Gaokao – ตามติด 72 ชั่วโมงระทึก

ภาพประกอบ: Shhhh

 

ผลการสอบ admission ที่เพิ่งประกาศไปสดๆ ร้อนๆ อาจทำให้บางคนดีใจ บางคนเศร้าใจ แต่ไม่เป็นไรนะ เดินต่อไป วันนี้ชวนพักใจด้วยการเดินทางไปสำรวจการสอบ Gaokao ในประเทศจีน ที่เราจะขอการันตีความพีคหลากหลายประการเอาไว้ ณ ที่นี้ พร้อมหรือยัง?

คำแนะนำ

กรุณาอ่านพร้อมเลือกจินตนาการเป็นนักเรียนหรือผู้ปกครองที่นี่ดู หากพบว่าเหนื่อยเกินไป ลองหยุดอ่านสักครู่ พักจิบน้ำเย็นหรือกินของว่าง แล้วค่อยกลับมาอ่านต่อจนจบ

72 ชั่วโมงระทึก

Gaokao หรือ 高考 เป็นชื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของจีน หากแปลคำนั้นกันตรงๆ เป็นภาษาอังกฤษจะได้คำว่า ‘high test’ ซึ่งอาจแปลเป็นไทยว่าการสอบระดับสูง และการสอบนี้ก็ ‘สูง’ จริงๆ ในหลายมิติของสังคมจีน เพราะเป็นการสอบครั้งที่สำคัญที่สุดในชีวิต สำคัญถึงขนาดชี้เป็นชี้ตาย พลิกชีวิตหนุ่มสาวชาวจีนมานักต่อนักแล้ว เพราะสอบได้เพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น จนมีคนจีนตั้งสมญานามว่า dumuqiao หรือ ‘สะพานซุงเดียว’ โดยเปรียบเทียบหนทางสู่ความสำเร็จในการสอบ Gaokao มีเพียงแบบเดียวเท่านั้น ยากลำบากอย่างทรหด และทุกๆ คนต้องก้าวเข้าสู่หนทางนี้เท่านั้น

ระดับความพีค

Gaokao นั้นขึ้นชื่อว่ามีความพีคในเชิงปริมาณ ด้วยจำนวนนักเรียนที่สมัครสอบอย่างมหาศาล เช่น สถิติ 10.5 ล้านคนในปี 2008 หรือเมื่อวันที่ 6-8 มิถุนายนที่ผ่านมา (การสอบ Gaokao จะเกิดขึ้นช่วงสามวันนี้ของทุกปี) มีผู้เข้าสอบ Gaokao ทั้งหมด 9.4 ล้านคน (มากกว่าปีก่อนถึง 2.7 แสนคน) แต่เฮ้! เมื่อ 2015 มีเด็กเพียงร้อยละ 74.3 ที่ได้เรียนมหาวิทยาลัยจีนนะ แล้วเครียดอะไรกัน? ความเครียดนั้นมาจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยแบบไม่เป็นทางการของจีน คนจีนมองว่ามหาวิทยาลัยมีระดับประมาณสามระดับ ได้แก่

1. ระดับการันตีอนาคต ได้งานชัวร์ เช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ถ้าคะแนนเต็มของสายศิลป์คือ 750 คุณต้องได้ 650 เป็นอย่างต่ำ สำหรับมหาวิทยาลัยในระดับนี้

2. ระดับรองเท้าสึก หางานยากหน่อย อาจต้องการวุฒิเพิ่ม อาทิ มหาวิทยาลัยการค้าของเมืองฮาร์บิน

3. ระดับเตะฝุ่น รอไปเถอะ การตกงานคืออนาคตของคุณ เด็กหลังห้องที่ไม่เคยตั้งใจเรียนเลย อาจมาขยันเอาช่วงนี้และหากสอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับนี้ได้พวกเขาก็จะดีใจมากแล้ว

ที่เป็นเช่นนี้นั้นก็เป็นเพราะร้อยละ 16 ของบัณฑิตใหม่ในจีนอาจตกงานทันทีหลังจบการศึกษา

ตรวจสอบอันดับมหาวิทยาลัยของคุณได้จาก http://m.liuxue86.com/gaokao/sanbenpaiming/

เตือนไว้ก่อนว่าหากจะเล่นเกมแนวฉลาดแกมโกงกับ Gaokao คุณต้องถูกแบนจากการสอบไปอีกสามปี นอกจากนี้ หากองค์กรใดรู้เห็นเป็นใจกับการใช้ ‘มือปืน’ หัวกะทิที่มาสอบเข้าแทนก็อาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึงเจ็ดปี ลองเสี่ยงดูก็ได้ถ้านายแน่จริง

