“วรรณกรรมเยาวชนสามารถมีเรื่องราวที่โหดร้ายได้แค่ไหน?” – หนึ่งในคำถามจากผู้เข้าร่วมงานเสวนา “เหตุไฉนเราถึงเขียนหนังสือเพื่อเด็กๆ?” ซึ่งจัดขึ้น ณ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ เมื่อค่ำคืนวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา
เป็นคำถามที่ถามไปยังนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น
เป็นคำถามแทนความทรงจำในวัยเยาว์ และอาจแทนความรู้สึกของเด็กๆ อีกนับไม่ถ้วนที่แทบไม่เคยมีโอกาสได้พบประสบการณ์ดีๆ จากการอ่าน อย่าว่าแต่ได้อ่านวรรณกรรมเยาวชนดีๆ เพื่อจุดประกายความหวังใดๆ เลยด้วยซ้ำ
“แน่นอนว่า หนังสือเด็กย่อมมีทั้งเรื่องแนวดาร์กๆ ทั้งเรื่องราวหม่นหมอง แต่ต่อให้หม่นหมองเพียงไรจะต้องไม่ทำลายความหวังทั้งหมด เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีฉากเศร้าและหม่นหมองเพียงไร แต่ก็ต้องเหลือร่องรอยของความหวังบางอย่าง”
คำตอบจาก เคียวโกะ ฮะมะโนะ (Kyoko Hamano) นักเขียนหนังสือเพื่อเด็ก เจ้าของรางวัล IBBY Honor List และ Joji Tsubota Literary Award ปี 2010 บอกให้ใคร่ครวญถึงประเด็นที่หวนย้อนกลับไปยังเหตุผลที่พาตัวเองมายังงานเสวนาในค่ำคืนนี้
ภายในงาน นอกจากนักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่นอย่าง เคียวโกะ ฮะมะโนะ ยังมี มิโตะ มะฮะระ (Mito Mahara) นักเขียนหนังสือเพื่อเด็ก เจ้าของรางวัล IBBY Honor List และ Joji Tsubota Literary Award ปี 2014 และยังเป็นอดีตเพื่อนร่วมชั้นมัธยมต้นของเคียวโกะที่ได้มาพบกันในอีก 30 ปีต่อมา ณ งานประกาศรางวัลดังกล่าว และ โซโกะ จินซะกิ (Soko Jinsaki) นักเขียน นักแต่งกลอน และนักวาดภาพประกอบ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อวรรณกรรมเยาวชน
ก่อนเวลา 19 นาฬิกา ผู้สนใจและลูกศิษย์ในชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่นต่างทยอยกันเข้ามาในห้องเสวนาที่ใช้ห้องเรียนของสมาคมแทนชั่วคราว จนเก้าอี้ตัวแล้วตัวเล่าถูกยกมาเสริมจากด้านนอกจนทั้งห้องแน่นขนัด กระทั่งแม้เมื่องานเสวนาเริ่มต้นไปแล้ว ผู้สนใจยังทยอยมาสมทบไม่ขาดสาย
แก่นของเรื่องราว
ประเด็นคำถามแรกถูกจุดขึ้นโดย คิมิโกะ มัทซุอิ (Kimiko Matsui) ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Mighty Book ซึ่งตีพิมพ์หนังสือวาดภาพประกอบมาตั้งแต่ปี 2014 เริ่มต้นจากคำถามที่ว่า นักเขียนหญิงทั้งสามมีวิธีเลือกแก่นเรื่องอย่างไร
