เมืองซ่อนคนจน: เมื่อความศิวิไลซ์คือการไล่คนจนออกจากเมือง

เสียงเชิญชวนจากร้านค้าหาบเร่ริมทาง เสียงประกอบพิธีกรรมจากหลากศาสนสถาน หรือแม้แต่เสียงเคลื่อนตัวของขบวนเครื่องจักรที่วิ่งตามรางไปทั่วทั้งนคร

ทุกสรรพเสียงดังกังวานราวกับจะประกาศก้องถึง ‘ความมีชีวิต’ ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก จนครองตำแหน่งเมืองจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของโลกในปี 2018 จากการจัดอันดับของ Mastercard Global Destination Cities Index (GDCI) ติดต่อกัน 7 ปีแล้ว

ความเป็นเมืองในฝันของกรุงเทพฯ ถูกขับเน้นให้เด่นชัดขึ้นผ่านแผนพัฒนามากมาย โดยเฉพาะ ‘แผนพัฒนา กทม. 20 ปี’ ที่กำหนดวิสัยทัศน์ให้กรุงเทพฯ เป็น ‘มหานครแห่งเอเชีย’ ใน พ.ศ. 2575 เป็นมหานครที่ปลอดภัย มหานครสีเขียว และเป็นมหานครสำหรับคนทุกชนชั้นอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค

คนจน
ชาตรี ประกิตนนทการ

เสียงแห่งการเติบโตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ดังกึกก้อง และมีพลังมากพอ จนมีทีท่าว่าจะกลบความทุกข์ยากของคนชายขอบในเมือง ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่พัฒนาตามแผนเหล่านี้จนหมดสิ้น

“ถ้าเอาแผนพัฒนาหลายๆ พื้นที่มากางดู จะพบลักษณะที่เหมือนกัน คือสลายพื้นที่ชุมชนแออัดเพื่อสร้างสวนสาธารณะ สร้างเลนจักรยาน อย่างเคสป้อมมหากาฬ พื้นที่นี้ไม่เหมาะกับการทำสวนสาธารณะ เพราะคุณไม่มีทางรื้อกำแพงเมืองซึ่งเป็นโบราณสถาน ทำให้กลายเป็นพื้นที่ปิดล้อมโดยปริยาย กลายเป็นเพิ่มพื้นที่ก่ออาชญากรรมขึ้นอีกแห่ง ไม่ว่าใครเป็นเจ้าของแผนพัฒนาล้วนมีจุดร่วมเดียวกันว่า ต้องไล่คนยากจนออกไปให้หมด เพื่อให้แต่ละพื้นที่พัฒนา กรุงเทพฯ ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวเป็นหลัก จะทำให้กลายเป็นเมืองที่ไม่มีชีวิตจริง ๆ แต่เป็นเมืองเพื่อการท่องเที่ยว เห็นแบบนี้แล้วก็จะเข้าใจว่า ‘มหานครแห่งเอเชีย’ ที่เขาพูดถึง หมายถึงเมืองแบบไหน” ชาตรี ประกิตนนทการ รองศาตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แสดงความคิดเห็นถึงทิศทางที่กรุงเทพฯ กำลังจะเป็น

คนจน

คลองเตยเคยอยู่

ภายใต้หลังคาสังกะสีของบ้านไม้กว่า 14,500 เรือน ซึ่งเบียดเสียดซ้อนทับจนแทบไม่มีช่องว่างโผล่ให้เห็น คือแหล่งพักพิงของผู้คนกว่า 65,000 ชีวิต

ย้อนกลับไปในช่วง พ.ศ. 2481 การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กำลังจะสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ จึงต้องการกรรมกรจำนวนมาก คนเหล่านี้เดินทางจากชนบทมาขายแรงงานและตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ของ กทท. กลายเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยถาวรถึง 43 แห่ง

80 ปีผ่านไป ราคาประเมินที่ดินบริเวณเดียวกันนี้พุ่งขึ้นมหาศาล จนพื้นที่ที่แพงที่สุดมีราคา 200,000 บาทต่อตารางวา เพราะมีทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงพยาบาล ใกล้ย่านการค้าเอกมัย-ทองหล่อ สถานศึกษา และแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมาย

ศักยภาพเชิงเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตามความเจริญในพื้นที่ทำให้ กทท. กำหนดแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) เนื้อที่ 2,353 ไร่ ถูกแบ่งเป็นโซน A และ B โดยโซน A จะก่อสร้างอาคารพักอาศัย 25 ชั้น 4 อาคาร เพื่อรองรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตท่าเรือกรุงเทพฯ 26 ชุมชน และชุมชนคลองเตยทั้งหมด รวมถึงสำนักงาน อาคารอเนกประสงค์ อาคารจอดรถ ตลาดชุมชนและร้านค้าปลีก โรงเรียน และพื้นที่สีเขียว ส่วนโซน B เป็นพื้นที่ท่าเรือ ใช้งบประมาณ 7,500 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี

ทว่าผู้นำชุมชนกว่า 26 ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับแผนพัฒนาของรัฐ หนึ่งในนั้นคือ ชัยยันต์ แจ้งเจริญ ชายวัย 64 ปี ประธานชุมชนริมคลองพระโขนง

“เขาเอาผู้นำชุมชนในเขตพื้นที่ของการท่าฯ 26 คน เข้าไปเป็นคณะกรรมการของโครงการนี้ ประชุม 2 ครั้ง แล้วหายไปเลย ไม่ได้ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม จู่ ๆ มีแผนออกมาเสร็จสรรพว่าจะสร้างอะไรบ้าง เขาจะให้ย้ายชุมชนแถว 70 ไร่มาก่อน เพราะจะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสมาร์ทซิตี้”

ชายสูงวัยอธิบายต่อไปว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา กทท. เพิ่งจัดพิธีเปิดวางศิลาฤกษ์บริเวณโรงฟอกหนังเก่า ซึ่งถูกรื้อเตรียมก่อสร้างคอนโด 25 ชั้นให้ชาวบ้านในชุมชน แต่คนในชุมชนโดยมากยังไม่ทราบรายละเอียดของโครงการ บางคนเพิ่งรู้ว่าต้องย้ายออก

ถัดไปไม่ไกล ณัฐวดี บุญเหลือ หญิงวัยกลางคนซึ่งอาศัยในชุมชนกล้วยน้ำไทตั้งแต่ยังมีทางรถไฟเทียบขนานถนน ไร้ซึ่งท่าเรือและทางด่วน อธิบายถึงตัวเลือก 3 ทางที่รัฐเสนอให้ผู้คนในชุมชนว่า หนึ่ง-กทท. จะจ่ายเงินชดเชยให้ แต่ชาวบ้านต้องกลับไปต่างจังหวัด สอง-กทท. เสนอจะสร้างบ้านที่เขตหนองจอกให้ และ สาม-ชาวบ้านทุกคนต้องย้ายไปอาศัยที่คอนโด โดยมีเงื่อนไขให้ หนึ่งทะเบียนบ้านต่อหนึ่งห้องเท่านั้น

“มันไม่ชัดเจนสักอย่าง บอกจะจ่ายเงินชดเชยก็ไม่รู้จะจ่ายเมื่อไร ที่ดินแถวหนองจอกก็เป็นที่ชุ่มน้ำ ไกล ต้องมีรถส่วนตัว ต้องเปลี่ยนอาชีพ ส่วนแฟลตก็เล็กเกินไป ขนาดห้อง 33 ตารางเมตร อยู่ได้ 3 คน แต่ส่วนมากอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ กลายเป็นว่าแออัดกว่าตอนเป็นชุมชนด้วยซ้ำ ที่แปลกคือ มีข่าวชาวบ้านเต็มใจย้าย ทั้งๆ ที่ไม่มีการพูดคุยกับชาวบ้านโดยตรง เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาก็มาเก็บค่าเช่า ไม่ได้มาเพื่อฟังความคิดเห็นชาวบ้าน เราตะโกนไปเขาก็ไม่ได้ยิน”

