มูมิน: ครอบครัว สงคราม และความหลากหลายทางเพศ

ตูเว ยานซอน (Tove Jansson) ผู้เขียนและให้กำเนิดเรื่องราวแสนอบอุ่นอย่าง ‘มูมิน’ เคยให้สัมภาษณ์ในช่วงที่มูมินดังสุดขีดจนดิสนีย์มาขอซื้อลิขสิทธิ์ขาดว่า

ไอ้มูมินบ้าพวกนั้น ฉันไม่อยากทำมันอีกแล้ว จะอ้วกออกมาเป็นมูมินอยู่แล้ว

แต่สุดท้ายเธอกลับไม่ยอมขายลิขสิทธิ์มูมินให้กับดิสนีย์ ตูเวเป็นศิลปินที่ผ่านการฝึกฝนหนักตั้งแต่เด็ก เธอรักความสันโดษ ชีวิตเรียบง่าย และงานศิลปะ ตูเวทำงานศิลปะหลากแขนง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือภาพ นวนิยาย ภาพประกอบ การ์ตูน ภาพวาด บทละคร บทละครวิทยุ หรือแม้กระทั่งการแต่งเพลง

ทว่าชีวิตเธอมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลายต่อหลายครั้งที่เธอต้องยอมทำงานที่ไม่ได้ชอบมากนักเพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวศิลปินของเธอ บันทึกของเธอเต็มไปด้วยความรู้สึกขัดแย้งระหว่างความสุขและหน้าที่ มูมินถือเป็นงานที่เธอทั้งรักและอึดอัดด้วยเหตุผลหลายประการ

กำเนิดมูมิน: บทสนทนาในครอบครัว

วันหนึ่งในฤดูร้อน พี่สาว ตูเว ยานซอน และน้องชาย แพร์ โอลอฟ ยานซอน (Per Olov Jansson) คุยกันตามประสาพี่น้องในกระท่อมไม้หลังเล็กทาสีแดงหม่น ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตามแนวหินยักษ์ริมทะเลสาบราบเรียบราวกระจก ไม่มีอะไรไหวติง นอกจากต้นกกริมน้ำที่ลู่ไหวไปตามลม (กระท่อมหรือบ้านพักตากอากาศฤดูร้อนนี้ตั้งอยู่ในชุมชนเปลลิงกิ Pellinki หรือ Pellinge เป็นชุมชนชาวเกาะแก่งกลางทะเลสาบ ห่างออกไปจากกรุงเฮลซิงกิ 80 กิโลเมตร ณ เมืองโปรโว หรือ Porvoo ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งตูเวในวัยเด็กใช้เวลาอยู่ที่นี่มากทีเดียว) ทั้งสองเอาชนะคัดคานกันด้วยเรื่องปรัชญาของ เอ็มมานูเอล คานท์ (Emmanuel Kant) ที่ตูเวเป็นคนยกคำพูดขึ้นมาอ้าง แต่กลับถูกน้องชายสบประมาท เธอไม่พอใจ และเอาคืนน้องชายด้วยการวาดตัวละครที่หน้าตาน่าเกลียดที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะจินตนาการได้เอาไว้บนกำแพงห้องน้ำบ้านหลังนั้น 

เธอตั้งชื่อตัวละครตัวนั้นว่า ‘สนอร์ค’ (Snork)

ต่อมาในยุค 1930 ลุงของตูเว ไอนาร์ ฮัมมาร์เตน (Einar Hammarsten) ซึ่งเป็นหมอ เริ่มสังเกตว่า ตูเวชอบกินอาหารตอนกลางคืน จึงเริ่มตักเตือนเธอด้วยการเล่าว่า ในตู้กับข้าวมี ‘มอ-อู-มู มินโทรล’ อาศัยอยู่ในนั้น เขาเล่าว่าพวกมูมินจะแนบจมูกเย็นๆ บนขาเด็กๆ และเป่าลมเย็นๆ รดต้นคอของเธอ แถมยังเล่าต่อว่า พวกมันอาศัยอยู่หลังเตาในครัว จนกลายเป็นนิทานประจำบ้านระหว่างลุงและหลานไปในที่สุด ตูเวใช้ชื่อมูมินโทรลเล่าถึงสิ่งที่น่ากลัวหรือเหมือนภูตผี ดังจะเห็นได้ในบันทึกของเธอว่า มูมินยุคแรกมีแต่ตา ผอมชะลูด ไม่มีหาง หรือหู (บันทึกจากปี 1922)