สำหรับ มิโตะ มะฮะระ เธอเลือกแก่นเรื่องในการเขียนจากความสนใจของตัวเอง แม้ว่าวรรณกรรมเยาวชนจะเป็นเรื่องแต่ง แต่มิโตะก็ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการเขียนชนิดที่เรียกว่าจริงจัง และยังสนใจจับสภาพทางสังคมที่กำลังประสบปัญหาในปัจจุบันเพื่อนำมาผนวกกับเรื่องเล่าด้วย
ส่วน โซโกะ จินซะกิ ตอบว่าเธอเลือกจากเรื่องง่ายๆ ที่คิดออก เลือกเรื่องที่จริงที่สุดและกระทบความรู้สึกที่สุดในเวลานั้น เธอยกตัวอย่างเรื่องการจัดตั้งกองกำลังป้องกันประเทศ โดยการถ่ายทอดความรู้สึกของเด็กหนุ่มที่จะต้องไปเข้าร่วมฝึกและการเตรียมตัวของเขา เธอใช้เวลาคลุกคลีกับเด็กหนุ่มเหล่านั้นจนได้แนวคิดเบื้องหลังของพวกเขาที่เข้าร่วมกับกองกำลังป้องกันประเทศ โดยพบว่าท้ายที่สุดพวกเขาล้วนมีความต้องการสันติภาพ และจากการได้ใช้เวลาอยู่กับตัวละครจริง เธอจึงได้แก่นเรื่องที่ต้องการในที่สุด
เคียวโกะเสริมว่า อันที่จริงแล้วแก่นเรื่องในงานของเธอนั้นค่อนข้างหลากหลาย นอกจากนี้แม้ว่าเธอจะเป็นนักเขียนนิยายสำหรับเยาวชน แต่เธอก็เป็นคนจริงจัง และเธอคิดอย่างจริงจังว่าจะเรียกรอยยิ้มจากผู้คนได้อย่างไร ทันทีที่พูดจบ รอยยิ้มของเธอก็ปรากฏบนใบหน้า เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ร่วมฟังเสวนาทั่วทั้งห้อง
เคียวโกะยังให้นิยามตัวเองว่า นอกจากแก่นเรื่องที่หลากหลายแล้ว เธอยังมองว่าตัวเองเป็นนักเขียนที่สนใจประเด็นสังคม หรือจะเรียกว่า ‘นักเขียนแนวสังคม’ ก็ว่าได้ อย่างเช่น ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว ไปจนถึงเรื่องสงครามและสันติภาพเช่นเดียวกับโซโกะ แต่จริงๆ แล้วเคียวโกะก็พยายามเลี่ยงประเด็นเหล่านี้ในงานของเธอ เพราะอยากจะให้คนอ่านมีความสุข อ่านแล้วเรียกรอยยิ้มในทุกครั้งที่อ่านงานของเธอ
ความใกล้ที่ยังต่าง
คิมิโกะ มัทซุอิ ชวนคุยต่อว่า ในปัจจุบันแม้เส้นแบ่งระหว่างหนังสือสำหรับเยาวชนและผู้ใหญ่จะเขยิบเข้ามาใกล้กันมากขึ้นในแง่ของประเด็นการนำเสนอ แต่ก็ยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ และในความต่างนั้น มิโตะ มะฮะระ อธิบายให้เห็นภาพโดยเปรียบเทียบว่า วรรณกรรมสำหรับผู้ใหญ่นั้นเวลามองทะเลจะเห็นไปถึงเส้นขอบฟ้า แต่วรรณกรรมสำหรับเยาวชน นักเขียนจะต้องแทนภาพตัวเองด้วยสายตาของเด็ก ภาพทุกอย่างจะปรากฏเข้ามาชัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผืนทราย ท่อนขา ประสาทสัมผัสทั้งห้าของเด็กจะต้องชัดเจน และนักเขียนจะต้องสื่อภาพตรงนั้นให้ออกมาอย่างชัดเจนที่สุด