ทั้งนี้ บ้านที่มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย ต้องเป็นบ้านที่มีเลขที่ซึ่งได้รับจากการสำรวจสำมะโนครัวของคนในชุมชนโดย กทท. เมื่อ พ.ศ. 2535 ดังนั้น หากใครที่ย้ายเข้ามาหลังจากนี้จะไม่ได้รับข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้น

คนจน

ส่วนชาวชุมชน 70 ไร่ อย่าง บรรลือชัย สะอาดดี ผู้ประกอบอาชีพเก็บของเก่าขายเล่าถึงปัญหาว่า ตนเป็นเพียงผู้เช่าอาศัย บ้านไม่มีเลขที่ท่าเรือ ไม่มีทะเบียนบ้าน หากวันรื้อถอนมาถึง ก็ต้องจากไปโดยไร้ซึ่งสิทธิ์โต้แย้งใดๆ

“จะไปยืนถือป้ายสู้เขาก็ไม่ไหวอยู่แล้ว ดูข่าวจบ ก็นอนมือก่ายหน้าผากเลย ได้แต่ภาวนาว่า วันนั้นอย่าเพิ่งมาถึงไวนักเลย หลานๆ เราจะอยู่กันยังไง” กล่าวจบ เขาก็นั่งเงียบอยู่ครู่หนึ่ง พลางมองหลานอีก 4 ชีวิต ที่นั่งเล่นกันท่ามกลางหมอนและตุ๊กตาเปื้อนฝุ่น ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “เรามันลำบาก คนจนมันลำบาก”

การัญ เพิ่มลาภ มูลนิธิดวงประทีป เปิดเผยว่า การทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมเลย แบบตึกก็ก็อปปี้มาจากแฟลตดินแดง ก่อนหน้านี้ชาวบ้านในชุมชนบางส่วนเคยถูกโยกย้ายให้ไปอยู่แถววัชรพลและหนองจอก เมื่อไปถึง ชาวบ้านไม่มีอาชีพ ต้องย้ายกลับมาที่เดิม สะท้อนว่า กทท. ไม่ได้คิดว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องมาจากฐานล่าง ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนา

ส่วน นิตยา พร้อมพอชื่นบุญ หนึ่งในคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชุมชนคลองเตยฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิดวงประทีป กล่าวถึงผลที่จะตามมาของการรื้อย้ายชุมชนคลองเตยว่า เหตุการณ์นี้คล้ายกับเรื่องป้อมมหากาฬ สำหรับคนจนการจะเปลี่ยนแปลงอะไร เขาต้องเสียเงิน เสียสภาพความเป็นอยู่ที่เคยอยู่รอด เพราะเขาไม่สามารถทำงานที่มีเงินเดือนได้ เนื่องจากความรู้น้อย ต้องรับจ้างรายวัน ยากต่อการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีค่าใช้จ่ายสูง

“ทางออกของเรื่องนี้คือการพัฒนาคน ไม่ใช่การต่อต้านขัดขืน แต่ต้องเป็นการพัฒนาคนให้มีชีวิตต่อได้ เราไม่อยากให้ใครมาตราหน้าว่า ‘พวกสลัมช่วยเท่าไรก็ไม่พ้นสักที’”

คนจน

เจ้าพระยาของใคร

“เดินเร็วเลยครับ เรือเทียบท่าแล้ว two lines! fast! fast!”

บนท่าเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาใต้สถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน ผู้คนคละเชื้อชาติกว่าครึ่งร้อยเบียดเสียดตามแถวในเส้นทางเดินด้านหลังเพื่อทยอยขึ้นเรือ ซึ่งมุ่งหน้าสู่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ริมเจ้าพระยา แลนมาร์คใหม่ของฝั่งธนบุรีที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลาย พ.ศ. 2561

