เรื่อง: พัชรา ไชยฤทธิ์
ขึ้นชื่อว่าภาพยนตร์สารคดี หลักใหญ่ใจความคือการบอกเล่าความจริงหรือข้อเท็จจริงบางอย่างแก่สังคม หลายครั้งความจริงที่หนังนำเสนออาจสร้างความตกใจแก่คนดู Citizenfour เป็นหนังแบบนั้น มันบอกเล่าความจริงที่กระตุกใจเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของพลเมือง กับขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล ผ่าน เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน นักวิเคราะห์โครงสร้างพื้นฐาน ให้แก่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (National Security Agency: NSA) ที่ตัดสินใจออกมาเปิดเผยข้อมูลการทำงานของรัฐบาลสหรัฐแก่สื่ออย่างสำนักข่าว The Guardian ผ่านการติดต่อกับ ลอรา พอยทราส ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ของเธอในการนำเสนอภาพประเทศบ้านเกิดหลังเหตุการณ์ 9/11
คำถามเรื่องความเป็นส่วนตัว หรือ ‘Privacy’ ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารทั้งของเราและของทุกๆ คนกระจัดกระจายอยู่รอบตัว และสามารถเข้าถึงได้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ กลายเป็นเรื่องที่หลายคนตระหนักและให้ความสนใจ แต่สำหรับ Citizenfour สร้างความตระหนักให้เราได้มากกว่านั้น เมื่อภาพยนตร์เชื่อมโยง ‘ความเป็นส่วนตัว’ เข้ากับ ‘เสรีภาพ’ ระหว่าง ‘พลเมือง’ และ ‘รัฐบาล’
เราพบการทำงานที่เกินพอดี จนละเมิดความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการคิดของประชาชน รัฐบาลสหรัฐใช้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ และอินเทอร์เน็ต ลอบสอดแนมพลเมืองในสหรัฐว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่รัฐต้องการ โดยอ้างประเด็นเรื่องความมั่นคง
แน่นอนว่าสังคม โดยเฉพาะสื่อมวลชนตั้งคำถามเกี่ยวกับขอบเขตการทำงานของรัฐบาลมาโดยตลอด เพื่อถ่วงดุล ตรวจสอบอำนาจของรัฐ แต่แน่นอนว่าคำตอบที่ได้รับกลับมา จะออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง สโนว์เดนได้พิสูจน์ความจริงตรงนี้ โดยที่รัฐไม่สามารถแก้ตัวใดๆ ได้ แต่กว่าที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ หรือข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ จะเผยแพร่ออกมาได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ในฐานะนักเรียนสื่อสารมวลชน เราถูกสอนเสมอว่า ‘The Medium is the Message.’ หรือ สื่อก็คือสาร มีหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริง ที่ไม่ใช่การให้ข้อมูลอย่างเดียว แต่ต้องคอยตรวจสอบ เฝ้าระวังภัยแก่สังคม อย่างกรณีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำก็ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากความจริงนั้นเท่าไรนัก แต่ขั้นตอนระหว่างการผลิต ก่อนจะตัดสินใจเผยแพร่ มีหลายสิ่งหลายอย่างในภาพยนตร์ทำให้เราได้รู้ว่า ไม่ง่ายเลยที่จะเสนอข่าวได้ดั่งใจ เพราะมีอำนาจที่เหนือกว่าคอยควบคุมอยู่
เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามคือ หากสื่อถูกควบคุม แล้วเสรีภาพในการนำเสนอข่าวจะมีจริงไหม?
แม้จะเป็นคำถามซ้ำซากและเชยสิ้นดี เพราะใครๆ ก็ตั้งคำถามและพูดเรื่องนี้กันมานานแล้ว แต่ความจริงคือความจริง และคำถามก็ยังคงเป็นคำถามต่อไป อาจเพราะมันทั้งเป็นคำถามที่หาคำตอบไม่ได้จริงๆ หรือเลือกที่จะไม่ตอบเพราะอะไรบางอย่าง
แม้ว่าคำตอบจะมีปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ เห็นได้จากสื่อของอังกฤษอย่าง The Guardian ถูกกดดันให้ ‘ทำลาย’ ข้อมูลที่ได้รับจากสโนว์เดนทั้งหมด แต่อีกแง่หนึ่งการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ปรากฏสู่สายตาชาวโลกได้เป็นผลสำเร็จ ก็บ่งบอกว่า เรายังไม่สิ้นหวังจนเกินไปนัก
แม้จะเชื่อว่า รัฐบาลมีสิทธิ์ตรวจสอบการทำงานของสื่อ แต่ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม ขณะที่สิ่งที่ได้เห็นในภาพยนตร์ เราเห็นการทำเกินกว่าขอบเขตของคำว่า ‘เหมาะสม’ ไปมาก จนละเมิดเสรีภาพ รวมทั้งความเป็นส่วนตัวของพลเมือง
“ผมออกมาเพื่อให้เห็นว่า ผมไม่กลัว และคุณก็ไม่ควรกลัวเหมือนกัน เราทุกคนมีเดิมพันในเรื่องนี้ นี่คือประเทศของเรา…ที่ซึ่งการคานอำนาจระหว่างพลเมืองกับรัฐบาลได้กลายมาเป็นเรื่องของ ‘ผู้ปกครอง’ และ ‘ผู้ถูกปกครอง’ ไปแล้ว ไม่ใช่ระหว่าง ‘ผู้ได้รับเลือกตั้ง’ และ ‘ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง’ อีกต่อไป”
นี่คือสิ่งที่สโนว์เดนกล่าวไว้ และทำให้เราได้กลับมาตั้งคำถามถึงสิ่งต่างๆ รอบตัว ให้เราได้มีโอกาสหันมาเพ่งมองตัวเอง และสิ่งรอบข้างมากขึ้น…กว่าที่เคย
#มาตรา44ก็เช่นกัน
——————————————–
Citizenfour ยังมีรอบฉายถึงวันพุธที่ 15 เมษายนนี้