดขึ้นเยอะไหมในสังคม โดยเฉพาะกรณีของคนทำงานเรื่องปกป้องคุ้มครองเด็ก

ว่ากันตามตรง ป้าเพิ่งพูดกับคนรู้จักไปว่า “เดี๋ยวคิวต่อไปกำลังจะออกมา” ซึ่งเป็นคนที่มีชื่อเสียง สังคมรู้จัก ผู้ปกครองเล่าให้ป้าฟังว่า เอาลูกไปฝากกับเขาเพื่อเรียนศิลปะการแสดง แต่วันหนึ่ง ลูกมาบอกว่า “ไม่ไหวแล้วแม่ หนูจะกลับแล้ว” ตอนแรกแม่ก็ไม่ให้ลูกกลับเพราะเสียดายโอกาสของลูก แต่ลูกก็บอกแม่ว่า “ไม่ได้นะแม่ ตอนนี้เขาให้หนูไปนวดเขา นวดจนถึงจู๋ หนูจะทำยังไง” ลูกของเขากลายเป็นคนที่มีบาดแผลไปแล้ว ถ้ายังอยู่ต่อก็จะกลายเป็นแผลเรื้อรัง ถึงที่สุด เด็กจะเฉาลง และอาจเป็นซึมเศร้า ถึงวันนั้นจะคุ้มไหม

เรามีผู้ใหญ่แบบนี้มากมายในสังคมไทย มันจึงต้องมีเครื่องมืออีกอันหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กรอดปลอดภัย นั่นคือระบบการตรวจสอบที่ดี แต่หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นั้น ยังดูแลสถานสงเคราะห์ของตัวเองไม่รอดเลย ดังนั้น พม. จะกล้าหาญตรวจสอบครูยุ่น หรือยุติใบอนุญาตในการตั้งสถานสงเคราะห์หรือไม่

ทีมเส้นด้ายโทรมาปรึกษาป้าว่า “ป้ารู้ไหมครับ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสงคราม (พมจ.) เขานั่งพับเพียบต่อหน้าครูยุ่น” ทั้งที่ พมจ. ต้องเป็นผู้ประเมินผล เก็บข้อมูล และดูแล แต่ด้วยการทำงานของหน่วยงานรัฐซึ่งไม่แหลมคม แถมตามหลังครูยุ่นตลอด คำถามคือ หน่วยงานรัฐจะเอาสติปัญหาหรือความกล้าหาญจากไหนไปดูแลสถานสงเคราะห์เอกชนที่อื่นๆ แล้วถ้าไม่มีการตรวจสอบดูแลที่มีคุณภาพ ผลร้ายจะไปตกที่เด็ก

ระบบการตรวจสอบสถานสงเคราะห์ของรัฐ มีลักษณะอย่างไร แล้วระบบการตรวจสอบที่มีคุณภาพ ควรเป็นอย่างไร 

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็จะเริ่มตรวจสอบตั้งแต่ระดับกายภาพ มีห้องน้ำกี่ห้อง มีห้องนอนเท่าไหร่ เด็กกี่คนต่อ 1 ห้อง มีระบบสาธารณูปโภคอย่างไร มีการรักษาความปลอดภัยอย่างไร มีแสงสว่างเพียงพอไหม ฯลฯ 

แต่สิ่งที่ไม่ได้ประเมินตรวจสอบอย่างละเอียดอ่อน คือความสุขและความทุกข์ของเด็กๆ คุณมีเครื่องมืออะไรมาประเมินจิตใจที่เปราะบางของเด็กๆ ถ้าคุณไม่ไปนั่งคุยกับเด็กเหมือนที่กลุ่มน้องนักศึกษาทำ ไปนั่งคุยกับเด็ก จนเด็กสัมผัสได้ถึงความปลอดภัยนั้นแล้วจึงเล่าให้ฟัง การประเมินมันต้องมากกว่าด้านกายภาพ แต่ต้องลงลึกไปถึงจิตใจของเด็กๆ ถามว่ารัฐมีกำลังทำแบบนั้นไหมในตอนนี้ ก็ไม่มี