ไม่เคยมียุคสมัยใดที่วิถีชุมชนริมฝั่งแม่น้ำและวัดวาอารามริมเจ้าพระยาเผชิญความเปลี่ยนแปลงเท่าห้วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประตูสู่ความทันสมัยถูกเปิดกว้างตั้งแต่การมาของ ASIATIQUE The Riverfront ตามด้วย Chao Phraya For All ทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งส่งผลให้ชุมชนริมแม่น้ำ 13 ชุมชนต้องย้ายออกจากพื้นที่และ ‘แผนแม่บทวิสัยทัศน์แห่งแม่น้ำเจ้าพระยา’ ซึ่งมี ICONSIAM เป็นแม่งานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด 5 แห่ง มูลค่าสูงถึง 142,000 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาที่ดินบริเวณนี้อยู่ที่ประมาณ 300,000 บาทต่อตารางวา และคาดว่าเมื่อหอชมเมืองกรุงเทพมหานครสร้างเสร็จ มูลค่าที่ดินแถบนี้จะทะยานขึ้นไปอีก

คนจน

สมสุข สมทรง ประธานชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะใช้สร้างหอชมเมืองเล่าว่า พอทราบว่าจะสร้างหอชมเมือง ชุมชนยินดีที่ที่ดินได้รับการพัฒนาแต่กังวลเรื่องฝุ่นจากการก่อสร้าง ดินทรุด และเสียงรบกวน แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วย ส่วนเรื่องเวนคืน ไม่กังวล เพราะที่ดินในชุมชนส่วนใหญ่สมาชิกชุมชนเป็นผู้ถือครอง

ขณะที่ บุญเที่ยง วงศ์กำภู หรือเพียง วัย 68 ปี เจ้าของบ้านไม้ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินที่จะใช้ก่อสร้างหอชมเมืองกล่าวว่า ตนเช่าบ้านอยู่และไม่มีสัญญาเช่าที่แน่นอนกับเจ้าของที่ดิน

“เราไม่ได้คัดค้าน แต่กังวลว่าจะต้องย้ายออก ถ้าเจ้าของที่ดินตัดสินใจขายให้นายทุน เพราะปัจจุบันพื้นที่ริมแม่น้ำแพงขึ้นมาก คนในชุมชนที่เช่าพื้นที่อยู่มีประมาณ 7 หลังคา เจ้าของว่ายังไงก็ต้องตามนั้น เราจ่ายค่าเช่าบ้านเขา แค่เดือนละสองร้อยกว่าบาท เขาแทบจะไม่ได้อะไร แต่ถ้าต้องย้ายจริง ๆ จะไปอยู่ที่ไหนยังไม่รู้เหมือนกัน”

ในขณะที่ นง หรือ นงวรรณ พุมาเกลียว อายุ 59 ปี เพื่อนบ้านของเธอเพียงเล่าว่า ครั้งแรกที่ทราบข่าวก็กังวลว่าจะต้องรื้อบ้านย้ายออก เนื่องจากบริเวณนี้จะถูกสร้างเป็นหอชมเมือง และบ้านที่อยู่ก็ไม่ได้สวยงาม ไม่ใช่สิ่งที่นักท่องเที่ยวอยากเห็น

“ถ้าต้องย้าย อยากให้บอกล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัว แต่ส่วนตัวไม่อยากย้ายกลัวว่าครอบครัวจะกระจัดกระจาย ลูกสาวเตือนว่า ถ้าเขาจะไล่จริงๆ ก็เออออไปก่อน อย่าต้านเขา กลัวว่าบ้านจะถูกเผา เพราะหลายๆ ที่โดนเผาไล่กัน เราค้านไม่ได้”

คนจน

ป้อมมหากาฬแตกพ่าย

กำแพงสีขาวยาวกว่า 180 เมตร ตั้งตระหง่านตรงข้ามวัดราชนัดดาราม ทิศเหนือของกำแพงมีป้อมขนาดใหญ่ทรงแปดเหลี่ยม ที่เคยใช้เป็นปราการรักษาพระนครมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ป้อมมหากาฬ’