ขณะที่ เคียวโกะ ฮะมะโนะ ระบุว่า คลังคำต่างๆ ในการใช้อธิบายสำหรับงานวรรณกรรมเยาวชนถือว่าค่อนข้างจำกัด เพราะกลวิธีในการบอกเล่าผ่านสายตาของเด็ก โดยเฉพาะเด็กชั้นอนุบาลจนถึงประถมต้องง่ายและชัดเจน อีกทั้งแก่นเรื่องในวรรณกรรมเยาวชนหรือเรื่องแต่งสำหรับเด็กจะนำเสนอความพังทลายหรือแตกสลายของเด็กไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องจะต้องจบลงแบบมีความสุข หรือ happy ending เสมอไป
ส่วนตัวมองว่าวรรณกรรมเยาวชน ถึงแม้จะจบลงด้วยความเศร้าแค่ไหน แต่สุดท้ายจะต้องคงไว้ซึ่งความหวังบางอย่าง
“นี่เป็นคำคมของวันนี้ค่ะ” คิมิโกะกล่าวเสริม เรียกรอยยิ้มบนใบหน้าของผู้เข้าร่วมเสวนาที่ต่างเห็นด้วยกับคำพูดของเจ้าของรางวัล IBBY ปี 2010
ความเป็นเด็กในหนังสือภาพ
โซโกะ จินซะกิ นำเสนอผ่านงานของตัวเองที่ถนัด นั่นคือการวาดภาพ โดยโซโกะบอกว่า หนังสือภาพสำหรับเด็กนั้นเป็นส่วนผสมระหว่างภาพกับคำ มีโครงสร้างประกอบอยู่สองโครงสร้าง ทำให้แตกต่างจากวรรณกรรมเยาวชนที่บอกเล่าผ่านตัวหนังสืออย่างเดียว
“หนังสือภาพเปรียบเสมือนการเริ่มต้นของมนุษย์จริงๆ ตั้งแต่การหัดเดิน หนังสือภาพจึงนำผู้อ่านให้กลับไปสู่วัยนั้น”
โซโกะยังกล่าวอีกว่า แม้ตัวเองจะใช้หนังสือภาพเพื่อบอกเล่ามุมมองของเด็กๆ แต่จุดประสงค์แท้จริงแล้ว คือการดึงผู้อ่าน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ให้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือภาพของเธอ
“ฉันพยายามจะเขียนหนังสือภาพให้ออกมาเป็นมนุษย์แบบที่อยากเป็น แบบที่ชอบ เพราะเวลาที่เราเติบโตขึ้น เราจะถูกบีบให้เป็นมนุษย์แบบนั้นแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ฉันชอบ”
แทนความทรงจำวัยเยาว์
เคียวโกะ ฮะมะโนะ กล่าวเสริมว่า แม้ตนเองจะเป็นนักเขียนที่มีอายุมากที่สุดที่มาในวันนี้ แต่ตนเองก็ไม่ได้มีลูก ดังนั้น ในตอนที่ลงมือเขียนหนังสือแล้วจึงไม่เคยนึกภาพตนเองในฐานะของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เลย แต่จะนึกถึงตัวเองในวัยเด็กว่าอยากจะอ่านอะไร แล้วเขียนเพื่อตัวเองในวัยเด็ก เขียนด้วยสายตาของคนที่เป็นเด็กว่า ถ้าเป็นฉันแล้วอยากจะอ่านหนังสือแบบไหน
เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชั้นสมัยมัธยมต้นที่อายุน้อยกว่าอย่าง มิโตะ มะฮะระ ซึ่งก็บอกว่า ถึงแม้จะมีลูกแล้วสองคน แต่ก็ไม่ได้เขียนด้วยสายตาของปัจจุบันหรือสายตาของคนเป็นแม่ แต่เขียนแทนตัวเองในวัยเด็กที่ค่อนข้างเศร้า เนื่องจากเป็นเด็กที่ทำอะไรไม่ค่อยได้ แล้วก็ได้แต่เสียใจอยู่คนเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเขียนออกมาเป็นหนังสือแล้วจะต้องทำให้รู้สึกเศร้าโศกเช่นนั้น
ในดวงตาของเด็ก