มูมินยุคแรกมีทั้งสีขาวและสีดำ ดังที่ปรากฏอยู่ในตัวอย่างนี้

เมื่อตูเวเริ่มเข้าทำงานให้กับนิตยสาร การ์ม (Garm) ในฐานะนักวาดภาพประกอบแนวเสียดสี ตัวละครหน้าตาคล้ายกับมูมินโทรลก็ปรากฏอยู่ในงานของเธอ มูมินใน การ์ม สีขาว จมูกยืดยาว และมีหูเล็ก

ในที่สุด ปี 1939 มูมินและน้ำท่วมใหญ่ (The Moomins and the Great Flood) หนังสือเล่มแรกเกี่ยวกับครอบครัวมูมินก็ถือกำเนิดขึ้น ตูเวเลือกใช้ชื่อ ‘มูมิน’ ที่ลุงไอนาร์เคยเล่าไว้ในนิทานกับตัวละครหลักของหนังสือเล่มนี้

มูมิน: สงคราม การพลัดพราก และการพาตัวและใจให้รอดไปวันๆ

ยามค่ำคืนเครื่องบินบินเป็นฝูงคลื่นอยู่เหนือหัวพวกเรา เสียงปืนดังสนั่นกลางกรุงเฮลซิงกิตั้งแต่เวลาห้าทุ่มถึงตีสี่

จดหมายจากตูเว ถึง เอวา โคนิคอฟฟ์ (Eva Konikoff) เพื่อนสนิทของเธอ ลงวันที่ 25 สิงหาคม 1942

มูมินกับน้ำท่วมใหญ่ ตีพิมพ์ในปี 1945 ซึ่งถือเป็นเวลาที่ครอบครัวยานซอนระส่ำระสาย แพร์ น้องชาย และ ตาปิโอ ตาปิโอวารา (Tapio Tapiovaara) คนรักของเธอในขณะนั้น เพื่อน และเพื่อนศิลปินคนอื่นๆ ต้องเข้าร่วมสงคราม [1] รวมถึงเพื่อนสนิทคนสำคัญ เอวา ที่ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา ความกังวล ความไม่แน่นอนของชีวิต ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นถ้อยคำในจดหมายถึงเอวาอีกหนึ่งฉบับ

ความจริงตอนนี้คือชีวิตก็แค่ต้องรอไปวันๆ คนคนหนึ่งเพียงแต่ได้มีชีวิต ทว่าไม่ได้ใช้ชีวิตหรอก

การที่เธอไม่รู้ว่าจะได้พบหน้าน้องชายอีกครั้งหรือเปล่า ทำให้เธอต้องต่อสู้และพยายามอย่างยิ่งที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความหวัง และเชื่อมั่นในความหวังนั้น และแม้ว่าช่วงเวลาแห่งสงครามจะเต็มไปด้วยการลาจาก ความไม่สงบ ความกลัว การทอดทิ้ง ความเจ็บป่วย และความตาย เรื่องราวของมูมินยังคงแฝงไปด้วยความมานะอดทนเพื่อตามหาคนรัก ความเอื้ออาทรต่อชีวิตอื่นๆ ซึ่งมีความแตกต่างจากตนเองที่เหล่ามูมินได้พบเจอ แม้ในวันที่ตนเองก็กำลังอยู่ในภาวะยากลำบาก ความสงบที่หาได้จากห้วงเวลาเหล่านี้ ถือเป็นแสงสว่างส่องทางเล็กๆ ในช่วงสงครามอันมืดมนสำหรับผู้อ่าน

สำหรับผู้เขียนอย่างตูเว เรื่องราวของมูมินถือเป็นทั้งบันทึกและพื้นที่ปลดปล่อยเรื่องราวความโศกเศร้าและความวิตกกังวลในห้วงสงครามผ่านเรื่องราวของน้ำท่วมใหญ่ในดินแดนมูมิน

