เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เดวิน เคลลีย์ (Devin Kelley) วัย 26 ปี อดีตทหารอากาศบุกเข้ากราดยิงที่โบสถ์ในซัทเธอร์แลนด์สปริงส์ (Sutherland Springs) เมืองเล็กๆ ในรัฐเท็กซัส มีผู้เสียชีวิตกว่า 26 คน ทั้งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุเพียง 12-14 ปี หดหู่กว่านั้น ผู้เสียชีวิตอายุน้อยสุดคือเด็กอายุ 18 เดือน
นับเป็นเหตุเศร้าสลดที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาหลังการกราดยิงในลาสเวกัสเพียงเดือนกว่า และกลายเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้สังคมตั้งคำถามต่อประเด็นกฎหมายควบคุมปืนร้อนแรงกว่าเดิม
แม้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะออกมาแถลงว่า เหตุกราดยิงที่เท็กซัสไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายปืน เพราะมือปืนมีอาการป่วยทางจิตขั้นรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
คำถามคือ “ไม่เกี่ยวกับกฎหมายปืนจริงๆ หรือ”
รู้กันอยู่แล้วว่าที่สหรัฐอเมริกามีหลายรัฐอนุญาตให้พกปืนและหาซื้อง่ายดาย ผลที่ตามมาคือการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุปืน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้เสียชีวิตคือเด็ก กล่าวได้ว่า การที่เด็กสหรัฐเสียชีวิตด้วยกระสุนปืนจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าดูในสถิติทั่วประเทศ ในหนึ่งวันทั่วสหรัฐอเมริกามีเด็กบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากปืนมากกว่าที่เกิดในเหตุยิงกราดในเท็กซัสเสียอีก
เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2016 วารสารวิชาการ Pediatrics ได้เผยแพร่งานวิจัยหัวข้อการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากปืนของเด็กอเมริกัน ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) และมหาวิทยาลัยรัฐเท็กซัส (University of Texas) อธิบายไว้ว่า ในแต่ละวันจะมีเด็ก 19 คนทั่วสหรัฐเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากปืน แม้ตัวเลขนั้นจะเป็นการคาดการณ์ แต่หากดูข้อมูลระหว่างปี 2012-2014 ก็ไม่ถือว่าพูดเกินความจริง เนื่องจากมีเด็กเสียชีวิตจากการถูกยิงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,300 คน และบาดเจ็บเฉลี่ย 5,790 คน
ความน่าสนใจคือเนื้อหารายงานที่ระบุอีกด้วยว่า เด็กที่ถูกยิงเสียชีวิตมากที่สุดคือเด็กผิวดำ คือ 4.1 คนจาก 100,000 คน ในขณะที่เด็กผิวขาวอยู่ที่ 1.5 คนจาก 100,000 คน โดยเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 13-17 ปี และเป็นเด็กผู้ชายมากถึง 82 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กผิวขาวและอเมริกันอินเดียนมีสถิติการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนมากที่สุด
นอกจากนั้น งานวิจัยนี้ยังใกล้เคียงกับบทวิเคราะห์ของ Washington Post เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้หยิบยกข้อมูลเมื่อปี 2015 มาคลี่ดูก็พบว่าเฉลี่ยแล้วแต่ละวันจะมีเด็กอเมริกันเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนประมาณ 23 คน
แม้ภาพรวมทั้งหมดเป็นความรุนแรงและอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัย เช่น ความยากจน การว่างงานหรือสภาพชุมชนที่แออัด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าอาวุธปืนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบเมื่อวันอาทิตย์อีกครั้ง
เมื่อเด็กเสียชีวิตจากการถูกยิงเมื่อไหร่หมายความว่า ภาพมายาของความปลอดภัยในสังคมที่เคยสร้างเอาไว้ได้แตกสลายอย่างสมบูรณ์
– อาเธอร์ ลูริจิโอ (Arthur Lurigio) นักจิตวิทยาคลินิกกล่าว
อ้างอิงข้อมูลจาก:
splinternews.com
washingtonpost.com