ปัจจุบันพื้นที่ป้อมมหากาฬได้รับการปรับแต่งภูมิทัศน์ตามแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานและเป็นแหล่งท่องเที่ยว พื้นที่ภายในกำแพงถูกปรับเปลี่ยนเป็น ‘สวนป้อมมหากาฬ’ สวนสาธารณะขนาดย่อม ซึ่งกรุงเทพมหานครตั้งใจให้เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คสำหรับนักท่องเที่ยว

ภายในสวนสาธารณะยังคงมีร่องรอยของชุมชนเดิมที่เคยอาศัยอยู่ภายในป้อม ด้านหลังของสวนป้อมมหากาฬยังมีศาลพ่อปู่ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวชุมชนนับถือ

26 ปีแห่งการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬและกรุงเทพฯ ยุติลงแล้ว โดยชาวบ้านเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และกำลังอยู่ระหว่างปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่

เล็ก หนึ่งในคณะกรรมการที่ต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านในชุมชน เพื่อสิทธิ์จะได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่อไป ย้อนความทรงจำในห้วงเวลานั้นว่า สุดท้ายการต่อสู้ของชุมชนไม่ใช่แค่บ้านเรือนที่ถูกทำลาย แต่ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนก็พังทลายลงด้วย

“ทุกอย่างมันสลายไปหมด ชุมชนเราแตกออกเป็นเสี่ยงๆ สถานที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงลิเกแห่งแรกของกรุงเทพฯ ตรอกนกเขา ลานกิจกรรมลานวัฒนธรรมที่เราเคยสร้างไว้หายไปหมด”

นอกจากบ้านจะถูกทำลาย วิชาชีพอื่นๆ ในชุมชนอย่าง การทำบาตรพระ ทำกรงนก หรือแม้แต่อาชีพช่างปั้นเศียรพระของเล็กเองก็ต้องหยุดพักไปด้วย เนื่องจากสถานที่ไม่เอื้ออำนวย

“ตอนนี้เหลือเราคนเดียวแล้ว ที่ยังปั้นเศียรพระด้วยมือ แต่ก็ไม่ได้ทำมาพักใหญ่แล้ว”

เล็กตัดสินใจพาชาวบ้านอีก 20 ครอบครัว ไปหาที่อยู่แห่งใหม่ ถัดมาอีก 1 ปีชาวบ้านที่เหลือก็ย้ายออกมาจากชุมชน ปิดฉากการต่อสู้ของชุมชนป้อมมหากาฬที่บัดนี้กลายเป็นชุมชนที่ถูกลบออกไปจากประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร

บ้านใหม่ของอดีตชาวชุมชนป้อมมหากาฬตั้งอยู่บนผืนดินของกรมธนารักษ์บริเวณหลังรัฐสภา แถววัดแก้วฟ้าจุฬามณี เกียกกาย ซึ่งยังอยู่ในเขตเมือง และไม่ไกลจากป้อมมหากาฬ ชาวบ้านจึงมีความคุ้นเคย ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ และมีลู่ทางทำมาหากิน เพราะอยู่ใกล้กับรัฐสภา สามารถค้าขายได้

“เรากู้เงินจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) 8 ล้านบาท หารตามจำนวนชาวบ้าน จะได้คนละประมาณ 200,000 บาท เป็นค่าเช่าที่และสร้างบ้าน ต้องผ่อนจ่ายกับ พอช. คนละประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน รวมกับเงินสหกรณ์ที่เก็บจากชาวบ้าน เพื่อใช้สร้างทาวน์โฮม 2 ชั้นขนาด 3.5 x 6 ตารางเมตร”

ระหว่างรอที่พักแห่งใหม่ที่จะเสร็จประมาณกลาง พ.ศ. 2562  พวกเขามีอาคารโบราณสไตล์ยุโรปสูง 6 ชั้น แถวการประปานครหลวงเก่า แยกแม้นศรีเป็นที่พักชั่วคราว