หน้าปกตอน มูมินกับน้ำท่วมใหญ่ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1945

เธอเล่าเรื่องความรู้สึกตนเองที่ต้องรอคอยฟังข่าวคราวของคนในครอบครัว โดยไม่สามารถล่วงรู้ถึงชะตากรรมของพวกเขา ผ่านการผจญภัยที่คุณแม่มูมินและมูมินเดินทางในป่ามืดมิด เพื่อตามหาคุณพ่อมูมินที่ออกไปผจญภัยกับเหล่า แฮตตี้แฟตเทนเนอร์ (Hattifatteners) เจ้าตัวโย่งโปร่งแสง ไม่หลับไม่นอน มีบุคลิกแปลกประหลาด และชอบเดินทางเป็นหมู่คณะ และครอบครัวมูมินที่แยกจากกันต้องเดินทางผจญภัยต่อไปเรื่อยๆ ตามหนทางของตนเอง ทั้งหมดต่างไปพบเจอกับประสบการณ์ต่างๆ จากการเดินทาง การช่วยเหลือผู้อื่น จนในที่สุดครอบครัวมูมินก็ได้กลับมาพบหน้ากันอีกครั้ง

มูมิน: ความหลากหลายทางเพศ…ที่เลือกได้

มูมินตอน มนตร์มูมิน (Finn Family Moomintroll) มีตัวละครใหม่สองตัวคือ ทิงกัมมี่ แอนด์ บ๊อบ (Thingumy and Bob) หรือในบทแปลภาษาไทยคือ ‘เจ้านั่น’ กับ ‘เจ้าโน่น’ ทั้งสองนำกระเป๋าเดินทางลึกลับใบหนึ่งเข้ามายังหุบเขามูมิน และคุยกันด้วยภาษาที่ไม่ค่อยมีใครเข้าใจนัก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือทั้งสองเข้าใจกันเป็นอย่างดี ในกระเป๋าเดินทางลึกลับใบนั้นทุกคนได้แต่เรียกสิ่งของที่อยู่ในนั้นว่า ‘เนื้อหา’ ซึ่งใครๆ ในหุบเขาต่างสงสัยใคร่รู้ จนกระทั่งมีการตั้งศาลจำลองขึ้นมาตัดสินคดีความ ‘กระเป๋าเดินทางลึกลับและ ‘เนื้อหา’ ในนั้น’  เพื่อระบุว่าใครมีสิทธิ์ในเนื้อหานั้น ทั้งสองเดินจับมือกันเสมอและไม่ยอมบอกใครทั้งสิ้นว่าเนื้อหาคึออะไร

แต่ในที่สุด เจ้าโกร๊ก (Groke) สัตว์ประหลาดยักษ์ผู้เหงาหงอยและเป็นต้นแบบของความ ‘หว่อง’ ที่แท้จริง ‘เนื้อหา’ ที่เจ้าโกร๊กพยายามไล่ล่าจากทั้งสองนั้นคือ ‘ทับทิมเม็ดหนึ่ง ใหญ่เท่าหัวเสือดำ รังสีที่เปล่งออกมานั้นราวอาทิตย์อัสดง’

ทับทิมเม็ดนี้อาจเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความสัมพันธ์ระหว่างตูเว และ วิวิกกา แบนด์เลอร์ (Vivicka Bandler) คนรักของเธอซึ่งแต่งงานแล้ว เรื่องราวของคนสองคนที่ไม่มีใครสามารถเข้าใจได้กำลังพยายามปกป้องความรักของตนเอง ขณะที่ยังมองเห็นว่าคนอื่นๆ ก็กำลังตามหาความรักอยู่เช่นกัน อันที่จริงเจ้าโกร๊กในตอน ไม่ได้ปรารถนาทับทิมราคาแพงหรอก แต่เธอกำลังตามหาความรักซึ่งถือเป็นเนื้อหนัง หรือ เนื้อหาของชีวิตอยู่เช่นเดียวกับคนอื่นๆ

ความรักของทั้งสองถือเป็นความรักที่เปิดเผยไม่ได้ในยุคนั้น เนื่องจากความรักของหญิงสองคนยังไม่เป็นที่ยอมรับ แต่เมื่อทั้งสองเปิดเผยเรื่องราวต่อชาวเมืองมูมิน มูมินโทรลกล่าวว่า “มหัศจรรย์ วันหลังฉันกลับมาดูอีกได้ไหม”

มหัศจรรย์!