การเตรียมตัวมีสารพัดรูปแบบ เช่น
มีนักเรียนยอมนอนให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพราะเชื่อว่าจะช่วยให้มีสมาธิดีขึ้น หรือรับประทานยาเลื่อนประจำเดือน เพื่อให้ทำข้อสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ช่วงใกล้สอบ มักมีการติวอย่างหนักตลอดปี โดยนักเรียนต้องทำข้อสอบไปเรื่อยๆ และบางโรงเรียนอาจมีการเก็บคะแนนจากการติวนั้นทุกเดือนด้วย

ห้องสมุดหลายแห่งเปิด 24 ชั่วโมงช่วงใกล้สอบ เด็กๆ บางคนจึงนอนที่นั่นไปเลยเพื่อเตรียมตัวอ่านหนังสือ

พ่อแม่มักเช่าโรงแรมนอนใกล้ๆ ศูนย์สอบเพื่อให้ลูกๆ ได้ใช้เป็นที่พักผ่อนช่วงพักกลางวันและเลี่ยงการจราจรมหาโหดในช่วงเช้า ดังนั้น ระหว่างช่วงสอบ ราคาโรงแรมบริเวณศูนย์สอบจะเพิ่มขึ้นถึงสองหรือสามเท่า

ภาพบรรดาพ่อแม่และชาวเมืองพากันมาโบกธงแดงเป็นขวัญกำลังใจแก่เด็กๆ เพื่อส่งขึ้นรถไปเข้าสอบ Gaokao นั้นย่อมต้องอลังการสมศักดิ์ศรี สนามสอบ การแห่แหนกันมาส่งกันทั้งหมู่บ้านเป็นมหกรรมยิ่งใหญ่ มีทั้งกลอง ขบวนเชิดสิงโต มังกร พลุไฟ ฯลฯ ช่วยกระตุ้นความฮึกเหิม และอวยพรให้มีโชคนั้นเป็นภาพชินตาไปแล้ว

ในช่วงใกล้สอบ ห้องเรียนจะประดับประดาไปด้วยป้ายต่างๆ ที่เขียนสโลแกนเสริมสร้างกำลังใจให้เด็กๆ เช่น 高考 สู้ตาย หรือ “ฉันจะไปมหาวิทยาลัยปักกิ่ง”

‘Gaokao Blessing’ หรือการขอพรสอบ Gaokao ทะยานขึ้นเป็นหัวข้อที่มีคนพูดถึงมากที่สุด 57 ล้านโพสต์ในช่วงใกล้สอบ

สำหรับบางแห่ง (เช่น เมืองอันหุย เจียงซู และชานตง) จะมีการปิดการจราจรใกล้ๆ ศูนย์สอบระหว่างการสอบภาคการฟังในวิชาภาษาอังกฤษ หากมีกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ ที่ใช้เสียงในบริเวณศูนย์สอบก็จะงดกิจกรรมเหล่านั้นชั่วคราว

เหล่าแม่ๆ มักแต่งกายด้วยชุดกี่เพ้าด้วยความเชื่อว่าจะนำความโชคดีมาให้ลูกๆ ในห้องสอบ แน่นอนว่าการบนบานศาลกล่าวก็ย่อมทำกันเป็นปกติ เทพเจ้าที่ฮอตฮิตในเรื่องนี้ก็หนีไม่พ้น ขงจื๊อ ปรมาจารย์ของจีน หรือวัดที่เป็นสายขงจื๊อแต่ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ต้นหลิวก็พอใช้ทดแทนกันได้

ในห้องเรียนจีนนั้นยังมีปัญหาเรื่องการจ่าย ‘ซองแดง’ เพื่อให้ครูได้ดูแลลูกๆ ของตนเองอย่างใกล้ชิดกว่าคนอื่นๆ ด้วย

มีบริการรับจ้างเป็นพี่เลี้ยงช่วง Gaokao เพื่อดูแลให้ลูกๆ เตรียมตัวสอบอย่างมีคุณภาพโดยสม่ำเสมอได้

ถ้ารถติดจริงๆ และอาจทำให้นักเรียนไปถึงศูนย์สอบไม่ทัน ตำรวจจราจรอาจช่วยไปส่งได้

ศูนย์สอบของจีนนั้นติดกล้องวงจรปิด บางแห่งมีเครื่องสแกนโลหะ เขตหนึ่งในเมืองเหอหนานถึงขั้นใช้โดรนขึ้นบินเพื่อดักจับสัญญาณวิทยุป้องกันการโกงข้อสอบ การขนส่งข้อสอบต้องใช้รถตำรวจนำ รวมถึงติดระบบ GPS เพื่อติดตามและป้องกันข้อสอบรั่ว