“กทม. ควรมีวิธีช่วยเยียวยาความเดือดร้อนของชาวบ้าน นี่เอาคนออกจากพื้นที่แล้วไม่เคยไปดูว่าเขาจะอยู่ยังไง ถ้าคิดว่าคนแค่ 200 คนเดือดร้อนไม่เป็นไร มีคนได้รับผลประโยชน์อีกเยอะ ต่อให้ 1 คน มันก็คือ ชีวิต”

เล็กและชาวป้อมมหากาฬเคยกลับไปที่สวนสาธารณะที่กรุงเทพฯ สร้างขึ้น ในมุมของเขา สวนสาธารณะที่สร้างไม่มีความน่าสนใจ

“เขาทำลายสิ่งที่เคยเป็น แล้วเอาป้ายมาปักว่าที่นี่เคยเป็นอย่างนี้ ใครจะเข้าใจ เหมือนเราดูหนัง พออยากจะไปดูของจริง มันก็ไม่มีให้ดูแล้ว”

คนจน

นางทองดี (นามสมมุติ) วัย 50 ปี ซึ่งพักอาศัยอยู่ชุมชนข้างๆ ป้อมมหากาฬ เล่าว่า หลังจากที่สร้างสวนสาธารณะเสร็จก็มีนักท่องเที่ยวมาเดินเล่นที่สวนบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเข้ามาเพื่อถ่ายรูปชุมชนใกล้เคียง

“งบ 69 ล้านบาท ดูสภาพเอาเอง กำแพงป้อมก็ทาสีครึ่งๆ กลางๆ ไฟในสวนก็เสียทั้งๆ ที่สร้างได้ไม่ถึงปี ตอนกลางคืนนี่มืดทั้งสวนเลย”

สิ่งที่เกิดขึ้นที่ป้อมมหากาฬชวนให้นึกถึงคำกล่าวของ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ตัวแทนกลุ่มมหากาฬโมเดลที่เคยให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า “ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นเคสที่แทนวิสัยทัศน์การสร้างเมืองของประเทศไทย เมื่อเราอยากทำให้ที่ที่หนึ่งสะอาด แต่เห็นว่ามีคนจนหรือคนที่อยู่กันในชุมชนแออัด เราก็ไล่เขาออกไปจากชุมชนที่เขาใช้ชีวิตกันมา แล้วสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาทดแทน เช่น สร้างตึกที่ทันสมัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคม ทุกอย่างมันออกแบบมาให้สังคมเราเหลื่อมล้ำกันไปหมด”

ที่ของทุกคน

3 ชุมชน 3 เหตุการณ์ ทั้งห่างไกลและใกล้ชิด ดูเผินๆ อาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่กลับมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่

“คำว่า ‘ที่ของรัฐ’ มันเป็นแค่คำเรียก ไม่มีอยู่จริง ความจริงแล้วคำว่า ‘ของรัฐ’ แปลว่าของประชาชนเสียภาษีจ้างให้รัฐมาบริหารจัดการ รัฐเป็นแค่ยามเฝ้าที่ ดังนั้น จะบอกว่าคนบุกรุกที่ของรัฐนั้นไม่ถูก เพราะมันเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน ซึ่งควรนับรวมทุกคนไม่ใช่แค่ชนชั้นกลาง” ชาตรีขยายความหมายของคำว่า ‘ที่ของรัฐ’ ให้กระจ่างยิ่งขึ้น

เขายังเสริมอีกว่า เรื่องราวทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นภาพสะท้อนให้ การพัฒนาพื้นที่เพื่อชนชั้นกลางในเมืองกรุง ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างเช่น การมองทุกชีวิตเป็นบล็อกเดียวกันไปหมด สะท้อนผ่านเรื่องราวของชุมชนคลองเตย ซึ่งกำลังเผชิญกับการบีบบังคับให้ผู้คนย้ายไปอาศัยในแฟลตที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อพวกเขา เพราะการอาศัยอยู่ในคอนโด เป็นวิถีการดำเนินชีวิตของคนชนชั้นกลาง และนักท่องเที่ยว ไม่ใช่ชาวบ้านที่ไม่อาจจ่ายค่าครองชีพราคาสูงเช่นนี้ได้