ปี 1956 ตูเว ได้พบเพื่อนศิลปิน ตูลิกกิ เปียติลา (Tuulikki Pietilä) หรือ ตูตี้ (Tooti) ตูเวรีบขอตูตี้เต้นรำ แต่ถูกปฏิเสธกลับมา เพราะไม่ต้องการทำตัวขัดกับขนบสมัยนั้น แต่หลังจากที่ตูเวได้ไปพบกับตูตี้ที่อพาร์ตเมนต์กลางดึกฤดูหนาว ทั้งสองใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ดื่มไวน์ ฟังเพลง จากคืนนั้นตูตี้จึงกลายมาเป็นคู่ชีวิตของตูเวตราบจนลมหายใจสุดท้ายของเธอ และใช้เวลาอยู่ด้วยกันบนเกาะที่มีชื่อว่า โกลฟฮารุ (Klovharu) เป็นเวลาเกือบ 30 ปี

ตูเวและตูตี้และชีวิตบนเกาะอันสันโดษ ซึ่งเป็นความฝันของตูเวที่จะได้เป็นเจ้าของเกาะสักแห่ง

ตูเวจึงสร้างตัวละครสำคัญ ทูทิกกี้ (Too-Ticky) ทูทิกกี้ผู้เป็นดังแสงสว่างคอยชี้แนะมูมินโทรลให้สามารถก้าวข้ามผ่านฤดูหนาวอันโหดร้ายและช่วงเวลาอันยากลำบากไปได้ (เล่ม เมืองมูมินกลางฤดูหนาว หรือ Moominland Midwinter เขียนขึ้นในช่วงที่ทั้งสองเริ่มต้นความสัมพันธ์กัน) และหนังสือภาพเรื่อง ใครจะปลอบทอฟเฟิลล่ะ (Who will comfort Toffle?) ซึ่งทอฟเฟิลตัวละครขี้กลัว ไม่พูดไม่จากับใคร ค่อยๆ เอาชนะความกลัวของตนเองโดยการผูกมิตรกับมิฟเฟิล ผู้ซึ่งเป็นคนขี้กลัวเช่นกัน ถือเป็นเรื่องราวที่ตูเวอุทิศให้กับตูลิกกิ ลมใต้ปีกคนสำคัญของเธอ

หมายเหตุ:
[1]

สงครามฤดูหนาว (Winter War) ระหว่างฟินแลนด์และสหภาพโซเวียต (โดยการนำของสตาลิน) ระหว่างปี 1939-1940 ทำให้ฟินแลนด์เสียดินแดนแถบการ์เรเลีย (Karelia) หรือดินแดนทางตะวันออกระหว่างพรมแดนฟินแลนด์และรัสเซีย ต่อมาในปี 1941-1944 ฟินแลนด์และสหภาพโซเวียตต้องตกอยู่ในภาวะสงครามอีกครั้ง (Continuation War)


อ้างอิง
  • moomin.com
  • bbc.com
  • Boel Westin “Tove Jansson: Life, Art, Works: The Authorised Biography

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

Illustrator

ชิน เอกก้านตรง
กราฟิกดีไซเนอร์ผู้มีลายเส้นมักน้อย แต่บรรจุความหมายในปริมาณตรงข้ามลายเส้น ‘Shhhh’ เป็นอีกนามหนึ่งที่เขาใช้ผลิตงานศิลปะ ซึ่งสร้างความยากลำบากในการออกเสียงให้ถูกต้อง แหล่งวัตถุดิบในการทำงานของเขามาจากคณะตลกทั่วฟ้าเมืองไทย เพลงอินดี้พ็อพ เพลงสตริงคอมโบไทยยุคอิเล็กโทนครองเมือง และบาร์หลายแห่งในพระนครยามค่ำคืน (ศิลปกรรม WAY ถึงปี 2560)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า