ป้าพยายามคิดเรื่องรูปแบบในการแก้ไขปัญหานี้ โดยไปดูประเทศต่างๆ เราพบว่า หลายประเทศมีสิ่งที่เรียกว่า “ผู้ตรวจการเด็กแห่งชาติ” ซึ่งไม่ใช่องค์กรของรัฐ แต่เป็นองค์กรอิสระ มีหน้าที่ตรวจการเรื่องสิทธิเด็ก อย่างในประเทศนอร์เวย์ เขาก็มีองค์กรอิสระในการตรวจสอบ 

สิ่งที่น่ากลัวของระบบหน่วยงานรัฐไทย คือไม่ว่าจะเอาเครื่องมือดีๆ เข้ามาใช้ ในที่สุดก็มักตกม้าตายเมื่อภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เรามักถ่ายโอนคนจากราชการมาอยู่ในองค์กรอิสระ แล้ววิธีคิดแบบราชการก็ถูกเอามาใช้ด้วย ทำให้องค์กรอิสระที่ควรเป็นทางออกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันก็กลายเป็นเครื่องมือธรรมดา

ป้ามลมีวิธีทำงานกับเด็กเปราะบาง เด็กที่สังคมเบือนหน้าหนี กระทั่งเด็กที่เคยก่ออาชญากรรมอย่างไรโดยไม่ใช้ความรุนแรง

เด็กๆ ในบ้านกาญจนาภิเษก ถือว่าสุดโต่งกว่าเด็กบ้านครูยุ่นนะ เพราะเด็กบ้านครูยุ่นจะอยู่ในกลุ่มยากจน ขาดโอกาสในชีวิต จึงจำเป็นต้องมาอยู่บ้านครูยุ่นเพื่ออาศัยเงินบริจาคและทรัพยากรที่มีอยู่ในมูลนิธิในการกินอาหาร เรียนหนังสือและเติบโต 

แต่เด็กของบ้านเราคือกลุ่มที่ไปก่ออาชญากรรมแล้ว เขามีบาดแผลของเขาอยู่ เพราะกว่าที่เขาจะถูกจับแล้วส่งมาที่เรา เขาถูกทั้งตำรวจ คนในชุมชน หรือครอบครัวของเขาเองเกรี้ยวกราดใส่มาตลอดทาง ดังนั้น เมื่อเขามาปรากฏตัวต่อหน้าป้า เขามีบาดแผลมากมาย

ถึงอย่างนั้น คนทำงานอย่างเราจะรู้ว่า เด็กเขาไม่ได้เลวร้ายตลอด 24 ชั่วโมง เขามีนาทีที่แสดงด้านมืดออกมาจริง นั่นคือนาทีที่เขาไปยิงคน ซึ่งเป็นนาทีที่เรามิอาจจะยอมรับได้ 

แต่นาทีอื่นๆ ของเขามันยังปกติอยู่ ดังนั้น งานของเราคือการควานหานาทีที่เขายังปกติอยู่ ช่วงเวลาที่เขาคุยกับเราได้ เขียนหนังสือได้ ดูหนังแล้วตอบเราได้ว่าเนื้อเรื่องนั้นมีปมตรงไหน อ่านข่าวแล้วสรุปให้เราฟังได้ ซึ่งเราพยายามดึงด้านดีๆ ที่มีพลังของเขาออกมาด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะการใช้ สื่อ ข่าว หนัง บทความ คลิปวิดิโอ เราใช้ของเหล่านี้ในการสื่อสารกับเขาทั้งหมด แล้วให้เขาลองช่วยกันคิดวิเคราะห์

เช่น เขาเห็นข่าวตำรวจจับกุมชายผิวดำ ด้วยการใช้เข่ากดทับลำคอจนเขาจะเสียชีวิต เราเอาข่าวนี้มานั่งคุยกัน เด็กๆ เขาก็เห็นว่า การกระทำแบบนี้เป็นการละเมิดคนอื่น ซึ่งเวลาคุยกัน เราจะเห็นความคิดของเขาที่สื่อสารกับเรา  มุมดีๆ เหล่านี้ เมื่อต้องถูกดึงออกมาบ่อยๆ ซ้ำๆ คล้ายการล่อเสือออกจากถ้ำ เด็กๆ ก็เริ่มคุ้นชิน แล้วทุกครั้งที่เขาแลกเปลี่ยนความเห็นในทรรศนะที่ถูกต้อง เขาจะรู้ว่า บรรยากาศรอบตัวมันดีไปหมด เขาเองก็มีความสุขกับตัวเอง จากนั้นเราก็ทำเพียงการผลิตซ้ำบรรยากาศเชิงบวก จนถึงจุดที่เขารู้สึกได้ว่า การไม่เอาด้านมืดออกมา มันคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขา วิธีการทั้งหมดนี้เราไม่ต้องใช้ความรุนแรงหรืออำนาจเลย 