ส่วนชุมชนป้อมมหากาฬที่ถูกเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ ก็ชัดเจนว่าเป็นไลฟสไตล์สำหรับชนชั้นกลาง เพราะพื้นที่ของสวนสาธารณะมีไว้เพื่อออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน ซึ่งไม่ใช่กิจกรรมสำหรับคนจน ประเด็นนี้ ชาตรีเคยเสนอทางออกให้เปลี่ยนจากการเวนคืนที่ เป็นการสร้างพิพิธภัณฑ์ชีวิต โดยให้คนในชุมชนบริการนักท่องเที่ยว ที่จะมาเยี่ยมชมวิถีชีวิต และมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อให้พื้นที่กลายเป็นที่สาธารณะที่แท้จริง

ขณะที่ การสร้างหอชมเมืองที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แตกต่างจากกรณีอื่นๆ เนื่องจากพื้นที่ถูกพัฒนาร่วมกับเอกชน แต่ชาตรีก็ย้ำว่า ต้องมองให้เห็นถึงการเกื้อหนุนกันของภาครัฐและเอกชน เช่น การสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเพื่อให้เกิด ICONSIAM ส่วนหอชมเมืองที่จะถูกสร้างขึ้นก็ต้องเข้าทาง ICONSIAM ดังนั้น ด้วยระบบทุนนิยม ราคาพื้นที่ในละแวกนั้นก็จะสูงยิ่งขึ้น กลายเป็นแหล่งลงทุน จึงมีความเป็นไปได้ที่ชุมชนจะถูกบีบให้ย้ายออกจากการพัฒนาพื้นที่รอบด้านจนไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตเดิมได้ต่อไป ด้วยวิถีชีวิต ภาพลักษณ์ของการอยู่อาศัย ที่ถูกมองว่า ‘ไม่เหมาะ’ กับพื้นที่พัฒนา

ชาตรีเสริมว่า ภาครัฐสามารถจัดสรรพื้นที่ให้กับผู้มีรายได้น้อยได้ เหมือนที่จัดพื้นที่สีเขียวอย่างบางกะเจ้า เพื่อสร้างเป็นปอดกรุงเทพฯ ให้กับคนชนชั้นกลาง ผู้มีรายได้น้อยเองก็นับเป็นประชาชนเหมือนกัน ดังนั้น รัฐควรจัดพื้นที่เพื่อทุกคน มากกว่าจะให้แค่คนกลุ่มเดียว

“ทัศนคติของรัฐกับคนชนชั้นกลางที่มีต่อคนจน คือไม่อยากให้เขาอยู่ในเมือง ต้องการไล่ออกไป เพื่อทำให้เมืองสวยขึ้น แต่ก็ขาดไปไม่ได้ เช่น ใครจะกวาดถนน ใครจะเก็บขยะ ฉะนั้น ก็จงมาแค่ทำงานพอเสร็จแล้วก็ออกไป มีหน้าที่แค่เซอร์วิสพวกเขา”

‘เสียง’ เหล่านี้สะท้อนความจริงที่ว่า แผนพัฒนาเมืองที่ผ่านมา แยกคนออกจากเมือง รัฐพัฒนาเมืองโดยรื้อถอนวัตถุที่ตรงข้ามกับความเจริญ แล้วสร้างความเจริญที่ต้องการขึ้นมาใหม่ แทนที่จะพัฒนาคนจนในเมืองให้หลุดพ้นจากความยากจน คนจนไร้ที่อยู่อาศัยถูกขับไล่ให้พ้นจากที่ดินจึงปรากฏให้เห็นตลอดหน้าประวัติศาสตร์การพัฒนาเมือง

มหานครแห่งเอเชียในปี พ.ศ. 2575 ที่คนทุกชนชั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาค สมานฉันท์จึงยากจะเป็นจริง

ผู้เขียน: จิรัชญา ชัยชุมขุน, พระจันทร์ เอี่ยมชื่น, เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา
ภาพ: ศรุตยา ทองขะโชค
นักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์​ เอกวารสาร​และหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัย​ศิลปากร

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า