แน่นอนว่าการสอบลักษณะนี้เป็นการถ่างช่องว่างระหว่างเด็กที่มีอันจะกินและไม่มีอันจะกินให้ห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ งานวิจัยของ อาจารย์เทรย์ เมเนฟี (Trey Menefee) จาก Hong Kong Institute of Hongkong แสดงให้เห็นชัดเจนว่าคะแนนสอบของนักเรียนในจีนแปรผันตามสถานะทางการเงินและสังคมของครอบครัว

อย่างไรก็ดี มีความพยายามกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้จังหวัดต่างๆ สามารถร่างข้อสอบของตนเองได้ รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าวโดยให้โควตาที่นั่งในมหาวิทยาลัยจำนวนกว่า 80,000 ที่นั่งกับนักเรียนที่มาจากมณฑลที่มีรายได้ต่ำกว่ามณฑลอื่นๆ แต่ได้มีการประท้วงจากผู้คนในเมืองใหญ่หกเมือง ถึงความเป็นธรรมในการเข้าเรียนดังกล่าว

“万般皆下品, 唯有读书高” โดย ปราชญ์ 汪洙 Wang Zhu หวัง จู ในวรรณกรรมเรื่อง Prodigy Poems หรือ กวีสู่ความอัจฉริยะ เขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งเมื่อราวพันกว่าปีที่แล้ว

คุณค่าอื่นใดหรือจะเทียบการศึกษาหาความรู้ด้วยการเรียนหนังสือได้

ความพีคทั้งหมดนี้เห็นจะมีที่มาจากระบบการศึกษาของจีน โดยตั้งแต่สมัยก่อนการสอบจอหงวน (อ่านเรื่องสอบจอหงวนเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ classroom02) ก็เป็นการสอบเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคน การเป็นจอหงวนสามารถเลื่อนชนชั้นขึ้นมาเป็นข้าราชการ มีคนนับหน้าถือตาได้ เพียงผ่านข้อสอบที่ยากเย็นเข็ญใจด้วยการท่องจำข้อมูลมหาศาลและตอบได้เพียงหนึ่งครั้งต่อปี ถือเป็นบทพิสูจน์ว่าคนที่ผ่านการสอบลักษณะนี้มีคุณภาพตามแบบฉบับค่านิยมเดิม ไม่ว่าจะเป็น

  • การศึกษาคือเครื่องมือในการเลื่อนชนชั้น
  • การศึกษาเป็นหน้าเป็นตาของครอบครัวและสังคม
  • การศึกษาคือการแข่งขันความเป็นเลิศ โดยเน้นที่การสอบและการจัดอันดับต่างๆ

Gaokao ของจีนเองก็ยังคงดำรงไว้ซึ่งค่านิยมทั้งหมดนี้อย่างแทบจะไม่มีผิดเพี้ยนไปจากอดีตมากนัก ที่ต่างออกไปเห็นจะเป็นช่องทางการศึกษาของเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวมีอันจะกินเพราะยังมีตัวเลือกจำพวกการออกไปเรียนต่างประเทศได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องติดกับอยู่กับการสอบในประเทศอย่างเดียวเท่านั้น (ปัจจุบันมีนักเรียนจีนกว่า 300,000 คน ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา และอีกกว่า 90,000 คนในสหราชอาณาจักร) ส่วนเทรนด์ในประเทศนั้น เป็นที่น่าจับตาดูว่า จำนวนผู้สอบ Gaokao เริ่มมีน้อยลงทีละนิด เนื่องจากการประชาสัมพันธ์การศึกษาสายอาชีวศึกษามากขึ้น ทำให้มีนักเรียนเริ่มเปลี่ยนช่องทางไปเรียนสายนั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับหนุ่มสาวผู้เป็นกำลังของประเทศอันยิ่งใหญ่ไพศาลนี้


ขอบคุณข้อมูลพีคๆ จาก:
– ชีงหวูน นักเรียนชาวจีนที่ได้มาร่ำเรียนระดับมัธยมศึกษาในเมืองไทยและกำลังจะกลับไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่เมืองจีน
– https://www.theguardian.com/world/2016/oct/12/gaokao-china-toughest-school-exam-in-world
http://m.guancha.cn/Education/2016_06_07_363110.shtml

 

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า