ป้าได้ข้อสรุปจากการงานกับเด็กๆ ว่า ยิ่งไม่ใช้อำนาจ ยิ่งมีอำนาจ 

เราพบว่า ความเห็นจำนวนหนึ่งเป็นไปในทิศทางเห็นด้วยว่า ‘ไม้เรียวสร้างคนมาเยอะ’ ‘ถ้าตีมีเหตุผลและไม่รุนแรงกว่าเหตุรับได้’ ‘เด็กบางคนสอนดียังไงก็ไม่เชื่อฟัง’ หรือ ‘ถ้าตีเพื่อสั่งสอนให้หลาบจำก็ไม่น่าจะมีปัญหา’  ข้อความเหล่านี้ได้รับการกดถูกใจหลายร้อยครั้ง ป้ามลคิดเห็นต่อข้อความเหล่านี้อย่างไร

นี่คือหลุมพรางอันใหญ่ของผู้ใหญ่ไทย 

ผู้ใหญ่ไทยชอบถอยกลับไปในอดีตที่ตัวเองเคยถูกทำร้าย แต่จริงๆ แล้วในยุคสมัยหนึ่งที่ตัวเองถูกตี ถามว่า “เจ็บปวดไหม” “ก็เจ็บปวด” แต่การที่วันนี้เขาอาจจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ แล้วเขาคิดว่าการเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จของเขา หรือมีหน้าที่การงานนั้น ได้มาจากการถูกตี เขาอาจเข้าใจอย่างนั้น 

แต่ในความเป็นจริง ถ้าเขาไม่เคยถูกโบยตีกดขี่ข่มเหงขนาดนั้น ศักยภาพในตัวเขามันอาจจะงอกงามมากกว่าที่เขาเป็นอยู่ก็ได้ แต่เพราะสิ่งนั้นมันถูกทำให้หายไปแล้วไง มันไม่อาจจะงอกงามและเติบโตได้ มันถูกกด ถูกทับ ถูกฝังเอาไว้ไปแล้ว ดังนั้น สิ่งที่คุณเห็นมันอาจเป็นเพียงบางเศษเสี้ยวที่งอกขึ้นมา แต่มันอาจไม่ใช่การงอกเงยและงอกงามตามศักยภาพที่แท้จริงของเขาก็ได้ เหล่านั้นเราไม่มีทางรู้ เพราะมันถูกทำให้หายไปแล้วด้วยความรุนแรง

เด็กบ้านกาญจนาภิเษกที่เคยฆ่าคนมา เขาบอกกับป้าว่า “ทุกครั้งที่พ่อกับแม่ของผมทะเลาะกัน ผมอยากหายตัวได้ แต่ผมหายตัวไม่ได้” พอเขาโตมาอีกหน่อย เขาก็เลือกเดินออกไปจากบ้าน ออกไปจากเสียงแห่งความรุนแรงที่กำลังจะมาถึงตัวเขา 

สิ่งที่เขาบอกกับป้าคือ “ป้ารู้ไหมครับ ตอนที่ผมออกจากบ้านมาเพื่อหลบภัย เวลาเขาทะเลาะกัน เขวี้ยงของมาโดนตัวผม หรือฟาดผมอย่างไม่มีเหตุผล ผมอยากหายตัวได้ พอโตหน่อยผมก็เลยเดินออกจากบ้านเพื่อหาที่หลบภัยของผมเอง แต่ป้ารู้ไหมว่าข้างนอก เด็กที่เป็นเหมือนผมมีเยอะแยะไปหมดเลย” คำถามคือ เมื่อเด็กที่ออกจากบ้านเพื่อหาที่หลบภัยได้มาเจอกัน รู้ไหมว่าอะไรจะเกิดขึ้น …นี่คือสังคมที่เปลี่ยนไป