เคียวโกะเสริมต่อในประเด็นการเล่าเรื่องผ่านสายตาของเด็ก โดยบอกว่าแม้จะพยายามจำลองภาพในวัยเยาว์ของตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะต้องเป็นเช่นนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการพยายามเล่าด้วยสายตาของเด็กมากเกินไป คนอ่านจะรู้ได้ไม่ยากว่าผู้เขียนกำลังบอกเล่าด้วยสายตาของผู้ใหญ่ ด้วยสายตาของผู้ปกครอง
“คือจริงๆ ในแวดวงวรรณกรรมญี่ปุ่น เราค่อนข้างต่อต้านหนังสือในเชิงบทเรียน เชิงสั่งสอนมากเกินไป หรือเขียนด้วยสายตาของผู้ใหญ่ที่อยากให้เด็กอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วโตขึ้นมาเป็นในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการ หนังสือแบบนั้นสำหรับพวกเราถือว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง”
วรรณกรรมเยาวชนกับการเติบโตของเด็ก
“จุดตัดสินที่จะทำให้คนรักหนังสือหรือไม่ อยู่ที่เขาได้อ่านหนังสืออะไรในวัยเด็ก ในฐานะผู้เขียนจึงพยายามอย่างที่สุดที่จะเขียนหนังสือที่ดีเพื่อเด็ก” มิโตะ มะฮะระ ตอบคำถามหนึ่งของผู้เข้าร่วมฟังเสวนาว่า สำหรับเด็กคนหนึ่ง วรรณกรรมเยาวชนสำคัญอย่างไรต่อการเติบโตของเด็กคนนั้น
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องสำนึกรักบ้านเกิดยังถือเป็นสิ่งสำคัญที่ถูกสอดแทรกลงไปในวรรณกรรมสำหรับเยาวชน เพราะสังคมญี่ปุ่นมองว่า เมื่อพ้นวัยเด็กไปแล้ว ลูกหลานของพวกเขาจะต้องออกไปเผชิญกับโลกภายนอก กระทั่งออกไปนอกประเทศ วรรณกรรมเหล่านี้จึงพยายามทำให้พวกเขาหวนกลับมา ทำให้พวกเขาหวนคิดถึงบ้านเกิด นั่นคือญี่ปุ่น
ร่องรอยของความหวัง
“วรรณกรรมเยาวชนไม่มีข้อห้ามหรือกฎใดๆ ว่าต้องเขียนแบบไหน แต่ขึ้นอยู่กับว่านักเขียนจะคิดอย่างไรตอนสมัยที่ตัวเองยังเป็นเด็ก แล้วตอนนี้เราใช้ชีวิตอย่างไร เราอยากพูดถึงโลกที่สดใส หรืออยากพูดถึงด้านที่หม่นหมอง หรืออยากค้นหาความเป็นมนุษย์ ประเด็นอยู่ที่ว่าเราอยากสื่ออะไรในฐานะนักเขียน”
กลับมาที่คำตอบจากมิโตะต่อคำถามที่ว่า “วรรณกรรมเยาวชนมีเรื่องราวที่โหดร้ายได้แค่ไหน?” จริงอยู่ว่าแม้เราสามารถที่จะเลือกจำหรือไม่จดจำความทรงจำอันโหดร้ายในวัยเด็ก และเลือกที่จะถ่ายทอดหรือเก็บงำความทรงจำเหล่านั้นไว้กับตัว แต่ความทรงจำนั้นไม่ได้หายไปไหน เรื่องราวโหดร้ายที่ผู้ใหญ่กระทำต่อเด็กยังคงมีอยู่ และอาจจะมีอยู่ต่อไปในโลกที่ยังต้องการความหวัง ในโลกที่หากเรานึกย้อนกลับไปยังตัวตนในวัยเด็ก แล้วถามตัวเองในปัจจุบันแทนเด็กคนนั้นว่า อยากให้เขาเติบโตขึ้นมาด้วยความทรงจำแบบใด
นักเขียนจึงมีหน้าที่มอบความทรงจำนั้นแด่เด็กๆ แม้หมองเศร้าเพียงไร ความหวังต้องมี