ป้ารู้สึกว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก หรือเด็กก่อความรุนแรง เราจะเห็นความไม่พอใจ เห็นความพยายามโยนปัญหาและผลักภาระให้ปัจเจกเป็นผู้รับผิดชอบ แต่มองไม่เห็นว่า คนๆ หนึ่งจะเติบโตได้ จำเป็นต้องมีระบบนิเวศทางสังคมที่เหมาะสมคอยเกื้อหนุน เขาอาจนึกว่า พอมนุษย์เกิดมา มีใครเอาจมูกมาดุนๆ เดี๋ยวมันก็ลุกขึ้นเดินได้เอง ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ กว่าเด็กจะเติบโตได้เขาต้องมีครอบครัวที่ปลอดภัย โรงเรียนที่ปลอดภัย สังคมที่ปลอดภัย มีพื้นที่สร้างสรรค์ให้เขาได้ปล่อยแสง

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เด็กเขาพูดกับป้าว่า 

“ป้ารู้ไหมครับว่า พ่อแม่ของผมเขาใช้ความรุนแรงกับผมตลอดเลย ตอนเด็กๆ เขาตีผม ผมร้องไห้วิ่งไปเกาะขาเขา แต่พอผมโตขึ้น เมื่อเขาตีผม ผมไม่วิ่งเข้าหาเขาแล้ว 

“ผมถูกสอนมาว่าห้ามทำร้ายพ่อแม่ ไม่อย่างนั้นจะบาป แต่ความรุนแรงที่เขาใช้กับผม มันเต็มไปหมดเลย สิ่งที่ผมทำได้เวลาเดินออกไปนอกบ้านแล้วเจอคนที่ผมไม่ชอบ ผมก็เอาความรุนแรงที่อัดอยู่ในตัวผมออกมาใช้ โดยที่ผมไม่ได้สนใจ ผมมีเหตุผลแค่ไหนที่ผมจะไปทำร้ายเขา”

พิษภัยการใช้ความรุนแรงกับเด็กมันไม่ได้หายไปไหน มันยังอยู่และรอสุกงอมเพื่อส่งออกมาสู่สังคม คำถามคือ แล้วเราไปใช้ความรุนแรงกับเด็กเพื่ออะไร ในเมื่อเรารู้ว่ามันคือระเบิดเวลา มันจะปะทุออกมาในวันหนึ่งเมื่อสุกงอมพอ ถ้าเราไม่ตัดวงจรนี้ เท่ากับว่าเราเองเป็นส่วนผสมที่สำคัญ​ ที่ทำให้ความรุนแรงนี้มันดำรงอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะออกกฏหมายมากี่ฉบับก็เอาไม่อยู่ เพราะผู้ใหญ่ที่เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมผลิตความรุนแรงไม่เคยหยุด 

จากกรณีของครูยุ่น ป้ามองว่าใครบ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีนี้ แล้วต้องรับผิดชอบอย่างไร

ครูยุ่นต้องรับผิดชอบก่อนอันดับแรก ต้องขอโทษสังคม ขอโทษเด็กๆ ทุกคนที่เขาเคยละเมิด ทั้งที่สังคมรู้และที่เขารู้ เขาควรจะขอโทษเด็กๆ เพราะว่าการขอโทษมันเป็นการแสดงความกล้าหาญนะ

ถ้าถามว่า “ทำไมต้องขอโทษสังคม” คุณต้องขอโทษสิ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา สังคมเชื่อไปแล้วไงว่าคุณเป็นนักปกป้องสิทธิเด็ก สังคมเชื่อไปแล้วว่าคุณช่วยเหลือเด็กที่ถูกละเมิด เด็กที่อยู่ในความมืดมน คุณก็ดำเนินคดีตามกฏหมายกับคนที่ละเมิดเด็ก สังคมไม่ได้คิดหรอกว่าคุณจะเป็นอื่น 

แต่ในวันนี้ คลิปในวันนั้นทำให้เรารู้ว่าคุณไม่ใช่คนนั้นอีกแล้ว ดังนั้น การลื่นไหลของครูยุ่น มันก็ทำให้สังคมเกิดความรู้สึกตระหนกเหมือนกันนะ แล้วความน่าเชื่อถือเชื่อมั่นที่สังคมจะมีต่อคนทำงานแบบนี้ มันก็จะเหลือลดน้อยลง ทั้งหมดนี้ครูยุ่นต้องรับผิดชอบ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น กระทบกับคนทำงานด้านสิทธิเด็กด้วย และเพื่อกอบกู้ความเสียหายที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคุณ ป้าคิดว่าครูยุ่นจะต้องขอโทษสังคม ขอโทษเด็กๆ ขอโทษพ่อแม่เด็กๆ แล้วก็ออกไปจากวงการนี้ ไปทำอาชีพรีสอร์ทของตัวเองซะ อย่ากลับมาทำอีก 

นอกจากครูยุ่น มีใครหรือหน่วยงานใดต้องรับผิดชอบอีกบ้าง เพื่อสร้างมาตรฐานที่มีคุณภาพ

กระทรวงที่ดูแลเรื่องของการให้ใบอนุญาตต่อสัญญามูลนิธิของครูยุ่น จะต้องไปทบทวนระบบการประเมินผล เพราะเหตุการณ์นี้สะท้อนแล้วว่า ระบบที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่อย่าใช้ความตระหนกตกใจของตัวเองมาทำอะไรบางอย่างแบบไฟไหม้ฟาง อย่าทำแบบนั้นเลย หรือถ้าไปไกลกว่านั้น รัฐบาลควรจะต้องคิดในเชิงนโยบายว่า ทำอย่างไรเราจึงจะมีองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพในการประเมินสถานสงเคราะห์หรือหน่วยงานที่ทำงานกับเด็ก เพราะว่าเราต้องรู้ว่า เด็กๆ เป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการต่อรองที่น้อยมาก ดังนั้น เราจะต้องเสริมอำนาจให้กับเขาโดยการ มีองค์กรที่มีประสิทธิภาพมาทำงานดูแล เพราะว่าเขาไม่ได้มีเล่ห์เหลี่ยมเท่ากับผู้ใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีองค์กรที่เข้มแข็ง เพื่อทำให้เสียงของเขามันดังขึ้นมาให้ได้

ป้าอยากฝากอะไรถึงคนที่อยากเข้ามาทำงานด้านสิทธิเด็ก

ป้าคิดว่า ประเทศไทยยังต้องการดอกไม้เล็กๆ ที่งดงาม ต้องการคนที่มาทำงานกับเด็กผู้เปราะบาง ทำงานกับกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่างๆ เราไม่ควรจะต้องทอดทิ้งเขาไว้ตามมุมมืดของสังคม 

เราไม่ควรจะใช้เหตุการณ์ของครูยุ่น ซึ่งดูเหมือนเป็นคนดีแต่กลับใช้ความรุนแรงอย่างนี้ มาทำให้ดอกไม้ถูกเด็ดออกจนหมดทุ่ง แต่เราต้องช่วยกันสร้าง ช่วยกันปลูกดอกไม้เล็กๆ ให้งดงาม ขณะเดียวกัน เราก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ การติดตาม การทำให้อำนาจต่อรองที่น้อยของเด็กๆ มีอำนาจที่มากขึ้น เราจะปล่อยให้รัฐทำหน้าที่ดูแลเด็กๆ ผู้เปราะบางเหล่านี้ตามลำพังไม่ได้ เพราะว่าระบบของรัฐเป็นระบบที่ใหญ่มาก วิธีคิดที่ทำอะไรให้ง่ายในระบบที่ใหญ่ของรัฐ คล้ายๆ กับโรงงานอุตสาหกรรมก็คือการตัดเสื้อโหล รัฐมักจะใช้วิธีแบบนี้ อย่างเด็กที่เติบโตในสถานสงเคราะห์ ต้องนอนรอเพื่อกินนมในเวลาเดียวกัน ทั้งๆ ที่กายภาพของมนุษย์ไม่ได้หิวพร้อมกัน หรือหิวเท่ากัน ระบบตัดเสื้อโหลของรัฐจึงแอบแฝงอันตรายพอสมควร

สำหรับกลุ่มภาคประชาสังคมที่จะมาทำในฐานะดอกไม้ดอกเล็กๆ ก็จะต้องมีการตรวจสอบ ไม่ใช่เป็นเพราะว่าเราไม่เชื่อ แต่เป็นเพราะว่าเด็กต้องได้ประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะภาคประชาสังคมหรือภาครัฐบาล และที่สำคัญ การตรวจสอบนี้ยืนยันว่า ความดีเป็นอมตะ แต่คนดีไม่อมตะ ดังนั้น คนดีต้องถูกตรวจสอบอย่างจริงจังเท่าๆ กับคนไม่ดี

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า